ฝักฝ่ายตุรกี

เมื่อพลิกสอบถอยหลังไปในพงศาวดาร ถ้าตุรกีทำสงครามหรือเข้าร่วมสงครามเป็นฝ่ายเดียวกับใครและถ้ามีรัสเซียในสงครามนั้นด้วย ตุรกีกับรัสเซียก็คงจะอยู่คนละฝ่าย จนดูเหมือนจะถือเอาเป็นประเพณีได้ว่าสองประเทศนั้นอยู่คนละฟากเสมอ ส่วนอังกฤษกับตุรกีนั้น เคยเป็นมิตรกันในสงครามมาแทบทุกครั้ง เว้นแต่ในมหาสงครามครั้งที่แล้วมา (สงครามโลกครั้งที่ ๑) ซึ่งตุรกีอยู่คนละฝ่ายกับรัสเซีย แต่รัสเซียอยู่ฝ่ายเดียวกับอังกฤษ ตุรกีจึงอยู่คนละฝ่ายกับอังกฤษด้วย

ใน ค.ศ. ๑๘๕๓ ตุรกีได้ทำสงครามกับรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง ครั้นรัสเซียรบชนะเข้าไปจนจะถึงชานเมืองหลวงของตุรกี ตุรกก็ขอหย่าสงคราม รัสเซียจะทำสัญญาเอาโน่นเอานี่มากมาย แต่อังกฤษเข้าขวางไว้ ในประเทศอังกฤษเวลานั้น ยังจำสงครามไครเมียกันได้อยู่ ครั้นรัสเซียรบชนะตุรกีครั้งหลังนี้ ชนอังกฤษก็ทั้งโกรธและทั้งตกใจ เพราะเกรงว่า ถ้ารัสเซียมีอำนาจเอาตุรกีเข้ากำไว้ได้ ความมั่นคงของอังกฤษในตะวันออกก็จะเสื่อมลง ชนอังกฤษเวลานั้นกระเหี้ยนกระหือรือจะทำสงครามกับรัสเซีย ในหอสังคีตในลอนดอน มีผู้แต่งเพลงขึ้นร้องบทหนึ่ง มีบทลูกคู่ซึ่งคนจำไปร้องกันทั่วไปหมด

ในตอนนั้นจวนจะเกิดเต็มที่ คณะเสนาบดีอังกฤษได้ขอเงินต่อปาลิเมนต์ ๖ ล้านปอนด์ (ซึ่งมากในสมัยนั้น) และได้สั่งทัพเรือให้ผ่านช่องดาดะเน็ลเข้าไปในทะเลดำ อีกทั้งเรียกกองหนุนทัพบกให้เข้าประจำการด้วย เสนาบดี ๒ คนที่เห็นด้วยก็ถูกเปลี่ยนตัว

ถ้าจะพูดที่จริง รัสเซียในสมัยนั้นไม่มีทัพเรือ ไม่เห็นท่าทางว่าจะแผ่อำนาจเข้ามาแย่งกับอังกฤษในทะเลกลางอย่างไรได้ แต่รัฐบาลอังกฤษมีใจจะทำสงครามกับรัสเซีย เพื่อจะช่วยแก้ไขตุรกีไม่ให้ตกสู่ฐานะซึ่งเสมอกับเป็นเมืองขึ้น และพระเจ้าแผ่นดินคือควีนวิกตอเรียก็มีพระราชหฤทัยเช่นนั้นด้วย

เมื่ออังกฤษแสดงอาการครึกโครมเช่นนั้น รัสเซียก็ยอมเสนอคำเรียกร้องให้ที่ประชุมผู้แทนประเทศต่าง ๆ พิจารณาตัดสิน ประเทศต่าง ๆ ได้ประชุมกันที่กรุงเบอรลิน เรียกชื่อการประชุมว่า “เปอร์ลินค็อนเกร็ส” และได้บั่นโน่นทอนนี่ให้เป็นที่ตกลงกันได้ การที่อังกฤษเข้าช่วยอุดหนุนตุรกีครั้งนั้น ไม่ใช่ช่วยเปล่า ๆ ได้ความภายหลังว่า ตุรกีได้ทำสัญญากับ ยกดินแดนที่เรียกว่า “ไซปรัส” ให้แก่อังกฤษโดยคำอธิบายว่า ถ้าอังกฤษได้ไซปรัสไว้เป็นอ่าวทัพเรือ ก็จะช่วยตุรก็ได้ถนัดในภายหน้า

