สามสิบหก พระพุทธและพระกฤษณ

แสงแดดในเวลาเย็นส่องเป็นทาง ๆ เข้าตามช่องโหรงของหมู่ไม้ ประดุจว่าอำนวยสวัสดีจากสรวงสถาน มาสู่สัตบุรุษซึ่งชุมนุมสงบเงียบ ตั้งใจคอยสดับพระธรรมเทศนาในลำเนาป่าอันร่มรื่น. แลลอดขึ้นไปทางช่องว่างระวางยอดไม้ เห็นก้อนเมฆที่ต้องแสงแดดจับสลับสีเป็นชั้น ๆ ดูงามตา เลื่อนลอยไปในกลางฟ้าสีน้ำเงิน ปานว่าเทพบุตรเทพธิดามาชุมนุมกันเป็นอิกบริษัทหนึ่ง.

อันเทวาลัยซึ่งผนังดำคร่ำด้วยความชรา ประหนึ่งว่ายินดีรับเอาแสงแดดกำลังรอน ๆ จวนจะเลือนหายไปจากฟ้า เปรียบด้วยชายชราได้ดื่มน้ำทิพย์แล้วกลับฟื้นคืนความกระชุ่มกระชวยขึ้นฉะนั้น. ภายล่างแห่งแสงซึ่งเรื่องรองดั่งทองทา ประสมกับเงาไม้กลายเป็นสีม่วงแลดูเต้นระยับไปทุกแห่งหน. ถึงเวลาตอนนี้ ที่ประชุมสงบเสียงเงียบยิ่งกว่าเก่า เงียบจนดูเหมือนใบไม้ที่เคยไหวก็หยุดเงียบไปด้วย.

ครั้นแล้วพระพุทธองค์เริ่มแสดงพระธรรมเทศนา ประทับยืนบนขั้นบันไดเทวาลัย ซึ่งแต่กาลก่อนหลายร้อยปีมาแล้ว บรรพบุรุษของเราเคยพากันมาบูชาพระกฤษณ์ เพื่ออนุสสรณ์ถึงกิจการที่พระกฤษณ์รับทุกข์ลำบากมาแล้วในโลกนี้, แล้วผู้บูชาจะได้มีใจต้านทานความตรากตรำโดยยึดพระองค์เป็นแบบอย่าง เมื่อตายแล้วจะได้ไปสู่สวรรค์เสวยทิพยสุข. แต่บัดนี้ พวกเราซึ่งเป็นผู้สืบสาโลหิตจากท่านบรรพบุรุษที่กล่าวแล้ว ได้มาชุมนุมกันเพื่อฟังสัจจธรรมของจริง จากพระโอษฐ์พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วศึกษาพิจารณาให้เห็นแจ้งทางดำเนิรชีวิตอันหมดจดบริศุทธิ์, และในที่สุดให้มีชัยชะนะเหนือดำฤษณา คือ ความดิ้นรนทะยานอยากต่อสิ่งแปรปรวนไปเสมอไม่เป็นของคงที่, บรรลุที่สุดแห่งทุกข์ถึงพระนิพพาน.

พระองค์ตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย, จงมองดูรูปหินนั้น นายช่างฝีมือเอกครั้งโบราณนานมาแล้ว ได้สลักเป็นรูปพระกฤษณ์ต่อสู้กับช้าง,” พลางทรงชี้ไปที่รูปศิลาสลักแผ่นใหญ่ ห่างจากฉันไปไม่กี่มากน้อย, ข้างหนึ่งจมลงในกอหญ้า อิกข้างหนึ่งมีเสาค้ำไว้. แสงตะวันครั้งสุดท้ายในเวลาจวนจะค่ำ ฉายพุ่งตรงต้องแผ่นศิลานั้น ให้เห็นรูปสลักชัดและจำได้ทันที: คือ รูปชายหนุ่มเหยียบอยู่บนศีรษะช้างที่ล้มลง งาข้างหนึ่งถูกชายหนุ่มคือพระกฤษณ์กระชากหักสะบั้น.

