ประวัติของท้าวฮุ่ง หรือ ท้าวเจือง

(จากพงศาวดารโยนก ของ พระยาประชากิจกรจักร)

ขุนจอมธรรมครองเมืองพะเยาได้ ๓ ปี มีราชโอรสองค์หนึ่ง ประสูตรวันอังคารขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๗ (คือเตือน ๕) ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๔๖๑ (พ.ศ. ๑๖๔๑) เวลาใกล้รุ่ง อาทิตย์ จันทร์ เสาร์ กุมกัน อยู่ราศีเมษ ราหูอยู่กุมภ์ พุธอยู่มิน อังคารอยู่มกร พฤหัสอยู่กรกฎ ศุกร์อยู่ดุล ลักขณาอยู่มิน ดังนี้

ชาตาท้าวฮุ่ง

โหรถวายพยากรณ์ว่า กุมารนี้จะเป็นจักรพรรดิราช ปราบชมพูทวีป พระราชบิดาให้ขนานนามว่า “ขุนเจือง” ในตำนานกล่าวว่า เมื่อประสูตินั้น เทพยดาเอาเครื่องทิพย์ ๓ ประการ คือ แส้ทิพย์ ดาบทิพย์ คนทีทิพย์ มาวางไว้ข้างพระกายกุมาร (แส้, และดาบเจืองยังตกอยู่กับข้าจรายบ้านก้อง จนทุกวันนี้) เมื่อขุนเจืองมีพระชนม์ได้ ๓ ขวบ พระมารดาประสูติราชบุตรอีกองค์หนึ่ง พระบิดาให้นามว่าขุนซอง (ในเรื่องนี้เรียกชื่อว่าอ้ายเจื่อง และว่าเป็นพี่ของขุนเจือง) ครั้นกุมารทั้งสองเจริญวัย ก็ได้ศึกษาศิลปศาสตร์เชิงช้างเชิงม้า และเพลงอาวุธต่างๆ ชำนิชำนาญทุกอย่าง ครั้นขุนเจืองมีอายุได้ ๑๖ ปี ไปคล้องช้างเมืองน่าน พญาน่านตนชื่อว่า พละเทวะ ยกราชธิดาผู้ชื่อว่านางจันทเทวี ให้เป็นมเหสีขุนเจือง แล้วขุนเจืองไปคล้องช้างเมืองแพร่ พญาแพร่ตนชื่อ พรหมวงศา ยกราชธิดาผู้ชื่อว่านางแก้วกษัตรี ให้แก่ขุนเจือง ครั้งนั้นขุนเจืองเป็นราชบุตรเขยแห่งพระยาน่านและพระยาแพร่ทั้งสองนคร ขุนเจืองมีช้างพังพลายใหญ่น้อยเปนอันมาก ในตำนานกล่าวว่า ได้ช้างเผือกพางคำเหมือนกันกับเรื่องเจ้าพรหมกุมาร ในตำนานสิงหนวัติเชียงแสน

