สี่สิบห้า กลางคืนและรุ่งเช้าในสกลจักรวาล

อันว่าในห้องโถงที่ประชุมเลี้ยงดูกัน เมื่อดับโคมไฟต่าง ๆ หมดแล้ว ก็เหลือแต่โคมเล็กอยู่ดวงเดียวริบหรี่อยู่มุมห้องหน้ารูปบูชา ดั่งนี้ฉันใด, กามนิตก็เหลืออยู่ที่หลังเพื่อนริบหรี่แต่ผู้เดียว ในท่ามกลางแห่งวิศวราตรี คือกาละอันเป็นราตรีไปหมด.

อันรูปธรรมกามนิตมีตารกะธาตุแห่งความเหมือนในองค์พระพุทธเจ้าห่อหุ้มอยู่แล้ว, นามธรรมก็มีความตรึกนึกในองค์พระพุทธเจ้าเข้าไปซึมซาบอยู่. นี้แหละเป็นเสมือนน้ำมันที่หล่อเลี้ยงไฟในโคมน้อยไว้มิให้ดับ.

ถ้อยคำที่ตนได้เคยสนทนาอยู่กับพระบรมศาสดาในห้องโถงช่างหม้อกรุงราชคฤห ได้กลับมาปรากฏโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่ต้นจนอวสาน. ประโยคต่อประโยคและคำต่อคำ. เมื่อหวนระลึกถ้อยคำเหล่านี้ได้ตลอดแล้ว, ก็เริ่มทวนต้นไปใหม่. ในข้อความที่ระลึกได้เป็นประโยค ๆ ไปนั้น, ประโยคหนึ่ง ๆ ก็เป็นเสมือนทวารต้นทางที่จะเข้าวิถีใหม่แห่งธรรมรส, ซึ่งเข้าไปตรองเห็นแล้ว ก็ล่วงเข้าอิกทวารหนึ่ง, แล้วก็ผ่านอิกทวารหนึ่ง, เป็นลำดับติดต่อกันไป. พลางกามนิตตรวจค้นตามระยะวิถีแห่งความตรึกนึก, จนไม่มีสิ่งไรเหลืออยู่นอกจากความมืดตื้อซึ่งล้อมอยู่รอบตน.

ขณะที่ดวงจิตต์เป็นไปอยู่อย่างนี้ ทั้งมีความเพ่งพินิจหน่วงองค์พระพุทธเจ้าเข้าไว้เป็นอารมณ์ จนหมดสิ้นไม่มีอารมณ์อะไรอื่นเหลืออยู่, ประกอบทั้งรูปธรรมก็นำเอาตารกะธาตุที่อยู่รอบตน เข้าไปรวมเนื้ออยู่ด้วยทวีขึ้น, จนสิ่งที่เหลืออยู่โปร่งบางไปหมด. ครั้นแล้ว ความมืดแห่งวิศวราตรีก็ปรากฏมี เป็นสีน้ำเงินอันงาม แล้วก็เข้มขึ้นทุกที.

เป็นดั่งนี้ กามนิตจึ่งนึกว่า-

“ออกไปในที่นั้น เป็นความมืดอันกว้างขวางมหึมาหนาแน่นแห่งวิศวราตรี. แต่ก็จะต้องมีคราวถึงกำหนด เป็นความรุ่งเช้า เกิดมีท้าวมหาพรหมขึ้นใหม่. ถ้าว่าความตรึกนึกและมโนธาตุของเราเพ่งเล็งไปทางที่จะจุติเป็นท้าวมหาพรหม ซึ่งมีหน้าที่รังสฤษฎ์สกลโลกขึ้น, ก็คงจะไม่มีใครจะดีไปกว่าเรา. เพราะในขณะจะสิ้นกัลป์กำลังถึงการประลัยไปอยู่นี้ สิ่งทั้งปวงก็ย่อยยับดับตามกันหมด คงเหลือแต่ท้าวมหาพรหมประจำหน้าที่มีความรู้สึกได้ดีพร้อม อยู่ในท่ามกลางวิศวโลกานุโลกแต่ผู้เดียว. จริงอยู่ ถ้าเราปรารถนาก็ย่อมจะทำได้ในทันที กล่าวคือรังสฤษฎ์สิ่งทั้งปวงให้กลับมีชีวิตขึ้น, แล้วจัดให้อยู่ตามตำแหน่ง ในโลกานุโลกที่ปรากฏใหม่. แต่ก็มีอยู่อย่างเดียวที่เรารังสฤษฎ์หาได้ไม่ คือไม่สามารถชุบวาสิฏฐีขึ้นมาได้อิก. วาสิฏฐีได้สิ้นชาติสิ้นภพไปแล้ว ล่วงไปในลักษณะซึ่งไม่มีเชื้อเกิดเหลืออยู่เลย, ถึงพระเป็นเจ้ามหานุภาพองค์ใดองค์หนึ่งหรือเทวดามารพรหม จะค้นหาก็ไม่พบร่องรอย. เมื่อไม่มีวาสิฏฐีผู้งามเลิศและดีเลิศแล้ว, จะมีผลดีอะไรในความเกิดมีชีวิตอยู่? มีประโยชน์อะไรด้วยชีวิตของท้าวมหาพรหม ที่ต้องล่วงไปเหมือนกัน? อะไรคือความเป็นชั่วคราว? และอะไรคือความคงที่?

