- คำนำ
- ภาคหนึ่ง บนดิน
- หนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จกลับเบญจคีรีนคร
- สอง พบ
- สาม สู่ฝั่งแม่คงคา
- สี่ สาวน้อยผู้เดาะคลี
- ห้า รูปวิเศษ
- หก บนลานอโศก
- เจ็ด ในหุบเขา
- แปด ดอกฟ้า
- เก้า ใต้ดาวโจร
- สิบ รหัสยลัทธิ
- สิบเอ็ด งวงช้าง
- สิบสอง ที่ฝังศพของวาชศรพ
- สิบสาม เพื่อนบุณย์
- สิบสี่ ผู้เป็นสามี
- สิบห้า ภิกษุโล้น
- สิบหก เตรียมรับมือ
- สิบเจ็ด สู่ความเป็นผู้ละบ้านเรือน
- สิบแปด ในห้องโถงช่างปั้นหม้อ
- สิบเก้า พระศาสดา
- ยี่สิบ เด็กดื้อ
- ยี่สิบเอ็ด ในท่ามกลางความเป็นไป
- ภาคสอง - บนสวรรค์
- ยี่สิบสอง ภูมิสุขาวดี
- ยี่สิบสาม การต้อนรับแห่งชาวสวรรค์
- ยี่สิบสี่ ต้นปาริชาต
- ยี่สิบห้า บัวบาน
- ยี่สิบหก สร้อยแก้วตาเสือ
- ยี่สิบเจ็ด สัจจกิริยา
- ยี่สิบแปด บนฝั่งคงคาสวรรค์
- ยี่สิบเก้า ท่ามกลางกลิ่นหอมแห่งดอกปาริชาต
- สามสิบ มีเกิดก็มีตาย
- สามสิบเอ็ด ปิศาจที่บนลาน
- สามสิบสอง สาตาเคียร
- สามสิบสาม องคุลีมาล
- สามสิบสี่ นรกหอก
- สามสิบห้า การบูชาอันบริศุทธิ์
- สามสิบหก พระพุทธและพระกฤษณ
- สามสิบเจ็ด ดอกฟ้าเหี่ยว
- สามสิบแปด พรหมโลก
- สามสิบเก้า ความมืดแห่งโลกานุโลก
- สี่สิบ ในสุมทุมพุ่มไม้พระกฤษณ์
- สี่สิบเอ็ด โอวาทอย่างง่ายๆ
- สี่สิบสอง ภิกษุณีอาพาธ
- สี่สิบสาม มหาปรินิพพาน
- สี่สิบสี่ พินัยกรรมวาสิฏฐี
- สี่สิบห้า กลางคืนและรุ่งเช้าในสกลจักรวาล
ยี่สิบ เด็กดื้อ
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมจบลงแล้ว, กามนิตชายอาคันตุกะคงนั่งนิ่งอยู่นาน, ดวงจิตต์เกิดปั่นป่วนรวนเร ด้วยความสนเท่ห์สงสัยหนักใจหลายพันนัย, ถอนหายใจยาวกล่าวถามว่า “ท่านได้อธิบายถึงความที่ภิกษุในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ว่าควรจะตัดความทุกข์เสียได้มากพออยู่แล้ว. ก็แหละเมื่อร่างกายผู้นั้นจมลงในห้วงแห่งความตาย กลับคืนไปสู่สภาพซึ่งเป็นธาตุเดิม; นับแต่นั้นไป เทวดาและมนุษย์ หรือตลอดจนธรรมดา ก็ไม่เห็นเขาอีก. แต่ท่านยังมิได้กล่าวให้แจ้งว่าผู้นั้นตายแล้ว เป็นอย่างไรต่อไป. และเรื่องสวรรค์อันเป็นสถานบรมสุขที่ผู้ได้ขึ้นไปอยู่จะไม่รู้จักตาย ข้าพเจ้ายังไม่ได้ฟังสักน้อย. ก็พระพุทธเจ้าไม่ตรัสเรื่องนี้บ้างดอกหรือ?”
