อัครวาที

บันทึกชี้แจง

มีสมุดเล่มหนึ่งพิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรกในลอนดอน เมื่อเดือนธันวาคมที่แล้วมานี้ (พ.ศ. ๒๔๘๒) ขายดีจนต้องพิมพ์ครั้งที่ ๒ ในเดือนเดียวกัน แล้วพิมพ์ครั้งที่ ๒ อีกในเดือนนั้น

ผู้เรียบเรียงหนังสือพิมพ์ในสมุดนั้น เป็นผู้เคยอยู่ในวงที่เป็นใจกลางของชมรมการเมืองในประเทศของเขา เมื่อได้ยินได้ฟังอะไร ก็บันทึกละเอียด ภายหลังผู้นั้นเกิดรังเกียจลัทธิและวิธีปฏิบัติของชมรมขึ้น จึงปลีกตัวห่างออกไป แล้วถูกกล่าวโทษว่าคิดคดต่อชมรม เลยต้องหนีไปประเทศอื่น ชื่อของเขามีในสมุด “ใครเป็นใคร” และปรากฏตามสมุดนั้นว่า เขาได้เล่าเรียนในมหาวิทยาลัย ๔ แห่ง มีปริญญาชั้นดอกเตอร์ เป็นนักการเมืองผู้เคยรับตำแหน่งประธานกรรมาธิการ เป็นสมาชิกสภาผู้เฒ่า และมีตำแหน่งอื่น ๆ ด้วย ได้แต่งหนังสือทางการเมืองหลายเล่ม ก่อนที่ต้องหนีไปอาศัยร่มไม้ชายคาของประเทศอื่น

ใจความในสมุดนั้นเราอ่านเพลิน ก็นึกว่าผู้อ่านของเราคงเพลินเหมือนกัน เราจึงเก็บใจความมาเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ ความจริงจะเป็นเช่นที่เขากล่าวนั้นหรืออย่างไร เราไม่อาจล่วงรู้ได้ แต่เมื่อทราบว่าใครเป็นผู้แต่งก็ชักให้เพ่งใจอ่าน

ศัพท์ที่ใช้เป็นชื่อคนหรือชื่อตำแหน่งต่อไปนี้ เป็นศัพท์ของเราเอง ไม่ได้นำชื่อจริงมาอ้าง และคำว่า “ข้าพเจ้า” ก็คือผู้ที่แต่งหนังสือเล่มนั้น

สงครามคราวหน้า

(สนทนากันใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ก่อนเดี๋ยวนี้ ๒๔๘๒ ประมาณ ๘ ปี)

“สงครามคราวหน้าจะผิดกันกับสงครามครั้งก่อนไกลกันมาก วิธีรบที่ใช้ทหารราบเนืองแน่นกันเข้าไปตีบุกรุกนั้น เป็นวิธีโบราณพ้นสมัยหมดแล้ว การทำศึกชนิดที่ตั้งแนวยันกันตั้งปีนั้นจะไม่มีอีก ข้าพเจ้ารับประกันข้อนี้เพราะเป็นวิธีทำศึกอย่างเลวทรามที่สุด

ท่านอัครวาทีพูดดังข้างบนนี้แล้วก็นิ่ง ตาท่านดูไปจากหน้าต่างเห็นภูเขาซึ่งอยู่ห่างจากยอด ที่บ้านของท่านตั้งอยู่ ครู่หนึ่งท่านกล่าวต่อไปอีกว่า “เราจะกลับย้อนไปใช้วิธีที่ดำเนินการรบได้ปลอดโปร่ง เพราะเรามีความสามารถที่จะนำเอาวิธีนั้นกลับมาใช้ได้”

นายฟอร์ ซึ่งเป็นชาหลวงประจำท้องที่แห่งหนึ่ง ถามขึ้นว่า “จริงหรือขอรับที่ประเทศของเราได้ตระเตรียมไว้หลายอย่างเป็นการลับ และอาจทำลายความต่อต้านของประเทศไหน ๆ ได้ทั้งนั้น เพราะเรามีอาวุธอย่างใหม่ ซึ่งแม้แต่เทือกป้อมที่เรียกกันว่า แนวนั่นแนวนี่ก็ไม่อาจต้านทานได้”

ท่านอัครวาทีตอบว่า “กองทัพบกก็คงจะมีอาวุธลับด้วยกันทุกกองทัพ ข้าพเจ้าไม่ค่อยจะวางใจว่าใช้ได้แน่นัก”

ฟอร์กล่าวซ้ำว่า “ก็อาวุธชนิด ส. ซึ่งเป็นอาวุธอย่างใหม่ของเราอย่างไรละขอรับ การใช้อาวุธไฟฟ้า ย่อมเปิดทางให้เข้าที่บุกรุกได้โดยวิธีใหม่ ๆ ไม่ใช่หรือ ยังมีวิธีรบด้วยแก๊สพิษชนิดใหม่ และสงครามเชื้อโรคอีกเล่า เชื้อโรคจะไม่ใช้เป็นอาวุธในสงครามครั้งหน้าหรือ

ท่านอัครวาทีพูดมีเสียงแค้นว่า “ชาติที่ถูกตัดสิทธิของตนนั้นอาจใช้อาวุธชนิดไรก็ได้ แม้จะใช้เชื้อโรคเป็นอาวุธก็อาจใช้” (ท่านพูดมีเสียงโกรธมากขึ้น) ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีความตะขิดตะขวงเลย ถ้าต้องการจะใช้อาวุธชนิดไหนก็จะใช้ แก๊สพิษอย่างใหม่นั้นร้ายที่สุด แต่ความตายนั้นจะตายช้า ๆ อยู่ในรั้วลวดหนาม หรือจะตายอย่างน่าทุเรศ อย่างคนที่ถูกแก๊สพิษ หรือถูกวางเชื้อโรค ก็เป็นอันว่าตายด้วยกันทั้งนั้น ต่อไปข้างหน้าชาติจะรบกับชาติ ไม่ใช่กองทัพรบกับกองทัพ เพราะฉะนั้นเราจะทอนกำลังกายแห่งศัตรูของเราลงไปด้วยเชื้อโรค พร้อมที่ทอนกำลังใจลงไปไม่ให้กล้าต่อสู้เราได้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงนึกว่า ในภายหน้าอาจใช้เชื้อโรคปนอาวุธในสงครามกันก็ได้ เราก็ทดลองเรื่องเชื้อโรคนี้อยู่แล้วแต่ยังไม่ได้ที่ การใช้อาวุธชนิดนี้ใช้ได้โดยไม่ขีดคั่น และคงจะต้องลงมือใช้ก่อนประกาศสงคราม ที่แท้สงครามของเราจะเริ่มก่อนใช้กองทัพรบกัน ข้าพเจ้านึกว่า เราอาจทำให้ประเทศที่เป็นศัตรูของเราตกอยู่ในกำมือเราด้วยวิธีนี้ก็เป็นได้ แม้อเมริกาก็อาจทำได้

ชายหนุ่มคนหนึ่งถามขึ้นว่า “ท่านคิดว่าอเมริกาจะเข้ามายุ่งในเรื่องของยุโรปอีกหรือขอรับ

ท่านอัครวาทีตอบว่า “ข้าพเจ้าแน่ใจว่าเราคงจะห้ามไม่ให้เข้ามายุ่งได้ เพราะมีวิธีที่จะใช้เป็นเครื่องมือได้ อเมริกามีอาการที่ฉวดเฉียดจลาจลอยู่แทบไม่เว้นว่าง ข้าพเจ้าอาจจัดการให้เกิดแตกร้าวกันขึ้นเองในประเทศนั้น ให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาหรือน้ำใจที่จะเอื้อมเข้ามายุ่งในยุโรปได้ เราไม่ต้องการอเมริกาในยุโรป”

