สิบแปด ในห้องโถงช่างปั้นหม้อ

กามนิต ผู้จารึกแสวงบุณย์ ก็จบเรื่องลงด้วยประการฉะนี้, แล้วนิ่ง ตาเหม่อมองไปดูภูมิประเทศมีอาการตริตรอง.

ส่วนพระตถาคตเจ้า ก็มีพระอาการสงบนิ่ง ทอดพระเนตรภูมิประเทศเช่นเดียวกัน.

มองไปจะเห็นต้นไม้สูง บางต้นอยู่ใกล้ บางต้นห่างออกไป บ้างก็รวมกันเป็นกลุ่มดูเป็นก้อนดำมืดบ้างก็เห็นแต่รางๆ ดั่งก้อนเมฆ แล้วหายไปในหมอกที่อยู่ห่างไกลออกไป.

เวลานั้น ดวงเดือนอยู่พอดีตรงมุข ฉายแสงสว่างนวลเข้าไปถึงในบริเวณห้องภายนอกเหมือนกับผ้าขาวสามผืน ทาบแผ่นไว้บนสนามสีเขียว, ส่วนเสาทางด้านซ้าย เลื่อมสกาวราวกับบุด้วยเงินงาม.

ในเวลาดึกเงียบสงัดดั่งนี้ เสียงโคที่บดเอื้องหญ้าอยู่ในแห่งใดแห่งหนึ่งที่ถัดไป บางทีก็ได้ยินถนัดเป็นระยะ ๆ.

พระทศพลผู้ทรงพระอนาวรณญาณ ทรงเล็งเห็นประพฤติเหตุทั้งมวลนี้แจ้งจบ ว่าความจริงวาสิฏฐีมีความซื่อสัตย์อยู่ในกามนิตมาก. ที่ต้องแต่งงานกับสาตาเคียร ก็ไม่ใช่เป็นความผิดของนาง แต่เป็นเพราะบังคับและหลอกลวงด้วยอุบายทุจริต. นางเองเป็นผู้วานให้องคุลิมาลเข้าไปสืบในกรุงอุชเชนี. และเพราะองคุลิมาลไปคราวนั้นเอง กามนิตจึ่งละอาคารสถานถืออนาคริยเพศ ณ บัดนี้กำลังเดิรเข้าหาทางแห่งผู้จารึกแสวงบุณย์ แทนการที่ะจมดิ่งหนักลงไปในห้วงความเอ้อเฟ้อสนุกเพลิดเพลินอันเป็นโทษทุกข์มหาภัย. พระองค์จะควรตรัสบอกความที่วาสิฏฐีเป็นไปอยู่ในบัดนี้ ดีหรือไม่.

แต่ทรงเล็งเห็นอัธยาศัยกามนิตว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะทรงแจ้งให้เขาทราบ ด้วยยังใหม่ต่ออนาคาริยเพศอยู่ หากทราบเรื่องเข้าขณะนี้ กามกิเลสอันเพียงสงบอยู่ ก็อาจจะพล่านขึ้นทำลายความพยายามแสวงความหลุดพ้นต่อไป. เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึ่งตรัสกะกามนิต ในทางที่จะอุดหนุนกำลังมุ่งสละกามว่า “ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์. ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก เป็นทุกข์. นี่กล่าวตามความรู้สึกอย่างของท่านที่เป็นอยู่.”

กามนิต: “จริงทีเดียว เป็นความจริงที่ลึกซึ้งจริง ๆ. ข้าแต่อาคันตุกะ, ใครเป็นผู้กล่าวคำนี้?”

“ดูก่อนผู้จารึกแสวงบุณย์, ท่านอย่ากังวลถึงเลย. ถ้ารู้สึกเห็นว่าเป็นความจริงเช่นนั้น, จะเป็นใครกล่าวก็เท่ากัน.”

“เหตุไฉน ข้าพเจ้าจึ่งจะไม่รู้สึกเห็นเช่นนั้นเล่า? ถึงเป็นประโยคที่น้อยคำ, ก็มีความจริงในเรื่องทุกข์ของข้าพเจ้าอยู่หมด. ถ้าข้าพเจ้ายังไม่ได้เลือกครูเป็นศาสดาของตนแล้ว, ก็ไม่ขอเลือกคนอื่น เป็นต้องเลือกท่านผู้กล่าวถ้อยคำนั้น เป็นปฐม.”

