ความเห็นของผู้ชำระ
เรื่องของท้าวฮุ่ง หรือขุนเจืองนี้ เป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยหลายเล่ม เช่นในพงศาวดารโยนก ของ พระยาประกิจกรจักร เป็นต้น ซึ่งผู้แต่งกล่าวอ้างว่าได้เก็บรวบรวมข้อความมาจากตำนานเมืองเหนือ เช่นตำนานเมืองเชียงแสน และท่านผู้เขียนตำนานเหล่านั้นก็รับรองยุติต้องกันว่า ขุนเจืองเป็นกษัตริย์ไทย สืบพระวงศ์มาจากพระเจ้าลาวจักรราช ดังมีประวัติโดยเฉพาะเรื่องของขุนเจือง ที่ได้คัดมาลงพิมพ์ไว้ในลำดับต่อไปนี้แล้ว แต่สำหรับฉันมีความคิดเห็นว่า ท้าวฮุ่งหรือขุนเจืองนี้มิใช่กษัตริย์ไทย เป็นกษัตริย์มอญหรือขอม ทั้งนี้เพราะมีเหตุผลบางอย่าง คือ
๑. ในหนังสือคำกลอนเรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง ที่พิมพ์นี้มีบอกไว้ชัดหลายแห่งว่า นางง้อมมเหสีของท้าวฮุ่ง เป็นเม็งหรือขอม เช่นคำชมโฉมตอนหนึ่ง ว่า
“คือดั่งหยาดแต่ฟ้าเสด็จท่อง | ธรณี |
โสมคราญควรคาดเจือง | เทียมท้าว |
นักสนมเนื้อนารี | เฮียงฮอบ |
กาก่องก้าวงามล้ำ | ลูกขอม ฯลฯ” |
เป็นต้น และว่านางง้อมเป็นลูกของนางเม็งพ่อเป็นจามหรือขุนจามอยู่เมืองเชียงเครือ นางเม็งแม่ของนางง้อมเป็นพี่สาวแม่ขุนเจือง ด้วยเหตุนี้ ขุนเจืองจึงเรียกนางง้อมคู่รักว่าพี่ คำว่ามอน เม็ง ขอม เขมร และ ข้า เหล่านี้น่าจะเป็นคำเรียกมนุษย์ชาติในตระกูลเดียวกัน ดังที่ปราชญ์บางท่านได้กล่าวไว้ในประวัติศาตร์ของมนุษย์ชาติเหล่านี้แล้ว ฉะนั้นท้าวฮุ่งก็น่าจะเป็นกษัตริย์แห่งมนุษย์ชาติเหล่านี้หาใช่ไทยไม่
๒. การสงครามครั้งแรกระหว่างท้าวฮุ่งกับพวกแกวแมน สันนิษฐานว่าเป็นสงครามระหว่างพวกมอนหรือเขมรกับพวกแแวแมน คือไทยสาขาหนึ่งซึ่งกำลังขยายลงมามีอำนาจในดินแดนของชนชาติเหล่านี้ ในแว่นแคว้นที่เป็นอาณาจักรหลวงพระบาง ครั้งนี้ขุนเจืองชนะแกวปราบได้เมืองเชียงทอง (นครหลวงพระบาง) และนครปะกัน (เมืองเชียงขวาง) แล้วขุนเจืองมาอัญเชิญพระมารดาของตน คือนางจอมหรือนางจอมเทวี ให้ขึ้นไปครองเมืองเชียงทอง ให้อ้ายคว่างแม่ทัพคนสำคัญครองเมืองปะกัน ส่วนขุนเจืองกลับคืนมาครองเมืองเงินยาง เรื่องตอนนี้ก็มีเค้าความอย่างเดียวกันกับเรื่องนางจามเทวีธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ ที่ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย (นครลำพูน) ข้อที่ว่าขุนเจืองยกทัพจากเมืองเงินยาง (เชียงแสน) ไปปราบได้นครปะกันนั้น อาจเป็นความจริงแท้ เพราะไหหินรูปคล้ายครก ซึ่งมีขนาดสูงตั้งเมตรใหญ่เท่ากลองเพลมีจำนวนมากมายก่ายกอง เดียรดาษทั่วทั้งเมืองเชียงคำใกล้ๆ กับเมืองเชียงขวาง ยังเป็นหลักฐานอยู่เท่าทุกวันนี้ ไหหินเหล่านี้คนแถบนั้นพูดสืบต่อกันมาว่า “ไหเหล้าของท้าวเจือง” อนึ่งตามบริเวณภูเขาแลป่าดงในแขวงจังหวัดเชียงขวางนี้ พื้นภูมิประเทศที่เห็นอยู่ บอกลักษณะว่าเคยเป็นดินแดนที่มีมนุษย์อยู่อย่างคับคั่งมาแล้ว เพราะตามบริเวณเชิงเขาและป่าดงมีรูปคันนา งานนาไร่นาอยู่ทั่วทุกแห่งในที่ราบ
