สารกถา

เราได้กล่าวแล้วว่า ประชาธิปัตย์ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ มิฉะนั้นประชาธิปัตย์ก็ไม่รู้จักตัวเอง แลไม่รู้ความต้องการของตน

บางทีจะควรอธิบายอีกสักหน่อยว่า ที่ว่าประชาธิปัตย์จะไม่รู้จักตัวเองนั้น เพราะว่าประชาธิปัตย์คือคนจำนวนมากที่รวมกันคิดรวมกันทำ ถ้าไม่มีอะไรอยู่กลางสำหรับแจกจ่ายความคิดแลเรื่องราวข่าวสารต่าง ๆ ให้รู้ถึงกันแล้ว ก็รวมกันคิดแลทำ (หรือรวมกันไม่ทำ) ไม่ได้ สิ่งอยู่กลางซึ่งเป็นประโยชน์เช่นว่านี้ อาจมีหลายสิ่ง แต่หนังสือพิมพ์เป็นสิ่งหนึ่ง ซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่าอื่น

แต่เพื่อบรรลุประสงค์ให้ประชาธิปัตย์ได้อ่านหนังสือพิมพ์นั้น ประชาธิปัตยต้องอ่านหนังสือออกเสียก่อน แลทั้งจะต้องมีหนังสือพิมพ์ให้อ่านด้วย เวลานี้หนังสือพิมพ์ในสยามมีหลายฉบับแล้ว แต่ประชาธิปัตย์ของเรายังอ่านหนังสือไม่ค่อยออก แม้คนที่อ่านออกส่วนมากก็ไม่ชอบอ่านข่าวแลเรื่องราวที่จะเป็นสาระ ดังที่เราท่านย่อมระลึกได้ว่า เมื่อสองสามปีมานี้เอง หนังสือที่ขายดีที่สุด คือหนังสืออ่านเล่นชนิดที่มักเรียกกันว่า “หนังสือเล่มละ ๑๐ สตางค์” ซึ่งล้วนแต่นิทานทั้งนั้น

การที่คนชอบอ่านหนังสืออ่านเล่นนั้น เป็นเหตุให้ผู้เขียนแลผู้พิมพ์หนังสือแบบนั้นเขียนแลพิมพ์ขาย ไมใช่ความผิดของเขาผู้หากิน ถ้าเขาจะมัวไปเขียนหนังสือที่เป็นสาระ เขาจะเอาข้าวสารที่ไหนกรอกหม้อ ถ้าความนิยมของคนอ่านผันแปรไปสู่ทางที่เป็นสาระ เขาก็คงหันไปเขียนหนังสือในทางนั้น เพราะถ้าเขาขืนดื้อเขียนอยู่อย่างเก่า หม้อของเขาก็จะไม่มีข้าวสารเหมือนกัน เหตุฉะนี้ เราจะไม่ลงโทษผู้เขียนแลผู้พิมพ์ ซึ่งเป็นธรรมดาต้องทำหนังสือที่ขายได้ แต่เราไว้ใจนักเขียนส่วนมากจนไม่สู้วิตก ว่าเมื่อประชาธิปัตย์ของเราอ่านหนังสือออกกันเป็นจำนวนเพียงพอแล้ว หนังสือที่เหมาะแก่ประชาธิปัตย์จะไม่มีให้อ่าน เรารู้ว่าหนังสือพิมพ์ในสมัย พ.ศ. สองพันสี่ร้อยเจ็ดสิบเศษ ดีกว่าหนังสือพิมพ์ในสมัย พ.ศ. สองพันสี่ร้อยหกสิบเศษ แลใน พ.ศ. สองพันสี่ร้อยแปดสิบเศษ จะดีขึ้นไปกว่าเดี๋ยวนี้

ที่เขียนใน ๒-๓ บันทัดที่แล้วมานี้ หมายความถึงคุณสมบัติของหนังสือพิมพ์ทั่วไป ไม่ได้เจาะจงถึงฉบับไหนฉบับหนึ่ง ถ้าจะพูดเจาะจงกันไซร้ หนังสือพิมพ์บางฉบับที่ออกภายหลัง สู้หนังสือพิมพ์ด้วยกระดาษฟางออกในแผ่นดินพระจุลจอมเกล้า ประมาณ ๔๕ ปีมาแล้วก็ไม่ได้ หนังสือพิมพ์กระดาษฟางชื่อ “ชิหฺวาไทย” ฉบับนั้นแต่งดีพิมพ์ดี ใช้กระดาษฟาง เพราะจะขายให้ถึงแม่ค้าในตลาด อธิบายว่าอ่านแล้วใช้ห่อของก็ได้

