คำนำ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สังฆนายกกำหนดจะทำการฌาปนกิจศพพระสารดิลกวัดศรีทอง พระมหารัตน์วัดสุทัศน์ พระครูวิโรจน์รัตโนบล วัดทุ่งศรีเมือง และพระอาจารย์เสาร์ วัดดอนธาตุ ณที่จังหวัดอุบลราชธานี ใคร่จะตีพิมพ์หนังสือเจือง ซึ่งเป็นหนังสือของสมุดแห่งชาติเพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจนั้น กรมศิลปากรยินดีอนุญาตให้พิมพ์ตามประสงค์
หนังสือเจืองเป็นตำนานกล่าวด้วยเรื่อง ขุนเจืองหรือเจือง หรืออีกนัยหนึ่งเรียกกันว่าท้าวฮุ่ง ซึ่งเป็นวีรกษัตริย์สมัยโบราณ ตามตำนานกล่าวร่วมกันว่า ขุนเจืองเป็นกษัตริย์มีอานุภาพมากและเป็นธรรมมิกราช ปราบดินแดนได้ไว้เป็นอาณาจักรออกไปกว้างขวาง จับแต่เขตแคว้นลานนาไทย หลวงพระบาง สิบสองปันนา สิบสองจุไทย และเลยไปทางตะวันออกถึงแคว้นตังเกี๋ย ภายหลังไปเสียพระชนม์ลงในสงคราม ตำนานเจืองเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่ชนชาวภาคพายัพ อีสาน และหลวงพระบาง เพราะมีหนังสือแต่งเป็นบทกลอนไว้อ่านฟังกันในเวลามีงาน เป็นอย่างฟังเทศน์ เรื่องชาดกของภาคเหล่านั้น ได้ทราบต่อไปว่า ขุนเจืองมีชื่อปรากฏอยู่ในคำประกาศเทวดาในเวลาบวงสรวงประจำปี ณศาลเทพารักษ์หลักเมืองเชียงรายแต่โบราณเป็นลำดับองค์ที่ ๘ ดังนี้
๑. ขุนคงคำฮ้อย (เจ้าแห่งผีเมง ผีในที่นี้ หมายถึงผู้อยู่เหนือคน จึงรวมเทวดาด้วย)
๒. ขุนสร้อยคอดำ (เจ้าแห่งผีนาค)
๓. ขุนนิลดำสวาก (เจ้าแห่งผีแมน)
๔. ขุนหมวกขาวข่อยคำ
๕. ขุนแลนคำสักสวาดิ
๖. ขุนพรหมฮาดห้าวหาญ (พระเจ้าพรหม)
๗. ขุนเมงฮายขานขามกล้า (พระเจ้าเม็งราย)
๘. ขุนเจืองฟ้าธรรมราช
๙. ขุนครามอาจโสภา
เรื่องเจืองนั้นเห็นจะเป็นที่รู้จักกันมาช้านาน คงเล่าต่อปากสืบกันมา เป็นอย่างเล่ากันไปเล่ากันมา เรื่องก็งอกงามแตกดอกออกก้านยาวออกไป ในที่สุดเมื่อมาเป็นเรื่องในหนังสือ ซึ่งถ้าว่าในทางประวัติศาสตร์ ก็ถือเอาอะไรไม่ได้แน่นอนนัก นอกจากเค้าเรื่อง แต่ถ้าว่าในทางให้ความรู้ อันเนื่องด้วยจารีตประเพณี ตลอดจนความคิดเห็นที่นิยมนับถือกันในรุ่นก่อน หนังสือเจืองก็ให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ได้มาก ถ้าจะฟังกันในทางนิทาน ก็นับว่าหนังสือเจืองเป็นเรื่องชวนอ่านไม่น้อยเรื่องหนึ่ง
