สี่สิบสาม มหาปรินิพพาน

ฉันยังมีกำลังน้อยอยู่ เดิรทางไกลเรื่อยทุกวันไปไม่ไหว จำเป็นต้องหยุดพักในบางวัน เพราะฉะนั้นจึ่งรอนแรมมาตั้งหนึ่งเดือน กว่าจะถึงเมืองเวสาลี, ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่เมืองนี้ช้านาน แต่ได้เสด็จออกจากเมืองไปเมื่อล่วงมาสักหกสัปดาหนี้เอง.

ก่อนหน้านี้เล็กน้อย ได้ยินข่าวจากชาวบ้านตำบลหนึ่งซึ่งเป็นพุทธบริษัทว่า พระศารีบุตรและพระโมคคัลลานนิพพานเสียแล้ว. เมื่อมาได้ทราบข่าวพระอัครสาวกทั้งสอง ซึ่งเรานับถือว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในลัทธิธรรม ไม่ได้อยู่ในโลกนี้ต่อไปแล้ว, ใจก็สลดผอยลง. อันที่จริงมิใช่ไม่รู้ว่า พระอัครสาวกหรือองค์สมเด็จพระศาสดา ก็มีพระกายพระชีพเป็นมนุษย์อย่างเรา, แต่เรื่องที่ว่าจะต้องละโลกนี้ไปเป็นธรรมดา เราไม่ได้เคยนึกถึง. พระศารีบุตร ซึ่งเป็นผู้เคยอธิบายข้ออรรถธรรมอันลึกซึ้งให้ฉันฟังเข้าใจแจ่มแจ้งอยู่บ่อย ๆ นิพพานเสียแล้ว, ท่านมีรูปลักษณะคล้ายพระพุทธเจ้ามาก และมีชนมายุได้แปดสิบพรรษา เสมอด้วยพระชนมายุพระพุทธเจ้า. นี่พระพุทธองค์จะมิจวนเสด็จปรินิพพานอยู่แล้วหรือ?

บางทีจะเป็นเพราะความไม่สบายใจที่คิดวิตกไปอย่างนี้ โรคเรื้อรังในกายซึ่งยังไม่หายขาด กลับกำเริบขึ้นอิก. จะอย่างไรก็ตาม ยังพยายามมาถึงเมืองเวสาลีได้, แต่ทว่ามีอาการเหนื่อยอ่อนทรุดลง. ในเมืองเวสาลีมีเศรษฐินีคนหนึ่ง เป็นพุทธบริษัทรับอุปฐากเป็นพิเศษแก่บรรดาภิกษุภิกษุณี ที่จารึกผ่านมา. เมื่อได้ทราบว่าภิกษุณีอาพาธเดิรทางมาถึง, นางก็รีบไปหาทันที, นำเมทินีและฉันไปพักที่บ้าน, ช่วยเหลือพยาบาลอย่างเต็มใจด้วยความเลื่อมใส.

ฉันรู้สึกในความกรุณาแห่งเศรษฐินีผู้นี้เป็นอันมาก. ต่อมาไม่ช้า ฉันแสดงความในใจให้ฟัง ถึงเรื่องวิตกว่าพระพุทธเจ้าก็มีพระชนมายุเท่ากับพระศารีบุตร จะมิจวนเสด็จปรินิพพานเข้าบ้างหรือ?.

พูดถึงเรื่องนี้ เศรษฐินีคนนั้นก็ร้องให้น้ำตาไหล, ตอบออกมามีเสียงกระเส่าสะอื้นว่า -

“ท่านยังไม่ทราบ. เมื่อสองเดือนที่ล่วงมา ครั้งพระองค์ยังเสด็จประทับอยู่ ในเมืองเวสาลีนี้ ทรงปรารภว่า จะเสด็จปรินิพพานในกำหนดราวสามเดือนข้างหน้า. ขอให้คิดดูเถิด. ถ้าพระอานนท์มีเชาวน์แล่นพอ และกล่าวคำในขณะที่ควรกล่าว, เรื่องที่พูดนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น และพระพุทธเจ้าก็คงจะดำรงอยู่ต่อไปในโลกนี้จนสิ้นกัลป.”

ฉันถามว่าเรื่องเป็นอย่างไร. หญิงนั้นเล่าว่า-

“เรื่องเป็นอย่างนี้: วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่กับพระอานนท์นอกเมืองนี้ณจปลเทวาลัย ในขณะสนทนากัน มีพระพุทธฎีกาว่า ผู้ใดเจริญอิทธิบาทสี่ประการบริบูรณ์แล้ว, หากมีความปรารถนา ก็ย่อมอยู่ในโลกนี้ได้จนสิ้นกัลป ที่พระพุทธเจ้าตรัสโอภาสอย่างนี้, ถ้าพระอานนท์จะปรารภเหตุอาราธนาให้พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในโลกจนตลอดกัลปก็จะได้ แต่จะเป็นด้วยถูกพญามารเข้าครอบงำหรืออย่างไรไม่ทราบ. ท่านจึ่งไม่ปรารภเรื่องนี้แต่ก่อนเสียเลย, มัวรีรอมาจนพ้นเวลาเสียแล้ว”

ฉันถามว่า “รู้ได้อย่างไรว่าพ้นเวลามาเสียแล้ว เพราะพระพุทธเจ้าก็ยังดำรงพระชนม์อยู่?”

