- คำนำ
- ภาคหนึ่ง บนดิน
- หนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จกลับเบญจคีรีนคร
- สอง พบ
- สาม สู่ฝั่งแม่คงคา
- สี่ สาวน้อยผู้เดาะคลี
- ห้า รูปวิเศษ
- หก บนลานอโศก
- เจ็ด ในหุบเขา
- แปด ดอกฟ้า
- เก้า ใต้ดาวโจร
- สิบ รหัสยลัทธิ
- สิบเอ็ด งวงช้าง
- สิบสอง ที่ฝังศพของวาชศรพ
- สิบสาม เพื่อนบุณย์
- สิบสี่ ผู้เป็นสามี
- สิบห้า ภิกษุโล้น
- สิบหก เตรียมรับมือ
- สิบเจ็ด สู่ความเป็นผู้ละบ้านเรือน
- สิบแปด ในห้องโถงช่างปั้นหม้อ
- สิบเก้า พระศาสดา
- ยี่สิบ เด็กดื้อ
- ยี่สิบเอ็ด ในท่ามกลางความเป็นไป
- ภาคสอง - บนสวรรค์
- ยี่สิบสอง ภูมิสุขาวดี
- ยี่สิบสาม การต้อนรับแห่งชาวสวรรค์
- ยี่สิบสี่ ต้นปาริชาต
- ยี่สิบห้า บัวบาน
- ยี่สิบหก สร้อยแก้วตาเสือ
- ยี่สิบเจ็ด สัจจกิริยา
- ยี่สิบแปด บนฝั่งคงคาสวรรค์
- ยี่สิบเก้า ท่ามกลางกลิ่นหอมแห่งดอกปาริชาต
- สามสิบ มีเกิดก็มีตาย
- สามสิบเอ็ด ปิศาจที่บนลาน
- สามสิบสอง สาตาเคียร
- สามสิบสาม องคุลีมาล
- สามสิบสี่ นรกหอก
- สามสิบห้า การบูชาอันบริศุทธิ์
- สามสิบหก พระพุทธและพระกฤษณ
- สามสิบเจ็ด ดอกฟ้าเหี่ยว
- สามสิบแปด พรหมโลก
- สามสิบเก้า ความมืดแห่งโลกานุโลก
- สี่สิบ ในสุมทุมพุ่มไม้พระกฤษณ์
- สี่สิบเอ็ด โอวาทอย่างง่ายๆ
- สี่สิบสอง ภิกษุณีอาพาธ
- สี่สิบสาม มหาปรินิพพาน
- สี่สิบสี่ พินัยกรรมวาสิฏฐี
- สี่สิบห้า กลางคืนและรุ่งเช้าในสกลจักรวาล
สิบ รหัสยลัทธิ
พระสูตรมีความว่าดั่งนี้: “สูเจ้าคิดถึงเทวะด้วยฤๅ?--หามิได้!--ไม่แน่นัก-เพราะความว่างเปล่า, เพราะคัมภีร์, และเพราะตำนาน (อิติหาส).”
คำอรรถข้างต้นนี้ วาชศรพผู้อรรถกถาจารย์แก้ว่า คำว่า “เทวะ” นั้น คือ ทัณฑ์.
เพราะว่าในพระสูตรก่อนนั้น ทัณฑ์ซึ่งกล่าวถึง มักกล่าวกันว่าเป็นของพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ เพื่อใช้แก่โจร, เป็นต้นว่า ตัดแขนขาและจมูก, เอาลงหม้อน้ำเดือด, เอาน้ำมันยางเดือดราดคอ, ปากมังกร (เห็นจะเอาอะไรยัดให้ปากอ้า) ตอกเล็บ, รั้งแขนขาให้คราก ฯลฯ เพราะฉะนั้นจึ่งเป็นการสมควรพอ ที่ผู้เป็นโจรจะต้องหลบหลีก อย่าให้เขาจับได้; ถ้าถูกจับได้, ฉันไร จะพยายามหาทางหนี.
