- คำนำ
- ภาคหนึ่ง บนดิน
- หนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จกลับเบญจคีรีนคร
- สอง พบ
- สาม สู่ฝั่งแม่คงคา
- สี่ สาวน้อยผู้เดาะคลี
- ห้า รูปวิเศษ
- หก บนลานอโศก
- เจ็ด ในหุบเขา
- แปด ดอกฟ้า
- เก้า ใต้ดาวโจร
- สิบ รหัสยลัทธิ
- สิบเอ็ด งวงช้าง
- สิบสอง ที่ฝังศพของวาชศรพ
- สิบสาม เพื่อนบุณย์
- สิบสี่ ผู้เป็นสามี
- สิบห้า ภิกษุโล้น
- สิบหก เตรียมรับมือ
- สิบเจ็ด สู่ความเป็นผู้ละบ้านเรือน
- สิบแปด ในห้องโถงช่างปั้นหม้อ
- สิบเก้า พระศาสดา
- ยี่สิบ เด็กดื้อ
- ยี่สิบเอ็ด ในท่ามกลางความเป็นไป
- ภาคสอง - บนสวรรค์
- ยี่สิบสอง ภูมิสุขาวดี
- ยี่สิบสาม การต้อนรับแห่งชาวสวรรค์
- ยี่สิบสี่ ต้นปาริชาต
- ยี่สิบห้า บัวบาน
- ยี่สิบหก สร้อยแก้วตาเสือ
- ยี่สิบเจ็ด สัจจกิริยา
- ยี่สิบแปด บนฝั่งคงคาสวรรค์
- ยี่สิบเก้า ท่ามกลางกลิ่นหอมแห่งดอกปาริชาต
- สามสิบ มีเกิดก็มีตาย
- สามสิบเอ็ด ปิศาจที่บนลาน
- สามสิบสอง สาตาเคียร
- สามสิบสาม องคุลีมาล
- สามสิบสี่ นรกหอก
- สามสิบห้า การบูชาอันบริศุทธิ์
- สามสิบหก พระพุทธและพระกฤษณ
- สามสิบเจ็ด ดอกฟ้าเหี่ยว
- สามสิบแปด พรหมโลก
- สามสิบเก้า ความมืดแห่งโลกานุโลก
- สี่สิบ ในสุมทุมพุ่มไม้พระกฤษณ์
- สี่สิบเอ็ด โอวาทอย่างง่ายๆ
- สี่สิบสอง ภิกษุณีอาพาธ
- สี่สิบสาม มหาปรินิพพาน
- สี่สิบสี่ พินัยกรรมวาสิฏฐี
- สี่สิบห้า กลางคืนและรุ่งเช้าในสกลจักรวาล
สอง พบ
พระตถาคตเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะทรงแรมคืนในบ้านแรกที่เสด็จไปถึง ซึ่งในที่นี้คือบ้านตั้งอยู่ในบริเวณสวน มีช่องไม้ให้ลอดแลเห็นฝาผนังของบ้านเป็นสีเขียว. ขณะพระองค์ทรงย่างพระบาทเข้าไปถึงประตูบ้าน, ทอดพระเนตรเห็นข่ายดักนกห้อยอยู่บนกิ่งไม้ จึ่งเสด็จผ่านเลยไปเสียมิได้รั้งรอ, เพราะบ้านนั้นเป็นที่อยู่ของพรานนก. ในตอนนี้มีบ้านตั้งอยู่ห่าง ๆ กัน เพราะเป็นชายพระนคร, ซ้ำเกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนเสียหลายหลัง ในเวลาไม่สู้ช้านัก. เพราะฉะนั้นกว่าจะทรงพบบ้านอีกสักหลังหนึ่งก็เป็นเวลานาน. บ้านหลังนี้เป็นโรงนาของพราหมณ์ผู้มีอันจะกิน. พอพระพุทธเจ้าเสด็จคล้อยเข้าไปในประตูรั้ว, ก็ทรงได้ยินเสียงผู้ภริยาทั้งสองของพรหมณ์กำลังทะเลาะวิวาทด่าทอกัน, พระองค์จึ่งทรงหันกลับออกจากประตูเสด็จพระพุทธดำเนิรต่อไป.
บริเวณสวนของพราหมณ์ผู้มีอันจะกินนี้ มีเนื้อที่ยืดยาวไปตามถนนมาก จนพระองค์ทรงรู้สึกลำบาก พระกรัชกายเหนื่อยล้าในทางเพราะเสด็จดำเนิรมาไกล, ทั้งพระบาทขวาสะดุดหินอันแหลมคม กระทำให้บังเกิดทุกขเวทนาอักเสบเจ็บปวด. เมื่อพระตถาคตเสด็จมาถึงบ้านอีกหลังหนึ่ง, ก็มีพระอาการดั่งข้างต้นนี้. บ้านที่เสด็จมาถึงใหม่ แลเห็นได้แต่ไกล เพราะแสงไฟที่จุดไว้ในบ้านลอดช่องตาข่ายและช่องประตูพุ่งออกมาสว่างถึงถนน. บ้านนี้ แม้คนจักษุบอดผ่านมา ก็ต้องทราบว่าเป็นบ้านมีคนอยู่ เพราะได้ยินเสียงเลี้ยงดูกันสนุกสนานเฮฮา, เสียงตบมือกะทืบเท้ากันโครมคราม, และเสียงพิณดังไม่ขาดสาย, หญิงงามนางหนึ่งทรงพัสตราภรณ์แพรล้วน ศอสวมมาลัยมะลิพวง ยืนพิงอยู่กับเสาประตู. นางแย้มรายฟันอันแดงด้วยหมากเคี้ยว ยิ้มยั่วหัวเราะร่า อัญเชิญผู้เดิรทางคือพระตถาคตเจ้าให้เสด็จเข้าไปในบ้าน โดยกล่าววาจาว่า “เชิญท่านผู้เป็นแขกแปลกหน้า, เชิญเข้ามาเถิด, บ้านนี้เป็นที่สนุกสำราญร่าเริง.” แต่พระตถาคตเจ้าเสด็จผ่านเลยบ้านนั้นไปเสีย, และในระวางที่เสด็จเลยมานั้น ทรงระลึกถึงถ้อยคำของพระองค์ที่เคยตรัส คือ “ถ้าจะดูโศกาดูรในหมู่สงฆ์ ก็ในการร้องขับทำเพลง; ถ้าจะดูความบ้าในหมู่สงฆ์ ก็ในการเต้นรำ; ถ้าจะดูความเป็นเด็กในหมู่สงฆ์ ก็ในอาการยิงฟันหัวเราะ.” บ้านที่อยู่ถัดไปไม่สู้ไกลนัก แต่ได้ยินเสียงพิณและเสียงร่าเริงล่องมาตามลมได้แต่ไกล. พระองค์จึ่งผ่านอีกบ้านหนึ่ง, ทอดพระเนตรเห็นชายสองคนกำลังชำแหละโคซึ่งพึ่งฆ่าใหม่ ๆ ในตอนเย็นวันนั้น, ก็เสด็จเลยบ้านผู้ขายเนื้อโคไป.