๓. สงครามครั้งสุดท้ายระหว่างขุนเจืองกับพวกแมน หรือเจ้าฟ้าฮ่วน (ฮวน) เมืองตุมวาง สงครามครั้งนี้ในชั้นต้นขุนเจืองเป็นผู้ชนะ เจ้าฟ้าฮ่วนจึงไปเชิญแถนลอผู้เป็นใหญ่ในนครกาหลง (เก๋าหลง คือดินแดนแคว้นเชียงรุ่งหรือเมืองแถง) มาช่วย ขุนเจืองตายในที่รบ ในตอนนี้กล่าวถึงพวกพลของแถนลอว่าเป็นชาวหนองแสง (ชาวยูนาน) ฉะนั้นจึงน่าสันนิษฐานว่าแถนลอนั้นคือขุนลอโอรสองค์ใหญ่ของขุนบรมราชาธิราชกษัตริย์ไทยองค์แรกที่ลงมามีอำนาจในอาณาจักรลานช้าง เพราะในตำนานขุนบรมเรื่องก็กลมกลืนกันอยู่ว่า เมื่อขุนลอยกมาจากเมืองแถงนั้นได้มาปะทะกับกองทัพชาวถิ่นเดิม ขับพวกเจ้าของถิ่นเดิมหนีมาตกเมืองน่านแล้วจึงเข้าตั้งอยู่ในนครเชียงทอง
๔. ขนบธรรมเนียมหรือจารีตประเพณีที่พวกข้าทั้งหลายในดินแดนแคว้นลาวยังนับถือปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้เป็นธรรมเนียมหรือประเพณีอย่างเดียวกันกับประเพณีของท้าวเจืองที่กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ เช่น ประเพณีดื่มเหล้าไห ประเพณีทำพลีกรรมผี ประเพณีนับถือผีด้ำ และประเพณีชั่งแนน ดูแนนเป็นต้น นอกจากนี้ ชาวข้าทั้งหลายยังนับถือผีเจืองเป็นสรณะ และยังมีความเชื่อมั่นอยู่ว่า ขุนเจืองจะกลับคืนมาเป็นเจ้าธรรมมิกราชอีก
เมื่อเห็นว่า ท้าวฮุ่ง หรือ ขุนเจือง มิใช่กษัตริย์ไทยเช่นนี้แล้ว พระกษัตริย์ผู้สืบเชื้อวงศ์ต่อๆกันมา เช่นขุนทึง ขุนเทือง จนถึงพระเจ้าลาวจักราชผู้เป็นต้นวงศ์ก็คงไม่ใช่ไทยเหมือนกัน เพราะถ้าถือว่าพระเจ้าลาวจักรราชเป็นต้นวงศ์แห่งกษัตริย์ไทยองค์แรกแล้ว ชาติไทยก็พึงจะอุบัติขึ้นในโลกเมื่อราว ๘๐๐ ปีเศษล่วงมานี้ ซึ่งไม่อาจเป็นไปได้เลย สมจริงตามคำของท่าน อ. อนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวไว้แล้วนั้น แต่เรื่องเช่นนี้อาจกลับกันหรือแลกกันได้ เพราะเมื่อพวกเราลงมาอยู่ในดินแดนของพวกเขา เราอาจจะรับเอาเรื่องของเขาเข้ามาไว้เป็นของเราก็ได้ เรื่องเช่นว่านี้มีอยู่มากทางจังหวัดภาคอีสานเช่นเรื่อง “ท้าวผาแดงนางไอ่เมืองหนองหาร, เรื่องนางอรพิมพ์สร้างปราสาทหินเมืองพิมาย, เรื่องท้าวศรีโคตบองเมืองศรีโคตบูรณ์เป็นต้น ซึ่งสมัยนี้ใคร ๆ ก็รู้ดีว่าเป็นเรื่องของชนชาติขอม แต่ประชาชนชาวอีสานก็ถือว่าเป็นเรื่องของชาติตน เพราะเห็นว่าวัตถุนั้นๆ มีอยู่ในดินแดนที่ตนอยู่ ใช่แต่เท่านั้นแม้เรื่องรามเกียรติ์ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องดึกดำบรรพ์ได้มาจากอินเดีย แต่เรื่องรามเกียรติ์ฉบับที่เป็นภาษาไทยน้อยก็บอกว่าเมืองเวียงจันทน์นั้นแหละ เป็นเมืองของพระราม และชื่อเกาะดอนในแม่น้ำโขงทั้งมวล ก็ล้วนแต่พระรามกับนางสีดามาตั้งชื่อให้ทั้งนั้น ฉะนั้นข้อที่ท้าวฮุ่งหรือขุนเจืองกษัตริย์ชาติมอญหรือเขมร กลับกลายมาเปนกษัตริย์ชาติไทยนั้น จึงไม่เป็นของแปลกและยากเย็นอะไร เพียงแต่ผู้เขียนตำนานจดเหล็กจานลงไปในใบลานสองสามทีเท่านั้นก็เป็นได้แล้ว