แล้วทรงเล่าย้อนถึงพญากงศ์เจ้ากรุงมถุรา กษัตริย์โหดร้ายทารุณ ออกอุบายชักชวนพระกฤษณ์ให้เข้าไปแข่งขันฝีมือเพื่อชิงรางวัลในพระราชวัง, และบอกความลับแก่ควาญช้างให้ปล่อยพลายศึกตัวที่ดุที่สุด ออกจากโรงเพื่อสังหารพระกฤษณ์ ณทางจะเข้าไปสนามแข่งขัน. พระกฤษณ์ประหารช้างนั้น หักงาเสียข้างหนึ่ง, ถือเข้าไปในสนามแข่งขันมีโลหิตอาบทั่วกาย กระทำให้พญากงศ์ตกใจเป็นอันมาก.

พระพุทธเจ้าทรงเล่าต่อไปว่า แม้พระองค์เองก็ถูกศัตรูออกอุบายให้ช้างที่ดุเดือดมาประทุษร้ายเหมือนกัน. เมื่อทอดพระเนตรเห็นช้างแล่นแปร๋แปร้นปราดมา กลับทรงกรุณามันหนัก เพราะถูกมนุษย์ใจบาปกักขฬะเอาหอกทิ่มแทงตามตัว จนโลหิตโซมหน้าอก. มิใช่แต่เท่านั้น สัตว์นี้ ตามปกติย่อมกล้าหาญมีกำลังมาก หากต้องตกเป็นเหยื่อแก่โทษะบ้าร้ายไม่รู้จักผิดชอบ เพราะขาดปัญญา, ครั้นถูกคนบาปหยาบช้าทำทารุณต่อมันเสมอ จนเกิดบ้าคลั่งดีเดือดแล้วไล่ต้อนให้มาทำร้ายพระองค์ ดั่งนี้ ควรจะได้รับความสมเพชยิ่งขึ้น. เมื่อบังเกิดพระกรุณาธิคุณพรหมวิหารเต็มในพระกมลสันดาน, พระองค์มิได้มีหฤทัยสะดุ้งต่ออันตรายภายนอก, ทรงรำพึงว่า “ถ้าเราจักบันดาลให้แสงสว่างแม้แต่น้อยฉายเข้าไปทำลายความมืดมนอนธการในช้างนั้น, ก็จะเป็นปัจจัยเปิดช่องแก่ความสว่างทวีขึ้นโดยลำดับ จนได้มีโอกาสไปเกิดเป็นมนุษย์ และสดับพระธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งครั้งหนึ่งได้พยายามประหาร. และพระธรรมนั้น จะเป็นเครื่องช่วยให้มันพ้นทุกข์.”

เมื่อทรงพุทธดำริดั่งนี้, ก็หยุดพระดำเนิรอยู่กลางทาง ยกพระหัตถ์ประทานอภัยแก่ช้างซึ่งกำลังมุเดือด และค่อย ๆ ทรงเผยพระปิยวาจาอ่อนหวานประโลมใจ. ช้างร้ายได้ยินก็หยุดชะงัก ส่ายศีรษะ ร้องก้องโกญจนาทสองสามหน ชูงวงเร่ร่อนไปมา เสมือนช้างที่ถูกอาวุธกำลังแสวงหาที่พึ่งฉะนั้น. ครั้นแล้วมันค่อยย่างช้า ๆ ตรงเข้าไปยังพระองค์, พอเข้าไปใกล้ในระยะสองสามก้าว, ก็เทาเข่าลงเหมือนอย่างที่เคยย่อให้เจ้าของขึ้นนั่ง, แล้วเดิรดุ่มโดยเสด็จเข้าไปในอุทยาน ซึ่งเป็นทางที่จะเสด็จไป, กระทำให้ศัตรูของพระองค์พรึงเพริดแลดูตากัน.

พระพุทธเจ้าทรงยกเรื่องขึ้นเปรียบเทียบด้วยประการฉะนี้.

