- คำนำ
- ภาคหนึ่ง บนดิน
- หนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จกลับเบญจคีรีนคร
- สอง พบ
- สาม สู่ฝั่งแม่คงคา
- สี่ สาวน้อยผู้เดาะคลี
- ห้า รูปวิเศษ
- หก บนลานอโศก
- เจ็ด ในหุบเขา
- แปด ดอกฟ้า
- เก้า ใต้ดาวโจร
- สิบ รหัสยลัทธิ
- สิบเอ็ด งวงช้าง
- สิบสอง ที่ฝังศพของวาชศรพ
- สิบสาม เพื่อนบุณย์
- สิบสี่ ผู้เป็นสามี
- สิบห้า ภิกษุโล้น
- สิบหก เตรียมรับมือ
- สิบเจ็ด สู่ความเป็นผู้ละบ้านเรือน
- สิบแปด ในห้องโถงช่างปั้นหม้อ
- สิบเก้า พระศาสดา
- ยี่สิบ เด็กดื้อ
- ยี่สิบเอ็ด ในท่ามกลางความเป็นไป
- ภาคสอง - บนสวรรค์
- ยี่สิบสอง ภูมิสุขาวดี
- ยี่สิบสาม การต้อนรับแห่งชาวสวรรค์
- ยี่สิบสี่ ต้นปาริชาต
- ยี่สิบห้า บัวบาน
- ยี่สิบหก สร้อยแก้วตาเสือ
- ยี่สิบเจ็ด สัจจกิริยา
- ยี่สิบแปด บนฝั่งคงคาสวรรค์
- ยี่สิบเก้า ท่ามกลางกลิ่นหอมแห่งดอกปาริชาต
- สามสิบ มีเกิดก็มีตาย
- สามสิบเอ็ด ปิศาจที่บนลาน
- สามสิบสอง สาตาเคียร
- สามสิบสาม องคุลีมาล
- สามสิบสี่ นรกหอก
- สามสิบห้า การบูชาอันบริศุทธิ์
- สามสิบหก พระพุทธและพระกฤษณ
- สามสิบเจ็ด ดอกฟ้าเหี่ยว
- สามสิบแปด พรหมโลก
- สามสิบเก้า ความมืดแห่งโลกานุโลก
- สี่สิบ ในสุมทุมพุ่มไม้พระกฤษณ์
- สี่สิบเอ็ด โอวาทอย่างง่ายๆ
- สี่สิบสอง ภิกษุณีอาพาธ
- สี่สิบสาม มหาปรินิพพาน
- สี่สิบสี่ พินัยกรรมวาสิฏฐี
- สี่สิบห้า กลางคืนและรุ่งเช้าในสกลจักรวาล
หก บนลานอโศก
ตกกลางคืนอากาศมืดแล้ว ข้าพเจ้ากับโสมทัตต์นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าสีดำ มีเข็มขัดคาดรัดกุม มือถือดาพ มุ่งตรงไปทางด้านตะวันตกแห่งปราสาทอันมโหฬารของนายช่างทอง. ที่ตรงนั้นอยู่เชิงเขา ข้างล่างเป็นซอกเขาลึกมาก, ถัดสูงขึ้นไปคือลานที่เราจะลอบขึ้นไป. ข้าพเจ้ากับโสมทัตต์ใช้ลำไม้ไผ่ซึ่งเตรียมเอามาด้วย พาดโยนตัวขึ้นไปได้. ตอนนั้นมืดจัด จึ่งไต่กำแพงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งได้ง่าย. พ้นกำแพงเข้าไปถึงลานกว้างใหญ่ ประดับประดาด้วยต้นปาล์มและต้นอโศก ขนัดด้วยต้นไม้ดอกต่างๆ ซึ่งในขณะนั้นต้องแสงเดือน แลดูเห็นขาวเป็นทาง ๆ.
ถัดเข้าไปไม่สู้ไกลนัก นางสาวตางามผู้เล่นคลียอดหัวใจข้าพเจ้า นั่งอยู่บนม้ายาวเคียงข้างหญิงสาวอีกคนหนึ่ง ดูดั่งพระลักษมีเสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์. พอได้เห็น ข้าพเจ้าก็เริ่มตัวสั่นสะท้าน ต้องเข้าไปพิงเสมากำแพงยันตัวไว้ รู้สึกว่าหินอ่อนที่ข้าพเจ้าไปเกาะสัมผัส เย็นชื่นช่วยแก้ให้หัวใจที่สั่นสะท้านค่อยทุเลาลง.
ระวางนั้น โสมทัตต์ตรงรี่เข้าไปหาคู่รักของตน. ส่วนนางคู่รักก็ลุกขึ้นมาต้อนรับออกเสียงอุทานแต่เบา ๆ.
