สามสิบสี่ นรกหอก

องคุลิมาลเริ่มเล่าเรื่องให้ฟังว่า-

วันนี้เวลารุ่งแล้ว ล่วงมาสักสองสามชั่วโมง ฉันยืนอยู่ที่ราวป่าจ้องดูไปทางหอคอยกรุงโกสัมพี ในใจอักอ่วนป่วนปั่นอยู่ด้วยการคุมแค้นพยาบาทสาตาเคียร. นึกถามตนเองว่า เธอจะนำข่าวที่ต้องการมาให้ทราบได้หรือไม่หนอ. ขณะนั้น ตามทางที่แล่นออกจากประตูเมืองด้านตะวันออกมาสู่ป่านี้ มีชายคนหนึ่งนุ่งห่มผ้าสีเหลือง เดิรสาวก้าวมาโดดเดี่ยว สองข้างทางมีพวกเลี้ยงปศุสัตว์และชาวบ้านนอกกรุงกำลังสาละวนทำงานหาเลี้ยงชีพกันอยู่. ฉันสังเกตเห็นคนเหล่านั้นที่อยู่ใกล้ถนน ตะโกนบอกอะไรแก่ชายสัญจรโดดเดี่ยวคนนั้น. ส่วนผู้ที่อยู่ห่างถนนลึกเข้าไป ก็หยุดทำงานเอามือชี้และมองดูชายคนนั้น. พวกที่อยู่ใกล้ เห็นชายโดดเดี่ยวยังเดิรต่อไป ก็วิ่งไปบอกให้หยุด, บางคนถึงกับยึดชายผ้าไว้ไม่ให้ไป ทำท่าตกใจชี้ไม้ชี้มือไปทางป่า ฉันเกือบจะอ่านกิริยาอาการแห่งพวกนั้นออกว่า “อย่าไป, อย่าเลยเข้าไป, อย่าเข้าไปในป่า องคุลิมาลโจรร้ายมีซ่องอยู่ในนั้น”

แต่ชายสัญจรก็ยังเดิรต่อไปไม่มีกิริยาหวั่นหวาด มุ่งตรงไปทางป่าท่าเดียว. บัดนี้ฉันเห็นรูปร่างได้ถนัด เป็นนักบวชโกนผมศีรษะโล้น อยู่ในนิกายที่เรียกว่าศากยบุตร เป็นคนมีอายุแต่ท่าทางผึ่งผาย.

ฉันก็คิดว่า แปลกจริง ๆ บนถนนนี้ อย่าว่าแต่คนเดียว, ต่อให้สิบคน สามสิบคน หรือยิ่งขึ้นไปตั้งห้าสิบคน รวมกันมา มีอาวุธครบตัว ขืนเดิรมาทางนี้ เป็นต้องตกอยู่ในอำนาจเราทั้งสิ้น. แต่นี่ไฉนหนอ นักบวชรูปนี้จึ่งถือดีกล้าเดิรมาแต่ผู้เดียว คล้ายกับเป็นผู้มีชัยชะนะ?

ฉันเห็นว่าที่บังอาจบุกรุกมาอย่างทะนงตัวนี้ เท่ากับลูบคมดูถูกกัน จะต้องให้เห็นฝีมือเสียบ้าง, และยังนึกอยู่ว่า อาจเป็นคนสืบข่าวที่สาตาเคียรส่งมาก็ได้. เมื่อคิดตกลงใจ ก็คว้าหอกหยิบคันธนูและแล่งสะพายบ่า ออกจากป่าขึ้นไปบนถนนด้อมตามนักบวชรูปนั้น ซึ่งในขณะนั้นเข้าไปถึงป่าแล้ว.

ครั้นมาถึงที่เหมาะแห่งหนึ่ง ไม่มีต้นไม้กีดกัน ฉันก็ปลดคันธนูออกจากบ่า ขึ้นลูกจ้องยิงเล็งให้ถูกตรงสันหลังด้านซ้ายให้ทะลุถึงหัวใจ. ลูกธนูลั่นหวือข้ามศีรษะนักบวชไป.