“ไม่ต้องคิดอย่างอื่น: ความคงที่นั้นมี, และทางไปสู่ความคงที่นั้นก็มี.

“พราหมณ์ชราผู้หนึ่งเป็นวานะปรัสถ์ ถือความมักน้อยสันโดษอยู่ในป่า ได้เคยสอนเราว่า ในบริเวณรอบหัวใจ มีเส้นโลหิตอันละเอียดห้อมล้อมอยู่นับด้วยร้อย สำหรับอาตมันจะได้ส่งความคิดความรู้สึกแล่นไปตลอดกาย. แต่มีเส้นหนึ่งขึ้นไปสู่กระหม่อมศีรษะ นั้นแหละเป็นทางที่อาตมันออกจากร่าง. โลกานุโลกก็อย่างเดียวกัน ย่อมมีวิถีนับด้วยร้อยด้วยพันด้วยแสน ผ่านไปในแดนทุกข์ สั้นบ้างยาวบ้าง และแผ่ซ่านไปจบภวานุภพ. แต่ก็มีวิถีอยู่ทางเดียวเท่านั้น, ที่ออกจากภพเหล่านี้ไปได้อย่างเที่ยงแท้, นี้คือวิถีไปสู่แดนความคงที่, ไม่มีเครื่องกีดขวางอิกแล้ว. ในขณะนี้เรากำลังดำเนิรเข้าสู่ทางนั้น และจะไปจนถึงที่สุด.”

แล้วกามนิตก็ยึดเอาพระพุทธนิมิตต์ไว้ในมโนธาตุแน่นแฟ้น มุ่งแต่วิถีที่จะไปสู่ความสิ้นแห่งทุกข์ ขณะนั้นวิศวราตรีที่ใสเห็นได้ตลอด ก็มืดแน่นหนักเข้าทุกที.

ครั้นเมื่อมืดอับทึบถึงที่สุด ก็บังเกิดสยัมภูองค์ใหม่ฉายแสงแปลบขึ้นมา คือ ท้าวมหาพรหม ผู้จะส่องความสว่างและถนอมสกลจักรวาลนับได้แสนให้คงสืบปวัตยาการไปตลอดอิกกัลปหนึ่ง.

และขณะนั้น ท้าวมหาพรหมก็บันดาลสิ่งทั้งปวง ให้มีชีวิตขึ้น:

“ดูก่อนสรรพชีพ ซึ่งได้พักอยู่ตลอดคืนหนึ่งของพรหมโลก ในความว่างเปล่า, จงตื่นเถิด แล้วเข้าประจำตำแหน่งตามอำนาจกำลังที่เราเฉลี่ยแก่ตน รับความบันเทิงไปชั่ววันหนึ่งของพรหมโลก.”

ครั้นแล้วชีพและโลกานุโลก ก็ผุดขึ้นจากมหันธการความมืดแห่งความว่างเปล่า, ดุจลูกลอยลมโผล่สลอนขึ้นมาในกลางหาว, เป็นดาวต่อดาว, ชีพต่อชีพ, ส่งเสียงแซ่ซ้องยินดีกึกก้องตลบนภากาศ ว่า-

“ข้าแต่ท้าวปรเมษฐ์, พระองค์ตรัสเรียกพวกข้าพเจ้าทั้งหลาย ให้อุบัติในสกลจักรวาลที่สร้างใหม่, และเริ่มเป็นวันใหม่ เพื่อให้พวกข้าพเจ้าได้รับความชื่นบานในพรหมโลก จากส่วนความบันเทิงสุขที่พระองค์มีอยู่รุ่งเรืองฉายมาให้.”

เมื่อกามนิตได้เห็นและได้ยินเสียงสำรวลร่าครึกครื้นรื่นเริงโดยตลอด ก็บังเกิดความสังเวชใจ :

“ชีพและโลกานุโลก. และดาวเทพ และแม้ถึงท้าวมหาพรหมเอง ต่างแซ่ซ้องยินดีปรีดาต้อนรับวันใหม่แห่งพรหมโลก. เพราะอะไร? ก็เพราะไม่รู้แจ้งซึ่งความจริง.”