ข้าพเจ้าเห็นเขาเป็นเช่นนั้น ก็เตรียมตัวสงบใจให้หายอุธัจ เพื่อเข้าไปหานางผู้หาที่เปรียบมิได้ของข้าพเจ้าบ้าง. เมื่อนางเห็นคนแปลกหน้าเข้ามาหา ก็ลุกขึ้นทำกิริยารวนเรว่านางควรจะอยู่ที่นั่นหรือว่าควรจะไปเสีย. ส่วนดวงตาดูราวกับตากวางเมื่อตกใจ เหลือบชะม้ายดูข้าพเจ้าไม่หยุด กายก็สั่นดังลดาชาติที่ถูกลมอ่อนๆ โบกฉะนั้น. ว่าถึงตัวข้าพเจ้า ยืนจังงังผมยุ่งเหยิง ตาก็เหม่อมอง, พยายามพูดหลุดปากออกมาได้ ๒-๓ คำ ว่าข้าพเจ้ารู้สึกเป็นบุณย์ที่มีหวังมาได้พบ. นางสังเกตเห็นกิริยาข้าพเจ้ามีสะทกสะท้าน ก็ค่อยสงบความรวนเรใจ ซุดลงนั่งบนม้าอีก, แล้วยกหัตถ์ดั่งดอกบัวขึ้นน้อยๆ ชี้ที่ตรงข้างที่นางนั่ง เชิญให้ข้าพเจ้านั่ง, กล่าววาจาด้วยเสียงอันอ่อนหวานว่า นางมีความพอใจที่สามารถได้แสดงความขอบใจข้าพเจ้า ที่ได้โยนลูกคลีกลับขึ้นมาให้ได้อย่างชำนาญมาก โดยนางไม่จำเป็นต้องหยุดเล่นในระวาง, เพราะถ้ามีเหตุขัดข้องต้องหยุดเล่นในกลางคันแล้ว บุณย์กุศลที่นางจะได้จากการเล่นถวาย ก็จะไม่ได้, ซ้ำเทวีที่เคารพก็จะทรงพิโรธด้วย อย่างน้อยอาจศาปนางไม่ไห้ได้รับความสุขใจเลย ข้าพเจ้าตอบคำแสดงว่านางไม่จำเป็นต้องขอบคุณ เพราะที่ได้กระทำไปแล้วนั้น ก็เพื่อใช้โทษในความผิด.
ข้าพเจ้าสังเกตว่านางยังไม่เข้าใจความหมายในคำพูดของข้าพเจ้า, จึ่งหาญอธิบายว่า เพราะด้วยประสพตากัน จึ่งทำให้นางตีลูกคลีพลาดกะเด็นออกมานอกเวที อันเป็นความผิดของข้าพเจ้าแท้ๆ. นางมีพักตร์แดงด้วยโลหิตขึ้น ไม่ยอมรับในข้อที่ว่าข้าพเจ้าได้ทำความผิด เพราะข้อนั้นหาเป็นเหตุให้นางตีลูกคลีพลาดไม่.
ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่าดวงตาของตนที่เพ่งดูความงามและความชำนาญของนางด้วยอาการตะลึง บางทีจะเป็นเหตุให้ลูกคลีกระดอนออกมานอกเวที นางตอบว่าพูดอะไรเช่นนั้น เพราะข้าพเจ้าคงได้เคยเห็นนางงามที่เล่นคลีชำนาญยอดเยี่ยมกว่านาง ที่ในเมืองของข้าพเจ้ามาแล้วมากต่อมาก.
ตามที่นางกล่าวนี้ แสดงว่าถ้อยคำของข้าพเจ้าที่กล่าวแก่โสมทัตต์ไว้ รั่วมาเข้าหูนางแล้ว. เมื่อนึกถึงที่ได้พูดไว้ว่านางที่ชำนาญการเล่นคลีในเมืองข้าพเจ้ามีถมไป อันเป็นวาจาที่ข่มอยู่สักหน่อย ทำให้รู้สึกสะท้านร้อนสะท้านหนาว ต้องรีบแก้ตัวออกรับรองว่าถ้อยคำที่ได้กล่าวไว้กับโสมทัตต์นั้น ไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย, ที่พูดออกไปเช่นนั้น ก็ด้วยไม่อยากจะให้โสมทัตต์ทราบความจริงในใจข้าพเจ้า. ข้อแก้ตัวนี้นางไม่เชื่อหรือแกล้งไม่เชื่อ. ข้าพเจ้าในเวลานั้นหายอุรัจแล้ว พล่อยปากแสดงความรักใหญ่, ได้บอกว่า ในวันแรกที่ได้เห็น ดวงใจร้าวด้วยต้องศรดอกไม้ของกามเทพแผลงมาดั่งห่าฝน. ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าเราทั้งสองคงมีบุพเพสันนิวาสด้วยกันมาในชาติก่อน ความรู้สึกแต่วันแรกที่พบกันจึ่งเป็นได้ถึงเพียงนี้.