นายฟอร์ถามว่า “ท่านว่าเมื่อตะกี้ว่า ถ้าใช้เชื้อโรคเป็นอาวุธก็จะต้องรีบใช้ก่อนเริ่มสงคราม แต่เมื่อยังไม่เกิดสงคราม เราจะมีวิธีใดที่จะใช้เชื้อโรคได้”

ท่านอัครวาทีว่า “เราก็ใช้เอเย่นต์ลอบเข้าไป เช่นพวกที่เข้าไปบอกขายสินค้าเป็นต้น พวกนั้นต้องเที่ยวไปทุกหนทุกแห่ง และถ้าพูดเพียงเวลานี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นคนพวกเดียวที่จะใช้ได้ แต่การใช้เชื้อโรคนั้นกว่าจะเห็นผลก็คงหลายสัปดาห์ หรืออาจนานกว่านั้นก็เป็นได้ บางทีเราจะใช้เชื้อโรคเมื่อกองทัพทั้ง ๒ ฝ่ายได้รบกันพัวพันแล้ว เวลานั้นแหละเป็นเวลาซึ่งทำให้การเสียขวัญได้ง่าย”

ต่อนี้ไปเราพูดกันถึงรายละเอียดแห่งการใช้แก๊สพิษและเชื้อโรค ครู่หนึ่งท่านอัครวาทีนิ่ง มีอาการเหมือนตรึกตรองปัญหาอะไรที่มากวนใจท่านในเวลานั้น อันเป็นเวลาซึ่งฐานะแห่งชมรมการเมืองของเราจวนจะเข้าด้ายเข้าเข็ม เพราะรัฐบาลเวลานั้นเป็นอริกับเรา แต่ท่านอัครวาทีไม่แสดงให้ใครเห็นเลยว่า ท่านหวั่นเกรงว่าชมรมของเราจะไม่ได้เถลิงอำนาจในที่สุด เพราะท่านรู้สึกว่า ท่านเกิดมาสำหรับจะนำชาติไปสู่ความรุ่งเรือง

ต่อนั้นไปเราพูดกันถึงสงคราม ซึ่งเมื่อฝ่ายหนึ่งรบชนะแล้ว แทนที่จะได้ดีกลับกลายเป็นร้ายทุกครั้ง

ท่านอัครวาทีพูดเสียงแข็งว่า เราจะไม่ยอมแพ้ใครเป็นอันขาด ถ้าเราแพ้เราก็จะลากเอาโลกไปด้วยทั้งโลก คือโลกที่ไฟลุกทั่วไปหมด”

ท่านนั่งนิ่งมีอาการว่าตรองไปอีก ชายหนุ่มคนที่พูดเมื่อกลับพูดขึ้นอีกว่า “สงครามมักจะแพ้ชนะกันด้วยอาวุธที่ฝ่ายไหนมีดีและมีมากกว่ากัน”

ท่านอัครวาทีเหลียวไปพูดเสียงแหวว่า “ไม่ได้แพ้กันด้วยอาวุธหรอก แพ้ชนะกันด้วยมนุษย์ที่ใช้อาวุธต่างหาก

ชายหนุ่มกลับถามว่า “อาวุธที่คิดใหม่ ๆ และใช้ข่มอาวุธเก่า ๆ ได้ จะไม่เป็นเครื่องมือที่นำความชนะมาให้หรือขอรับ เมื่อตะกี้ท่านกล่าวว่า สงครามคราวหน้าจะผิดกับสงครามก่อน ๆ ผมจึงเข้าใจว่า อาวุธใหม่ ๆ เหล่านี้จะทำให้รูปการศึกเปลี่ยนไป เพราะยุทธศาสตร์ทั้งหลายจะต้องเลิกล้มหมด เหตุที่ยุทธศาสตร์จะไม่ต่อต้านอาวุธอย่างใหม่ ๆ ได้

ท่านอัครวาทีตอบว่า “เข้าใจผิดทั้งนั้น ยุทะศาสตร์ไม่เปลี่ยน หรือถ้าเปลี่ยนก็ไม่ได้เปลี่ยนเพราะอาวุธที่คิดขึ้นใหม่ คิดดูซิสมัยโบราณรบกันไม่มีดินปืน แต่เมื่อมีดินปืนขึ้นแล้วก็หาได้เปลี่ยนหลักแห่งยุทธศาสตร์ไปไม่ ข้าพเจ้าไม่ค่อยไว้ใจอาวุธที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ๆ เห็นว่าจะไม่เปลี่ยนวิธีทำศึกไปได้จริงจัง เพราะอาวุธที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ๆ นั้น ไม่ช้าก็มีชนิดอื่นมาใหม่อีก จริงดอก อาวุธใหม่ย่อมทำให้เปลี่ยนวิธีรบกันบ้าง และคงจะต้องเปลี่ยนไปจนกว่าจะละเอียดกันลงไปหมด แต่การได้เปรียบด้วยการมีอาวุธอย่างใหม่จะเป็นการชั่วคราวเท่านั้น”

ตรงนี้คนคู่ใจของท่านอัครวาที ซึ่งเป็นเลขานุการของท่านอยู่ในเวลานั้นกล่าวขึ้นว่า “ท่านเหล่านี้ยังไม่เข้าใจนะขอรับว่า ถ้าเกิดสงครามขึ้น และถ้าอาวุธชนิดใหม่ ๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้นไม่สามารถจะทำให้วิธีทำศึกเปลี่ยนแปลงไปได้จริงจัง และถ้าเราตกอยู่ในที่ล้อมถูกกดด้านโน้นด้านนี้ไซร้ เราก็จะกลายเป็นต้องทำสงครามอยู่ภายในวง จะตีหักออกไปนอกวงไม่ได้ ก็จะต้องแนวรบยันกันอยู่เป็นเวลานานปี”

ท่านอัครวาทีพูดเป็นเสียงตวาดออกมาว่า “ใครเป็นคนพูดว่าข้าพเจ้าจะเริ่มสงครามอย่างพวกโง่บัดซบ ทุกอย่างที่เราทำมาแล้วไม่แสดงให้เห็นหรือว่า เราพยายามจะไม่เริ่มเช่นนั้น คนโดยมากนึกอะไรไม่ออก นอกจากจะนึกตามที่เคยเห็นหรือได้ยินได้ฟังมาเอง และไม่เห็นของใหม่ ๆ อันจะทำให้โดยมากพิศวง แม้พวกนายพลก็ปัญญาตันไปหมด ดูราวกับปัญญาถูกทับไว้ภายในปกสมุดตำราที่เคยเรียนมา เพราะฉะนี้ผู้ที่สามารถคิดทางใหม่ๆ ขึ้น จึงเป็นผู้อยู่นอกวงผู้ชำนาญในทางวิชา”