“เช่นนั้น ท่านก็มีศาสดา ที่ท่านรับเอาคำสั่งสอนและปฏิบัติตามนั้นมาแล้ว.”

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ, ข้าพเจ้าออกมาถือเพศอย่างนี้ ความจริงมิได้ถือตามศาสดาอาจารย์ไหน. ออกจะตรงกันข้ามเสียอีกข้าพเจ้ามีความคิดในครั้งกระนั้น ตั้งใจแสวงหาความหลุดพ้นด้วยลำพังตนเอง. เมื่อพักร้อนเวลากลางวัน ในละแวกหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ณ รุกขมูล, หรือพักอยู่ในลำเนาอรัญ, ข้าพเจ้าเข้าฌานนเพ่งพินิจอย่างแรงกล้า. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ, ข้าพเจ้าตั้งสมาธิตริตรองขบปัญหาเหล่านี้: “อะไรคืออาตมัน? อะไรคือโลก? โลกคงที่ฤๅไม่? อาตมันคงที่ฤๅไม่? ฤๅว่าโลกไม่คงที่และอาตมันก็ไม่คงที่? ฤๅว่าอาตมันคงที่ แต่โลกไม่คงที่? ฤๅว่าโลกคงที่แต่อาตมันไม่คงที่? ทำไมมหาพรหมจึ่งบันดาลให้โลกออกจากพระองค์ไป? ถ้ามหาพรหมคือความบริสุทธิ์และความสุขอันเที่ยงแท้ไซร้, ไฉนโลกที่พระองค์สร้างจึ่งไม่บริสุทธิ์หมดจด และให้เกิดแต่ความทุกข์โทมนัสเล่า?

“ข้าพเจ้ายิ่งตรึกนึกถึงสิ่งเหล่านี้เช่นนี้ก็ไม่เห็นว่าจะได้บรรลุแจ้งซึ่งความจริง. ซ้ำตรงกันข้าม กลับมีความสงสัยเกิดขึ้นใหม่เสมอ: ไม่รู้สึกว่าได้เข้าใกล้เฉียดกรายความเห็นแจ้ง ซึ่งกุลบุตรยอมสละอาคารสถานออกแสวงหา, อย่างมากแม้ให้กะเถิบใกล้แต่ก้าวเดียว ก็หาไม่.”

พระตถาคต: “จริงทีเดียว, ผู้จารึกแสวงบุณย์, เหมือนอย่างผู้เดิรจะต้องการไปให้ถึงขอบฟ้า รำพึงว่า “ไฉนหนอจะได้ลุถึงในวันนี้หรือพรุ่งนี้ ซึ่งแนวที่กั้นเขตสายตาของเรา?” ผู้ใดคิดแต่ขบปัญหาอย่างของท่านเหล่านี้. ก็มีลักษณะหวังจะลุถึง เหมือนคนเดิรทางหวังจะไปให้ถึงขอบฟ้าฉะนั้น.”

กามนิต ผงกศีรษะ ตริตรองแล้วกล่าวต่อไปว่า -

“ครั้นมาวันหนึ่ง เวลาเมื่อเงาไม้ยืดยาวออกไปมากแล้ว ข้าพเจ้าไปถึงอาศรมแห่งหนึ่งในลำเนาป่า, ได้เห็นชายหนุ่มหลายคนนุ่งห่มขาวกำลังรีดนมโคอยู่ก็มี กำลังผ่าฟืน หรือล้างถังอยู่ที่พุลำธารก็มี. ในหอกลางของอาศรม มีพราหมณ์สูงอายุคนหนึ่งนั่งอยู่บนเสื่อ. และชายหนุ่มเหล่านั้นคงเป็นศิษย์เรียนลัทธิศาสนาอยู่ด้วย. พราหมณ์นั้นได้ปราศรัยปฏิสันถารข้าพเจ้าฉันไมตรี, บอกว่าระยะทางจากที่นั่นไปถึงบ้านหมู่แรก ก็เป็นเวลาเดิรไม่ถึงชั่วโมง, แต่ขอเชิญให้รับประทานอาหารพักแรมสักคืนหนึ่ง. ข้าพเจ้าเต็มใจรับคำเชิญด้วยรู้สึกขอบคุณ ก่อนที่ข้าพเจ้าจะนอนหลับ ได้ยินคำสอนของพราหมณ์ผู้นั้นที่ดีและน่าคิดก็หลายข้อ.