ในพงศาวดารโยนก มีตำนานสิงหนวัติกุมาร ตำนานเมืองเงินยาง และตำนานอื่น ๆ ได้กล่าวเรื่องขุนเจืองไว้ยืดยาว ในนั้นเรียกขุนเจืองเป็นหลายชื่อเช่น ขุนเจือง, ขุนเจื๋อง, ขุนเจืองฟ้าธรรมราช หรือธรรมมิกราช เป็นต้น ซึ่งรู้ได้ว่าเป็นคนเดียวกัน แต่พอถึงชื่อพ่อและปู่ของขุนเจือง มีตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง เช่น กล่าวว่าพ่อขุนเจือง ชื่อขุนจอมผาเรืองครองเมืองเชียงเรืองบ้าง เปนขุนจอมธรรมครองเมืองภุกามยาว (เมืองพเยา) บ้าง เป็นขุนจอมธรรม ครองนครสวนตาลหรือนาคอง ดังมีอยู่ในหนังสือเรื่องที่พิมพ์นี้บ้าง ส่วนปู่ของขุนเจืองชื่อขุนแรงกวาก็มี ขุนเงินก็มี ลาวจง และลาวเงินก็มี ซ้ำพี่ของขุนเจืองที่ชื่อว่า ขุนอ้ายเจือง ซึ่งลางตำนานเป็นขุนแพง ส่วนชื่อคนอื่น ๆ ในเรื่อง ตลอดทั้งชื่อบ้านชื่อเมืองและเหตุการณ์ที่กล่าวไว้ มีขัดแย้งกันหมู่มากแห่ง ได้เล่าและวิจารณ์เรื่องเหล่านี้ไว้ในที่อื่นแล้ว (ดูเรื่องของชาติไทย หน้า ๒๐๑ ถึง ๒๑๔) ที่เรื่องขุนเจืองมีข้อความแตกต่างกันมากแห่ง ก็ไม่แปลก เพราะผู้แต่งพงศาวดารและตำนานเป็นคนเกิดภายหลัง หลักฐานที่นำมาแต่งก็แต่งไปตามเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟัง และจากความรู้และความคิดเห็นของตนบ้าง เรื่องที่แต่งจึงถูกบ้างผิดบ้าง ถ้าผู้แต่งมีความนิยมนับถือใคร ในเรื่องก็ยกย่องยิ่งขึ้น จนในที่สุดผู้ที่ได้รับยกย่องก็กลายเป็นมีฤทธิ์เดชนอกเหนือเรื่องตามธรรมดาไป ถ้าเรื่องที่แต่งเกิดขึ้นนมนานล่วงมาแล้วเป็นพันๆ ปีขึ้นไป ก็ผิดมากกว่าถูก ถึงกระนั้น เรายังเป็นหนี้บุญคุณท่านผู้แต่งไม่น้อย ถ้าท่านไม่แต่งขึ้นไว้ เรื่องก็สูญ เราซึ่งเป็นอนุชนคนเกิดรุ่นหลังอาจขาดความรู้อะไร ๆ ที่ควรรู้ไปมาก เมื่อเด็กเราชอบฟังเรื่องนิยายนิทาน ถ้ายิ่งเป็นเรื่องน่าพิศวงอัศจรรย์ใจจนไม่น่าเชื่อมากเท่าใด เป็นสนุกมากเท่านั้น ครั้นเมื่อเราเป็นเติบโตมีความรู้ความคิดมากขึ้น เรื่องที่เราฟังเราอ่านก็ย่อมปราณีตขึ้นลำดับ แต่เรื่องอย่างนิยายนิทานนั้นทิ้งให้หมดไปไม่ได้ เพราะมันสนุกดี มีแต่จริงกันเสียหมดไม่มีสนุกบ้าง สติปัญญาความรู้ก็เซื่อมซึม เหตุนี้ชาติที่เจริญแล้วจึงนิยมเก็บรวบรวมนิยายนิทานพื้นเมืองของเก่าไว้ เพราะกลัวจะสูญ และประโยชน์ของการศึกษาที่จะได้จากนิยายนิทานนั้นมีมาก นอกจากจะทำให้เพลิดเพลิน ยังได้รับความรู้เรื่องเก่า ๆ ที่มีแทรกอยู่ในนั้น อย่างน้อยก็ได้ความรู้ต่างๆ ในสมัยของผู้แต่ง ว่าถึงชาติต่างๆ ไม่ว่าชาติใด ก็มีความเป็นไปทำนองเดียวกับบุคคล ประวัติศาสตร์ของชาติต่างๆ ในตอนต้นๆ มักมีเรื่องพิลึกพิลั่นเกินความจริงอ่านแล้วไม่น่าเชื่อ นั่นเป็นเรื่องของชาติเมื่อยังเด็กอยู่ แต่ถึงเป็นเรื่องอย่างนั้นเราก็อาจค้นคว้าหาความรู้เอาจากเรื่องชนิดนี้ได้ ถ้าท่านอ่านเรื่องเจืองโดยทำนองความคิดเห็นเช่นนี้ จะทำให้ท่านได้ทั้งความรู้และได้ทั้งความเพลิดเพลินไปในตัว
กลับมาพูดเรื่องของขุนเจืองใหม่ ถ้าว่าตามข้อความในพงศาวดารโยนก ขุนเจืองก็เป็นกษัตริย์ไทย สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ไทยต่อ ๆ กันขึ้นไปจนถึงเจ้าลาวจกต้นสกุล ซึ่งเป็นเทวาจุติลงมาถือปฎิสนธิเป็นเพศมนุษย์โดยอุปปติกกำเนิด คือเกิดเองไม่มีพ่อมีแม่ แล้วได้เป็นกษัตริย์ครองเมืองเงินยางเชียงแสน มีชื่อว่าพระยาลวจังกราช เหตุที่เทวดาปู่เจ้าลาวจกจุติลงมา ก็ด้วยคำขอร้องของพระอินทร์ ซึ่งได้รับคำของร้องจากพระยาอนุรุธกษัตริย์ภุกามมาอีกต่อหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าขุนเจืองสืบเชื้อสายมาจากพระยาลวจังกราช และพระยาลวจังกราชเป็นกษัตริย์ไทยแล้ว ก็จะต้องเข้าใจว่าชาติไทยมีกำเนิดมาแล้วเพียง ๘๐๐ ปีเศษเท่านั้น เพราะตกอยู่ในสมัยพระยาอนุรุธ คือ ราว พ.ศ. ๑๐๐๐ ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ และด้วยเหตุผลอย่างอื่นๆ อีกหลายประการ ซึ่งจะเล่าไว้ในที่นี้ไม่เหมาะ เพราะจะออกนอกทางของคำนำมากไป ได้มีท่านผู้รู้ลางท่านเห็นว่า ขุนเจืองอาจเป็นกษัตริย์ละว้าหรือข่า ความเห็นนี้ผู้เขียนเห็นพ้องด้วย ดินแดนภาคพายัพ เมื่อก่อนไทยยกลงมาจากถิ่นเดิม คือประเทศจีน ย่อมเป็นที่อยู่ของชนชาติอื่นมาก่อน ส่วนมากเป็นพวกละว้า ดินแดนหลวงพระบางสิบสองจุไทย และตลอดไปจนตังเกี๋ยเป็นที่อยู่ของพวกข่า อันที่จริงข่ากับละว้า ถ้าพูดอย่างกว้างๆ ก็เป็นชนชาติเผ่าพันธุ์เดียวกัน จีนยังเรียกพวกละว้าหรือว้า ที่มีอยู่ทางพรมแดนตอนใต้ของประเทศจีนว่าพวกข่าว้าอยู่ ถ้าเราเชื่อตามตำนานเมืองยอง (ดูเรื่องของชาติไทยหน้า ๑๙๑) และพงศาวดารลานช้างตอนเหนือเรื่องขุนบรมขึ้นไป ก็จะต้องเข้าใจว่าพวกข่าพวกละว้าเคยเจริญมีบ้านเมืองมาบ้างแล้ว หากภายหลังได้มาติดต่อเกิดระคนปนกันเข้ากับชนชาติไทย พวกเหล่านั้นก็กลายเป็นไทยไป ส่วนที่ไม่กลายคือพวกที่ไม่ก้าวหน้า ก็แปรสภาพเป็นชนชาวป่าชาวเขาไม่มีบ้านเมืองมาจนทุกวันนี้ ถึงกระนั้นความสนิทสนมกันในระหว่างพวกข่ากับพวกไทยทางแคว้นหลวงพระบางจึงยังมีอยู่ ตามพงศาวดารล้านช้างกล่าวว่า มนุษย์นั้นออกมาจากน้ำเต้าปุง คือน้ำเต้าใหญ่ “ปู่ลางเชิงจึงเผาเหล็กชีแดง ชีหมากน้ำนั้น คนทั้งหลายจึงบุเบียดกันออกมาทางรูที่ชีนั้น” พวกข่าออกมาจากรูน้ำเต้าก่อน ตัวถูกความร้อนของเหล็กแดงซึ่งไชรูน้ำเต้า ผิวตัวจึงดำ พวกไทยออกมาทีหลัง ผิวตัวจึงขาว สมเด็จพระมหาวีรวงศ์เมตตาเล่าให้ฟังว่า พวกไทยที่พลัดไปในหมู่พวกข่าเป็นไม่ต้องกลัวอด มีหาไม่พวกข่าเป็นต้องต้อนรับเลี้ยงดูเป็นอย่างกันเอง เพราะถือว่าไทยเป็นน้อง ถ้าไม่ต้อนรับเลี้ยงดูไทย เป็นผิดผีพ่อผีแม่ นิยายเรื่องคนออกจากน้ำเต้านี้ ทางไทยใหญ่ก็มี นับว่าเป็นนิยายดีเรื่องหนึ่ง สำหรับไทยที่พลัดเข้าไปในพวกข่า เพราะฉะนั้น ขุนเจืองอาจเป็นกษัตริย์โบราณของพวกข่า พวกละว้า หรือเป็นกษัตริย์ไทยปนข่าปนละว้าก็ไม่รู้ได้ ขุนเจืองมีอานุภาพมาก ใครๆ ก็อยากได้ไว้ในตำนานเพื่อขอให้เปนกษัตริย์ของชาติตน และไม่เป็นความลำบากอะไรที่จะผนวกเข้าไปเช่นนั้น แต่ว่ากลับเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากแก่ผู้ค้นคว้าในภายหลังที่จะต้องมาถกเถียงกันว่าขุนเจืองเป็นใคร มีความจริงในทางประวัติศาสตร์เพียงใด
พวกข่าจรายหรือข่าเจืองซึ่งอยู่ทางทิวเขาบรรทัดพรมแดนประเทศยวนแกว อ้างว่าขุนเจืองเป็นกษัตริย์ชาติของเขา อาวุธวิเศษของขุนเจืองมีแซ่แลดาบเจืองเป็นต้น พงศาวดารโยนกกล่าวไว้ว่ายังตกอยู่กับข่าพวกนี้ พวกข่าจรายว่าขุนเจืองจะกลับมาเกิดใหม่ ในสมัยศาสนาพระศรีอาริย์ เมื่อนั้นขุนเจืองจะกลับมาฟื้นฟูและประดิษฐานอาณาจักรเจืองขึ้นใหม่ ให้มีอำนาจรุ่งเรืองยิ่งกว่าเดิม (ดู J.S.S. Vol. XIV pt.I page 48) พวกข่าจรายเห็นจะนับถือขุนเจืองมาก ขุนเจืองตายไปแล้วก็ยังหวังว่าจะกลับมา