นางตอบว่า “เรื่องเป็นดั่งนี้, เมื่อห้าสิบปีที่ล่วงมา ครั้งพระองค์แสวงหาวิโมกษธรรมณอุรุเวลา ท่านทำทุกกรกิริยาเป็นเวลาถึงเจ็ดปี จนบรรลุโพธิญาณตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสวยวิมุตติสุขอยู่ควงไม้นิโครธของนายอัชบาล. พญามารวุ่นว้าใจเกรงอำนาจตนจะเสื่อมถอย ก็มาทำการกีดขวางเพื่อมิให้ประกาศพระอมฤตธรรม, ได้กราบทูลว่า ‘พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ. บัดนี้ก็สำเร็จมโนประณิธานแล้ว และจะกระทำประโยชน์แก่สัตวโลกให้ลำบากพระกายไปใยเล่า, ขอเชิญเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานเสียเถิด.’ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘ดูก่อนมารผู้ใจบาป, ต่อเมื่อบริษัทของตถาคต คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา เป็นพหูสูตอันฉลาด อาจทรงไว้ได้ซึ่งพระธรรมวินัย แล้วปฏิบัติศึกษาเล่าเรียนบอกกล่าวสืบต่อกันไป และสำแดงธรรมเทศนาโปรดเวไนยนิกรสัตว์เทวดามนุษย์ ให้สำเร็จมรรคผลลุอมฤตมหานิพพานได้ ยังศาสนมรรคพรหมจรรย์ให้แผ่ไพศาลไปทั่วโลกธาตุแล้ว, ตถาคตจึ่งรับอาราธนาเข้าสู่พระปรินิพพานในกาลเมื่อนั้น.”

“เมื่อพระพุทธเจ้ายังประทับอยู่ในเมืองนี้ ได้ตรัสสนทนากะพระอานนท์อย่างที่เล่าให้ท่านฟัง. แต่พระอานนท์มิได้เฉลียวใจกราบทูลขอให้เสด็จอยู่ในโลกต่อไป, และยังออกไปอยู่เสียณวิเวกสถานรุกขมูลแห่งหนึ่งในภายนอก. ขณะนั้นพญามารได้โอกาสก็เข้าไปเฝ้า กราบทูลเตือนว่า-

‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ, ถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะเสด็จเข้าพระปรินิพพาน ดั่งที่ได้ตรัสไว้แต่ปางก่อน ภายใต้ควงไม้นิโครธของนายอัชบาลณอุรุเวลา ว่าจะเสด็จเข้าพระปรินิพพานนั้น. เพราะพระศาสนธรรม ก็ถึงซึ่งความมั่นคงแล้ว. ข้าพระองค์หวังว่า จะได้เสด็จสู่พระปรินิพพานเสียแต่บัดนี้.’ พระพุทธองค์จึ่งตรัสตอบพญามารว่า ‘ดูก่อนมารใจบาป, ท่านไม่ควรวิตก. แต่นี้ไปอิกสามเดือน เราตถาคตก็จะปรินิพพาน.’

“เมื่อตรัสดั่งนี้, แผ่นดินก็ไหว ซึ่งบางทีท่านคงจะสังเกตรู้มาบ้างแล้ว.”

ความจริง เมื่ออยู่กรุงโกสัมพี ก่อนหน้าที่จะออกเดิรทางมาราวหนึ่งเดือน เราก็รู้สึกว่ามีแผ่นดินไหวที่นั่นแต่เบา ๆ จึ่งได้กล่าวรับรอง.

หญิงนั้นพูดต่อไป มีอาการอันตื่นเต้นว่า “เห็นหรือไม่, ท่าน? หวั่นไหวไปทั่วทุกแห่ง ทวยเทพตกตะลึงโทรมนัสย์ ในเหตุที่พระองค์ทรงรับคำมาร ที่จะไม่เสด็จอยู่ในโลกต่อไป. น่าเสียใจ! ถ้าพระอานนท์ไหวทันชิงทูลอาราธนาเสียก่อนหน้ามาร, ก็จะไม่เป็นอย่างนี้. ครั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวแล้วสิ ท่านจึ่งรู้สึกกราบทูลปรารภเหตุขอให้ดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป. แต่พระองค์ทรงปฏิเสธเสีย.”

