เรื่องย่อของ ท้าวฮุ่งหรือเจือง
ท้าวฮุ่งหรือเจืองนี้ เป็นโอรสคนที่สองของขุนจอมธรรมผู้ครองนครสวนตาล หรือนาคอง ประสูติเมื่อวันอังคารยามแตรใกล้รุ่ง เดือนห้าเพ็ญ ปีขาล ได้ฤกษ์วิสาขะ พระญาติวงศ์พร้อมกันถวายพระนามว่าท้าวฮุ่ง (คือรุ่ง) แต่คนโดยมากเรียกว่าท้าวเจือง เมื่อประสูติใหม่ๆ พวกข้าพางดำได้นำดาบกล้ากับฆ้องเงินคู่หนึ่งมาถวาย ต่อมาท้าวฮุ่งก็ได้ช้างเผือกตัวหนึ่ง ชื่อว่าพานคำ นัยว่ามาจากป่าหิมพานต์
เมื่อเจริญวัยขึ้น พระบิดาสิ้นพระชนม์จาก ท้าวฮุ่งก็ได้พยายามส้องสุมกำลังทัพไว้มากเพื่อป้องกันเมือง ทุกๆ วันต้องออกทำการฝึกเพลงช้างเสมอ ในขณะที่ออกทำการฝึกเพลงช้างนี้เอง ได้ไปชอบพอกับนางง้อม หรือ ง้อมม่าน ธิดาเจ้าเมืองเชียงเครือ จึงแต่งให้แองคอนเป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอ แม่ของนางง้อมนี้เป็นป้า คือเป็นพี่แม่ของท้าวฮุ่ง ฉะนั้นท้าวฮุ่งจึงเรียกนางง้อมว่าพี่ และว่าแม่ของนางง้อมนี้เป็นเมงบ้าง ขอมบ้าง แต่มารดาของนางง้อมเรียกเอาสินสอดมากเกินไป คือไถและงัวควาย อย่างละหมื่น สาวใช้สามพันคน และทองคำอีกมากมาย ท้าวฮุ่งไม่มีทรัพย์ที่จะจัดการตามกำหนดนี้ได้ เพราะในเวลานั้นได้ใช้ทรัพย์ส้องสุมกำลังเสียโดยมาก จึงลอบลักเป็นชู้กับนางง้อมในเวลาออกทำการฝึกช้างทุกคราวไป.
ในคราวนั้น ท้าวแองกา (แกว) ผู้ครองเมืองคำวัง (เป็นหลานของท้าวกว่า ผู้ครองเมืองปะกัน) เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์แล้วก็ได้ครองราชแทน จึงใคร่ได้มเหสีผู้คู่ควร ขณะนั้นอำมาตย์ทั้งหลายซึ่งมีนายแสงเป็นประธานได้ทูลให้เลือกหาหญิงกษัตรีซึ่งีมนามต่อไปนี้ คือ
๑) นางนครเชียงอิน (ว่าเป็นพี่น้องใกล้กันกับแองกา)
๒) นางผู้เป็นลูกของท้าวจอมจัง (ว่าอยู่ไกลนัก แองกาไม่ชอบ)
๓) นางแพงมา อยู่เมืองเชียงเชย (แองกาเกรงว่า บิดาของนางจะไม่ยินยอม)
๔) นางเอื้อยแอ่น (เมืองใดไม่ทราบ และแองกาไม่ชอบ)
๕) นางเมืองจีน หรือ นางแมน อยู่เชียงกา (ที่นั้นแองกาได้ทราบข่าวว่า ท้าวเลือนคำมาลอบรักเสมอ)