เมื่อลูกธนูไม่ดีผิดที่หมาย จึ่งเลือกลูกใหม่ที่เห็นว่าได้ส่วนสัด มีขนนกกระจายงาม จ้องยิ่งให้ถูกคอ. แต่ลูกธนูกลับแล่นไปปักติดต้นไม้ข้างซ้ายของนักบวช. ชักลูกยิงใหม่ ทีนี้แกว่งไปทางขวาไม่ถูกที่หมาย. ผิดไปพลาดมาอย่างนี้จนลูกธนูหมดแล่งเปล่า.

ฉันเห็นผิดใจ แปลกประหลาดเหลือเกิน เคยยิงได้แม่นยำ, จะพลิกแพลงยิงอย่างไรไม่เคยผิดพลาด, ถึงนกอินทรีบินเร็วที่สุดก็ยังยิงถูก. วันนี้มือเป็นอะไรไปหนอ?

ระวางนั้น นักบวชเดิรขึ้นหน้าไประยะไกล, ฉันต้องวิ่งไล่ตามหมายจะฆ่าเสียด้วยหอก. ครั้นไล่เข้าไปทันใกล้กันระยะเพียงสิบก้าวก็เข้าไปใกล้อิกไม่ได้ จะวิ่งให้เร็วที่สุด ก็ไม่เลยระยะนั้นเข้าไปได้. ส่วนนักบวชรูปนั้น ดูก็เดิรตามปกติอย่างสบายไม่ได้รีบเร่งอะไร.

ครั้นแล้วฉันจึ่งนึกว่า น่าประหลาดจริง ๆ, เกิดมาไม่เคยเห็นเช่นนี้. เคยไล่ช้างไล่กวางที่วิ่งหนีไปอย่างรวดเร็วก็ทัน. แต่นี่นักบวชรูปนั้นเดิรตามปกติ และเราวิ่งเต็มฝีเท้าด้วยซ้ำทำไมจึ่งไล่ไม่ทัน. เท้าเป็นอะไรไปหนอในวันนี้?

ฉันหยุดแล้วตะโกนสั่งนักบวชรูปนั้นว่า

“หยุดนา! พระ, หยุด!”

นักบวชยังเดิรเฉยเรื่อยไป แต่หันมาบอกว่า

“องคุลิมาล เราหยุดแล้ว ท่านควรหยุดนิ่งเสียด้วย.”

ฉันประหลาดใจซ้ำลงไปอิก นึกว่า ดีร้ายนักบวชนี้ คงอาศัยสัจจกิริยาอะไรอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ยิงไม่ถูกตัวแคล้วคลาดไปหมด วิ่งไล่ก็ไม่ทัน. แต่นี่ไฉนหนอจึ่งแสร้งกล่าวเท็จซึ่ง ๆ หน้า ว่าตนหยุดนิ่งอยู่ ทั้งที่เราเห็นกับตาว่า แกยังเดิรดุ่ม ๆ อยู่ - ส่วนตัวเราสิหยุดยืนหอบอยู่กับที่ เข้าคู้กับต้นไม้ต้นนี้เห็นอยู่โต้งๆ, ยังมีหน้าพูดว่าเราไม่ได้หยุด คิดดูเหมือนนกที่บินอยู่ บอกต้นไม้ว่า “ต้นไม้, เราหยุดนิ่งแล้ว, แต่สูท่านยังไม่หยุดนิ่ง.” แปลกจริง ! คงมีอะไรลึกลับอย่างหนึ่งในคำพูดนี้, บางทีจะมีประโยชน์แก่เรา ที่จะได้ข้อรหัสย์กถาอาคมไว้ใช้บ้าง, ดีกว่าจะฆ่าเสีย.