ท่านอัครวาทีชี้แจงต่อไปว่า สงครามเวลานี้ ต้องนับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ลับ แต่เป็นของธรรมดา เป็นของไม่มีปลายและเป็นของสากล ไม่มีขึ้นต้นที่ไหน ความสงบเป็นของไม่มีจริงอย่างที่คนโดยมากนึก สงครามคือชีวิต การแก่งแย่งกันไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ย่อมมีธรรมดาเป็นสงครามทั้งนั้น สงครามเป็นที่เกิดแห่งสิ่งทั้งหลาย เราจงหวนไปพิเคราะห์ดูถึงมนุษย์ในสมัยที่ยังเป็นคนป่าเถื่อน สงครามคืออะไร นอกจากความฉลาดในเชิงที่จะเอาเปรียบกัน ล่อลวงกัน และลอบเข้าทำร้ายไม่ให้รู้ตัว มนุษย์จะฆ่ากันก็ต่อเมื่อไม่มีทางอื่นที่จะสมประสงค์ได้เท่านั้น พ่อค้าก็ดี โจรก็ดี นักรบก็ดี ล้วนแต่เป็นคนชนิดเดียวกันในสมัยหนึ่งทั้งนั้น คือ พวกปล้นทั้งหมด นี่แหละเป็นยุทธศาสตร์อย่างกว้าง คือใช้ปัญญาเป็นอาวุธทาสงคราม สงครามนั้นมีความมุ่งหมายประการใดเล่าท่าน ความมุ่งหมายของสงครามคือจะให้ศัตรูยอมแพ้ เมื่อยอมแพ้แล้ว เราก็ได้โอกาสที่จะขยี้ให้ละเอียด ดังนี้ถ้าเรามีทางที่จะเอาชัยในสงครามได้ด้วยไม่เปลืองชีวิตพวกเรามากนัก และไม่เปลืองโสหุ้ยกี่มากน้อยไซร้ เราจะไปใช้กำลังทัพทำไมเล่า”

ท่านอัครวาทีกล่าวฉะนี้แล้ว ก็ชี้แจงต่อไปถึงวิธีที่ท่านคิดไว้ใหม่ ๆ ซึ่งเวลานั้นแม้จะฟังแปลก ก็ไม่น่าเห็นจริงว่าจะสำเร็จ แต่เห็นได้แน่ว่า ท่านได้ตรึกตรองไว้มาก

ท่านอัครวาทีได้พูดถึงวิธีทำสงครามอย่างใหม่ ซึ่งท่านได้ตรึกตรองไว้มาก เมื่อฟังแต่หัวข้อเผิน ๆ ในเวลานั้นก็ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ท่านได้ชี้แจงความคิดของท่านอย่างละเอียด ในข้อที่จะใช้ปัญญาเป็นอาวุธทำสงคราม

ท่านว่า “เมื่อข้าพเจ้าลงมือทำสงครามในขณะสงบเมื่อใด เมื่อนั้นพลทหารของเราก็จะปรากฏขึ้นในเมืองหลวงของปัจจามิตรในทันทีทันใด เหมือนดังโผล่ขึ้นมาจากดิน คนของเราจะแต่งเครื่องแบบของประเทศนั้นเอง แล้วเดินแถวไปสู่สำนักเสนาธิการตามทางถนนในเวลากลางวันแสก ๆ จะไม่มีใครห้ามเรา เพราะไม่มีใครรู้ตัว และไม่รู้ว่าพวกเราไม่ใช่ทหารของประเทศนั้นเอง ในเวลาเดียวกันนั้น กองพลกองอื่น ๆ ของเราก็จะแต่งเครื่องแบบเดียวกัน เดินแถวไป ณ สำนักราชการสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ในขณะเดียวกันสำนักเสนาธิการกองทัพ กระทรวงทะบวงกรมต่าง ๆ และหอปาลิเมนต์จะถูกยึด และพวกหัวหน้าจะถูกกุมตัวไว้หมด กองทัพของประเทศก็จะไม่มีเสนาธิการและแม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ หัวหน้าราชการในกระทรวงทะบวงกรมต่าง ๆ ก็ไม่มี ท่านจงนึกถึงกองทัพและบ้านเมืองซึ่งไม่มีใครเป็นหัวหน้านั้นเถิด จะยุ่งเหยิงกันอย่างไรบ้าง ประเทศที่จะเป็นเช่นว่านี้ ไม่ใช่ประเทศเดียว มีหลายประเทศ คือ ประเทศนั้น ประเทศนั้น ประเทศนั้น และประเทศนั้น (ท่านอัครวาทีระบุชื่อ ๔ ประเทศ) ประเทศเหล่านี้จะไม่มีคนชุดที่เป็นหัวหน้า เพราะพวกนั้นจะหมดไปโดยไม่ทันรู้ตัวทั้งนั้น

“แต่ที่ข้าพเจ้าว่าไม่มีคนพวกหัวหน้านี้ หมายความว่าไม่มีคนชุดเก่า แต่คนชุดที่จะเป็นรัฐบาลใหม่ย่อมมีพร้อมอยู่แล้ว เพราะข้าพเจ้าจะได้จัดล่วงหน้าไว้เสร็จ พวกเหล่านั้นจะเป็นรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งถูกใจข้าพเจ้า

“พวกที่จะเป็นรัฐบาลชุดใหม่นี้ ก็ล้วนแต่ชาวประเทศนั้น ๆ เอง เราจะหาได้ง่ายๆ ทุกประเทศ ไม่ต้องจ้างหรือติดสินบนให้เข้ามารับเป็นหุ่น จะมาเองทั้งนั้น เพราะอยากได้ดีบ้าง เพราะเห็นผิดเป็นชอบบ้าง เพราะแก่งแย่งกันในชมรมการเมืองบ้าง เพราะเห็นแก่อำนาจวาสนาที่จะเกิดแก่ตนบ้าง ตัณหาเหล่านี้จะต้อนให้คนวิ่งเข้ามาหาเราเป็นฝูง ๆ และเราคงจะได้เจรจาตกลงเลิกสงครามไว้เสร็จ แต่เมื่อสงครามยังหาได้เกิดใหม่”

“ท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้นั้นแหละมักจะเป็นไปได้แน่นอน ยิ่งกว่าสิ่งซึ่งมีอาการเหมือนจะเป็นไปได้ ส่วนพวกเราเองเราจะมีพลอาสาถมไป ที่เต็มใจจะทำการชนิดที่ข้าพเจ้าว่า และยอมที่จะเสียเลือดเนื้อ หรือของพึงสงวนทั้งหลาย เราจะส่งพวกนั้นเข้าไปในดินแดนของปัจจามิตรในขณะที่มิได้มีสงคราม ส่งทะยอย ๆ กันเข้าไป แต่ให้มากขึ้นทุกที พวกนั้นจะเดินทางข้ามแดนเข้าไปอย่างพวกที่ไปเที่ยวเล่นหรือไปค้าขายทั้งนั้น

“ท่านทั้งหลายที่ฟังอยู่เวลานี้ คงจะไม่เชื่อความคิดที่ข้าพเจ้าพูดนี้ ว่าจะสำเร็จได้จริง แต่ท่านจงวางใจเถิดว่า ข้าพเจ้าจะทำทีละคั่น ๆ ให้สำเร็จจนได้ กองทหารของเราอาจส่งไปทางฟ้าไปลงที่สนามบินของเขาก็ได้ เพราะยานทางฟ้าของเราในภายหน้าจะขนไปได้ไม่แต่คนเท่านั้น แม้อาวุธก็จะขนไปได้ ถ้าทำตามวิธีที่กล่าวนี้ เทือกป้อมที่สร้างไว้บนดินจะกีดกันเราไม่ได้ ยุทธศาสตร์ของเราจะทำลายข้าศึกหลังรั้วบ้าน ไม่ใช่จะตีแหกรั้วเข้าไป”

ตรงนี้หัวหน้าพลอาสาที่ร่วมประชุมอยู่ด้วยคนหนึ่ง ได้ขออนุญาตถ่ายรูปหมู่ของพวกที่ประชุมกันอยู่เวลานั้นไว้เป็นที่ระลึก ท่านอัครวาทีอวยตาม เราทั้งหมดจึงออกไปนอกเรือน ยืนเข้าหมู่ให้ถ่ายรูป เลขานุการของท่านอัครวาทีเป็นผู้เปิดกล้อง เมื่อถ่ายรูปแล้วก็เดินกันเป็นกลุ่มช้า ๆ ไปตามถนนในบริเวณบ้าน และท่านอัครวาทีก็ชี้แจงต่อไป