มีบางคนกล่าวว่า เทวทัณฑ์ย่อมมีแก่โจรด้วย (คือเทวดาลงโทษ). ความข้อนี้พระสูตรบอกว่า “หามิได้;” และว่า “ไม่แน่นัก.” โดยเหตุที่ควรแสดงให้เห็นแจ้งสามสถาน คือจากปัญญารู้เหตุผล จากพระเวท และจากภควัทคีตาที่สืบกันมาจนถึงเรา.
“เพราะความว่างเปล่า” หมายความตามหลักแห่งเหตุผล คือว่าถ้าข้าพเจ้าตัดหัวคนหรือหัวสัตว์, ดาพของข้าพเจ้าฟันเข้าไปในระวางอนุปรมาณูอันแยกไม่ได้. เพราะอนุปรมาณูนี้มีลักษณะแยกไม่ได้โดยแท้; ดาพของข้าพเจ้าจึ่งไม่ได้ฟันอนุปรมาณู. เพราะฉะนั้น ดาพที่ว่าฟันลงไป จึ่งเป็นฟันในที่ว่างเปล่าระวางอนุปรมาณู. ก็ความว่างเปล่าใครเล่าจะเป็นผู้ทำอันตรายได้? เพราะการทำอันตรายในสิ่งที่ไม่มี ก็เท่ากับไม่ได้ทำอันตรายในสิ่งไรๆ. ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เอาดาพฟันลงไปในที่ว่างเปล่า จึ่งไม่ต้องรับผิดและจะรับเทวทัณฑ์ไม่ได้. ถ้าการฆ่ามนุษย์มีความจริงเป็นเช่นนี้แล้วไซร้, กรรมอย่างอื่นที่มนุษย์ลงทัณฑ์แก่กันเบากว่าการฆ่าคน จะมีความจริงอีกสักเพียงไร?
เรื่อง “เหตุผล” ก็มีด้วยประการฉะนี้. บัดนี้จะได้กล่าวถึง “พระเวท” ต่อไป.
ในพระเวทอันศักดิ์สิทธิ์สอนว่า สิ่งซึ่งมีภาวะอันแท้จริงมีหนึ่งเท่านั้นคือพรหม. ถ้าความนี้เป็นจริง; การฆ่าก็เป็นมายา: ไม่ได้ฆ่าใคร. ในพระเวทกล่าวไว้มากมาย ในตอนที่พระยมบอกแก่นจิเกต ด้วยเรื่องพรหม และด้วยเรื่องอื่นๆ ว่า “ผู้ใดเป็นผู้ประหาร, ก็สำคัญเอาว่าตนเป็นผู้ประหาร; ผู้ใดถูกประหาร, ก็สำคัญเอาว่าตนตาย เขาทั้งสองไม่รู้แจ้งเลย. แท้จริงไม่มีใครประหาร; ไม่มีใครถูกประหาร.”
ข้อที่ทำให้เห็นจริง ในความจริงอันลึกซึ้งนี้ มีแจ้งอยู่ในภควัทคีตาของพระกฤษณะและพระอรชุน. เพราะพระกฤษณะนั้น พระองค์ไม่มีความเป็นต้น ไม่มีเขตต์เป็นที่สุด: ทรงความเป็นอยู่เป็นนิตย์, ทรงสรรพศักดิ์, เป็นบุรุษอันมนุษย์คิดไปไม่ถึง, เป็นอติเทพ, ทรงพระกรุณาเพื่อช่วยสรรพสัตว์ให้รอดพ้น, จึ่งทรมานพระกายอวตารมาเป็นมนุษย์กฤษณะ; และในวาระสุดท้ายที่เสด็จอยู่ในมนุษยโลก ได้ทรงช่วยกษัตริย์แห่งปาณฑพ คือพระอรชุนผู้มีใจสูง ในสงครามที่ขับเคี่ยวกับพวกเการพ โดยเหตุที่พวกเการพทำประทุษร้ายต่อพระอรชุน และภราดรของพระองค์. ขณะทัพทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะจะสัประยุทธ์กัน, พระอรชุนมองไปในกองทัพปรปักษ์ เห็นญาติมิตรมีอยู่ในนั้นมากแทบทั้งหมดก็ว่าได้, เพราะพวกปาณฑพกับพวกเการพเป็นลูกเรียงพี่เรียงน้องกัน. พระอรชุนเห็นดั่งนี้ก็ใจหาย