๑๐๕ ประกาศเรื่องอากรเตาสุรากรุงเก่า

ณวันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีมะเมียยังเปนนพศก

ว่าเตาสุรากรุงเก่า ขุนโสภณเพ็ชร์รัตนทำมาเปนจำนวนเงินปีละสองร้อยชั่ง ในปีมะเสงพศกที่ล่วงไปแล้วนี้ คนชาวกรุงเก่าขายเข้าได้มากก็ซื้อสุรากินมากขึ้น อากรเตาสุรามีกำไรจึงมีผู้คิดอ่านจะประมูลอากร ฝ่ายขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์ รู้ตัวว่าจะมีผู้ชิงจึ่งรีบลงมาก่อนเอาเงินสิบชั่งมาบวกทูลเกล้าฯ ถวาย ว่าทำอากรมีกำไรถวายได้แต่เท่านี้ นอกจำนวนส่วนในหางว่าวหาขอบวกสักหลังตราไม่ ภายหลังจีนเฉียมาทำเรื่องราวยื่นประมูลเงินขึ้นในพระคลังมหาสมบัติ สี่สิบเจ็ดชั่ง ขึ้นในเจ้าต่างกรม เจ้ายังไม่ได้ตั้งกรมต่างๆ สี่สิบสามชั่ง เปนเงินขึ้นถึงเก้าสิบชั่งรวมกับเงินเดิมสองร้อยชั่ง เปนเงินสองร้อยเก้าสิบชั่ง จีนเฉียรับเผาเงินล่วงหน้าทั้งสองร้อยเก้าสิบชั่ง แต่แรกจะรับตราตั้งเปนนายอากรไปทีเดียว จึงทรงพระราชดำริห์เห็นว่าซึ่งขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์มากล่าวก่อน ว่าอากรมีภาษีเพียงสิบชั่งเท่านั้น ก็เปนอันตัดขาดรับแพ้แก่คนใหม่ผู้ประมูลอยู่แล้ว แลเงินเผาล่วงหน้างวดของคนใหม่นั้นถึงสองร้อยเก้าสิบชั่ง ถ้าจะคิดค่าป่วยการเงินเปนดังดอกเบี้ยชั่งละบาท นับตามเดือนกว่าจะถึงงวดซึ่งจะได้ส่ง ถ้าจะคิดแต่ชั่งละบาททุกเดือน ปีหนึ่งก็จะมากเกินกว่าเงินสิบชั่งซึ่งขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์บวกนั้นอีก ก็ภาษีอากรต่างๆ ซึ่งประมูลช่วงชิงกันอยู่ทั้งปวงนั้น ที่จะขึ้นในคราวเดียวครั้งเดียวนั้น ถึงแปดสิบชั่งเก้าสิบชั่งร้อยชั่งดังนี้ ก็ห่างๆ นัก โดยถ้าขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์นายอากรคนเก่าจะรับประมูลทำเท่านั้นก็ดี ฤๅมากไปเล็กน้อยเพียงสิบชั่งยี่สิบชั่งก็ดี ความชอบในที่อากรเจริญขึ้นมากดังนี้ ก็หาเปนความชอบของขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์ไม่ เปนความชอบของผู้มาประมูลขึ้นใหม่ทั้งสิ้น ถ้าจะให้ขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์ทำไปก็เปนเหตุจะให้คนซึ่งมาประมูลขึ้นใหม่นั้นติเตียนได้ ว่าใครมีความชอบเห็นกับแผ่นดิน ผู้นั้นไม่ได้เปนนายอากร ผู้ที่เมื่ออากรมีภาษีคิดเบียดบังเอาเปนอาณาประโยชน์นั้น กลับได้เปนนายอากร ก็จะเปนที่ให้เล่าฦๅไปว่าขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์มีผู้แขงแรงอุดหนุนอากรรายนี้ ใครจะช่วงชิงเห็นจะไม่ได้ เพราะเหตุนั้น จึงได้โปรดสั่งให้ตั้งจีนเฉียเปนนายอากรใหม่ มีชื่อตำแหน่งตั้งว่า ขุนพิพัฒมัทยากร ทำอากรเตาสุรากรุงเก่า ตั้งแต่ปีมะเมียสัมฤทธิศกนี้ไป ขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์เปนคนมีความชอบมาแต่ก่อน โปรดให้ยกเอาไปตั้งรับเบี้ยหวัดอยู่ในพวกกรมการกรุงเก่า เปนพนักงานสำหรับช่วยว่าความจีน เงินสิบชั่งที่ขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์มาบวกทูลเกล้าฯ ถวายนั้น ก็โปรดพระราชทานคืนให้ไปไม่รับไว้ ก็วิสัยอากรเตาสุราแลบ่อนเบี้ยนี้ ทุกแห่งทุกตำบลไม่ยั่งยืนอยู่ดังภาษีอากรอื่นๆ ขึ้นแล้วขาดเล่า เปลี่ยนกันมาเปลี่ยนกันไป ส่วนในรายที่ขึ้นในหลวงได้ ก็ไปผ่อนใช้ส่วนในรายที่ร้องขาดในจำนวนรวมแจกเบี้ยหวัดนั้นทุกปี ไม่มีกำไรแก่ในหลวงไปนักดอก ก็เมื่อขุนพิพัฒมัทยากรทำอากรไปนานล่วงกาลแล้วก็เห็นจะร้องขาดลง ก็เมื่อขุนพิพัฒมัทยากรร้องขาดเมื่อใด ขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์จะรับเข้าทำใหม่ให้สูงกว่าจำนวน ซึ่งขุนพิพัฒมัทยากรจะรับในภายหลังนั้นแต่สักเล็กน้อย ก็จะโปรดให้ขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์คืนทำอากรเตาสุรากรุงเก่าต่อไปดอก เพราะขุนโสภณเพ็ชรรัตน์ทำมาได้ปีเศษเงินอากรก็มิได้เกี่ยวค้าง ให้คนทั้งปวงทราบว่าจีนเฉียเปนขุนพิพัฒมัทยากรนายอากรเตาสุรากรุงเก่า ได้โปรดสั่งให้ตั้งไปแล้วแต่วันอังคารเดือนห้าขึ้นเก้าค่ำปีมะเมีย ยังเปนพศกเปนวันที่ ๒๕๐๕ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ ประกาศนี้ก็มาในวันนั้น ขุนปฏิภาณพิจิตรเปนผู้รับสั่ง