๖) นางในนครเอ็ดกอง (แองกาไม่ชอบ เพราะว่าทางไกลมาก)
๗) นางอั้ว นครเงินยาง (นางอั้วนี้เป็นธิดาของขุนซึ่มเจ้านครเงินยาง ขุนซึ่มนี้เป็นพี่ชายของขุนจอมธรรมซึ่งเป็นพ่อของท้าวฮุ่ง ฉะนั้นขุนซึ่มจึงเป็นลุงของท้าวฮุ่ง) นางนี้แองกาชอบใจ จึงแต่งให้นายแสงไปบอกน้า คือท้าวกว่าซึ่งอยู่เมืองปะกัน ท้าวกว่าก็ให้นายแสงเป็นทูตนำพระราชสารมาถึงนครเงินยาง ขุนซึ่มก็รับสั่งให้ถามธิดาดูว่าจะยินยอมหรือไม่ นางอั้วตอบว่า เกรงว่าจะเสื่อมเสียเกียรติยศ ดังคำว่า
รือจัก ลอนพานให้อัปราไชย | ยศออกใดนั้น |
บ่กว่าเจ้าใจแจ้ง | ผ่อคาม หั้นถ้อน ฯ |
เฮาพร่ำ สร้างเครื่องไว้อานหอก | แหนตาว |
ครันว่า สมคามเชิญช่อยกัน | กวนข้า |
ยังสาวส้างแสนไท | เบื้องบ่าวโอมแล้ว |
ในโลก ใต้ลุ่มฟ้าให้ดูเบื้อง | บาปบุญ ว่าเนอ ฯ |
แล้วขุนซึ่มจึงตอบราชสารไปว่า นางอั้วจะได้ยกให้ท้าวฮุ่งผู้หลาน ในขณะเดียวกันนี้นางอั้วก็ได้เขียนหนังสือฝากไปถึงแองกา ใจความว่ามีความประสงค์จงใจอยู่เหมือนกัน มิใช่ว่าจะไม่รักก็หาไม่ แต่หากไม่อาจจะขัดขืนอาญาพระราชบิดาได้ นายแสงได้รับราชสารแล้วก็รีบกลับคืน ๑๐ วันถึงเมืองคำวัง เข้าเฝ้าท้าวแองกาถวายราชสารนั้น แองกาจึงให้ไปบอกแก่ท้าวกว่าผู้น้า ท้าวกว่าได้ทรงฟังก็โกรธว่าเราเป็นคนไปขอ แต่เขาไม่ยินดีกลับไปยกให้คนอื่น จึงสั่งให้นายแสงกลับคืนไปเจรจาอีก และสั่งเป็นคำเด็ดขาดไว้ว่าถ้าไม่ยอมยกให้โดยดี ก็เร่งคิดป้องกันเมืองไว้ นายแสงได้รับพระราชอาญาแล้วก็กลับไปนครเงินยาง เข้าเฝ้าท้าวซึ่มแล้วทูลตามดังท้าวกว่าสั่งมาทุกประการ ท้าวซึ่มได้ทรงสดับก็พิโรธตรัสว่า
กูอยู่ สร้างก่งท้าวเสวยราช | เงินยาง |
ใผไป่ จาคำหลอนดั่งสู | ฝูงม้อย |
โอมนางฮู้จาผวน | ต้านเติบ สันนี้ |
บ่ใช่ เชื้อลูกข้อยจิงแท้ | กล่าวควร ฯลฯ |