“ในฟ้าเราจะเป็นใหญ่มีกำลังข่มทัพฟ้าของใคร ๆ ได้ทั้งนั้น แต่มีอยู่ประเทศหนึ่ง ซึ่งอาจแข่งเราได้ คือ (ตรงนี้ท่านออกชื่อประเทศหนึ่ง) ส่วนประเทศเพื่อนบ้านของเราอีกด้านหนึ่งนั้น (ท่านออกชื่อประเทศอีกประเทศหนึ่ง) ชนพวกนี้ไม่มีเวลาที่จะฝึกหัดการรบในฟ้าให้เก่งได้เลยตลอดชาติ ข้าพเจ้ากำหนดว่าจะสร้างทัพฟ้าใหญ่ที่สุดในโลก และจะฝึกหัดนักบินซึ่งชำนาญการรบอย่างห้าวหาญที่สุด แต่ที่ว่าจะสร้างทัพฟ้าใหญ่ที่สุดนี้ ไม่หมายความว่า จะไม่มีทัพบก เราจะต้องมีทัพบกอย่างใหญ่ด้วยเหมือนกัน เราต้องการกองทัพบก ซึ่งใช่แต่มีเหล่าพิเศษไว้เป็นผู้ชำนาญวิชาเฉพาะอย่างเท่านั้น ถึงกองทัพที่ใช้คนทุ่มเทเข้าต่อรบก็จะต้องมีไว้เหมือนกัน”

“แต่การมีกองทัพบกไว้เช่นนี้ ไม่ใช่มีไว้สำหรับใช้ดังที่เคยมาแต่ก่อน วิธีรบอย่างโบราณ คือใช้ปืนใหญ่ยิงเตรียมทำทางที่ทหารราบจะเข้าตีนั้น การยิงเตรียมล่วงหน้า เราจะยิ่งด้วยโปรปะกันดา ไม่ยิงด้วยปืนใหญ่ เราจะทำให้ศัตรูสิ้นกำลังใจที่จะต่อสู้เสีย แต่เมื่อกองทัพของเรายังไม่ได้ยก ต้องบันดาลให้มีน้ำใจคอยจะยอมแพ้อยู่แล้ว เราจึงยกกองทัพเข้าไปรับเอาความสามิภักดิ์ เราต้องไม่นึกถึงที่จะส่งกองทัพออกเดินเลย จนกว่าจะเห็นผลแห่งโปรปะกันดาแน่ได้

“ข้อที่ข้าพเจ้าจำต้องสนใจอยู่ในเวลานี้ ก็ถือว่าจะใช้วิธีใดจึงจะทำให้ปัจจามิตรมีน้ำใจคอยจะยอมแพ้เสียแต่เมื่อยังไม่ได้เริ่มสงคราม ใครเคยได้เห็นหรือได้ยินได้ฟังการสงครามมาก็คงจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเลือดนองขึ้นโดยไม่จำเป็น อุบายอันใดที่จะทำให้เลือดแห่งประชาชนของเราไม่ต้องตกดินมากได้ ก็เป็นอุบายดีทั้งนั้น เพราะฉะนี้เราจึงไม่ควรมีความตะขิดตะขวงในใจเลย ในการที่จะบันดาลให้เกิดก้าวร้าวกันขึ้นเองในประเทศของปัจจามิตร ความมีน้ำใจลังเล ความคิดซึ่งปะปนกันยุ่ง ๆ ความตื่นภัย ความรู้สึกเป็นอริกันเอง เหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นในประเทศของปัจจามิตรแล้ว ก็เป็นอาวุธของเราทั้งนั้น ท่านย่อมทราบแล้วว่า ถ้าเกิดเหตุเหล่านั้นขึ้นในประเทศปัจจามิตร ความกลัวแพ้ก็จะเกิดขึ้นในใจ “ปมแพ้” นี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้ยอมแพ้”

ท่านอัครวาทีนั่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง จึงกล่าวต่อไปว่า “ข้าพเจ้าจะไม่เริ่มสงครามเป็นอันขาด เว้นแต่เมื่อรู้แน่แล้วว่าปัจจามิตรคอยจะยอมแพ้ ในเมื่อถูกโจมตีใหญ่ครั้งแรก เมื่อใดข้าศึกเสียขวัญภายใน ยุ่งเหยิงกันจนจวนจะเกิดจลาจลอยู่แล้ว เมื่อนั้นเป็นเวลาที่เราจะทำ เราจะเอาชนะด้วยการตีครั้งเดียว คือ ตีทางฟ้าอย่างใหญ่ที่สุด ไม่ทันให้รู้ตัวเลย และทำให้เกิดตระหนกตกประหม่ากันไปหมด ส่วนภายในจะมีพวกเราลอบทำลาย คือ รวมและวัตถุใหญ่ ๆ ลงไป ลอบฆ่าหัวหน้าลงไป และภายนอกที่ใช้กำลังทัพที่ทุกด้านที่ศัตรูอ่อน ทั้งนี้ทำพร้อมกันหมด การทำของเรานั้นจะเสียมากก็ต้องยอม และไม่ต้องคิดถึงกำลังกองหนุน หรือเครื่องสำรองอย่างอื่นเลย ต้องทุ่มเทให้หมด เพื่อให้สำเร็จไปทันทีในครั้งแรกครั้งเดียว นั่นแหละคือสงครามในภายหน้า เมื่อทำใหญ่โตเช่นนี้แล้ว ผลจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าไม่นึกถึง นึกแต่จะเอาให้ได้เท่านั้น”

เมื่อท่านอัครวาทีกล่าวเช่นนี้แล้ว ก็หยุดอยู่ครู่หนึ่ง เหมือนดังจะให้เวลาให้เราเข้าใจสนิท อีกครู่หนึ่งท่านพูดเสียงอ่อนหน่อยว่า “ข้าพเจ้าไม่ทำสงครามเล่น ๆ ข้าพเจ้าไม่ยอมให้แม่ทัพบังคับข้าพเจ้าให้สั่งโน่นสั่งนี่ ข้าพเจ้าเองจะเป็นผู้สั่งให้ทำสงคราม ข้าพเจ้าเองจะเป็นผู้เลือกเวลาลงมือ โอกาสที่เหมาะแท้นั้นย่อมจะมีวันหนึ่งแต่มีครั้งเดียว และข้าพเจ้าจะไม่ปล่อยให้โอกาสนั้นพ้นไปเปล่า

“ท่านทั้งหลายจงอย่ามัวคิดแต่ว่า จะเป็นคนมีเกียรติด้วยความกล้าหาญอย่างวีรบุรุษ จงคิดอยู่แต่จะทำลายศัตรูของเราเท่านั้น ข้าพเจ้าไม่ต้องการสงครามอย่างธรรมยุทธนิยม สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการมากที่สุด ก็คือความปั่นป่วนในบ้านเมืองของข้าศึก สิ่งนั้นเป็นหลักประศาสโนบายของข้าพเจ้า

“ข้าพเจ้าเต็มใจจะใช้อุบายต่าง ๆ อย่างไม่เกรงความติเตียนกฎหมายนานาประเทศ หรือหนังสือสัญญาทั้งหลายจะไม่เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเว้นการกระทำชนิดที่อวยชัยให้แก่เรา สงครามคราวหน้าจะร้ายกาจอย่างไม่น่าเชื่อ จะรบกันอย่างทารุณเหมือนอมนุษย์ ทหารหรือพลเรือนจะไม่แปลกกันเลย จะต้องเป็นนักรบหรือถูกรบด้วยกันทั้งนั้น แต่วิธีสงครามซึ่งทารุณที่สุดนี้จะเป็นวิธีซึ่งกอร์ปด้วยเมตตามากที่สุด เพราะแล้วเสร็จกันได้โดยเร็ว และเมื่อเสร็จกันแล้ว ชนที่เป็นศัตรูของเราก็จะยกมือท่วมหัว ว่าเราเป็นผู้นำมาซึ่งความสงบอันจะยืดยาวไปนาน ท่านจงฟังคำข้าพเจ้าไว้เถิด ข้าพเจ้าเป็นผู้ต้องการสงคราม หลักของข้าพเจ้าคือทำลายศัตรูลงไปให้ราบ ข้าพเจ้านี่แหละเป็นผู้จะบันดาลให้สงครามเกิดขึ้น”

