- คำนำ
- ภาคหนึ่ง บนดิน
- หนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จกลับเบญจคีรีนคร
- สอง พบ
- สาม สู่ฝั่งแม่คงคา
- สี่ สาวน้อยผู้เดาะคลี
- ห้า รูปวิเศษ
- หก บนลานอโศก
- เจ็ด ในหุบเขา
- แปด ดอกฟ้า
- เก้า ใต้ดาวโจร
- สิบ รหัสยลัทธิ
- สิบเอ็ด งวงช้าง
- สิบสอง ที่ฝังศพของวาชศรพ
- สิบสาม เพื่อนบุณย์
- สิบสี่ ผู้เป็นสามี
- สิบห้า ภิกษุโล้น
- สิบหก เตรียมรับมือ
- สิบเจ็ด สู่ความเป็นผู้ละบ้านเรือน
- สิบแปด ในห้องโถงช่างปั้นหม้อ
- สิบเก้า พระศาสดา
- ยี่สิบ เด็กดื้อ
- ยี่สิบเอ็ด ในท่ามกลางความเป็นไป
- ภาคสอง - บนสวรรค์
- ยี่สิบสอง ภูมิสุขาวดี
- ยี่สิบสาม การต้อนรับแห่งชาวสวรรค์
- ยี่สิบสี่ ต้นปาริชาต
- ยี่สิบห้า บัวบาน
- ยี่สิบหก สร้อยแก้วตาเสือ
- ยี่สิบเจ็ด สัจจกิริยา
- ยี่สิบแปด บนฝั่งคงคาสวรรค์
- ยี่สิบเก้า ท่ามกลางกลิ่นหอมแห่งดอกปาริชาต
- สามสิบ มีเกิดก็มีตาย
- สามสิบเอ็ด ปิศาจที่บนลาน
- สามสิบสอง สาตาเคียร
- สามสิบสาม องคุลีมาล
- สามสิบสี่ นรกหอก
- สามสิบห้า การบูชาอันบริศุทธิ์
- สามสิบหก พระพุทธและพระกฤษณ
- สามสิบเจ็ด ดอกฟ้าเหี่ยว
- สามสิบแปด พรหมโลก
- สามสิบเก้า ความมืดแห่งโลกานุโลก
- สี่สิบ ในสุมทุมพุ่มไม้พระกฤษณ์
- สี่สิบเอ็ด โอวาทอย่างง่ายๆ
- สี่สิบสอง ภิกษุณีอาพาธ
- สี่สิบสาม มหาปรินิพพาน
- สี่สิบสี่ พินัยกรรมวาสิฏฐี
- สี่สิบห้า กลางคืนและรุ่งเช้าในสกลจักรวาล
หนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จกลับเบญจคีรีนคร
“ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้: สมัยหนึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จลงมาตรัสในมนุษยโลกแล้ว และถึงวาระอันควรจะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน, พระองค์ได้เสด็จสู่ที่จารึกในคามนิคมชนบทราชธานีต่างๆ แห่งแคว้นมคธ จนบรรลุกรุงราชคฤหมหานคร.”
ข้อความในพระสูตรเป็นดั่งนี้.
