การใช้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส

ตามระเบียบปาลิเม็นต์ของฝรั่งเศส ถ้าตั้งกรรมาธิการสำคัญ ๆ ก็ต้องเลือกคนในชมรมต่าง ๆ ตามคะแนนโหวตซึ่งชมรมมีในสภา และถ้าเปรสิเด็นต์จะตั้งรัฐบาลชุดใหม่ก็ต้องปรึกษาหัวหน้าชมรมต่าง ๆ เสียก่อน

ระเบียบเช่นนี้ ทำให้นักการเมืองที่มักใหญ่ใฝ่สูง คิดรวมพวกตั้งเป็นชมรมเล็ก ๆ ขึ้น เพื่อจะได้มีโอกาสดีขึ้นที่จะได้รับเลือกให้อยู่ในกรรมาธิการ และทั้งจะได้เป็นผู้ซึ่งเปรสิเด็นต์จะต้องปรึกษาในคราวที่จะตั้งรัฐบาลใหม่ เป็นการเพิ่มโอกาสที่ตนเองอาจได้รับมอบให้จัดชุดรัฐบาล การเป็นฉะนี้ ในสภาฝรั่งเศสทุก ๆ ชุด จึงมักจะมีชมรม ตั้งแต่ ๑๒ ไปถึง ๑๗ หรือ ๑๘ ชมรม

ข้อที่ผิดกันในระหว่างวิธีปาลิเม็นต์ของฝรั่งเศส และของอังกฤษนั้นยังมีอีก และจะกล่าวต่อไปข้างหน้า ในที่นี้นำมาชี้แต่เพียงที่เห็นชัดเท่านั้น

รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ถ้าจะกล่าวย่นย่อที่สุดและนำเอาเฉพาะบทบัญญัติที่สำคัญ ๆ มาแสดง ก็กล่าวได้ดังนี้:-

อำนาจนิติบัญญัติในประเทศฝรั่งเศสแยกเป็น ๒ สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรสภา ๑ สภาผู้เฒ่า (เสเนต) สภา ๑ สภาผู้แทนเป็นสภาซึ่งราษฎรชายเป็นผู้เลือกตั้ง เพราะชายเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนน หญิงฝรั่งเศสยังไม่มีสิทธินั้น สภาผู้เฒ่าก็เป็นสภาซึ่งเลือกตั้งกันขึ้นเหมือนกัน แต่ไม่เลือกตรงตัวคนเดียว ต้องเลือกผู้เลือกมาจากชุมนุมต่าง ๆ เช่น เทศ ชั้นหนึ่งก่อน

สภาผู้เฒ่าของฝรั่งเศสดูเหมือนมีหน้าที่เป็น สติ คอยเหนี่ยวรั้งสภาล่างไว้มิให้ทำอะไรผลุนผลันเร็วเกินไป ถ้าจะเทียบว่า คล้ายกับสภาขุนนางของอังกฤษก็พอเทียบได้ แต่การ “ลงเบร๊ก” ของสภาผู้เฒ่าฝรั่งเศสนั้น อาจลงได้นาน จนดูเหมือนจะไม่ปลดเบร๊กเลยทีเดียวก็จะได้ ไม่เหมือนสภาขุนนางอังกฤษ ซึ่งถ้าลงเบร๊กก็ทำได้ขณะเดียว แล้วก็ต้องปล่อย ที่เป็นดังนี้ ในประเทศฝรั่งเศส ก็เพราะรัฐธรรมนูญไม่บัญญัติไว้ว่า ถ้า ๒ สภาเกิดไม่ลงรอยกันขึ้น ก็ให้ทำอย่างไร

ส่วนในประเทศอังกฤษนั้น เมื่อยังมีอยู่เพียง ๒ ชมรม การจัดตั้งรัฐบาลก็ง่าย เพราะถ้าชมรมนั้นออก ชมรมนี้ก็ต้องเข้าอยู่เองในตัว ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ๒ ชมรมนั้น ได้ตกลงกันแน่นอนแล้วว่า เห็นแยกทางกันที่ตรงไหน และเดินหลังที่แตกต่างกันจำเพาะในทางที่แยกเท่านั้น ส่วนระบอบรัฐบาลของอังกฤษ คือ ระบอบพระราชามีขีดคั่นอำนาจนั้น ก็ไม่คลอนแคลนเลย ถ้ามีคนที่เห็นชอบไปทางระบอบอื่นบ้าง ก็มีน้อยจนถึงไม่ต้องเอามาคำนึง ในประเทศอังกฤษมีปัญหาข้อเดียว ซึ่งถ้าแตกแยกกันเมื่อใด ก็จะยุ่งไม่มีที่สุด ปัญหานั้นคือศาสนา