ดังนี้แล้วขับไล่นายแสงให้กลับไป นายแสงนำความทูลท้าวแองกาและท้าวกว่าตามดั่งพระเจ้าเงินยางตรัสทุกประการ ท้าวกว่าและแองกาจึงยกพลโยธาออกมาเพื่อปราบปรามนครเงินยาง มาพักแรมที่เชียงบานหนึ่งราตรี แม่ทัพคนสำคัญของท้าวกว่าในคราวนั้นคือ หุนบัง ๑ กวานแก ๑ อ้ายก่ำ ๑ แมนฟองอยู่เชียงฮม ๑ แก้วทองอยู่ ๑ เชียงฮัง ๑ แมนสม ๑ งอดป่อง ๑ เชียงผา ๑ ท้าวแดดอยู่ผาแท่น ๑ แกวก่อง ๑ อ้ายหิ่ง ๑
คราวนั้น ท้าวกว่าได้ให้นายมาดไปถามหนทางกับพวกข้า และบอกให้พวกข้าเตรียมกองทัพไปช่วยด้วย นายมาดได้ไปหาอ้ายหาด (หัวหน้าข้าผาหลอด) และสามมะเหง (หัวหน้าข้าภูทุ่ม) ฝ่ายอ้ายหาดและสามมะเหงก็ยกพลล่วงหน้ามา ถึงกลางทางจึงปรึกษากันว่าพวกเราเป็นพวกเดียวกันกับขุนซึ่ม และได้พึ่งพาอาศัยกันอยู่ ควรจะไปบอกให้ขุนซึ่มเตรียมตัวป้องกันเมือง ปรึกษากันแล้วขุนข้าทั้งสองก็รีบยกพลเข้าถึงเมืองเงินยาง ให้นายพวงล่ามพาเข้าเฝ้าทูลเหตุการณ์แด่ขุนซึ่มทราบทุกประการ ขุนซึ่มจึงแต่งทัพออกรับกองทัพแกวมีแม่ทัพคนสำคัญคือ งัววาด ๑ คายวง ๑ สามมะเฮียว ๑ นายจันเจ้าหนองตัง ๑ อ้ายหาด ๑ สามมะเหง ๑
กองทัพเมืองเงินยางออกต่อต้านกองทัพแกวไม่อยู่ จึงถอยเข้าตั้งอยู่ในเมือง แล้วขุนซึ่มจึงแต่งให้นายพวงถือราชสารไปเชิญท้าวฮุ่งมาช่วยป้องกันเมือง ท้าวฮุ่งได้รับราชสารแล้วจึงจัดแม่ทัพนายกองเมืองสวนตาลได้ อ้ายคว่าง ๑ แองคอน ๑ เหงพัน ๑ หานพาย ๑ ขุนคาน ๑ คอนชาย ๑ จ่าซ้อน ๑ ฝ่ายนางง้อม (คู่รัก) จึงจัดช้างไปช่วย ๒๐ ตัว กับแม่ทัพนายกองคือ ขุนเกื่อน ๑ ขุนเพง ๑ ขุนยี ๑ เยียคำ ๑ ไชยลือ ๑ แองผาย ๑ อ้ายผอง ๑ ขุนคอน ๑ ท้าวซ้อย ๑ ท้าวฮุ่งยกทัพออกไปสมทบกับพวกข้าพางดำอีกแล้วเลยยกไปถึงนครเงินยาง เข้าตีกองทัพแกวที่ตั้งล้อมเมืองอยู่ให้แตกไปแล้วยกทัพเข้าตั้งอยู่ในเมือง พอรุ่งเช้าก็ยกพลออกต่อตีกับกองทัพแกวเป็นสามารถ กองทัพแกวสู้ไม่ได้ก็เลยแตก ท้าวกว่าตายในที่รบ ขุนเยียจับแองกาได้แม่ทัพแกวตายคือ แกวก่ำ ๑ แมนเฮียว ๑ แกวเผือก ๑ แมนเปียว ๑ แมนเฮือง ๑ แมนผา ๑ เผือกเหลือง ๑ ที่แตกหนีจับไม่ได้นั้นคือ กวานแก ๑ แมนฟอง ๑ ท้าวป่ง ๑ หุนบัง ๑ แก้วทอง ๑ แมนลาย ๑ เชียงฮัง ๑ ฝ่ายท้าวฮุ่งเสียไพร่พลไปสามพันคน จับแกวเป็นเชลยศึกได้ ๓ หมื่นคน