อันความสมเพชโลกทวยเทพและท้าวมหาพรหมนี้เอง เป็นทางให้ประหานมานะความสำคัญตนและภวราคความติดใจเกิด ที่ยังเหลือเป็นเศษอยู่ หมดสิ้นไป, และบัดนี้ก็มารำพึงว่า-

“ระวางวันหนึ่งของพรหมนี้ ย่อมมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัส และประกาศพระธรรมคือสัจจะ, และทวยเทพที่เราเห็นอยู่รอบข้างเหล่านี้ ก็อาจได้ยินสัจจะ อันส่องทางวิสุทธิแห่งตน ๆ เป็นอุปนิสสัยแล้ว. ถ้ามาระลึกได้ว่าในวันรุ่งเช้าแห่งวันในโลก ได้เห็นผู้หนึ่งออกไปพ้นชาติภพแล้ว, นั่นจะเป็นอุทาหรณ์แห่งสัจจธรรมที่ตนได้ยินมาสำแดงผลประจักษ์แก่ตน, และเมื่อโจษกันว่า ‘ผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในท่ามกลางพวกเรา หรือจะเรียกว่าส่วนหนึ่งแห่งเราก็ได้ ได้ล่วงหน้าไปในวิถีที่เป็นทางวิมุติแล้ว,’ ก็จะเป็นเหตุนำเขาเหล่านั้น เข้าสู่ที่วิถีถูกด้วย. เพราะฉะนั้นเราจักช่วยนำทางเขาทั้งหมด: จะไม่เอาตัวรอดแต่ผู้เดียว. เพราะตามความจริง ไม่มีใครช่วยตนเองได้ โดยตนเองมิได้ช่วยเหลือผู้อื่น.”

ในเวลาไม่ช้า ดาวเทพบางองค์ ก็เริ่มสังเกตเห็น ว่ามีดาวเทพอยู่องค์หนึ่ง ท่ามกลางพวกตน หาได้ส่องแสงรุ่งเรืองสว่างขึ้นโดยลำดับไม่ กลับมีลักษณะตรงกันข้าม คือ หรี่มัวลงไป.

เหล่าดาวเทพจึ่งร้องเตือนว่า-

“ท่านผู้เป็นภราดา, ท่านพึงหันไปเพ่งท้าวมหาพรหม เพื่อได้รับแสงให้เกิดความสว่างรุ่งเรืองยิ่งขึ้น. เพราะท่านก็ผู้หนึ่งเป็นภราดาในหมู่เรา อันท้าวมหาพรหมได้เรียกให้มาร่วมเสวยความบันเทิงสุข ด้วยอาศัยรัศมีท้าวเธอฉายส่องมาให้.”

แม้ทวยเทพร้องบอกมาเช่นนี้, กามนิตจะได้เอาใจใส่หรือได้ฟังก็หาไม่.

ทวยเทพคงจ้องดู เห็นดาวกามนิตยังหรี่แสงลงเสมอ ก็เกิดความวิตก, ร้องทุกข์ต่อท้าวมหาพรหมว่า-

“ข้าแต่ท้าวสุรเชษฐ์ ผู้เป็นแสงสว่างและเป็นผู้ถนอมเหล่าพวกข้าพเจ้า, ได้โปรดเถิดพระเจ้าข้า. ดาวดวงนี้ไม่มีความสามารถจะส่องรัศมี มีแต่จะลดน้อยถอยแสงลงไป. ขอประทานแสงสว่างจากพระองค์ เพื่อให้ฟื้นขึ้น จะได้ร่วมความบันเทิงสุขภายในรัศมีอันรุ่งเรืองของพระองค์.”

ครั้นแล้ว ท้าวจัตุรพักตร์มหาพรหมผู้เต็มเปี่ยมด้วยพรหมวิหาร ก็เพ่งพระเนตรในพระพักตร์ด้านที่แปรไปทางกามนิต ส่งมหานุภาพให้ฟื้นกำลังขึ้น.

แต่แสงของกามนิตยังคงปรากฏว่าลดน้อยลงทุกที. ท้าวมหาพรหมทรงสมเพช ในเหตุที่ว่าดาวดวงนี้ไม่ยอมรับรัศมีที่พระองค์ฉายไปประทาน. แม้แต่ดวงอาทิตย์ตั้งแสน ซึ่งล้วนได้รับแสงไปจากพระองค์ ก็ยังยินดีปรีดา, ไม่เหมือนกับดาวดวงนี้. พระองค์จึ่งประมวลเอาแสงทิพย์ที่มีอยู่ในสกลจักรวาล อันเป็นแสงมีอำนาจพอที่เผาผลาญโลกานุโลกได้ตั้งพันให้เป็นเถ้าถ่านในพริบตา ส่องพุ่งตรงไปที่กามนิต.

แต่แสงของกามนิตก็คงหรี่ลดลงอยู่เรื่อย ประหนึ่งว่าใกล้ความดับอยู่แล้ว.