“รุ่งขึ้น เมื่อข้าพเจ้าจะลาไป, พราหมณ์ผู้นั้นไต่ถามว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้จารึกแสวงบุณย์, ใครเป็นศาสดาของท่าน? ผู้แนะนำให้ท่านออกแสวงหาความจริง ชื่อไร?’ ข้าพเจ้าก็ตอบอย่างที่ได้ตอบท่านผู้เจริญนี้. พราหมณ์พูดว่า ‘ท่านลุถึงความได้ไฉน เมื่อท่านเร่ร่อนไปแต่ผู้เดียวเหมือนนอแรด, ไม่เอาเยี่ยงช้างป่าที่ไปเป็นโขลง มีหัวหน้าที่เฉลียวฉลาดชำนาญเป็นผู้นำ?’

“เมื่อพูดถึงคำว่าโขลง แกมองดูพวกชายหนุ่มๆ ที่ยืนอยู่รอบข้าง, แต่เมื่อถึงคำว่าหัวหน้า ปรากฏว่ายิ้มด้วยความอิ่มเอมใจ.

“แกพูดต่อไปว่า ‘เรื่องอย่างนี้มีสภาพสูงและลึกซึ้งสุขุม เกินความคิดของบุคคลโดยลำพังจะคะเนเห็นได้. ถ้าไม่มีอาจารย์เป็นผู้บอก, ก็เป็นเหมือนตำราที่ไม่ได้เปิดออกดู. อีกประการหนึ่ง ในพระเวท, ตามที่ท่านเสวตเกตุสอนไว้, ว่า ‘ดูก่อนเจ้าผู้เป็นที่รัก, เปรียบเหมือนบุรุษผูกผ้าพันตาไว้, มีผู้พาจากแดนคันธาระ แล้วปล่อยไว้ในแดนมรุกกันดาร, ก็จะงมหาทางกลับไปเบื้องตะวันออกห่างไกลออกไปบ้าง หรือไปทางเหนือเลยเถิดไปบ้าง หรือสุ่มไปทางทิศใต้เริดไปบ้าง, เพราะถูกปิดตาพาไปแล้วจึ่งเปิดตาในที่ใหม่ ก็ย่อมจะหาทางกลับไม่ถูก. ต่อผู้ที่ไม่ถูกปิดตามาบอกทางให้ ว่าทางนั่นแน่ ไปแคว้นคันธาระ, ก็จะไปตามที่เขาบอก แล้วถามตามหมู่บ้านที่ระทางมา ก็จะถึงบ้าน, ได้ความรู้โดยตรงเกิดสติปัญญามากขึ้นอีก. เรื่องนี้มีอุปมาฉันใด. บุคคลที่มีครูแนะทางให้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น.’

“ข้าพเจ้าเห็นได้ทันทีว่า ที่พราหมณ์พูดนี้ จะเกลี้ยกล่อมให้ขอฝากตนเป็นศิษย์, ข้อที่แกทำทีชักชวน กลับทำลายความนับถือแห่งข้าพเจ้า. เพราะความในพระเวทบทหนึ่งที่ยังเจนใจข้าพเจ้ามีว่า ‘ศาสดาย่อมไม่กระหายอยากได้ศิษย์; แต่ศิษย์ต้องกระหายอยากได้ศาสดาเอง.’ ตามนี้ซึ่งผิดกันตรงกันข้ามจากลักษณะพราหมณ์คนนี้นี่กระไร. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ, ข้าพเจ้าอยากได้ศาสดาผู้พ้นแล้วจากความร่านกระหายเช่นนั้น.”

“ก็ใครเล่า ที่ท่านยกย่องกระหายอยากให้เป็นศาสดา? มีนามว่าอย่างไร?”