เปนทำนองเดียวกับเรื่องท้าวฮุ่งหรือขุนเจืองในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งกล่าวว่าเมื่อขุนเจืองตายไปแล้ว ก็ไปเกิดเป็นผี (ในที่นี้หมายถึงเทวดา) มีกองทัพเหมือนเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ ขุนเจืองผูกใจเจ็บพวกแถน เพราะพวกแถนยกทัพมาช่วยพวกแมนรบกับขุนเจือง จนขุนเจืองต้องเสียชีวิตในสงคราม เมื่อไปเกิดเป็นผีแล้วจึงยกทัพผีขึ้นไปเมืองแถน คือเมืองฟ้า รบชนะพวกแถนเรื่อย แถนอะไรต่อแถนอะไรแพ้หมด ในที่สุดพระยาอินทร์ซึ่งเป็นนายแถน ยอมแพ้ยกเมืองสรวงให้ขุนเจืองครอบครองต่อไป
ในที่นี่ แถน หมายความถึงเทวดา พระยาแถนได้แก่พระอินทร์ แมน ก็มีความหมายว่าเทวดา ซ้ำผีในความเดิมของไทยก็หมายความว่าเทวดาเหมือนกัน แต่คงเป็นเทวดาชั้นเลวกว่าแถน เป็นจำพวกเทพารักษ์พระเสื้อเมืองพระทรงเมืองเจ้าทุ่งเจ้าป่า ฉะนั้น ส่วนพวกแมนนั้น ลางทีก็เรียกว่าพวกผีบ้าง เป็นอันว่าแมนกับผีมีศักดิ์เท่ากัน คือมีทั้งดีทั้งเลว เมืองสรวงที่พระยาอินทร์ยกให้ขุนเจืองครอบครอง ก็แปลว่าเมืองผีหรือเทวดาซึ่งมีอำนาจมาก ยังใช้อยู่ในทางไทยใหญ่ และยังมีติดอยู่ในคำของเราเป็นคำพูดว่า สรวงสวรรค์ และ แมนสรวง คำว่า บวงสรวง เห็นจะแปลว่า สังเวยเทวดาด้วยเครื่องเส้นได้กระมัง แถนนั้นว่าตรงกับคำเทียนในภาษาจีนแปลว่าฟ้า เมืองไทยเดิมที่อยู่ในประเทศจีน ก็ชื่อเมืองแถน หรือว่าแถนในเรื่องขุนเจืองนี้ หมายถึงพวกไทยในประเทศจีนครั้งกระโน้น ชื่อพวกแถน ดูในเรื่องขุนเจืองจะพบมีคำแถนนำหน้าชื่อเสมอไป เช่น แถนงวง แถนเมง แถนมิง แถนโกไก แถนถ่าว และแถนอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ส่วนแมนก็เช่นเดียวกัน มีชื่อเช่น แมนเสี้ยว แมนเปียว แมนเฮือง แมนผา แมนฟองเปนต้น ชื่อกษัตริย์ของพวกแมนที่มารบกับขุนเจือง ก็มีชื่อว่า พระยาแมนตาตอกครอบฟ้า ตาหยืด หรือตายืน ได้พบหนังสือฝรั่งเรื่องหนึ่ง จะเป็นเรื่องอะไรก็จำไม่ได้ อธิบายชื่อพระยาแมนตาตอกครอบฟ้า ตาหยืดไว้ว่า เป็นเทวดาประจำเมฆ เลยทำให้สะกิดใจถึงชื่อมณฑลยูนานของจีนซึ่งเคยเป็นอาณาจักรของไทยน่านเจ้า ยูนานแปลว่ามณฑลเมฆทิศใต้ จีนเรียกชนชาติต่าง ๆ ที่อยู่ตามป่าตามเขาในตอนใต้ของจีนว่าหม่านและในแคว้นตังเกี๋ยก็ยังมีพวกที่ยวนแกวเรียกว่าพวกหม่านอยู่มาก ซึ่งในที่นี้หม่านเห็นจะหมายถึงพวกข่า