ตามคำบอกเล่าของเศรษฐินีผู้มีศรัทธา แต่กระเดียดไปในทางเหตุศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้างดั่งนี้ เป็นอันได้ความว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังประทับอยู่ในเมืองเวสาลี, ทรงรู้สึกพระองค์ว่าจวนจะปรินิพพานแล้ว, และคงจะทรงแจ้งเรื่องนี้แก่บรรดาพระสาวก. เพราะฉะนั้น ฉันจะรอช้าอยู่ในบ้านหญิงใจดีนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว. จะต้องรีบไปเฝ้าให้ทันเวลาก่อนปรินิพพานให้จงได้. ความมุ่งหมายอันใหญ่ยิ่งอยู่ที่ตรงนี้ เพราะมีแต่พระองค์เท่านั้น ที่อาจทำลายความพลุ่งพล่านเดือดร้อนในดวงจิตต์ได้. มีแต่พระองค์เท่านั้น ที่สามารถประทานความสุขสงบใจคืนมาได้ คือ ความสุขสงบใจอย่างที่ฉันรู้สึกมาแล้วครั้งได้เฝ้าอยู่แทบพระบาท ณเทวาลัยเก่าพระกฤษณ์ในป่าประดู่ลายกรุงโกสัมพี, แต่ขณะนี้เสื่อมหายไปแล้ว.

ด้วยประการฉะนี้ เมื่อล่วงมาได้สิบวันพอฉันมีกำลังจะเดิรทางได้ต่อไป เราก็ออกเดิรทาง. เจ้าของบ้านใจดีไม่เต็มใจจะให้ไป เพราะเห็นว่าฉันยังกะปลกกะเปลี้ยอยู่, แต่ฉันรับรองให้หายวิตกว่าไม่เป็นไร และสัญญาว่า เมื่อได้เฝ้าแล้ว จะกราบทูลถึงที่แกขอถวายอภิวาทมาแทบพระบาทด้วย. เราได้เดิรมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สืบถามทางที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโดยลำดับ.

ครั้นไปถึงอัมพคน, ได้ทราบว่า ได้เสด็จออกจากที่นั้นไปแล้วราวแปดวัน. ครั้นตามไปถึงป่ารังเมืองโภคนคร, ก็ได้ทราบว่าเสด็จไปเมืองปาวา ก่อนหน้าที่เราไปถึงโภคนครได้สามวัน. เพลาบ่ายลงนิดหน่อยในวันหนึ่ง เราถึงเมืองปาวา ระทวยใจเหนื่อยอ่อนเต็มที.

บ้านแรกที่เราพบ เป็นบ้านนายช่างทองแดง เห็นเครื่องภาชนะรูปภัณฑ์ที่ทำขึ้นไว้เรียงอยู่ตามผนังห้องมากมายหลายอย่าง, แต่ไม่ได้ยินเสียงสูบเป่าแล่น, ดูเหมือนคนในบ้านหยุดพักในเวลาตรุฏสารทอะไรอย่างหนึ่ง. ที่บ่อในบริเวณบ้าน พวกคนใช้กำลังล้างชามจานกันอยู่ ท่าทางมีพิธีแต่งงานพึ่งจะเสร็จไปใหม่ ๆ.

ทันใดนั้น มีชายร่างเล็กนุ่งห่มผ้าใหม่เข้ามาขอทำบุณย์ใส่บาตร และพูดแถมว่า “ถ้าท่านมาเร็วกว่านี้สักสองสามชั่วโมง ก็จะเป็นการดีได้มีโอกาสต้อนรับ, เพราะพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวก เสด็จประทับเสวยพระกระยาหารที่บ้านข้าพเจ้าในวันนี้.”

“เช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ยังเสด็จอยู่ในเมืองปาวากระมัง?”

“หามิได้. เมื่อเสวยเสร็จ, ก็ประชวรมีพระอาการเจ็บปวดเป็นที่สุด เกือบจะทรงวิสัญญี. ทำให้ข้าพเจ้าและคนอื่น ๆ ตกใจอลหม่าน, แต่แล้วก็ฟื้นพระองค์ และเสด็จไปถึงเมืองกุสินาราเมื่อสักชั่วโมงล่วงมานี้เอง.”

ฉันสมัครจะรีบตามไปทันที เพราะตามคำบอกเล่าของนายช่างทองแดงถึงเรื่องประชวร ก็เห็นว่าเป็นที่น่าวิตกมาก. แต่จำต้องอยู่บริโภคอาหาร และพักเหนื่อยพอมีกำลังเสียบ้างเล็กน้อยก่อน.

ทางจากเมืองปาวาถึงกุสินาราไปมาได้ง่าย. ในไม่ช้าเราก็เดิรข้ามทุ่งนาตัดป่าหญ้าสูง. เมื่อผ่านลำธารสายหนึ่ง ลงไปชำระสนานกายรู้สึกชุ่มชื่นขึ้น, หยุดพักอยู่สักครู่ แล้วเดิรทางต่อไป เวลาจวนโพล้เพล้แล้ว, ฉันแทบหมดกำลัง เดิรอีกไม่ไหว.