ท่านอัครวาทีมีความมุ่งหมายอย่างไรเล่า จึงจะทำให้สงครามเกิดขึ้น ท่านเห็นว่า สงครามจะนำมาซึ่งประโยชน์ภายหลังอย่างไรเล่า ท่านจึงต้องการสงคราม

วันนี้หมดหน้ากระดาษที่เราจะนำคำตอบปัญหานี้มาชี้แจง

ข้าพเจ้าได้พบท่านอัครวาทีในบ้านส่วนตัวของท่านเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ คราวก่อน ๆ ที่ข้าพเจ้าพบท่านได้พบที่อื่น ๆ ไม่ใช่ในบ้าน ส่วนตัวของท่าน ข้าพเจ้าถูกถามบ่อย ๆ ว่าเมื่อได้พบกับท่านอัครวาทีอย่างใกล้ชิดก็รู้สึกอย่างไรบ้าง คำถามนี้เมื่อข้าพเจ้าพิเคราะห์ น้ำใจตนเองให้แม่นยำแล้ว ก็จำต้องตอบว่ารู้สึกปน ๆ กัน จะว่าการพบปะใกล้ชิดทำให้เกิดสามีภักดิ์จริงจังก็ว่าไม่สนิท หรือจะว่าทำให้เกิดความเดียดฉันก็ว่าไม่ได้ เวลาที่ท่านเป็นประธานอยู่ในประชุมคนมาก ๆ หรือยืนพูดให้คนฟังในชุมนุมใหญ่ ๆ ก็ดูเป็นสง่าผ่าเผยน่าเลื่อมใสนัก แต่เมื่อพบกับท่านในบ้านส่วนตัวของท่านเฉพาะในวงพวกใกล้ชิดก็ดูคนละอย่าง คืนแรกที่ข้าพเจ้าไปที่บ้านนั้น ได้พบหญิงหลายคนซึ่งมีอาการเหมือนเป่าลมพองเกินไป ท่านอัครวาทีจำต้องได้รับความจงรักภักดีจากหญิงเหล่านั้นจึงจะกุมความวางใจในตนเองไว้ได้หรือ ถ้าพูดโดยรูปสมบัติ ท่านอัครวาทีก็ไม่ใช่คนมีลักษณะงดงาม และในตอนนั้น พวกที่เลื่อมใสในลัทธิของชมรมการเมือง ซึ่งเรียกว่า “นากนันท์ สุชลิศร์” กล่าวโจษกันว่า นัยนาของท่านเป็นสีน้ำเงินลึก แต่เมื่อรู้จักใกล้ชิดแล้วก็เห็นได้ว่า นัยนาของท่านไม่ลึกและเป็นสีน้ำเงินเลย เสียงของท่านเป็นเสียงกร้าว ๆ ซึ่งเปล่งออกมาอย่างชัด แต่ฟังเป็นเสียงที่ต้องเบ่ง เหมือนคนจมูกคัด ในสมัยนี้เสียงของท่านเป็นอย่างไรก็เคยได้ยินกันทั่วไปในโลก (เพราะวิทยุ) ฟังดูเหมือนว่าเป็นเสียงของคนที่ถูกขัดคอมานาน จนเมื่อพูดก็มักจะเป็นเสียงกระชากอยู่ร่ำไป

คนนั้นข้าพเจ้ากับคนอื่น ๆ อีก ๒-๓ คน ไปบ้านท่านอัครวาทีตามคำนัดของท่าน เมื่อเราไปถึงท่านก็รับรองโดยอัธยาศัยดี แต่ในคืนนั้นท่านมีเรื่องขุ่นในใจมาก ก่อนนั้นได้มีพวกนากนันท์สุชลิศร์อุกอาจเข้าไปในบ้านของชายคนหนึ่งที่เป็นตัวสำคัญของชมรมการเมืองตรงกันข้าม ลากเอาตัวเจ้าของบ้านจากที่นอนออกมากระทืบจนถึงความตายในกลางดึก พวกนั้นถูกตำรวจจับตัวนำส่งศาลชำระ ศาลพิจารณาได้ความว่ามีโทษฐานฆ่าคนตาย จึงตัดสินให้ประหารชีวิต ท่านอัครวาทีได้มีโทรเลขไปว่า นักโทษที่ถูกประหารชีวิตนั้นเป็นพรรคพวกของท่าน และท่านแสดงความเห็นชอบกับพวกนั้น โทรเลขนี้เมื่อทราบกันไปก็เป็นเรื่องเกรียวกราวกันมาก ทำให้คนบางพวกหย่อนความเลื่อมใสต่อท่านลงไป และท่านคงจะเห็นว่า การที่ท่านได้แสดงน้ำใจออกมาเปิดเผยในเวลาที่อำนาจปกครองยังมิได้ตกถึงมือท่านนั้น เป็นการหุนหันพลันแล่นไปสักหน่อย อาจเป็นทางที่ให้ด้ามแก่คณะรัฐมนตรีที่เป็นคู่อริกันอยู่ การเป็นฉะนี้ ในคืนที่ท่านนัดให้เราไปหาที่บ้านส่วนตัวของท่านนั้น เราจึงไปพบท่านกำลัง “พื้นไม่ดี” ท่านกล่าวด่าว่าพวกที่เป็นรัฐบาลอยู่ในเวลานั้น ว่าเป็นศัตรูต่อประเทศ และศาลยุติธรรมก็เป็นศาลทุจริต เพราะตัดสินประหารชีวิตคนที่ทำการไปด้วยความรักชาติแท้ๆ ผู้ที่ถูกเหยียบตายในกลางคืนก็ดี รัฐบาลก็ดี ศาลก็ดี ล้วนเป็นผู้ที่จะขายชาติทำลายชาติทั้งนั้น

ท่านกล่าวว่า “คำตัดสินเช่นนี้ ประชาชนคงจะไม่ลืมเป็นอันขาด ในสมัยที่การเมืองของประเทศกำลังยุ่งเหยิงอยู่เช่นนี้ การกระทำของใครในทางการเมือง ถ้าทำโดยเปิดเผยแล้ว ประชาชนก็จะนิ่งและยอมให้อนุมัติแล้วไม่ช้าก็ลืม เพราะการแก่งแย่งระหว่างชมรมการเมืองนั้น ถ้าจะเทียบก็คล้ายกับทำศึกกันในสนามรบ ใครเสียทีก็ถูกทำลายลงไป แต่การพิจารณาตัดสินในศาลนั้นคนละอย่าง การที่ศาลตัดสินไม่ยุติธรรมเช่นนี้ ชาติจะไม่ลืมเลย”

ท่านอัครวาทีแสดงความเกรียวโกรธอยู่จนดึก พวกใกล้ชิดของท่านรู้ว่า คนนั้นท่านคงจะนอนไม่หลับ จึงให้สัญญาแก่เราว่าให้เราลากลับ เลขานุการตามลงมาส่งเรา แล้วบอกว่า รุ่งขึ้นจะนัดให้ไปพบกับท่านใหม่ เพื่อจะได้ปรึกษากันในเรื่องที่ตั้งใจจะปรึกษาในคืนนั้น

คืนนั้นข้าพเจ้าเองก็นอนไม่ค่อยหลับ อาจเป็นด้วยแปลกที่ก็เป็นได้ ข้าพเจ้านอนอยู่ห้องเดียวกับชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเป็นนายกอยู่ในกองพลอาสาซึ่งเรียกว่า “กองสมัครอาสา” ใช้อักษรย่อว่า ส.อ. คนละกองกับพลอาสาอีกกองหนึ่งซึ่งตั้งขึ้นภายหลัง และเรียกชื่อว่ากอง “สมานสมัคร” ใช้อักษรย่อว่า ส.ส. (ชื่อกองพลอาสา ๒ กองนี้เราตั้งขึ้นสำหรับใช้เองในที่นี้ และต่อไปจะเรียกสั้น ๆ ว่า ส.อ. ส.ส.)