ข้าพเจ้าได้กล่าววาจาแสดงความรักด้วยชะล่าใจเสียยกใหญ่, จนที่สุดนางใจอ่อนซบหน้าร้องไห้อยู่กับอกข้าพเจ้า ออกวาจากะอ้อมกะแอ้มฟังไม่ได้ชัด, แต่ก็ทราบได้ในกริยาว่ารับรักของข้าพเจ้า และยอมรับว่านางก็มีความรักข้าพเจ้าแต่วันที่ได้พบกัน, ถ้าหากเมทินีไม่นำรูปมาให้ดูทันกัน ป่านนี้นางคงสิ้นใจตายเพราะด้วยความรักเสียแล้ว.
เราได้พร่ำแสดงความรักกันโดยมิเบื่อ รู้สึกว่าแทบจะสุดสวาทขาดใจลงด้วยความรักซึ่งมีอยู่แก่กัน. ทันใดนั้น ระลึกถึงเรื่องที่จะต้องจากกันในวันรุ่งเช้าขึ้น ก็ใจหายคล้ายๆ กับว่ามีเงามืดเข้ามากั้นขวางความสุขของเรา, คิดแล้วก็ตันตื้นทอดถอนหายใจยาว.
วาสิฏฐีเห็นข้าพเจ้าถอนใจก็ตกใจซักถาม. ครั้นข้าพเจ้าเล่าเหตุให้ฟัง, นางก็ซุดตัวลงบนเก้าอี้คล้ายจะเป็นลม แล้วร้องไห้สะอื้นมิหยุด. ข้าพเจ้าพยายามเล้าโลมใจให้คลายความโทรมนัสย์สักเท่าไรก็ไม่บรรเทา, รับรองว่าพอสิ้นฤดูฝนก็จะรีบกลับมาโกสัมพี และคราวนี้จะไม่พรากจากไปอีก ถึงแม้ว่าจะต้องเป็นคนงานได้รับตรากตรำลำบากอยู่ในเมืองนี้ตลอดชีพก็ตาม ก็เต็มใจอยู่ด้วยความยินดี. จะรับรองอย่างนี้และอย่างอื่นสักเท่าไรดูเหมือนรับรองกับลม เพราะไม่ทำให้นางหายโศกสร้อยได้, แท้จริงความรันทดของข้าพเจ้าก็ไม่น้อยไปกว่า. พอนางสะอึกสะอื้นน้อยลง ก็ถามทั้งน้ำตาว่า มีความจำเป็นที่สุดหรือจึ่งต้องไปแต่เช้า? พอพบปะกันไม่ทันไรก็จะไปเสียดั่งนี้. ข้าพเจ้าได้พยายามอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องจากไปอย่างละเอียดลออ แต่นางดูเหมือนไม่ยอมฟัง หรือฟังไม่เข้าใจ, เป็นแต่บอกว่า ที่ข้าพเจ้าจะรีบกลับไปนั้นนางเห็นแล้ว ว่าข้าพเจ้าคงคิดถึงบ้าน, คิดถึงบรรดานางงามที่ชำนาญเล่นคลี ดั่งที่ข้าพเจ้าได้เคยพูดไว้แต่ก่อนนี้.
ข้าพเจ้าจะรับรองคัดค้านหรือศาบานอย่างไรก็ตามทีเถิด, นางยังยึดความเข้าใจผิดของนางไว้ น้ำตากลับไหลออกมากขึ้น. ใครบ้างที่จะไม่รู้สึกประหลาดใจในกริยาของข้าพเจ้า ซึ่งต่อมามิช้า ข้าพเจ้าถึงกับซุดตัวลงที่บาทนาง, พลางยกแขนที่เรียวงามขึ้นจุมพิต น้ำตาก็ร่วง ปากก็กล่าวว่าข้าพเจ้าให้สัญญาว่าจะไม่จากไปแล้ว. วาสิฏฐีดีใจโผลงโอบคอข้าพเจ้าไว้ จุมพิตข้าพเจ้าเสียยกใหญ่ จนหัวเราะออกมาได้. ดั่งนี้จะมีชายไรอีกเล่า ที่มีความสุขเบิกบานใจไปยิ่งกว่าข้าพเจ้าในขณะนั้น. นางได้พูดว่า “ดูทีหรือ ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็คงอยู่ต่อไปไม่ได้? นี่ก็แสดงว่าเรื่องที่จะไปไม่สู้สำคัญนัก.” ข้าพเจ้าได้อธิบายความจำเป็นอย่างละเอียดให้ฟังอีก แต่นางเอามือปิดปากข้าพเจ้าเสีย, บอกว่านางได้ทราบแล้วว่า ข้าพเจ้ามีความรักนางเพียงไร ที่ได้พูดถึงผู้หญิงในเมืองของข้าพเจ้านั้น เป็นการพูดเย้าเล่น ไม่หมายความจะให้เป็นจริงดอก. ความรักอันดูดดื่มของเราทั้งสองกระทำให้รู้สึกว่าเวลาที่ล่วงไป คล้ายเวลาในความฝัน. และคงจะไม่สุดสิ้นความสุขวิเศษไปได้ หากไม่มีโสมทัตต์และเมทินี ที่ลุกขึ้นมาบอกว่าดึกมากแล้ว ควรกลับเสียที.
