- คำนำ
- ภาคหนึ่ง บนดิน
- หนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จกลับเบญจคีรีนคร
- สอง พบ
- สาม สู่ฝั่งแม่คงคา
- สี่ สาวน้อยผู้เดาะคลี
- ห้า รูปวิเศษ
- หก บนลานอโศก
- เจ็ด ในหุบเขา
- แปด ดอกฟ้า
- เก้า ใต้ดาวโจร
- สิบ รหัสยลัทธิ
- สิบเอ็ด งวงช้าง
- สิบสอง ที่ฝังศพของวาชศรพ
- สิบสาม เพื่อนบุณย์
- สิบสี่ ผู้เป็นสามี
- สิบห้า ภิกษุโล้น
- สิบหก เตรียมรับมือ
- สิบเจ็ด สู่ความเป็นผู้ละบ้านเรือน
- สิบแปด ในห้องโถงช่างปั้นหม้อ
- สิบเก้า พระศาสดา
- ยี่สิบ เด็กดื้อ
- ยี่สิบเอ็ด ในท่ามกลางความเป็นไป
- ภาคสอง - บนสวรรค์
- ยี่สิบสอง ภูมิสุขาวดี
- ยี่สิบสาม การต้อนรับแห่งชาวสวรรค์
- ยี่สิบสี่ ต้นปาริชาต
- ยี่สิบห้า บัวบาน
- ยี่สิบหก สร้อยแก้วตาเสือ
- ยี่สิบเจ็ด สัจจกิริยา
- ยี่สิบแปด บนฝั่งคงคาสวรรค์
- ยี่สิบเก้า ท่ามกลางกลิ่นหอมแห่งดอกปาริชาต
- สามสิบ มีเกิดก็มีตาย
- สามสิบเอ็ด ปิศาจที่บนลาน
- สามสิบสอง สาตาเคียร
- สามสิบสาม องคุลีมาล
- สามสิบสี่ นรกหอก
- สามสิบห้า การบูชาอันบริศุทธิ์
- สามสิบหก พระพุทธและพระกฤษณ
- สามสิบเจ็ด ดอกฟ้าเหี่ยว
- สามสิบแปด พรหมโลก
- สามสิบเก้า ความมืดแห่งโลกานุโลก
- สี่สิบ ในสุมทุมพุ่มไม้พระกฤษณ์
- สี่สิบเอ็ด โอวาทอย่างง่ายๆ
- สี่สิบสอง ภิกษุณีอาพาธ
- สี่สิบสาม มหาปรินิพพาน
- สี่สิบสี่ พินัยกรรมวาสิฏฐี
- สี่สิบห้า กลางคืนและรุ่งเช้าในสกลจักรวาล
เก้า ใต้ดาวโจร
เมื่อกลับมาถึงหมู่บ้านที่คนของข้าพเจ้าพักแรมคืนอยู่นั้น, ข้าพเจ้าไม่รั้งรอรีบปลุกคนใช้ให้ตื่น. แต่กว่าจะรุ่งสว่างก็อีกตั้งสองสามชั่วโมง พอสว่างก็ออกเดิรทาง.
รอนแรมมาได้ถึงวันที่ ๑๒ เวลาประมาณเที่ยงวัน ก็ถึงหุบเขาร่มรื่นมาก อยู่ในแดนหมู่ไม้แห่งแคว้นเวทิส. มีแม่น้ำน้อย น้ำใสดั่งแก้ว, ไหลเอื่อยวกเวี้ยวไปในทุ่งอันเขียวชะอุ่มตรงที่ลาดน้อยๆ ซึ่งมีไม้ต้นต่ำออกดอกดกดูดั่งดาดไว้ ส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ. ณที่แห่งหนึ่ง อยู่ในราวกลางหุบเขา ไม่สู้ห่างจากแม่น้ำน้อยนั้นนัก, มีต้นไทรใหญ่ใบหนาทึบ เป็นเงาปกคลุมลานหญ้าซึ่งเขียวดั่งมรกตให้ร่มรื่น, ส่วนรากที่ย้อยลงมาเป็นต้นน้อยๆ มีจำนวนนับได้ตั้งพันต้น, กลายเป็นสุมทุมพุ่มไม้มหึมา สามารถให้กองเกวียนอย่างของข้าพเจ้าตั้งสิบเท่าพักอาศัยได้อย่างสบาย.
