ยี่สิบเจ็ด สัจจกิริยา

ในเวลาตอนหัวค่ำ ฉันมักไปอยู่บนลานอโศกเสมอตามลำพัง หรือบางทีกับเมทินี. ในเย็นวันที่เล่ามานี้ ฉันไปอยู่บนลานอโศกแต่คนเดียว, เมื่อจิตต์ใจไม่เป็นปกติเช่นนั้น อยู่ตามลำพังเป็นการดีกว่าอะไรหมด. พระจันทร์กำลังเต็มดวง ฉายแสงลงมาสว่างเหมือนกับคืนครั้งกระโน้นที่ไม่ลืมเลย และขณะยืนอยู่ใต้ต้นอโศก ซึ่งมีช่อดอกออกเต็ม ฉันคิดหาทางเสี่ยงทายพอให้คลายความทุกข์ที่วิตกอยู่วาบๆ ใจ, ยืนอยู่สักครู่ก็นึกอธิษฐานว่า ถ้าระวางตัวฉันที่ยืนอยู่นี้กับต้นอโศก มีดอกอโศกสีเหลืองแดงอย่างหญ้าฝรั่น ร่วงลงมาภายในเวลาที่นับยังไม่ถึงร้อยแล้ว ก็เป็นอันว่ากามนิตคู่รักยังคงมีชีวิตอยู่

เมื่อฉันนับไปได้ห้าสิบ ดอกอโศกร่วงลงมาหนึ่งดอกหนึ่งแต่เป็นสีเหลือง, ครั้นนับไปถึงแปดสิบ ฉันก็ค่อยนับให้ช้าลงทุกที, ยังไม่ทันถึงร้อย เสียงประตูที่อยู่ตรงมุมดัง, เหลียวไปดูทางบันได ที่สำหรับคนสวนและคนงานขึ้นมา เห็นบิดาฉันมีสาตาเคียรตามมาข้างหลัง, ถัดไปเป็นทหารหลายคนมีอาวุธครบ, แล้วถึงชายคนหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่กว่าคนเหล่านั้นมาก, ต่อไปก็มีพวกทหารกำกับมาข้างหลังด้วย. ทหารสองคนหยุดเฝ้าอยู่ที่ประตู, นอกจากนั้นเดิรเข้ามาที่ฉันยืนอยู่. ฉันสังเกตดูในที่มืด ดูเหมือนคนที่รูปร่างสูงใหญ่นั้น เดิรไม่ค่อยสะดวก: เวลาก้าวย่างไปก็มีเสียงฉิ่งฉ่าง.

ขณะนั้น ดอกอโศกสีเหลืองแดงก็ร่วงลงมาตกอยู่ที่เท้าของฉันทันที ซึ่งในเวลานั้นกำลังตกตะลึงลืมนับเสียแล้ว. เพราะเหตุนี้จึ่งไม่แน่ใจว่าเมื่อเวลาร่วงลงมา จะถึงเวลาที่นับครบร้อยหรือยังก็ไม่ทราบ.

พวกที่มาเวลานั้น พอออกพ้นเงาผนังมาถึงตอนที่แสงเดือนฉายสว่าง ฉันก็ตกใจเยือก เพราะเห็นคนที่รูปร่างใหญ่โต ถูกจำโซ่ตรวนทั้งเท้าและมือ มีโซ่ล่ามไปติดอยู่กับพวงคอเป็นสองเส้น แล้วมีโซ่ล่ามออกจากพวงคออิกสองเส้น สำหรับทหารสองคนถือกุมไว้ ที่คอมีพวกดอกยี่โถ สีแดงคล้องห้อยลงมาถึงอกที่มีขนรุงรัง บนศีรษะโรยอิฐก์ผงสีเหลืองแดง. ลักษณะดั่งนี้เป็นนักประเภทที่จะถูกพาตัวไปประหารชีวิต. ส่วนผมนั้นยุ่งเหยิงหรุบลงมาปิดหน้าประจบกันกับหนวดและเครา มองเห็นแต่ลูกตาทำให้ดุร้ายน่ากลัวยิ่งขึ้น. ดวงตามีแสงวาวมองดูฉันแวบเดียวแล้วก็เหลือบไปมองทางโน้นทางนี้, ไม่ผิดอะไรจากสัตว์ดุร้าย.