เมทินีพยายามเอาใจ ชวนให้หาที่พักแรมคืน ณควงไม้ในที่อันสูงสักหน่อย บอกว่าไม่จำเป็นจะรีบร้อนหักโหมกำลังให้เกินไปนัก, ได้พูดว่า-

“ฉันคาดว่า เมืองกุสินาราคงอยู่ไม่ไกลไปกว่าระยะอิกหมู่บ้านหนึ่ง. และดูเหมือนเป็นเมืองที่อยู่กลางป่า, ไฉนพระพุทธเจ้าจะเลือกเสด็จเข้าพระปรินิพพานเมืองนี้? พระองค์ควรจะเสด็จปรินิพพานในสวนป่าเชตวัน จังหวัดสาวัตถี หรือไม่เช่นนั้นก็ที่ในสวนป่าจังหวัดราชคฤห. พระองค์คงไม่ปรินิพพาน ที่เมืองกันดารอย่างนี้. ใครเคยได้ยินออกชื่อเมืองกุสินารากันบ้าง?”

“แต่ประชาชนคงจะได้ยินชื่อเสียงเมืองกุสินาราต่อไปในวันนี้,” ฉันพูดตอบแล้วเดิรทางต่อไป. ในไม่ช้าก็ละเหี่ยหมดกำลัง, ต้องตะเกียกตะกายขึ้นไปบนเนินสูงที่ไม่มีต้นไม้เพื่อชะเง้อดูว่าจวนจะถึงกุสินาราหรือยัง, มิฉะนั้นจะต้องค้างคืนอยู่ในที่ไม่มีการป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายงูเงี้ยว และจะต้องกระทบอากาศซึ่งเป็นพิษทำให้เจ็บไข้.

ครั้นขึ้นไปถึงยอดเนิน มองโดยรอบไม่พบหมู่บ้านที่ไหนสักแห่งเดียว, ดูเป็นป่าสล้างแลเป็นป่าพืดเรื่อยไป. เห็นแต่ต้นไม้ใหญ่ ๆ สูงชะลูด, แผ่กิ่งก้านบังแสงแดดภายล่างจนรกเรี้ยวเป็นป่าดิบสลับซับซ้อนกันขึ้นไป. ถัดไปในที่แห่งหนึ่งเป็นชะเวิกลำธาร คือลำธารเดียวกับที่เราลงไปสนานกายก่อนหน้านี้สักครู่.

อากาศตลอดทั้งวันอบอ้าว ท้องฟ้าพะยับ. แต่มาในตอนนี้ มีลมพัดฉิวๆ บ้างแล้ว. อากาศเริ่มปลอดโปร่งเห็นภูมิประเทศได้ชัดเจนขึ้นบ้าง. เห็นภูเขากั้นเป็นกำแพงใหญ่ และตระหง่านขึ้นเหนือยอดไม้. ยอดเขามีต้นไม้ขึ้นสล้าง มองดูแต่ไกลคล้ายสนามหญ้าเขียวชะอุ่มอยู่หลายแห่ง. ยอดที่สูดสุดพุ่งหายขึ้นไปในท้องฟ้า. มีเมฆสีแดงเรื่อ ๆ อยู่ก้อนเดียวลอยผ่านเป็นพืดยาวอยู่ไกลลิบ.

ขณะเพ่งมองดูเมฆก้อนนี้ อันสอดสีอย่างแปลก, เลยหวนระลึกถึงความหลัง. ครั้งที่ได้เห็นบิดาเอาคีมคีบทองคำที่หลอมเหลือเนื้อบริศุทธิ์ แล้วออกจากเตาทั้งเบ้า. เมื่อเนื้อทองเย็นลง, ก็เอาไปวางไว้บนเบาะแพรสีน้ำเงินอ่อน. ลักษณะสีที่ว่านี้ ชั่งเหมือนกับสีเมฆที่เห็นอยู่ในขณะนี้เสียจริง ๆ และค่อย ๆ เปลี่ยนสีไปแปลก ๆ.

ที่แลเห็นเป็นเมฆเปลี่ยนสีอย่างงามตาน่าดูนี้ หาใช่เป็นเมฆไม่.

เมทินีมีอาการตื่นเต้นคล้ายตกใจอะไร มือสั่นเข้ามาจับแขนฉัน กะซิบบอกว่า “นั่นคือเขาหิมพาน.”