๏ ๏ ๏
ขณะพระองค์เสด็จมาใกล้เบญจคีรีนครคือราชคฤห เป็นเวลาจวนสิ้นทิวาวาร. แดดในยามเย็นกำลังอ่อนลงสู่สมัยใกล้วิกาล ทอแสงแผ่ซ่านไปยังศาลีเกษตรแลละลิ่วเห็นเป็นทางสว่างไปทั่วประเทศสุดสายตา ดูประหนึ่งมีหัตถ์ทิพย์มาปกแผ่อำนวยสวัสดี เบื้องบนมีกลุ่มเมฆเป็นคลื่นซ้อนซับสลับกันเป็นทิวแถว ต้องแสงแดดจับเป็นสีระยับวะวับแววประหนึ่งเอาทรายทองไปโปรยปราย เลื่อนลอยลิ่ว ๆ เรี่ย ๆ รายลงจดขอบฟ้า. ชาวนาและโคก็เมื่อยล้าด้วยตรากตรำทำงาน ต่างพากันดุ่มๆ เดิรกลับเคหสถานเห็นไร ๆ. เงาหมู่ไม้อันโดดเดี่ยวอยู่กอเดียว ก็ยืดยาวออกทุกที ๆ มีขอบปริมณฑลเป็นรัศมีแห่งสีรุ้ง. อันกำแพงเชิงเทินป้อมปราการที่ล้อมกรุง รวมทั้งทวารบถทางเข้านครเล่า มองดูในขณะนั้นเห็นรูปเค้าได้ชัดถนัดแจ้งดั่งว่านิรมิตไว้ มีสุมทุ่มพุ่มไม้ดอกออกดกโอบอ้อมล้อมแน่นเป็นขนัด. ถัดไปเป็นทิวเขาสูงตระหง่าน มีสีในเวลาตะวันยอแสงปานจะฉายเอาไว้เพื่อแข่งกับแสงสีมณีวิเศษ มีบุษยราคบัณฑวรรณและก่องแก้วโกเมน แม้รวมกันให้พ่ายแพ้ฉะนั้น.
พระตถาคตเจ้าทอดพระเนตรภูมิประเทศดั่งนี้ พลางรอพระบาทยุคลหยุดเสด็จพระดำเนิร มีพระหฤทัยเปี่ยมด้วยโสมนัสสอินทรีย์ในภูมิ์ภาพที่ทรงจำมาได้แต่กาลก่อน เช่นยอดเขากาฬกูฏไวบูลยบรรพต อิสีคิลิ และคิชฌกูฏ ซึ่งสูงตระหง่านกว่ายอดอื่น. ยิ่งกว่านี้ ทรงทอดทัศนาเห็นเขาเวภาระอันมีกระแสธารน้ำร้อน, ก็ทรงระลึกถึงคูหาใต้ต้นสัตตบรรณอันอยู่เชิงเขานั้น, ว่าเมื่อพระองค์ยังเสด็จสัญจรร่อนเร่แต่โดยเดียว แสวงหาพระอภิสัมโพธิญาณ ได้เคยประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ในที่นั้นเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะเสด็จออกจากสังสารวัฏฏ์ เข้าสู่แดนศิวโมกษปรินิพพาน.
สมัยเมื่อล่วงแล้วแต่ปางหลัง ครั้งยังมีพระชนมายุอยู่ในพระเยาวกาล เมื่อพระเกศายังดำเป็นมันขลับ เสวยอิฐารมณ์ผงมต่อความบันเทิงสุขโดยอุดมอันควรแก่ผู้อยู่ในวันหนุ่มนั้น, พระองค์ยังทรงสละสรรพสุขศฤงคารเสียได้แล้ว เสด็จออกจากพระราชสกุลวงศ์แห่งศากยชนบทในอุตตรประเทศ เข้าสู่เขตต์ลุ่มน้ำแม่คงคา บรรลุถึงเชิงเวภารบรรพตอันสูงลิ่ว ได้เสด็จประทับอยู่ที่นั้นเป็นปฐมกาลตลอดเวลาได้ช้านาน และเสด็จภิกขาจารในกรุงราชคฤห์ทุกบุพพัณหเวลา.
สมัยนั้น และในคูหานั้น พระเจ้าพิมสิสารท้าวพญาแห่งมคธราษฎร์ ได้เสด็จมาเฝ้าเยี่ยมพระองค์ ทรงอ้อนวอนอัญเชิญเสด็จให้กลับคืนแคว้นศากยะ เพื่อเสวยความสุขแห่งโลก. แต่พระตถาคตมิทรงหวั่นไหว กลับประทานพระธรรมเทศนา, จนพระเจ้าพิมพิสารบังเกิดความเลื่อมในศรัทธราในพระสัทธรรม ต่อมาได้เป็นอุบาสกสำคัญของพระพุทธองค์เจ้า.