ผู้ที่ยืนอยู่ต่อหน้าฉันนี้เป็นใคร เป็นอันไม่ต้องถามถึง แม้พวงดอกยี่โถแดงจะปกคลุมพวงมาลานิ้วคนอันเป็นเครื่องหมายแห่งชื่อเขา ก็ย่อมจะเดาถูกว่าเป็นใคร**

สาตาเคียรพูดขึ้นก่อนว่า “นี่แน่ องคุลิมาล, จงเล่าซ้ำให้ฟังอิกครั้ง เรื่องที่เองได้สารภาพไว้ในคราวที่ถูกทรมานซักปากคำ ถึงที่เองฆ่าพ่อค้าหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อกามนิตชาวกรุงอุชเชนี.”

เสียงตอบดังโฮกฮากว่า “กามนิตไม่ได้ถูกฆ่า, เป็นแต่ถูกจับตัวไป แล้วเราจัดการตามวิธีของพวกเรา.”

ต่อไปนี้ก็เล่าเรื่องย่อๆให้ฟัง เหมือนที่บิดาฉันเล่าให้ฟังครั้งหนึ่งแล้ว.

ระวางนั้น ฉันยืนพิงต้นอโศก เอามือทั้งสองเหนี่ยวกิ่งพะยุงตัว จับยึดเสียแน่นจนเล็บจิกเข้าไปในกิ่งเพื่อไม่ให้ล้ม. เมื่อองคุลิมาลเล่าจบลง, รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ หมุนไปหมด; ถึงกระนั้น ก็ยังมีมานะไม่ยอมแพ้.

ฉันพูดว่า “เองเป็นโจรและเป็นผู้ร้ายชั่วชาติ. ใครจะเชื่อในคำพูดของเอง? ทำไมเองจะพูดตามที่ถูกบังคับให้พูดไม่ได้หรือ?”

ในทันทีกันนั้น รู้สึกคล้ายจะมีอะไรสังหรณ์ เห็นมีความหวังขึ้นบ้างรางๆ จึ่งพูดว่า “ดูแต่ดวงตาเองซิ_ดวงตาที่ใครเห็นก็ตกใจกลัว. แต่เองไม่กล้ามองตรงมาดูข้าซึ่งเป็นแต่ผู้หญิงอ่อนแอเท่านั้น. ทั้งนี้ก็เป็นพิรุธส่อให้เห็นว่าเองเป็นชาติขี้ขลาด ถูกบังคับไม่ไห้พูดความจริง.”

องคุลิมาลมิได้เงยหน้าขึ้นดู คงก้มอยู่ แต่หัวเราะหึๆ ตอบเสียงดังคล้ายเสียงคำรามของสัตว์ที่ถูกล่ามโซ่ว่า “ประโยชน์อะไรที่จะต้องจ้องดูเจ้า? นั่นเป็นหน้าที่ของชายหนุ่มพวกเจ้าชู้. ไม่ใช่คนอย่างเรา. ดวงตาของโจรใจทมิฬ เจ้าก็ไม่มีความเชื่อ, วาจาที่พูดก็ไม่เชื่อ. เช่นนั้น ถ้าจะให้ปฏิญญาก็เห็นจะไม่เชื่ออิกซิ?”

พูดแล้วเดิรเข้ามาสองสามก้าว, กล่าวต่อไปว่า “ถ้าอย่างนั้น, แม่สาวน้อย จงดูพิธีสัจจกิริยา ซึ่งจะทำในขณะนี้.”

ขณะนั้น ฉันได้เห็นดวงตาขุ่นเขียวอิกครั้งหนึ่ง เหลือบแลขึ้นไปจับอยู่ที่ดวงจันทร์. เห็นใบหน้าซึ่งผมและหนวดเครารุงรังบังคลุมหมดนอกจากดวงตาขาววาว. หายใจเฮือกๆ จนดอกไม้ที่คล้องอยู่เต้นขึ้นเต้นลง. แล้วองคุลิมาล ก็กล่าวคำปฏิญญาตามลัทธิที่เรียกว่าสัจจกิริยา มีเสียงดังกะหึมคล้ายเสียงฟ้าลั่นไปตามเมฆ ว่า-