นึกแล้ว จึ่งร้องตอบว่า -

“ก็ท่านยังเดิรอยู่ ทำไมจึ่งบอกว่าหยุดเล่า? ส่วนตัวเราหยุดแล้ว, ท่านไพล่บอกว่ายังเดิรอยู่. ดูก่อนพระ โปรดอธิบายให้ฟังว่า ที่ว่าท่านหยุดนิ่งอยู่นั้นเป็นอย่างไร, และตัวเราไม่ได้ยืนนิ่งอยู่ดอกหรือ?”

นักบวชตอบว่า “เราผู้มิได้ทำเวรภัยในสรรพสัตว์ คือหยุดแล้ว ไม่เร่ร่อนไปอีก แต่ตัวท่านนั้น เป็นผู้มีใจมุ่งร้ายต่อสรรพสัตว์ทุกขณะจิตต์ ต้องเร่ร่อนเพราะอกุศลกรรมไม่มีเวลาหยุด รับทุกข์ทรมานจากที่หนึ่งแล้ว ต้องไปสู่อิกที่หนึ่งเรื่อยไป”

ฉันตอบว่า “ที่เราเป็นผู้เร่ร่อนอยู่เป็นนิตย์ ความข้อนี้ก็เคยได้ยิน. แต่ว่าหยุดนิ่งอยู่ ไม่เร่ร่อนไปอีกนั้น ยังไม่เข้าใจ. เออท่านพระ, โปรดชี้แจงเหตุผลที่ได้กล่าวรวมยอดสองสามคำเมื่อกี้นี้ให้เข้าใจแจ่มแจ้งด้วย เชิญดู. ข้าพเจ้าวางหอกลงแล้ว, และขอปฏิญญาศาบานที่จะให้อภัยในชีวิตท่านเพื่อศานติสุข.”

นักบวชตอบว่า “องคุลิมาล, ท่านได้กระทำปฏิญญาเป็นครั้งที่สองแล้ว.”

“เป็นครั้งที่สอง?”

“ครั้งที่หนึ่ง เมื่อครั้งให้สัจจกิริยาอันเป็นเท็จ.”

น่าพิศวงจริง ที่นักบวชนี้ก็แจ้งความลับครั้งนั้น, แต่ฉันมีสติทันไม่หยุดชะงักพิศวงให้เป็นพิรุธ รีบป้องกันการกระทำ ด้วยอุบายที่ฉันเห็นว่าเป็นอย่างฉลาดทันที, ได้ตอบว่า-

“ข้าแต่ท่านพระ, วาจาที่ให้สัตย์ปัฏิญญาครั้งนั้นมีความเป็นสองนัย ถ้าแปลกันตามคำที่กล่าวออกไป, ก็ไม่เป็นคำศาบานที่เป็นเท็จ, เป็นแต่ใช้โวหารที่ผู้ฟังไม่มีเชาวน์แล้วเข้าใจผิดเป็นอย่างอื่นไปได้. แต่ที่ข้าพเจ้าให้สัตย์ปฏิญญาครั้งนี้เป็นความจริง ทั้งแปลตามคำและแปลตามสำนวนทั้งสองประการ.”

“ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะท่านจะให้ศานติสุขแก่เราไม่ได้. ถ้าเราจะให้ศานติสุขแก่ท่านจึ่งจะเป็นการถูกต้อง.”

เมื่อนักบวชนั้นพูดดั่งนี้แล้ว ก็แสดงอาการเป็นมิตรภาพ บอกให้ฉันเข้าไปหา. ฉันเข้าไปด้วยความเคารพ.