นับแต่นั้นมาจนถึงเวลาที่กล่าวนี้ ล่วงได้ ๕๐ ปีบริบูรณ์แล้ว ระวาง ๕๐ ปีนั้น มิใช่จะเพียงทรงเปลี่ยนแปลงพระองค์ จากความเป็นผู้แสวงหาความจริง จนได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ, ยังทรงบันดาลให้ความมีความเป็นแห่งสังสารโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย. อดีตกาลเมื่อเสด็จประทับอาศัยอยู่ในถ้ำใต้ต้นสัตตบรรณครั้งกระโน้น ถ้าเทียบกับครั้งกระนี้ ดูผิดกันห่างไกลนักหนา. ครั้งกระโน้น พระองค์เป็นผู้แสวงหาความหลุดพ้นทุกข์, ต้องต่อสู้กับกิเลสมารอันหนาแน่น, ต้องกระทำทุกกรกิริยา ซึ่งมนุษย์อื่นที่แกล้วกล้าสามารถก็ย่อท้อทำไม่ได้, จนภายหลังทรงเห็นแจ้งซึ่งสังสารทุกข์ เสด็จออกจากทุกข์แล้ว ได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. อันความเป็นไปของพระองค์ครั้งกระโน้นตลอดมาจนครั้งกระนี้ ก็เหมือนดั่งกลางวันในฤดูฝน พอรุ่งเช้ามีแสงแดดแผดจ้า, แล้วนภากาศพะยับอับแสง, เกิดพายุแรงฟ้าคะนองก้องสะท้านซ่านด้วยเม็ดฝน; ครั้นแล้ว ท้องฟ้าก็หายมืดมนกลับสว่างสงบเงียบ, มีวิเวกเหมือนภูมิประเทศในยามเย็นที่กล่าวแล้ว, จนกว่าพระอาทิตย์จะอัสดงดิ่งหายไปในขอบฟ้า.
อันว่าพระอาทิตย์จะอัสดงลงฉันใด, สำหรับพระตถาคตในขณะนี้ก็มีฉันนั้น พระองค์ได้ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้เห็นแจ้งซึ่งกองทุกข์, ทรงแสดงพระธรรมอันแท้จริงให้แจ้งประจักษ์, และประทานหลักความหลุดพ้นจากทุกข์แก่มนุษยนิกรทั่วโลกธาตุ; มีบริษัทสี่เป็นผู้สืบศาสโนวาทเผยแผ่พระธรรมของพระองค์ให้แพร่หลาย และประพฤติปฏิบัติด้วยกายวาจาใจ รักษาไว้ตลอดจิรกาลาวสาน.
แม้เมื่อพระองค์เสด็จประทับยืนอยู่ขณะนั้น, ก็ได้ทรงจินตนาการอันเกิดขึ้นด้วยพระปริวิตกถึงที่ได้เสด็จมาโดดเดี่ยวตลอดวัน ว่า “ถึงเวลาแล้ว ในไม่ช้าเราก็จะละสังสารนี้ไป คือสังสาระซึ่งเราได้ถ่ายถอนตนหลุดพ้นแล้ว ตลอดจนยังผู้ที่มาในภายหลังให้หลุดพ้นด้วย แล้วเข้าสู่ความดับสนิทด้วยอำนาจแห่งปรินิพพานธาตุ.”