บ้านอยู่ถัดไป ตรงลานหน้าบ้านมีหม้อและชามดินพึ่งปั้นเสร็จใหม่ ๆ วางอยู่เรียงราย อันเป็นการงานแห่งเจ้าของบ้านที่พากเพียรลงแรงทำเป็นสัมมาชีพได้ในวันนั้น, เครื่องปั้นหม้อยังคงวางอยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่. ขณะนั้นกุมภการช่างปั้นหม้อกำลังเอาชามดินดิบออกจากเครื่องปั้น ขนเอามาว่างเรียงรวมกันไว้.
พระองค์เสด็จเข้าไปหาชายปั้นหม้อ แล้วตรัสว่า “ดูก่อนท่านผู้เผ่าภคะ, ตถาคตจะขออาศัยพักแรมคืนที่ห้องโถงในบ้านท่าน. จะมีข้อขัดข้องอย่างไรบ้างหรือไม่?”
ชายปั้นหม้อตอบว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ, ไม่มีข้อขัดข้องอย่างไรเลย. แต่ทว่าในขณะนี้มีอาคันตุกะ ได้รับความเมื่อยล้าเพราะเดิรทางไกล มาขออาศัยแรมคืนอยู่แล้ว. ถ้าไม่มีความรังเกียจ, ก็เชิญท่านผู้เจริญเถิด.”
พระตถาคตตรัสทรงรำพึงว่า “แท้จริงความวิเวกเป็นสหายอันวิเศษกว่าสหายอื่น ๆ. แต่อาคันตุกะที่มาพักอยู่ก่อน เดิรทางเมื่อยล้ามาอย่างเรา, ได้ผ่านเลยบ้านแห่งชนที่ประกอบมิจฉาชีพและไม่บริศุทธิ์ จนถึงบ้านชายปั้นหม้อจึ่งได้หยุดขออาศัย. คนเห็นปานนี้ เราอาจร่วมสมาคมแรมคืนอยู่ด้วยกันได้.”
ครั้นแล้ว เสด็จเข้าไปในห้องโถง, ทอดพระเนตรเห็นชายหนุ่มคนหนึ่ง มีลักษณะเป็นผู้ดีมีตระกูล นั่งอยู่บนเสื่อมุมห้อง.
พระตถาคตตรัสปราศรัยด้วยว่า “ดูก่อนอาคันตุกะ ถ้าท่านไม่รังเกียจ, ตถาคตจะขออาศัยแรมราตรีในห้องโถงนี้.”
ชายคนนั้นตอบว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ, เชิญท่านตามความพอใจเถิด เพราะห้องโถงของกุมภการกว้างขวางพอ.”
พระตถาคตเจ้าทรงลาดพระนิสีทนสันถัตลงใกล้ฝา, ลดองค์ลงประทับด้วยสมาธิบัลลังก์ มีพระกายตั้งตรง ดำรงพระสติสัมปชัญญะสงบนิ่ง ตลอดยามต้นแห่งราตรีนั้น. ส่วนชายหนุ่มก็นั่งนิ่งอยู่ตลอดยามต้นเหมือนกัน.
ต่อมา พระตถาคตเจ้าทอดพระเนตรเห็นชายหนุ่มมีอาการสงบนิ่งเช่นนั้น, ก็ทรงรำพึงว่า “กุลบุตรผู้นี้เป็นผู้แสวงหาโมกษธรรมกระมังหมอ? อันเราควรถามดู,” ทรงจินตนาการดั่งนี้แล้ว หันพระพักตรไปทางชายหนุ่มแย้มพระโอษฐ์ตรัสถามว่า
“ดูก่อนอาคันตุกะ, ท่านมาถือเพศเป็นผู้ละเคหสถาน เพราะเหตุเป็นไฉน?”
ชายหนุ่มตอบว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ, เวลานี้ยังไม่ดึกนัก, ถ้าท่านไม่รังเกียจ, ข้าพเจ้าจะได้เล่าถึงเหตุที่ข้าพเจ้าละเคหสถานมาถือเพศเป็นดั่งนี้.”
พระพุทธเจ้าประทานพระอนุญาต โดยพระศิรวิญญัติในอาการอันเป็นมิตรภาพ. ชายหนุ่มจึ่งเริ่มเล่าเรื่องของตนต่อไปนี้.