“เป็นดั่งนั้น, เป็นดั่งนั้น, ภราดา. พระศาสดามิได้รับรองเรื่องนี้เลย.”
“เช่นนั้นก็หมายความว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงทราบเรื่องอันสำคัญที่สุดแห่งบรรดาเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด, เป็นอันไม่ดีไปกว่าข้าพเจ้า.”
“ท่านเห็นเช่นนั้นหรือ? ดูก่อนอาคันตุกะ, จงฟังหน่อย, ณ ป่าไม้ประดู่ลาย
กามนิต: “ถ้าพระศาสดาได้ตรัสดั่งนั้นในป่าประดู่ลายใกล้กรุงโกสัมพี, เรื่องก็ซ้ำร้ายหนัก. เพราะถ้าเช่นนั้น, ก็หมายความว่าที่พระองค์ทรงนิ่งเสียไม่แย้มพรายเรื่องสวรรค์ คงเพื่อจะไม่ให้สาวกเกิดความท้อถอยว้าเหว่ใจในการพยายามหาความหลุดพ้นเพื่อความสูญนั่นเอง. ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าที่ไม่ทรงอธิบายคงเป็นด้วยลัทธิความประสงค์ดั่งที่ท่านแสดงมาชัดแจ้งอยู่แล้ว. ก็เมื่ออินทรีย์ทั้งหก เป็นของไม่เที่ยงไม่มีอาตมันตัวตน ควรละวางเสีย เพราะล้วนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์: ดั่งนี้จะมีชิ้นอะไรเหลืออยู่อีกเล่า ที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวกันต่อไป? ข้าแต่ท่านอริยะ, ตามหลักลัทธิที่ท่านแสดงให้ฟังนี้ ข้าพเจ้าจะต้องเข้าใจว่า ภิกษุผู้พ้นแล้วจากบาปมลทินทั้งสิ้น ย่อมตกเป็นเหยื่อแห่งความสูญ ในเมื่อร่างกายสลายแล้ว, คือตายแล้วก็สูญไปเท่านั้น: ไม่มีความเกิดความเป็นอีก.”
“ดูก่อน อาคันตุกะ, ท่านได้บอกเราแล้วมิใช่หรือ ว่าภายในหนึ่งเดือน ท่านจะไปเข้าเฝ้าแทบบาทมูลพระพุทธเจ้า ณ เชตวันจังหวัดสาวัตถี?”
“ข้าพเจ้าหวังไว้เช่นนั้น, ท่านผู้เจริญ. เหตุไฉนท่านจึ่งถาม?”
“กระนั้น เมื่อท่านได้เฝ้าแทบบาทมูลพระศาสดา, ท่านจะคิดว่าอย่างไร เมื่อได้เห็นพระรูปกาย? และเพียงอาจถูกต้องพระกายเท่านั้นหรือ ที่รู้ว่าพระองค์คือพระพุทธเจ้า?”
“หามิได้, ท่านผู้เจริญ.”
“หรือบางที, เมื่อพระศาสดาตรัสกะท่าน, ตัวท่านรู้สึกด้วยใจ. และความที่ตัวท่านเห็นขึ้นในดวงจิตต์นั้น เข้าใจว่าเป็นพระพุทธเจ้าหรือ?”
“หามิได้, ท่านผู้เจริญ.”
“ถ้าเช่นนั้น, รูปและนามหรือกายและใจรวมกัน คือ พระพุทธเจ้า?”
“ข้าพเจ้าไม่เห็นเช่นนั้นเลย, ท่านผู้เจริญ.”
“ถ้าเช่นนั้น, ท่านคิดหรือเปล่า ว่าพระพุทธเจ้ามีความเป็นอยู่นอกเหนือจากพระกายหรือพระมนัส, หรือว่านอกเหนือทั้งสองประการ? สหาย, ความเห็นของท่าน ดั่งนี้หรือ?”