เมื่อกลับมา เห็นสิ่งของซึ่งจัดเตรียมไว้อยู่พร้อม ณ ลานบ้านของโสมทัตต์แล้ว, ข้าพเจ้าเรียกหัวหน้าคุมเกวียนเข้ามาหา สั่งว่าให้รีบไปหาท่านราชทูตโดยเร็วที่สุด เรียนท่านว่าข้าพเจ้าเสียใจด้วยจัดธุระยังไม่เสร็จ จะต้องรออยู่ก่อน, เพราะฉะนั้นจะต้องเลิกความคิดออกเดิรทางไปกับท่านราชทูต. ขอแต่ให้ท่านราชทูตกรุณาส่งข่าวความเคารพของข้าพเจ้าให้บิดามารดาทราบด้วย. การนอกนั้นแล้วแต่ท่านจะโปรด.
ข้าพเจ้าเอนตัวลงนอน เพื่อผ่อนกายพักหลับไปเสียครู่, พอล้มตัวนอนก็พอดีท่านราชทูตมาหา. ข้าพเจ้าตกใจเหลือประมาณ ออกไปต้อนรับท่าน ก้มลงเคารพอย่างสูง ส่วนท่านราชทูตพูดเป็นเสียงบังคับ ซึ่งแต่ก่อนร่อนชะไรมาข้าพเจ้าไม่เคยได้ยิน สั่งให้ข้าพเจ้าตามท่านไปทันที.
ข้าพเจ้าตอบละล่ำละลักว่า ธุระสำคัญยังไม่ทันเสร็จ. แต่พูดยังไม่ทันหมดประโยคท่านก็บังคับให้หยุด.
ท่านบริภาษว่า “เหลวใหล เหลวใหญ่เสียแล้ว ธุระอะไร เรื่องกล่าวเท็จขอให้พอกันที. นี่เจ้าเข้าใจว่าเราไม่รู้เรื่องธุระบ้า ๆ อะไรของเจ้าหรือ? อ้ายเด็กหัวดื้อแก้ตัวว่ายังไปไม่ได้ในทันทีทันใดดั่งนี้ ถึงข้าไม่ได้เห็นเกวียนของเจ้าที่เตรียมบรรทุกของไว้เสร็จแล้ว ข้าก็ต้องรู้ว่าเองโกหก.”
เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ข้าพเจ้าจะต้องยืนตัวสั่นเลือดขึ้นหน้าด้วยความอาย เพราะความจริงใจมันก็เป็นอย่างเช่นที่ท่านกล่าว. แต่ในเรื่องที่บังคับให้ไปกับท่านโดยทันทีนั้น ท่านถูกข้าพเจ้ายืนกราน ขัดขืนไม่ปฏิบัติตาม กระทำให้ท่านผิดคาด ไม่นึกว่าจะเป็นไปได้. เมื่อท่านเห็นบังคับไม่ได้ ก็เปลี่ยนเป็นขู่, ที่สุดเห็นว่าไม่สำเร็จก็กลายเป็นปลอบ เตือนสติว่าที่บิดามารดาตัดใจให้ข้าพเจ้ามาเมืองนี้ ก็เพราะเชื่อว่าข้าพเจ้าต้องได้รับความคุ้มครองจากท่าน เพราะฉะนั้นการกลับก็คงต้องกลับกับท่าน.
มิใยท่านจะพูด ก็คงไม่สมประสงค์ เพราะข้าพเจ้ารู้อยู่ว่า เมื่อกลับไปแล้วกว่าจะได้กลับมาเห็นหน้าคู่ที่รักอีก ก็ต้องรอจนกว่าทางบ้านเมืองของข้าพเจ้าส่งราชทูตมาครั้งหลังซึ่งคงเป็นเวลาอีกช้านาน, เป็นอันไปไม่ได้. ต้องแสดงความสามารถของข้าพเจ้าให้ท่านบิดาเห็น ว่าลำพังข้าพเจ้าคนเดียวก็อาจคุมเกวียนฝ่าความลำบากและอันตรายไปได้เหมือนกัน.