เมื่อฉันได้ฟังเรื่องนี้ และนึกถึงเรื่ององคุลิมาล ที่เมื่อวานนี้เองมีเจตนาร้ายต่อพระพุทธเจ้า แต่กลับเป็นผู้สิ้นพยศถวายตนออกบรรพชาเป็นพระภิกษุ และนั่งมีอากัปปกิริยาเคร่งครัด กลายเป็นคนละคนอยู่ตรงข้ามฉัน, ดั่งนี้ จะให้ฉันนึกเห็นเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร? และดูเหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสจะมุ่งหมายจะโปรดฉันเป็นพิเศษ เพราะถ้าพูดสำหรับผู้มาฟัง, ยกเว้นพระภิกษุภิกษุณีผู้พหูสูตแล้ว, ก็เหนจะมีแต่ฉันคนเดียวที่เข้าใจในประเด็นของเรื่องที่ทรงสาธก.

ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องพระกฤษณ์ต่อไป ผู้มีชายาเป็นจำนวนหมื่นหกพันร้อยคน ที่บรรพบุรุษของเราเคยนับถือบูชาเช่นนี้ณเทวาลัยนี้. ดั่งได้ยินมา พระกฤษณ์ริบทรัพยศฤงคารทั้งหมด จากปราสาทท้าวนรกาสูร. และถึงฤกษ์งามยามดีวันหนึ่ง พระกฤษณ์ได้เหล่านางพรหมจาริณีทั้งหมดเป็นชายา และสมสู่อยู่ด้วยนางเหล่านี้ในคราวเดียวได้ทุกคน. นางพรหมจาริณีเหล่านี้ มีจำนวนได้หมื่นหกพันร้อยคน, อาศัยที่พระกฤษณ์แบ่งภาคไปสมสู่อยู่ด้วยทั่วกัน, ต่างย่อมเข้าใจว่าพระกฤษณ์โปรดไปสมัครสังวาสกับตนผู้เดียวเท่านั้น.

พระบรมศาสดาตรัสต่อไปว่า “และด้วยประการเช่นเดียวกัน เมื่อเราได้แสดงสัจธรรม ต่อหน้าบริษัทสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ล้วนจึ่งต่างฟังและเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมนี้แก่ตนผู้เดียว.” และพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องพระกฤษณ์ต่อไป. ตามความเชื่อของบรรพบุรุษเรา นับถือว่าพระกฤษณ์ คือ พระเจ้าทรงรักษาและถนอมสกลโลก. ด้วยความกรุณาในสรรพสัตว์ พระองค์แบ่งภาคอวตารจากสรวงสถานมาทรมานพระกายในมนุษยโลก ฉันใดก็ดี ผ่ายพระองค์ก็ได้ทรงทรมานพระกายแสวงหาวิโมกษธรรม จนได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์พระพุทธเจ้า. ในชั้นแรกที่เสวยวิมุติสุข พระองค์ท้อพระหฤทัยที่จักแสดงพระธรรมอันล้ำลึกนี้แก่ผู้อื่น ด้วยทรงเห็นเหล่าประชากรมัวเมาจมลงในความบันเทิงโลกิยสุข ยากที่จะกลับใจมาเห็นผลการข้ามขึ้นจากสิ่งที่ติดใจในโลก เพื่อดับความกระหายดิ้นรนอยากได้ใคร่มี คือ ความเกิด. ถ้าจะทรงแสดงหลักธรรมก็ฝืนกระแสกิเลสของเขา, จะไม่มีใคร ๆ ยอมฟังเห็นแจ้งได้ง่าย. ครั้นแล้วทรงตรวจดูด้วยพระญาณวิถีอิกครั้งหนึ่ง, ก็ทรงเห็นปานว่าดอกบัวในสระ บางดอกยังอยู่ใต้น้ำบางดอกขึ้นมาปริ่มน้ำ บางดอกโผล่พ้นจากพื้นน้ำแล้ว. สรรพนรชนในสงสารโลกก็มีลักษณะเหมือนดอกบัว ที่ปัญญาต่ำทรามก็มี ที่พื้นฉลาดพอเข้าใจทันก็มี ที่ปรีชาเฉียบแหลมเชาวน์ไวก็มี. ถ้านรชนเหล่านี้ที่พอโปรดได้ ไม่ได้ยินได้ฟังธรรมของพระองค์, ก็จะเลยหลงไปในทางผิดหมดโอกาสถอนตนขึ้นได้. ถ้าได้ทรงแนะวิถีธรรมให้, บางผู้มีฝ้าอันกำบังตาเบาบาง อาจเห็นแจ้งในพระธรรมได้เหมือนกัน. เนื่องด้วยพระกรุณาธิคุณเต็มเพียบในชาวโลกดั่งนี้ จึ่งอธิษฐานพระหฤทัยเลิกจากความเป็นผู้ขวนขวายน้อยปลีกพระองค์เสวยวิมุติสุข ทรงพระอุตสาหะเสด็จจารึกประกาศศาสนธรรมแก่เวไนยนิกร. ที่พระพุทธเจ้าทรงสาธกเรื่องพระกฤษณ์อวตารจากสวรรค์ เสวยชาติเป็นมนุษย์ทำความสวัสดีแก่โลก ด้วยความยากแค้น ซึ่งบรรพบุรุษเคยยึดหน่วงเป็นอนุสสรณ์สำหรับกะตุ้นใจให้มีกำลังอดทนความลำบากต่าง ๆ จะได้ตั้งหน้าทำความดีนั้น, ก็เพื่อให้พุทธเวไนยผู้บุตรหลานบรรพบุรุษนั้น ๆ ได้รู้สำนึกความยากแสนเข็ญที่ทรงเผยแผ่พระธรรมอันสุขุมคัมภีรภาพ แล้วและจะได้เกิดพลอินทรีย์ต้านทานความอ่อนแอจากอำนาจกิเลสต่าง ๆ พยายามบากบั่นบำบัดเพลิงราคะโทษะโมหะให้ดับมอด ประสพแต่ความเย็นใจ คือ พระนิรพาน ด้วยวิโมกษธรรม.