“พระพุทธเจ้า, ตามที่ข้าพเจ้าคิดเห็น, ย่อมเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากสิ่งที่กล่าว. ภาวะแห่งพระองค์ไม่พึงเห็นได้จากสิ่งเหล่านี้.”
“เช่นนั้น ถ้ากาย อันมีลักษณะที่จะให้เกิดความรู้ขึ้นได้ ยังไม่เป็นเหตุให้ท่านรู้ว่าพระพุทธเจ้าแล้ว, มีอำนาจอย่างอื่นอะไรอีก ที่จะทำให้ท่านเห็นแจ้งในพระองค์?”
“ท่านผู้เจริญ, อำนาจอื่นดั่งที่ว่า ข้าพเจ้ายอมรับว่าข้าพเจ้าไม่มี-”
“ดูก่อน สหายกามนิต, ถ้าเช่นนั้น, ในโลกที่เห็นอยู่นี้ ตามความจริงท่านก็ไม่สามารถเห็นพระกายอันแท้ของพระพุทธเจ้าได้แล้ว ท่านจะควรกล่าวละ หรือว่าพระพุทธเจ้าหรือภิกษุที่หลุดพ้นจากบาปมลทินทั้งปวงนั้น เมื่อตายแล้วก็สูญ คือ ไม่มีอะไรเป็นได้อีกต่อไป ในเมื่อท่านไม่มีอำนาจญาณทรรศนะที่จะเห็นพระสาระอันแท้จริงของพระองค์ได้?”
กามนิตนั่งนิ่งก้มศีรษะอึดอัดใจอยู่ครู่ใหญ่ แล้วเกิดปฏิภานขึ้นมาแวบหนึ่ง, ตอบว่า-
“แม้ถึงข้าพเจ้าจะไม่มีสิทธิเพื่อกล่าวเช่นนั้นได้ก็จริงอยู่, แต่ก็ยังเห็นความที่พระพุทธเจ้าทรงนิ่งมิได้แสดงนั้นได้ชัดว่า ถ้าพระองค์มีสิ่งที่จะแสดงให้บังเกิดความปีติเป็นบำเหน็จได้แล้ว, พระองค์คงไม่ทรงนิ่งอยู่เท่านั้น. เพราะภิกษุซึ่งชนะความทุกข์ถ้าแจ้งว่าเมื่อตายไปแล้วไม่สูญ จะต้องได้รับบรมสุขเป็นนิรันดรไซร้, ก็ย่อมจะเกิดปีติเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงน้ำใจชุ่มชื่นยิ่งขึ้น ไม่แห้งแล้งเสียทีเดียว, ตั้งหน้าทำความเพียร.”
“สหาย, ท่านคิดเช่นนั้นหรือ? ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้ามิได้ชี้ความดับทุกข์ว่า เป็นสุดทางปฏิบัติหรือมิได้สอนให้กำหนดรู้ความความทุกข์เป็นปากทางปฏิบัติก่อน, เอาแต่พร่ำด้วยวิธียกสมบัติสวรรค์ในชาติหน้ามาชมเพื่อล่อใจว่าเมื่อตายแล้วจะไปเกิดใหม่ในสิบหกชั้นฟ้าได้เสวยศฤงคารสมบัติสวรรค์ในชาติหน้านั้นมีแต่ความสุขได้อย่างใจทุกประการ. เพียงเท่านั้นจะมีผลเป็นอย่างไร? คงมีสาวกอเนกอนันต์มีความเชื่อถือยินดีรับรองคำสอนไว้โดยเร็ว และคงเพียรพยายามเพื่อความหลุดพ้นจากโลกมนุษย์ด้วยความเต็มใจ. แต่หารู้สึกไม่ว่าความเพียรเพื่อหลุดพ้นแต่เป็นไปในอาการเช่นนี้ ย่อมเป็นการรั้งเอาตัณหา คือ ความร่านกระหายติดไปด้วยกันกับตนอย่างแน่นหนา, ต้องวนไปเวียนมาในเหตุแห่งความทุกข์แล้วก็ได้รับผล คือ ความทุกข์ จะหลุดทุกข์ไปไม่พ้นเลย. เปรียบเหมือนสุนัขเฝ้าบ้าน ผูกล่ามไว้กับเสา, พยายามจะให้หลุดพ้นเครื่องล่ามไป, แต่ก็รั้งเอาเครื่องล่ามนั้นไปด้วยรอบๆ เสา ก็หาหลุดไปได้ไม่, อุปมาฉันใด; ภิกษุผู้ตั้งความเพียรเพียงไรก็ตาม แต่เมื่อรั้งเอาตัณหาต้นเหตุทุกข์มาเพลินใจไว้ด้วย ก็ต้องวนเวียนรับทุกข์แล้วทุกข์เล่าไม่ออกจากภพน้อยภพใหญ่ไปได้ มีอุปไมยอย่างเดียวกัน.”