เธอนั่งลงตรงร่มไม้ใหญ่ บอกให้ฉันนั่งแทบเบื้องบาท แล้วก็ตั้งต้นสั่งสอน ถึงเรื่องบุณย์บาปมีผลตามสนองเป็นไปอย่างไร ได้ชี้แจงให้ฟังอย่างง่าย ๆ ชัดเจน และแจ่มแจ้งทุกแง่ทุกเงื่อน เท่ากับอธิบายแก่เด็ก ๆ. เพราะความจริง ตัวฉันไม่เคยเล่าเรียนอรรถธรรมมาเลย, ไม่เหมือนกับศิษย์นักบวชอื่น ๆ ซึ่งตามธรรมดาเป็นบุตรพราหมณ์ ย่อมได้รับการศึกษามีความรู้ในพระเวทมาแล้ว. ส่วนตัวฉันตั้งแต่เกิดมา เคยได้ฟังความรู้ที่จับอกจับใจไม่หายก็ครั้งเดียว คือเมื่อครั้งนั่งอยู่ปลายบาทวาชศรพที่ในป่าคืนหนึ่ง และฟังคำสั่งสอนของท่านผู้นั้น ซึ่งดูเหมือนฉันได้เคยเอ่ยชื่อแก่เธอมาแล้ว, ครั้นมาได้ฟังคำสั่งสอนของนักบวชรูปนี้ รู้สึกข้อความสุขุมกินใจซาบซึ้งเหลือเกิน. ท่านชี้แจงว่า ที่บุุคคลต้องไปเกิดที่นั่นที่นี่ ในโลกมนุษย์บ้าง ในสวรรค์บ้างและในนรกบ้าง เพราะกรรมเท่านั้น เป็นเหตุปรุงแต่งให้ไปเกิด หาใช่เพราะอำนาจเด็ดขาดที่มาจากสวรรค์ไม่ คำอธิบายนี้ผิดกว่าที่วาชศรพได้เคยสั่งสอน เป็นการตรงกันข้าม. วาชศรพพิสูจน์ให้เห็นอย่างง่าย ๆ และอ้างอิงพระคัมภีร์เป็นหลักว่าไม่มีนรก, ที่กล่าวถึงนรกในพระคัมภีร์เป็นของคนขลาดแทรกเสริมเติมขึ้นใหม่ เพื่อขู่ให้ผู้มีใจเหี้ยมหาญเกิดกลัวไม่กล้าทำร้ายตัว ซึ่งเป็นความคิดขลาดอ่อนแอ ที่วาชศรพอธิบายอย่างนี้ ฉันเองก็ไม่สู้เลื่อมใสเห็นจริงไปหมด จึ่งเกิดความสงศัยว่า นักบวชผู้นี้จะสามารถทำให้ฉันเกิดความเลื่อมใสได้ละหรือ? นี่ก็เห็นอยู่ทนโท่ว่าเป็นความเห็นแย้งความเห็น, ปราชญ์ต่อปราชญ์แย้งกัน. ถึงหากว่านักบวชนี้ จะเป็นสาวกสำคัญผู้ใดผู้หนึ่งของพระศากยบุตรก็ตามที, แต่วาชศรพ ก็มีศิษย์ที่นับถือเลื่อมใสอยู่มาก. ถึงเวลานี้วาชศรพจะดับขันธ์ไปแล้ว, สามัญชนก็ยังเซ่นบูชาถือว่าเป็นผู้สำเร็จผู้หนึ่ง. เมื่อเช่นนี้ ใครเล่าจะเป็นผู้ตัดสินว่าคำสั่งสอนของฝ่ายไหนผิดและถูก?

กำลังนึกอย่างนี้ นักบวชผู้นั้นก็เตือนว่า “องคุลิมาล, ท่านมิได้ตั้งใจฟังคำที่เราพูด, กำลังไปนึกถึงวาชศรพและลัทธิที่เห็นผิดของเขา.”

ฉันตกตะลึง, ยอมรับตามความจริงที่นึกอย่างนั้น, และถามว่า “ข้าแต่อริยะ, ท่านรู้จักวาชศรพสหายของข้าพเจ้าด้วยหรือ?”

