อ่านหนังสือ

เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม (๒๔๘๒) หนังสือพิมพ์นี้ได้นำใจความข้อหนึ่งในบันทึกของราชการนานาประเทศ (อังกฤษ) มากล่าวในเรื่องฟินแลนด์ว่า เหตุที่ฟินแลนด์ต่อสู้รัสเซียได้ถึงเพียงนี้ ก็ด้วยบ่อเกิดแห่งกำลัง ๓ ประการ ประการที่ ๑ วรรณคดีและศิลปะอื่นๆ ของชาติเป็นต้นเค้าให้เกิดประเพณีอันยึดมั่นอยู่ในน้ำใจคน ทำให้เกิดความกลมเกลียวรักชาติ และสงวนชาติอย่างแน่นหนา ประการที่ ๒ คือวิสาสะกับหมู่ประเทศเหนือ ประการที่ ๓ คือ การสหกรณ์และการค้าไม้ ซึ่งทำให้เกิดกำลังทางเศรษฐกิจ

ครั้นเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม เราได้รับลายพระหัตถ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเขียนมาประทานมาจากประเทศอังกฤษเป็นใจความว่า ได้ทรงอ่านเรื่อง “อุปถัมภ์ศิลปะ” ใน “ประมวญวัน” วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน มีความในตอนหนึ่งว่า วรรณคดีในเวลานี้ทรุดโทรมลงไปตามเหตุที่เรานำมาชี้ในวันนั้น พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงเห็นด้วย เพราะได้ทรงเป็นทุกข์เช่นเดียวกันมานานแล้ว แต่ยังทรงหวังอยู่ว่า เราท่านทั้งหลายจะช่วยกันเป็นทุกข์มากคนขึ้นในภายหน้า และวรรณคดีก็จะได้รับอุดหนุนให้เฟื่องฟูต่อไป เราได้นำลายพระหัตถ์มาพิมพ์ไว้ในประมวญวัน วันที่ ๓๑ มกราคม (หน้า ๔) แล้ว

เหตุที่ทำให้เรากล่าวว่า วรรณคดีทรุดโทรมนั้น เราได้ชี้แจงไว้ในคราวก่อนแล้ว ในสมัยนี้จำนวนผู้แต่งหนังสือเห็นจะมีมากกว่าสมัยไหน ๆ แต่หนังสือที่แต่งจะเป็นหนังสือดีถึงชั้นที่ควรนับว่าเป็นวรรณคดี และจะยืนยงไปในภาษาไทยได้ชั่วกาลนาน หรือจะเป็นหนังสือชนิดที่เกิดวันนี้ตายพรุ่งนี้นั้นเราไม่กล่าว ผู้แต่งหนังสือชั้นวรรณคดีจะมีในเวลานี้มากคน หรือไม่มากคน เราก็ไม่ได้กล่าวเหมือนกัน เพราะหนังสือระดับไหนจะเรียกว่าเข้าชั้นวรรณคดีแน่นอนก็แล้วแต่ความเห็นบุคคล ความรู้แน่จะมีในเวลาข้างหน้าเมื่อปรากฏว่าหนังสือเรื่องไหนของใครยืนยงไปได้เท่านั้น ความหมายของเราในชั้นนี้มีเพียงว่า ถ้าผู้แต่งหนังสือที่อาจถึงชั้นวรรณคดีไม่ได้รับอุปถัมภ์ให้มีใจแต่ง และเมื่อแต่งออกมาแล้วก็เปลืองแรงและทุนไปเปล่าไซร้ ผู้แต่งก็ย่อมจะท้อใจ ไม่พากเพียรที่จะแต่งต่อไปอีก