เมื่อพระองค์ตรัสตอนนี้ ตัวฉันรู้สึกปีติอิ่มเอิบใจ, เพราะฉันคงเป็นผู้หนึ่ง ซึ่งทรงเห็นว่าเสมือนดอกบัวที่ผุดขึ้นพ้นพื้นน้ำแล้ว, และด้วยพระมหากรุณาคุณ ฉันคงปฏิบัติโมกษธรรมบรรลุความหลุดพ้นจากเพลิงทุกข์ได้สักวันหนึ่งในภายหน้า.

ต่อไปพระบรมศาสดาทรงพรรณนากิจการแห่งวีรบุรุษ คือ พระกฤษณ์ ที่ได้ปลดเปลื้องความเดือดร้อนลำเค็ญแห่งโลก ให้พ้นทารุณกรรมจากสัตวบาป ยังความศานติสุขให้เกิดแก่บรรดาสรรพสัตว์, แล้วทรงบรรยายเรื่องพระกฤษณ์ปราบงูน้ำชื่อกาลิยะ ฆ่าอริษฎาสูรผู้แปลงเป็นโค และเธนุกาสูรซึ่งแปลงเป็นลา และกำจัดท้าวพญาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม มีพญากงศ์และพญาโปณฑรกเป็นต้น; โลกจึ่งพ้นจากยุคเข็ญมิคสัญญี.