พระตถาคตทอดทรรศนาการภูมิประเทศอันแผ่ไพศาลอยู่ฉะเพาะพระพักตร์ แล้วตรัสว่า “ดูก่อนราชคฤหอันเป็นนครแห่งเบญจคีรี มีปริมณฑลงดงามตระการ อุดมด้วยนาศาลีและมหาศิงขร อันน่าเบิกบานหฤทัย เราได้แลดูในครั้งนี้เป็นปัจฉิมทรรศนาการ;” ตรัสแล้วก็ยังประทับอยู่ณที่นั้น, จนภูมิประเทศที่ค่อยเลือน ๆ ลงในยามเย็น คงเหลือให้เห็นเด่นชัดแต่อุดมสถานอยู่สองแห่ง ที่ต้องแสงแดดดังดาดด้วยทองคำ. แห่งหนึ่งคือปราสาทของพระเจ้าพิมพิสาร, เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงอยู่ในวัยเป็นภิกษุหนุ่ม ซึ่งยังไม่มีใครรู้จัก ได้เคยเสด็จผ่านไปทางนั้น, พระเจ้าแห่งแคว้นมคธ คือพญาพิมพิสาร ทอดพระเนตรเห็นพระองค์เป็นครั้งแรก โดยเหตุที่พระองค์มีพระลักษณาการดั่งสีหดำเนิร. สถานที่อีกแห่งหนึ่งคือยอดหลังคาเทวสถาน ซึ่งแต่ก่อน ๆ มา เมื่อพระองค์ยังมิได้ประทานพระธรรมเทศนาแก่มนุษยนิกรให้พ้นจากทารุณพิธี เคยเป็นสถานที่พลีชีวิตสัตว์อันหาความมิได้ นับจำนวนเป็นพัน ๆ เพื่อบูชายัญเทวรูปที่ในนั้น. บัดเดี๋ยวใจยอดปราสาทและยอดหลังคาเทวสถานก็เลือนหายเข้าสู่ความมืดแห่งสายัณหสนธยา. ขณะนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นสถานที่ซึ่งพระองค์กำลังจะเสด็จไปอยู่นี้ กล่าวคือทางยอดแห่งพุ่มไม้อยู่ลิบ ๆ เบื้องพระพักตร์โพ้น เป็นป่ามะม่วงที่หมอชีวกแพทย์หลวงของพญาพิมพิสาร อุททิศถวายเป็นที่ประทับของพระตถาคต.
ณป่ามะม่วงนี้ พระตถาคตตรัสให้พระอานนท์พุทธอุปฐากนำพระสาวกประมาณ ๒๐๐ ล่วงหน้าไปก่อน ด้วยพระองค์มีพระพุทธประสงค์จะแสวงหาความวิเวกในวันนั้น, แล้วจึ่งจะเสด็จดำเนิรตามไปภายหลัง. พระองค์ทรงทราบอยู่ว่ายังมีพระภิกษุหมู่หนึ่งจากเบื้องตะวันตก มีพระศารีบุตรอัครสาวกเป็นประธาน ก็จะมาสู่ป่ามะม่วงในเวลาเย็นวันนั้นด้วย. โดยเหตุที่มีพระพุทธประสงค์ปวิเวกธรรม จึ่งตั้งพระหฤทัยจะไม่เสด็จกลับไปให้ถึงป่ามะม่วงในเย็นวันนั้น, จะทรงแสวงหาที่แรมในชั่วราตรีตามละแวกบ้านแถวนั้นก่อน.
ระวางนั้น ขอบฟ้าทางเบื้องตะวันตาเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีดำหลัวขมุกขมัวลง, ภูมิประเทศโดยรอบมืดตามลงทุกที. ค้างคาวที่เกี่ยวเกาะบนต้นรังเห็นดำถมึนทึน ตกใจด้วยได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดิรมา, ก็ปล่อยเท้าที่เกาะแล้วกางปีกบินถาร้องเสียงแหลมหายไปทางสวนผลไม้ในแถวนั้น.
เมื่อตถาคตเสด็จบทจรมากว่าจะถึงละแวกพระนคร ก็มืดค่ำลงแล้ว ด้วยประการฉะนี้.