ครั้นแล้วท้าวฮุ่งก็จัดแจงไพร่พลยกไปตามตีกองทัพแถวที่แตกพ่ายไป คราวนั้นจัดช้างได้ ๑๓๐๐๐ ตัว ม้า ๓ แสนตัว รวมแม่ทัพทั้ง ๓ นครเข้าด้วยกัน คือ เมืองสวนตาล เมืองเชียงเครือ เมืองเงินยาง มีแม่ทัพอยู่ ๒๗ คน คือ
๑) คอนซาย ขี่ช้างคูนเมือง
๒) ขุนฟอง ขี่ช้างสีดา
๓) อ้ายคว่าง ขี่ช้างรังสี
๔) อ้ายหาด ขี่ช้างขนันเมือง
๕) ขุนเพียง ขี่ช้างขัวสะพาน
๖) หานพาย ขี่ช้างเสมอใจ
๗) สามมะเหง ขี่ช้างแผ้วแผ่นฟ้า
๘) แองคอน ขี่ช้างศรีเมืองพัน
๙) คำยวง ขี่ช้างไฟลวบพื้น
๑๐) นายจัน ขี่ช้างลมหยั่น
๑๑) นายจันหนองตัง ขี่ช้างฉัททันต์
๑๒) งัววาด ขี่ช้างทินกร
๑๓) นายพวง ขี่ช้างฟ้าหลั่ง
๑๔) พลสว่าย ขี่ช้างแถนคูน
๑๕) ขุนคาน ขี่ช้างแพงกว่าชู้
๑๖) ขุนแพง ขี่ช้างพิมาน
๑๗) อ้ายไค่ ขี่ช้างไค้แผ่นฟ้า
๑๘) อ้ายเกื่อน ขี่ช้างไฟไหม้บาดาล
๑๙) จ่าซ้อน ขี่ช้างไฟลวบ
๒๐) ขุนยน ขี่ช้างธงลุ่มฟ้า
๒๑) สามมะเฮียว ขี่ช้างแผนเขื่อนขั้น
๒๒) ขุนเยีย ขี่ช้างพรหมดา
๒๓) อ้ายง่ำ ขี่ช้างป่วยเค้า (ข้าภูมอน)
๒๔) อ้ายผ่อง ขี่ช้างง้าวถนิมแก้ว
๒๕) พิมมะบาล ขี่ช้างลวงสิ่วฟ้า
๒๖) ขุนซ้อย ขี่ช้างไฟไหม้บาดาล
๒๗) ไชยลือ ขี่ช้างทองกือ
แล้วจัดให้อ้ายคว่างและแองคอนเป็นหัวกลาง ไชยลือเป็นปีกขวา นายพวงกับพนสว่างเป็นปีกซ้าย เคลื่อนพลออกจากเมืองเงินยางเมื่อเดือนห้า นางอั้วขี่ช้างพังเหินคือมาด นางอามคายขี่ช้างอินกองตามไปส่งถึงแดนดินเมืองเงินยางอันชื่อว่า เชียงขวัญ ที่นั้นท้าวซึ่มไปปลูกที่พักระดูเดือนห้าไว้ ยกจากเชียงขวัญไปถึงท่ายองผาหลอด เก็บได้ช้างม้าของหุนบังเป็นอันมากเพราะหนีไม่ทัน จากนั้นไปพักภูทุ่ม ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกข้าพางดำ ระยะทางจากภูทุ่มถึงเมืองปะกันวันเดียว ดังคำพวกข้าทูลท้าวฮุ่งว่า
เขาก็ นับดูด้วยกระบวนทาง | ทูลราช |
ผิจัก ตั้งแต่งใช้คราวมือ | ฮอดปะกัน ฯ |
ยามพุกได้เทยาด | เชียงบาน นี้แล้ว |
เขาก็ มวนพลขันต่อตี | ตาต้อน ฯลฯ |