ในประเทศอังกฤษมีบัญญัติว่า ศาสนานิกายไหนเป็นศาสนาของรัฐ ซึ่งพระราชาทรงนับถือและทรงเป็นศาสนูปถัมภกไม่มีความผันแปรในเรื่องนี้มาช้านาน รัฐบาลอังกฤษจึงมีขอบเขตอันจะเกิดยุ่งได้ยาก

ส่วนประเทศฝรั่งเศสนั้นไม่มีขีดเส้นลงไปเช่นอังกฤษ เป็นต้นว่า ระบอบรัฐบาลก็ยังมีคนเห็นว่ามีมหากษัตริย์ดีบ้าง ไม่มีมหากษัตริย์ดีบ้าง พวกที่เห็นควรเลิกรีปับลิก กลับย้อนไปมีมหากษัตริย์นั้น ในปัจจุบันมีน้อยกว่าแต่ก่อน และไม่มีท่วงทีว่าจะเกิดยุ่งกันขึ้นได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังนับแยกว่ามี ๒ พวกอยู่

ในส่วนศาสนา ประเทศฝรั่งเศสไม่ได้บัญญัติว่าศาสนาไหนเป็นศาสนาของรัฐ หรือว่ารัฐมีศาสนาหรือไม่ ปัญหาเรื่องศาสนาจึงเป็นเรื่องแตกต่างอยู่ในระหว่างชมรมการเมือง ถึงแม้เวลานี้มิใช่เรื่องที่อาจเกิดวิวาทกันขึ้น ก็ยังนับว่าเป็นปัญหาไม่ตายอยู่เสมอ

นอกจากนี้ชมรมการเมืองในประเทศฝรั่งเศสยังแยกกันในหลักอื่น ๆ อีก ถ้าจะกล่าวจำแนกออกไปก็อาจกล่าวได้ว่า ชนฝรั่งเศสแยกเป็นพวกริปับลิกหรือพวกมหากษัตริย์ เป็นพวกศาสนาคาโธลิกส์หรือพวกศาสนาตามใจ พวกคอนเซอรวะตี๊ฟหรือโซเชียลลิสต์ พวกนิยมชาติหรือพวกนิยมระหว่างชาติ และยังมีจำแนกย่อยออกไปอีก จนมีชมรมที่ใหญ่และสำคัญแท้ ๆ ถึงราว ๑๒ ชมรม แต่มีชมรมเล็กซึ่งสำคัญน้อยอีกเป็นอันมาก

เมื่อเกิดขัดกันขึ้นจึงไม่มีทางแก้ไข เช่น มีตัวอย่างสภาผู้เฒ่าพิจารณาร่างกฎหมายรายหนึ่ง ซึ่งสภาผู้แทนเสนอขึ้นไป แต่สภาบนพิจารณาอยู่ถึง ๔ ปี สภาล่างจะทำอะไรก็ไม่ได้ ร่างกฎหมายซึ่งสภาบนไม่เคยยอมตามสภาล่างเลยคือ การให้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแก่หญิง สภาล่างจะเสนอร่างกฎหมายขึ้นไปอย่างไร ๆ สภาบนก็ไม่ยอมให้ผ่านไปสักครั้งเดียว หญิงในประเทศฝรั่งเศสจึงไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งอยู่จนบัดนี้