“มีผู้ชี้ให้ดูหลุมศพที่นอกประตูเมือง แต่ก็มีคนเดิรทางที่โง่เขลาไปเซ่นไหว้อ้อนวอนนับถือว่าเป็นผู้สำเร็จอรหันต์.”

“เช่นนั้น ไม่ใช่อรหันต์ดอกหรือ?”

“นั่นแหละ ถ้าท่านว่าเขาเป็นอรหันต์ผู้หนึ่ง, ก็ควรจะไปเยี่ยมกรายดู ว่าในเวลานี้เสวยผลความเป็นอรหันต์อย่างไรบ้าง.”

ที่นักบวชพูดเช่นนี้ ดูประหนึ่งว่าอาจไปเยี่ยมกันได้ง่าย จากบ้านหนึ่งสู่บ้านหนึ่ง, ทำให้ฉันจังงัง มองดูนักบวชนั้นอย่างตะลึง ออกอุทานว่า “ไปเยี่ยมวาชศรพ?” ไปได้อย่างไรกัน?”

“ก็ยื่นมือมาให้เรา. เราจะเข้าฌาน อันเป็นเครื่องช่วยให้ถึงวิถีที่บังคับให้เทวดาและภูตปิศาจมาปรากฏร่างให้เห็นขึ้นในดวงจิตต์, แล้วเราจะได้เดิรตามไปโดยวิถีนั้น จะได้เห็นสิ่งที่ท่านต้องการเห็นด้วย.

ฉันยื่นมือให้ นักบวชรูปนั้นนั่งตาตกสงบนิ่งอยู่เป็นนาน ตลอดเวลาที่ฉันเองยังไม่เห็นแปลกประหลาดอย่างไร. ทันใดนั้นรู้สึกคล้ายกับว่ายน้ำ ถูกผีพรายฉุดแขนขาลงไป. ท้องฟ้าอันเขียวและต้นไม้บนฝั่งที่เคยเห็นก็หายไป มีคลื่นซัดมากลบศีรษะ หนักเข้า ๆ ทุกทีจนท่วมตัว. ช้าๆ นาน ๆ มีเปลวแปลบแลบสว่างเป็นคราว ๆ อยู่รอบตัว แล้วมีเสียงดั่งฟ้าลั่นเปรี้ยะใหญ่จนชาหู.

ในที่สุด รู้สึกว่าตัวตกอยู่ในที่แห่งหนึ่งคล้ายถ้ำมหึมามืดมิดไปหมด นอกจากมีแสงสว่างนับไม่ถ้วนสายฉายแวบ ๆ อยู่. เมื่อประสาทชินต่อลักษณะสถานที่นี้แล้ว จึ่งสังเกตเห็นว่าแสงสว่างที่แวบ ๆ อยู่นั้น คือแสงหอกเหล็กนับจำนวนไม่ถ้วน แกว่งไกวกระทบกันไปมาอยู่ฉาดฉาน เหมือนกองพลในสงครามผีมองไม่เห็นตัวผู้ถือ. ทั้งได้ยินเสียงร้องอื้ออึง ไม่ใช่เสียงบ้าเลือดเดือดดุร้ายของเหล่าผู้ที่เข้าสัปยุธกัน แต่เป็นเสียงครวญครางด้วยรับความทุกขเวทนา เพราะเจ็บปวด. เสียงเหล่านี้เป็นของใครมองไม่เห็นตัว, และได้ยินมาข้างใต้พื้นสั่นสะเทือนตรงที่ปลายหอกอันแกว่งไกว. ส่วนบนพื้นนั้นว่างเปล่าไม่มีอะไร.

