สิบเอ็ด งวงช้าง

เมื่อได้นำตัวอย่างความเห็นแปลกของบุคคลประหลาดดั่งแจ้งข้างต้นนี้ อันเป็นความเห็นที่พูดง่ายใช้ยาก และเป็นความเห็นของนักช่างคิดที่ลือชื่อไม่ใช่น้อยคน มาแสดงไว้ด้วยประการฉะนี้แล้ว, จะได้เล่าเรื่องของข้าพเจ้าต่อไป-

ถึงแม้ข้าพเจ้าจะประสพการเผชิญภัยหลายซับหลายซ้อน และได้รับความรู้เป็นความคิดอย่างใหม่ถึงดั่งนี้ก็ดี, แต่ก็เป็นธรรมดาอยู่ว่าข้าพเจ้าจะละเลยเสีย ไม่เรียนรู้ภาษาของพวกโจรบ้างก็ดูกระไรอยู่ เพราะจะทำให้รู้สึกว่าวันคืนที่ล่วงไปดูเร็วขึ้น. ครั้นเวลาจวนถึงกำหนดที่คนใช้จะนำเงินค่าถ่ายตัวมาให้โจร, ข้าพเจ้ารู้สึกวิตกไปต่างๆ นานา: วิตกว่าจะไม่ได้เงินค่าถ่ายมาทัน, แม้นายโจรจะให้การเบิกทางแก่คนใช้ ให้พ้นจากภัยของพวกเหล่าร้ายก็ดี, แต่ภัยอย่างอื่นยังมีอีกมากนัก: เช่นถูกเสือขบกัด, หรือถูกน้ำท่วมลบฝั่งแม่น้ำพัดพาตัวไป, หรือประสพภัยอย่างอื่นได้ตั้งร้อยแปดประการ; ไม่สามารถจะกลับมาได้ทันเวลาที่สัญญาไว้. องคุลิมาลชะม้ายหางตาอันขุ่นร้ายมาทางข้าพเจ้าบ่อยๆ, ทำให้รู้สึกว่ามันคงไม่อยากให้คนใช้ของข้าพเจ้านำค่าถ่ายมาให้ทันกำหนดเวลา. เมื่อคิดดั่งนี้, ให้วิตกกลัวหวาดหวั่นเหลือประมาณ จนเหงื่อผุดซ่านทุกขุมขน. แม้วาชศรพจะได้แสดงหลักในลัทธิโจร อันเป็นหลักแปลกประหลาดมีเหตุผลน่าฟังอย่างไรก็ดี; แต่ก็ว่า ถ้าไม่มีค่าถ่ายมาทันตามกำหนด, พวกโจรเป็นต้องจัดการเฉียบขาดแก่ผู้ที่มันยึดตัวไว้ทุกรายไป: คือ เอาตัวเลื่อยผ่ากลาง, แล้วโยนซากศพที่ขาดออกเป็นสองท่อน ไว้กลางถนน, แต่ให้ท่อนศีรษะหันไปทางทิศที่พระจันทร์ขึ้น. ข้าพเจ้าอดนึกชมการกระทำของพวกโจรไม่ได้ ที่ยึดถือหลักลัทธิของมันโดยปฏิบัติการให้ครบถ้วนกระบวนวิธีของมัน. แต่ความรู้นี้ กลายเป็นความสยดสยอง เมื่อเห็นมันนำเอาเลื่อยออกมาทดลอง, มีอ้ายเหล่าร้ายหน้าตาน่ากลัวสองคน ทำท่าเลื่อย, แต่ในการทดลองนี้ ใช้ท่อนไม้ต่างคนก่อน.