จริงอย่างว่า. เห็นสูงตระหง่านอยู่ข้างหน้า คือ ขุนเขาแห่งเขาทั้งหลาย, เป็นสถานที่อยู่แห่งหิมะไม่มีขาด คือหิมาลัย, เป็นที่สถิตแห่งทวยเทพ และเป็นสำนักของฤษีมุนีผู้สำเร็จ. ‘ภูเขาหิมพาน’ ชื่อนี้แม้แต่เมื่อฉันยังเด็กอยู่ ก็นับถือว่าเป็นนามศักดิ์สิทธิ์ กระทำให้รู้สึกทั้งเคารพทั้งเกรงอย่างซึ้งใจอย่างไรพูดไม่ถูก. อันเรื่องราวที่เนื่องด้วยขุนเขานี้มีมากมาย และเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ เช่นว่า “แล้วก็ไปสู่ป่าหิมพาน ประพฤติพรตเป็นฤษี.” ได้เคยมีผู้ป่ายปีนเขานี้มาแล้ว แต่กาลก่อนนับจำนวนเป็นเรือนพัน เพื่อหาความเป็นไปในที่สงัดวิเวก ให้บรรลุภูมิความสุขโดยการบำเพ็ญตบะโยคะ อันเป็นทางหลุดพ้น. ต่างผู้ต่างแสวงทางวิโมกษ์ ตามวิธีที่เห็นว่าถูก, ซึ่งลงท้ายเป็นมายาเข้าใจผิดทั้งนั้น. แต่บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จมาใกล้แดนนี้แล้ว. พระองค์เท่านั้นที่ล่วงพ้นมายาความหลงผิด – พระผู้ซึ่งเราโดยเสด็จตามรอยพระบาทมาในขณะนี้.

ขณะฉันยืนนึกเพลินอยู่ รูปที่เห็นเป็นสีรุ่งเรืองก็เลือนหายไป ประหนึ่งว่าโพยมสวรรค์หรุบลงมาคลุมเสียหมดไม่ให้เห็น. แต่เมื่อได้เห็นมาแล้ว ก็พอทำให้มีใจชุ่มชื่นเกิดกำลังกระปรี้กระเปร่าขึ้นอิก.

ฉันพูดกะเมทินีว่า “ถึงหากพระพุทธเจ้าจะเสด็จข้ามขุนเขานั้น เพื่อไปสู่ภูมิแดนอันสูงสุดถึงไหนก็ตาม, ฉันเป็นขอตามเสด็จไปให้พบจนได้.”

เมื่อมีมานะเช่นนี้ ฉันก็เดิรต่อไป. ไม่ทันถึงครึ่งชั่วโมงก็หมดแดนป่าไม้ที่รกเรี้ยว, เข้าเขตต์ไร่นาข้างหน้าเรื่อยไป. เวลานั้นมืดลงแล้ว, พระจันทร์กำลังขึ้นปรากฏดวงโตอยู่เหนือยอดไม้ ตรงข้ามกับที่ซึ่งเราไปถึงแล้ว คือ เมืองกุสินารา.

อันที่จริง เมืองกุสินาราก็ไม่ใหญ่โตยิ่งไปกว่าหมู่บ้านของพวกมัลละ, มีบ้านและกำแพงเมือง ใช้ไม้สานเอาดินทา. เห็นในครั้งแรกก็เข้าใจว่าคงจะมีโรคระบาดอะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่เมืองน้อย ๆ นี้ จนผู้คนเบาบางไป, ตามประตูบ้าน มีคนชราและคนเจ็บนั่งร้องให้กันอยู่เซ็งแซ่.

เราเข้าไปถามว่าเกิดอะไรขึ้น.

พวกนั้นบิดไม้บิดมือตอบว่า “พระศาสดาจะด่วนเสด็จเข้าปรินิพพานเสียแล้ว. ในเวลานี้เอง ดวงประทีปของโลกจะดับแสงไป. พวกมัลละพากันไปที่ป่ารัง เพื่อไปเฝ้าถวายบูชาแด่พระองค์ผู้ทรงพระภาค. เพราะเมื่อก่อนหน้าจะมืดค่ำนี้เล็กน้อย พระอานนท์มาในเมืองตรงไปที่ตลาด ซึ่งเป็นที่ชุมนุม. กำลังพวกมัลละประชุมโต้เถียงกันด้วยเรื่องการเมือง, เมื่อพระอานนท์ไปถึง ได้บอกว่า ‘ดูก่อนพวกมัลละ, ในวันนี้ก่อนเวลาเที่ยงคืน พระพุทธเจ้าจะเสด็จเข้าพระปรินิพพาน. ท่านจงรีบพากันไปเฝ้า, เพราะพระพุทธองค์จะได้เสด็จเข้าพระปรินิพพานในเมืองท่าน เป็นโอกาสที่พวกท่านจะได้เฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย.’ เมื่อพวกมัลละได้ทราบดั่งนี้ ก็ปริเทวนาการด้วยความเสียใจ, พาบุตรภริยารีบไปที่ป่ารัง. ส่วนพวกข้าพเจ้าที่เหลืออยู่เป็นคนชราและพิการเดิรเหินไม่ไหว จึ่งจำต้องแกร่วอยู่กับที่ ไม่สามารถไปบูชาพระศาสดาในครั้งสุดท้ายได้.”

เมื่อได้ความดั่งนี้, เราก็รีบออกประตูเมืองไปยังป่ารังทันที ซึ่งชาวบ้านเหล่านั้นชี้ทางให้. ไปตามทางเห็นพวกมัลละกลับมาเป็นหมู่. อารามที่อยากจะไปให้ถึงทันใจ เรารีบสาวก้าวตัดข้ามทุ่ง ตรงไปทางมุมป่าน้อย.