“ข้อนี้ ข้าพเจ้ายอมรับว่าเป็นอันตรายต่อการหลุดพ้นอยู่ เพราะอาจไปรับทุกข์. แต่ก็ยังเห็นว่า ลัทธิที่มาชี้แจงเสียอย่างนี้ ย่อมเป็นอันตรายร้ายกว่า เพราะทำให้ความเพียรที่บำเพ็ญมาแต่ต้นหย่อนล้า หมดอยากลงไป เพราะถ้าตายก็สูญไม่ได้ไปเกิดในสถานบรมสุข: ไม่ได้รับบำเหน็จที่ลงทุนเพียรเหนื่อยยากมา.”
“สหาย, ถ้าเรื่องจะเป็นอย่างต่อไปนี้ ท่านจะสำคัญอย่างไร? ต่างว่าไฟกำลังไหม้บ้าน, บ่าววิ่งเข้าไปปลุกนาย ว่า ‘ลุกขึ้นเถิดท่าน, รับหนีไปโดยเร็ว: ไฟกำลังไหม้บ้าน.’ ขณะนั้นหลังคาและไม้เคร่าถูกไฟไหม้กำลังจะร่วงตกลงมาอยู่แล้ว; ถ้านายจะตอบบ่าวว่า “เจ้าออกไปดูก่อน ว่าข้างนอกบ้านฝนตกหรือเปล่า มีพายุหรือเปล่า เดือนมืดหรือเปล่า ต่อฝนไม่ตก พายุไม่มี เดือนไม่มืด ข้าจึ่งจะออกจากบ้านไป.”
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ, ไฉนผู้เป็นนายจะกล่าวแก่บ่าวอย่างนี้? เพราะบ่าววิ่งเข้ามาปลุกด้วยความตกใจ บอกว่าให้หนีออกจากบ้านไป เพราะไฟไหม้ถึงเคร่า และหลังคากำลังจะตกลงมาอยู่แล้ว.”
“ก็ถ้าหากว่า ผู้เป็นนายจะตอบว่า “เจ้าออกไปดูก่อนว่าข้างนอกบ้านฝนตกหรือเปล่า มีพายุหรือเปล่า เดือนมืดหรือเปล่า; ถ้าฝนไม่ตก พายุไม่มี เดือนไม่มืด, ข้าจึ่งจะออกจากบ้านไป’ ดั่งนี้; ท่านคงจะเห็นว่าเรื่องที่บ่าวอันซื่อสัตย์ ได้มาบอกว่ากำลังเกิดภัยร้ายแรงอยู่ในบ้านนั้น ผู้เป็นนายคงฟังไม่เข้าใจไม่ใช่หรือ?”
“ท่านผู้เจริญ, ข้าพเจ้าก็ย่อมจะลงความเห็นเป็นเช่นนั้น เพราะคิดไม่เห็นเลยว่านายไหนจะเป็นบ้าพอถึงกับจะตอบอย่างนั้น.”
