ผุดผลุด

เมื่อ ๒-๓ วันนี้ผู้เขียนได้กล่าวว่า การเขียน หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ประมวลอันสิ่งที่สำคัญเป็นที่ ๑ ก็คือใจความที่นำมาเขียน สำคัญที่ ๒ คือถ้อยคำสำนวนที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของผู้เขียนได้ง่าย ตัวสกดสำคัญเป็นที่ ๓ ที่พูดนี้พูดเฉพาะหนังสือพิมพ์ของเรา พูดทั่วไปไม่ได้ เป็นต้นว่านักเรียนเขียนหนังสือในโรงเรียนที่ต้องเขียนตัวสกดตามที่ครูสอน ข้าราชการเขียนหนังสือราชการก็ต้องเขียนตามที่ทางราชบัญญัติ แต่ถ้าจะลำดับความสำคัญ ๓ อย่าง ลำดับก็ควรจะอยู่ตามเดิม เพราะเหตุว่า ตัวสกดเป็นระเบียบซึ่งเมื่อจำได้แล้วก็แล้วกัน ไม่สำคัญเช่นข้อที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งต้องอาศัยปัญญา และถ้าจะพูดในส่วนปัญญาไซร้ความสำคัญที่ ๑ และที่ ๒ ก็ยังคงอยู่ตามลำดับนั้นเอง เพราะความคิดที่จะว่ากระไร สำคัญกว่าความสามารถที่จะเขียนลงไปอย่างไร ?

แต่ถ้าตัวสกดคลาดเคลื่อนไปจนถึง ผุด กลายเป็น ผลุด ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง

ผัดผลัด

คำว่า ผุดกับผลุด ก็คล้ายกันกับในตอนหนึ่งที่เกิดเขียนผัดว่าผลัด กันแพร่หลาย จนเกือบจะตัดคำว่า ผัด ออกไปเสียจากภาษาไทยคำหนึ่ง

ได้มีนักเขียนรุ่นเก่าพวกหนึ่งตั้งตนเป็นเจ้ากี้เจ้าการ พยายามอธิบายในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ว่า ผัดแปลว่าเลื่อน ผลัดแปลว่าเปลี่ยน ถ้าลูกหนี้ถึงคราวจะต้องใช้หนี้แต่ขอเลื่อนเวลาไปอีก ต่างว่า ๓ เดือน ก็ใช้ว่าผัด ๓ เดือน (ไม่ใช่ว่าผลัด ๓ เดือน) ผัด หมายความว่าเลื่อนเวลาออกไป ไม่ใช่เลื่อนเวลาเข้ามา เป็นต้นว่าลูกหนี้มีพันธะจะต้องใช้หนี้ในเดือนมีนาคม แต่ขอเลื่อนเข้ามาใช้เสียแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ใช้คำว่า ผัด ไม่ได้

ส่วน คำว่า ผลัด ที่แปลว่า เปลี่ยนนั้น ต่างว่า ท่านแต่งตัวแบบกลางวันอยู่จนค่ำ จึงเปลี่ยนเสื้อผ้าแบบราตรี เพื่อจะออกไปในงานกินเลี้ยงและเต้นรำ ฉะนี้เรียกว่า ผลัดเสื้อผ้า

ทาน

ถ้าท่านเปิดดูในปทานุกรม ท่านจะพบคำว่า ทาน ๒ คำ เป็นคำมาจากภาษาบาลีคำหนึ่ง และคำไทยคำหนึ่ง

ทาน ภาษาบาลีแปลว่า การให้ ทาน ภาษาไทย แปลได้ ๒ อย่าง เช่นที่ใช้ว่า ทานน้ำหนัก ทานลม ทานตะวัน อย่างหนึ่ง ทานหนังสืออย่างหนึ่ง

แต่ในสมัยนี้ได้ยินคำว่า ทาน แปลว่ากิน กันชุกชุม บางคนพูดว่า ทานข้าวกลางวันแล้วหรือยัง ไม่ได้ทานข้าวเย็น หรือชวนทานหมูแฮ็ม ไม่ชอบทานปูเค็ม เป็นต้น