วาชศรพสังเกตเห็นอากัปปกิริยาข้าพเจ้าว่ามีอาการเสียวสยอง, ก็เข้ามาตบไหล่ประโลมใจข้าพเจ้าให้หายวิตก, บอกว่าที่เอาออกมาทดลองนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับตัวข้าพเจ้า, เพราะฉะนั้น จึ่งเป็นธรรมดาที่ข้าพเจ้าจะต้องนึกหวังว่า ถ้าถึงคราวจำเป็นเข้าที่อับจน, วาชศรพคงจะช่วยชีวิตข้าพเจ้าไว้ได้อีก. เมื่อข้าพเจ้าแสดงความขอบใจ แล้วบอกว่าถ้าข้าพเจ้าจะถูกเลื่อยเข้าบ้างจะว่าอย่างไร วาชศรพก็เบิกตาโต บอกว่า:

“ถ้ากรรมตามสนองตัวท่าน โดยที่นำเงินค่าถ่ายมาไม่ทันตามกำหนดเวลา, แม้จะช้ากำหนดไปเพียงครึ่งวันเท่านั้น ก็ไม่มีผีสางเทวดาจะช่วยท่านให้พ้นจากผลกรรมนั้นได้ เพราะกฎของจ้าวแม่กาลี จะให้ผิดแผกไปจากที่กำหนดไว้ไม่ได้. แต่ไม่ต้องวิตกดอก, เพราะลิขิตในตัวท่านแสดงว่าไม่ใช่จะได้รับกรรมอย่างนี้, แต่จะต้องเป็นไปอิกอย่างหนึ่งต่างหาก: คือจะได้เป็นโจรในภายหน้า. เกรงว่าในวันหนึ่งจะต้องถูกตัดหัวหรือถูกเสียบประจารให้ตายในที่ชุมนุมชน, แต่ว่าเวลายังอีกนานไกล.”

ข้าพเจ้าบอกไม่ได้ว่าคำปลอบโยนให้หายวิตกชะนิดนี้ ทำให้เบาใจอะไรนัก. แต่ข้อที่ทำให้โล่งใจ ก็คือล่วงต่อมา ราวสัปดาห์หนึ่งเต็มๆ จะถึงเวลาสิ้นกำหนดนัด, คนใช้ผู้ภักดีของข้าพเจ้าก็มาถึง และนำเงินค่าถ่ายมาด้วย. เมื่อชำระค่าถ่ายให้เสร็จแล้ว, ข้าพเจ้าก็ลาเจ้าบ้านใจร้ายของข้าพเจ้า. สังเกตว่ามันแสดงกิริยาเสียดายๆ ที่จะนึกถึงเพื่อนรักเพื่อนใคร่ของมัน ที่ถูกข้าพเจ้าฆ่าตาย และอยากจะได้ตัวข้าพเจ้าไปเลื่อยเสีย. ข้าพเจ้าได้ร่ำลาวาชศรพอย่างฉันชอบพอรักใคร่กัน. วาชศรพมีอาการข่มความอาลัยไว้ และบอกอย่างที่เชื่อแน่แก่ใจ ว่าคงจะได้พบข้าพเจ้าร่วมทางมืดแห่งจ้าวแม่กาลี คือกลายเป็นโจรในวันหน้าเป็นการแน่นอน. องคุลิมาลให้บริวารสี่คนเป็นผู้ติดสอยห้อยตามข้าพเจ้าไปด้วย เพื่อระวังมิให้ข้าพเจ้าได้รับอันตรายจนกว่าจะถึงกรุงอุชเชนี; ถ้าหากระวางทางเป็นอันตรายอะไรลงไป, บริวารทั้งสี่จะต้องรับโทษประหาร. ในเรื่องเช่นนี้ องคุลิมาลรักษาชื่อเสียงนัก; สัญญาข้าพเจ้าว่า ถ้าข้าพเจ้ามีอันตรายอย่างไรลงไป, ก็จะแล่เนื้อเถือหนังบริวารที่กำกับไป, แล้วเอาหนังที่แล่แล้ว ไปแขวนประจารไว้ในทางสี่แพร่ง, ให้ใครๆ รู้ว่าองคุลิมาลได้ทำตามสัญญาแล้ว.

