สหกรณ์ในพม่า

เมื่อประมาณ ๑๕ ปีมาแล้ว หัวหน้าราชการแผนก ซึ่งเป็นผู้นำเอาวิธีการสหกรณ์ มาริเริ่มจัดในสยาม ได้ไปดูการสหกรณ์ในประเทศพม่า มีข้าราชการสยามในกรมสหกรณ์ไปด้วย ๒ นาย การไปครั้งนั้น รัฐบาลประเทศโน้น ตั้งแต่เกาวนาลงไป ได้เอื้อเฟื้อรับรองเป็นอันดี พวกเราจึงได้มีโอกาสพิเคราะห์และไต่ถามสืบหาความรู้ได้มาก

ในเวลานั้น สหกรณ์ในเมืองไทยได้ตั้งหลายสมาคมแล้ว ทั้งในแดนพิษณุโลก ลพบุรีและกรุงเก่า ข้อบังคับสหกรณ์ของเราที่เริ่มใช้ได้ เอาข้อบังคับของพม่ามาดูเป็นแบบ แต่ได้แก้ไขเป็นอันมาก ตามที่เห็นว่าจะเหมาะแก่ประเทศนี้ ถ้าจะพูดถึงข้อบังคับสหกรณ์ในเวลานั้น หรือแม้ในเวลานี้ก็ดี ใครจะหยิบเอาข้อบังคับซึ่งใช้มาแล้วที่ไหนมาเป็นแบบสักรายหนึ่ง เมื่อสอบกันเข้าก็คงจะได้ความว่าทำนองเดียวกันทั้งนั้น ผู้เรียนเข้าใจว่า ถ้าจะเขาข้อบังคับสหกรณ์ในสยามนี้ไปแปลเป็นแบบใช้ในบ้านเมืองอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ก็จะต้องแก้ไขบ้างตามที่จะเหมาะแก่ท้องที่ แต่ถ้าจะพูดตามหลักแล้ว ก็หนีกันไม่พ้นไปได้

สหกรณ์ที่พูดนี้ เป็นสหกรณ์ชนิดที่จัดหาทุนให้แก่ชาวนา ไม่ใช่สหกรณ์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งมีอีกหลายอย่าง อนึ่ง ควรจะกล่าวให้ผู้อ่านซึ่งไม่เคยทราบ ๆ ว่า คำว่าสหกรณ์นี้ ถ้าพูดขึ้นลอย ๆ ก็อาจเข้าใจต่างกันไปตามท้องที่ ถ้าพูดถึงสหกรณ์ในประเทศอังกฤษ ผู้ฟังที่นั่นมักจะเข้าใจว่า พูดถึงร้านสหกรณ์ พูดในสยามผู้ฟังมักจะเข้าใจว่าสหกรณ์ชาวนา ถ้าไปพูดในประเทศฟินแลนด์ ก็อาจหมายความตั้งแต่รัฐบาลลงไปก็ได้ เพราะในประเทศหลังนี้ อะไร ๆ ก็เป็นสหกรณ์ไปหมด

ในเวลานั้น สหกรณ์ในสยามนี้ได้จัดไปบ้างแล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไรบกพร่อง แต่เจ้าพนักงานตั้งแต่นายทะเบียนลงไปรู้สึกตัวว่า ลำพังแต่อ่านตำราที่ใช้กันในประเทศต่าง ๆ แล้วนำเอามาใช้ตามแต่จะเห็นเหมาะแก่ประเทศของเรา ก็ยังเป็นการงมงายอยู่บ้าง จึงจะใคร่เที่ยวดูในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงให้เห็นที่เขาทำกันไปไกลกว่าเรา คือภาษิตว่าสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น แม้หนังสือจะไม่ใช่ปากก็พอสงเคราะห์เข้าเป็นปากตามภาษิตนั้นได้

การเที่ยวดูสหกรณ์ในประเทศใกล้เคียงย่อมเป็นธรรมดาที่จะไปเมืองพม่าก่อน เพราะอยู่ใกล้และจะต้องผ่านอยู่แล้ว ครั้นพวกเราได้ไปดูในเมืองพม่า ก็เห็นว่าที่ได้ทำไปในเมืองเราก็ไม่มีอะไรผิด ที่แท้กลับเกิดเห็นขึ้นว่า ในพม่าเองมีรูปงานสหกรณ์บางอย่างซึ่งไม่น่าไว้ใจเลย ที่แท้พวกเราได้บอกกล่าวให้กันฟังในเวลานั้นว่า อีกสัก ๔-๕ ปี น่ากลัวจะเกิดยุ่งขึ้นในสหกรณ์เมืองพม่า เหตุสำคัญข้อหนึ่งที่เห็นน่าวิตกในเวลานั้น คือว่าอนามัยของแบงก์สหกรณ์กลางไม่สู้จะดีนัก

ข้อที่เราเป็นห่วงว่า สหกรณ์พม่าจะเกิดลำบากขึ้นใน ๔-๕ ปีนั้น เราประมาณผิดไป ที่จริงต่อมาอีกถึง ๗-๘ ปีจึงได้ยินความไม่เรียบร้อยในสหกรณ์ของพม่า ในกรุงเทพฯ ตอนนั้น เมื่อได้ยินข่าวว่าสหกรณ์พม่าไม่เรียบร้อย ก็ได้เกิดหวาดหวั่นถึงสหกรณ์ของเรา เพราะเข้าใจกันว่า สหกรณ์ไทยเดินตามแบบพม่าทุกประการ เมื่อแบบพม่าวิปริตไป เราซึ่งเป็นผู้ตามที่พลอยจะวิปริตไปด้วย