รุ่งเช้าท้าวฮุ่งยกเขาตีเมืองเชียงบาน ในเมืองเชียงบานนั้นว่ามีช้างอยู่ ๑๐๐๐ ตัว คนหาญแสนคน เขตแดนเมืองเชียงบานติดต่อกับแดนของสีทน, เขม และ ห้อ กองทัพเชียงบานแตกในตอนเช้านั่นเอง ท้าวฮุ่งจับได้ แกวเผิง ท้าวแดด แมนเฮือน ส่วนแกวเฮือกกระโดดช้างหนีได้ ก็รีบไปบอกมเหสีของท้าวกว่าที่เมืองปะกัน นางกว่าจึงจัดพลออกต่อสู้ รุ่งเช้ากองทัพท้าวฮุ่งตามไปถึงเมืองปะกัน ในขณะนั้นข้าพางดำได้ทูลชี้บอกบริเวณเมืองปะกันดังนี้ คือ
๑) แองกา (หลานท้าวกว่า) อยู่ปราสาทมโนรมย์ เบื้องสวน
๒) แก้วก่อง อยู่เชียงกง ด้านทุ่ง
๓) หุ่นบัง อยู่เชียงสม
๔) ฟ้าเลื่อน อยู่ผาวัง ด้านเหนือ
๕) นายจวง อยู่เชียงคาน ด้านช้างดอย
๖) แกวทอง อยู่เชียงฮัง
๗) ชีวาต อยู่เมืองพาน
๘) นายจัน อยู่เชียงเทศสรวงทอง ปกครองถึงเขตแดนทายทู้
๙) กวานแก อยู่เชียงทอง
๑๐) แกวเฮื่อ อยู่เชียงกาง
๑๑) กางกว่า ( มเหสีท้าวกว่า) อยู่ในนครปะกัน
นางกว่าเกณฑ์พลออกต่อรบเป็นสามาถ พอตาวันบ่ายท้าวฮุ่งก็ปราบได้ นางกว่าตายในที่รบ แล้วท้าวฮุ่ ก็เข้าจัดการปกครองเมืองปะกันต่อไป คือ
๑) ให้ขุนเยีย กินนาขวาง กำกับพวกส่วยช้าง
๒) ให้แองคอน กินนาดี เชียงบาน ที่นั้นเก็บส่วยได้มาก เพราะเป็นที่รวมการค้าขายมีตลาดลาดลีมาก
๓) ให้คอนซาย กินนาไป่กองทูน ที่นี่เก็บเข้าได้มาก
๔) นาปัจฉิม ซึ่งมีเขตแดนติดต่อกับผาหลอด ยกไว้ให้นางเม็ง (นางง้อม)
๕) นาคำ แดนดินของแกวก่ำมอบให้ไชยลือ
๖) นาเพียงผาทาม ให้แองผาย
๗) นาของแมนเลือนยกไว้เป็นนาน้อย
๘) นาของแมนไฟให้ขึ้นกับเงินยาง
๙) นาดีเชียงขวัญ สวนหมาก สวนพร้าว มอบให้นางอั้ว
๑๐) นาดงจันมอบให้นางอามคาย
๑๑) นาคำวัง มอบให้อ้ายเกื่อน
๑๒) นาแกวเฮือก เบื้องตาวันออกซึ่งมีเขตแดนติดกับแดนจีน ยกให้พลสว่าย
๑๓) นาริมทาบางบิน ยกให้อาวพวง
๑๔) นาเพียงภายนอก ยกให้จ่าซ้อน
คราวนั้นท้าวฮุ่งได้ลูกสาวพญาแก้ว ๘ คน คือ นางขวัญ ๑ นางเกิด ๑ นางเวียน ๑ นางเลา ๑ หรือ ลาว ๑ นางพรหม ๑ นางอู่แก้ว ๑ นางสม ๑ นางมุน ๑ ในคราวนั้นอำนาจของท้าวฮุ่งแผ่ไปถึงหัวเมืองต่างๆ เหล่านี้ คือ