เราไม่เป็นห่วงว่า จะไม่มีหนังสือพิมพ์ให้ประชาธิปัตย์สยามอ่าน แม้ข้อที่พลเมืองของเรา ซึ่งอ่านหนังสือออกแล้ว ยังไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือที่เป็นสาระก็ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะไทยเราไม่เชื่องช้าในการรับความรู้ อีกหน่อยก็คงจะแบ่งเวลาอ่านหนังสือให้แก่หนังสืออ่านเล่นบ้าง หนังสืออ่านเป็นสาระบ้าง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือว่า คนของเรายังรู้หนังสือน้อยนัก ถ้าประชาธิปัตย์ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ไซร้ ประชาธิปัตย์ยังอ่านหนังสือไม่ออก จะอ่านและเป็นประชาธิปัตย์จริง ๆ อย่างไรได้ เวลานี้เรามีกฎหมายบังคับให้เด็กเข้าโรงเรียน แลมีมานานแล้ว แต่ยังต้วมเตี้ยมอยู่ กระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) เจ้าหน้าที่ผู้จัดศึกษาร้องว่าได้เงินน้อย (ซึ่งถูก) แต่กระทรวงคลังแลกระทรวงอื่น ๆ ร้องว่าราชการอื่น ๆ ที่จะต้องจัดยังมีอีกมาก (ซึ่งถูกเหมือนกัน) ประเทศฟิลิปปินส์เคยเป็นตัวอย่างว่า จ่ายเงินมากมายในทางศึกษา แต่ประเทศฟิลิปปินส์ในตอนนั้นมีทัพเรือทัพบกอเมริกันเป็นผู้รักษา ไม่ต้องเป็นห่วงอันตรายภายนอก จึงมีเงินไปจ่ายบำรุงความรู้พลเมืองได้มาก เดี๋ยวนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๘) ฟิลิปปินส์เกือบจะเป็นไทแก่ตนเองอยู่แล้ว แลอีก ๑๐ ปีก็จะมีอิสระบริบูรณ์ จะต้องกันเงินไว้จ่ายทางอื่น ซึ่งไม่เคยต้องจ่าย คือจัดทัพเรือทัพบกไว้ป้องกันประเทศเป็นต้น เมื่อถึงตอนนั้น ฟิลิปปินส์จะมีเงินจ่ายสำหรับศึกษาเช่นที่เคยจ่ายมาแล้วหรือไม่ ก็ต้องคอยดูไป

เราปรารภเรื่องนี้ขึ้นอีก เพราะได้อ่านข่าวแลเรื่องราว ซึ่งประเทศที่มีพลเมืองมากที่สุด ๒ ประเทศ กระตือรือร้นที่จะให้พลเมืองรู้หนังสือ ๒ ประเทศนั้นคือ รัสเซียประเทศหนึ่ง จีนประเทศหนึ่ง

ข่าวโทรเลชที่มีมาเมื่อวันสองวันนี้ กล่าวว่า ชนชาวรัสเซียยังอ่านหนังสือไม่ออกมากมายนัก จึงคิดตั้งโครงการใหม่เพื่อจะ “ปราบ” ความไม่รู้หนังสือใหญ่สูญไป (ใช้คำแปลเป็นอังกฤษว่า Complete suppression of Illiteracy) ความไม่รู้หนังสือของใคร ๆ ในรัสเซียที่อายุต่ำกว่า ๕๐ ปีจะถูกปราบทั้งนั้น แลจะปราบให้เสร็จภายใน ๒ ปีข้างหน้านี้ เจ้าหน้าที่ในรัฐย่อย ๆ ของโซเวียตรับมอบให้จัดสอนหนังสือแก่คน ๗,๐๐๐,๐๐๐ คน แลพวกสมาคมเตรดยูเนียนก็รับแบ่งหน้าที่เป็นผู้จัดการสอนคนอีก ๒,๕๐๐,๐๐๐ คน อีกทั้งสมาคมคอมมิวนิสต์ในท้องที่ต่าง ๆ จะจัดสอนเด็กอายุ ๑๔ ปีกับ ๑๘ ปี ให้อ่านหนังสือออก จนถึงคะเนกันว่า คนหนุ่มที่ถูกเกณฑ์เข้าเปนทหารปีนี้ จะอ่านหนังสือออกทั้งนั้น นั่นเป็นโครงการในรัสเซียตามข่าวที่มีมาใหม่ แต่เขาจะดำเนินการโดยวิธีไหนไม่มีในข่าว

ส่วนในเมืองจีนนั้น นอกจากรัสเซียแล้วก็เห็นจะไม่มีประเทศไหนที่ทดลองการให้ศึกษาแก่พลเมือง โดยความพยายามใหญ่กว้างเสมอจีน แต่จีนได้พากเพียรมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว จึงปรากฏวิธีดำเนินการออกมาให้เราทราบได้บ้าง ความพยายามจะแผ่ศึกษาในประเทศจีนนั้น เป็นความพยายามของบุคคลแลพรรคพวกที่มีศรัทธาในการกุศลรูปนั้น จึงไม่อาจรวบรัดได้ดังโครงการของรัสเซีย (ซึ่งจะ สำเร็จเพียงไหนยังเดาไม่ถูก) พลเมืองจีนมีเป็นจำนวนนับร้อยล้านที่ยังไม่เคยรับศึกษาเลยก็จริง แต่คนจีนที่มีความรู้แลปัญญาชั้นสูงไม่ด้อยกว่าใครก็มีไม่น้อยคน หากไม่มีกำลังที่จะทำได้โดยรวดเร็ว ก็ควรต้องสรรเสริญปัญญาแลความพยายามของเขา

เรายังไม่มีความสะดวกที่จะนำความพยายามในเมืองจีนมาเล่าในวันนี้ แต่คิดจะกล่าวในวาระข้างหน้าต่อไป.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