สวนพฤกษศาสตร์

กี่ปีมาแล้วจำไม่ได้ แต่เป็นเวลาก่อนมหาสงคราม ๒-๓ ปี ได้มีกำเนิดกรมพาณิชย์ขึ้นในราชการ ภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นกระทรวงพาณิชย์ และในเวลานี้เรียกชื่อว่า กระทรวงเศรษฐการ

กรมพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นในเวลานั้น ได้รับมอบหน้าที่ให้คุ้ยเขี่ยแผ้วถางทางที่รัฐบาลจะช่วยอุดหนุนการค้าขายและเศรษฐกิจโดยนัยที่พึงทำได้ทีละเล็กละน้อยจนกว่าจะจัดให้แผ่กว้างออกไปได้ ราชการที่กรมใหม่นั้นจัดขึ้นก็คืองานที่เก็บตกจากกระทรวงอื่น ๆ นัยหนึ่งเป็นงานซึ่งจะจัดขึ้นในกระทรวงอื่น ๆ ก็ได้ แต่กระทรวงนั้น ๆ ยังมิได้จัดหรือมิได้คิดจะจัด กรมที่ตั้งใหม่จึงเก็บตกเอางานเหล่านั้นมาจัดขึ้น เช่น สำนักงานซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า กรมวิทยาศาสตร์ในกระทรวงเศรษฐการ กรมสหกรณ์ในกระทรวงเกษตร กองสถิติพยากรณ์ในกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นต้น นอกจากนั้นยังมีงานอื่น ๆ อีกหลายแผนก ซึ่งได้จัดขึ้นต่อเมื่อตั้งเป็นกระทรวงแล้ว เช่น จดทะเบียนการค้า งาน วัด ชั่ง ตวง เป็นตัวอย่าง

งานที่จัดขึ้นใหม่แผนกหนึ่งครั้งนั้นก็คือ แผนกรุกขชาติ ประเทศของเรานี้เป็นท้องที่อันอุดมด้วยต้นไม้นานาพรรณ ซึ่งนับเนื่องเป็นทรัพย์สำคัญที่เกิดจากแผ่นดิน และเป็นเครื่องเชิดชูในทางวิชาพฤกษศาสตร์อีกประการหนึ่ง แต่ในเวลานั้นเราไม่รู้ว่าต้นไม้ในประเทศของเรามีอะไรบ้าง ไม่รู้ว่าทรัพย์ที่ยังแฝงอยู่ในตัวไม้อาจมีอย่างไร มีที่ไหนบ้าง มากน้อยเท่าไร การที่เราไม่รู้จักต้นไม้ในประเทศของเราเองนั้นดูเป็นเรื่องน่าบัดสี และประโยชน์อันควรได้ก็ไม่ได้ จึงเป็นความคิดของกรมพาณิชย์ในตอนแรกที่ตั้งขึ้นว่า ควรต้องคิดจัดให้เกิดความรู้ตามทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องรุกขชาติของเราทั่วประเทศ ความรู้แผนกนี้ เมื่อนำออกแสดงได้ก็จะเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาอย่างหนึ่ง เราควรจะเป็นผู้แสดงความรู้ในเรื่องประเทศของเราเองให้ผู้อื่นทราบ ไม่ใช่คอยให้ผู้อื่นมาบอกให้แก่เรา

ดังนี้กรมพาณิชย์จึงได้คิดจัดแผนกรุกขชาติขึ้น โดยสงเคราะห์ว่าเป็นงานเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง งานแผนกนี้ถ้ากระทรวงอื่น เช่น กระทรวงเกษตรจะจัดขึ้นก่อนที่มีกรมพาณิชย์ก็ย่อมจะได้ แต่ยังไม่มีใครจัด จึงเป็นงานเก็บตก ซึ่งกรมพาณิชย์คิดทำขึ้นในเวลานั้น