นาย ส.อ. คนที่นอนห้องเดียวกับข้าพเจ้าคืนนั้น เป็นคนกิริยาวาจาอ่อนโยน มีน้ำใจตรง เป็นคนหนุ่มจำพวกที่รักชาติโดยสุจริต และเข้าเป็นสมาชิกในชมรมนากนันท์ สุชลิศร์ เพราะเห็นในใจจริงว่า ที่ยอมเสี่ยงภัยทุกเมื่อ ก็เพื่อประโยชน์แก่ชาติแท้ ๆ

วันรุ่งขึ้นกว่าเราจะได้รับเชิญให้ไปหาท่านอัครวาทีก็สายหน่อย พอเราไปถึงท่านก็ย้อนพูดถึงเรื่องเมื่อคืนนี้อีก ท่านว่าเราต้องคิดทำการอย่างเหี้ยมโหด จะมัวตะขิดตะขวงในใจอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีเวลาที่จะนึกถึงกฎหมายหรือศีลธรรมเสียแล้ว ชาติของเราจำต้องถูกบังคับลากถูไปสู่ความเป็นใหญ่ ถ้าจะยอมให้ไปเองโดยความเต็มใจที่ไม่มีเวลา เพราะฉะนั้นจึงต้องวิธีบังคับ ท่านว่าท่านต้องย้อนกลับไปสร้างชาติขึ้นเสียก่อน จึงจะคิดวางรูปการที่จะเป็นงานของชาติได้

ท่านอัครวาทีได้เคยตั้งปณิธานไว้ว่า จะเข้าสู่อำนาจโดยทางดำเนินอันถูกต้องตามกฎหมาย คือให้ราษฎรเลือกและยกย่องท่านให้เป็นประมุขของประเทศ แต่มาในตอนนี้ ท่านถูกขัดคอทางโน้นทางนี้ และรัฐบาลในเวลานั้นก็ยังตั้งมั่นอยู่ในความเลื่อมใสของประชาชน ท่านจึงเกิดมีความคิดไปในทางที่จะชิงอำนาจ พวกใกล้ชิดของท่านก็ช่วยกันส่งเสริมความคิดนั้นด้วยกันหลายคน ท่านอัครวาทียังมีสติอยู่ ก็ยังไม่ทำลงไป แต่ในเวลานั้น จวนจะเกิดการใหญ่ ซึ่งทำให้ปั่นป่วนกันไปทั้งประเทศ ตอนนั้นถ้าพวกนากนันท์ สุชลิศร์ก่อเหตุขึ้น พวกพล ส.อ. ก็คงจะถูกกองทหารของประเทศกำหราบอย่างไม่ยั้งมือ เพราะฉะนั้นการที่มิได้ก่อเหตุขึ้นในทันที ก็นับว่าเป็นการดีไปทางหนึ่ง ต่อมาอีกหน่อยรัฐบาลได้ออกกฎหมายสั่งยุบ ส.อ. และ ส.ส. เสียทั้ง ๒ กอง โดยคำชี้แจงว่า เป็นพวกที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศ

ในตอนนั้นเศรษฐกิจของประเทศได้กระเตื้องขึ้นหน่อย และจำนวนคนที่สมัครเข้าอยู่ในชมรมนากนันน์สุชลิศร์ก็น้อยลง รัฐบาลก็ดูมั่นขึ้น ท่านอัครวาทีจึงต้องสงบใจไว้ก่อน ยังไม่ทำอะไรผลุนผลันลงไป แต่ท่านก็คิดเตรียมการอยู่เรื่อย ๆ

เรื่องที่ท่านนำออกปรึกษาเรื่องหนึ่งในวันนั้น ก็คือเรื่องเศรษฐกิจ ความคิดขอท่านนั้นว่า จำจะต้องจัดให้มีงานทำกันให้ทั่วหน้าประชาชน แต่ผู้ที่รับหน้าที่เป็นผู้ร่างโครงการนั้นเป็นอินยิเนียร์ ๒ คน ซึ่งมีความคิดนอกคอกออกไปจากตำราเศรษฐกิจ ครั้นเสนอโครงการออกมาก็ถูกนักปราชญ์เศรษฐกิจหัวเราะเยาะ จึงเป็นเครื่องหนักใจแก่สมาชิกนากนันท์สุชลิศร์บางคนยิ่งนัก

ความหนักใจนี้ทำให้ข้าพเจ้าถามท่านอัครวาทีขึ้นในวันนั้นว่า “ตามโครงการที่ร่างนั้น เราจะได้เงินที่ไหนมาจัด ผมตรองไม่เห็นทางใด นอกจากจะพิมพ์ธนบัตรออกมาลอยๆ (หรือที่เรียกว่าอินเฟฺลชั่น) อันจะทำให้ธนบัตรเกลื่อนกลาด และสินค้าก็จะขึ้นราคาไปหมด”

ท่านอัครวาทีเสียงเขียวตอบว่า “อินเฟฺลชั่นนั้นจะมีต่อเมื่อเราต้องการให้มี เพราะอินเฟฺลชั่นเป็นของเกิดโดยความปราศจากวินัย (ดิสสิปปลิน) ถ้าผู้ซื้อไม่อยู่ในวินัย และผู้ขายไม่อยู่ในวินัย อินเฟฺลชั่นก็ต้องเกิด ข้าพเจ้ารับรองว่า สินค้าในตลาดจะไม่ขึ้นราคา ถ้ารับรองไม่ได้เราจะ ส.อ. ไว้ทำไม เราไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ เพราะเป็นกิจซึ่งชมรมจะทำเองก็ได้ ใครขึ้นราคาสินค้าก็จะได้เห็นกัน”

ท่านอัครวาทีกล่าวอีกตอนหนึ่งว่า “ท่านอย่าเป็นห่วงเรื่องโครงการของอินยิเนียร์ ๒ คนนั้นเลย เขาจะพูดว่ากระไร ก็ปล่อยให้พูดไปเถิด ต่อเมื่อพูดเลอะเทอะจนจะทำให้เสียทางจึงห้ามเสีย เมื่อถึงเวลาจะจัดเข้าจริง เราใช้โครงการเหล่านี้ หรือจะใช้อย่างไหนก็แล้วแต่สะดวกภายหลัง เราต้องการความคิดที่คิดง่ายๆ ตรงไปตรงมา ไม่ต้องการความคิดวก ๆ วน ๆ ของผู้ที่เรียกกันว่าชำนาเหล่านี้ ซึ่งล้วนแต่คิดวนไปวนมาจนหลงทางในความคิดของตนเอง