เป็นความจริง ซึ่งท่านราชทูตได้อธิบายถึงภัยอันตรายต่างๆ อย่างน่ากลัวในระวางทางที่จะไป, แต่คำพูดของท่านไม่เป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเลย. ในที่สุดท่านเกิดโทสะ ออกไปเสียเฉยๆ. ทั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของท่าน และข้าพเจ้าจะต้องได้รับผลอย่างเจ็บแสบเป็นที่สุด เพราะด้วยความหัวดื้อนี้, แต่สำหรับในเวลานั้น กลับรู้สึกโล่งใจเท่ากับได้ปลดความหนักออกจากบ่า. บัดนี้ข้าพเจ้าจะมอบกายใจให้ไว้แก่ความรักของข้าพเจ้าได้บริบูรณ์, นึกอิ่มเอิบใจเช่นนี้ ทำให้ล้มตัวลงนอนหลับได้ง่าย, ไปตื่นขึ้นต่อเมื่อถึงเวลาที่จะต้องเตรียมตัวไปยังลาน ซึ่งมีคู่รักรอคอยเราอยู่.
ข้าพเจ้ากับโสมทัตต์ได้ไปหาคู่รักทุกคืน. ยิ่งคืน ข้าพเจ้ากับวาสิฏฐีผู้ประสพขุมทรัพย์ใหม่ๆ อันเกิดต่อความร่วมรักของเรา ยิ่งทวีความที่อยากพบกันมากขึ้นทุกที. ดวงจันทร์ฉายแสงดูยิ่งสว่าง, หินอ่อนที่มีอยู่รู้สึกว่ายิ่งเย็นชื่นใจ, กลิ่นดอกมะลิซ้อนหอมเย็นยิ่งขึ้น เสียงนกโกกิลายิ่งโหยหวน, เสียงลมพัดถูกกิ่งปาล์ม ทำให้วังเวงมากขึ้น, ตลอดจนกิ่งอโศกที่แกว่งไกวก็มีเสียงดูดั่งจะกะซิบกะซาบกัน: สิ่งเหล่านี้เห็นจะไม่มีเหมือนแล้วตลอดโลก!
เฮอ! ถึงเดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ายังระลึกและจำต้นอโศกเหล่านั้นได้แม่นยำ ว่ามีอยู่เรียงกันเป็นแถวตลอดไปตามยาวของลานนั้น. และใต้ต้นอโศกเหล่านี้ เราทั้งสองเคยประคองพากันเดิรเล่น จนเราให้สมญาลานนั้นว่า “ลานอโศก,” เพราะต้นไม้ชะนิดนั้นกวีให้ชื่อว่า “อโศก” หรือบางทีเรียกว่า “สุขหฤทัย” ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นต้นอโศกที่ไหนใหญ่โตงามเหมือนกับที่มีอยู่บนลานนั้น. ใบซึ่งคอยสั่นไหวอยู่เสมอ เห็นเป็นเลื่อมพรายเงินเมื่อต้องแสงจันทร์, เมื่อลมโชยมา ก็มีเสียงปานว่าหนุ่มสาวกะซิบกัน, เวลานั้นแม้จะย่างเข้าสู่วสันตฤดู คงยังแตกดอกออกช่อเป็นสีแดงบ้างเหลืองบ้าง แก่อ่อนสลับกันไป. ดูก่อนท่านภราดา, จะด้วยอะไรเล่า ต้นอโศกเหล่านั้นจะไม่งดงามแตกดอกออกช่อชูไสว ทั้งนี้เพราะควงต้นรับกระแสรอยบาทของนางงามเหยียบย่างไปมาอยู่เนืองนิตย์.
คืนอันน่าพิศวงคืนหนึ่ง พระจันทร์กำลังเต็มดวง -ซึ่งข้าพเจ้านึกถึงในเวลานี้ ดูเหมือนว่าพึ่งล่วงไปเมื่อวานนี้- ข้าพเจ้ายืนอยู่ใต้ต้นอโศกกับวาสิฏฐีคู่รัก. ถัดออกไปทางหุบเขาซึ่งมืดครึ้มด้วยเงาไม้ เราทั้งสองมองชมภูมิประเทศที่เลยพ้นออกไปจนสุดสายตา, เห็นแม่น้ำสองสายไหลคดเคี้ยวขนานกันไป ดูดั่งแถบเงินอันอร่าม แผ่ไปบนที่ราบ, แล้วก็ไปประจบกันตรงที่ศักดิ์สิทธ์แห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่า “จุฬาตรีคูณ” เพราะเชื่อว่า “แม่คงคาแดนสวรรค์” ลงมาร่วมกับแม่น้ำทั้งสองที่ตรงนี้. อันว่าทางช้างเผือกที่เห็นเป็นทางขาวในท้องฟ้า ที่ในเมืองนั้นเขาเรียกกันว่า “สวรรคงคา.” วาสิฏฐียกมือขึ้นชี้ไปณที่เห็นเป็นทางสว่างขาวอยู่เหนือยอดไม้.