เพราะฉะนั้น คำว่าหม่านจะเป็นคำเดียวกับแมนในเรื่องขุนเจืองได้บ้างกระมัง โดยเหตุที่พวกแมนมีที่อยู่บนเขาที่สูง คำว่าแมนถ้าเป็นคำเดียวกับแมนในภาษาไทย ก็แปลว่าเมืองสวรรค์ซึ่งตามธรรมดาต้องนึกว่าสวรรค์นั้นอยู่บนฟ้า คืออยู่ในที่สูง ผู้แต่งเรื่องขุนเจืองพูดไว้แห่งหนึ่งเมื่อกล่าวถึงท้าวแรงกวา (แองกา) เลือกหาภรรยา เรียกนางเมืองจีนว่านางเมืองแมน นี่เป็นนึกเล่น นึกไปนึกมา เลยนึกเอาว่าพวกแถนจะหมายความว่าพวกไทยเดิม พวกแมนคือพวกหม่าน ตกลงเรื่องขุนเจืองไปรบกับพวกแมนพวกแถน ก็รบกันป้วนเปี้ยนอยู่บนพื้นดินที่มีภูเขามากนั่นเอง ไม่ได้ไปรบกันในเมืองฟ้าเมืองแมนที่ไหน สนุกดี ในเรื่องขุนเจืองยังมีชื่อคนที่ใช้คำนำหน้าว่านายอยู่หลายคน เช่น นายแสง นายพวง นายจัน นายจวง เป็นต้น นายจะเป็นคำของภาษาใดและจะเป็นคำของเก่าหรือของใหม่ก็ไม่ทราบ นอกนี้ยังมีคำนำหน้าชื่อว่าแกว เช่น แกวก่อง แกวเฮื่อ เป็นต้น แกวในที่นี่ต้องหมายถึงยวนแคว้นตังเกี๋ย จีนเรียกว่ากาวจี๋ คำนี้เองคงมาเป็นคำว่าแกว ซึ่งไปชั้นเดิมจะหมายถึงยวนตังเกี๋ย ภายหลังเลยเรียกรวมถึงยวนทั้งหมด คำกาวในคำว่าลาวกาวและเงี้ยว ก็น่าจะเป็นคำเดียวกัน เพราะชนชาวตังเกี๋ยก็มีเชื้อชาติไทยเป็นส่วนมาก นอกนี้ยังมีคำว่า กวาน นำหน้าชื่อ เช่น กวานแก กวานในที่นี้เห็นจะเป็นคำยวน ซึ่งได้มาจากคำจีน แปลว่าขุนนาง ชื่อต่างๆ ที่มีคำนำหน้าว่า แถน, แมน, แก้ว, และกวานเป็นพวกฝ่ายตรงกันข้ามกับขุนเจือง ส่วนพวกขุนเจืองมีใช้คำนำหน้าว่าอ้ายอยู่หลายชื่อ เช่น อ้ายคว่าง, อ้ายหาด, อ้ายไค่ อ้ายเกื่อน เห็นจะเป็นพวกข่า นอกนี้มีคำว่าขุนก็มี นายก็มียุ่งใหญ่ รวมความผู้แต่งเรื่องขุนเจืองฉบับนี้ เห็นจะเป็นไทยชาวหลวงพระบาง จึงลากเอาชื่ออะไรต่อมิอะไรที่เคยได้ยินได้ฟังมาทางแถบเมืองเหล่าโน้นมาให้ไว้ในเรื่องมากมาย
ในที่สุดนี้ กรมศิลปากรขออนุโมทนาในกุศลราศีทักษิณานุปทาน ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้มีเมตตาบำเพ็ญเป็นปัตติทานมัย และตีพิมพ์หนังสือนี้แจกจ่ายเป็นธรรมวิทยาทาน จงเปนกุศลดลบันดาลให้สำเร็จหิตสุข แด่ท่านผู้ถึงแก่มรณภาพทั้งสี่รูปนั้น โดยสมควรแก่คติวิสัยในสัมปรายภพเทอญ.
ย.ส. อนุมานราชธน
กรมศิลปากร
๒๐ ตุลาคม ๒๔๘๕