“ทั้งหมดนี้สำคัญที่ให้ได้ขึ้นต้น ข้าพเจ้าจะขึ้นต้นอย่างไรนั้นท่านไม่ต้องคำนึง(ขอแต่ว่าให้ได้ขึ้นต้น ให้เครื่องจักรเศรษฐกิจเดินได้เสียก่อน เพื่อจะได้อุดยาช่องทางมิให้กำลังเศรษฐกิจของเรารั่วไหลออกไปเป็นประโยชน์แก่ประเทศอื่น ๆ ได้ ยิ่งกว่าเป็นประโยชน์แก่เราเอง การที่จะอุดทางรั่วไหลเช่นนี้ ถ้าข้าพเจ้าอุดด้วยวิธีสร้างกำลังทัพขึ้นให้แข็งแรงยอดยิ่ง ก็อาจอุดสำเร็จได้เท่ากับที่จะจัดวิธีอื่น ข้าพเจ้าอาจมีเงินมาจ้างพวกที่ไม่มีงานทำอยู่ในเวลานี้ และเมื่อจัดเช่นนั้นก็จะเป็นทางให้การใช้จ่ายของราษฎรเพิ่มขึ้น เป็นเครื่องทวีความจำเริญในการอยู่กินของประชาชน รูปการเช่นนี้ไม่เป็นของลับที่พวกนักปราชญ่มักจะว่า ถ้าจะมัวฟังแต่เสียงของพวกนักปราชญ์ ก็ดูเหมือนอะไร ๆ จะเป็นของลี้ลับไปทั้งนั้น”

เมื่อข้าพเจ้าฟังท่านอัครวาทีชี้แจงเช่นนี้ ก็ทำให้เห็นว่า ความเลื่อมใสของท่านอยู่ในตัวท่านเอง ไม่ใช่เลื่อมใสข้อเสนอของผู้ชำนาญซึ่งเป็นที่ปรึกษาของท่าน ท่านเชื่อว่าเมื่อถึงคราวที่จะต้องทำอะไรแล้ว ความสามารถที่เกิดในตัวของท่านเอง อาจทำให้ทำสำเร็จไปได้ ก่อนที่ถึงเวลาจะทำลงไปนั้น ใครจะคิดว่ากระไร ท่านก็ฟังเพียงครึ่ง ๆ และปล่อยไปสำหรับให้คนอื่น ๆ เลื่อมใส เป็นทางโปรปะกันดายิ่งกว่าอื่น ความลุล่วงไปในที่สุดจะอยู่กับตัวท่านเท่านั้น ลูกมือของท่านมีหน้าที่แต่จะคอยปฏิบัติตาม เป็นต้นว่า ถ้าท่านจะต้องสั่งจ่ายเงิน สมุห์บัญชีของชมรมก็จะต้องมีเงินมาให้ท่านสั่งจ่าย สมุห์บัญชีจะได้เงินมาอย่างไรท่านไม่เอาใจใส่ พูดตามความจริง ท่านมีวาสนาสำคัญอย่างหนึ่ง คือว่า เมื่อถึงคราวจริงเข้าเมื่อไร ก็มีคนดีเข้าไปรับใช้ท่านทุกที

ท่านอัครวาทีกล่าวในวันนั้นว่า “พวกอินยิเนียร์ล้วนแต่โง่บัดซบทั้งนั้น นาน ๆ ก็คิดอะไรออกมาดี ๆ ใช้เป็นประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าเอาความคิดนั้น ๆ มาใช้ทั่วไปก็บ้า อินยิเนียร์จะสร้างเครื่องจักรก็สร้างไปเถิด แต่อย่าพยายามสร้างความจำเริญทางเศรษฐกิจ

“แต่มีข้อหนึ่งที่อินยิเนียร์ผู้ร่างโครงการของเรากล่าวถูก คือว่าความจำเริญอันใด ซึ่งเคยเกิดขึ้นโดยเผอิญเป็นนั้น ต่อไปภายหน้าจะปล่อยให้เผอิญเป็นไม่ได้ ต้องให้เกิดตามโครงการทั้งนั้น เพราะเราจะต้องยืนด้วยตีนของเราเอง”

ประเทศของเรานี้จะเป็นหน่วยหนึ่งแห่งยุโรป โดยชีววิทยาเท่านั้นไม่ได้ ต้องเป็นยุโรปเลยทีเดียว ถ้าเราไม่มีอำนาจเหนือยุโรป เราก็จะต้องดับสูญ ข้าพเจ้ารับประกันต่อท่านได้ว่า ต่อไปข้างหน้ายุโรปจะปราศจากคนไม่มีงานทำ เราจะปลุกโลกให้ตื่นขึ้น เพราะเราจะรับหน้าที่ซึ่งโลกยังไม่ได้ฝันถึงในวันนี้ เราจะทำสำเร็จ แต่เราต้องได้ยุโรปและเมืองขึ้นของยุโรปด้วย เราเป็นผู้ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าสร้างมาสำหรับพาโลกไปสู่ความจำเริญ อย่างที่ไม่มีใครเคยนึกเคยฝัน ถ้าเราทำไม่สำเร็จ ยุโรปก็จะวิบัติไป”

วันหนึ่งในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๓๒ ท่านอัครวาทีได้เชิญพวกร่วมคิด ๖-๗ คน ไปฟังคำชี้แจงโครงการของชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งอ่อนอาวุโสในชมรมกว่าคนอื่น ๆ ที่ไปประชุมวันนั้น เจ้าของโครงการ (เรียกสั้น ๆ ว่า จ.ต.) เป็นผู้เรียนวิชาเพาะปลูกมาก่อน จึงได้ศึกษาชีววิทยามาบ้างแล้ว และบัดนี้รับหน้าที่เป็นผู้พิจารณาเผ่าพันธุ์มนุษย์ เป็นผู้จัดตั้งทะเบียน “ศุภชน” ขึ้นโดยวิธีคัดเลือกเอาแต่ผู้สืบสายโลหิตมาแต่เผ่าพันธุ์บริสุทธิ์ไม่มีปน ศุภชนเหล่านี้โดยเฉพาะก็คือ สมาชิกของกองอาสาที่สมมตินามว่ากองสมัครสมาน (ส.ส.) กองนั้นกำหนดว่า จะไม่รับคนเลือดไม่บริสุทธิ์เข้าเป็นสมาชิกเลย

(ที่เราใช้คำว่า “ศุภชน” นี้ ไม่ได้หมายถึงความงามกาย ที่เลือกมาใช้ก็เพราะเป็นคำสั้น และฟังคล้ายคำว่า Superman ด้วย)

จ.ต. ได้นำเอาตัวอย่างทะเบียนศุภชนออกให้คนอื่นดู เป็นทะเบียนรายชื่อคนซึ่งได้ตรวจเผ่าแล้ว โดยวิธีเดียวกับที่ตรวจเผ่าโคให้ทราบว่าเป็นพันธุ์บริสุทธิ์ ทะเบียนนั้นจะใช้เป็นต้นเค้าวงศาวลีแห่งศุภชนต่อไปข้างหน้า ในตอนนั้น หัวหน้าตำรวจได้ออกคำสั่งแล้วว่า พวก ส.ส. จะแต่งงานก็ต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ตรวจตามชีววิทยา ทั้งเจ้าสาวเจ้าบ่าว ศิลปรากฏว่าเป็นเผ่าบริสุทธิ์ไม่มีเลือดปนแน่แล้ว จึงจะอนุญาตให้แต่งงานกันได้

จ.ต. ชี้แจงว่า ศุภชนใหม่จะเกิดโดยวิธีที่คัดเลือกเผ่าพันธุ์ตามที่แจ้งอยู่ในทะเบียนนั้นก็เหมือนดังที่ได้จัดมาแล้วในเรื่องพันธุ์ม้า แต่ก่อนม้าในประเทศเป็นเลือดอื่นเสียไปหมด จึงต้องเริ่มผสมใหม่ โดยวิธีคัดพ่อม้าแม่ม้าแต่เฉพาะที่เลือดบริสุทธิ์ และบัดนี้ก็ได้เผ่าเดิมของเราแล้ว ฉันใดม้าฉันนั้นคน แต่เราจะให้พลเมืองทั้งประเทศเป็นเผ่าบริสุทธิ์ไปทั้งนั้นก็ไม่ได้ จะต้องเลือกคัดแต่ที่จะอยู่ในชั้นศุภชนเท่านั้น ศุภชนของเราจะไม่มีเลือดปนเลย