ครั้นไปถึง เห็นภิกษุองค์หนึ่งยืนพิงร้องไห้อยู่กับต้นไม้. ฉันรู้สึกตื้นขึ้นมาในใจ, หยุดมองดู. ขณะนั้น ภิกษุองค์นั้นเงยหน้าแหงนขึ้นไปบนท้องฟ้า, แสงจันทร์วันเพ็ญส่องมากะทบเต็มหน้าท่าน, ฉันก็จำได้ว่าเป็นพระอานนท์.

ฉันเข้าใจว่า คงมาไม่ทันก่อนเวลาเสด็จปรินิพพานเสียแล้วกระมัง. คิดแล้วก็ใจหาย, ไม่ทราบว่ากำลังวังชาไปไหนหมด.

ขณะนั้น ได้ยินเสียงมีใครแหวกสุมทุมไม้, แล้วเห็นพระภิกษุร่างใหญ่องค์หนึ่ง เข้ามา, เอามือทาบบ่าพระอานนท์ พูดว่า “ท่านอานนท์, พระศาสดารับสั่งให้หา.”

เท่านี้เอง ก็เป็นอันทราบได้แน่ ว่ายังมีโอกาสได้เฝ้าทันในครั้งสุดท้าย. แรงฉันแข็งขันขึ้นมาทันที สามารถเดิรต่อออกไปได้อิก. ขณะนั้น พระองคุลิมาลเหลียวมาเห็นและจำฉันได้มีหน้าตาแสดงวิตกกลัวเราจะเข้าไปรบกวนพระพุทธเจ้า, ฉันจึ่งชิงพูดให้เบาใจเสียก่อนว่า-

“ท่านอย่าวิตกเลย. พวกฉันจะไม่รบกวนร้องไห้ร่ำไรอย่างผู้หญิงธรรมดา ในเวลาอันเป็นปัจฉิมกาลแห่งพระพุทธเจ้า. พวกฉันตั้งใจรีบเร่งจากเมืองเวสาลีมาโดยไม่ได้หยุดพัก, ความประสงค์ก็เพียงได้เฝ้าพระองค์อิกหนหนึ่งซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น. ขอท่านอย่าให้เสียความตั้งใจนี้เลย, โปรดอนุญาตให้ได้เข้าเฝ้า เพื่อจะได้มีอินทรีย์กล้าแข็งบำเพ็ญกุศลต่อไป.”

ท่านก็ทำกิริยาให้เราตามไป. เราไปไม่สู้ไกลกี่มากน้อย ถึงช่องว่างน้อย ๆ ในป่ารัง. มีพระภิกษุราวสองร้อยองค์ยืนเฝ้าอยู่เป็นรูปอรรธจันทร์. ณท่ามกลางที่นี้ มีต้นรังขนาดใหญ่สองต้นกำลังออกดอกเป็นกลุ่มก้อนขาวไสว. ระวางควงไม้รังทั้งคู่นี้ เห็นพระพุทธเจ้าประทับบรรทมบนพระแท่น ซึ่งปูลาดด้วยผ้าสีเหลืองมีพระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียร. ดอกรังก็โปรยเกสรเป็นละอองมาอาบพระองค์.

ด้านพระปฤษฎางค์ถัดไปไกล คือเขาหิมพาน มีหิมะปกคลุมเป็นนิตย์นิรันดร แต่บัดนี้ถูกความมืดเข้าปกคลุม, ซึ่งฉันดูเหมือนจะเห็นขึ้นในใจ ว่าที่ฉันเกิดมีกำลังมาได้ทันเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่นี่ ก็เพราะได้เห็นขุนเขานั้นในคราวแรกเมื่อเวลามา.