งานของแผนกรุกขชาติที่จัดขึ้นนี้ กำหนดจะเริ่มด้วยการเซอร์เวย์ หรือเที่ยวสำรวจพรรณไม้ทั่วประเทศ แล้วจัดทำเป็นทะเบียนขึ้นไว้ตามลักษณะถูกต้องด้วยวิทยาศาสตร์ การจัดงานเช่นว่านี้ต้องการข้าราชการเพียง ๒-๓ คน แต่ต้องมีหัวหน้าเป็นผู้ชำนาญวิชารุกขชาติ หัวหน้ากรมพาณิชย์จึงได้มีหนังสือไปถึงสำนักรุกขชาติในประเทศอังกฤษ ถามหาผู้ชำนาญซึ่งจะจ้างมาเป็นหัวหน้าสำรวจต้นไม้ทั่วประเทศ และทำทะเบียนตำราไว้ตามหลักพฤกษศาสตร์ได้ หัวหน้าสำนักรุกขชาติในประเทศอังกฤษเขียนจดหมายตอบมาแสดงความยินดีว่า การค้นวิชาในทางพฤกษศาสตร์จะได้เปิดออกไปในประเทศนี้อีกแหล่งหนึ่ง และแนะนำมาว่าผู้ที่สมควรจะมอบให้ทำงานอันนี้ได้ ก็เผอิญมีอยู่ที่นี่แล้ว ผู้นั้นได้เคยสนใจแสดงความรู้ทางรุกขชาติในประเทศนี้ และรายงานติดต่อกับสำนักรุกขชาติในลอนดอนมานาน จนสำนักรุกขชาติในลอนดอนอาจแนะนำได้ว่า เป็นผู้เหมาะที่จะรับตำแหน่งและหน้าที่ซึ่งคิดจะจัดขึ้นใหม่นั้น

เมื่อโครงการของกรมพาณิชย์ที่จะตั้งแผนกรุกขชาติขึ้นนี้ ได้รับพระราชทานบรมราชานุญาต แล้ว ก็เป็นอันได้จัดตั้งขึ้น

การสำรวจพรรณไม้ต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ได้ทำอยู่เป็นเวลาหลายปี เพราะผู้สำรวจจะออกเดินป่าได้แต่ฤดูที่เหมาะ แล้วใช้เวลาที่ออกป่าไม่ได้ในการเขียนรายงานและทำทะเบียนจากรายละเอียดที่จดไว้ในเวลาเดินทางสำรวจนั้น

ต่อมาอีกหลายปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชดำริจะให้จัดมีเอ๊กสหิบิชั่น เรียกว่า สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ขึ้น ในตอนที่กล่าวนี้กรมพาณิชย์เป็นกระทรวงขึ้นแล้ว และหัวหน้ากระทรวงพาณิชย์ในเวลานั้นอยู่ในกรรมการวางโครงการจัดสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ด้วย เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการชุดนั้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ พระราชทานที่ดินแห่งหนึ่งกว้างใหญ่พอที่จะจัดสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ได้ คือที่ดินซึ่งภายหลังพระราชทานชื่อว่า “สวนลุมพินี” ความมุ่งหมายคือว่า เมื่อเสร็จงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว ให้ที่ดินนั้นเป็นสวนหรือป๊าร์กสำหรับพระนครต่อไป การที่จะจัดที่ดินให้เป็นป๊าร์กนั้น ใน หัวหน้ากระทรวงพาณิชย์ในเวลานั้นได้เสนอขึ้นว่า ควรจะจัดให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ของประเทศ นัยหนึ่งให้ปลูกแต่ต้นไม้ไทยทั้งนั้น ไม่ปลูกต้นไม้พรรณที่มิได้เกิดเองตามธรรมชาติในแผ่นดินของเรา ไม่อาศัยต้นไม้ที่เอาพันธุ์มาจากประเทศอื่นเลย ต้นไม้ของเราแท้ ๆ ถ้าหามาจากท้องที่ทั่วไปในพระราชอาณาเขต ก็อาจจัดให้เป็นสวนต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ใบ และต้นไม้ดอกงดงามได้ สวนเช่นนี้จะเสนอกันเป็นตำราพฤกษศาสตร์ของประเทศเราอยู่ส่วนหนึ่ง และจะเป็นของอวดได้ ที่แท้ยังไม่มีสวนในประเทศไหนที่ทำขึ้นด้วยมุ่งให้เป็นส่วนหนึ่งแห่งตำราพฤกษศาสตร์ของประเทศเช่นที่คิดนี้

