ผสมผสาน (๓)

พระราชาอังกฤษและพระมเหสีจะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมประเทศคานาดา และเมื่อเสด็จไปถึงทวีปอเมริกาแล้ว ก็จะถือโอกาสเสด็จเลยไปเยี่ยม ส.ป.ร. ด้วย

ครั้งนี้ (พ.ศ. ๒๔๘๑) จะเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษเสด็จพระราชดำเนินไปถึงทวีปอเมริกา แม้ประเทศคานาดาซึ่งอยู่ในเครือประเทศเดียวกับอังกฤษ และพระราชาพระองค์นี้เองเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งต่างหาก จากที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินประเทศอังกฤษนั้น พระราชาพระองค์ใดก็ยังหาเคยเสด็จไปไม่ เพียงแต่ทรงส่งผู้แทนพระองค์ไปประจำอยู่เท่านั้น

ธรรมดาพระราชาเสด็จไปจากประเทศของพระองค์แรมหลายเดือน และต้องทรงเดินทางข้ามทะเลไปไกล ก็ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นผู้รักษาราชการ ในประเทศอังกฤษตลอดเวลาที่ไม่เสด็จอยู่ เหมือนดังเมื่อพระราชาประชวรหนักทรงว่าราชการไม่ได้ ก็ต้องทรงตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฉะนั้น

กฎหมายของประเทศอังกฤษ เรื่องผู้สำเร็จราชการ อันเป็นกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในบัดนี้ ได้ออกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๗ ในรัชกาลปัจจุบันนี้เอง กฎหมายนี้บัญญัติว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินประชวรหรือไม่เสด็จอยู่ในประเทศ ให้มีมนตรีแห่งรัฐ ๕ คนเป็นกรรมการ มีระบุตำแหน่ง คือพระมเหสีพระองค์ ๑ กับพระประยูรญาติซึ่งสนิทที่สุดของพระเจ้าแผ่นดินอีก ๔ พระองค์ ตามบทบัญญัตินี้ มนตรีแห่งรัฐทั้ง ๕ ก็คือ ควีน เอลิซาเบต พระมเหสี ดยุ๊คแห่งคลอสเตอร์พระอนุชาธิราช ๑ ดยุ๊คแห่งเก็นต์พระอนุชาองค์รอง ๑ พระราชภคินี ๑ ปรีนเซสอาเธอร์แห่งคอนนอต ๑

แต่ในการเสด็จพระราชดำเนินคานาดาครั้งนี้ พระมเหสีจะเสด็จด้วยจึงเป็นที่เข้าใจว่า คงจะตั้งมนตรีแห่งรัฐเป็นคณะผู้สำเร็จราชการเพียง ๔ พระองค์ เพราะในส่วนพระมเหสีนั้น กฎหมายระบุพระองค์ไว้ชัดจะมีผู้อื่นเข้าแทนไม่ได้

ต่างว่ามีเจ้านายที่เป็นพระประยูรญาติใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินกว่าพระองค์ใดที่อยู่ในคณะผู้สำเร็จราชการ และในระหว่างที่พระราชาเสด็จไม่อยู่นี้ เจ้านายพระองค์นั้นจำเริญพระชนม์บันลุนิติภาวะขึ้น ก็จะต้องเข้าในคณะผู้สำเร็จราชการแทนมนตรีแห่งรัฐพระองค์หนึ่ง ซึ่งสนิทกับพระเจ้าแผ่นดินน้อยกว่า

บทบัญญัติในกฎหมายมีไว้ว่า ก่อนที่มนตรีแห่งรัฐจะเข้ารับตำแหน่งในคณะผู้สำเร็จราชการนั้น ต้องสาบานในชุมนุมองคมนตรี ๓ ข้อ ข้อ ๑ ภักดีต่อพระราชาและรัชทายาท ข้อ ๒ ว่าจะปฏิบัติราชการในหน้าที่ให้เต็มความสามารถ ข้อ ๓ ว่าจะรักษาระเบียบศาสนาโปรเตสแตนด์ในสก๊อตแลนด์

ท่านอุปราชผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในอินเดียได้รับประสังสาจากหนังสือพิมพ์ในประเทศนั้นมากมาย เพราะได้ไกล่เกลี่ยจนมหาตมคันธีเลิกอดข้าวได้

ท่านอุปราชไม่ช่วยเอาเป็นธุระเรื่องนั้น ก็คงจะถูกนินทาใหญ่ เพราะนินทากับประสังสาเป็นของคู่กัน

ชื่อคันธีนี้เป็นคำซึ่งผู้ไม่รู้ภาษาของเขา เช่น ผู้เขียนเคยเข้าใจผิด คิดว่าแปลว่ามีกลิ่น และเป็นชื่อเรียกเครื่องหอมชนิดหนึ่งด้วย หรือสกดคัณฑี ก็แปลไปอีกอย่างหนึ่ง เช่น แปลว่าลำต้นไม้ตั้งแต่รากไปถึงกิ่ง หรือแปลว่าคอพอกเป็นต้น (นี้ดูมาจากดิกชันนะรี)

แต่ผู้เขียนได้เคยถามคนในอินเดียว่า ชื่อนี้แปลว่ากระไร เขาบอกว่า แปลว่าเจ้าของร้านชำ ไม่เกี่ยวข้องกับภาษามคธหรือสํสกฤตเลย เขาว่าเป็นภาษาคุชราตี หรือ อูรฺทูก็ลืมเสียแล้ว และไม่มีใครอยู่ใกล้ ๆ ที่จะถามได้ในเวลาที่เขียนนี้

ผู้เขียนเคยไปกินเลี้ยงที่บ้านผู้บัญชาการเรือนจำแห่งหนึ่ง บ้านอยู่นอกกำแพงเรือนจำ เมื่อจะไปที่บ้านนั้นก็ต้องผ่านประตูเรือนจำไป ที่หน้าประตูและริมกำแพงเรือนจำเห็นคนอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ครั้นถามผู้บัญชาการก็ได้ความว่า เวลานั้นคันธีอยู่ในเรือนจำ จึงมีคนแตกตื่นมาจากท้องที่ต่าง ๆ ทั่วทิศ บางพวกก็เดินประทักษิณรอบเรือนจำ เหมือนเราเดินเทียนรอบอุโบสถในวันวิสาขบูชา บ้างก็นั่งคอยอยู่ตามประตู เผื่อจะได้ข่าวคันธีหรือได้เห็นตัว หรือได้รับอนุญาตให้เยี่ยม แล้วแต่จะมีโอกาส ข้อนี้แสดงว่าความนับถือไปในทางศาสนามีมาก หาใช่เรื่องการเมืองเท่านั้นไม่.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