ประวัติพระเถระ ๔ รูป

พระศาสนดิลก ชาตะ พ.ศ. ๒๔๒๓ มตะ พ.ศ. ๒๔๘๔

พระคุณวิโรจน์รัตโนบล ชาตะ พ.ศ. ๒๓๙๘ มตะ พ.ศ. ๒๔๘๕

พระอาจารย์เสาร์ ชาตะ พ.ศ. ๒๔๐๔ มตะ พ.ศ. ๒๔๘๕

พระมหารัตน์ ชาตะ พ.ศ. ๒๔๐๖ มตะ พ.ศ. ๒๔๘๕

๑. พระศาสนดิลก รูปทรงค่อนข้างสูงลักษณะสมบูรณ์มีสง่าผิวเนื้อดำแดง นามเดิมชื่อเสน ฉายาชิตเสโน บิดาชื่อเพียคำมุงคุล (คำพา ) มารดาชื่อไ นามสกุล สิริบูรณ์ เกิดณวันอังคาร ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๓ ที่บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง ห่างประมาน ๑๖ กิโลเมตร เมื่ออายุ ๑๔-๑๕ ปีได้ตามพระขุนผู้พี่ชายเข้าไปศึกษาอยู่ที่วัดสุปัฏน์เมืองอุบล และเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันท์) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูวิจิตรธรรมภาณี ได้พาเข้าไปกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ฝากไว้ในสำนักเจ้าคุณพระศาสนโสภณ (อหึสโก อ่อน) วัดพิชยญาติการาม และได้บรรพชาอุปสมบทหมู่ในสำนักนั้น เจ้าคุณพระศาสนโสภณ (อหึสโก อ่อน) เป็นพระอุปชายะ เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันท์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เจ้าคุณพระราชเมธี (กณฺณวโร ท้วม) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สอบพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค.

ต่อมาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สังฆนายกครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอีสาน ได้ขอออกไปเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑอีสาน เมื่อท่านได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปโดยลำดับแล้ว พระมหาเสนจึ่งได้รับตำแหน่งเป็นที่พระศาสนดิลกแทน มีข้อที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า ตามธรรมดาพระเปรียญถ้าแต่ ๕ ประโยคขึ้นไป ทรงโปรดให้เป็นพระราชาคณะทีเดียว ถ้า ๓-๔ ประโยคต้องเป็นพระครูเสียก่อน จึ่งเป็นพระราชาคณะได้ แต่เพราะท่านผู้นี้เป็นพระสหชาติในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึ่งทรงโปรดให้เป็นพระราชาคณะทีเดียว จัดว่าเปนพิเศษส่วนหนึ่ง ครั้นเป็นพระราชาคณะแล้วไม่นานก็ได้ย้ายจากวัดสุปัฏน์ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีทอง อนึ่ง ในฐานะที่ท่านเป็นพระสหชาติ ซึ่งเมื่อพระสหชาติรูปอื่นๆ ได้รับราชทานเครื่องระลึกอย่างใด ท่านก็ได้รับอย่างนั้นทุกคราว.

สำหรับตำแหน่งหน้าที่ ท่านได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอีสาน เป็นเจ้าคณะมณฑลร้อยเอ็ด เป็นเจ้าคณะมณฑลอุดร เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีทองและเป็นอุปชายะ ส่วนการงานพิเศษ ได้เป็นกรรมการสร้างพระอุโบสถวัดสุปัฏน์ เป็นกรรมการหล่อพระพุทธปฏิมา คือพระศรีเมือง พระขวัญเมือง และพระสัพพัญญเจ้าซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดสุปัฏน์ในบัดนี้ การนวกรรมโดยเฉพาะในวัดศรีทอง ได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้คืนดี และก่อสร้างศาลาการเปรียญ โรงเรียน และกุฎีขึ้นหลายหลัง แม้ในที่อื่นก็ได้เป็นหัวหน้าพาราษฎรก่อสร้างถาวรวัตถุหลายแห่ง เช่นสร้างศาลาการเปรียญที่วัดบูรพาพิสัย วัดสระบัวบ้านหนองบ่อ และวัดบ้านสำลาดแห่งละหนึ่งหลัง กับได้ตั้งและพาราษฎรก่อสร้างวัดบ้านนาเมือง.

