- คำนำ
- ภาคหนึ่ง บนดิน
- หนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จกลับเบญจคีรีนคร
- สอง พบ
- สาม สู่ฝั่งแม่คงคา
- สี่ สาวน้อยผู้เดาะคลี
- ห้า รูปวิเศษ
- หก บนลานอโศก
- เจ็ด ในหุบเขา
- แปด ดอกฟ้า
- เก้า ใต้ดาวโจร
- สิบ รหัสยลัทธิ
- สิบเอ็ด งวงช้าง
- สิบสอง ที่ฝังศพของวาชศรพ
- สิบสาม เพื่อนบุณย์
- สิบสี่ ผู้เป็นสามี
- สิบห้า ภิกษุโล้น
- สิบหก เตรียมรับมือ
- สิบเจ็ด สู่ความเป็นผู้ละบ้านเรือน
- สิบแปด ในห้องโถงช่างปั้นหม้อ
- สิบเก้า พระศาสดา
- ยี่สิบ เด็กดื้อ
- ยี่สิบเอ็ด ในท่ามกลางความเป็นไป
- ภาคสอง - บนสวรรค์
- ยี่สิบสอง ภูมิสุขาวดี
- ยี่สิบสาม การต้อนรับแห่งชาวสวรรค์
- ยี่สิบสี่ ต้นปาริชาต
- ยี่สิบห้า บัวบาน
- ยี่สิบหก สร้อยแก้วตาเสือ
- ยี่สิบเจ็ด สัจจกิริยา
- ยี่สิบแปด บนฝั่งคงคาสวรรค์
- ยี่สิบเก้า ท่ามกลางกลิ่นหอมแห่งดอกปาริชาต
- สามสิบ มีเกิดก็มีตาย
- สามสิบเอ็ด ปิศาจที่บนลาน
- สามสิบสอง สาตาเคียร
- สามสิบสาม องคุลีมาล
- สามสิบสี่ นรกหอก
- สามสิบห้า การบูชาอันบริศุทธิ์
- สามสิบหก พระพุทธและพระกฤษณ
- สามสิบเจ็ด ดอกฟ้าเหี่ยว
- สามสิบแปด พรหมโลก
- สามสิบเก้า ความมืดแห่งโลกานุโลก
- สี่สิบ ในสุมทุมพุ่มไม้พระกฤษณ์
- สี่สิบเอ็ด โอวาทอย่างง่ายๆ
- สี่สิบสอง ภิกษุณีอาพาธ
- สี่สิบสาม มหาปรินิพพาน
- สี่สิบสี่ พินัยกรรมวาสิฏฐี
- สี่สิบห้า กลางคืนและรุ่งเช้าในสกลจักรวาล
สิบเก้า พระศาสดา
และพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า “ดูก่อนภราดา, พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธะนั้น ได้ยังจักรแห่งธรรมอันประเสริฐให้หมุน ใกล้อิสิปัตนะในมฤคทายวันจังหวัดพาราณสี. ก็แหละจักรแห่งธรรมนั้น อันสมณะหรือพราหมณ์, เทวดาหรือมารพรหม, หรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลกนี้ ไม่พึงขัดขวางไว้มิให้หมุนได้.
“พระธรรมที่ทรงประกาศ คือ ธรรมอันให้เห็นแจ้งความจริงอย่างยิ่ง สี่ประการ. สี่ประการนั้น คืออะไร? ได้แก่ ความจริงอย่างยิ่ง คือทุกข์, ความจริงอย่างยิ่ง คือเหตุของทุกข์, ความจริงอย่างยิ่ง คือการดับทุกข์ทั้งสิ้น, และความจริงอย่างยิ่ง คือทางที่ไปถึงความดับทุกข์ทั้งสิ้น.
“ดูก่อนภราดา, ความจริงอย่างยิ่ง คือทุกข์นั้นอย่างไร? ได้แก่ความเกิดมานี้เป็นทุกข์, ความที่ชีวิตล่วงไปๆ เป็นทุกข์, ความเจ็บป่วยเป็นทุกข์, ความตายเป็นทุกข์; ความอาลัย ความคร่ำครวญ ความทนลำบาก ความเสียใจ และความคับใจล้วนเป็นทุกข์; ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์, ความประจวบกันสิ่งที่ไม่รัก เป็นทุกข์ ความที่ไม่ได้สมประสงค์ เป็นทุกข์: รวมความ, บรรดาลักษณะต่างๆ เพื่อความยึดถือผูกพันย่อมนำทุกข์มาให้ทั้งนั้น ดูก่อนภราดา, นี่แหละความจริงอย่างยิ่งคือ ทุกข์.