แต่ว่าในส่วนพระบรมศาสดา พระองค์มิได้ทรงต่อสู้กำจัดศัตรูภายนอกด้วยเวรประติเวร, แต่ว่าทรงสั่งสอนให้กำจัดศัตรูภายใน ได้แก่ความโลภ ความโกรธ ความหลง. พระองค์มิได้ทรงปลดเปลื้องความทารุณกักขฬะอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ว่าทรงปลดเปลื้องทุกข์ให้หมดสิ้นเชิงเท่านั้น. แล้วทรงกล่าวถึงความทุกข์ซึ่งมีอยู่ทั่วสากลและติดตามตนไปเหมือนเงา. ฉันรู้สึกเหมือนมีใครค่อยผะจงยกเอาความหนักที่ท่วมทับหัวใจ คือความทุกข์ในความรักไปทิ้งเสีย, เหลืออยู่แต่ความเบาใจเป็นความสุข. เกิดความเห็นว่าตัวฉันไม่ควรสงวนสิทธิ์ที่รับความสุขนี้ตลอดกาลแต่ผู้เดียว เมื่อคนอื่น ๆ ยังเพียบด้วยทุกข์อยู่, สมควรเผื่อแผ่แก่คนเช่นเมทินี ซึ่งมีอาการงง ๆ ในกระแสพระพุทธโอวาท. ว่าแต่สำหรับฉันได้เสพความสุขนี้แล้ว: ความสุขนี้ได้เกิดมีแก่ฉัน, ครั้นคลี่คลายขยายตัวแล้ว ก็คงจะล่วงพ้นไป, ตามนัยที่พระองค์ทรงแสดง ว่าสิ่งทั้งปวงย่อมมาแต่เหตุ, เมื่อถึงกำหนดสิ้นเหตุก็ล่วงไป ๆ. อันความแปรผันไม่คงที่นี้ คือมายา, แต่ความหลงปิดบังไม่ให้บุุทคลเห็นเลยเป็นเหตุก่อทุกข์เดือดร้อนใจ. ตราบใดความดิ้นรนเพื่อความอยากได้ใคร่เป็นอยู่ยังมิได้ถูกทิ้งถอนจนกะทั่งราก, ตราบนั้นทุกข์ย่อมติดตามไปด้วยทุกขณะ บุุทคลจะหนีทุกข์ไม่พ้นตราบใด ยังปล่อยให้ความดิ้นรนนี้งอกงามอยู่เสมอ ชวนเกิดความปรารถนาต่อหรือยักใหม่เรื่อยไป, ตราบนั้นทุกข์ก็ยังคงทับถมหนาแน่นอยู่. เมื่อบุุทคลยังติดใจในความเป็นโน่นเป็นนี่อย่างไม่จืดจาง, เขาย่อมชื่อว่าเป็นเครื่องมือเพิ่มกำลังความรัดรึงตนให้กระชับแน่นในสงสารวัฏ, ยิ่งจมดิ่งในความทุกข์ลงทุกที ไม่มีทางโผล่พ้นน้ำได้. เมื่อฉันเห็นแจ้งดั่งนี้, เลยไม่บ่นครวญความทุกข์ที่ได้รับอยู่. และเมื่อได้ฟังพระพุทธโอวาทแล้ว, ก็เกิดความสว่างขึ้นในใจว่าแต่นี้ไป สรรพสัตว์จะไม่จำเป็นต้องเสวยทุกข์เรื่อยไป, เพราะถ้าได้ชำระดวงจิตต์ให้ผ่องแผ้วจากมูลเศร้าหมองพ้นความดิ้นรนอันเป็นตัวการณ์แล้ว ก็ย่อมบรรลุภูมิสิ้นทุกข์ทั้งหมด.

และพระพุทธเจ้าทรงชี้แจงทางพ้นทุกข์จากสงสารวัฏ ด้วยวิธีกำจัดภพ คือความเกิด, กำจัดความดิ้นรนแส่อยาก และความหลงผิดในมายา, ให้สิ้นแล้ว ก็บรรลุความดับรอบข้าง คือ พระปรินิพพาน. เป็นคำชี้แจงอันอัศจรรย์. นิพพานเปรียบเหมือนเป็นเกาะโดดเดี่ยว อยู่ท่ามกลางมหาสมุทรอันเดือดร้อนด้วยความเกิดมา, มีหน้าผาศิลาแห่งชายเกาะนี้ ถูกคลื่น คือ มฤตยูซัดสาดไม่เยือกไหว กับกระจายตีฟองคืนสู่ทะเลห้วงสงสารวัฏตามเดิม. ในมหาสมุทรนี้ มีเรือ คือ พระธรรมแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า แล่นตัดไปสู่เกาะนั้นโดยปลอดอันตราย แต่ต้องฝ่ามรสุม คือ ตัณหามานะทิฐิ. และที่ทรงกล่าวถึงสถานบรมสุขนั้น, มิใช่ตรัสตามปรัมปรา หรือจากกวีผู้ร้อยกรองตามความนึกความฝันของตน, แต่ทรงแสดงตามที่ได้ทรงประสพตรัสรู้มาแล้วด้วยพระองค์เอง