เรื่องราวที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่า รัสเซียกับตุรกีเคยเป็นอริกันมา จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียม แต่ตุรกีได้ฝักไฝ่กับอังกฤษมาเสมอจนมหาสงครามคราวก่อน (มหาสงครามครั้งที่ ๑)

ในมหาสงครามคราวก่อน ตุรกีอยู่คนละฝ่ายกับอังกฤษ แต่ก็อยู่คนละฝ่ายกับรัสเซียตามเกมด้วย

ก่อนมหาสงคราม ๖ ปี ได้มีชนพวกหนึ่งในตุรกี เรียกกันว่า “คณะหนุ่ม” ได้คิดการล้างระบอบการปกครองเก่าลง และตั้งระบอบขึ้นใหม่ มีพระมหากษัตริย์ปกครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ถึงแม้ได้เปลี่ยนแปลงเช่นนั้นแล้ว ความสงบเรียบร้อยก็ยังไม่มีในตุรกี และในระหว่าง ๕-๖ ปีนั้น ตุรกีต้องทำสงครามกับประเทศอื่น ๆ ถึง ๒ ครั้ง จึงถึงมหาสงคราม

ในมหาสงครามนั้น อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเคยเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูตุรกีมาช้านาน ได้ทำสงครามฝ่ายเดียวกับรัสเซียซึ่งเป็นศัตรูของตุรกี เหมือนหนึ่งจะเรียกได้ว่าเป็นประเพณี ถ้าจะดูตามที่เคยมาในพงศาวดารไซร้ ตุรกีก็น่าจะเอาใจเข้ากับอังกฤษฝรั่งเศส ซึ่งมีบุญคุณมาเก่า แต่ถ้าตุรกีจะเข้าช่วยรบฝ่ายเดียวกับรัสเซียไม่ได้ ก็น่าจะอยู่เป็นกลางจึงจะได้ความสุข การที่ตุรกีกลับไปเข้าข้างเยอรมัน ก็เป็นด้วยความเปลี่ยนแปลงภายในตุรกีเองอย่างหนึ่ง เป็นด้วยความชักชวนของเยอรมันดีอย่างหนึ่ง ตุรกีเวลานั้นยังมีพระมหากษัตริย์อยู่ แต่คนสำคัญของประเทศ ก็คือเอ็นเวอร์ปาชาซึ่งเรียนวิชาทหารมาจากประเทศเยอรมัน และเป็นศิษย์เยอรมันในทางการเมืองด้วย

มหาสงคราม (ครั้งที่ ๑) ได้เกิดในเดือนสิงหาคม ตุรกีได้เข้าสงครามในเดือนพฤศจิกายน อันที่จริงความปรากฏภายหลังว่าตุรกีได้เซ็นสัญญาลับกับเยอรมัน เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ว่าจะช่วยกันทำสงคราม แต่หนังสือสัญญาว่าจะช่วยกันทำสงครามนั้น อย่าว่าแต่ทำกันไว้เป็นความลับ แม้ที่ทำกันไว้เปิดเผย ผู้ทำไม่ปฏิบัติตามก็ยังได้ เหตุฉะนี้ เมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้วตุรกีก็ลังเลอยู่เป็นหลายเดือน เพราะถึงแม้จะอยากแก้แค้นอริเก่าคือรัสเซีย ก็ยังเกรงใจมิตรเก่า คือ อังกฤษกับฝรั่งเศสอยู่ แต่พระเจ้าสุลต่านมีเอ็นเวอร์ ปาชา เป็นคนสำคัญมีอำนาจในราชการ จะวางพระทัยลงไปว่า จะเป็นกลางแน่นอนก็ไม่ได้