ถ้าจะใช้ทาน ตามความหมายแห่งคำที่มาจากภาษาบาลีก็ตาม หรือตามความหมายแห่งคำไทยก็ตาม จะแปลว่า กิน ได้อย่างไรก็แลไม่เห็นเลย แต่ที่จะว่าฟังขัดหูหรือไม่นั้น ก็ย่อมแล้วแต่หูของผู้ฟัง หูคนบางคนได้ยินเสียงซอ ก็ฟังไพเราะ แต่หูควายได้ยินเสียงซอแม้จะเป็นฝีมือ สตราดิวาริอัส ทำเอง ก็ไม่รู้สึกอะไรเลย

ในรัชกาลที่ ๔ ถ้าเกิดพูดกันขึ้นว่า ทาน แปลว่า กิน ก็คงจะมีประกาศพระราชโองการออกมาในราชกิจจาฯ พระราชทานบรมราชาธิบายยืดยาว เช่น ที่ได้เคยพระราชทานบ่อย ๆ ในเรื่องถ้อยคำที่ใช้ในหนังสือไทย

ถ้าเป็นรัชกาลที่ ๕ อาจมีพระราชโองการให้สมาคมที่โปรดให้ตั้งขึ้น เพื่อช่วยกันรักษาภาษาไทยนั้นเอาเป็นธุระ คือให้สมาชิกแห่งสมาคมนั้นถวายคำสัตย์ว่า ถ้าได้ยินใครพูดว่า ทาน แปลว่า กิน ก็จะชี้แจงคัดค้านทุกคราวโดยไม่เกรงใจใครเลย ในสมัยนั้นเกิดใช้คำว่า “รับ” แปลว่า “กิน” กันขึ้น ครั้นโปรดเกล้าฯ ให้สมาชิกของสมาคมช่วยกันตักเตือนทักท้วงทุกครั้งที่ได้ยิน การใช้คำว่า รับ แปลว่า กิน ก็หายไปราวกับปลิดทิ้ง ผู้เขียนกล่าวข้อนี้ได้โดยความรู้ของตนเอง เพราะได้เป็นสมาชิกของสมาคมนั้นด้วยผู้หนึ่ง

เหตุที่เกิดใช้คำว่า “รับ” แปลว่า “กิน” ขึ้น ในรัชกาลที่ ๕ ก็เพราะคำว่ารัปทาน หรือรับประทานนั้นยาวนัก จึงตัดเสีย ๒ พยางค์ ใช้คำว่ารับพยางค์เดียว แต่รับแปลว่ากินไม่ได้ พระจุลจอมเกล้า ฯ จึงกริ้ว

ในสมัยนี้เปลี่ยนไปใช้ ทาน ซึ่งเป็นพยางค์สุดท้ายของคำว่า รัปทาน หรือรับประทาน แต่ก็แปลว่ากินไม่ได้เหมือนกัน

รับประทาน ฟังดูออกจะเป็นคำที่เกี่ยวกับเจ้านาย ดูเป็นทีว่า อาหารย่อมเป็นของที่เจ้านายให้ทั้งนั้น

อันที่จริงเราพูดออกเสียงกันว่า “รัปะทาน” คือ “รับ” กับ “ทาน” แต่ไทยเรามักพูดออกเสียงตัวสกดคำแรกเมื่อ เช่น สากเบือ ก็มักออกเสียงว่า สากะเบือ นกยางก็ว่า นกะยาง ฉะนั้น

การที่ใช้รัปทานแปลว่ากินนั้น เมื่อพูดกับผู้อื่นก็ดูเป็นการยกยอ ว่าผู้นั้นให้อาหารแก่เราเป็นทาน แต่เขาก็รู้ และเราก็รู้ ว่าเขาไม่ได้ให้ เพราะฉะนั้นคำพูดจึงเป็นแต่เพียงคำพูด ซึ่งหาได้เพ่งเล่งเต็มตามความแห่งศัพท์นั้นไม่ เหมือนดังที่เราพูดว่า “ขอรับ” เราก็มิได้ขอหรือรับอะไรเลย เป็นการแสดงวาจาดีเท่านั้นเอง

แต่ถ้าทานแปลว่ากินได้ไซร้ และถ้าเราให้สตางค์แก่คนขอทานไปซื้อข้าวกิน จะว่าผู้นั้นขอทานไปทาน ก็ดูเป็นการใช้ศัพท์อบากกรากกรำมาก

เราเองนึกว่ากินปูเค็มเห็นจะอร่อยกว่าทานปูเค็ม ถ้าทานน้ำก็รู้สึกว่าจะสะอึก ถ้าทานข้าวก็รู้สึกว่าจะติดคอ.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