อันที่จริง วิธีสหกรณ์ของเรามิได้เดินตามแบบพม่าไปทุกสิ่งทุกอย่าง ใช่แต่เท่านั้น เจ้าพนักงานของเราเมื่อไปเมืองพม่าก็ได้เห็น และเป็นห่วงสหกรณ์ที่นั่นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เจ้าพนักงาน สหกรณ์ที่นี่จึงมิได้กลัวสหกรณ์ของเราจะเป็นอย่างที่โน่น แต่หากผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการตกใจไปเองในเวลานั้น

อนึ่ง ควรจะกล่าวโดยยุติธรรมแก่พวกหัวหน้าสหกรณ์เมืองพม่าที่พวกเราไปพบ และพูดจากันในเวลานั้นว่า เขาก็เห็นเค้าความบกพร่องที่จะมีมาในภายหน้าเหมือนกัน แต่วิธีจัดคนเข้ารับตำแหน่งของเขาเป็นวิธีที่น่าขอบใจเทวดาที่เรายังไม่ได้ใช้ในการจัดสหกรณ์ของเรามาจนบัดนี้ คือว่าที่เมืองพม่าในครั้งกระโน้น เขาใช้ข้าราชการชั้นเงินเดือน ๑,๘๐๐ ถึง ๒,๐๐๐ รูปี ให้เป็นหัวหน้าและตัวรองในกรมสหกรณ์ พวกนั้นเป็นคนวิชาสูงเฉลียวฉลาดในราชการ (เรียกว่าพวก ไอ.ซี.เอ็ส.) ใช้ราชการได้แทบทุกแผนก เมื่อตำแหน่งชั้นสูงที่ไหนว่างก็โยกย้ายกันไป มิได้ใช้คนซึ่งฝึกซ้อมชำนาญแล้วให้ประจำอยู่กับที่ เหตุฉะนี้ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า ถึงหัวหน้าสหกรณ์ที่เข้ารับหน้าที่อยู่ ๒ - ๓ ปี จะเข้าใจการงานเห็นทางดีทางเสียที่จะมีมาในภายหน้าแล้วก็จริง แต่เมื่อเลื่อนขึ้นไปรับราชการในตำแหน่งอื่น แต่ผู้เข้าไปใหม่ก็ต้องกลับขึ้นต้นอีก กว่าผู้เข้าใหม่จะเห็นแนวทางที่จะเสื่อมเสียในภายหน้าและคิดแก้ไขได้ ก็กินเวลาอีกพักหนึ่ง และอาจถลำเลยไปเสียแล้วก็ได้

ผู้เขียนนำสันนิษฐานข้อนี้มากล่าว โดยหวังว่าจะเป็นคติแก่ราชการสหกรณ์ของเราในภายหน้า เพราะว่างานสหกรณ์เป็นงาน ซึ่งต้องถากไถกันอยู่นานจึงจะชำนาญ เปลี่ยนตัวกันบ่อยนักไม่ดี ตามที่เคยสังเกตมาแต่ก่อน งานสหกรณ์เป็นงานซึ่งคนถือตัวว่ารู้กันเร็วนัก เคยมีตัวอย่างที่ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือเล่มเดียวแสดงวิชาทับถมพวกที่เคยทำเคยเห็น และเคยอ่านหนังสือหลายเล่ม รวมทั้งเล่มเดียวนั้นด้วย

ย้อนกลับไปถึงสหกรณ์ในเมืองพม่า ในรัฐสภาของเขาเมื่อวันพฤหัส วันที่ ๑๙ สิงหาคม (พ.ศ. ๒๔๘๐) ได้มีอภิปรายกันเป็นการใหญ่ในเรื่องความบกพร่องของสหกรณ์ และเรื่องวิธีที่รัฐบาลจัดแก้ไข อันเป็นวิธีที่สมาชิกในสภา ผู้นำอภิปรายไม่เห็นว่าเป็นทางที่จะสำเร็จผลได้ สมาชิกหลายคนทั้งพม่า ฝรั่ง และแขกได้พูดสนับสนุนผู้นำ และวิธีการที่รัฐบาลคิดแก้บกพร่องนั้น ก็ปรากฏออกมาในคำที่เขาพูด ถ้าเรานำมากล่าวด้วยก็อาจเป็นประโยชน์ แต่ไม่มีหน้ากระดาษที่เราจะนำมาแสดงในวันนี้

เสนาบดี เจ้ากระทรวง ผู้ตอบแทนรัฐบาลกล่าวว่า สหกรณ์ในเมืองพม่าได้ตั้งมานานแล้ว เมื่อแรก ๆ ตั้งก็ได้จำเริญรวดเร็วอยู่หลายปี แต่เมื่อมาถูกคราว “เศรษฐกิจตกต่ำ” ต่อจากมหาสงคราม (โลกครั้ง ๑) การสหกรณ์ในพม่าก็ทรุดโทรมไป รัฐบาลคิดแก้อยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่ฟื้นขึ้นได้

เสนาบดีกล่าวในที่สุดว่า ประเทศเพื่อนบ้านคือสยามซึ่งคนบางคนกล่าวว่าเป็นประเทศล้าหลัง ได้จัดสหกรณ์ออกหน้าพม่าไปไกลมาก.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