โฆษณาชวนเชื่อ

คำละตินว่า โปรปะกันดา Propaganda เป็นคำซึ่งเมื่อภาษาใดในยุโรปนำไปใช้ ก็ใช้คำละตินนั่นเอง ไม่เป็นเปลี่ยนรูปศัพท์เป็นอย่างอื่น เพราะเขาใช้ตัวหนังสืออย่างเดียวกัน ไม่ต้องลำบากในเรื่อง เปลี่ยนตัวหนังสือ ไทยเราใช้คำนั้นไม่สู้สะดวก เพราะภาษาละตินไกลกับภาษาเรานั้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเมื่อเปลี่ยนมาเขียนเป็นตัวหนังสือไทย ผู้เขียนหลายคนก็ยักย้ายตัวหนังสือไปหลายอย่าง ซึ่งย่อมทำให้ผู้อ่านฉงน เพราะฉะนั้นถ้าเรามีคำไทยที่ใช้ได้เหมาะก็ย่อมเป็นการดี

ในเวลานี้เรามักใช้แปลโปรปะกันดาว่า “โฆษณาชวนเชื่อ” ซึ่งแม้คำท่อนแรกว่า “โฆษณา” เป็นคำมคธ ก็เป็นคำมคธซึ่งเขาใช้กันมานานจนคุ้นหู เสมอกับเป็นคำไทยอยู่แล้ว ส่วนท่อนที่ ๒ คือ “ชวนเชื่อ” นั้น เป็นคำไทยแท้ ๆ เมื่อใช้รวมกันว่า “โฆษณาชวนเชื่อ” แปลว่า โปรปะกันดาก็ค่อยยังชั่วกว่าที่ต้องใช้ภาษาละตินทั้งศัพท์

ในสมัยสงครามครั้งนี้ (สงครามโลกครั้งที่ ๒) แทบทุกประเทศมีกระทรวงทบวงการไว้สำหรับบอกกล่าวข้อความต่าง ๆ ให้พลเมืองของตน และชาวประเทศอื่น ๆ ทราบความจริง หรือความไม่จริง ซึ่งต้องการจะให้เข้าใจว่าจริง ในยุโรปกระทรวงซึ่งมีหน้าที่ราชการเช่นว่านี้ ใช้ชื่อทางราชการต่าง ๆ กัน

คำว่า “โฆษณาชวนเชื่อ” (โปรปะกันดา) นี้ ภาษาละตินเดิมใช้เป็นชื่อกรรมการผู้รับหน้าที่เผยแผ่ศาสนาคริสเตียนนิกายคอธอลิก ในสมัยนี้ใช้ทั่วไปหมายความคนละอย่าง ดังซึ่งผู้อ่านย่อมจะทราบทั่วกันอยู่แล้ว

ผู้เขียนนึกถึงเรื่องนี้ เพราะเมื่อเช้าได้ยินคำพูดของ เย. บี. พรีสต์ลีห์ ซึ่งจัดว่าเป็นฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายบริติชก็คงจะได้ แต่ผู้นั้นเป็นคนซึ่งผู้ฟังวิทยุชอบฟังกันมาก เพราะเป็นคนมีปัญญาเฉียบแหลม สำนวนโวหารเกลี้ยงเกลา เรานึกว่าเมื่อมีคนชอบฟังมาก ก็เห็นจะมีคนเชื่อมาก

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