ดังนี้สภาบน (หรือสภาผู้เฒ่า) ของฝรั่งเศสจึงสำคัญกว่าสภาขุนนางของอังกฤษเป็นอันมาก นักการเมืองตัวยงมักมีตำแหน่งในสภาบนและอยู่ในชุดรัฐบาลด้วย ในประเทศอังกฤษใครเป็นสมาชิกสภาไหน ก็พูดชี้แจงหรืออภิปรายได้แต่ในสภานั้น แต่ในประเทศฝรั่งเศส เสนาบดีเข้าไปพูดได้ทั้ง ๒ สภา ถึงจะอยู่ในสภาบน ก็ลงไปพูดในสภาล่างได้ นี่เป็นข้อสะดวกมาก นายกของสภาบนมักเป็นผู้ที่อาจได้เลือกเป็นเปรสิเด็นต์ของประเทศ

ชุดรัฐบาลฝรั่งเศสถ้าแพ้คะแนนมติในสภาบน บางทีก็ต้องลาออกเลย มีตัวอย่างเช่น ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ รัฐบาล ม. แอริโอต์ แพ้คะแนนในสภาบน และใน ค.ศ. ๑๙๓๗ และ ๑๙๓๘ รัฐบาลชุด ม. บลุมก็แพ้เช่นกัน เมื่อแพ้แล้วก็ต้องลาออกทั้ง ๓ ครั้ง เพราะทำต่อไปไม่ได้

การบริหารนั้นมีชุดเสนาบดีเป็นเจ้าหน้าที่ เสนาบดีคนหนึ่ง ๆ เป็นเจ้ากระทรวง แต่มีเสนาบดีที่ไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวงหรือที่เป็นปลัดกระทรวงอีกด้วย ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสไม่บัญญัติไว้ว่า ถ้าคณะเสนาบดีแพ้คะแนนโหวตแล้ว ก็ต้องลาออกจากตาแหน่งทั้งชุด แต่เสนาบดีเจ้ากระทรวงอาจต้องออกเฉพาะตัว เพราะแพ้คะแนนโหวตในเรื่องราชการกระทรวงของตนก็ได้

แต่เสนาบดีฝรั่งเศสในหน้าที่ที่เป็นเจ้ากระทรวง ถือกันว่ามีอำนาจมากกว่าเสนาบดีในประเทศอังกฤษ เพราะราชการในประเทศฝรั่งเศสโยงเข้าไปหากระทรวงโดยมาก แต่ราชการอังกฤษมักแยกผลมอบให้ไปเป็นธุระรับผิดชอบกันเองในท้องที่ต่าง ๆ ข้อนี้เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของเสนาบดีฝรั่งเศส เพราะเป็นเครื่องถ่วงน้ำหนักมิให้สมาชิกในสภาข่มได้ หรือถ้าพยายามจะข่มสมาชิกก็อาจชอกช้ำไปเอง

ที่เป็นดังนี้ก็เพราะว่า เสนาบดีเจ้ากระทรวงฝรั่งเศสมีรางวัลจะให้แก่บุคคลได้ และจะให้เองหรือมอบให้ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้ให้ก็ได้ ที่เรียกในที่นี้ว่า ข้าหลวงประจำจังหวัด ก็เพราะตำแหน่งนั้นในประเทศฝรั่งเศสคล้ายกับในประเทศนี้ แต่ก็ไม่เหมือนทีเดียว ดูจะเหมือนกับตำแหน่งเทศาภิบาลในสยามสมัยก่อนมากกว่า ในสยามเวลานี้ ข้าหลวงประจำจังหวัดขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว มีกรมๆ หนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กลางอยู่ในกระทรวงนั้น ถ้ากระทรวงอื่นมีราชการที่จะสั่งหรือพูดจากับข้าหลวงประจำจังหวัดใด ก็ต้องบอกไปยังกระทรวงมหาดไทย ขอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้สั่ง ในสมัยก่อนเมื่อยังมีสมุหเทศาภิบาล กระทรวงไหนมีราชการในหัวเมือง ก็มีคำสั่งตรงไปที่สมุหเทศาภิบาลทีเดียว จึงนับว่า สมุหเทศาภิบาลเป็นข้าราชการมหาดไทยในแผนกปกครอง เป็นข้าราชการกระทรวงคลังในแผนกคลัง เป็นข้าราชการกระทรวงเกษตรในแผนกเกษตร ฯลฯ นัยหนึ่งสมุหเทศาภิบาลขึ้นทุกกระทรวงตามแผนกราชการของกระทรวงนั้น ๆ

