บวชวัดพระแก้ว

เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วมา (อาทิตย์ที่ ๓ ก.ค. ๒๔๘๑) มีงานผนวชรายหนึ่ง เจ้านาคเป็นหม่อม เจ้าในพระบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ มีผู้ไปในงานนั้นมาก

ตามธรรมดาที่เคยมาหม่อมเจ้ามักจะเป็นนาคหลวง รับอุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ในวันนั้น หม่อมเจ้าทรงรับอุปสมบทที่วัดประยูรวงศาวาส ซึ่งแม้เป็นพระอารามหลวงก็หาใช่วัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่

อันที่จริง การอุปสมบท ถ้าได้กระทำพิธีตามพุทธบัญญัติแล้ว ผู้รับอุปสมบทเป็นภิกษุเหมือนกัน สุดแต่ว่าเป็นวัดที่ผูกพัทธสีมาถูกต้องแล้วก็ใช้ได้ ความสำคัญในทางศาสนาหาได้อยู่ที่ว่า วัดอยู่ในกำแพงพระบรมมหาราชวัง หรืออยู่ที่อื่นไม่

แต่ถึงกระนั้นตามที่เคยมา หม่อมเจ้ามักจะเป็นนาคหลวง และนาคหลวงมักจะรับอุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม งานผนวชที่วัดประยูรวงศ์วันนั้น จึงทำให้เกิดไต่ถามกันขึ้นว่า เหตุไฉนเจ้านาคจึงมิได้รับอุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่างเจ้านาคเช่นคนโดยมาก

ผู้ถามได้รับตอบว่า เป็นเพราะอุปสมบทในมหานิกาย จึงรับอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้

เมื่อได้รับตอบเช่นนั้น ก็เป็นธรรมดาที่ผู้ถามจะใคร่รู้เหตุว่า ทำไมจึงว่าเช่นนั้น และใครเป็นผู้ว่า เมื่อผู้ถาม ๆ แล้วก็คงจะได้รับชี้แจงถึงต้นเค้าที่อ้างประเพณีว่า ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามมีการอุปสมบทในมหานิกายไม่ได้ คำตอบนั้นมีชี้แจงละเอียดประการใดผู้เขียนไม่ได้สนใจ จึงปล่อยไว้ให้อยู่นอกวงความที่จะนำมากล่าวในที่นี้

คำที่กล่าวว่า ผู้รับอุปสมบทในมหานิกายต้องไปวัดมหานิกาย ผู้รับอุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้นั้น ถ้าอ้างว่าเป็นประเพณีที่เคยมีมา ก็เป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง ถ้าหลงเชื่อกันไปว่าประเพณีเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นเรื่องไม่ดีต่าง ๆ จึงควรเป็นพันธะของผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่จะช่วยกันลบล้างความเข้าใจผิดให้สิ้นไป และย้อนเผยแผ่ข้อที่ว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นศาสนูปถัมภกของพระพุทธศาสนา ซึ่งหาได้แยกเป็นนิกายโน้นนิกายนี้ไม่ และวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ใช่วัดของนิกายไหนเลย ถ้าจะไล่เลียงกันเข้าจริง ก็น่าเห็นว่า วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดมหานิกายยิ่งกว่าวัดธรรมยุติ เพราะได้ผูกพัทธสีมาในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งยังหาได้ตั้งธรรมยุตินิกายขึ้นในสยามนี้ไม่

ข้อที่ว่า ผู้บวชมหานิกายบวชในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้นั้น ผู้เขียนไม่รู้ว่าเป็นคำกล่าวของใครแน่ รู้แต่ว่าเป็นคำกล่าวของผู้ไม่รู้พงศาวดารเลย เพราะผู้เคยอ่านพงศาวดารคงจะทราบว่า ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (เมื่อยังเป็นเจ้าฟ้าราชโอรสพรงองค์ใหญ่) ได้ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราชสีวัดระฆังเป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเดชเป็นกรรมวาจาจารย์ ทรงผนวชแล้วประทับอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นจึงเสด็จไปประทับวัดสมอราย คือวัดราชาธิวาส

ในรัชกาลที่ ๑ ตามหนังสือพระราชพงศาวดาร มีงานทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาอีกครั้งหนึ่ง คือเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ นอกนั้นคงจะมีครั้งอื่น ๆ อีก แต่ไม่ได้กล่าวในพระราชพงศาวดาร

นี้เป็นตัวอย่างผนวชมหานิกายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในรัชกาลที่ ๑ ธรรมยุตินิกายยังไม่มีในรัชกาลนั้น

ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ (คือพระองค์ผู้ตั้งนิกายธรรมยุติในภายหลัง) ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับอยู่วัดมหาธาตุ จนออกพรรษาจึงลาผนวช ต่อมาเมื่อพระชนมายุครบอุปสมบทก็ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประทับอยู่ในพระอุโบสถวัดนั้นคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นจึงเสด็จไปประทับอยู่วัดมหาธาตุ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชในมหานิกายก่อนทรงตั้งนิกายธรรมยุติขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ในรัชกาลนั้นเจ้านายทรงผนวชในมหานิกายโดยมาก รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

ในรัชกาลที่ ๔ ผู้เขียนไม่มีหนังสือจะสอบในเวลาที่เขียนนี้ว่า มีนาคหลวงรับอุปสมบทในมหานิกายบ้างหรือไม่ ในรัชกาลที่ ๕ ก็ไม่ได้สอบ แต่จำได้ว่ามีนาคหลวงองค์หนึ่ง รับอุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วไปอยู่วัดในนิกายรามัญ

ในรัชกาลที่ ๖ มีนาคหลวงอุปสมบทในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วไปอยู่วัดเบญจมบพิตร

ทั้งหมดที่อ้างมานี้แสดงให้เห็นว่า คำที่กล่าวชี้แจงกันที่วัดประยูรวงศาวาสเมื่อวันอาทิตย์ (๓ ก.ค. ๒๔๘๑) ว่า เจ้านายไม่ได้รับอุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพราะผนวชในมหานิกายนั้น ถ้าสอบทางพงศาวดารแล้วก็ไม่เป็นเช่นนั้นเลย ถ้าหากเจ้านาคจะสมัครผนวชที่วัดประยูรวงศ์เองนั้นเป็นได้ แต่ที่โจทย์กันในวันนั้นว่า ผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้ เพราะเป็นมหานิกายนั้นเห็นจะไม่ใช่

ผู้เขียนนำเอาเรื่องนี้มากล่าวยืดยาว เพราะเวลานี้เป็นเวลาที่มีความเห็นแตกต่างกันไปไกลในเรื่องการปกครองคณะสงฆ์ มีเป็นต้นว่า พระภิกษุผู้ทรงสมณศักดิ์และภิกษุอื่นผู้รู้คันถธุระและวิปัสสนาธุระเห็นว่า พระสงฆ์มหานิกายน้อยหน้าพระสงฆ์ธรรมยุตินิกาย ได้เกิดมีร้องเรียนกันขึ้นถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็รับไปว่ากล่าวเป็นปัญหาในสภาด้วย ผู้เขียนได้ยินว่ามีร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เสนอขึ้นใหม่ เพื่อจะแก้ความน้อยหน้า และกำลังพิจารณาอยู่ในเวลานี้ (ก.ค. พ.ศ. ๒๔๘๑) จะได้พิจาราณากันไปถึงไหน ผู้เขียนไม่ทราบ และใช่เรื่องที่จะนำมากล่าว

ข้อที่จะนำมากล่าวในที่นี้ ก็คือว่า คำที่โจทก์กันขึ้นว่า บวชมหานิกายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้นี้ อาจเป็นเครื่องทำให้เกิดการเข้าใจผิดกันต่อไปอีก ถ้าจะกล่าวอุปสมบทตามสามัญโวหาร ก็เหมือนหนึ่งเอายาไปทาช่วยให้เครางอก หรือว่าถ้วยชามที่มีรอยร้าวอยู่แล้ว แทนที่จะเลี่ยมหรือเกาะตัวปลิงมิให้ร้าวออกไปอีก กลับจะมีคำกล่าวซึ่งเปรียบเหมือนค้อนมาเคาะให้ร้าวมากออกไปนั้น ดูเป็นบาปใหญ่ สาธุชนโดยมากย่อมมีกังวลว่า ถ้าคณะสงฆ์เกิดน้ำใจแตกแยกกันไป ก็จะเป็นทางเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาในสยาม ถ้ามีเรื่องที่อาจทำให้เข้าใจผิดกันต่อไปอีก ก็ควรช่วยกันปัดเป่าลบล้างให้สิ้นไป

ผู้เขียนเข้าใจว่า การแสดงให้เห็นตำนานการผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แทบจะว่าตั้งแต่สร้างพระอารามมาน อาจแก้ความเข้าใจผิดได้ดี และเข้าใจว่า การนำออกกล่าวในหนังสือพิมพ์เป็นวิธีที่จะรู้กันไปได้กว้างกว่าทางอื่น ขออำนาจความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจงบันดาลให้ความมุ่งหมายนี้สำเร็จไปเทอญ.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