ท้าวมหาพรมทรงปริวิตก ว่า-

“ดาวนี้ดวงเดียวที่พ้นอำนาจเราไปได้, เช่นนั้นเป็นอันว่าเรามิได้ทรงสรรพศักดิ์แท้จริงเสียแล้ว. เราไม่แจ้งว่าดาวดวงนั้นจะไปทางไหนด้วย, เช่นนั้นเป็นอันว่า เรามิได้เป็นสัพพัญญู. เพราะดาวเทพดวงนั้นจะมิได้ดับไปเหมือนความดับ คือ ความตาย ที่มีแก่ชีพอื่นทั้งหลาย ซึ่งแล้วไปเกิดใหม่ตามกรรมปรุงแต่งไว้ ดาวดวงนั้นไม่ยินดีรับแสงของเรา เพราะเห็นความสว่างในวิถีไหนหนอ? เช่นนั้นคงมีความสว่างที่รุ่งเรืองกว่าเรา อยู่ในวิถีตรงข้ามจากเรา เราควรจะถือเอาทางนั้นด้วย ดีหรือไม่หนอ?”

และในขณะเดียวกันนี้ ชีวาตมันแห่งเหล่าดาวเทพก็บังเกิดปริวิตกเช่นเดียวกันว่า-

“ดาวดวงนี้ถอยห่างจากอำนาจท้าวมหาพรหม, เช่นนั้นเป็นอันว่า ท้าวมหาพรหมมิได้ทรงสรรพศักดิ์. และอะไรหนอที่ส่องนำทางดาวดวงนั้น จนปรากฏว่าดาวนั้นไม่ไยดีต่อรัศมีท้าวมหาพรหม? ถ้าเช่นนั้น ต้องมีแสงอื่นอิกแห่งหนึ่ง ที่รุ่งเรืองดีกว่าแสงซึ่งเราได้รับความบันเทิงสุขอยู่ณบัดนี้, และอยู่ในวิถีทางที่ตรงข้ามจากเรา. เราควรจะไปทางนั้น ดีหรือไม่หนอ?

ฝ่ายท้าวมหาพรหม ทรงรำพึงว่า-

“เราตกลงใจแล้ว. ถ้ากระไร, เราพึงรวมรัศมีแห่งเรา ซึ่งซ่านไปทั่ววิศวากาศ คืนมาสู่ในเรา, แล้วให้จักรวาลเหล่านี้ทั้งหมดถึงแก่ประลัย เป็นกลางคืน ๆ หนึ่งของพรหมโลก. และเมื่อรวบรวมรัศมีมาอยู่ในเราแห่งเดียวหมดแล้ว, จักได้แผดรัศมีนั้นตรงไปที่ดาวเทพดวงนั้นโดยฉะเพาะ เพื่อรั้งให้กลับคืนมาอยู่ใหม่ในพรหมโลกจงได้.”

ครั้นแล้ว ท้าวมหาพรหมก็ทรงเรียกเอาบรรดารัศมีที่แผ่ไปทั่ววิศวากาศ. โลกานุโลกก็ถึงระยะการประลัย, เข้าสู่ความมืดแห่งพรหมราตรีกาลอีกคำรบหนึ่ง และท้าวมหาพรหมก็รวบรวมรัศมีให้มาอยู่ในที่แห่งเดียว ฉายพุ่งตรงไปที่กามนิต, อันเป็นแสงมีอำนาจพอที่จะให้สกลโลกนับด้วยแสนโกฏิลุกเป็นไฟ, แล้วให้รัศมีนั้น กลับคืนมาสู่พระองค์ และแผ่ปล่อยไปในวิศวากาศขึ้นเป็นคำรบใหม่

ถึงตอนนี้ ท้าวมหาพรหมควรทอดพระเนตรดาวกามนิตสุกสว่างขึ้น, กลับเห็นแสงริบหรี่หนักลงเรื่อยไปจนดับวูบไม่มีเหลือ.

ระวางกลางวิศวากาศอันหาเขตต์กำหนดมิได้ สกลจักรวาลานุจักรวาล เกิดขึ้นแล้วชั่วแล่นหนึ่ง ก็ประลัยลาญ, เกิดเป็นวันใหม่ของพรหมโลกเป็นวันหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าหนึ่งกัลป ส่วนกามนิตนักถือเอาซึ่งสัญจาริกเป็นบุณยวัตร ก็ดับรอบจริมจิตต์สิ้นเชื้อไปเอง, เหมือนแสงไฟในโคมที่ดับ เพราะหมดน้ำมันที่หล่อเลี้ยงไส้ไว้จนหยาดสุดท้าย ฉะนั้นแล.

อิติ

ศฺรีกามนีตสูตฺรํ สํปูรณม |

กามนิตสูตรบริบูรณ์โดยประสงค์แล.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