ในประเทศฝรั่งเศส ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นเช่นสมุหเทศาภิบาลในสยามในสมัยก่อน เสนาบดีฝรั่งเศสทุกคนจึงมีอำนาจสั่งข้าหลวงประจำจังหวัดได้ โดยหน้าที่ราชการกระทรวงของตน และการตั้งจ้าราชการในจังหวัดซึ่งข้าหลวงเป็นผู้ตั้งนั้น ก็ต้องรับอนุมัติ หรือฟังเสนาบดีเจ้ากระทรวง เพราะฉะนั้นการตั้งคนเข้ารับตำแหน่งราชการ ซึ่งสงเคราะห์เข้าเป็นการให้รางวัลอย่างหนึ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจของเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ครอบข้าหลวงอยู่ในแผนกราชการกระทรวงนั้น ๆ

อนึ่ง เสนาบดีฝรั่งเศสมีอำนาจตั้งข้าราชการแผนกเลขานุการของตนเองต่างหากจากข้าราชการประจำกระทรวง จึงมีเดชในส่วนนี้อีกทางหนึ่ง ส่วนในจังหวัดต่าง ๆ นั้น เสนาบดีมีอำนาจหลายประการที่จะตั้งให้ใครเป็นอะไร เป็นต้นว่าออฟฟิศไปรษณีย์ ร้านขายยาสูบ (ซึ่งเป็นสินค้า รัฐบาลผูกขาดในประเทศฝรั่งเศส) เป็นต้นนั้น จะเปิดที่ไหนก็ต้องรับอนุมัติจากเสนาบดีคลังเสียก่อน หรือถ้าใครจะสร้างโรงเรียนใหม่ ก็ต้องรับอนุมัติเสนาบดีกระทรวงศึกษาดังนี้เป็นตัวอย่าง

สมาชิกในสภาฝรั่งเศสเป็นผู้ซึ่งจำต้องใส่ใจในการที่เสนาบดีหรือข้าหลวงจะตั้งให้ใครเป็นอะไร หรืออนุญาตให้ทำอะไรในท้องที่ซึ่งเป็นแดนเลือกของสมาชิก เพราะสมาชิกมีหน้าที่คอยเสนอหรือดูแลผลประโยชน์ของท้องที่ซึ่งเลือกตนไปเข้าสภา ใช่แต่เท่านั้น มักถือกันว่าสมาชิกสภามีพันธที่จะต้องช่วยคนในท้องที่ให้ได้รับตำแหน่งงาน ซึ่งเสนาบดีหรือข้าหลวงเป็นผู้ตั้งนั้นด้วย อีกประการหนึ่ง สมาชิกสภามักจะเกี่ยวข้องกับงานเทศบาลในท้องที่ของตน มากกว่าสมาชิกแห่งสภาอังกฤษ สมาชิกฝรั่งเศสบางคนก็ถึงแก่เป็นนายกเทศบาลเอง เช่น ม. แอริโอต์ได้เป็นนายกเทศบาลแห่งลิยองส์มากว่า ๓๐ ปี และยังมีเสนาบดีมหาดไทยบางคนเป็นนายกเทศบาลด้วย เสนาบดีหรือสมาชิกสภาที่เป็นนายกเทศบาลเช่นนี้ อ้างตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศสได้อีกหลายคน

การเป็นดังนี้ สมาชิกสภาคนใดเมื่อพ้น ๔ ปีไปแล้ว จะได้รับเลือกอีกหรือไม่ ก็สำคัญอยู่ในข้อที่ว่า เป็นผู้แข็งแรงในงานเทศบาลท้องที่ของตนหรือไม่ และในการที่สมาชิกจะเอาใจคนในท้องที่ของตนไว้นั้น ก็ต้องอาศัยเสนาบดีซึ่งเป็นต้นเค้าแห่งการตั้งคนเข้ารับตำแหน่งในท้องที่นั้น ๆ อีกประการหนึ่ง ข้าหลวงประจำจังหวัดมักจะมีเดชในเวลาเลือกตั้ง จึงจำเป็นที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเข้าสภาจะต้องทำดีต่อข้าหลวงไว้ และการทำดีต่อข้าหลวงนั้น ก็หมายความว่า ทำดีต่อเสนาบดีด้วย