๑) เมืองผาทาย วอแต (หอแต)
๒) เบื้องซ้ายถึงเชียงใหม่ผมเฝือ
๓) เบื้องเหนือ ถึงห้อหัวแดง
๔) ทิศใต้ถึงเมืองต่างประเทศ คือ จีน จาน
๕) เบื้องกลาง ถึงย่ายยองและพวกแง้ว ตลอดถึงพวกเขม ขอม และม่าน ดังคำว่า
เบื้องฝ่ายใต้เชียงเทศ | จีนจาม ก็เถิง |
ภายกลางเถิงย่ายยอง | ฝูงแง้ว |
นามกรก้ำเขมขอม | เมืองม่าน ก็เถิง |
๖) ภายต่างใต้เมืองมิ่ง แมนเฮียวก็เถิง
๗) พวกแมนหัวเขียว แมนเอิกป่อง ก็ถึง
๘) พวกหุนบังแมนไฟ ก็มาไหว้ พวกข้าคางลายก็มาไหว้
ท้าวฮุ่งตั้งให้อ้ายคว่างเป็นผู้ปกครองหัวเมืองแกวทั้งหมด แล้วท้าวฮุ่งก็ยกทัพกลับเงินยางผ่านมาทางเชียงบานผาหลอด ๑๐ วันถึงเงินยาง เมื่อถึงเงินยางแล้วจึงตั้งให้หานพายเป็นเมืองแสน แองคอนเป็นเมืองขวา อ้ายผ่องเป็นเมืองซ้าย อ้ายง่ำเป็นแสนนา สำเร็จแล้วท้าวฮุ่งจึงแต่งให้เถ้าแก่ไปสู่ขอนางง้อม และพร้อมกันนี้ท้าวฮุ่งได้เชิญนางจอมมารดาไปครองเมืองเชียงทองในเขตแดนเมืองปะกัน ส่วนท้าวฮุ่งอยู่ครองเมืองเงินยางนานได้ ๑๗ ปี ได้โอรสจากนางง้อมองค์หนึ่งชื่อว่าท้าวคำฮุ่ง
ครั้งหนึ่งท้าวฮุ่งออกไปประพาสป่า ในคราวนั้นมีแขกเมืองต่างประเทศมาถวายบรรณาการเป็นอันมาก แองคอนเป็นล่ามนำเข้าเฝ้า คือ
๑) ห้อใหญ่ หนองแส
๒) พญาฟ้าฮ่วนเมืองตุมวาง
๓) เมืองจีน
๔) เมืองพะโค เมืองม่าน เมืองชวา
๕) เมืองผายีและหมู่เขม และลื้อ
ฝ่ายพระมเหสีอยู่เบื้องหลังไม่ถูกกัน นางอั้วเบียดเบียนนางง้อม จนนางง้อมต้องกลับไปเมืองเชียงเครือกับคำฮุ่งผู้โอรส เมื่อท้าวฮุ่งได้ทราบก็รีบยกพลไปตามนางง้อม อีกทางหนึ่งให้ไปเชิญพระมารดามาจากเมืองเชียงทองพร้อมด้วยพวกแม่ทัพทั้งหลาย เว้นไว้แต่อ้ายคว่างให้อยู่รักษาเมือง ขณะนั้นหุนบังกับอ้ายหิ่งซึ่งแตกหนีไปอาศัยอยู่กับพญาฟ้าฮ่วนเมืองตุมวางนั้น ได้ลอบยกพลเข้ามาตีหัวเมืองเขตแดนเมืองปะกัน อ้ายคว่างจึงส่งข่าวมาถึงท้าวฮุ่ง ๆ จึงยกกองทัพไปปราบหุนบังและอ้ายหิ่งอีก เวลาไปผ่านไปทางเมืองเชียงเชย เจ้าเชียงเชยไม่สู้และยอมยกนางแพงมาศให้ด้วย ท้าวฮุ่งจึงยกไปถึงตุมวาง