- คำนำ
- ๑. สนุกในน้ำ
- ๒. สวนพฤกษศาสตร์
- ๓. พริกไทย
- ๔. การใช้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
- ๕. อพยบ
- ๖. อุปถัมภ์ศิลปะ
- ๗. น้ำท่วมทุ่ง
- ๘. ผุดผลุด
- ๙. สาดน้ำ
- ๑๐. อัครวาที
- ๑๑. อ่านหนังสือ
- ๑๒. ผสมผสาน
- ๑๓. ประสพย์ ประสพ ประสบ
- ๑๔. ผสมผสาน (๒)
- ๑๕. บันทึก “คาวัวร์” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- ๑๖. ผสมผสาน (๓)
- ๑๗. ในอินเดีย
- ๑๘. คดีในศาล
- ๑๙. เหตุแห่งความแพ้
- ๒๐. ที่เกิดแห่งยุง
- ๒๑. เบลเยียม
- ๒๒. กฎหมายเป็นกลางของ ส.ป.ร.
- ๒๓. ฝักฝ่ายตุรกี
- ๒๔. โฆษณาชวนเชื่อ
- ๒๕. ทายถูกและผิด
- ๒๖. มูลเหตุแห่งสงคราม
- ๒๗. ยิบฺรอลตาร์
- ๒๘. ภัยสามชนิด
- ๒๙. สันนิบาตชาติ
- ๓๐. ผสมผสาน (๔)
- ๓๑. บวชวัดพระแก้ว
- ๓๒. ปมด้อย
- ๓๓. สารกถา ว่าด้วยประชาธิปัตย์ วิธีรักษาความเป็นไทแก่ตนของอังกฤษ
- ๓๔. ประชาธิปัตย์และศึกษา
- ๓๕. ประชาธิปัตย์แลหนังสือพิมพ์
- ๓๖. เรื่องหญิงคนชั่ว
- ๓๗. ปัญหาสังสรรค์
- ๓๘. คนขอทาน
- ๓๙. เทียบประชาธิปัตย์อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๐. สารกถา
- ๔๑. เทียบประชาธิปัตย์ อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๒. อินฟฺลวนซา ปราบโรคเรื้อน
- ๔๓. สหกรณ์ในพม่า
- ๔๔. ลักษณะรัฐบาลอเมริกา
อุปถัมภ์ศิลปะ
เมื่อคืนนี้ผู้เขียนได้ฟังดุริยสังคีต ซึ่งบางกอกวิเม็น’ส คลับ จัดให้มีขึ้นที่โรงโขนหลวงสวนมิสกวัน เพื่อเก็บเงินให้แก่สภากาชาด คณะดุริยะคือคณะเครื่องสายฝรั่งในกรมศิลปากร ซึ่งพระเจนดุริยางค์เป็นผู้นำ แต่มีฝรั่งเขาร่วมด้วย ๒ คน ดีดหีบเพลงคน ๑ สีไวโอลินคน ๑ พวกสังคีตมี ๙๔ คนทั้งไทยและฝรั่ง เพลงและบทร้องที่นำมาแสดง คือ “เม็สไซอาห์” ของแฮนเด็ล ซึ่งแต่งไว้แต่ปี ค.ศ. ๑๗๔๑ นับมาถึงเดี๋ยวนี้ก็ ๑๙๗ ปีแล้ว แต่ยังเล่นกันอยู่จนเดี๋ยวนี้
การแสดงดุริยสังคีตครั้งนี้ ต้องรวบรวมกันฝึกซ้อมมากมาย การที่ทำได้สำเร็จถึงเพียงนี้ ส่อให้เห็นสามัคคีของนักดนตรีและนักร้องทั้งไทยและฝรั่งชั้นที่เล่นและร้องเพลงชั้นนี้ได้ ส่อให้เห็นว่าศิลปะเป็นของไม่มีชาติ ไม่มีชนเผ่าใดเป็นเจ้าของโดยเฉพาะ เมื่อใครได้ฝึกฝนให้ปัญญาเฉียบแหลมถึงขีดแล้ว ผู้แสดงก็ร่วมกันแสดง และผู้ฟังก็ร่วมกันฟังได้