ไม่กล้าสั่งให้กองทัพเข้ารุกรบ เพราะไม่อยากจะประหารผู้ซึ่งล้วนเป็นญาติมิตร, คงนิ่งอึ้งอยู่บนรถศึก สลดหดเหี่ยวใจจนคอตก. ฝ่ายพระกฤษณะซึ่งเป็นสารถีให้พระอรชุนเห็นเช่นนี้ก็ยิ้มแล้วชี้ไปที่กองทัพปรปักษ์ แสดงให้พระอรชุนเห็นว่าคนเหล่านั้นมีภาวะเป็นตัวตนขึ้น แล้วก็ดับสิ้นไปเข้ารวมอยู่ในพระผู้ทรงความเป็นหนึ่ง (พระพรหม) ซึ่งอดีตแห่งพระองค์ไม่มีเริ่มต้น และอนาคตแห่งพระองค์ไม่มีเขตต์สุด หลุดพ้นจากความเกิดความตาย -
“ผู้ใดเข้าใจว่าตนเป็นผู้ประหาร, ผู้ใดสำคัญว่าตนถูกประหาร: ทั้งสองผู้นั้นย่อมไม่รู้แจ้ง. แท้จริงไม่มีใครประหาร ไม่มีใครถูกประหาร. ฉะนั้นเธอจงเริ่มรบเถิด.”
เมื่อพระกฤษณะเตือนสติดั่งนี้ พระอรชุนก็ให้สัญญาณรบ เป็นอันเริ่มมหาสงคราม, ในที่สุดพระอรชุนชะนะ. เพราะฉะนั้นพระกฤษณะผู้อติเทพซึ่งได้อวตารมาเป็นมนุษย์ ได้เปลี่ยนสภาพความตื้นเขลาและความอ่อนแอของพระอรชุน ให้กลับเป็นปราชญ์มีความคิดลึกซึ้งและเป็นวีรบุรุษขึ้น.
ด้วยประการฉะนี้ ความจริงย่อมมีด้วยประการต่อไปนี้-
“ผู้ใดกระทำประทุษกรรมเอง หรือให้ทำประทุษกรรม, ทำลายเองหรือให้ทำลาย, ทำร้ายเองหรือให้ทำร้าย, คร่าชีวิตสัตว์หรือเอาสิ่งที่เขาไม่ให้, ตัดช่องทำลายเข้าไปในเคหสถาน หรือลักขะโมยทรัพยสมบัติเขา, หรือจะด้วยเหตุอื่นอย่างไรอีกก็ตาม; ผู้นั้นหาต้องรับภาระมีโทษผิดไม่. และผู้ใดณบัดนี้และที่นี่ เอาขวานอันลับไว้คมกริบ เปลี่ยนสภาพของสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ให้ล้มระเนระนาดกลายเป็นกองเดียว ก็ย่อมไม่มีโทษผิด เพราะเหตุอันนั้น. และผู้ใดอยู่บนฝั่งใต้แม่คงคา ถางทางโดยประหัตประหารเสียราบคาบ ก็ย่อมไม่มีโทษผิดเพราะเหตุนั้น. และผู้ใดอยู่บนฝั่งเหนือแห่งแม่คงคา ถางทางโดยแจกทานการให้, ก็ย่อมไม่ได้บุณย์เพราะเหตุนั้น. ผู้ใดบำเพ็ญความมีใจกว้างขวาง ความสงบเสงี่ยม ความสละซึ่งความสุข, ผู้นั้นหาขึ้นชื่อว่าได้ทำบุณย์ทำความดีไม่.
และโดยเหตุที่โลกมีความเริ่มต้นมาจากพระพรหม, เพราะฉะนั้นโลกก็ต้องล่วงไป. พระพรหมสร้างโลกให้มีขึ้นแล้วก็ทำลายให้ศูนย์หายไป, แล้วสร้างใหม่ แล้วทำลายไป: หมุนเวียนกันอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด. เพราะฉะนั้นพระพรหม จึ่งไม่ใช่จะเป็นผู้สร้างอย่างเดียว, ยังเป็นผู้กินสรรพสัตว์ อันมีพราหมณ์และกษัตริย์อยู่ในวรรณะชั้นสูงนั้นด้วย. สมกับข้อความในคัมภีร์ตอนหนึ่งว่า “เรากินทั้งหมด, แต่เราหาได้ถูกกินไม่.”