ตามที่กล่าวมานี้จะจริงสักเพียงไรก็ตาม แต่ข้อที่เสนาบดี ข้าหลวงประจำจังหวัด และสมาชิกสภาฝรั่งเศส มีเกี่ยวโยงกันในการเมืองนั้นเป็นของแน่ สมาชิกจะร่วมกับสมาชิกอื่น ๆ ด้วยกัน ในการ ทำให้เสนาบดีหรือข้าหลวงประจำจังหวัดต้องออกจากตำแหน่งก็มีทางที่อาจทำได้ แต่เสนาบดีและข้าหลวงประจำจังหวัด ก็มีเดชที่จะทำให้สมาชิกสภาไม่มีความสุขในท้องที่ของตนได้เหมือนกัน

ยังมีความอีกข้อหนึ่ง ที่ทำให้ชุดรัฐบาลยึดตำแหน่งไม่ค่อยแน่น ข้อนี้คือจำนวนสมาชิกซึ่งเตรียมคอยจะเป็นเสนาบดีอยู่ พวกนั้นเป็นผู้มีความสามารถจะเป็นเสนาบดีได้ และพร้อมที่จะเป็นอยู่ทุกเมื่อ เขาประมาณกันว่าพวกนี้มีราว ๓๐ คนเสมอ ๆ เป็นพวกซึ่งถ้ารัฐบาลล้ม ตนก็อาจได้เข้าในชุดใหม่ แต่ถ้าไม่ได้เข้าก็ไม่เสียหายอะไร

รัฐบาลฝรั่งเศส ถ้าคิดถัวอายุก็ประมาณชุดละ ๑๐ เดือน แต่นั่นเป็นตัวเลขถัวเท่านั้น ในเวลาฉุกละหุก รัฐบาลอาจเข้า ๆ ออก ๆ อย่างน่าเวียนหัว รัฐบาลบางชุดตกแท่นในประชุมสภาประชุมแรกก็มี แต่บางชุดอยู่ไปได้ทั้ง ๒ หรือ ๓ ปี ก็มีเหมือนกัน

การเปลี่ยนแปลงในชุดรัฐบาลนั้น ในประเทศอังกฤษบางคราวก็เปลี่ยนตัวกันเฉพาะตำแหน่ง ๑ หรือ ๒ ตำแหน่ง เช่น เมื่อ มร. อีเด็นลาออกจากกระทรวงต่างประเทศ เพราะความเห็นไม่พ้องกันกับอัครเสนาบดี เมื่อ ๖-๗ เดือนมานี้เป็นต้น แต่ในประเทศฝรั่งเศส ถ้าลาออกเช่นนั้น ก็ออกกันหมดทั้งชุด แล้วจัดกันใหม่ ชุดที่เข้าใหม่นั้น อาจมีเสนาบดีคนเก่าอยู่ในตำแหน่งเดิมหลายนาย แต่ถึงกระนั้นก็ต้องว่าวิธีฝรั่งเศสผิดกับอังกฤษ เพราะอังกฤษไม่ต้องลาออกทั้งหมดก็ได้ แต่ฝรั่งเศสต้องลาออกทั้งหมด แล้วจัดชุดกันใหม่

ต่อไปนี้ขอนำอายุรัฐบาลฝรั่งเศสมาแสดงให้เห็น ตั้งแต่คราวมหาสงครามมาจนบัดนี้ ชื่อที่เขียนนั้นเป็นชื่ออัครเสนาบดี

เคลบังโซ พฤศจิกายน ๑๙๑๗ ถึงมกราคม ๑๙๒๐ (๒ ปี ๒ เดือน)

บิลเลอรังค์ มกราคม ๑๙๒๐ ถึงกุมภาพันธ์ ๑๙๒๐ (๗ เดือน)

บิลเลอรังค์ กุมภาพันธ์ ๑๙๒๐ ถึงกันยายน ๑๙๒๐ (๒ เดือน)

เลเกอร์ กันยายน ๑๙๒๐ ถึงมกราคม ๑๙๒๑ (๔ เดือน)

บริอังค์ มกราคม ๑๙๒๑ ถึงมกราคม ๑๙๒๒ (๑ ปี)