เรื่อง “เม็สไซอาห์” เป็นเรื่องผูกมาจากประวัติพระเยซูส์ เนื้อเรื่องไม่มีอะไร สำคัญอยู่ที่คำร้องและดนตรี ดนตรีสำแดงให้เกิดความรู้สึกตามคำร้องได้ เช่น เมื่อคำร้องเศร้า ดนตรีก็เศร้า เมื่อคำร้องแสดงความสำราญใจอย่างคึกคัก ดนตรีก็มีสำเนียงเช่นเดียวกัน
ถ้าดูตามประวัติของแฮนเด็ลจะเห็นว่า ผู้นั้นมีน้ำใจเป็นนักดนตรีมาแต่กำเนิด แต่ที่ได้เป็นนักดนตรีจริงจังมีชื่อเสียงมาจนบัดนี้ ก็เพราะอุปถัมภ์ซึ่งได้รับจากผู้อยู่ในฐานะอันจะอุปถัมภ์ได้ อุปถัมภกของแฮนเด็ลคือ เจ้าครองกรุงเยอรมันองค์หนึ่ง ภายหลังมีขุนนางผู้ใหญ่อังกฤษอีกคนหนึ่ง และพระราชินีนาถแห่งประเทศอังกฤษด้วย พระราชูปถัมภ์ของพระราชินีนาถแห่งประเทศอังกฤษนั้น ได้พระราชทานเป็นบำนาญคิดตามอัตราแลกเงินสมัยนี้ก็เดือนละ ๒๐๐ บาท เศษ ซึ่งเป็นเงินมากในสมัยโน้น บำนาญนั้นพระราชทานเฉย ๆ เป็นเครื่องอุดหนุนให้ทำต่อไปเท่านั้น หาเป็นค่าจ้างให้ทำราชการไม่ นอกจากบำนาญที่ได้รับพระราชทานนั้นแล้ว แฮนเด็ลยังมีรายได้ทางอื่นคือ แต่งดนตรีและบทลครออเปอราเป็นต้น
ประวัติของแฮนเด็ล ทำให้เห็นได้ว่า คนที่เกิดมามีความสามารถจะสร้างขึ้นศิลปะขึ้นได้ จะเป็นดนตรีก็ตาม กาพย์กลอนก็ตาม หนังสือชนิดอื่นที่เป็นวรรณคดีก็ตาม ภาพปั้นภาพเขียนก็ตาม จะสร้างสำเร็จได้ หรือเมื่อสร้างขึ้นแล้วก็สร้างอีกได้ ก็เพราะมีองค์อุปถัมภ์แทบจะทั้งนั้น ในสมัยโบราณอุปถัมภกของศิลปะมักจะเป็นพระราชา ศิลปะชนิดใดพระราชาองค์ไหนโปรดและทรงอุปถัมภ์ ศิลปะชนิดนั้นก็จำเริญในรัชกาลของพระราชาองค์นั้น
ถ้าดูประเทศไทยนี้เป็นตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ศิลปะที่จำเริญและรับช่วงกันมาได้ ก็เพราะพระราชูปถัมภก ใครเป็นช่างศิลปะดีก็ทรงชุบเลี้ยงให้เป็นขุนนาง รับพระราชทานเบี้ยหวัดหรือรายได้อย่างอื่น และชิ้นศิลปะที่ทำให้เกิดขึ้นก็ทำเป็นของหลวง หรือถ้าจะพูดอีกทางหนึ่งก็คือ พระราชาเป็นนายจ้างและเป็นผู้ลงทุนให้สร้างขึ้น และพระราชาเป็นผู้ใช้ในศิลปะชนิดนั้น ๆ มากกว่าใคร ๆ ในบ้านเมือง เพราะฉะนั้นช่างศิลปะดีที่สุด จึงเป็นข้าราชการอยู่ในความชุบเลี้ยงของพระราชา อนึ่ง วิชาศิลปะเป็นของสืบเนื่องกันไปในสกุล เมื่อพ่อผู้เป็นข้าราชการสอนลูกให้ทำงานศิลปะ ก็คือให้ทำของที่ใช้ในราชการนั่นเอง ส่วนช่างที่เป็นเชลยศักดิ์ ถ้าฝีมือใครดีเด่นก็มักจะได้เข้าไปในทำงานที่เป็นราชการแลชื่อเสียงก็เด่นขึ้น เพราะได้แสดงฝีมือเปิดเผยกว่าแต่ก่อน