เรื่องท้าวฮุ่งหรือขุนเจืองที่เป็นคำกลอนนี้ มีข้อความสำคัญแปลกกันกับเรื่องที่กล่าวไว้ในพงศาสดาร คือในเรื่องนี้มิได้กล่าวถึงอภินิหารของท้าวฮุ่งว่าเป็นด้วยอำนาจเทวดาอย่างไร เช่นดาบก็กล่าวว่าพวกข้าพางดำนำมาถวาย กล่าวแต่ว่าท้าวฮุ่งเป็นผู้กล้าหาญชาญชัยในการสงครามมากเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นท้ายที่สุดท้าวฮุ่งก็สิ้นพระชนม์ลงด้วยน้ำมือของแถนลอ หรือ ขุนลอ ซึ่งเมื่อถ้าถือว่าท้าวฮุ่งเป็นกษัตริย์ไทยและเป็นเอกในเรื่องแล้วก็ไม่เคยมีเรื่องใดๆ จบลงด้วยอาการอันเศร้าสลดอย่างนี้ นอกจากจะกล่าวตามความจริง
อนึ่ง หนังสือคำกลอนเรื่องท้าวฮุ่งหรือขุนเจืองนี้ มีคนรู้จักกันน้อยทั้งนี้เพราะเหตุว่าอาจารย์ผู้เคร่งครัดในศาสนารุ่นต่อมาภายหลังแต่คำกลอนเรื่องนี้ได้อุบัติขึ้น ได้พากันห้ามไม่ให้เขียนหนังสือเรื่องนี้ลงไว้ในใบลาน ถ้าจะเขียนก็ให้เขียนใส่ผิวไม้ไผ่ และห้ามไม่ให้อ่านฟังในวัดวาอาราม ในงานบุญต่างๆ เว้นแต่บุญบั้งไฟอย่างเดียว โดยอ้างว่าหนังสือนี้เป็นเรื่องของคนบาปหนาสาโหด เป็นเรื่องนอกศาสนามิใช่เรื่องของพระโพธิสัตว์ มีแต่พรรณนาการดื่มเหล้าเมาสุราและลัทธิบูชานับถือผี ซึ่งผิดต่อคติธรรมในพุทธศาสนา ฉะนั้นหนังเรื่องนี้จึงไม่ได้แพร่หลายไปทุกบ้านทุกเมืองเหมือนหนังสือคำกลอนเรื่องอื่น แต่ว่าเมื่อว่าถึงรสชาติหรือสาระของวรรณคดีภาคอีสานแล้ว คำกลอนเรื่องขุนเจืองนี้ก็มีรสชาติไม่ด้อยไปกว่าเรื่องสังศิลปชัย ที่ได้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาแล้วนั้นเลย และที่ยิ่งกว่าสังศิลปชัยก็คือ ท่านผู้ประพันธ์เรื่องนี้ได้วางระเบียบกลอนอ่านวิชชุมาลีดั้น ของไทยภาคอีสานไว้อย่างไพเราะ และถูกต้องดี แถมยังมีแบบโคลงห้าดั้น และโคลงมหาสินธุมาลี เป็นภาษาหรือทำนองภาคอีสานอีกด้วย ซึ่งเราจะหาไม่พบในหนังสืออื่น ๆ เลย (แบบแต่งกลอนและโคลงเหล่านี้ ได้กล่าวไว้โดยถี่ถ้วนแล้ว ในแบบแต่งกลอนไทยเวียงจันทน์) นอกจากนี้ ถ้อยคำสำนวนในเรื่องล้วนแล้วไปด้วยคำโบราณใช้โวหารแปลกๆ เป็นที่น่ารู้น่าเรียนมาก แต่มีสิ่งที่น่าเสียดายมากที่สุด คือว่า ท่านผู้แต่งมิได้บอกวันเดือนปีที่แต่ง และนามของท่านไว้เลย
ในการชำระครั้งนี้เนื่องจากต้นฉบับที่เอามาชำระมีแต่ฉบับเดียว ไม่มีหลายฉบับสอบทานกัน จึงมีที่ขาดตกบกพร่องอยู่มาก แม้ในที่บางแห่งรู้อยู่ว่าเนื้อความขาดไปก็ไม่สามาถจะหาเพิ่มเติมให้ติดต่อกันได้ จึงได้ปล่อยไว้ตามเดิม หวังว่าถ้าได้พบต้นฉบับอื่นอีก และเอามาสอบทานกันชำระใหม่ในโอกาสหลังจะทำให้หนังสือนี้บริบูรณ์ได้เป็นแน่ อนึ่งในการชำระครั้งนี้ผู้ชำระมิได้แก้ไขเพิ่มเติม หรือตัดทอนของเก่าแต่อย่างใด แม้แต่การใช้อักษรก็พยายามรักษาไว้ตามหลักเดิม เป็นแต่จัดวรรคตอนให้เข้ารูปตามระเบียบกลอนเท่านั้น เว้นแต่ที่ไม่ได้ความจริง ๆ จึงแก้ไขใหม่ ที่ได้แก้ไขใหม่หรือเป็นโวหารของผู้ชำระก็ได้วงเล็บครอบไว้ให้รู้ด้วย.
สิลา วีระวงส์ ป.
พระนคร. ที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๕