ปองกาเร มกราคม ๑๙๒๒ ถึงมีนาคม ๑๙๒๔ (๒ ปี ๒ เดือน)

ปองกาเร มีนาคม ๑๙๒๔ ถึงมิถุนายน ๑๙๒๔ (๑๒ เดือน ๑๕ วัน)

ฟรังซัวส์มาร์ซาน มิถุนายน ๑๙๒๔ (๕ วัน)

แอริโอต์ มิถุนายน ๑๙๒๔ ถึงเมษายน ๑๙๒๕ (๑๐ เดือน)

แปงเลอเว เมษายน ๑๙๒๕ ถึงตุลาคม ๑๙๒๕ (๖ เดือน)

แปงเลอเว ตุลาคม ๑๙๒๕ ถึงพฤศจิกายน ๑๙๒๕ (๑ เดือน)

บริอังค์ พฤศจิกายน ๑๙๒๕ ถึงมีนาคม ๑๙๒๖ (๔ เดือน)

บริอังค์ มิถุนายน ๑๙๒๖ ถึงกรกฎาคม ๑๙๒๖ (๒๖ วัน)

แอริโอต์ กรกฎาคม ๑๙๒๖ (๔ วัน)

แปงเลอเว กรกฎาคม ๑๙๒๖ ถึงพฤศจิกายน ๑๙๒๗ (๒ ปี ๔ เดือน)

ปองกาเร พฤศจิกายน ๑๙๒๘ ถึงกรกฎาคม ๑๙๒๙ (๙ เดือน ๑๕ วัน)

บริอังค์ กรกฎาคม ๑๙๒๙ ถึงพฤศจิกายน ๑๙๒๙ (๓ เดือน)

คาร์ดิเออ พฤศจิกายน ๑๙๒๙ ถึงกุมภาพันธ์ ๑๙๓๐ (๓ เดือน ๑๕ วัน)

โชตังปัส กุมภาพันธ์ ๑๙๓๐ ถึงมีนาคม ๑๙๓๐ (๑๐ วัน)

คารดิเออ มีนาคม ๑๙๓๐ ถึงมีนาคม ๑๙๓๑ (๘ เดือน)

สเต๊ก ธันวาคม ๑๙๓๐ ถึงมกราคม ๑๙๓๑ (๑๑ เดือน ๑๕ วัน)

ลาวาล มกราคม ๑๙๓๑ ถึงมกราคม ๑๙๓๒ (๑ ปี)

ลาวาล มกราคม ๑๙๓๒ ถึงกุมภาพันธ์ ๑๙๓๒ (๑ เดือน)

คาร์ดิเออ กุมภาพันธ์ ๑๙๓๒ ถึงมิถุนายน ๑๙๓๒ (๔ เดือน)

แอริโอต์ มิถุนายน ๑๙๓๒ ถึงธันวาคม ๑๙๓๒ (๖ เดือน ๑๕ วัน)

บองกูร์ ธันวาคม ๑๙๓๒ ถึงมกราคม ๑๙๓๓ (๑ เดือน ๑๕ วัน)

คาราดีเอร์ มกราคม ๑๙๓๓ ถึงตุลาคม ๑๙๓๓ (๙ เดือน)

ซาโรต์ ตุลาคม ๑๙๓๓ ถึงพฤศจิกายน ๑๙๓๓ (๑ เดือน)

โชตังบัส พฤศจิกายน ๑๙๓๓ ถึงมกราคม ๑๙๓๔ (๒ เดือน)

คาราดีเอร์ มกราคม ๑๙๓๔ ถึงกุมภาพันธ์ ๑๙๓๔ (๙ วัน)

ดูแมร์ก กุมภาพันธ์ ๑๙๓๔ ถึงพฤศจิกายน ๑๙๓๔ (๙ เดือน)

ฟรังแตง พฤศจิกายน ๑๙๓๔ ถึงพฤษภาคม ๑๙๓๕ (๗ เดือน)

บุยซอง พฤษภาคม ๑๙๓๕ ถึงมิถุนายน ๑๙๓๕ (๘ วัน)

ลาวาล มิถุนายน ๑๙๓๕ ถึงมกราคม ๑๙๓๖ (๘ เดือน)