จ.ต. เปิดทะเบียนให้เราเห็นเป็นตัวอย่างแล้วชี้แจงว่า “ข้าพเจ้าต้องการให้พวกหัวหน้ากสิกรรมของเราเข้าเป็น ส.ส. หมด แล้วเราก็จะจัดให้เกิดศุภชนขึ้นจากพวกนั้น แต่ก่อนนี้คนชั้นผู้ดีมีการเกี่ยงเผ่าไม่ให้คนชั้นไพร่เข้าไปปน แต่ก็ป้องกันไปตามบุญตามกรรมมิได้วางหลักลงไปแน่นอน ต่อไปนี้เราจะกีดกันเลือดไม่บริสุทธิ์โดยวิธีวิทยาศาสตร์ การคัดเลือกเช่นนี้ เราจะใช้พวกหัวหน้ากสิกรรมเป็นยืน แต่ก็จะได้แต่การจำเพาะพวกที่แลเห็นการข้างหน้าไปได้ไกล และเข้ารวมพวกกับเราเท่านั้น นอกจากพวกหัวหน้ากสิกรรมเรายังจะใช้เผ่าผู้ดีเก่าไม่มีเลือดปนด้วยอีกส่วนหนึ่ง

ต่อไปนี้ไปผู้ช่วยของ จ.ต. คนหนึ่งแสดงปาฐกถาว่าด้วย “ประศาสโนบายด้านตะวันออก” (คือตะวันออกแห่งประเทศของเขา ไม่ใช่ตะวันออกของโลก) ผู้นั้นอธิบายว่า จำจะต้องมีประเทศใกล้เคียงรวมเข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน มีรัฐหนึ่งอยู่กลางเสมอกันเป็นหัวใจเหล็ก

ประเทศซึ่งในเวลานั้นเป็นอิสระอยู่หลายประเทศ จะต้องเข้ารวมในหัวใจเหล็กทั้งนั้น เพราะดินแดนติดต่อกัน จะปล่อยไว้ตามลำพังไม่ได้

นอกวงหัวใจเหล็กนั้น มีประเทศต่าง ๆ วงรวมอีกชั้นหนึ่ง วงใหญ่นี้จะเป็นมหารัฐที่วางประศาสโนบายไว้ว่าจะจัดให้เกิดขึ้นในภายหน้า และนอกจากนั้น จะต้องมีประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ซึ่งในเวลานั้นยังมีดินแดนมาก แต่จะต้องลิดดินแดนออกเสียให้เหลือแต่น้อย เพื่อมิให้เกิดมีเขี้ยวมีเล็บขึ้นได้ ทั้งหมดนี้จะมีกองทัพกองเดียว และกองทัพนี้จะเป็นผู้มัดให้รวมอยู่ในปกครองเดียวกัน นอกจากกองทัพยังจะต้องค้าขายด้วยกัน ใช้เงินตราอย่างเดียวกัน และมีศาสโนบายต่างประเทศอย่างเดียวกันทั้งสิ้น

ผู้แสดงปาฐกถาชี้แจงว่า ที่คิดทั้งหมดนี้จะเป็นความฝันอันไม่เป็นไปได้อยู่อีกนาน เว้นแต่จะจัดการบังคับอพยพพลเมืองให้ย้ายไปเสียจากท้องที่ ซึ่งไม่ต้องการพลเมืองชนิดที่ถูกบังคับให้อพยพนั้น ปาฐกถาอธิบายข้อนี้ว่าความยากมีอยู่เป็นธรรมดาอย่างหนึ่ง คือ ว่าชนเผ่าเลวย่อมจะเพิ่มจำนวนขึ้นเร็ว ชนเผ่าดีเพิ่มจำนวนช้า ถ้าไม่บังคับให้ชนเผ่าเลวอพยพไปเสียจากท้องที่ ชนเผ่าดีเกิดไม่ทัน ก็จะแพ้จำนวนอยู่ร่ำไป

ชนเผ่าเลวซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเพาะปลูกอยู่นั้นเกิดลูกหลานเร็วนัก ถ้าจะห้ามไม่ให้เกิดเร็ว ก็ได้แต่เอาตัวไปเสียจากที่ดิน แล้วบังคับให้เป็นคนงาน ซึ่งไม่มีที่ดินของตนเอง และให้อยู่ในภูมิประเทศอื่น ส่วนที่ดินซึ่งเจ้าของเดิมถูกบังคับให้อพยพไปอยู่ที่อื่นแล้วนั้น จะต้องมอบให้แก่พวกที่จะเป็นศุภชนต่อไปในภายหน้า เพื่อจะได้เพิ่มจำนวนคนเร็วขึ้น

เมื่อปาฐกพูดจบลงแล้ว ก็มีผู้อื่นพูดชี้แจงในเรื่องปัญหาแห่งกสิกรรม เมื่อผู้นั้นพูดจบแล้ว จ.ต. ก็ชี้แจงอีก การป้องกันไม่ให้ชนเผ่าเลวเกิดเร็วนัก ข้อที่ ๒ จัดให้เกิดชนเผ่าดีอันจะเป็นศุภชนยืนยงไปภายหน้า ชนชาวประเทศต่างๆ มีระดับประมาณเท่าๆ กัน แต่ศุภชนของเราจะสูงเงื้อมครอบงำชนอื่น ๆ หมด ใช่แต่ในยุโรปเท่านั้น ในโลกด้วย แต่การที่ใครจะได้สู่ฐานะแห่งศุภชนนี้ จะต้องได้รับความฝึกซ้อมในทางปัญญา ในทางกาย และในทางการเมือง อีกทั้งจะต้องได้รับเลี้ยงมาแต่เด็กอย่างถูกต้องตามชีววิทยา และจะต้องเกิดจากปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อ แม่ซึ่งเลือดบริสุทธิ์ทั้งนั้น

การที่จะจัดให้เกิดศุภชนขึ้น สำหรับเป็นผู้คุ้มครองชนพวกอื่น ๆ แม้ที่เป็นชาติเดียวกันนั้น จำจะต้องเปลี่ยนระดับปัญญาตามชั้นคนด้วย และจำจะต้องกล้าพอที่จะไม่กลัวความไม่รู้หนังสือของพลเมืองส่วนมากการศึกษาของพลเมืองทั่วไป ย่อมเป็นภัยแก่ศุภชน และนับว่าเป็นภัยแก่ราษฎรชั้นพลงานด้วย เพราะย่อมทำให้มีความคิดพุ่งสร้านไปต่าง ๆ ลัทธิที่ว่าราษฎรควรต้องถูกบังคับให้เข้าโรงเรียนทุกคนนั้น เป็นความคิดพ้นสมัยเสียหมดแล้ว ถ้าขืนให้ศึกษาแก่พลเมืองทุกชั้นให้เล่าเรียนได้ตามใจ ความแก่งแย่งก็จะเกิด และศุภชนจะบังคับพวกอื่น ๆ ก็ยาก

ในเรื่องการศึกษานี้ ท่านอัครวาทีได้กล่าวในตอนที่สุดแห่งการประชุมวันนั้นว่า ต่อไปข้างหน้าคนชั้นหนึ่งก็จะต้องให้มีระบบศึกษาได้แต่เพียงที่กำหนดให้ จะปล่อยให้เล่าเรียนพ้นกำหนดนั้นไป และให้เลือกศึกษาตามใจไม่ได้ การที่จะเลือกศึกษาได้เต็มที่ จะปล่อยได้แต่ชั้นศุภชนเท่านั้น.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