ในสถานที่ว่างเปล่าอยู่นี้ ขณะนั้นมีรูปคนพุ่งขึ้นมาจากปากช่องมืดตื้ออยู่ทางขวาสามคน. คนอยู่กลางเป็นรูปวาชศรพ มีการเปลือยสั่นเทิ้มคล้ายไข้จับหรือถูกความหนาวอย่างแรงกล้า. ส่วนผู้คุมซ้ายขวาวาชศรพ กายเป็นมนุษย์แต่เท้าเป็นนก กรงเล็บแหลมโง้ง ตนหนึ่งหัวเป็นปลา อิกตนหนึ่งหัวเป็นศุนัก มือถือหอกยาว. ภูตหัวปลาแนะนำขึ้นก่อนว่า-

“ข้าแต่พระอริยเจ้า, ที่นี้คือนรกหอกซึ่งผู้ทำบาปตกมา ต้องทนทุกข์ทรมาน ถูกแทงด้วยหอกที่ชูแกว่งชุลมุนอยู่นี้เป็นเวลาหมื่นปี. เมื่อเสวยวิบากครบกำหนดแล้ว, ก็จะไปเกิดใหม่ในภพอื่นตามควรแก่เศษผล.”

แล้วภูตหัวศุนักพูดว่า-

“ข้าแต่พระอริยเจ้า, ถ้าปรากฏมีหอกเสียบหัวใจสองเล่ม ก็แสดงกาลกำหนดว่าสัตว์บาปนั้นได้รับโทษทรมานล่วงมาแล้วสองพันปี.”

พอพูดขาดคำ นายนิริยบาลทั้งสองก็ซัดหอกเข้าไปปักกายวาชศรพ. ทันใดนั้นคล้ายกับว่าการซัดหอกเล่มที่หนึ่งนี้เป็นอาณัติสัญญาณ, บรรดาหอกที่อยู่รอบตัวก็เคลื่อนไหวแปลบปลาบพุ่งเข้าเสียบติดร่างกายวาชศรพชุลมุนทุกด้าน, และยังมีฝูงกาปากเหล็กพากันมาจิกเนื้อทึ้งหนังกินซ้ำลงอิก.

เห็นแล้วให้ขนพองสยองเกล้า ทั้งสงสารวาชศรพที่ร้องครวญครางเพราะความเจ็บปวดรวดเร้า เลยหมดสติไปด้วย. ครั้นฟื้นได้สติแล้ว แลเห็นว่าตัวมานอนอยู่ในป่าใต้ต้นไม้ใหญ่แทบเบื้องบาทนักบวชนั้น. ท่านถามว่า-

“องคุลิมาล, เห็นแล้วหรือยัง?”

“เห็นแล้ว, ผู้เจริญ.”

“เป็นอย่างนี้แหละ. เบื้องหน้าแต่ร่างกายท่านสลายตายไปแล้ว, อกุศลกรรมที่ทำไว้จะสนองผลบังคับให้ตรงลงไปเกิดในนิริยโลก ถูกชำระสะสางลงโทษอย่างเดียวกัน: คือนายนิริยบาลจะเอาหอกซัดตัวท่านให้ได้รับทุกข์ทรมาน. ดั่งนี้ จะสมควรแก่โทษบาปที่ท่านก่อสะสมไว้เพียงพอหรือไม่?”

“ไม่เพียงพอแก่บาปที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้แล้วเลย, ท่านผู้เจริญ.”

“ก็เมื่อมองเห็นอยู่แล้วดั่งนี้, องคุลิมาล, วิถีที่เป็นอยู่ของท่านในเวลานี้ จะควรดำเนิรต่อไปหรือไม่?”

“ไม่บังควรเลย, ท่านผู้เจริญ. ข้าพเจ้าไม่ขอเดิรทางที่ดำเนิรมาแล้วต่อไป. ข้าพเจ้าขอเลิกความประพฤติอันหยาบช้าทารุณ และขอยึดเอาท่านเป็นที่พึ่ง.”