ส่งขุนคอนเข้าไปเจรจาขอให้เจ้าฟ้าฮ่วนส่งตัวหุนบังกับอ้ายหิ่งออกมาให้ ฟ้าฮ่วนไม่ยอมส่ง และกล่าวท้าทายว่า ถ้าท้าวฮุ่งขืนรบ ก็จะไปขอกองทัพแมนตายืน แมนเอิกป่อง แมนหลวง มาช่วยป้องกัน (ตามเรื่องท้าวฮุ่งเรียกพวกแมนเหล่านี้ว่าพวกผีบ้าง แมนตาทอกเจ็ดไหบ้าง ชาวหนองแสบ้าง ดังค่าว่า
บ่าวยี่ได้แมนปลีก | ตัดคอ |
ชาวหนองแสปลีกหนี | วางด้าง) |
ท้าวฮุ่งได้ทรงฟังก็โกรธจึงขับทัพเข้าต่อยุทธ พวกแมนเมืองตุ้มวางออกต่อสู้เป็นสามารถ แต่สู้ไม่ได้ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก จนเหม็นโขลงทั่วทุ่ง เจ้าฟ้าฮ่วนจึงได้ถอยทัพเข้าในเมือง แล้วแต่งให้แมนสมออกมาขออ่อนน้อม ฟ้าฮ่วนขอมอบเมืองแลนางคำหยาดผู้น้องสาวให้ ท้าวฮุ่งจึงปรึกษากับแม่ทัพทั้งปวงดูว่าจะควรประการใด ขณะนั้นอ้ายคว่างทูลว่า ไม่ควรละให้เพราะเขาอวดอ้างดีนัก ฉะนั้นท้าวฮุ่งจึงรับสั่งกับแมนสมว่า ให้ฟ้าฮ่วนจับตัวหุนบังและอ้ายห่ิงส่งให้แล้วจะเลิกทัพกลับเมือง แมนสมกลับไปทูลฟ้าฮ่วน ๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงแต่งทหารม้าใช้สองคนขึ้นไปเชิญแถนลอลงมาช่วย และว่าแถนลอนั้นอยู่เมือง “กาหลง” ดังคำว่า
พระบาทเจ้าล้านโลก | แถนลอ |
ธรรม์ยำ กินกาหลงอยู่เกษม | ญูสร้าง |
ทุกไทพร้อมขุนแถน | เลยกล่าว |
วอนพระน้าวใจแจ้ง | ช่อยพล ฯ |
สองนายใช้ไปถึงเจ็ดแคว ที่นั้นมีบันไดพาดขึ้นไปเมืองแถน สองนายใช้ขึ้นไปแล้วก็เข้าไปเล่าเหตุให้แถนฟัง แถนลอจึงยกทัพลงมาตามลำดับทาง ตัวท่านแถนลอเองทรงเกวียนมาถึงย่านคาเขียวแมนฟองออกไปเฝ้า จากนั้นลงมาถึงนครหลวง ที่นั้นว่าเป็นที่อยู่ของแมนผ้าลาย หรือยางกาว จากที่นั้นจึงมาถึงตุมวาง แล้วแถนลอจัดทัพออกสู้ท้าวฮุ่งดังนี้ แถนเล็มเป็นปีกขวา แถนวีเป็นปีกซ้าย เจ้าฟ้าฮ่วนเป็นหัวกลาง ตัวท่านแถนลอทรงเกวียน รบกันครั้งนี้ตายมากทั้งสองฝ่าย แต่ฝ่ายท้าวฮุ่งแม่ทัพตายเกือบหมด ท้าวฮุ่งสู้ไม่ได้จึงถอยกลับคืนมาตั้งอยู่ในเมืองปะกัน แล้วใช้ให้พิมมะบาลถือราชสารลงมาบอกขุนซึ่มพ่อตา