เป็นคราวเคราะห์ดี ที่องคุลิมาลจะไม่ต้องทำตามสัญญา, เพราะอ้ายเหล่าร้ายสี่คนที่ไปกับข้าพเจ้า ได้แสดงกิริยาวาจาสุภาพและระวังภัยข้าพเจ้าเป็นอย่างดี. ในตลอดทางที่ไป. เป็นอันว่ามันคงมีชีวิตอยู่ต่อไป ที่จะได้ทำพิธีพลีจ้าวแม่กาลี ผู้คล้องพวงหัวกะโหลกคนต่างมาลัยได้สืบไป.

รอนแรมทางมาจนลุกรุงอุชเชนี ไม่ประสพภัยอย่างไร, ถึงกระนี้ก็ดี ข้าพเจ้าขอบอกว่า เท่าที่ได้ประสพมาแล้ว รู้สึกว่าเข็ดขยาดเหลือพอ. บิดามารดาข้าพเจ้าดีใจเป็นที่สุด ที่เห็นข้าพเจ้ายังมีชีวิตรอดกลับมาได้. ล่วงต่อมาไม่ช้า ข้าพเจ้าขออนุญาตไปค้ายังกรุงโกสัมพีอิก อ้อนวอนขอไปเท่าไร บิดาข้าพเจ้าไม่ยอม, เพราะท่านทราบดีอยู่แล้ว ว่านอกจากต้องเสียเงินค่าถ่ายตัวข้าพเจ้าไป เป็นจำนวนเงินไม่น้อย สินค้าและค่าทาสบริวารที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ควบคุมไปครั้งนั้น ก็ศูนย์สิ้นไปด้วย, จึ่งไม่มีกำลังสามารถจะแต่งกองเกวียนไปค้าได้อิก. เพียงนี้ก็ยังไม่กระไรนัก ยังมีโจรผู้ร้ายคอยดักตีปล้นตามทาง บิดาข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง ไม่ยอมให้ข้าพเจ้าฝ่าอันตรายไปอิก. นอกจากนี้ ยังได้ยินข่าวเรื่ององคุลิมาลทำการทารุณอยู่บ่อยๆ, และข้าพเจ้าก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าข้าพเจ้าเองอาจพบกับมันเป็นครั้งที่สอง. ข้อเดือดร้อนใจยังมีอิก คือไม่มีโอกาสส่งข่าวคราวไปยังกรุงโกสัมพี, จึ่งจำเป็นต้องทนนิ่งอยู่อย่างนั้น, ได้แต่นึกถึงและหวังว่าวาสิฏฐีที่ข้าพเจ้ารักและบูชาแล้ว คงจะซื่อตรงอยู่มั่นคง. คิดดั่งนี้รู้สึกว่าค่อยสบายใจขึ้นบ้าง จนกว่าจะสบโอกาสทราบเรื่อง. แต่ในที่สุดก็ได้ทราบเรื่องจริงๆ คือ มีข่าวลือกะฉ่อนไปทั่วกรุงว่า สาตาเคียรลูกประธานมนตรีแห่งกรุงโกสัมพี ได้ปราบองคุลิมาลโจรร้ายกาจและพวกลงราบคาบแล้ว. ตัวองคุลิมาลและบริวารที่สำคัญอีกหลายคนถูกจับเป็นไปได้ แล้วถูกประหารชีวิตหมด. บริวารนอกนั้น ที่จับไม่ได้หรือไม่ถูกฆ่า ก็แตกฉานซ่านกระจายไปสิ้น.

คราวนี้ บิดามารดาขัดอ้อนวอนข้าพเจ้าไม่ได้ ที่ขอคุมเกวียนไปค้ายังกรุงโกสัมพีอีก; เพราะใครๆ ก็วางใจได้ว่า ทางที่ไปคงราบรื่นปราศจากโจรผู้ร้ายเป็นเวลาอิกนาน; และบิดาข้าพเจ้าก็สมัครจะเสี่ยงโชคในการค้าอิกสักครั้ง. ถึงตอนนี้ข้าพเจ้าล้มป่วยลง, เมื่อหายป่วยก็จวนเข้าฤดูฝน จึ่งต้องรอจนกว่าจะหมดฤดูฝนก่อน. คราวนี้แหละ เป็นไม่มีอุปสรรคอะไรมาขัดขวางอีก. พอสิ้นฤดูฝนเตรียมตัวไป, บิดาข้าพเจ้าได้ตักเตือนสั่งสอน ให้รู้จักระวังตัวแล้ว; ข้าพเจ้าก็ลาท่าน, เป็นหัวหน้าควบคุมกองเกวียนบรรทุกสินค้าเต็มรวมสามสิบเล่ม, ออกเดิรทาง มีหัวใจให้เบิกบานร่าเริง, เต็มใจรีบเร่งไปให้ถึงโดยเร็ว ให้สมกับที่มุ่งหมายตั้งใจไว้