จริงอยู่ ธรรมที่พระองค์ทรงปริยาย มีอยู่มาก แต่ฉันไม่ได้รับการศึกษาทางธรรมมาก่อน ข้ออรรถฟังไม่เข้าใจก็มีไม่น้อย เพราะเป็นของแปลกทั้งสุขุมลึกซึ้ง. แม้ผู้มีภูมิรู้สูงก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้ง่ายในทันที. มีบางข้อบางความ ที่ฉันยังเข้าใจไม่ได้ เช่นว่า ความมีความเป็น และความไม่มีความไม่เป็น ย่อมมีในคราวหนึ่งคราวเดียวกัน, ไม่ใช่ชีวิต แต่ก็ไม่ใช่ว่าไร้ชีวิต. แต่กระนั้นฉันยังรู้สึกเหมือนผู้ได้ฟังเพลงใหม่ ซึ่งไม่เหมือนกับเพลงที่เคยได้ยินมา แต่ว่าเป็นเพลงที่อาจเข้าใจความได้บ้าง. ส่วนรสไพเราะนั้นชำแรกแทรกซึ้งเข้าไปในดวงจิตต์ กระทำให้เหมือนว่าเข้าใจความได้ตลอดทุกข้อทุกประการ. ก็เพลงนั้นเป็นเพลงอะไรเล่า? เป็นบทเพลงที่แจ่มใสบริศุทธิ์ปานดวงแก้วที่สะอาดหมดจด, ซึ่งเทียบกับเสียงอื่น เสียงเพลงที่ได้ยินนี้คล้ายมธุรสที่ได้ยินวังเวงอยู่แต่ไกล มาจากสวรรค์เบื้องบนอันสูงลิบ, บังเกิดความปรารถนาอย่างใหม่ ซึ่งไม่ได้นึกฝันขึ้นมาทันที เท่ากับคนหลับ ณที่เดิมและตื่นขึ้นณที่ใหม่รมณียสถานฉะนั้น.

ขณะนั้น มืดค่ำลงแล้ว พระจันทร์อันส่องแสงอ่อน ๆ โผล่เป็นดวงโตมาทางหลังเทวาลัย, ฉายเงาเทวาลัยนั้น พุ่งเป็นทางดำยาวไปตลอดลำเนาป่า. ฉันคุกเข่าประคองอัญชลี สงบใจนิ่งฟังพระธรรมเทศนา, นัยน์ตาแหงนขึ้นสู่ฟากฟ้า ซึ่งมีดวงดาวน้อยใหญ่ส่งแสงวะวับแวม อยู่เหนือยอดไม้อันเป็นเงาดำถมึงทึง, เห็นแม่คงคาในสวรรค์ผ่านไปในกลางหาวเหมือนแม่น้ำอันเรืองระยับไหลผ่านไปฉะนั้น. ขณะนั้น ก็พลันกระหวัดถึงวันที่เราทั้งสอง ได้มาพบปะณที่เดียวกันนี้ ได้ให้สัตย์สัญญากันต่อแม่คงคาในสวรรค์ - ซึ่งเป็นที่หล่อเลี้ยงสระบัว ที่เราได้มาพบกันอิกในแดนสุขาวดีนี้ เป็นสวรรค์อันกอปร์ด้วยบันเทิงสุข ที่บรรพบุรุษของเราเคยอ้อนวอนบูชาพระกฤษณ์ - ขอให้ได้ขึ้นมาอยู่ ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสมาแล้ว

เมื่อฉันหวนนึกถึงความหลังดั่งนี้ กลับเกิดความเศร้าใจ, แต่ความทะเยอทะยานที่ปรารถนาจะไปเสวยความสุขในแดนสุขาวดีนั้นสิ้นไปแล้ว, เพราะมีความปรารถนาที่วิเศษกว่า ซึ่งเล็งเห็นด้วยจักษุญาณเป็นความสว่างแต่ราง ๆ ขึ้นบ้างแล้ว.

ความโทรมนัสย์ความคับแค้นใจ ในเหตุที่ความหวังในความรักอย่างยอดยิ่งมากะทบอุปสรรคพลันละลายไป ในบัดนี้ไม่มีแล้ว เมื่อได้ยินพระบรมศาสดาตรัสว่า -

“มีเกิดก็มีตาย ถึงแก่ความทำลายไปจนสิ้น;

เหมือนกับสวนในโลก และดอกฟ้าในสวรรค์ก็ย่อมร่วงโรยไป.”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