และอ้ายเจื่อง (พี่ชาย) อยู่เมืองสวนตาลและเมืองเชียงเครือให้ยกทัพไปช่วย ในขณะนั้นนายพวงจึงทูลว่า เกรงจะสูญพงศ์พันธุ์ ขอให้เอาลูกหลานคืนไปไว้เมืองเงินยางก่อน ท้าวฮุ่งเห็นชอบด้วยจึงให้นายพวงนำเอาท้าวคำเคื่องและท้าวคำฮุ่ง กับนางจอม (มารดา) และนางมุน นางแพงมาศ กลับคืนนครเงินยางโดยเร็ว ฝ่ายท้าวฮุ่งออกสู้รบกับพวกแมน ก็เลยสิ้นพระชนม์ในที่รบนั่นเอง ฟ้าฮ่วนจึงใช้ให้นายเวียนขึ้นม้าไปตามเอานางจอมและคำฮุ่งคำเคื่องกลับคืนมา ว่าจะอภิเศกให้ครองเมืองปะกันต่อไป นายเวียนตามไปทันอยู่กลางป่า แต่นางจอมไม่ยอมกลับ ก็พาเอาหลานสองคนคืนไปถึงนครเงินยาง
ต่อนี้ไป กล่าวว่าท้าวฮุ่งเมื่อตายแล้วก็เกิดเป็นผู้มีกองทัพเหมือนเมื่อยังเป็นอยู่ จึงยกทัพขึ้นไปเมืองแถนผ่านไปเมืองคาเขียว แองคอนเข้าไปถามหนทางไปเมืองฟ้ากับพวกไทแอง ต่อแต่นั้นก็ไปถึงกะไดลิง จากกะไดลิงก็ไปถึงแม่น้ำลินคำใกล้เมืองเลียนพาน ท้าวฮุ่งจึงให้ขุนคอนเข้าไปบอกแถนชั่งเจ้าเมืองเลียนพานออกมาอ่อนน้อม แต่แถนชั่งไม่ยอมท้าวฮุ่งก็ยกพลเข้าตีได้เมืองเลียนพาน แล้วให้ขุนคอนขึ้นไปบอกพระอินทร์ ๆ กลัวจึงมอบเมืองสรวงให้ท้าวฮุ่งครอบครอง และมอบแถนทั้งหมดให้อยู่ใต้อำนาจ ท้าวฮุ่งก็เดินทัพขึ้นไปถึงเมืองกองทูน แถนลม เจ้ากองทูนออกมาไหว้ จากกองทูนไปถึงเมืองกำมาพักแรมที่นั้น แถนงวงเจ้าเมืองกำมาออกมาต้อนรับ จากนั้นก็ขึ้นเสวยเมืองสรวง แล้วพวกแถนทั้งหลายก็ออกมาอ่อนน้อม คือ แถนงวง แถนเม็ง แถนมิ่ง แถนโกไก แถนถ่าว แถนเฟื่อง แถนหมอก แถนตากาปิน แถนลิง แถนลม แถนส่อง
ฝ่ายอ้ายเจื่อง (พี่ชายท้าวฮุ่ง) และท้าวคำเคื่อง คำฮุ่ง (โอรส) และขุนซึ่ม (พ่อตา) มีความโกรธมากจึงเกณฑ์สูรโยธาคืนไปต่อรบกับพญาฟ้าฮ่วนอีก และได้เกณฑ์เอาพวกเมืองทวายและหอแตไปด้วย ผ่านไปเมืองเชียงคาน แล้วไปเชียงเชย ถึงตุมวางได้ต่อรบกันเป็นสามารถ สุดท้ายเจ้าฟ้าฮ่วนตายในที่รบ และกองทัพเมืองเงินยางก็เข้าเมืองได้ ฯ
สิลา วีระวงส์
พระนคร วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๕