“องคุลิมาล, นานมาแล้วครั้งหนึ่ง พระยมเห็นความทุกข์ทรมานของสรรพสัตว์ ก็สลดใจรำพึงว่า ‘แท้จริง ผู้ใดกระทำอกุศลกรรมในโลก ย่อมต้องได้รับโทษสนองหลายเท่าทวีคูณ กระไรหนอ เราพึงไปเกิดเป็นมนุษย์ ในสมัยที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติในโลกด้วย. เราพึงได้เฝ้าพระพุทธองค์เพื่อฟังพระธรรมเทศนา ให้บังเกิดความรู้แจ้งของจริง’ พระยมที่กล่าวคำประณิธานนี้, องคุลิมาล, คือตัวท่านนี่เอง. ท่านได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาเกิดในมัธยมประเทศ ซึ่งมีที่รมณียสถานน้อยแห่งนัก, แต่ว่ามีป่าเขาและลำธารอันเปล่าเปลี่ยวกันดารกอบด้วยอันตรายมากมาย ฉันใดก็ดี, สัตว์ที่เกิดมาในโลก มีน้อยนักน้อยหนาที่จะบรรลุถึงมนุษยธรรม, นอกนั้นก็งมงายป่าเถื่อนเปรียบกับแดนกันดารอื่นๆ อันกว้างใหญ่ไพศาลเสียเปล่า. อิกอย่างหนึ่งมนุษย์ที่ได้มีโอกาสพบปะพระพุทธเจ้าก็เพียงสองสามชั่วคนเท่านั้น, มนุษย์นอกนั้นไม่ได้มีโอกาสพบพระพุทธเจ้า มีมากมายเหลือคณนา, แต่ส่วนตัวเธอ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ในสมัยที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัส, ได้พบท่านได้เฝ้าท่าน, ก็นับว่าเป็นผู้มีวาสนาวิเศษอยู่แล้ว.”

เมื่อฉันได้ยินอภิปรายดั่งนี้ ก็ทราบประจักษ์ว่าท่านนักบวชคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, บังเกิดปีติอิ่มเอิบใจ, ยกมือขึ้นประสานถวายอภิวาท เปล่งอุทานว่า-

“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงความบริศุทธิ์อุดมเลิศ, พระองค์นั้น คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แท้ ทรงพระมหากรุณาแก่สรรพสัตว์, ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพระกรุณาให้ข้าพระองค์ได้ยึดถือเป็นสรณะด้วย.”

“สาธุ จงฟังคำเราต่อไปนี้-

“ถึงกระนั้น มนุษย์ที่เกิดมา ได้เห็นพระพุทธเจ้ายังน้อยคนอยู่แล้ว, แต่ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมของพระองค์นั้นมีน้อยกว่า, และยิ่งกว่านี้ ผู้เข้าใจในพระธรรมก็ยิ่งน้อยลงไปอิก แต่ตัวท่านมาพบเราแล้วทั้งได้ฟังและรับรสพระธรรมนี้. มาเถิด, องคุลิมาลผู้สาวก.”

แล้วพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปในป่า ประดุจดั่งนายพรานช้างขึ้นขี่บนหลังสารซับมัน ซึ่งบำราบให้เชื่องแล้ว. พระองค์เสด็จออกจากป่าอิก ประดุจดั่งนายพรานช้างออกจากป่า มีช้างป่าซึ่งเขาได้ฝึกให้เชื่อง ติดตามมาด้วยโดยดีฉะนั้น.

ด้วยประการฉะนี้ ฉันมาหาเธอวันนี้ ไม่ใช่เป็นองคุลิมาลโจรร้าย, แต่เป็นองคุลิมาลสาวกพระพุทธเจ้า. จงดูเถิดว่า ฉันได้โยนทิ้งหอกและกระบองเสียแล้ว, เลิกเว้นการทรมานฆ่าฟันแล้ว, แผ่ความศานติสุขแก่เพื่อนร่วมโลกเป็นเบื้องหน้า.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