“ข้าแต่พระแม่เจ้าผู้บำราบเสือให้เชื่อง เทวีแห่งราตรี มีงูเป็นมกุฎ ผู้เต้นรำในท่ามกลางเดือนหงาย บนชะง่อนผา มีมาลาร้อยด้วยกะโหลกคนแกว่งไปมา แยกเขี้ยวเคี้ยวฟัน, ข้าแต่พระแม่เจ้ากาลี ผู้เป็นนายิกาของมหาโจร, พระองค์ผู้ทรงนำข้าพเจ้าฝ่าอันตรายมาแล้วนับตั้งพันครั้ง ขอได้ทรงสดับคำข้าพเจ้า. อันว่าข้าพเจ้ามิได้งดเว้นจากการพลีบูชาพระองค์ มิได้ประพฤติตนผิดแผกไปจากกฎซึ่งพระองค์ได้ทรงกำหนดไว้ ดังนี้เป็นความจริงปานใด. ข้าพเจ้าก็ได้จัดการแก่กามนิต ตามกฎของเราที่ได้กำหนดไว้ คือกฎของผู้ส่ง ถ้าค่าถ่ายไม่มาตามกำหนดเวลา ก็ต้องจัดการกับนักโทษ คือ ตัดตีนสินมือผ่าแล่งนักโทษนั้นแล้วทิ้งไว้ ในย่านหนทางเดิร ความข้อนี้ก็ย่อมเป็นความจริงปานนั้น. ด้วยอำนาจความจริงที่สุดนี้ ขอให้พระองค์ซึ่งเสด็จมาอยู่ใกล้ข้าพเจ้า ขณะที่ได้รับความเดือดร้อนสาหัสอยู่ จงได้กะชากโซ่ตรวนที่ร้อยรัดข้าพเจ้า บันดาลให้ข้าพเจ้าหลุดจากเครื่องพันธนาการของศัตรู โดยประจักษ์เทอญ”

องคุลิมาลทำสัจจาธิษฐานดั่งนี้แล้ว ก็ดิ้นสะบัดตัวกะชากโซ่ตรวนให้ขาดออกเต็มกำลังแรง จนทหารสองคนที่คุมตัวล้มกระแทกลงบนพื้น ทหารอิกคนหนึ่งถูกองคุลิมาลเอาโซ่ที่ล่ามข้อมือฟาดลงไปสลบ. และก่อนที่คนอื่นจะทันรู้สึกตัว องคุลิมาลก็กะโดดข้ามกำแพงไป มีสาตาเคียรร้องเอ็ดอึงไล่ตามไปด้วย.

ประพฤติเหตุที่ฉันได้เห็น และรู้เรื่ององคุลิมาลครั้งหลังที่สุดเพียงเท่านี้.

ภายหลังจึ่งได้ทราบว่า องคุลิมาลกะโดดลงไปขาหัก, ถูกจับตัวได้แล้วไปตายที่ในคุกเพราะต้องทรมาน. เจ้าหน้าที่ตัดเอาศีรษะไปเสียบประจารไว้ ที่ประตูเมืองด้านตะวันออก ซึ่งเมทินีและโสมทัตต์ได้ไปเห็นมา.

เมื่อเห็นองคุลิมาลกระทำสัจจกิริยาสำเร็จจริงชัดเจนแล้ว, ความสงสัยและความหวังที่ยังมีเหลืออยู่ก็เป็นอันหมดไป, เลยทอดอาลัยไม่ยินดีความบันเทิงสุขในโลกอิกต่อไปแล้ว, หวังจะพบกันอิกก็แต่ในแดนสวรรค์สุขาวดี. ตัวเธอล่วงหน้าไปอยู่แล้วและส่วนตัวฉันก็ปรารถนาจะตามไปด้วยในไม่ช้า. ณที่นั้น ความสุขของเราก็จะผลิผลสมบูรณ์: เรื่องอื่นเป็นอันเลิกพูดกัน.

ต่อจากนั้น สาตาเคียรเพียรมาขอตัวฉันเรื่อยไป. มาทีไรมารดาฉันก็เอาแต่ร้องไห้ร้องห่ม ว่าท่านเห็นจะต้องตายลงเพราะตรอมใจ มีลูกเต้าเขาทั้งทีก็ไม่ได้ปลูกฝังมีเหย้าเรือน, ทำให้เป็นที่อับอายขายหน้าเพื่อนบ้าน. ท่านรำพันต่างๆ นานา หนักเข้าใจฉันอ่อนลงทุกที เกิดมีความคิดเห็นว่า สาตาเคียรมีคุณอยู่ที่ได้แก้แค้นแทนเธอ, ทั้งเห็นว่ามีความรักใคร่จริงๆ, จนล่วงต่อมาอิกปีหนึ่ง จึ่งได้ยอมเป็นภริยาสาตาเคียร.