พระพุทธเจ้าตรัสกะพระอานนท์ก่อนกว่าผู้อื่นหมด เพราะท่านมายืนเฝ้าอยู่ฉะเพาะพระพักตร์แล้ว ว่า “สำแดงอานนท์, เรารู้ได้ดีว่าท่านร้องไห้โศกเศร้าถึงเรา. และท่านคงคิดอยู่ว่า ท่านยังไม่สิ้นอาสวกิเลส ยังไม่บรรลุความเห็นแจ้ง, และบัดนี้พระศาสดาผู้กรุณาแก่ท่านก็จะเข้านิพพานเสียแล้ว. สำแดงอานนท์, ท่านจงเลิกคิดอย่างนั้นเสียเถิด, จงอย่าปริเทวนาการ, จงอย่าโศกเศร้า. สำแดงอานนท์, เราได้บอกแก่ท่านแล้วมิใช่หรือ ว่าบรรดาสิ่งที่ยึดถือรักใคร่ ย่อมมีอันต้องจากไป. ธรรมดาย่อมเป็นธรรมดาของมันกระนั้น. สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นเองโดยสภาพธรรม, เราไม่ได้จัดการให้เกิดขึ้น แต่ชอบออกรับว่าเป็นของเรา; สิ่งนั้น ๆ ย่อมมีอาการแปรไปตามธรรมดาวิษัย, เราจะดิ้นรนให้เป็นอย่างใจเราคิดไม่ได้ นอกจากออกรับเอาเป็นของเหลว ๆ; และในที่สุดมันก็ต้องล่วงลับไปด้วยอำนาจแห่งธรรมดา, เราจะฝืนให้คงอยู่ไม่สำเร็จเลย จะได้ก็แต่ความคลั่งเพ้อออกรับเอาเสียเต็มแปล้. นับประสาอะไร, ตัวท่านเองก็อย่าทะนง ย่อมตกอยู่ในอำนาจธรรมดาที่จะบันดาลให้เป็นอย่างไรได้ทั้งนั้น. เพราะฉะนั้น ธรรมดาทั้งหลาย จึ่งเป็นอนัตตา คือเลือกเอาไม่ได้. ไม่สำเร็จด้วยเราสักอย่างเดียว. มันเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป, มันรวมกันแล้วย่อมจากไป, ปรุงมันขึ้น มันก็แตกสลายไป. สำแดงอานนท์, ท่านได้ปฏิบัติเรามานานด้วยความเต็มใจจงรัก ไม่มีอิดเอื้อนท้อถอย ชื่อว่าได้พยายามดีแล้ว. จงใช้ความพยายามอันสม่ำเสมอนั้น มาในทางบำเพ็ญเพียร. ในไม่ช้า ท่านจะหลุดพ้นจากกิเลสดำฤษณา ทิฐิความเห็นเชือน และอวิชชาความไม่รู้แจ้งเห็นผิดไปตามมายา.”

ท่านพระอานนท์พยายามกลืนสะอื้น เพื่อแสดงว่าไม่มีความเสียใจต่อไปแล้ว, แข็งใจกราบทูลถามว่า “พระสรีระร่าง จะโปรดให้จัดการอย่างไร?”

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ไม่ควรวิตกในเรื่องนี้. เพราะสาวกที่ทรงสติปัญญาพร้อมทั้งพราหมณ์และคฤหบดีมหาศาลที่เขานับถือ คงจะจัดทำกันไปเอง ตามเห็นสมควรแก่การย์. ตัวท่านมีสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจอยู่ คือ จงนึกถึงอมฤตธรรม, อย่าได้นึกถึงสิ่งอะไรเลย; จงเร่งพยายามขวนขวายต่อไปให้บรรลุ, อย่าย่อท้อถอยหลัง.”

พระพุทธเจ้าตรัสฉะเพาะพระอานนท์แล้ว, ก็ทรงทอดทัศนาการมายังเหล่าพระสาวกที่ยืนเฝ้าอยู่เป็นวง, ตรัสว่า-

“ภิกษุทั้งหลาย, บางทีท่านทั้งหลายจะนึกว่า พระธรรมนั้นขาดศาสดาเสียแล้ว, ท่านไม่มีศาสดาต่อไปแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ท่านอย่าพึงคิดอย่างนี้. ธรรมที่เราแสดงไว้ เมื่อเราล่วงไปจักเป็นศาสดาของพวกท่าน. เพราะฉะนั้น ท่านอย่าพึงยึดเอาสิ่งภายนอกเป็นที่พึ่ง. จงถือพระธรรมเป็นที่พึ่งให้มั่น. พระธรรมนั้นจะเป็นความสว่างแก่ท่านเอง, จะเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง.”

ส่วนตัวฉันนั้น พระพุทธเจ้าทรงชำเลืองเห็น, พระองค์ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณ ได้ทอดพระเนตรเพ่งอยู่ครู่หนึ่ง. ฉันรู้สึกว่าที่ได้บากบั่นเดิรทางมา เป็นอันไม่เปล่าผลเลย.

ล่วงมาสักครู่ พระองค์ตรัสอิกว่า-

“ภิกษุทั้งหลาย บางทีจะมีบางท่านที่เกิดความสงศัยขึ้นในส่วนศาสดา หรือในส่วนพระธรรม. ท่านจงถามเสียให้สิ้นระแวงเถิด เพื่อไปภายหน้า ท่านจะไม่ได้โทษตัวเองว่า เมื่อพระศาสดายังทรงชีวิตอยู่ ก็มิได้ไต่ถามอะไรไว้.”

พระองค์ตรัสดั่งนี้ ประทานโอกาสให้ผู้ที่เฝ้าอยู่กราบทูลข้อสงศัยได้. แต่ก็นิ่งกันหมด. ใครเล่ายังจะมีใจลังเลสงศัย เมื่อได้มาเฝ้าฉะเพาะพระพักตร์ แห่งพระองค์ผู้จะเสด็จลับไปแล้ว? พระพุทธเจ้าเสด็จศัยยาสน์อยู่ที่นั้น มีแสงเดือนในวันเพ็ญส่องสีเหลืองอ่อนมาทั่วพระวรกาย ประหนึ่งว่าเทพบุตรกำลังเตรียมการสนานพระสรีราพยพในครั้งสุดท้าย กล่าวคือ โปรดละอองเกสรดอกไม้ลงมา.