โดยปกติท่านมีโรคหืดประจำตัว ต่อมาเห็นว่าจะไม่สามารถรับราชการไปได้ จึ่งทูลลาออกแต่ก็ยังเป็นอุปชายะ เอาธุระสั่งสอนพระภิกษุสามเณรเป็นกำลังแก่พระศาสนาตลอดมา เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ โรคหืดที่เรื้อรังมาไม่หายขาดนั้น ได้เป็นหนักขึ้นจึงถึงแก่มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๖.๐๐ น. คำนวณอายุได้ ๖๑ ปี พรรษา ๔๐

นิสัยสมบัติ ท่านผู้นี้เป็นคนพูดพอประมาณ มักน้อยสันโดษชอบวิเวกหนักในพระธรรมวินัย มีปกติเห็นภัยในโทสะแม้ประมาณน้อย สงบเสงี่ยมเมื่ออยู่ในฐานะเป็นผู้น้อย ชอบเอาอย่างพระราธะ คือเป็นผู้อดทนต่อโอวาทและอนุสาสน์ ทนได้ทั้งร้อนคือเดช และทนได้ทั้งเย็นคือคุณ เมื่ออยู่ในฐานเป็นผู้ใหญ่ก็วางตนให้เหมาะแก่ภาวะ มีพระเดชก็ไม่มากถึงกับเสียพระคุณ แม้มีพระคุณก็ไม่เกินไปถึงกับเสียพระเดช มั่นคงในพรหมวิหาร เอาภาระในผู้เจ็บป่วย หมั่นแนะนำพร่ำสอนศิษย์ไม่ให้ก่อเวร และให้ระงับเวรด้วยความไม่มีเวร ปฏิปทาของท่านจึงเป็นที่ดูดดื่มไม่จืดจาง ทนต่อความเพ่งของผู้รู้ทั้งหลาย.

๒. พระครูวิโรจน์รัตโนบล นามเดิมรอด ฉายานนฺตโร บิดาชื่อบุดดี มารดาชื่อกา นามสกุล สมจิต เกิดวันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๗ ที่บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนอุปสมบทได้ศึกษาการช่าง และเรียนอักขรสมัยในสำนักราชบรรเทา เมื่ออายุ ๒๔ ปีได้อุปสมบทที่วัดมณีวัน เมืองอุบล เจ้าอธิการจันลา เป็นพระอุปชายะ พระคำเป็นกรรมวาจาจารย์ พระดีเป็นอนุสาวนาจารย์ และพระอุปชายะได้ส่งไปอยู่วัดทุ่งศรีเมือง ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดนั้นกระทั่งบัดนี้ เมื่ออุปสมบทแล้ว นอกจากเรียนทำวัดสวดมนต์และพระปาติโมกข์ ก็ได้เรียนคำภีร์มูลกัจจายน์ตามสมัยนิยม.

พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เป็นเจ้าคณะแขวงอุดร อุบล คืออำเภอม่วงสามสิบในบัดนี้ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี และ พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูวิโรจน์รัตโนบล ท่านผู้นี้เป็นผู้ใฝ่ใจในการช่างและการนวกรรม นอกจากการงานในตำแหน่งแล้ว ได้เป็นกรรมการสร้างพระอุโบสถวัดสุปัฏน์ และเป็นกรรมการหล่อพระพุทธรูป คือพระมิ่งเมือง พระศรีเมือง พระขวัญเมือง พระสัพพัญญู และได้เป็นหัวหน้าพาราษฎรสร้างพระพุทธรูป สร้างโบสถ์วิหารศาลาการเปรียญ ทั้งในเมืองและตามอำเภอต่างๆ แม้พระธาตุพนมก็ได้ไปช่วยปฏิสังขรณ์หลายคราว นับว่าได้ทำกิจพระศาสนาในทางก่อสร้างไว้มาก.

ท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดทำงานมาด้วยความเรียบร้อยจนถึงปูนชราภาพอายุ ๗๕ ปี จึ่งได้รับยศให้เป็นกิติมศักดิ์เมื่อ พ.ศ ๒๔๗๐ รวมเวลาเป็นเจ้าคณะมาได้ ๓๗ ปี คือเป็นเจ้าคณะจังหวัด ๒๔ ปี เมื่อได้ออกเป็นกิติมศักดิ์แล้ว ก็ยังอุส่าห์เป็นอุปชายะเอาธุระสั่งสอนพระสงฆ์สามเณร และการก่อสร้างปฏิสังขรณ์อยู่อย่างเดิม ครั้นมาถึง พ.ศ. ๒๔๘๕ จึงได้มรณภาพลงเพราะโรคชรา เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ คำนวณอายุได้ ๘๘ ปี พรรษา ๖๔

นิสัยสมบัติท่านผู้นี้เป็นคนมีอารมณ์ดี มีใจกว้างขวาง สุภาพอ่อนโยนโอบอ้อมอารี สงบเสงี่ยม หนักในพระธรรมวินัยมั่นคงในพรหมวิหาร มีนิสัยไม่ริษยาใคร มีความเคารพนับถือจงรักภักดีต่อผู้มีอำนาจเหนือ มีกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ คุณลักษณะเหล่านี้เอง ทำให้ท่านเป็นที่น่าสักการะเคารพนับถือบูชาของมหาชนทั่วไป.