ซาโรต์ มกราคม ๑๙๓๖ ถึงมิถุนายน ๑๙๓๖ (๕ เดือน)

บลุม มิถุนายน ๑๙๓๖ ถึง มิถุนายน ๑๙๓๗ (๑๒ เดือน)

โชตังปัส มิถุนายน ๑๙๓๗ ถึง มกราคม ๑๙๓๘ (๗ เดือน)

โชตังปัส มกราคม ๑๙๓๘ ถึงมีนาคม ๑๙๓๘ (๓ เดือน)

บลุม มีนาคม ๑๙๓๘ ถึงเมษายน ๑๙๓๙ (๑ เดือน)

คาราดีเอร์ เมษายน ๑๙๓๘ อยู่มาจนบัดนี้ (๘ มีนาคม ๒๔๘๑ ค.ศ. ๑๘๓๘)

ตามที่ชี้แจงมาข้างบนนี้ แสดงให้เห็นได้ว่า ในการเมืองฝรั่งเศส บุคคลย่อมสำคัญกว่าในการเมืองอังกฤษ เป็นต้นว่า ถ้าได้เป็นนายกมนตรีเทศบาล ก็ได้มีโอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งเข้าปาลิเม็นต์มากขึ้น เมื่อได้เข้าปาลิเม็นต์แล้ว ถ้าชวนพวกตั้งชมรมเล็ก ๆ ขึ้น หรือเข้าอยู่ในชมรมเล็กที่มีอยู่แล้ว แทนที่จะเข้าชมรมใหญ่ ๆ ก็มีโอกาสที่จะได้เป็นเสนาบดี หรือเข้าในกรรมาธิการมากขึ้น ถ้าได้เป็นเสนาบดีก็เป็นประโยชน์แก่ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งในท้องที่ของตน เพราะราษฎรมีหวังที่จะได้รับรางวัลมากขึ้น ไม่เหมือนกับในประเทศอังกฤษ ซึ่งถ้าสมาชิกของท้องที่ใดได้เป็นเสนาบดี ก็เป็นเครื่องชูเกียรติเท่านั้นเอง

แต่ที่กล่าวเช่นนี้ ใช่ว่าวินัยของชมรมจะไม่มีในประเทศฝรั่งเศสก็หามิได้ วินัยของชมรมนั้น ในพวกชมรมฝ่ายขวา หรือชมรมที่อยู่กลางก็ไม่รู้เคร่งครัดนัก แต่ชมรมฝ่ายซ้ายมีประศาสโนบายแน่นหนาแน่นอน วินัยของชมรมจึงแข็งขันกว่าฝ่ายขวามาก แต่ถึงกระนั้นชมรมอาจแตกหน่อออกไปจากลำต้นได้ และเมื่อแตกออกไปแล้ว ก็มักจะไปงอกอยู่ต่างหาก ตัวอย่างเช่นนี้มีใน ค.ศ. ๑๙๐๖ เมื่อชมรมโซเชียลลิสต์แตกความเห็นกันเรื่องจะเข้าร่วมในรัฐบาลชุดแรดิกัลหรือไม่ ในคราวนั้น บริยองและวิเวียนีออกจากชมรมโซเชียลลิสต์ทั้ง ๒ คน แล้วไปเข้าชมรมเรียกว่าริปับลิกันโซเชียลลิสต์ ซึ่งที่จริงก็ลำต้นเดียวกันกับชมรมเดิม แต่แตกหน่อออกไป

การตกลงกันนอกสังเวียน ก่อนลงคะแนนครั้งที่ ๒ นี้ เห็นประโยชนได้มาก ในส่วนชมรมฝ่ายซ้ายซึ่งจัดกันดีกว่าชมรมฝ่ายขวา และเพราะเหตุที่ชมรมหลายชมรมยอมเข้าเป็นกลุ่มเดียวกันโดยวิธีผ่อนปรนเข้าหากัน เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง “แนว” ที่เรียกปอปูลาฟรันต์จึงเกิดขึ้นได้ แต่ชมรมที่เข้ารวมกันเช่นนี้ บางทีก็เกิดขัดกันขึ้นภายหลัง เพราะที่แท้ก็คนละชมรม มีความมุ่งหมายต่างกันที่ตรงโน้นและตรงนี้ ถ้าหลักแห่งความมุ่งหมายไปจัดกันเข้าเมื่อใด ชมรมน้อยก็อาจจะแตกหมู่ออกไปจากชมรมใหญ่ ถ้าไปรวมคะแนนกับหมู่อื่น หมู่อื่นก็แข็งขึ้น