ครั้นแล้ว เราพูดถึงมหาบรรพตหิมพานซึ่งอยู่ไปทางทิศเหนือ และซึ่งแม่คงคาไหลลงมาทางนั้น. อันมหาบรรพตหิมพานนี้ มียอดปกคลุมด้วยหิมะเป็นนิตย์ ย่อมเป็นที่สถิตของทวยเทพ. ตามป่าใหญ่และเหวลึกของหิมพานก็เป็นที่บำเพ็ญพรตของเหล่ามหามุนี. ยิ่งกว่านี้เราพูดถึงแถวทางที่แม่น้ำยมุนาผ่านไหลมา และสาวไปถึงต้นแห่งแม่น้ำนั้น เมื่อนึกแล้วก็บังเกิดปีติยินดี ถึงกับข้าพเจ้าเปล่งอุทานวาจาออกมาว่า “เออหนอ! ถ้าเรามีนาวาทิพย์ทำด้วยมุกดา มีความปรารถนาเป็นใบ มีความอำเภอใจเป็นหางเสือ ได้แล่นเรือลอยละล่องไปในแม่น้ำนั้นขึ้นไปถึงต้นน้ำ, แล้วขอให้เมืองหัสดินบุรี๑ที่ล่มจมสาบสูญไปแล้วผุดขึ้นมาอีก ให้ได้ยินเสียงผู้คนในราชวังเฮฮาเล่นสะกากัน, ขอให้ทรายในกุรุเกษตรทุ่งใหญ่๒ บรรดาลวีรบุรุษที่ตายในสมรภูมินั้นกลับเป็นขึ้นมา, ให้ได้เห็นภีษมะ ท่านผู้เฒ่ามีเกศาหงอกขาวสวมเกราะเงิน ยืนตระหง่านอยู่บนรถรบ กำลังแผลงศรผลาญปรปักษ์, ให้ได้เห็นพระกฤษณะเป็นสารถีขับรถเทียมด้วยม้าขาว ๔ ตัว ให้พระอรชุนเข้าสู่กลางสมรภูมิ เออ! นึกๆ ก็น่าอิจฉาท่านราชทูตที่เป็นผู้อยู่ในวรรณะกษัตริย์ และเคยเล่าให้ฟังว่า บรรพบุรุษของท่านได้เข้าร่วมกระทำสงครามในคราวนั้นด้วย. แต่ช่างเถิด แม้เราเป็นบุตรพาณิชไวศยวรรม ก็มิใช่จะละเลยต่อวิชชานักรบเสียทีเดียว ได้เคยฝึกหัดชำนิชำนาญมาเหมือนกัน. ถ้ามีดาพอยู่ในมือก็ย่อมสู้ใครๆ ได้ทั้งนั้น ไม่ถอยหนีเลย.”
วาสิฏฐีสวมกอดข้าพเจ้าด้วยความพอใจ และเรียกข้าพเจ้าว่าเป็นวีรบุรุษของนาง, และว่า ที่จริงข้าพเจ้าอาจได้เกิดเป็นวีรบุรุษแล้วด้วยคนหนึ่ง ครั้งมหาภารตยุทธ์ แต่จะได้เกิดเป็นวีรบุรุษคนไหนจะระลึกยังไม่ได้ เพราะยังไม่สามารถได้กลิ่นหอมแห่งต้นประวาลพฤกษ์๓ (ในแดนสวรรค์) เหตุด้วยกลิ่นดอกอโศกฟุ้งตลบกลบเสียหมด.
ข้าพเจ้าขอร้องให้นางเล่าถึงลักษณะความหอมแห่งต้นไม้นั้น เพราะยังไม่เคยได้ทราบ. นางจึ่งเล่าเรื่องให้ฟัง ว่าครั้งหนึ่งพระกฤษณะทรงทำสงคราบกับพระอินทร์ รุกไล่ตามขึ้นไปถึงสวรรคโลก, แล้วได้ต้นประวาลพฤกษ์ที่ปลูกไว้บนสวรรค์ เอาลงมาปลูกไว้ในสวนของพระกฤษณ์. ต้นประวาลพฤกษ์มีดอกสีแดงเข้ม ๔ ส่งกลิ่นไปรอบปริมณฑลได้ไกล. ถ้าใครได้กลิ่นดอกประวาล, ก็จะระลึกชาติที่ล่วงไปแล้วนมนานได้ทุกชาติ.