“ก็แหละความจริงอย่างยิ่ง คือ เหตุของทุกข์นั้นอย่างไร? ได้แก่ความกระหายซึ่งทำให้เกิดมีสิ่งต่างๆ อันความเพลิดเพลินใจและความร่านเกิดตามไปด้วย เพลิดเพลินนักในอารมณ์นั้นๆ คือ กระหายอยากให้มีไว้บ้าง กระหายอยากให้คงอยู่บ้าง กระหายอยากให้พ้นไปบ้าง ดูก่อนภราดา, นี้แหละความจริงอย่างยิ่งคือ เหตุของทุกข์.
“ก็แหละความจริงอย่างยิ่ง คือ การดับทุกข์ทั้งสิ้นนั้น อย่างไร? ได้แก่ความดับสนิทแห่งความกระหายนี้เองไม่ใช่อื่น ความสละเสียได้ ความปลดเสียได้ ความปล่อยเสียได้ ซึ่งความกระหายนั้นแหละ และการที่ความกระหายนั้นไม่ติดพัวพันอยู่ ดูก่อนภราดา, นี้แหละความจริงอย่างยิ่ง คือ การดับทุกข์ทั้งสิ้น.
“ก็แหละ ความจริงอย่างยิ่งคือทางไปถึงความดับทุกข์ทั้งสิ้นนั้น อย่างไร? ได้แก่ทางอันประเสริฐมีองค์แปด คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ. ดูก่อนภราดา, นี่แหละความจริงอย่างยิ่ง คือ ทางไปถึงความดับทุกข์ทั้งสิ้น.”
เมื่อพระศาสดา มีพระพุทธบรรหารด้วยอริยสัจเป็นเบื้องต้น ปานว่าได้ประดิษฐานหลักศิลาขึ้นสี่มุมด้วยประการดั่งนี้แล้ว, ก็ทรงยกพระธรรมทั้งมวลขึ้นตั้งประกอบ โดยอุบายให้เป็นดั่งเรือนยอด สำหรับเป็นที่อาศัยแห่งดวงจิตต์ผู้สาวก. ทรงจำแนกแยกอรรถออกเป็นตอนเนื้อความ แล้วทรงชี้แจงกำกับกันไป, เสมือนดั่งบุคคลตัดแท่งศิลาออกเป็นชิ้นๆ แล้ว และขัดเกลาฉะนั้น. ทรงเชื่อมตอนเนื้อความต่อเนื้อความ, เสมือนบุคคลได้ลำดับซ้อนแท่งศิลาเหล่านั้น ผจงจัดดุจเป็นรากให้รับกันเองแน่นหนา มีสัมพันธ์เนื่องถึงกันตลอดเรียบร้อย. ทรงนำหลักความเห็นแจ้งว่า สิ่งทั้งปวงย่อมแปรปรวนเข้าประกอบกับหลักความเห็นแจ้งว่า สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ แล้วเชื่อมหลักทั้งสองนี้เป็นดั่งซุ้มทวาร ด้วยเครื่องประสาน คือมนสิการ อันแน่นแฟ้นที่ว่า สภาวธรรมทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา-เลือกเอาไม่ได้. ทรงนำสาวกเข้าสู่ทวารอันมั่นคงนี้ คราวละขั้นเป็นลำดับไป แล้วย้อนลงย้อนขึ้นหลายครั้งหลายครา โดยขั้นบันไดอันสร้างไว้มั่นคงแล้ว คือปฏิจจสมุปบาท หลักธรรมอันมีเหตุผลอาศัยกันเองเกิดขึ้นเป็นขั้นๆ สืบเนื่องดั่งลูกโซ่, ซึ่งมั่นคงเต็มที่อยู่ทั่วไป.
อันว่า นายช่างผู้เชี่ยวชาญ ก่อสร้างปราสาทมโหฬาร ย่อมเพิ่มรูปศิลาจำหลักไว้ในที่สมควรตามทำนองมิใช่จะใช้เป็นเครื่องประดับเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นประโยชน์รองรับหรือค้ำจุนที่บางแห่งนั้นไว้ด้วย, ความข้อนี้อุปมาฉันใด. พระศาสดาในบางคราวย่อมทรงชักเอาเรื่องที่เปรียบเทียบเป็นภาษิตที่น่าฟัง และสมด้วยกาลสมัยขึ้นแสดง ก็อุปไมยฉันเดียวกัน. เพราะทรงเห็นว่า เทศนาวิธีชักอุทาหรณ์ขึ้นสาธกเปรียบเทียบ ย่อมกระทำไห้พระธรรมอันประณีตลึกซึ้งที่ทรงสำแดงหลายข้อให้แจ่มแจ้งขึ้นได้แก่บางเวไนยชน.
ในท้ายแห่งเทศนา พระองค์ทรงประมวลพระธรรมบรรยายทั้งหมด ในคราวเดียวกันเสมือนด้วยเรือนอันตะล่อมขึ้นด้วยยอดเด่นเห็นสง่างามรุ่งเรืองได้แต่ไกลด้วยพระวาจาว่าดั่งนี้: “ดูก่อนอาคันตุกะผู้แสวงบุณย์, ความเกาะเกี่ยวใคร่กระหายต่อความเกิด ย่อมเป็นเหตุให้ถึงความเกิด. หากตัดความใคร่กระหายเช่นนั้นเสียได้ขาด, ท่านก็ย่อมไม่เกิดในภพไรๆ อีก.