“ถูกแล้ว, อาคันตุกะ. ตัวท่านในเวลานี้ก็เหมือนกับมีเพลิงลุกฮืออยู่รอบศีรษะ เพราะบ้านของท่านกำลังถูกไฟไหม้. บ้านอะไร? โลกนี้ก็คือบ้านของท่านเอง. ถูกไฟอะไรไหม้? ถูกไฟคือความรักใคร่ ยินดี ไฟ คือ โทษะ และไฟ คือ ความหลงมาเผาอยู่. สกลโลกย่อมถูกไฟนี้เผาผลาญอยู่, สกลโลกอัดแน่นอยู่ด้วยควันไฟนี้, และสกลโลกก็สะท้านไหวจนถึงราก เพราะฤทธิ์ไฟนี้พลุ่งโพลงเต็มกำลังแรง.”
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอธิบายดั่งนี้, กามนิตมีอาการสั่นเทิ้มคล้ายลูกแหง่ที่ได้ยินเสียงบรรลือแห่งราชสีห์ในพุ่มไม้ใกล้ตัว, ทรุดกายยวบศีรษะตกฟุบอก, นั่งนิ่งคอตันเป็นครู่ใหญ่ ครั้นระบายลมหายใจได้บ้างแล้ว ก็กล่าวด้วยเสียงสั่นแต่กระด้างว่า “ตามที่อธิบายมานี้ อย่างไรก็ยังไม่เป็นทางที่ข้าพเจ้าพอใจ. พระพุทธเจ้าช่างไม่ทรงแสดงเรื่องที่ข้าพเจ้าอยากจะทราบเสียเลย. ถึงแม้พระองค์สามารถจะทรงชี้แจงได้ แต่มิได้ทรงแสดงให้เป็นที่ชื่นใจก็ดี, หรือทรงนิ่งเสีย เพราะทรงเห็นว่าจะไม่เป็นเหตุให้พ้นทุกข์ก็ดี, หรือว่าพระองค์ไม่ทรงทราบเลยก็ดี: เหล่านี้, จะด้วยอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม, ข้าพเจ้าก็มิได้พอใจด้วยทั้งนั้น. เพราะความคิดและความพยายามของมนุษย์ย่อมมุ่งหาความสุขความบันเทิง; เมื่อไม่มีชิ้นอะไรล่อใจให้หวังเสียก่อน, ก็ไม่พยายามเท่านั้น ว่ากันทำไมมี. และเมื่อมีพยายามย่อมมีหวัง, แต่นี่พยายามไปหาความหมดหวัง: เราจะไม่ต้องทำความพยายามให้ลำบากมิดีหรือ? เพราะความสุขความบันเทิงเป็นมูลแห่งธรรมชาติไม่ว่าสัตว์หรือมนุษย์. และเพื่อให้สมตามนี้ ข้าพเจ้าได้ยินคำอธิบายของพราหมณ์ว่าดั่งนี้-
“ต่างว่า ชายหนุ่มคนหนึ่ง เป็นผู้สามารถรักความรู้ ว่องไว แข็งแรง มีอำนาจยิ่งกว่าชายหนุ่มทั้งหลาย โลกพร้อมด้วยขุมทรัพย์ที่มีอยู่ก็ตกเป็นสมบัติของชายหนุ่มคนนี้: นี่คือความบันเทิงสุขอันควรแก่มนุษยชาติ. แต่ความบันเทิงสุขของมนุษย์นี้ร้อยเท่า เป็นความบันเทิงสุขของบุพพะเปตะบุรุษบนสวรรค์. ความบันเทิงสุขของบุพพะเปตะบุรุษในสวรรค์ร้อยเท่า เป็นความบันเทิงสุขของเทวดาสามัญ, ความบันเทิงสุขของเทวดาสามัญร้อยเท่า เป็นความบันเทิงสุขของพระอินทร์. ความบันเทิงสุขของพระอินทร์ร้อยเท่า เป็นความบันเทิงสุขของพระประชาบดี. ความบันเทิงสุขของพระประชาบดีร้อยเท่า เป็นความบันเทิงสุขของพระพรหม. นี้คือ ความบันเทิงสุขอันเลิศ, นี้คือ วิธีไปสู่ความบันเทิงสุขอันเลิศ.”