๓. พระมหารัตน์ ฉายารฎฺฐปาโล บิดาชื่อจันท์ มารดาชื่อผาย นามสกุลอุไทยกร เกิดณวันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีฉลู เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖ ที่บ้านปลาดุก ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อุปสมบทที่วัดสุปัฏน์เป็นวันเดียวกันกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ซึ่งอุปสมบทที่วัดศรีทอง เจ้าอธิการด้วงวัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหารเป็นพระอุปชายะ เจ้าอธิการเพ็งวัดสุปัฏน์เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เข้าไปศึกษาที่กรุงเทพ ฯ เจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันท์) ฝากไว้ในสำนักเจ้าคุณพระศาสนโสภณ (อหึสโกอ่อน) วัดพิชยญาติการาม สอบพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค ต่อมาเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้ขอออกไปเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอีสาน แต่ทำงานไปไม่ได้นานก็ลาออก เพราะสุขภาพไม่สมบูรณ์มีโรครบกวนเสมอ ภายหลังได้เป็นอุปชายะ และย้ายจากวัดสุปัฏน์ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๗

ท่านเป็นผู้ใคร่การศึกษา ใคร่ธรรมวินัย เป็นสิกขากามะ ธรรมกามะ อบรมศีลดี ศิษย์ของท่านมีหลายคนที่มั่นคง ได้เป็นพระราชาคณะก็มี คือพระโพธิญาณมุนีเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระครูก็มี คือพระครูสุวรรณวารีคณารักษ์เจ้าคณะอำเภอโขงเจียม เปนเปรียญก็มาก เช่นพระมหาปิ่นซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีชอบในธุดงควัตร เป็นต้น ทั้งนี้ก็ด้วยได้รับการอบรมมาดี ท่านได้ครองวัดและเป็นอุปชายะมากระทั่งถึงปูนชราภาพ และได้มรณภาพลงเพราะโรคชรา เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ คำนวณอายุได้ ๗๙ ปี พรรษา ๕๕

๔. พระอาจารย์เสาร์ ฉายากนฺตสีโล เกิดณวันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ ที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองช้าง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้ามาอุปสมบทอยู่ที่วัดใต้อุบล ภายหลังได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเลียบ ซึ่งอยู่ใกล้กันกับวัดใต้นั้น ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นธรรมยุตที่วัดศรีทอง พระครูทาโชติปาโลเป็นพระอุปชายะ เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์.

ท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในสมถวิปัสสนา และพอใจแนะนำสั่งสอนผู้อื่นในทางนั้นด้วย จึ่งเป็นผู้ใฝ่ใจธุดงควัตรหนักในธรรมวินัย ชอบวิเวก และไม่ติดถิ่นที่อยู่ ต้องเดินธุดงค์ไปหาวิเวก เจริญสมณธรรมตามชายป่าดงพงเขาในถิ่นต่างๆ เช่นในท้องถิ่นเขตอุบลราชธานีบ้าง นครราชสีมาบ้าง สระบุรีบ้าง ทางอุดรบ้าง สกลนครบ้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้กลับมายังอุบลราชธานี สำนักอยู่ที่บ้านข่าโคมอันเป็นชาติภูมิของท่านบ้าง ที่ดอนธาตุพิบูลมังสาหารบ้าง แต่ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ จำพรรษาอยู่ที่วัดดอนธาตุ และได้เริ่มอาพาธเพราะโรคชรามาแต่ภายในพรรษานั้น

เมื่อออกพรรษาแล้วไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลสนองคุณพระอุปชายะที่มรณภาพแล้ว ณ อำเภอวรรณไวทยากร นครจำปาศักดิ์ ครั้นทำบุญเสร็จโรคกำเริบมากขึ้น จึงพยายามเดินกลับ พอมาถึงวัดมหาอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ก็ได้มรณภาพลงในวันนั้น คือวันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ คำนวนอายุได้ ๘๒ ปี พรรสา ๖๒ การมรณภาพของท่านนับว่าประกอบพร้อมด้วยความมีสติอันไพบูลย์ คณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาชาวอุบลได้ไปเชิญศพขึ้นมาประดิษฐานเก็บไว้ที่ศาลาการเปรียญวัดบูรพา

อันพระเถระเจ้าทั้งสี่รูปนี้ แม้ถึงมรณภาพไปแล้วตามวิสัยของสังขารก็ดี แต่คุณธรรมยังปรากฏเด่นอยู่ในใจของผู้ได้เสพสมาคม.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