ข้าพเจ้าจำที่นี้ได้ดี, ครั้งเมื่อเดิรทางผ่านมาทางนี้ในเที่ยวขาไปกรุงโกสัมพี, และได้ตกลงใจจะหยุดพักแรมณที่ตรงนี้. เพราะฉะนั้นจึงสั่งให้หยุด ปลดโคออกจากแอก ปล่อยให้ลุยลำธารลงไปดื่มน้ำที่ใสเย็น เพราะเมื่อยล้าหิวระหายมานานแล้ว, และกินหญ้าอ่อนที่ขึ้นเขียวอยู่สองข้างลำธาร. ส่วนคนใช้ก็พากันลงไปอาบน้ำชำระกายให้ชุ่มชื่น, แล้วเก็บกิ่งไม้แห้งมาทำฟืนจุดไฟหุงต้มอาหาร. ส่วนข้าพเจ้าได้อาบน้ำเบิกบานใจแล้ว ก็นอนแผ่ตามสบายใจใต้โคนไทรตอนที่ร่มรื่นที่สุด, ถือเอารากไทรที่ผุดพ้นดินเป็นหมอนหนุนนอนอย่างสำราญ เพื่อจะได้นึกถึงวาสิฏฐี แล้วจะได้เคลิ้มหลับและฝันเห็น. ความจริงก็เป็นเช่นนั้น พอม่อยหลับก็ฝันเห็นวาสิฏฐีมาจูงมือข้าพเจ้าเลื่อนลอยขึ้นไปสู่เมืองสวรรค์!
ทันใดนั้นมีเสียงเอะอะตึงตัง กระทำให้สะดุ้งตกใจตื่น, ลืมตาแลเห็นคนถืออาวุธเป็นจำนวนมากมาล้อมแน่น คล้ายกับว่ามีผู้วิเศษนิรมิตให้มีขึ้น. มิหนำซ้ำ ตามสุมทุมพุ่มไม้ที่ถัดไป ก็มีจำนวนคนเพิ่มกันแน่นมา. พวกเหล่านี้เข้ามาถึงเกวียนที่ข้าพเจ้าสั่งให้ล้อมวงต้นไม้ไว้, และกำลังต่อสู้กับคนของข้าพเจ้าซึ่งล้วนเป็นคนเคยชินต่อการย์นี้. จึ่งได้ต่อสู้ต้านทานด้วยความกล้าหาญ. ในไม่ช้าข้าพเจ้าก็ร่วมมือเข้าไปต่อสู้อยู่ด้วย. พวกโจรเหล่านี้ที่ถูกข้าพเจ้าประหารเสียก็สองสามคน. ขณะนั้นเห็นโจรคนหนึ่ง รูปร่างสูงใหญ่ เคราดก มีหน้าตาดุร้ายน่ากลัว, ร่างกายตอนบนเปลือย มีนิ้วแม่มือคนร้อยเป็นพวง คล้องคอไว้เป็นสามสาย. ในทันทีทันใด ข้าพเจ้าก็ระลึกได้ ว่าโจรคนนี้ เห็นจะเป็นองคุลิมาล จอมโจรดุร้ายใจทมิฬเที่ยวปล้นสะดมเผาผลาญบ้านช่องตามนิคมหมู่บ้านมานักต่อนักแล้ว จนที่บางแห่งรกร้างไม่มีใครกล้าอยู่; ถ้าพบปะผู้ใดถึงไม่มีความผิด ก็จับฆ่าเสีย แล้วตัดนิ้วแม่มือเอามาร้อยเป็นมาลัยคล้องคอ. ข้าพเจ้าเชื่อว่า วันนี้คงเป็นวาระสุดท้ายของข้าพเจ้า เพราะโจรใจร้ายได้ฟันเอาดาพที่ถืออยู่ในมือข้าพเจ้าหลุดไปทันที, ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นแล้วข้าพเจ้าอาจอวดได้ว่า คงไม่สามารถที่จะฟันจนดาพจนหลุดจากมือได้. ในไม่ช้าข้าพเจ้าเสียทีถูกจับตัวล่ามโซ่ทั้งเท้าและมือ นอนกลิ้งอยู่บนดิน. มองดูโดยรอบ เห็นคนของข้าพเจ้าถูกฆ่าตายนอนกลิ้งอยู่เกลื่อนกลาด, คงเหลือมีชีวิตอยู่แต่คนเดียว คือคนใช้เก่าแก่ของบิดาข้าพเจ้า ซึ่งถูกรุมจับเอาตัวได้โดยไม่ถูกบาดเจ็บอย่างเดียวกับข้าพเจ้า. เจ้าพวกโจรรวมกันเป็นหมู่ ออกันอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่, มองดูข้าพเจ้าด้วยความพอใจ. สร้อยคอแก้วตาเสือ, ซึ่งได้เล่าให้ท่านฟังมาแล้วครั้งเมื่อแย่งลูกคลี สาตาเคียรกะชากขาด, เป็นสร้อยคอที่มารดาข้าพเจ้าสวมให้เอง, เพื่อเป็นเครื่องรางกันภัยในคราวที่จากมารดามานั้น, บัดนี้ถูกองคุลิมาลกะชากเอาไปเสีย. ร้ายยิ่งกว่านั้น: ดอกอโศกที่ข้าพเจ้าติดตัวแนบไว้กับดวงใจนับแต่คืนที่พบกันบนลานอโศก ก็มาศูนย์หายไปด้วย. ข้าพเจ้านึกว่า ที่เห็นเป็นสีแดงดอกน้อยๆ อยู่บนหญ้าที่ถูกเหยียบย่ำ ไม่ห่างไกลจากข้าพเจ้านัก คงเป็นดอกอโศก. แต่ณที่ตรงนั้น เห็นโจรหนุ่มคนหนึ่งกำลังวิ่งกลับไปกลับมา แบกเนื้อโคที่ฆ่าเอาขึ้นย่างอย่างสุกๆ ดิบๆ ไปส่งเลี้ยงดูพวกเพื่อนที่กำลังร่าเริงกัน, ซ้ำเห็นมันเทเหล้าออกจากกระติกดื่มกินกัน เสียงเอะอะราวกับฝูงสัตว์. คราวใดที่ได้เห็นมันเหยียบย่ำไปบนดอกอโศก ซึ่งจมหายอยู่ภายใต้ฝ่าตีนอันโสมมของมัน, ข้าพเจ้ารู้สึกปวดร้าวคล้ายกับมันมาเหยียบย่ำกลางหัวใจ. พอมันก้าวย่างพ้นไปแล้ว, ยอดหญ้าก็ดันดอกอโศกเผยอขึ้นมาให้เห็นอีก ดูเด่นยิ่งกว่าเก่า, แต่ในที่สุดก็สาบศูนย์ไปไม่ได้เห็นอีก. ข้าพเจ้ารำพึงว่าป่านนี้วาสิฏฐีจะมิยืนอยู่ใต้ต้นอโศก บนบานไม้อโศกเพื่อฟังข่าวคราวของข้าพเจ้าหรือ. ถ้าต้นอโศกไม่สามารถบอกนางได้ ว่าเวลานี้ข้าพเจ้าอยู่ในที่อย่างไรแล้ว, ก็จะเป็นการดีหาน้อยไม่. เพราะถ้านางทราบความจริง, ไฉนดวงใจอันอ่อนละมุนจะสามารถทนเฉยได้. ห่างจากข้าพเจ้าไปสักสิบสองก้าว องคุลิมาลมหาโจรกำลังเลี้ยงดูอยู่กับบริวารอย่างร่าเริง ซึ่งดื่มเหล้ากันไม่หยุด. มองดูหน้าพวกโจรเห็นสีหน้าแดงก่ำขึ้นทุกที. คุยกันเอะอะ บางคราวก็ถึงกับทะเลาะแทบจะทุบตีกัน. แต่ในพวกโจรเหล่านี้ มีคนหนึ่งที่ไม่กินเหล้าเมามายไปตามด้วย. โจรคนนี้ข้าพเจ้าจะได้เล่าต่อไปในภายหลัง.