การเดิรทางครั้งนี้ราบรื่นตลอดไป เหมือนกับขาไปครั้งก่อน. รุ่งเช้าวันหนึ่งอากาศปลอดโปร่งก็ลุกรุงโกสัมพี. ให้รู้สึกหัวใจเบิกบานเบ่งโตแทบจะโลด. พอล่วงเข้าไปในกรุงได้สักหน่อย เห็นผู้คนจราจรล้นหลามตามถนนผิดปกติ, ต้องเบากระบวนผ่อนช้าลง. จนมาถึงที่แห่งหนึ่ง อันเป็นย่านที่จะเข้าถนนใหญ่ในกรุง, ต้องหยุดกองเกวียน เพราะเหลือกำลังจะเบียดแทรกฝูงชนต่อไปอิกได้. ตามถนนใหญ่ที่กล่าวไว้ข้างต้น ประดับธงทิวปลิวไสว, มีพรมห้อยลงมาจากหน้าต่างและระเบียงหน้ามุข. ข้างถนนก็มีเฟื่องดอกไม้โยงกันระนาวตลอดไปทั้งสองข้าง คล้ายกับมีงานรื่นเริงอย่างใหญ่. ข้าพเจ้าทนรออยู่ไม่ได้ ถึงกับออกอุทานศาปแช่งอุปสรรคที่ทำให้เดิรทางต่อไปติดขัด, ได้ซักถามผู้ที่อยู่ข้างหน้าว่ามีงานอะไรกัน.

พวกเหล่านั้นร้องตอบว่า “นี่ไม่รู้ดอกหรือว่าวันนี้ ท่านสาตาเคียรบุตรท่านประธานมนตรีทำพิธีแต่งงาน? มากำลังเหมาะ เพราะกระบวนแห่กำลังจะผ่านที่นี้ตรงไปยังเทวาลัยพระกฤษณ. นับว่าเป็นบุณย์ตาของท่าน ที่จะได้ดูแห่ใหญ่ อย่างที่ไม่เคยเห็นทีเดียว!”

เรื่องเป็นอย่างนี้เอง คือ สาตาเคียรสมโภชการวิวาหของมัน นับว่าเป็นข่าวสำคัญไม่น้อยเลย, และเป็นข่าวพอใจของข้าพเจ้าด้วย. เพราะสาตาเคียรอยากได้ตัววาสิฏฐีอยู่, ถ้าข้าพเจ้าส่งเถ้าแก่ไปสู่ขอ ก็น่ากลัวจะติดขัดมาก ด้วยสาตาเคียรยังขวางอยู่. มาบัดนี้สาตาเคียรก็แต่งงานไปแล้ว ความติดขัดคงไม่มี. เพราะฉะนั้นที่ข้าพเจ้าติดฝูงชนเดิรทางต่อไปไม่ได้ ก็รู้สึกว่าไม่เดือดร้อนอะไร. คอยอยู่ไม่ทันไร ก็เห็นแห่กระบวนหน้ามาถึง, เป็นกองทหารม้ากุมหอก ค่อยย่างเหยาะช้าๆ ผ่านไป. ฝูงชนโห่ร้องแสดงยินดีก้องกลบอากาศ. ได้ความว่าราษฎรกรุงโกสัมพีนิยมยินดีกองทหารม้านี้นัก เพราะเป็นกองไปปราบองคุลิมาลสำเร็จมา.