นางกล่าวต่อไปว่า “แต่ก็มีฤษีเท่านั้น ที่สามารถจะได้สูดกลิ่นหอมนี้ในมนุษยโลก,” แล้วพูดเป็นเชิงเย้าว่า “แต่เราทั้งสองคงจะไม่ได้เป็นฤษี ช่างเถิด ถึงเราจะไม่ใช่พระนลและนางทมยันตี เราก็เชื่อแน่ว่าเราทั้งสองย่อมมีความรักไม่แพ้ท่านทั้งสอง, หรือบางทีความรักและความมอบไว้ใจกันนั้น เป็นของจริงมีจริง เว้นแต่จะเปลี่ยนรูปเปลี่ยนชื่อเรียกเท่านั้น. ความรักและความไว้ใจทั้งสองประการนี้เปรียบได้ด้วยเสียงเพลงอันไพเราะแห่งพิณ ซึ่งเราทั้งสองเป็นผู้ดีด แม้พิณจะขาดสาย ก็ขึ้นสายใหม่ได้, ส่วนเสียงเพลงอันไพเราะก็ยังคงไพเราะอยู่อย่างเดิม. จริงอยู่ เสียงเพลงแห่งพิณเครื่องหนึ่ง ย่อมจะไม่เหมือนกันกับเสียงของพิณอีกเครื่องหนึ่ง, เช่นพิณอันใหม่ของฉัน ย่อมมีเสียงหวานเพราะยิ่งกว่าพิณอันเก่า. อย่างไรก็ดี เราทั้งสองก็เป็นเหมือนดั่งพิณ ที่มีเทพเป็นผู้ดีด, กระทำให้เกิดเสียงหวานเพราะขึ้นได้พิณนั้น.”
ข้าพเจ้าค่อยๆ โอบนางแนบไว้กับอก รู้สึกซาบซึ้งในถ้อยคำที่กล่าวนี้. นางยิ้มและคงทราบความในใจของข้าพเจ้า, แล้วพูดต่อไปว่า “ที่จริง ฉันไม่ควรจะคิดเห็นเป็นเช่นนั้น. ฉันจำได้ว่าครั้งหนึ่ง ได้กล่าวคำว่าด้วยความคิดคล้ายๆ เช่นนี้, กระทำให้พราหมณ์ผู้เป็นครูประจำตระกูลโกรธเคืองใหญ่ บอกว่าหน้าที่คิดควรให้ไว้กับพราหมณ์. ผู้หญิงควรมีหน้าที่เพียงบูชากราบไหว้พระกฤษณ์เท่านั้น. เมื่อผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้คิด, แต่คงไม่ถูกห้ามในเรื่องความเชื่อ. เพราะฉะนั้นในครั้งนี้ ฉันเชื่อว่าเราทั้งสอง คือพระนลและนางทมยันตีเป็นแน่แท้.”
นางยกมือขึ้นบูชาต้นอโศกซึ่งอยู่ตรงหน้า กำลังมีดอกออกช่อไสว, แล้วกล่าวคำ ดั่งที่นางทมยันตีเคยกล่าว เมื่อระหกระเหินรับความวิโยคเที่ยวตามหาพระนลอยู่ในกลางป่า ได้ร้องถามต้นอโศกว่า:-
๏ อ้าดูอโศกนี้ | ศรีไสววิไลตา |
อยู่หว่างกลางพนา | เป็นสง่าแห่งแนวไพร ฯ |
๏ ชุ่มชื่นรื่นอารมณ์ | ลมเพยพัดระบัดใบ |
ดูสุขสนุกใจ | เหมือนแลดูจอมภูผา ฯ |
๏ อโศกดูแสนสุข | ช่วยดับทุกข์ด้วยสักครา |
โศกเศร้าเผาอุรา | อ้าอโศกโรคข้าร้าย ฯ |
๏ อโศกโยกกิ่งไกว | จงตอบไปดั่งใจหมาย |
ได้เห็นพระฦๅสาย | ผ่านมาบ้างฤๅอย่างไร ฯ |
๏ พระนั้นชื่อพระนล | ผู้เรืองรณอริกษัย |
เป็นผัวนางทรามวัย | นามนิยมทมยันตี ฯ” |
-พระราชนิพนธ์พระนลคำหลวง สรรคที่ ๑๒
เมื่อวาสิฏฐีกล่าวคำของนางทมยันตีแล้ว ก็เงยหน้าดูข้าพเจ้าด้วยดวงตาอันอ่อนหวานเต็มไปด้วยพิศวาส มีหยาดน้ำตาที่ต้องแสงพระจันทร์ส่อง ดูใสเหมือนแก้ววิเชียร, และพูดด้วยกระแสสั่นต่อไป ว่า:-
“เมื่อเธอจากไป และอยู่ห่างไกลแสนไกลจากที่นี่, ขอให้ระลึกถึงภาพความสุขของเราซึ่งมีอยู่ในขณะนี้, แล้วจงนึกว่า ฉันยืนอยู่ที่ตรงนี้ กำลังไต่ถามข่าวคราวจากต้นอโศก, ผิดกันแต่ฉันไม่ได้บอกชื่อแก่ต้นอโศกว่า พระนล แต่บอกชื่อว่า กามนิต”
ข้าพเจ้าโอบกระหวัดนางไว้แนบแน่น ริมฝีปากต่อริมฝีปากใกล้ชิดสนิทแนบ เสียวกระสันเต็มตื้นใจ ไม่สามารถจะสรรคำอะไรมากล่าวได้ถูกต้อง.