“ข้าแต่ภราดา*128 ผู้ซึ่งข้าพเจ้าอยากให้เป็นศาสดานั้น คือพระสมณโคดมศากยบุตรผู้สละสมบัติแห่งศากยราชออกบรรพชาแล้ว. พระสมณโคดมพระองค์นี้ มีเกียรติศัพท์อันดีงามเฟื่องฟุ้งทั่วไปว่า เป็นพระผู้ซึ่งไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า, เป็นพระอรหันต์, เป็นผู้บริสุทธิ์รู้แจ้งในสิ่งทั้งปวง, เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์, เป็นผู้ตรัสรู้มีปรีชาสามารถ. คือพระพุทธเจ้า. ที่ข้าพเจ้าเดิรทางมานี้ก็เพื่อจะเฝ้าพระผู้ซึ่งไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า และถวายตนเป็นศิษย์.”

“ดูก่อนผู้จารึกแสวงบุณย์, ก็พระผู้ซึ่งไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นผู้ตรัสรู้แล้วนั้น บัดนี้อยู่ ณ ที่ไหน ?”

“ข้าแต่ภราดา, อยู่ไกลไปทางเหนือในจังหวัดสาวัตถีแคว้นโกศล ถัดกรุงสาวัตถีออกไปหน่อย มีสวนเชตวันอุดมด้วยป่าไม้ร่มรื่น ห่างไกลจากเสียงเกรียวกราวหนวกหูต่างๆ สมควรผู้ทำความเพียรจะบำเพ็ญภาวนาได้, สระมีน้ำใสปานแก้วส่งละอองไอขึ้นมาให้สัมผัสความชื่นเย็น, และตอนที่เป็นทุ่ง ก็เขียวชะอุ่มเดียรดาษด้วยดอกไม้ต่าง ๆ สล้างสีนับไม่ถ้วนอย่าง. หลายปีมาแล้ว เศรษฐีชื่ออนาถบิณฑิก ซื้อสวนนี้จากเจ้าเชต ด้วยราคาเงินเป็นอันมาก ถวายเป็นพุทธนิวาสนสถาน. ณ เชตวันอันร่มรื่นมีทุ่งว่าง ซึ่งนักปราชญ์ผู้มีสติปัญญาเป็นอันมากได้เคยผ่านเข้าไปแล้วนั้น ในเวลานี้พระพุทธองค์ประทับอยู่. และข้าพเจ้าก็หวังอยู่ว่า ถ้าขะมักเขม้นเดิรทางจากที่นี่ในเวลาราวสักสี่สัปดาห์ก็จะถึงจังหวัดสาวัตถี แล้วจะได้เข้าเฝ้าแทบเบื้องพระบาทมูล.”

“ดูก่อนผู้จารึกแสวงบุณย์, ท่านเคยเห็นพระผู้มีพระภาคนั้นมาแล้วหรือ? ถ้าท่านเห็น, จะจำได้หรือไม่?”

“ภราดา, ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า. ถ้าข้าพเจ้าเห็น, ก็คงไม่รู้จักพระองค์.”

ครั้นแล้วพระศาสดา ทรงรำพึงว่า “ผู้จารึกแสวงบุณย์คนนี้เดิรทางจะไปหาเรา ได้ตั้งใจอุทิศตัวจะมาเป็นสาวกของเรา ถ้ากะไรเราพึงเทศนาหลักพระธรรมให้ฟังบ้าง, แม้อินทรีย์ยังไม่แก่กล้าก็พอเป็นอุปนิสัย;” แล้วหันพระพักตร์ตรงมายังกามนิต ตรัสว่า -

“ดวงเดือนเพิ่งจะขึ้นมาตรงมุขบ้าน, เวลากลางคืนยังอีกยาวนาน. การนอนมากนักย่อมทำให้เซื่อมซึม. เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความรังเกียจ, เราจะแสดงธรรมของพระพุทธเจ้านั้น เป็นปฏิการแก่ประวัติที่ท่านเล่าให้ฟัง.”

“ข้าแต่ภราดา, ข้าพเจ้าต้องการอย่างนั้นอยู่แล้ว โปรดแสดงเถิด.”

“ดูก่อนผู้จารึกแสวงบุณย์, ถ้ากระนั้นจงสดับธรรมที่จะแสดงต่อไปนี้, กระทำในใจให้ดีเถิด.”

๏ ๏ ๏

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