ในเวลานั้น น่าเสียดายอยู่หน่อย ที่ไม่อาจเข้าใจภาษาที่โจรใช้พูดกัน. ข้อนี้ จะเห็นได้ว่าความรู้ต่างๆ, อย่างใดจะเป็นประโยชน์ใช้ได้ดีที่สุดในเวลาเข้าที่อับจน, มนุษย์ไม่อาจทราบได้. ถ้าข้าพเจ้าสามารถฟังคำพูดของพวกมันให้เข้าใจได้, จะดีใจหาน้อยไม่. เพราะเสียงที่มันพูดออกมาดัง เดาว่ามันพูดถึงความเป็นความตายของข้าพเจ้าเป็นแน่. สังเกตหน้าและกิริยาท่าทางของมันเวลาพูด เห็นได้ชัดอย่างน่าวิตกว่ามันแลบลิ้นปลิ้นตามาทางข้าพเจ้าบ่อยๆ. ข้าพเจ้าแลดูตัวนาย เห็นแล้วให้ดาลเดือดถึงเรื่องสร้อยคอเครื่องรางของข้าพเจ้า ที่ใช้สำหรับป้องกันทฤษฏิโทษการดูให้ร้าย, ซึ่งเวลานี้รู้สึกว่ามันเพ่งดูอย่างน่ากลัว. ที่ข้าพเจ้ารู้สึกเช่นนี้ก็ไม่ผิด เพราะต่อภายหลัง ได้ทราบว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ฆ่าลูกน้องตัวสำคัญของมันตายต่อหน้าต่อตามัน. โจรที่ข้าพเจ้าฆ่านี้ได้ความว่ามีฝีมือเยี่ยมในการใช้ดาพดีกว่าพวกมันทั้งหมด. ที่ตัวนายของมัน งดเว้นยังไม่ฆ่าข้าพเจ้าเสียในทันทีทันควัน, ก็เพราะมันต้องการจะทรมานข้าพเจ้าให้สมแค้น ให้ต้องตายอย่างช้าๆ. แต่พวกมันไม่ต้องการจะให้ลาภอันมีราคาของมัน คือตัวข้าพเจ้า ซึ่งมันถือว่าเป็นสมบัติกลาง ต้องศูนย์หายไปในอากาศอย่างที่นายโจรต้องการ คือฆ่าเสีย. โจรคนหนึ่งหัวโล้นโกนหนวดเคราเกลี้ยงเกลา ดูเป็นทีว่าเป็นนักพรตของพวกมัน, คงเป็นตัวการที่ไม่เห็นพ้องกับองคุลิมาล ในการที่จะฆ่าข้าพเจ้าเสีย, และดูเหมือนโจรผู้นี้คนเดียวที่เข้าใจสามารถเหนี่ยวรั้งความดุร้ายของพวกโจรไว้ได้, ทั้งก็เป็นคนเดียวกันกับที่ข้าพเจ้าได้พูดไว้ข้างต้น ว่าเป็นผู้ที่ไม่กินเหล้าในขณะที่เลี้ยงดูกัน. เมื่อมันโต้เถียงกันเป็นเวลาช้านาน, บางคราวถึงกับองคุลิมาลลุกขึ้นคว้าดาพ เป็นดั่งนี้ก็หลายหน. แต่เป็นคราวเคราะห์ดีของข้าพเจ้า ที่ความชะนะตกอยู่แก่พวกหวังประโยชน์ในทรัพย์ มากกว่าประโยชน์ในการแก้แค้น.