การเป็นดังนี้ ถึงแม้รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสจะดูเหมือนง่าย แต่เวลาใช้เข้าจริงก็ยาก

รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสมีความมุ่งหมายเดิมก็คือเตรียมไว้เพื่อจะกลับไปมีพระราชาอีก ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ทำไมจึงมีบัญญัติไว้ในสภาบนสำคัญมาก ในปัจจุบันนความคิดที่จะกลับคืนไปมีพระราชาก็ดูเหมือนจะไม่มีแล้ว แต่สภาบนยังกีดสภาล่างได้อยู่ จนในเวลานี้ความเห็นพวกโซเชียลลิสต์บางหมู่เห็นว่า ควรจะแก้รัฐธรรมนูญเสียบ้าง อีกประการหนึ่ง บางทีเมื่อรัฐบาลกับสภาขัดกันขึ้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร สภาต้องอยู่ไปจนตลอด ๔ ปี ถ้าสภาไม่ยอมรัฐบาลร่ำไป รัฐบาลก็ต้องล้มลุกคลุกคลานบ่อย ๆ จึงมีความเห็นบางพวกว่า ควรจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อจะให้หมดลำบาก ข้อนี้อีกข้อหนึ่ง

ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อห้ามความขัดขวางกันระหว่างรัฐบาลกับสภา ก็จะต้องแก้ไปในทางที่อัครเสนาบดีมีอำนาจปิดสภาได้ดังระเบียบอังกฤษ แต่ชาวฝรั่งเศสระแวงใจเรื่องอำนาจบุคคลอยู่เสมอ การที่จะแก้รัฐธรรมนูญไปในทางนั้น ก็จะเป็นไปไม่ได้ง่าย ๆ

ผู้อ่านคงจะรู้สึกว่า ความลำบากในสภาฝรั่งเศสมีสำคัญอยู่ที่ว่า ชมรมการเมืองมีมากนัก และโครงการของชมรมซับซ้อนแลเหลื่อมกัน ยากที่คนภายนอกจะเข้าใจได้ ถ้าคนภายนอกจะดูตามชื่อชมรมก็จะเข้าใจผิดโดยมาก ดังผู้เขียนได้อ่านมาว่า ถ้าชมรมใดมีคำว่า “ซ้าย” อยู่ในชื่อ ก็มักจะเป็นชมรมซึ่งไม่ได้อยู่ฝ่ายซ้าย หรือมิฉะนั้นสมาชิกในชมรมที่ลงคะแนนฝ่ายซ้ายก็มีไม่มาก ข้อนี้ผู้เขียนได้สอบในรายชื่อชมรมการเมืองของฝรั่งเศส พบชมรมฝ่ายกลางถึง ๗ ชมรมที่มีคำว่า “ซ้าย” อยู่ในชื่อ เช่น “ริปับลิกันซ้าย” เป็นต้น ซึ่งที่จริงเป็นชมรมฝ่ายกลาง ชมรมฝ่ายซ้ายแท้ ๆ มี ๙ ชมรม แต่มีคำว่า “ซ้าย” อยู่ในชื่อชมรมเดียว

ผู้เขียนมีตัวเลขบอกชื่อชมรม (ขวา กลาง ซ้าย) และจำนวนคะแนนที่มีในสภาตั้งแต่มหาสงครามมาจนปีกลาย ดูตามชื่อไม่ค่อยจะได้ความกระไร จึงไม่นำชื่อมาเขียนไว้ในที่นี้ ชื่อชมรมเหล่านั้นมีถึง ๓๔ ชื่อ แต่มิได้มีผู้แทนเข้าไปในสภาทั้ง ๓๔ ชมรม เขาว่าในสภาฝรั่งเศสมักมี ๑๒ ถึง ๑๗ ชมรมเสมอ แม้เพียงเท่านั้นก็มากอยู่แล้ว.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