ขุนจอมธรรมครองราชสมบัติในนครพะเยาโดยผาสุกประกอบชอบธรรมมาได้ ๒๔ ปี พระชนมายุได้ ๔๐ ปี ก็ได้เสด็จทิวงคต ลำดับนั้นขุนเจืองก็ได้ราชาภิเษกเสวยสมบัติในนครพะเยาสืบไป ครั้นล่วงมาได้ ๖ ปี มีศึกแกวมาติดเมืองหิรัญนครเงินยาง ขุนชินผู้ครองเมืองเงินยางมีราชสาส์นให้หมื่นเจตร หรือหมื่นพิจิตร เชิญมาถึงขุนเจืองว่า บัดนี้ท้าวกว่าและแองกายกรี้พลมามากนัก ขอเชิญขุนเจืองหลานเรารีบยกกำลังมาช่วยป้องกันเมืองโดยเร็ว ขุนเจืองได้ทราบแล้ว จึงให้เกณฑ์พลเมืองพะเยาและหัวเมืองขึ้นทั้งปวง คือ เมืองพร้าว เมืองลอง เมืองเทิง เมืองเชียงแลง เมืองครอบ เมืองกาว เมืองงาว เมืองออย เมืองพราน เมืองแจ้เลียงเชียงแจ้ เชียงตอ เชียงช้าง แจ้ขอด หนองขวาง แจ้หลวง แจ้เหียน แจ้ลุง แจ้หม เมืองวัง รวมได้คน ๑๓๓๐๐๐ ช้าง ๗๐๐ เชือก ม้า ๓๐๐๐ ตัว ออกตั้งทัพไชยประชุมพลณตำบลดอนชัยเบื้องตะวันตกหนองหาง แล้วยกทัพไปทางเมืองคัว เมืองเชียงตัง เชียงช้าง ไปถึงเมืองเงินยาง แล้วเข้าประจณกองทัพแกวแตกฉานไป ขุนชินผู้ลุงมีความโสมนัสยิ่งนัก จึงยกราชธิดาชื่อ “นางอั้วคำคอนให้เป็นภรรยาขุนเจือง” ขุนเจืองเวนราชสมบัติให้ลูกตนผู้ชื่อว่า ลาวเงินเรือง ครองเมืองพะเยา ให้ขุนชินครองเมืองเงินยางอย่างเดิม ส่วนขุนเจืองยกพลไปประจญเมืองลานช้าง ครั้นได้อาณาจักรล้านช้างแล้วก็ยกไปตีเมืองแกวปราบได้ประเทศแกวทั้งหมดแล้ว เกียรติยศก็ปรากฏระบือไปทั่วทุกทิศ ท้าวพระยาสามนตราชทั้งหลายมีพระยาห้อร่มฟ้าเก้าพิมานเป็นประธาน ก็มาชุมนุมกันยังตำบลเหิดในเมืองแกวปะกัน กระทำการพิธีกรรมปราบดาภิเษกขุนเจืองให้เป็นจักรพรรดิราชในเมืองแกว เมื่อปีขาล วันอังคาร เดือน ๔ (เดือน) ขึ้น ๙ ค่ำ เวลากองงาย จุลศักราช ๙๖

ครั้นขุนเจืองครองเมืองแกวได้ ๓ ปีกับ ๙ เดือนแล้ว จึงขอให้พระยาห้อร่มฟ้าเก้ พิมานแปลงลายจุ้มลายเจี้ยให้ลูกตนชื่อว่า ลาวเงินเรือง เป็นพระยาครองเมืองเงินยาง เชียงราว ส่วนขุนเจืองครองเมืองแกวได้ ๑๔ ปี มีราชบุตรกับนางอู่แก้วธิดาพระยาแภว ๓ องค์ ผู้พี่ชื่อท้าวอ้ายผาเรือง ผู้กลางชื่อยี่คำหวา ผู้น้องชื่อสามชุมแสง เมื่อโอรสทั้งสามเจริญแล้ว จึงให้โอรสองค์ใหญ่ครองเมืองแก้วประกัน ผู้กลางครองเมืองลานช้าง ผู้น้อยไปครองเมืองนันทบุรี (คือเมืองนาน) แล้วขุนเจืองก็ยกพลไปปราบเมืองต่างๆ จนถึงเมืองแมนตาทอกขอกฟ้าตายืน พระยาแกวแมนมีคนมาก ทำสะพานหินข้ามแม่น้ำออกมารบพระยาเจือง พระยาเจืองไม่เคยหนีศึก แม้เห็นพลแกวมามากเท่าใดก็มิได้ถอยหนี จนที่สุดขุนเจืองต้องอาวุธของข้าศึก สิ้นชีพอยู่กับคอช้าง คนของขุนเจืองก็กันเอาศพหนีเมือเมืองเงินยาง เมื่อขุนเจียงได้ครองราชสมบัตินั้น พระชนม์ได้ ๒๖ ปี ครองลานนาไทยได้ ๒๔ ปี ครองเมืองแกวได้ ๑๗ ปี รวมชนมายุได้ ๖๗ ปี

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