ความข้อนี้ ท่านทั้งหลายพึงรู้ว่าเป็นวจนอันแท้จริงของพระอติเทพในปางเมื่อเป็นแกะ นำเอาเมธาติถิมาณพไปสู่โลกสวรรค์. มาณพมีความโกรธ ถามว่าเป็นใคร. พระผู้ถือเอาซึ่งร่างแกะ ก็ปรากฏพระองค์เป็นพระพรหม ผู้เป็นสรรพภาวะในสรรพภาวะ, และตรัสว่าดั่งนี้:
“ผู้ใดอันไม่ใช่เป็นผู้ฆ่า และทั้งเป็นผู้มิได้คร่าพาเอามา ผู้เป็นแกะซึ่งนำเจ้ามาไกลจากที่นี่, ผู้นั้นคือเรา ซึ่งมีรูปดั่งเห็นนี้, ผู้นั้นคือเราดั่งเห็นได้ทุกรูปกาย. ผู้ใดรู้สึกกลัว ผู้นั้นก็คือเรา, และเราเป็นผู้ทำให้เกิดความกลัวด้วย. แต่ความแตกต่างย่อมมีอยู่ คือว่าเราเป็นผู้กิน แต่เราหาได้ถูกกินไม่.”
ณบัดนี้ ผู้ที่มีตามืดมนท์ด้วยความเขลา คงจะเห็นแจ้งว่า ความเป็นผู้เหมือนพรหม ไม่ได้อยู่ที่ถูกผู้อื่นประหารหรือถูกผู้อื่นกิน. ฉันใดก็ดี ความสงบเสงี่ยม ความสละซึ่งความสุขจึ่งถือได้ว่าไม่ใช่บุณย์กุศลฉันเดียวกัน. แท้จริงพึงเป็นผู้ประหารและเป็นผู้กิน จึ่งมีลักษณะเป็นพรหม. หรืออีกนัยหนึ่งพึงพยายามทำลายล้างผู้อื่นจนสุดกำลัง, ตัวเองจึ่งจะพ้นอันตรายไม่มีใครกินใครประหารได้. เพราะเป็นอันเชื่อได้สนิทตามหลักนี้ ว่าผู้ทำทารุณกรรมย่อมรับโทษในนรกนั้น เป็นลัทธิอันคนอ่อนแอประดิษฐ์ขึ้น เพื่อป้องกันตนให้พ้นภัยจากผู้มีอำนาจมากกว่า โดยยกเอานรกขึ้นขู่ให้กลัว..
และแม้ว่าพระเวทมีข้อความอันกล่าวด้วยลัทธินรกนี้ไว้หลายแห่งก็ดี ก็ต้องเป็นเพราะผู้อ่อนแอแทรกเสริมเติมขึ้นด้วยพาลนิสสัย เพราะเป็นหลักลัทธิที่แย้งกับหลักสำคัญของลัทธิ. ก็เมื่อสิ่งทั้งหลายออกจากพรหม, สิ่งเหล่านั้นจะดีจะชั่ว จะเป็นคนร้ายหรือคนดีก็คือพรหม. เพราะฉะนั้นผู้เป็นโจรก็เป็นผู้ดำเนิรอย่างพรหม คือเป็นผู้ทำลายผู้กิน. จึ่งถือได้ว่าเป็นโจรเป็นผู้มีภาวะอยู่สูง โดยนัยแห่งเหตุผลดั่งได้แสดงมาแล้ว ทั้งด้วยหลักใช้ปัญญาหาเหตุผล และหลักอันมีที่มาจากพระคัมภีร์. ดังนี้ จึ่งพึงถือได้ว่าไม่มีเหตุอย่างอื่นจะมาแย้งความจริงนี้ได้.