พอสุดกระบวนทหารม้า ก็ถึงตัวเจ้าสาวนั่งอยู่ในกูบช้าง ประดับประดาโอฬารน่าดูจริงๆ, เบื้องตราพองประดับด้วยผ้าบาง มีมณีรัตน์ฉายแสงเป็นหลายสีงดงามมาก ราวกับช้างบนเมรุบรรพต อันเป็นที่สถิตของท้าวเทพ. ช้างตัวนี้เป็นช้างพลายกำลังเปรียวราวกับในต้นฤดู, มีมันไหลเยิ้มแก้มและขมับ แมลงผึ้งจับกลุ่มด้วยได้กลิ่น. ที่งาสวมวลัยเป็นปล้องๆ ทำด้วยทองแท้. รัดประคนล้วนแล้วด้วยทองประดับด้วยทับทิมเม็ดเขื่องๆ มีผ้าบางพาราณสีคลุมห้อยลงมาจากหลัง ใบกระพือพันขาอันล่ำสันเห็นกะเพื่อมๆ เพียงดั่งหมอกที่ปกคลุมรอบลำต้นไม้ใหญ่ในแนวป่า. แต่สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ามองตะลึงจังงังก็ที่งวงช้าง. ข้าพเจ้าเคยเห็นแห่ในกรุงอุชเชนีมานับครั้งไม่ถ้วน ได้เห็นการประดับช้างมาก็มาก, ไม่งดงามน่าดูเหมือนคราวนี้. ตามที่เคยเห็นมักจะแต่งแบ่งเป็นรูปทุ่งนาสีต่างๆ แต่สำหรับรายนี้เองหนังช้างเป็นพื้นสี, แล้วเอาใบอโศกประดับเป็นรูปหอก ตรงกลางใช้ดอกอโศกสีเหลือง สีแสด สีแดง สลับกัน: เหมาะเจาะน่าดูจริงๆ

ขณะข้าพเจ้า ผู้มีความรู้เป็นนักเลงในเรื่องศิลปะ กำลังชมฝีมือประดับอย่างวิจิตรอยู่นี้, พลันเริ่มรู้สึกเศร้าใจ คล้ายกับได้สูดกลิ่นหอมแห่งความรัก ในคืนอันแสนสุขบนลานอโศกอิกครั้งหนึ่ง. เมื่อคิดถึงคราวที่จะได้ทำวิวาหะของตน หัวใจของข้าพเจ้าก็เต้นแรง, คิดถึงวันที่วาสิฏฐีจะได้รับความสุขเบิกบานถ้าได้อยู่บนลานอโศก ดีกว่าได้มานั่งอยู่บนหลังช้างอันประดับประดาอย่างงามเลิศเสียอีก. ขึ้นชื่อว่าดอกอโศกแล้ว ในกรุงโกสัมพีไม่มีที่ไหนน่าพิศวงยิ่งกว่าบนลานอโศกนั้น.

กำลังนึกเคลิบเคลิ้มอยู่นี้ ได้ยินหญิงคนหนึ่งพูดกับเพื่อนที่อยู่ใกล้ข้าพเจ้าว่า “ดูเจ้าสาวซิ หน้าเศร้า ไม่เบิกบานเลย.”

ข้าพเจ้าเงยดู โดยไม่ทันรู้ว่าอะไร. ทันใดนั้นก็เกิดความรู้สึกพิพักพิพ่วน ด้วยเห็นรูปเจ้าสาวที่นั่งอยู่ในกูบบุด้วยตาดม่วง. ที่ว่าเห็นรูป เพราะไม่เห็นหน้าถนัด ด้วยฟุบลงอยู่กับอก. ถึงแม้จะเห็นเพียงรูปร่างเล็กน้อย อันมีเสื้อผ้าแพรพรรณหุ้มคลุมเป็นกลุ่ม ราวกับสีรุ้งก็ดี, แต่ร่างกายที่อยู่ภายในผ้านั้น คล้ายกับไม่มีชีวิต เพราะเห็นโยกเยกไปมาตามกิริยาโคลงเคลงที่ช้างย่าง, รู้สึกว่ามีอาการเศร้าๆ อย่างไรอธิบายไม่ถูก น่ากลัวว่าเวลาโยก จะพลัดตกจากหลังช้างกลิ้งลงมา. อาการวิตกอย่างนี้ ไม่ใช่มีแต่ข้าพเจ้าคิดผู้เดียว เพราะขณะนั้นเห็นเพื่อนเจ้าสาวอิกคนหนึ่ง นั่งอยู่ข้างหลังเจ้าสาว, เอามือแตะไหล่เจ้าสาวไว้ แล้วก้มไปกะซิบให้สติ.