ผู้อุปถัมภ์ศิลปะนั้น ในสมัยโบราณเห็นจะมีพระราชาเป็นยอดยิ่งกว่าใครทั้งหลายไม่ว่าในประเทศใด แต่ในสมัยหลัง ๆ มาบางประเทศไม่มีพระราชา หรือพระราชาไม่ใส่พระทัยที่จะอำนวยอุปถัมภ์แก่ศิลปะ ศิลปะก็ทรุดโทรมลงไป จนกว่าจะมีอุปถัมภกมาเป็นรูปอื่น ที่เรียกว่าอุปถัมภกรูปอื่นนี้ คือประชาชนทั่วไปในประเทศ ศิลปะชนิดใดที่มีช่างสร้างขึ้นแล้วเป็นที่ชอบใจคนจำนวนมาก และคนจำนวนมากรับซื้อ ช่างศิลปะดำรงชีวิตทำงานสร้างศิลปะต่อไปได้ ถ้ากล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือประชาชนกลายเป็นอุปถัมภกแทนที่พระราชาเคยเป็นมาแต่ก่อน
ตัวอย่างเช่นนี้อาจชี้หนังสือชั้นวรรณคดีซึ่งแต่งออกมาพิมพ์ขายในประเทศต่าง ๆ อุปถัมภกของผู้แต่งก็คือผู้ซื้อ ถ้าหนังสือวรรณคดีเล่มไหนมีอุปถัมภก คือผู้รับซื้อมาก โดยราคางาม ผู้แต่งก็คือนักศิลปะผู้มีประชาชนเป็นอุปถัมภกอุดหนุนให้ได้รับความสุขหรือความร่ำรวย ด้วยการที่สร้างวรรณคดีขึ้น
ถ้าจะพูดรวมยอดลงมาถึงประเทศเรานี้เอง ก็คงจะเป็นความเห็นของนักเลงหนังสือทั่วไป ว่าเวลานี้วรรณคดีทรุดโทรม เพราะไม่มีอุปถัมภก ที่ว่าไม่มีอุปถัมภกนี้อาจชี้ให้เห็นว่า หนังสือที่จะนับเข้าชั้นวรรณคดีได้นั้น ถ้าใครพากเพียรแต่งออกมาพิมพ์ขายกว่าเล่มละ ๑๐ สตางค์ ก็จะขายได้น้อย ขายเพียงเล่มละ ๑๐ สตางค์ ก็ไม่คุ้มค่าเหนื่อย ถ้าใครแต่งหนังสือชั้นที่นับได้ว่าเป็นศิลปะแล้วพิมพ์ออกมา จำหน่ายก็จะขาดทุนค่าพิมพ์ และจะต้องเปลืองที่เก็บไว้จนกว่าปลวกจะกินด้วย แม้หนังสือชนิดที่ไม่นับว่าเป็นวรรณคดีก็ไม่มีใครจะแต่งขายเลี้ยงตัวได้ เว้นแต่พวกที่เขียนหนังสือพิมพ์ แต่หนังสือพิมพ์เป็นของที่เกิดวันนี้ก็ตายพรุ่งนี้ หนังสือพิมพ์ไม่ใช่วรรณคดี แม้จะนำเอาหนังสือที่แต่งดีถึงคั่นวรรณคดีมาพิมพ์ในวันนี้ พรุ่งนี้หนังสือพิมพ์ก็จะเป็นถุงกระดาษสำหรับห่อของที่ซื้อในตลาด หากจะเก็บเรื่องนั้น ๆ มารวมพิมพ์เป็นเล่ม ก็จะขาดทุนค่าพิมพ์และเปลืองที่สำหรับเก็บไว้คอยให้ปลวกกินด้วย หนังสือพิมพ์ชั้นวรรณคดีแล้ว ขายได้อาจมีบ้างเล่มสองเล่ม แต่เป็นส่วนน้อย
ที่เขียนถึงดุริยสังคีตเมื่อคืนนี้มาจนถึงการพิมพ์หนังสือขายนี้ เป็นการกล่าวถึงอุปถัมภ์ซึ่งศิลปะได้รับ แต่คำว่าศิลปะนี้เป็นคำยืดได้เพียงไหนจะเรียกได้ว่าศิลปะ ก็แล้วแต่ความเห็นของบุคคลหรือหมู่ชน ออกจะเกี่ยวกับสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Good Taste ซึ่งเราเคยแปลว่า “กุสุมรส” แต่เมื่อแปลแล้วได้ความว่ากระไร ก็เห็นจะรู้แต่ผู้ที่รู้แล้วเท่านั้น.