ประสพย์ ประสพ ประสบ

ท่านผู้ทรงความรู้ผู้หนึ่งจดคำสํสกฤตคำหนึ่งมาให้ผู้เขียน คือคำว่า ปฺรสวฺย ถ้าจะเขียนสำหรับไทยอ่าน ก็น่าจะต้องเขียนว่า ประสพย์ หรือ ประสัพย์ แปลว่าเวียนซ้าย เป็นคำตรงข้ามกับประทักษิณคือเวียนขวา

การเวียนเทียนสมโภชหรือเดินเทียนเวียนรอบอุโบสถ ในวันวิสาขบูชาเป็นต้น ใช้เวียนขวาคือประทักษิณ แต่การยกศพเวียนรอบเมรุ ๓ รอบใช้เวียนซ้าย คือประสพย์

การเวียนขวาเวียนซ้ายตามตัวอย่างที่กล่าวนี้ ถ้าฟังเผย ๆ ก็ดูเหมือนผิดกันที่เป็นมงคลและอัปมงคล แต่ไม่ใช่เช่นนั้นทีเดียววันนี้ขอระงับไว้ ยังไม่กล่าวถึงความหมายแห่งการเวียนขวาเวียนซ้ายตามที่ผู้เขียนได้เคยสืบทราบมา เพราะกำลังตื่นคำว่า ประสพย์ เท่านั้น

ผู้เขียนไม่เคยทราบว่า ประสพย์แปลว่าเวียนซ้าย ครั้นผู้ทรงความรู้ ท่านกรุณาจดมาให้ ก็ลองพลิกสอบในสมุดหลายเล่ม แล้วนำมาเขียนสู่กันอ่าน ผู้เขียนไม่มีความรู้ของตนเองมาแสดงเลย เพียงแต่จดมาจากสมุดที่อ้างชื่อทั้งนั้น

แต่ถึงคนไม่รู้ก็มีสิทธิที่จะสงสัยได้ ความสงสัยของผู้เขียนจะแสดงในที่สุดแห่งเรื่องที่เขียนวันนี้

เมื่อผู้เขียนได้ทราบคำแปลของคำว่าประสพย์ ก็เป็นธรรมดาที่จะนึกถึงคำว่า ประสบ ซึ่งแต่ก่อนสกด บ แต่เดี๋ยวนี้สกด พ กันทั่วไป ประสบสกด บ ซึ่งแต่ก่อนเข้าใจกันว่าเป็นคำไทยนั้น สมัยนี้ดูเหมือนจะยกเลิก เหลือไว้แต่ประสพสกด พ ซึ่งอ้างว่ามาจากภาษาสํสกฤต

ที่ว่าเลิกคำไทยว่า ประสบ สกด บ นี้ หมายความ ว่าเลิกทั่ว ๆ ไป แต่พวกปรำปราซึ่งปัญญาเก่าเกินที่เคลื่อนคล้อยไปได้ง่าย ๆ ยังเขียนสกด พ ไม่เป็น ก็ยังมีอยู่ ผู้เขียนก็อยู่ในพวกปรำปรา พ้นวิสัยที่จะเปลี่ยนได้คล่องแคล่วเสียแล้ว

สมุดเล่มหนึ่งที่ผู้เขียนเปิดดูคำว่า ประสบและประสพ ก็คือพจนานุกรมของกรมศึกษาธิการ ซึ่งพิมพ์ใน ร.ศ. ๑๑๐ ผู้เขียนเคยรับราชการในกรมศึกษาธิการครั้งโน้น และนั่งทำงานในตึกหลังเดียวกับพวกเปรียญซึ่งระบุชื่อไว้ในสมุดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทำพจนานุกรมเล่มนั้น พจนานุกรมจึงไม่เก่าเกินสมัยผู้เขียนไป ที่แท้ผู้เขียนเองอาจได้เริ่มสนใจในเรื่องศัพท์มาแต่ครั้งที่วิสาสะกับพวกทำพจนานุกรมครั้งนั้น ซึ่งเห็นจะเป็นไทยชุดแรกที่เริ่มสอบค้นคำกันจริงจัง แล้วนำมาเรียงไว้ตามลำดับอักษรและพิมพ์เป็นเล่มสมุดขนาดเขื่อง

เมื่อเปิดดูในพจนานุกรมเล่มที่กล่าวนี้ ก็พบคำว่า ประสบสกด บ มีตัว ท หมายไว้ว่าเป็นคำไทย แปลว่า พบ ปะ เห็น คำหนึ่ง กับมีประสพสกด พ อีกคำหนึ่ง เขียนตัว ส หมายความไว้ว่าเป็นคำมาจากสํสกฤต แปลว่า ของที่มีขึ้น ของที่เกิดขึ้น ดอกไม้ ผลไม้ ดังนี้ ถ้าพูดตามพจนานุกรม ร.ศ. ๑๑๐ ประสบ กับ ประสพ ก็เป็นคำคนละคำ