ระหว่างนั้นมีเรือรบของเยอรมัน ๒ ลำ เป็นเรือรบอย่างใหม่แล่นได้เร็ว และมีอาวุธแข็งแรง ชื่อเรือ “เกลเบ็น” ลำ ๑ เรือ “เบร็สเลา” ลำ ๑ เรือ ๒ ลำนี้ อยู่ในทะเลกลางในตอนที่เกิดสงคราม จึงถูกเรือรบอังกฤษไล่ดักจะเอาตัว เรือ ๒ ลำเป็นเรือเร็ววิ่งหลบหลีกอยู่ในทะเลใหญ่ ๒-๓ วัน ก็หนีผ่านช่องดาดะเน็ลเข้าไปในทะเลดำ แล้วประกาศเป็นกลว่าเยอรมันขายให้แก่รัฐบาลตุรกี

ก่อนเกิดสงคราม รัฐบาลตุรกีได้สั่งซื้อเรือรบจากอังกฤษ ๒ ลำ สร้างแล้วเสร็จในตอนที่เกิดสงคราม อังกฤษจึงเอาไว้ใช้เสียเอง ไม่ส่งให้ตุรกี เป็นข้อขัดใจตุรกีอยู่ข้อหนึ่ง ข้อที่ว่า ตุรกีซื้อเรือรบจากเยอรมัน ๒ ลำนั้นไม่เข้าเรื่อง เพราะประเทศเป็นกลางควรจะเป็นแต่เพียงกักเรือรบไว้เท่านั้น จะรับซื้อเอาไว้นั้นไม่ถูก เรือรบ ๒ ลำที่ว่าขายให้แก่ตุรกีแล้วนั้นทหารในเรือก็ยังเป็นทหารเยอรมันอยู่นั่นเอง แต่เอาหมวกตุรกีสวมศีรษะแทนหมวกแก็บเยอรมัน

ในระหว่างนั้นราชทูตอังกฤษและฝรั่งเศสพยายามพูดจากับรัฐบาลตุรกีจะให้อยู่เป็นกลางในสงคราม แต่ปืนเรือรบ ๒ ลำ ซึ่งเข้าไปจ้องกลางอกตุรกีอยู่นั้น ทำให้ตุรกีต้องเอียงไปข้างเยอรมัน แต่ถึงกระนั้นก็ยังไมยอมเข้าสงครามอยู่นั่นเอง

เหตุสุดท้ายที่ทำให้ตุรกีต้องเข้าสงครามนั้น เป็นวิธีเก่งฉกาจของเอ็นเวอร์ปาชา และใช้เรือเกอเบ็น และเรือเบรสเลานั่นเองเป็นเครื่องมือ เรือ ๒ ลำนั้น แม้ประกาศว่าตุรกีได้ซื้อแล้ว ก็ยังไม่แน่ว่า ใครจะเป็นผู้ออกคำสั่งได้ เพราะทหารในเรือก็ยังเป็นเยอรมันอยู่นั่นเอง การเป็นฉะนี้ เอ็นเวอร์ปาชากับราชทูตเยอรมันในตุรกี จึงพร้อมกันมีคำสั่งให้เรือเกอเบ็นกับเรือเบรสเลาไปยิงเมืองโอเด็สซา ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของรัสเซีย เรือ ๒ ลำนั้นได้แสดงเปิดเผยว่าเป็นเรือของตุรกี การที่ไปยิงเมืองท่าของรัสเซีย จึงเป็นการที่ตุรกีได้ลงมือสงคราม โดยที่ไม่มีใครทันนึกทันรู้เลย

ในสงครามคราวนี้ (สงครามโลกครั้งที่ ๒) ตุรกีกลับย้ายไปหามิตรเก่า คือ เซ็นสัญญาช่วยเหลือกับอังกฤษและฝรั่งเศส รัสเซียเกลี้ยกล่อมไม่สำเร็จ การที่ตุรกีเข้ากับอังกฤษฝรั่งเศสคราวนี้ ถ้าการศึกยังไม่ลุกลามไปถึงแหลมบัลกานหรือทะเลกลาง ตุรกีก็ยังไม่ต้องรบ แต่หนังสือสัญญาใหม่ที่เซ็นนี้ ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสโล่งใจไปเป็นอันมาก ในเวลานี้ ตุรกกับรัสเซียกล่าวว่า ยังมีไมตรีดีต่อกันอยู่ทั้ง ๒ ฝ่าย แต่น้ำใจรัสเซียอยู่ข้างเยอรมัน ตุรกีก็อยู่ข้างเดียวกับมิตรเก่า

ที่อยู่คนละฟากเช่นนี้ก็เป็นการตามเคย.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