ในที่นี้ควรกล่าวเสียด้วยว่า พวกโจรขององคุลิมาลเป็นโจรชะนิดที่เรียกว่า “ผู้ส่ง.” ที่เรียกดั่งนี้ เพราะมีธรรมเนียมของมันอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งถ้าจับใครไว้ได้สองคน ก็ปล่อยให้คนหนึ่งไปหาเงินค่าถ่ายตามแต่จำนวนที่มันกำหนดไว้. กล่าวคือ ถ้ามันจับได้ทั้งพ่อและลูก, มันก็ส่งตัวพ่อไปหาเงินค่าถ่ายสำหรับลูก; ถ้าเป็นพี่น้อง, ก็ปล่อยให้ไปคนหนึ่ง; ถ้าเป็นศิษย์กับอาจารย์, ก็ปล่อยศิษย์ไป; ถ้าเป็นนายกับบ่าว, ก็ปล่อยบ่าวไป; เหตุฉะนี้ พวกมันจึ่งชื่อว่า “ผู้ส่ง.” เมื่อความมุ่งหมายของมันมีเช่นนี้, ตามธรรมเนียมของมัน จึ่งได้เว้นชีวิตคนใช้เก่าแก่ของบิดาข้าพเจ้าไว้คนหนึ่ง, นอกนั้นมันฆ่าตายหมด. คนใช้คนนี้ แม้จะมีอายุมาก ก็ยังแข็งแรงประเปรียวอยู่ มีท่าทางเป็นคนฉลาดชำนาญ. ความจริงก็เช่นนั้น, เพราะเคยเป็นผู้ควบคุมกองเกวียนไปขายได้ผลดีมาหลายคราวแล้ว.
ณบัดนี้ คนใช้ของข้าพเจ้าพ้นจากเครื่องจองจำได้ และมันปล่อยตัวไปเย็นวันนั้นเอง. ก่อนไป ข้าพเจ้าได้สั่งเสียเป็นความลับฝากไปถึงบิดามารดาของข้าพเจ้าด้วย ซึ่งพวกโจรไม่ขัดข้อง ด้วยไม่เห็นว่าข้าพเจ้าจะหลอกลวงมันได้อย่างไร. ส่วนองคุลิมาลนั้น เอาใบตาลมาขีดเขียนเป็นเครื่องหมายสองสามตัว มอบให้คนใช้ของข้าพเจ้า. ใบตาลที่ขีดเขียนนี้เท่ากับใบเบิกทางขากลับ, เมื่อนำเงินติดตัวมา พบโจรพวกอื่นก็ไม่กล้าทำอันตราย เพราะชื่อเสียงขององคุลิมาลเป็นที่เกรงขามทั่วไป. โจรผู้ร้ายที่ว่ากล้าลักปล้นถึงเครื่องราชบรรณาการ ก็หากล้าหาญพอถึงจะแตะต้องของที่เป็นบรรณาการขององคุลิมาลไม่.
ในไม่ช้า มันถอดเครื่องจองจำข้าพเจ้าออก เพราะรู้ดีอยู่ว่า ข้าพเจ้าคงไม่บ้าพอที่จะพยายามหนีมันไป. ข้าพเจ้าใช้ประโยชน์ในครั้งแรกเมื่อพ้นจากเครื่องจองจำแล้ว: คือรีบตรงไปยังดอกอโศก ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าหายไปในที่ตรงนั้น. โอ้อนิจจา! แม้แต่เศษของดอกอโศกก็ไม่ได้เห็น ดูประหนึ่งดอกอันแบบบาง ถูกตีนอันหยาบของพวกมหาโจรเหยียบกะทืบเสียจนเป็นภัสมธุลี. นี่จะเป็นลางว่าความสุขในชีวิตของเราจะขาดสะบั้นอยู่เพียงนี้หรือ?
บัดนี้ข้าพเจ้ามีความสะดวกขึ้นบ้างตามส่วน ได้อยู่กินและย้ายที่ตามไปกับพวกเหล่าร้าย คอยท่าจนกว่าค่าถ่ายจะมาถึง ซึ่งกะว่าจะต้องมาถึงภายในระยะเวลาสองเดือน.