เปิดดูปทานุกรมกระทรวงธรรมการพิมพ์ครั้งที่ ๒ มีคำว่าประสพ ซึ่งมาจากคำสํสกฤต (วงเล็บไว้ว่า ม. ป ส ว) คำว่าประสพนี้ ปทานุกรมแปลไว้ว่า การเกิดผล การคลอดลูก การได้ การพบ คำประสบสกด บ ซึ่ง พจนานุกรม ร.ศ. ๑๑) ว่าเป็นคำไทยนั้นปทานุกรมตัดออกเสีย

เปิดดิกชันนารี สํสกฤตของมอเนียวิลเลียม พบ ปฺรสว แปลว่า ผลิดอกออกผล และแปลว่าคลอดลูก และมีคำแปลอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกำเนิดและลูกเต้าทั้งนั้น ในตัวอย่างเช่น ปฺรสวเวทนา (หรือประสพเวทนา) แปลว่าเจ็บท้องเป็นต้น คำแปลนอกจากนั้น ก็มีแต่ผลไม้และดอกไม้ ซึ่งก็มีความว่าเกิดแผ่าพันธุ์เหมือนกัน

เปิดดิกชันนะรี สํสกฤตของอัปเต ก็ได้คำแปลอย่างเดียวกับของมอเนียวิลเลียม แต่แปลละเอียดกว่า และจำแนกตาแปลไว้ถึง ๓ อย่าง แต่ไม่มีที่แปลว่า พบ

เปิดดิกชันนะรีภาษาบาลีของชิลเดอร์ พบกิริยาศัพท์ ปสวติ แปลว่า ให้เกิด ก่อ เช่น คลอดลูกและก่อเวรเป็นต้น กับพบศัพท์ ปสโว ซึ่งให้คำแปลเช่นเดียวกัน และอ้างไปถึงอภิธานัปปทีปิกา ๓ คาถา

เปิดดูอภิธานัปปทีปิกา พบใจความของศัพท์ ปสโว รวมลงในคาถา ๙๐๒ ซึ่งกรมหลวงชินวรฯ ทรงแปดไว้ว่า (๑) ดอกไม้ (๒) ผลไม้ (๓) อุปฺปาท (ความบังเกิด) (4) คพฺภโมจน (คลอดลูก)

ตามที่เปิดดิกชันนะรีสํสกฤตและบาลีมาเพียงข้างบนนี้ ยังไม่มีคำแปลที่ว่า พบ ปะ เห็น หรือมีความหมายอย่างประสบคำไทยที่บอกไว้ในพจนานุกรม ร.ศ. ๑๑๐

ส่วนคำว่า ปฺรวฺย ซึ่งเห็นจะต้องเขียนเป็นคำไทยว่า ประสพย์ หรือ ประสัพย์นั้น เปิดดิกชันนะรีสํสกฤตได้ความว่า สวย แปลว่า ซ้าย เมื่อเติมอุบัค ปฺร เข้าข้างหน้า เป็น ปฺรวฺย หรือ ประสพย์ ก็แปลว่าเวียนซ้าย เหมือนดังทักษิณแปลว่าขวา เมื่อเติมประเข้าข้างหน้าเป็นประทักษิณ ก็แปลว่าเวียนขวาฉะนั้น

ส่วนข้อที่กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า สวฺย (ซ้าย) ดูเป็นเชิงอัปมงคลอยู่นั้น อาจารย์เป็นเฟย์ว่าไว้ในดิกชันนะรีสํสกฤตอังกฤษว่า คำนี้มีแหล่งที่มาเดิมแหล่งเดียวกับคำละติน Scaevus และดูเหมือนจะมีความไปในทางอัปมงคลเช่นเดียวกัน ครั้นสอบดูคำละตินในดิกชันนะรี (Smith’s) ก็พบกล่าวไว้ว่า คำละตินคำนี้เป็นเครือญาติหรือมาจากโครตภาษาเดียวกันกับคำสํสกฤตว่า สวฺย มีความเป็นสองอย่าง คือแปลว่าซ้ายอย่างหนึ่ง แปลว่าอัปมงคลอย่างหนึ่ง

ในที่สุดจะขอแสดงความสงสัยของผู้เขียนว่า คำว่า ประสบ สกด บ ซึ่งพจนานุกรม ร.ศ. ๑๑๐ ว่าเป็นคำไทยนั้น อาจเป็นคำเดียวกับสบ แปลว่าพบแต่เติมประเข้าข้างหน้าก็ได้ดอกกระมัง ไทยเราใช้เติมประเข้าข้างหน้า ไทย ๆ เป็นอันมาก ยกตัวอย่างเช่น ชิด ประชิด ชุม ประชุม ดา ประดา ดุจ ประดุจ เด ประเด เดิม ประเดิม โดย ประโดย นี้ ประนี้ ลอง ประลอง สาน ประสาน หนึ่ง ประหนึ่ง หวั่น ประหวั่น เล่ห์ ประเล่ห์ เป็นต้น

ก็เมื่อคำไทยที่เติมประเข้าข้างหน้า มีตัวอย่างเป็นอันมากเช่นนี้ สบ จะเติมประเข้าเป็นประสบอีกคำหนึ่งก็อาจเป็นได้ดอกกระมัง.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