พระพุทธเจ้า: “ดูก่อนอาคันตุกะ, ทั้งนี้ก็เช่นเด็กไม่เดียงสาคนหนึ่งกำลังยืนอยู่. เด็กคนนี้ปวดฟันเจ็บร้าวไปหมด พอเห็นแพทย์ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญก็วิ่งไปหาและบอกถึงความทุกข์ให้ฟังว่า “ข้าพเจ้าขอความกรุณาให้ใช้ความรู้ของท่านช่วยทำให้รู้สึกเกิดปิติสุข แทนความเจ็บปวดที่มีอยู่ในขณะนี้.” แพทย์ตอบว่า ‘ความรู้ที่มีอยู่ก็คือถอนเหตุเจ็บปวดนั้นเสีย; ที่จะทำให้เกิดความสุขทั้ง ๆ ไม่ถอนเหตุเจ็บปวดเสียก่อนย่อมไม่ได้’ แต่เด็กนั้นไม่พอใจ คร่ำครวญว่า ‘ได้ทนความเจ็บปวดรวดเร้าที่ฟันมานานแล้ว จึ่งควรได้รับรสแห่งความบันเทิงสุขแทน.และก็ได้ทราบว่ามีแพทย์วิเศษที่สามารถทำให้เกิดความสุขได้ โดยไม่ต้องถอนฟันที่เจ็บออก: เข้าใจว่าท่านคือแพทย์วิเศษที่อาจทำได้ เมื่อท่านไม่สามารถจะทำได้ก็ต้องไปหาแพทย์อื่น;’ ว่าแล้วเด็กคนนั้นก็ไป. มีแพทย์เถื่อนทำปาฏิหาริย์เล่นกลได้ มาจากแคว้นคันธาระตีกลองร้องโฆษณาว่า ‘ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง. ความไม่มีโรคเป็นที่มุ่งของมนุษย์. ผู้ใดมีความเจ็บป่วยทนทุกขเวทนาร้ายแรงเพียงไร ก็อาจรักษาให้กลับเป็นผู้มีแต่ความสุข ความบันเทิงทั่งทั้งสรรพางค์กายได้ โดยเสียค่ารักษาอันย่อมเยาว์.’ เด็กเจ็บฟันวิ่งไปหาแพทย์เล่นกล และขอให้ช่วยเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นความบันเทิงสุขด้วย. แพทย์เล่นกลก็อวดอ้างและรับรองว่าตนมีความรู้ความชำนาญในทางนี้, ว่าแล้วเรียกเงินค่ารักษาเสียก่อน, เอานิ้วแตะที่ฟัน, เสกกถาอาคมตามพิธี. เด็กนั้นรู้สึกหายเจ็บปวด, วิ่งกลับบ้านโดยความแช่มชื่นรื่นเริงเป็นความสุข.
“ต่อมาไม่ช้า ครั้นความรู้สึกเป็นความสุขนั้นค่อยจืดจางลงไป, ความเจ็บปวดก็มาแทนที่อีก. ทั้งนี้เพราะอะไร? ก็เพราะไม่ถอนเอาต้นเหตุแห่งความปวดนั้นออกเสียก่อน.”
“ดูก่อนอาคันตุกะ, แต่ต่างว่า ชายคนหนึ่งเจ็บฟันปวดสาหัส แต่เป็นผู้มีความคิด, ได้ไปหาแพทย์ผู้มีความชำนาญ. แพทย์บอกว่าจะต้องจัดการที่ตรงฟันปวดจึ่งจะได้. ชายคนนั้นบอกว่า ก็มีความต้องการอย่างนั้น. แพทย์จึ่งตรวจดูที่ฟัน, เห็นต้นเหตุว่าที่ปวดเป็นเพราะเหงือกอักเสบ, ได้แนะนำให้เอาปลิงเกาะดูดเลือดร้ายออกมาเสียก่อน แล้วเอายาพอก. ชายผู้นั้นทำตามแนะนำ. ความเจ็บปวดก็หายขาด: ไม่กลับมาอีก. ทั้งนี้เพราะอะไร? ก็เพราะถอนเอาต้นเหตุแห่งความเจ็บปวดออกเสีย.”
