- คำนำ
- ๑. สนุกในน้ำ
- ๒. สวนพฤกษศาสตร์
- ๓. พริกไทย
- ๔. การใช้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส
- ๕. อพยบ
- ๖. อุปถัมภ์ศิลปะ
- ๗. น้ำท่วมทุ่ง
- ๘. ผุดผลุด
- ๙. สาดน้ำ
- ๑๐. อัครวาที
- ๑๑. อ่านหนังสือ
- ๑๒. ผสมผสาน
- ๑๓. ประสพย์ ประสพ ประสบ
- ๑๔. ผสมผสาน (๒)
- ๑๕. บันทึก “คาวัวร์” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
- ๑๖. ผสมผสาน (๓)
- ๑๗. ในอินเดีย
- ๑๘. คดีในศาล
- ๑๙. เหตุแห่งความแพ้
- ๒๐. ที่เกิดแห่งยุง
- ๒๑. เบลเยียม
- ๒๒. กฎหมายเป็นกลางของ ส.ป.ร.
- ๒๓. ฝักฝ่ายตุรกี
- ๒๔. โฆษณาชวนเชื่อ
- ๒๕. ทายถูกและผิด
- ๒๖. มูลเหตุแห่งสงคราม
- ๒๗. ยิบฺรอลตาร์
- ๒๘. ภัยสามชนิด
- ๒๙. สันนิบาตชาติ
- ๓๐. ผสมผสาน (๔)
- ๓๑. บวชวัดพระแก้ว
- ๓๒. ปมด้อย
- ๓๓. สารกถา ว่าด้วยประชาธิปัตย์ วิธีรักษาความเป็นไทแก่ตนของอังกฤษ
- ๓๔. ประชาธิปัตย์และศึกษา
- ๓๕. ประชาธิปัตย์แลหนังสือพิมพ์
- ๓๖. เรื่องหญิงคนชั่ว
- ๓๗. ปัญหาสังสรรค์
- ๓๘. คนขอทาน
- ๓๙. เทียบประชาธิปัตย์อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๐. สารกถา
- ๔๑. เทียบประชาธิปัตย์ อดีตกับปัจจุบัน
- ๔๒. อินฟฺลวนซา ปราบโรคเรื้อน
- ๔๓. สหกรณ์ในพม่า
- ๔๔. ลักษณะรัฐบาลอเมริกา
ผสมผสาน (๒)
ผสมผสานวันนี้เขียนสำหรับให้โรงเรียนสตรีอ่าน อ่านแล้วจะโกรธหรือจะถือเอาประโยชน์ก็แต่ใจบุคคล
ผู้เขียนเคยเขียนไว้ที่ไหนก็ลืมเสียแล้ว แสดงความพิศวงว่า เหตุใดหญิงจึงเรียนวิชาหนังสือได้ดีกว่าชาย ถ้าโอกาสที่จะเรียนมเท่ากัน หญิงมักจะออกหน้า เคยเห็นตั้งแต่ตัวผู้เขียนเอง เมื่ออายุเท่ากันเรียนหนังสือสู้ผู้หญิงไม่ได้ ในสมัยโน้นหญิงมีโอกาสที่จะเรียนน้อย ในที่สุดจึงเรียนไม่ได้มากเท่าชาย แต่นั่นไม่ได้เป็นด้วยปัญญาที่เกิดมาในตน
ในปัจจุบันเมื่อหญิงมีโอกาสที่จะเรียนได้เท่ากับชายแล้วก็ปรากฏจากการสอบไล่ว่า นักเรียนหญิงสอบไล่ได้ดีกว่านักเรียนชายแทบจะทุกปี ตลอดจนถึงคะแนนการสอบไล่ปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตปีนี้ มีชื่อหญิงออกหน้า และจำนวนผู้รับปริญญาที่เห็นหญิงก็มากกว่าที่เป็นชาย จะเป็นด้วยชายที่เรียนอักษรศาสตร์มีจำนวนน้อยกว่าหญิง หรือหญิงไม่พะวงกีฬาเท่าชายหรือเป็นด้วยอันใด ก็เป็นข้อที่ไม่ได้พยายามสืบสวน เมื่อเห็นชื่อหญิงออกหน้าแล้ว ก็ทำให้เกิดพิศวงเช่นคราวก่อน
ในมหาวิทยาลัย ผู้เรียนที่เป็นหญิงและเป็นชายก็เรียนมาครูชุดเดียวกัน แต่ในโรงเรียนชั้นต่ำลงไปกว่ามหาวิทยาลัย มีแยกเพศเป็นโรงเรียนหญิงและโรงเรียนชาย เมื่อสอบใส่รวมกัน นักเรียนหญิงได้คะแนนมากกว่านักเรียนชาย ก็เป็นปัญหาให้คิดว่า ครูโรงเรียนหญิงจะสอนวิชาดีกว่าครูโรงเรียนชายหรือ หรือเป็นด้วยตัวผู้เรียนเอง ปัญหานี้ผู้เขียนไม่เคยตอบ เป็นแต่แสดงความพิศวงเท่านั้น