โดยเหตุที่ในระวางนั้นตกอยู่ข้างแรมเดือนมืด จึ่งมีการปล้นสะดมกันติดๆ ไป, เพราะเวลาเหล่านี้ตกอยู่ในระยะกาลที่พระแม่เจ้ากาลีคุ้มครองโจรกรรม. เพราะฉะนั้นตกกลางคืน ที่จะเว้นว่างจากการปล้นการขะโมยสักคืนเดียวก็ไม่ได้. ที่ปล้นถึงกับเผาบ้านช่องหมดทั้งหมู่บ้านก็มีหลายหน. ตกถึงคืนแรมสิบห้าค่ำ เป็นดิถีสมโภชบูชาพระแม่เจ้ากาลี. มีพิธีแสนน่าเกลียดน่ากลัว, ไม่ใช่จะฆ่าแต่โคและแพะสีดำ นับจำนวนไม่ถ้วนเอาบูชาเทวรูป, ยังซ้ำฆ่าคนที่จับมาได้บูชายัญอีกด้วย. เอาตัวผู้จะถูกฆ่านอนบนแท่นบูชา แล้วแหวะเส้นโลหิตใหญ่ให้โลหิตพุ่งไปเข้าปากเทวรูปร่างร้ายน่าเกลียดน่ากลัว มีหัวกะโหลกคนเป็นสังวาลคล้องศอ. ถัดจากนั้นก็มีการร่าเริงร้องรำทำเพลงอย่างอุลามกน่าบัดสี. พวกโจรกินเหล้าเมามายกันจนไม่ได้สติ, บ้างกรีธาร่าเริงอยู่กับพวกหญิงเทพทาสี ซึ่งพวกโจรฉุดคร่าพาเอามาจากเทวาลัย เพื่อประโยชน์ในพิธีนี้.
ส่วนองคุลิมาล กำลังใจดี ต้องการให้ข้าพเจ้ามีความสุขบ้าง, จึ่งจัดนางเทพทาสีสวยคนหนึ่งมาให้. แต่ข้าพเจ้าผู้มีใจจ่ออยู่แต่วาสิฏฐี ไฉนจะมีแก่ใจร่าเริงด้วยหญิงอื่น. นางเทพทาสีเห็นข้าพเจ้าไม่ไยดี ก็เสียใจร้องไห้. องคุลิมาลเห็นก็โกรธ แยกเขี้ยวเคี้ยวฟันกรากมาค้ำคอข้าพเจ้า. ถ้าไม่มีโจรศีรษะโล้นหน้าเกลี้ยงไม่มีเคราเข้ามาห้ามแล้ว, ข้าพเจ้าเห็นจะถูกเค้นคอตายแน่. โจรศีรษะโล้นพูดสองสามคำ, องคุลิมาลก็ปล่อยมือซึ่งแข็งกะด้างอย่างเหล็กออกจากคอข้าพเจ้า, มีเสียงคำรามราวกับสัตว์ร้ายที่ฝึกหัดให้เชื่องไม่ผิดกัน แล้วก็ออกไป.
ชายศีรษะโล้นคนนี้ ถึงแม้มือจะยังมีโลหิตติดกรัง เนื่องด้วยทำการบูชายัญเจ้าแม่กาลีอันร้ายกาจ, แต่ก็ได้ช่วยชีวิตข้าพเจ้าไว้สองครั้งแล้ว.
ชายคนนี้เป็นบุตรพราหมณ์ แต่เกิดในเวลาดาวฤกษ์โจรขึ้น จึ่งต้องเลือกอาชีพเป็นโจร. ในชั้นแรกเป็นโจรพวกฐัก,๑ ภายหลังเพื่อประโยชน์ในทางวิทยา ได้มาเข้าพวกโจร “ผู้ส่ง.” ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังต่อไปว่า ที่มีอุปนิสสัยไปในทางลัทธิศาสนาก็เนื่องมาจากบิดา, เพราะฉะนั้น จึ่งมีหน้าที่สองอย่าง: อย่างหนึ่ง เป็นครูผู้ทำพิธีบูชายัญ, พวกโจรนับถือมาก ไม่แพ้ที่นับถือองคุลิมาลผู้เป็นหัวหน้า, เพราะถ้าไปปล้นสะดมได้มาก ก็ถือว่าผู้นี้เป็นผู้ทำการบูชาดี; อีกอย่างหนึ่ง เป็นผู้สอนลัทธิศาสนาว่าด้วยวิชชาโจร, ไม่ใช่จะสอนในฝ่ายวิชชาการโจรอย่างเดียว ยังสอนถึงธรรมจรรยาโจรด้วย. ตามที่ได้สังเกต รู้สึกประหลาดใจไม่น้อย ที่เห็นพวกโจรเหล่านี้มีธัมมะอย่างหนึ่ง. ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว พวกโจรเหล่านี้ก็มีศีลธรรมไม่เลวไปกว่าคนอื่นๆ.