เมื่อพระศาสดาทรงชักอุทาหรณ์ขึ้นเปรียบเทียบดั่งนี้, กามนิตนั่งนิ่งคอตกหมดปฏิภานไม่ทราบว่าจะโต้อย่างไร, แต่ก็ยังไม่ยอมตนที่จะเป็นเหมือนเด็กไม่เดียงษาในอุทาหรณ์, ในที่สุด สงบอารมณ์อันป่วนปั่นได้แล้ว ก็ถามเสียงกระเส่าๆ ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ, ข้อความที่กล่าวมาทั้งนี้ ท่านได้ยินมาจากพระโอษฐพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเองหรือ?”
พระพุทธเจ้าทรงยิ้มน้อยๆ ซึ่งพระอาการอย่างนี้นานๆ จักมีสักครั้งหนึ่ง, ตรัสตอบว่า “ดูก่อนภราดา, เราบอกไม่ได้ว่าได้ยินมาจากพระโอษฐพระศาสดาเอง.”
เมื่อกามนิตได้ฟังดั่งนี้ ก็มีอาการโล่งใจหายหดหู่ตัว มีดวงตาแจ่มใสขึ้น เสียงก็หายกระเส่า, ออกอุทานว่า-
“นั่นนะซี! ข้าพเจ้าไม่แน่ใจในคำกล่าวของท่านมาก่อนแล้ว. บัดนี้รู้แจ้งว่าคำอธิบายที่ท่านกล่าวหาใช่ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าไม่, แต่เป็นโวหารอ้อมค้อมที่ท่านนึกเฉลยเอาเองโดยความเข้าใจผิด. แท้จริงธรรมพระพุทธเจ้าย่อมอำนวยผลประโยชน์ในเบื้องต้นในท่ามกลาง และในที่สุด? ดั่งนี้ ใครจะอาจกล่าวหลู่หลักธรรมอันนั้นได้ว่ามิได้อำนวยผลบันเทิงสุขอย่างยอดเยี่ยมให้? อย่างไรก็ดีในอีกสองสามสัปดาห์ ข้าพเจ้าก็จะได้เฝ้าพระศาสดาแทบพระบาทมูล แล้วรับเอาซึ่งพระธรรมเพื่อหลุดพ้นโดยตรงจากพระโอษฐ์เอง เหมือนดั่งทารกที่ได้ดูดสิ่งโอชาอันชุ่มชื่นจากอกมารดาเองฉะนั้น. และท่านก็จะได้ไปเฝ้าด้วย แล้วรับเอาพระธรรมอันแท้จริง, ตัวท่านก็จะเปลี่ยนความเข้าใจอันกวัดแกว่งนี้เสียได้. เชิญท่านดูดวงจันทร์อันแหว่งที่เลื่อนลอยไปถึงแนวชายคาหอนั่งแล้ว: คงเป็นเวลาดึกมากอยู่ ควรที่เราจะพักผ่อนนอนกันเถิด.”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดีแล้ว, พลางทรงชักพระอุตราสงค์คลุมพระกายแนบแน่นเป็นปริมณฑล, เอนองค์ลงเหนือพระสันถัตในอาการสีหศัยยา: พระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียร พระบาทซ้ายซ้อนพระบาทขวา, ทรงกำหนดเวลาที่จะเสด็จตื่นบรรทม ดำรงพระสติสัมปชัญญะเข้าสู่ภวังคนิทรารมณ์.
๏ ๏ ๏
-
๑. สีสปาวัน ในอภิทานนัปปทีปิกา ๔๗๑ แปลว่า ประดู่ลาย. ในบทแปดที่แล้วมาแปลว่า ไม้สีเสียด, ขอแก้เป็นประดู่ลายทั้งหมด. ↩