อนึ่งได้ยินว่าขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์กล่าวอยู่ว่า นายอากรใหม่ที่เปนขุนพิพัฒมัทยากร ขึ้นเงินในการประมูลครั้งนี้ก็ไม่มากนักดอก น้อยกว่ากึ่งที่ว่าขึ้นนั้นอีก ในหลวงถูกลวงว่ามากจึงทรงยินดีตั้งไป เพราะเมื่อขุนโสภณเพ็ชร์รัตน์ทำอยู่นั้นได้ถวายเงินนอกหางว่าว แก่เจ้าต่างกรมมากกว่ากึ่งที่ประมูลอิก เงินขึ้นของคนใหม่น้อยกว่าจำนวนที่จดในหางว่าวว่าขึ้น คำซึ่งว่าดังนี้ก็ไม่ชอบเลย เพราะเงินนอกหางว่าวไม่ได้ยื่นให้เจ้าพนักงานรู้เห็น ไม่ได้กราบทูลในหลวงนั้น แลไม่ได้มีจำนวนในตราตั้งแล้วก็เชื่อว่าให้กันเองตามใจ ไม่เชื่อว่าให้เงินขึ้นเลย เงินอย่างนี้ถึงส่งกันไม่ขาดค้างเลยไปสักขี่ปี ก็จะนับว่าเงินขึ้นไม่ได้ ผิดกันกับเงินขึ้นต่างกรมที่มีในหางว่าว ด้วยเหตุหลายสถาน

(๑) คือเงินขึ้นนอกจำนวนอย่างนี้ ถ้าค้างก็ดีเถียงต่อสู้ก็ดี เจ้าต่างกรมฤๅขุนนางที่ได้รับนั้น จะเกาะครองนายอากรเร่งรัดไม่ได้ ถ้าเกาะครองเร่งรัดนายอากรร้องฟ้องว่าข่มเหงก็ต้องตัดสินให้นายอากรชนะ ผู้เกาะต้องเสียเบี้ยปรับ แลเบี้ยทำขวัญโดยสถานเลมิด เพราะใม่ใช่นี่สินเกี่ยวค้าง เปนแต่เมื่อมีเขาก็ให้กันเอง

(๒) ถ้าเจ้าต่างกรมแลขุนนาง ที่ได้เงินขึ้นอย่างนี้เปนนี่หลวง จะเอาเงินค้างนอกหางว่าวมาตีให้ดังเงินลูกนี่ ถ้านายอากรไม่ยอมเสียก็เร่งไม่ได้ ถึงเมื่อนี่หลวงไม่ได้ค้างเลย แต่เมื่อเร่งเองไม่ได้แล้วจะถวายรายค้างนั้นเปนหลวงก็ดี ขอพระบารมีให้ช่วยเร่งให้ก็ดี เร่งไม่ได้ทั้งนั้นทั้งสิ้น

(๓) เงินจำนวนนอกท้องตราเช่นนี้ เมื่อนายอากรร้องขาด ในหลวงจะคิดเฉลี่ยให้ลดด้วยช่วยแผ่นดินก็ไม่ได้

(๔) เมื่อนายอากรอื่นเปลี่ยนไป นายอากรจะให้ต่อไปก็ได้จะให้แต่น้อยก็ได้ไม่ให้เลยก็ได้ ด้วยนายอากรเก่าให้กันเองนอกท้องตรานอกจำนวน

(๕) เมื่อเจ้าต่างกรมแลยังไม่ได้ตั้งกรม ฤๅขุนนางนั้นไม่มีตัวแล้ว จำนวนนั้นก็สูญไป ไม่ได้เข้ามาในหลวง เพราะฉนั้น เงินนายอากรใหม่ซึ่งเปนที่ขุนพิพัฒมัทยากรบอกว่าขึ้นเท่าไรก็ชื่อว่าขึ้นเท่านั้น ถึงจะขึ้นต่างกรมจะลดน้อยไปก็ดี ควรจะว่าพึ่งขึ้นครั้งนี้ แต่ก่อนขึ้นกันนอกท้องตราจะเอามาว่าไม่ได้เลย ถ้าว่าดังนั้นก็จะต้องมีกระทู้ว่าให้กันทำไมนอกท้องตรานอกจำนวน โดยว่าเจ้าพนักงานจะไม่รับ ทำไมไม่ร้องถวายในหลวงหน้าพระที่นั่งสุทไธศวริย์เข้ามาไม่ได้ฤๅ ถ้าไม่มีใครทูลให้นั้นแล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