ทันใดนั้นมีเสียงอะไรร่วงลงมาจากยอดต้นไม้ที่อยู่เหนือเรา, สักครู่ก็เห็นดอกไม้สีแดงลอยลงมาถูกแก้มเราทั้งสอง ซึ่งเยิ้มชุ่มด้วยน้ำตาแห่งความรัก. วาสิฏฐีหยิบขึ้นดม ยิ้มทั้งน้ำตาแล้วส่งให้ข้าพเจ้า. ข้าพเจ้ารับเอามาแนบไว้กับอก.
ดอกไม้ต้นอื่นๆ ก็ร่วงหล่นตลอดแนว เมทินีซึ่งนั่งอยู่ข้างโสมทัตต์ที่บนม้าไม่ห่างไกลจากเราไปนัก ลุกขึ้นไปเก็บดอกอโศกมาหลายช่อ แล้วเดิรเข้ามาหา, บอกว่า:-
“ดูซี, น้อง, ดอกกำลังจะเริ่มถึงเวลาร่วงแล้ว, อีกไม่ช้าคงเก็บไปต้มสำหรับหล่อนอาบน้ำได้พอ.”
โสมทัตต์สหายเสือกของข้าพเจ้าพูดสอดขึ้นว่า “อะไร! ดอกไม้เหลืองนี่หรือ? วาสิฏฐีคงไม่เอาไปต้มน้ำอาบดอก. ขอรับรองว่านางคงจะใช้ต้มสำหรับอาบ ก็แต่ดอกที่เป็นสีแดง ชะนิดที่กามนิตสหายเรากำลังเอาแอบซ่อนไว้ในเสื้อ. เพราะสีเหลืองหญ้าฝรั่น คือความรัก เห็นได้ง่าย แต่ว่าจางเร็ว, ส่วนสีแดงชาด ถ้าสีไม่ตกก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายในตัว;” แล้วตัวเขากับเมทินีก็หัวเราะเป็นนัย ๆ.
วาสิฏฐียิ้มน้อย ตอบอย่างเบา แต่ทว่ากดมือข้าพเจ้าไว้แน่น ว่า:-
“ท่านโสมทัตต์, ท่านเข้าใจผิดถนัด. ความรักของฉันจะเปรียบด้วยสีดอกไม้ไรๆ ไม่ได้. เพราะฉันได้ยินกล่าวกันว่า ความรักที่แท้จริงไม่ใช่สีแดง, ย่อมมีสีดำดั่งสีนิลเหมือนดั่งสีศอพระศิวะ เมื่อทรงดื่มพิษร้ายเพื่อรักษาโลกไว้ให้พ้นภัย. ความรักแท้จริง ต้องสามารถต้านทานพิษแห่งชีวิต, และต้องเต็มใจยอมลิ้มรสที่ขมขื่นที่สุด เพื่อเสียสละให้ผู้ที่เรารักคงชีพอยู่. และเพราะด้วยความขมขื่นที่สุดนี้ ความรักย่อมเต็มใจเลือกเอาสีนิลคือความขมขื่นไว้ ดีกว่าจะเลือกเอาสีอื่น คือมุ่งแต่จะหาความบันเทิงสุขอย่างเดียว.”
วาสิฏฐีคู่รักของข้าพเจ้า ได้พูดเป็นหลักนักปราชญ์ที่ใต้ต้นอโศก ด้วยประการฉะนี้.
-
๑. หัสตินาปุระ, เมืองหลวงของพวกเการพในมหาภรต. ↩
-
๒. สนามรบที่พวกปาณฑพกับพวกเการพทำสงครามกันครั้งมหาภรต. ↩
-
๓. ต้นฉะบับเขียนว่า Coral tree ซึ่งเคยแปลกันว่าต้นทองหลาง, แต่ในที่นี้ได้ความว่าเรียกประวาลพฤกษ์ (ตรงตามศัพท์ที่แปลออกเป็นภาษาอังกฤษ), หรือต้นปาริชาตินั่นเอง ซึ่งใครได้กลิ่นก็ระลึกชาติได้. ↩
-
๔. สีเป็นดอกทองหลาง ↩