ในงานกาชาดปีนี้ โรงเรียนหญิงได้จัดละครนักเรียนไปประกวดกันให้กรรมการตัดสินให้รางวัล และโรงเรียนหลายโรงเรียนได้จัดละครไปประกวด ปรากฏตามความเห็นคนดูว่าการเจรจาตามบทนั้น ตัวละครมักจะออกเสียง ร กับ ล ปนกันยุ่งหมด จะเป็นด้วยนักเรียนหญิงสอนยากในส่วนนี้ หรือเป็นด้วยครูโรงเรียนหญิงสอนไม่เป็น และตัวครูเองก็พูดออกสำเนียง ร ล เละเทะเช่นนั้นด้วย
การเล่นละคร ย่อมจะต้องฝึกซ้อมกันมาก จึงจะนำออกแสดงได้ ถ้าตัวละครพูดออกสำเนียงปนกันยุ่ง ผู้สอนหรือซ้อมก็ต้องรับผิดหากจะเป็นด้วยนักเรียนบางคนสอนยาก ผู้สอนก็แก้ตัวไม่หลุดอยู่นั่นเอง
เหตุไฉนครูผู้หัดและผู้ซ้อมละครจึงปล่อยไปให้ขายหน้าโรงเรียนเช่นนั้น เราไม่นึกว่าถ้ารู้แล้วจะปล่อยพุ่ง ๆ ไปให้กรรมการและคนดูหัวเราะเยาะ จึงน่าจะสันนิษฐานว่า ครูโรงเรียนหญิงสอนสำเนียง ร ล ไม่เป็น หรือไม่ตั้งใจจะสอน หรือมิฉะนั้นครูก็พูด ร ล ไม่เป็นทีเดียว คนรู้สำเนียง ร ล มักจะหูไว พอได้ยินผิดก็สังเกตทันที ถ้าครูไม่ได้สังเกตก็ต้องเข้าใจว่าครูไม่รู้ หรือถ้ารู้แต่ปล่อยไป ก็ต้องว่าไม่นึกถึงความขายหน้าของโรงเรียน
เมื่อผู้เขียนได้เขียนดังข้างบนนี้แล้ว ก็จะย้อนกลับมาบอกเสียตรง ๆ ว่า ที่คอนแคะเช่นนี้ก็เพื่อจะให้เจ็บใจ จะได้ป้องกันไม่ให้เป็นเช่นเดียวกันในกาลข้างหน้า เพื่อความงามชื่อของโรงเรียน
เรื่องสำเนียง ร กับ ล นี้ ไทยเรามีพื้นความยากอยู่ที่ว่า ภาษาของเราอาจมาจากต้นเค้าเดียวกันกับภาษาจีน ภาษาไทยที่อยู่นอกประเทศนี้ หลายภาษายังไม่มี ร มาจนบัดนี้ จนต้องใช้ตัว ฮ แทนก็มี ไทยจึงพูดสำเนียง ร เป็น ล คล้ายจีนไปหมด หรือมิฉะนั้นก็ตัดทิ้งเสียเลยทีเดียว เช่น ว่า ปับปุง (ปรับปรุง) เป็นต้น
ครั้นโรงเรียนขมักเขม้นสอนสำเนียง ร กันขึ้น นักเรียนก็หัดรัวลิ้นในการออกเสียง ร ได้ด้วยความยาก แต่เมื่อหัดได้แล้วก็มีผลตรงกันข้าม กลับออกเสียง ล เป็น ร ร่ำไป คงจะเป็นเพราะเริ่มรัวลิ้นเสียแต่ยังไม่ทันออกเสียง ร หรือ ล แน่
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เล่นละครออกสำเนียงเรเพราดพาดเรอะเทอะไปหมด อาจเป็นด้วยความเป็นเริอเร่อเผรอพรั้งของผู้ฝึกสอน ซึ่งไม่ค่อยเร้าโรมน้ำใจเด็กเล็ก ๆ ให้หรีกเรี่ยงการออกสำเนียงผิด
การรัวลิ้นเสียแต่ยังไม่ทันรู้ว่าอะไรแน่นี้เป็นสิ่งซึ่งฝรั่งเรียกว่า รีแอ็คชั่นอันเปิดเตลิดไป
ผู้เขียนไม่เคยเป็นครู และไม่ทราบว่าสอนอย่างไร จึงจะแก้ข้อบกพร่องนี้ได้ แต่เข้าใจว่า ถ้าเกณฑ์ให้นักเรียนอ่านหนังสือให้ครูฟังช้า ๆ เมื่อถึง ร และ ล ก็ให้มีเวลานึกว่าจะต้องรัวลิ้นหรือไม่แล้ว ไม่ช้านักเรียนก็จะออกเสียงถูกมากขึ้นทุกที ผู้พูดอังกฤษคล่องย่อมจะคล่องในการออกเสียง ร ล ด้วย เพราะภาษาอังกฤษถ้าออกเสียง ร ล กลับกัน ก็มักจะพูดกันไม่เข้าใจ ดังนี้การหัดอ่านภาษาอังกฤษจึงควรจะเป็นทางช่วยได้ดีอีกทางหนึ่ง แต่ทั้งนี้เป็นความคิดของผู้ที่ไม่เคยเป็นครูเลย.