การแสดงลัทธิ มักเป็นไปในเวลากลางคืน ในระยะแปดค่ำข้างขึ้น, เพราะเป็นเวลาว่างไม่สู้ได้ทำการปล้นนัก จะมีก็นานๆ เป็นพิเศษ. พวกโจรชุมนุมกันในที่ว่างเป็นทุ่งกลางป่า, นั่งล้อมกันเป็นวงอรรธจันทร์ซ้อนกันหลายแถว. ส่วนตัวครูซึ่งชื่อ วาชศรพ (วาด-ชะ-สบ) นั่งขัดสมาธิ์. แสงเดือนฉายแลเห็นศีรษะโล้น ดูไม่ผิดอะไรกับครูผู้สอนพระเวทให้แก่ศิษย์ในอาศรมกลางป่า, แต่ว่าศิษย์ผู้ฟังในที่นี้ล้วนมีหน้าดุร้ายคล้ายสัตว์ป่ามากกว่าเป็นศิษย์ชะนิดอยู่อาศรม. ถึงเวลาที่เล่านี้ข้าพเจ้ายังนึกจำได้ชัดเจน ได้ยินเสียงพวกโจรดังหึ่งๆ อยู่ในป่า, ดังหึ่งใหญ่แล้วก็เบาลงๆ จนเป็นเสียงคล้ายลมพัด, แล้วก็มีเสียงหึ่งใหญ่อีกคล้ายเสือคำราม. แต่ที่ได้ยินชัดเจนเหนือเสียงหึ่งคือเสียงวาชศรพ ซึ่งเป็นเสียงทุ้มดัง อันเป็นเสียงทายาทสืบมาจากพราหมณ์อุท์คาดา ผู้อ่านพระเวทแต่ครั้งดึกดำบรรพ์.
ในการแสดงลัทธิดั่งนี้ พวกโจรยอมให้ข้าพเจ้าไปฟังด้วย; เพราะวาชศรพออกจะชอบๆ ข้าพเจ้า, ยิ่งกว่านั้นยังยืนยันว่าข้าพเจ้าเกิดในเวลาดาวฤกษ์โจรขึ้นเหมือนกัน, จึ่งเห็นว่าวันหนึ่งคงจะได้มาเป็นโจรพวกเดียวกัน, เป็นการสมควรฟังการแสดงนี้ไว้ จะได้เป็นอุปนิสสัยต่อไป.
เพื่อให้ท่านทราบการแสดงลัทธิว่ามีข้อความอย่างไร จะขอสาธยายข้อความบางตอน ซึ่งเป็นอรรถกถาแก้กาลีสูตรของโบราณ อันเป็นรหัสยลัทธิของพวกโจร และเป็นอรรถกถาที่สำคัญที่สุด.
-
๑. ฐัก เป็นภาษาฮินดี, สํสกฤตเป็นสถัค แปลว่าคนโกงคนปลิ้นปล้อน, เป็นชื่อของโจรพวกหนึ่งไปกันเป็นพวก ผะสมกับพวกเดิรทางอื่นๆ. ถ้าพวกเดิรทางเผลอตัวได้ช่อง, ก็เอาผันคอที่มีอยู่ทุกตัวโ๗ร รัดคอคนเดิรทางให้ตาย, เก็บเอาเงินทองของมีค่าแล้ว ก็เอาศพฝั่งเสีย. พวกนี้มีภาษาพูดกันโดยฉะเพาะ. อังกฤษเมื่อได้อินเดียก็ไม่ทราบถึงพวกนี้, พึ่งมาทราบและปราบสิ้นไปเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒. ↩