กฎหมายเป็นกลางของ ส.ป.ร.

วันเสาร์เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา (เสาร์ที่ ๔ พ.ย. ๒๔๘๒) ในอเมริกา ส.ป.ร. ประกาศใช้กฎหมายเป็นกลางที่เปลี่ยนใหม่ มีบัญญัติเป็นข้อสำคัญว่า ใครจะขายอาวุธยุทธภัณฑ์ให้แก่ประเทศที่ทำสงครามก็ได้ แต่ผู้ซื้อต้องใช้เงินสดและขนไปเอง การเปลี่ยนกฎหมายรายนี้ เป็นความสำเร็จมุ่งหมายของเปรสิเดนต์โรสเวลต์ เมื่อก่อนเกิดสงคราม ท่านเปรสิเดนต์ได้ถูกขัดคอมานานในสภาผู้เฒ่า และสภาผู้แทน แต่ครั้นสงครามเกิดขึ้นแล้ว เมื่อร่างกฎหมายผ่านสภาผู้เฒ่าได้ สภาผู้แทนก็ปล่อยให้ผ่านในวันสองวัน มีบางข้อที่ความเห็นของสองสภายังแยกเพี้ยนกันอยู่บ้าง สองสภาจึงร่วมกันตั้งกรรมการคิดแก้ไขให้ลงรอยเดียวกัน กรรมการแก้ไขสำเร็จโดยเร็ว สภาทั้งสองก็รีบอนุมัติ และเปรสิเดนต์ก็ได้ลงนามประกาศออกใช้เป็นกฎหมายในวันเดียวกัน คือ วันเสาร์นี้ (เสาร์ที่ ๔ พ.ย. ๒๔๘๒)

กฎหมายที่เปลี่ยนใหม่นี้ จะทำให้ ส.ป.ร. เป็นคลังอาวุธใหญ่ของอังกฤษฝรั่งเศส เพราะมีเงินสดที่จะซื้อ และ มีเรือที่จะขน อีกทั้งมีทัพเรือที่จะคุ้มครองทางทะเลด้วย ฝ่ายเยอรมันย่อมจะไม่ชอบใจการเปลี่ยนกฎหมายใหม่นี้ เพราะเป็นการให้ประโยชน์แก่ปัจจามิตรฝ่ายเดียว การเปลี่ยนกฎหมายนี้ ยังไม่ได้ยินช่างวิทยุหรือหนังสือพิมพ์ในประเทศเยอรมันได้นำมาเป็นข่าว (ที่จริงยังไม่มีเวลาพอที่เราจะได้ยิน) แต่เข้าใจว่า คงจะต้องนำออกกล่าว และคงจะกล่าวต่อไปว่าอาวุธยุทธภัณฑ์ใน ส.ป.ร. ก็อยู่ใน ส.ป.ร. นั่นเอง การที่จะขนข้ามทะเลมานั้น เยอรมันมีทางที่จะทำลายเสียได้ เช่น เคยทำร้ายด้วยเรือใต้น้ำเป็นต้น

ได้ยินข่าวเรือฟ้า ซึ่งอังกฤษสั่งซื้อจาก ส.ป.ร. นั้น ผู้ขายทำไว้พร้อมแล้วที่จะส่งให้ผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก และอังกฤษได้ประกาศว่าจ้างนักบินอเมริกัน พาเรือข้ามทะเลมาทางฟ้า กำหนดค่าจ้างคนละ ๒๐,๐๐๐ เหรียญเงิน ได้ยินว่ามีนักบินอเมริกันสมัครรับจ้างเป็นอันมาก แต่ต้องปิดชื่อผู้สมัคร เพราะการที่จะรับจ้างอังกฤษหาเรือเหาะมาส่งนั้น ย่อมขัดกับความเป็นกลางของ ส.ป.ร. ถ้าชาวอเมริกันรับจ้าง ก็เป็นการทำผิดกฎหมายของตน ถ้าพูดตามทางสันนิษฐาน พวกที่รับจ้างนั้น เมื่อมาถึงยุโรปแล้วก็จะมีมากที่เลยอาสาเข้ารบอยู่ในยุโรป เหมือนดังที่เคยอาสาช่วยรบในสเปญฉะนั้น อังกฤษชี้แจงว่า การที่ว่าจ้างอเมริกันพาเรือเหาะข้ามทะเลนี้ เป็นเพราะอเมริกันคุ้นกับเครื่องอเมริกัน ยิ่งกว่านักบินอังกฤษ นักบินอังกฤษจะพาข้ามทะเลเอง ก็จะต้องทดลองให้คุ้นกับเครื่องเสียก่อน มิฉะนั้นก็เป็นการเสี่ยงภัยตามทางมากเกินไป อนึ่ง การทำเช่นนี้ย่อมทุ่นเวลาด้วย เรือบินที่จะข้ามทะเลนั้น มีปืนไว้พร้อมสำหรับที่จะต่อสู้ข้าศึกกลางทาง เพราะฝ่ายปฏิปักษ์อาจพยายามที่จะทำร้ายกลางฟ้า แม้จะบินหลีกทาง เพื่อไม่ให้เยอรมันไปตกทำร้ายกลางฟ้าได้ ก็คงจะยังไม่เป็นที่ไว้ใจ

เหตุที่ ส.ป.ร. เปลี่ยนกฎหมายเป็นกลาง เพื่อให้ประเทศที่ทำสงครามซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ได้เช่นนี้ ชี้แจงว่า เพื่อจะรักษาความสงบไม่ให้ ส.ป.ร. ถูกลากเข้าสงคราม ข้อที่ว่าเหตุใด ถ้าไม่ขายอาวุธยุทธภัณฑ์ ส.ป.ร. ก็จะถูกลากเข้าสงครามนั้นเขาไม่ชี้แจง และเมื่อยอมขายแล้วจะไม่ถูกลากเข้าสงครามด้วยเหตุใดๆ เขาก็ไม่ชี้แจงเหมือนกัน คำตอบปัญหาสองข้อนี้ เราพอสันนิษฐานได้ แต่ใช่ที่ที่จะกล่าวในบัดนี้ จำต้องขอให้ผู้อ่านสันนิษฐานเอาเอง

ส่วนความเห็นของพวกที่คัดค้านมิให้เปลี่ยนกฎหมายนั้น พวกนี้ก็มีในสภา ส.ป.ร. เป็นอันมากทั้งสองสภา แต่หากในเวลานี้มีน้อยกว่าพวกที่เห็นตรงกันข้าม คำชี้แจงของพวกขัดขวางไม่ให้เปลี่ยนกฎหมาย ก็อย่างเดียวกับของพวกตรงกันข้าม คือขัดขวางเพราะเหตุว่า ถ้าแก้กฎหมายไปให้คู่สงครามซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ได้ ก็จะเป็นเครื่องจูงให้ ส.ป.ร. ต้องเข้าสงคราม

ดังนี้ความคิดที่จะป้องกันไม่ให้ ส.ป.ร. ต้องเข้าสงครามนั้น ก็ลงรอยกันทั้งสองฝ่าย แต่วีที่จะป้องกันเป็นวิธีตรงกันข้าม ฝ่ายหนึ่งว่าต้องเปลี่ยนกฎหมายเป็นกลาง จึงจะป้องกันได้ ฝ่ายหนึ่งว่าต้องไม่เปลี่ยนจึงจะป้องกันได้

ข้อที่ ส.ป.ร. ไม่ต้องการเข้าสงครามนั้น เป็นของแน่นอนไม่มีที่สงสัย แต่การที่ชมรมการเมืองทั้งสองฝ่ายในสภาทั้งสองสภาได้ทุ่มเถียงกันมากมาย ว่าจะป้องกันสงครามได้ด้วยยอมขายอาวุธยุทธภัณฑ์นี้เป็นด้วย ส.ป.ร. อยู่ หมิ่นเหม่สงครามนักหรือ?

มีข้อที่น่าพิศวงข้อหนึ่ง ซึ่งเราจะนำมากล่าวในที่นี้ เพื่อชวนให้ช่วยกันพิศวงหลาย ๆ คน แต่เมื่อพิศวงแล้ว ถ้าผู้ใดนึกเห็นว่ามีคำชี้แจงที่จะตอบปัญหาได้ คำชี้แจงนั้นก็คงจะเป็นความนึกเห็นของบุคคลเท่านั้นเอง จะวางใจว่าเป็นความจริงเที่ยงแท้ก็ไม่ได้

ผู้ดูภาพยนตร์หลายคน คงจะได้สังเกตแล้วว่า ได้มีภาพยนตร์สำแดงให้เห็นอิทธิฤทธิของ ส.ป.ร. ทั้งทางน้ำ ทางฟ้า และทางบกหลายเรื่องในหมู่นี้ เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เหล่านั้น ก็มักจะนางเอกนายโรงเอกติดพันกันตามเคย แต่เรื่องราวความรักของหญิงสาวชายหนุ่มนั้น นำมาผูกติดต่อกันให้ได้แสดงอำนาจมหมาของกองทัพทั้ง ๓ เหล่า และที่บริษัทภาพยนตร์นำเอาทัพฟ้า ทัพเรือและทัพบกมาแสดงในภาพยนตร์ได้ ก็ด้วยความอุดหนุนของกองทัพนั้น ๆ ถ้ากองทัพไม่อุดหนุน บริษัทภาพยนตร์ก็ไม่มีเรือรบเรือฟ้ารุกรบและทหารจริงๆ มาแสดงเช่นนั้นได้ เพราะฉะนี้ภาพยนตร์เรื่องทหารชนิดที่กล่าวนี้ จึงน่าเข้าใจว่าเป็นวิธีโฆษณาของกองทัพนั่นเอง

เหตุไฉนกองทัพจึงประกาศอิทธิฤทธิ์ให้คนเห็นในเมื่อยังไม่มีเหตุที่จะสำแดงในคราวที่ต่อสู้จริง ๆ กับศัตรู คำถามนี้ถ้าตอบทั่ว ๆ ไปก็คงจะว่า ประกาศเพื่อให้ผู้อาจเป็นศัตรูเกรงขามอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพื่อแสดงแก่พลเมืองว่าที่ได้ยอมเสียภาษีให้จ่ายเงินบำรุงกองทัพได้มากมายนั้น มีผลเป็นที่น่าปลื้มใจ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ในภาพยนตร์นี้ ธรรมดาประชาชน เมื่อเห็นว่าบ้านเมืองมีรั้วรอบขอบชิด ก็ย่อมมีความอุ่นใจ

แต่ถ้าพูดเฉพาะ ส.ป.ร. ก็น่าจะเกิดความรู้สึกขึ้นทีละน้อยว่า ส.ป.ร. ซึ่งมีมหาสมุทรคั่นอยู่ทั้งสองข้างนั้น กำลังตระเตรียมกองทัพคล้าย ๆ กันประเทศในทวีปอื่น ๆ ซึ่งอาจต้องทำสงครามกับประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน หรืออยู่ในทวีปเดียวกันไม่มีมหาสมุทรขวาง การที่ตระเตรียมเช่นนี้ จะควรเป็นที่เข้าใจว่า ส.ป.ร. รู้สึกตนว่าหมิ่นเหม่ต่อสงครามเหมือนกันหรือ

ข้อที่กล่าวนี้อาจนำความมาอ้างได้ ว่าปัญหาที่ว่าจะเปลี่ยนกฎหมายเป็นกลางหรือไม่เปลี่ยนกฎหมายเป็นกลาง เพื่อจะป้องกันมิให้ ส.ป.ร. ต้องเข้าสงคราม ซึ่งฝ่ายหนึ่งว่าต้องเปลี่ยนจึงจะป้องกันได้นั้น ปัญหานี้ได้เกิดทุ่มเถียงโต้แย้งกันมากในสภา แต่เมื่อเปรสิเดนต์ของบประมาณเพื่อกำลังทัพคราวไร ไม่ว่าเท่าไร สภาก็มอบให้ง่าย ๆ ทุกที แทบจะว่าไม่มีคะแนนคัดค้านเลยก็ว่าได้ รายจ่ายการทหารของ ส.ป.ร. เวลานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๒) มากเกินที่เคยมีมาในคราวไหน ๆ ที่ไม่ใช่เวลาสงครามของ ส.ป.ร.

ถ้าจะชี้ให้เด่นชัดออกไปอีกชั้นหนึ่ง ก็อาจชี้ได้ว่า เมื่อปีกลาย (พ.ศ. ๒๔๘๑) อังกฤษได้จ่ายเงินบำรุงกองทัพเป็นจำนวนถึง ๔๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ซึ่งเป็นเงินมากนักหนา แต่มาในปีนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๒) ส.ป.ร. ก็จ่ายเงินค่าบำรุงกองทัพประมาณเท่ากับอังกฤษจ่ายเมื่อปีกลายนั่นเอง ในการจ่ายเงินบำรุงกำลังทัพมากมายเช่นว่านี้ ส.ป.ร. ล้าหลังอังกฤษอยู่ที่เดียวเท่านั้น แต่อังกฤษเมื่อปีกลายนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) อยู่หมิ่นเหม่สงครามเป็นที่สุด

ปัญหานี้เราเสนอได้เป็นเครื่องยั่วพิศวง เราเองยังขอตัวไม่คิดพยายามจะวิสัชนา.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