พระอานนท์เต็มตื้นในหฤทัย ประสานหัตถ์กราบทูลว่า-

“ข้าแต่พระองค์, ประหลาดนักหนา พระสัจธรรมนี้. ข้าพระองค์เชื่อว่าในที่ประชุมสงฆ์นี้ ไม่มีผู้ใดแม้แต่รูปเดียว ที่ยังมีความไม่สนิทใจในคำสั่งสอนและศาสดาอยู่.”

และพระผู้ประเสริฐสุด ก็ตรัสว่า-

“สำแดงอานนท์, ท่านกล่าวด้วยมีศรัทธาเต็มที่ แต่เรารู้แล้วว่าไม่มีความกินแหนงตะขิดตะขวงอยู่ในใจผู้ใด. เพราะแม้ผู้ที่นับว่ามีเชาวน์ปัญญาล้าหลังกว่าเพื่อน ก็โปร่งใจในลัทธิธรรมแล้ว, และในที่สุดก็จะได้บรรลุโมกษธรรมเหมือนกัน.”

ครั้นพระองค์ตรัสดั่งนี้แล้ว, ผู้ที่เฝ้าอยู่ก็รู้สึกเยือกประหนึ่งว่ามีมืออันทรงพลังการอำนาจมาเปิดทวารวิถีแห่งความเป็นอนิจจาประจำสังขาร สำหรับเชิญพระองค์เสด็จเข้า.

พระองค์เผยพระโอฐอิกครั้งหนึ่ง เป็นพระปัจฉิมวาจาที่จารึกไว้แก่สังสารโลก เป็นพระสัจจะธรรมอันล้ำเลิศ ว่า-

“ภิกษุทั้งหลาย, เราตถาคตขอเตือนท่าน. อันสังขารทั้งหลายมีแต่เสื่อมไปเป็นธรรมดา. ขอท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญกุศลให้เต็มที่ด้วยความไม่ประมาทเถิด.”

นี้คือ พระโอวาทแห่งพระศาสดาเป็นมฤดกครั้งสุดท้าย.

ครั้นแล้ว สิ้นพระดำรัส สิ้นพระสุรเสียง หับพระโอฐ หลับพระเนตร พระอัสสาสะปัสสาส ซึ่งเคยระบายตามธรรมดาก็ค่อยๆแผ่วเบาลงๆทุกที แล้วก็สิ้นกระแสลมโดยพระอาการสงบ. พระภิกษุองค์หนึ่งประกาศว่า พระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว.

อนิจจา! แสงเดือนเพ็ญผ่องกระจ่างจับพระพักตร์อยู่เมื่อกี้ก็จางซีดขมุกขมัวลง ท้องฟ้าสลัวมัวพะยับครึ้ม อากาศเย็นเฉียบจับหัวใจ น้ำค้างหยดเผาะ ๆ เป็นหยาดน้ำตาแห่งสวรรค์ เกสรดอกรังร่วงพรูเป็นสายสหัสรธาราสรงพระพุทธสรีระ จักจั่นเรไรสงัดเงียบดูไม่มีแก่ใจจะทำเสียง ธรรมชาติรอบข้างต่างสลดหมดความคะนองทุกสิ่งทุกอย่าง.

แล้วจึ่งมีเสียงกะซิกๆ สะอื้นไห้แห่งพระภิกษุสงฆ์. ฝ่ายพวกมัลละก็ร้องไห้โฮลงแทบสิ้นสมฤดี.

๏ ๏ ๏

ขณะนั้น อันว่าปฐวีกัมปนาการก็บังเกิดปรากฏพิลึกพึงกลัวทั่วโลกธาตุทั้งปวง อีกทั้งห้วงมหรรณพก็กำเริบตีฟ้องคะนองคลื่นครืนครั่นนฤนาทสนั่นในมหาสมุทรสาคร ทั้งหมู่มัจฉชาติมังกรผุดดำกระทำให้ศัพทสำนานนฤโฆษครุวนาดุจเสียงปริเทวกถาแซ่ซ้องโศกาดูรกำศรด ทั้งขุนเขาสิเนรุราชราชบรรพตก็น้อมยอดโอนอ่อน มีอาการปานประหนึ่งว่ายอดหวายถูกอัคคีลน อเนกมหัศจรรย์ก็บันดาลทั่วเมทนีดลสกลนภากาศ ปางเมื่อพระบรมโลกนาถเข้าสู่พระปรินิพพาน นั้นแล.

  1. ๑. ปาวาลเจดีย์?

  2. ๒. อัมพปาลีวัน ซึ่งนางอัมพปาลีคณิกา ถวายเป็นสังฆาราม?

  3. ๓. กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน?

  4. ๔. จุนทกัมมารบุตร.

  5. ๕. ต่อมาเรียกว่า อุปวัตตนสาลวันมงคลสถาน

  6. ๖. พระอนุรุทธ์.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