แต่ต้นไม้ในประเทศไทย จะปลูกให้งอกงามในกรุงเทพฯ ไม่ได้ทุกชนิด เป็นต้นว่า ต้นไม้ดอกงามที่สุดที่ฝรั่งเรียกว่า Rhododendron ซึ่งได้ยินว่าที่บนดอยอินทนนนั้น ถ้านำมาปลูกในกรุงเทพฯ ก็คงจะไม่รอด หรือต้นจำปีหลวง ซึ่งมีแต่บนเขาสูงในพายัพ จะนำมาปลูกในที่เช่นสวนลุมพินี ก็คงจะไม่ได้ อีกประการหนึ่ง สวนลุมพินีไม่กว้างใหญ่พอที่จะปลูกต้นไม้ไทยได้หมดทุกชนิด จึงต้องเลือกแต่เพียงให้พอดีกับเนื้อที่และดินฟ้าอากาศด้วย ผู้เสนอความคิดที่จะให้ทำสวนลุมพินีเป็นสวนพฤกษศาสตร์ของประเทศ ได้ให้หัวหน้าแผนกรุกขชาติทำบัญชีชื่อต้นไม้ ซึ่งเห็นว่าจะปลูกให้งอกงามในกรุงเทพฯ ได้ ทั้งแผนกไม้ต้น ไม้ใบ และไม้ดอก อีกทั้งหมายเหตุว่า ต้นไม้ชนิดไหนควรจะมาจากท้องที่ไหนจึงจะดีกว่าเอามาจากท้องที่อื่น ๆ ซึ่งมีต้นไม้ชนิดเดียวกัน เพราะงามกว่าหรือเพราะคงจะคุ้นกับอากาศกรุงเทพฯ ง่ายกว่าเป็นต้น เสนาบดีมหาดไทยผู้เป็นประธานกรรมการครั้งนั้นเห็นชอบตามความคิดนี้ และรับบัญชีนั้นไว้ว่าจะจัดต่อไป แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สวรรคต และจัดสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ล้มเลิกไปแล้ว ความคิดเรื่องจะจัดสวนลุมพินีเป็นสวนพฤกษศาสตร์ตัวอย่างต้นไม้ในประเทศนี้ก็เห็นจะล้มเลิกไปด้วย จึงหาได้เห็นจัดเช่นที่คิดไว้นั้นไม่

ผู้เขียนนำเอาความข้างบนนี้มาเล่า เพราะเมื่อ ๒ วันมานี้ ได้พบกับฝรั่งนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งมาเมืองนี้เมื่อไม่สู้นานนัก เขาเป็นผู้สนใจในเรื่องรุกขชาติของประเทศนี้ แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีโอกาสเที่ยวเห็นต้นไม้ในท้องที่ต่าง ๆ มากนัก พอเอ่ยความคิดเดิมเรื่องส่วนพฤกษศาสตร์ขึ้น เขาก็ชอบใจ และออกความเห็นว่า แม้จะย้อนเอาความคิดเดิมกลับมาใช้เวลานี้ก็ยังทันถมไป เพราะสวนลุมพินียังหาได้ปลูกต้นไม้เป็นล่ำเป็นสันไม่ และต้นไม้ที่ปลูกแล้วก็ไม่มีค่าอันควรรักษาไว้ ควรให้ที่แก่ต้นไม้พื้นประเทศตามความคิดเดิม เพื่อสวนลุมพินีจะเป็นชิ้นสำหรับอวดได้อีกชิ้นหนึ่งในกรุงเทพ ฯ และเป็นประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ด้วย

ที่เขาว่าสวนลุมพินียังไม่ได้ปลูกต้นไม้อันเป็นค่าควรแก่ปาร์กนั้น จะถูกหรือไม่ถูกผู้เขียนไม่ทราบ แต่เข้าใจว่าความคิดเดิมนั้นมีผู้เห็นด้วยหลายคน จึงย้อนนำมาเล่าในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง บัญชีชื่อต้นไม้ที่กล่าวนั้นจะสูญหายไปเสียแล้ว หรือจะมีสำเนาอยู่ที่ไหนบ้าง ผู้เขียนไม่ทราบ แต่เข้าใจว่า ถ้าต้องการก็คงจะให้ทำขึ้นใหม่ได้.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