ผู้แต่งหนังสือจำพวกที่เพิ่งจะเริ่มนั้น อาจไม่มีความมุ่งหมายยืดยาวนัก เพียงแต่ได้เห็นหนังสือของตนที่แต่งแล้วพิมพ์ออกมาเป็นตัวพิมพ์เท่านั้น ก็พอใจไปคราวหนึ่ง แต่ถ้าคนไหนรู้ตัวแล้วว่า สามารถสร้างขึ้นวรรณคดขึ้นได้ คนนั้นก็มีปรารถนาจะเผยแผ่ชิ้นวรรณคดีของตนให้แพร่หลาย และยืนไปนาน ถ้าไม่ได้รับอุปถัมภ์ และต้องเก็บหนังสือที่พิมพ์แล้วไว้คอยปลวกกินไซร้ ชิ้นวรรณคดีซึ่งอาจเกิดจากคนนั้นต่อไปอีกก็ไม่เกิด

ในสมัยประชาธิปไตย อุปถัมภกของวรรณคดีก็คือประชาชน แต่ถ้าประชาชนยังไม่มีน้ำใจถึงคั่นที่จะเป็นอุปถัมภกแก่วรรณคดีได้ ความอัดอั้นก็ยังไม่หมดไป ยังมีแต่ความหวัง เช่น ที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ตรัสว่า เมื่อช่วยกันเป็นทุกข์มาก ๆ แล้วก็คงจะช่วยกันสนใจทีละเล็กทีละน้อยส่งเสริมให้ประชาชนส่วนมากขึ้นสู่ระดับปัญญาที่จะเกิดความยินดีต่อวรรณคดีในภายหน้าต่อไป

ถ้าวรรณคดีเป็นบ่อเกิดแห่งกำลังและความมั่นคงของชาติได้ส่วนหนึ่งเช่นที่เขาชี้ตัวอย่าง ว่าเห็นได้แล้วในฟินแลนด์ไซร้ การที่วรรณคดีของเราชักจะเหือดแห้งไปในเวลานี้ ก็เป็นข้อที่น่าเป็นห่วงอยู่

หนังสือที่เกิดวันละมาก ๆ เวลานี้ ก็คือหนังสือพิมพ์ พูดตามธรรมดาหนังสือพิมพ์ก็ไม่ใช่วรรณคดี ยกเว้นแต่หนังสือพิมพ์ “สเปกเตเตอร์” ซึ่งโยเซฟแอดดิซัน แต่ง และเขาตัดมาพิมพ์เป็นสมุดสำหรับนักเรียน ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยต้องใช้ในเมื่อยังเป็นนักเรียน

แต่ถึงแม้ตามปกติหนังสือพิมพ์จะไม่ใช่วรรณคดี การอ่านหนังสือพิมพ์ ก็ย่อมเป็นคั่นที่จะพาให้ก้าวขึ้นไปสู่การอ่านหนังสืออื่น ๆ เราจึงยินดีต่อคำชักชวนของนายกรัฐมนตรีว่า ควรอ่านหนังสือพิมพ์กันให้มากขึ้น ความยินดีนี้พูดในส่วนที่เขาเป็นหนังสือพิมพ์ ก็อาจเป็นด้วยเปิดทางให้เราขายสินค้าของเราได้มากขึ้น แต่พูดในส่วนน้ำใจผู้เขียน การขายหนังสือพิมพ์ได้มากขึ้นบ้างนั้นก็สำคัญแต่พอประมาณ แต่การที่ชักจูงให้คนมีน้ำใจเป็นผู้อ่านหนังสือมากขึ้น เพื่อว่าภายหน้าจะได้เขยิบจากหนังสือพิมพ์ไปถึงหนังสือชั้นสูง ๆ ขึ้นไป สำคัญยิ่งกว่า เมื่อผู้อ่านชนิดที่เลือกเฟ้นหนังสือที่จะอ่านนั้นมีมากขึ้น ความต้องการหนังสือชั้นสูงก็ย่อมจะหาให้เกิดมีผู้แต่งชั้นดีขึ้นไป

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์โคลงไว้บทหนึ่งว่า

ขอปวงนักปราชญ์เชื้อ ชาวไทย
ถ้วนทั่วจงมีใจ ดุจข้า
วิชากะวีใน สยามรัฐ
ทั้งบัดนี้บัดหน้า อย่าให้ สูญพงศ์ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