บันทึก

ยี่โถ แปลจากศัพท์ว่า กณเวร สํสกฤตเป็น กรวีร, ในวรรณคดีสํสกฤตและมคธกล่าวถึงร่วมกัน ในที่ซึ่งใช้ดอกร้อยเป็นพวงมาลัยสวมคอ เป็นเครื่องหมายนักโทษอุกฉกรรจ์.

ในวรรณคดีสํสกฤต คือบทละคอนเรื่องมฤจ์ฉกฏิก องค์ที่สิบ โศลก ๒๑ จารุทัตต์ถูกตัดสินประหาร ใช้พวงดอกกรวีรสวมคอ.

ในวรรณคดีมคธ คือ (๑) กณเวรชาดก ปูจิมันทวรรค จตุกกนิบาต หน้า ๒๙๙, (๒) มหาปทุมชาดก ทวาทสนิบาต หน้า ๑๓๕, และ (๓) มโหสธชาดกมหานิบาต หน้า ๓๔๗ ,นักโทษอุกฉกรรจ์ต้องสวมพวงมาลัยดอกกณเวรสีแดง และโรยอิฐก์ผงบนศีรษะ.

ในบาลีอังกฤษดิกชนารี และสํสกฤตอังกฤษดิกชนารี แปลศัพท์ทั้งสองนั้น คือ กณเวร และ กรวี ร่วมกันว่า Oleander

ในอภิธานนัปปทีปิกา ไม่มีศัพท์ กณเวร, แต่ในคาถาที่ ๕๗๗ มี กรวีร และอัสสมารก, ให้คำแปลว่า พุด ทั้งสองศัพท์. ศัพท์ว่าอัสสมารก ในบาลีดิกชนารีก็ดี, อัศวมารกในสํสกฤตดิกชนารีก็ดี, คงแปลว่า Oleander

รวมความว่า กณเวร หรือ กรวีร, และอัสสมารก, มีที่แปลในดิกชนารีอย่างเดียวกันว่า Oleander (Nerium Odorum)

ชาดกที่แปลสู่ภาษาไทยเราแล้ว ฉะเพาะที่นำมาอ้างไว้สามชาดกนั้น (๑) ในกณเวรชาดก แปลว่า ดอกชะบา. ฟังดูก็เข้าทีดี เพราะเคยได้ยินว่า นักโทษที่ถูกประหารชีวิตต้องทัดดอกชะบา (๒) ในมหาปทุมชาดกแปลข้ามดอกกณเวรไปเสีย. (๓) ในมโหสธชาดก แปลว่าดอกยี่โถ. ข้าพเจ้าไม่สู้สนิทใจเท่าดอกชะบา เพราะเห็นว่าดอกยี่โถนั้นเรานิยมกันว่า เป็นนิมิตต์บอกมงคล รวมอยู่ในพวกดอกดาวเรือง และดอกพุทธรักษา, ไฉนจึงเอามาใช้เป็นนิมิตต์บอกโทษประหาร?

เพื่อให้ทราบคำแปลให้แน่นอน ข้าพเจ้าได้ถามพราหณ์ ป. สุพรหมัณยศาสตรี แห่งราชบัณฑิตยสภา. ท่านพราหมณ์ว่ารู้จักต้นไม้นี้ดี แต่ไม่ทราบว่าไทยเรียกว่าอะไร, ได้แสดงสัณฐานต้น ใบ ดอก ผล ซึ่งดูก็เหมาะจะเป็นยี่โถมาก. ภายหลังค้นบัญชีพรรณไม้สามัญในสยาม ของพระยาวันพฤกษพิจารณ์ พบต้นยี่โถ (หน้า ๒๒๖) ให้คำแปลว่า Nerium odorum เมื่อเห็นว่าส่วนต่าง ๆ ยันกันในทางที่จะเป็นยี่โถแล้ว จึ่งหักกิ่งยี่โถพร้อมด้วยดอกไปสอบที่พราหมณ์นั้น. ท่านรับรองด้วยความดีใจว่า นี่แหละกรวีร.

จึ่งสิ้นวิมัติกังขาว่า กณเวร หรือ กรวีร อัสสมารก, คือ ยี่โถ แน่แท้แล.

  1. ๑. ดูบันทึกท้ายบทนี้.

  2. ๒. องคุลิมาล แปลว่า มีนิ้วมือเป็นมาลัย.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