“อันภิกษุ ผู้พ้นจากความเกาะเกี่ยวยึดถือพึงใคร่ในอารมณ์ไรๆ แล้ว ย่อมบังเกิดญาณความรู้แจ้งขึ้นภายในจิตต์อันสงบแจ่มใสปราศจากอวิชชาความมืดมัว ว่า ‘วิมุติความหลุดพ้นนั้น บัดนี้เป็นผลประจักษ์แล้ว. นี้คือ ความเกิดเป็นครั้งที่สุด. สิ้นความเกิดใหม่ในภพโน้นแล้ว.’
“ภิกษุผู้บรรลุธรรมปานนี้ ย่อมได้รับผลตอบแทนคือ ธรรมรสอันล้ำเลิศ. ดูก่อนอาคันตุกะผู้แสวงบุณย์, ก็ธรรมรสอันล้ำเลิศนั้นคืออะไร? ได้แก่ ‘ญาณอันรู้ว่าทุกข์ทั้งปวงดับหมดแล้ว.’ ผู้ใดได้รับรสพระธรรมนี้, ก็ย่อมพบความหลุดพ้นอันเป็นผลเที่ยงไม่แปรผัน. เพราะสิ่งใดไร้สาระเป็นอยู่ชั่วขณะ สิ่งนั้นไม่ใช่ของจริง. สิ่งใดมีสาระคงที่ถาวร, สิ่งนั้นเป็นของจริงและเป็นที่สุดแห่งสิ่งมายาทั้งปวง.
“ผู้ใดจำเดิมแต่ต้นมาทีเดียว ตกอยู่ในความเกิดในความสืบชีวิตเปลี่ยนไปๆ ในความตาย และบัดนี้ได้กำหนดรู้ไว้ดีแล้วซึ่งลักษณะแห่งสภาพอันเป็นพิษนี้, ผู้นั้นย่อมชนะด้วยตนเองแล้ว ถึงซึ่งความพ้นภัยในความเกิด ความแก่ และความตาย. และเขาซึ่งเคยตกอยู่ในโรคาดูร ในมลทินกิเลสในบาป, ผู้นั้น ณ บัดนี้ได้รับความรับรองแน่นอนแล้วว่า ไม่มีพิการแปรผัน อันเป็นผลสะอาดหมดจด และเป็นบุณย์-
“เราพ้นแล้ว. ความหลุดพ้นได้ประจักษ์แล้ว. ชาติหยุดอยู่เพียงนี้แล้ว. กรณียะของเราสำเร็จแล้ว. โลกนี้หยุดแก่เราไม่สืบต่ออีกแล้ว.”
“ดูก่อนอาคันตุกะผู้แสวงบุณย์, นรชนมีญาณทรรศนะเช่นนี้ชื่อว่าผู้สำเร็จแล้ว เพราะเขาเสร็จสิ้นธุระและถึงที่สุดบรรดาความทุกข์ยากทั้งปวง.
“ดูก่อนอาคันตุกะผู้แสวงบุณย์. นรชนมีญาณทรรศนะเช่นนี้ ชื่อว่าผู้ได้ขจัดแล้ว เพราะเขาได้ขจัดแล้ว ซึ่งอุปทาน (ความออกรับ?) ว่า “ตัวเรา” และ “ของเรา.”
“ดูก่อนอาคันตุกะผู้แสวงบุณย์. นรชนมีญาณทรรศนะเช่นนี้ ชื่อว่าผู้ถอนแล้ว เพราะเขาได้ถอนแล้ว ซึ่งต้นไม้ คือ ความมีความเป็นตลอดกะทั่งรากมิให้เหลือเชื้อเกิดขึ้นได้อีก.
“บุคคลมีลักษณะเช่นนี้ ตราบเท่าที่ยังมีร่างอยู่, เทวดาและมนุษย์คงเห็นได้; แต่เมื่อร่างสลายเพราะความตายแล้ว, เทวดาและมนุษย์มิได้เห็นต่อไป, แม้แต่ธรรมดาผู้เห็นได้ตลอด ก็ไม่เห็นเขาคนนั้นอีก. ผู้นั้นได้ทำให้ธรรมดาถึงความบอดแล้ว. เขาพ้นจากมารแล้ว ได้ข้ามห้วงมหรรณพที่ต้องแหวกว่ายวนเกิดเวียนตาย ถึงเกาะอันเป็นแหล่งเดียวที่ผุดพ้นเหนือความเกิดความตาย กล่าวคือ พระอมฤตมหานิรพาณ.”