ทันใดนั้น ใจข้าพเจ้าหายวาบเย็นเยือกขึ้นทันที เพราะหญิงที่เข้าใจว่าเป็นสาวใช้หรือเพื่อนเจ้าสาวนั้น คือ เมทินี. ข้าพเจ้ายังไม่ทันจะนึกตกลงว่า ที่เห็นนี้เป็นลางร้ายหรืออย่างไร, พอดีเจ้าสาวของสาตาเคียรก็เปิดผ้าที่คลุมหน้าออก.

เจ้าสาวนั้น คือ วาสิฏฐี ของข้าพเจ้าเอง!

๏ ๏ ๏

บันทึก

เมื่อบทที่สิบเอ็ดได้ลงพิมพ์ไปแล้ว ตอนกล่าวถึงช้างว่า “มีมันไหลเยิ้มแก้มและขมับ, แมลงผึ้งจับกลุ่มด้วยได้กลิ่น;” สหายผู้หวังดีคนหนึ่งมากระซิบกระซาบว่า ที่กล่าวไว้ดังนั้น น่ากลัวจะพลาดเสียแล้ว.

ข้าพเจ้าตกใจ ถามว่า “ทําไม?”

ตอบว่า “เคยได้ยินแต่ว่าแมลงหวี่ตอมช้าง. นี่ทําไมจึ่งเป็นแมลงผึ้ง?”

ข้าพเจ้าซัด “ต้นฉบับเป็นอย่างนั้นนี่. และทําไมแมลงผึ้งจะมาตอมช้างบ้างไม่ได้หรือ?”

ค้าน “แมลงผึ้งไม่เคยชอบของเหม็นเลย. นํ้ามันที่กําลังเยิ้มอยู่ตามแก้มและขมับช้าง กลิ่นเป็นอย่างไรรู้ไหม?”

ข้าพเจ้า - “ใครจะกล้าเข้าไปดมมัน”

เขาหัวเราะ - “อย่างนั้นก็เถอะ. เขาว่ากันว่านํ้ามันช้างเหม็นอย่างร้าย. เพราะฉะนั้นของเหม็นควรเป็นเรื่องของแมลงหวี่.”

ข้าพเจ้า - “เอ! วรรณคดีอินเดียมักชอบพรรณนาอย่างนี้เนือง ๆ ด้วยนา. เช่นเรื่องปรียทรรศิกา ซึ่งมีพระราชนิพนธ์ไว้แล้ว;” พลางพลิกให้ดู

คําอรรถ สรัคธราฉันท์

“สทฺยสฺ ตฺยกฺตฺวา กโปลํ, วิศติ มธุกระ, กรฺณปาลึ, คชสฺย”

คําแปล พระราชนิพนธ์สัทธราฉันท์

“ฝ่ายผึ้งพรากจากขมับช้าง, และจรดลและพราง, แฝง ณ หู อย่าง, สบายดี.”

พระราชบันทึก

“คือผึ้งไปตอมกินนํ้ามันที่เยิ้มที่ขมับช้าง”

ฉะนี้ สหายข้าพเจ้าจํานนด้วยมีที่อ้าง, ฝ่ายข้าพเจ้าจํานนด้วยกลิ่นนํ้ามันช้าง, ต่างตกลงกันว่าเอาไว้สืบหาข้อเท็จจริงต่อไป.

๏ ๏ ๏

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