- คำนำ
- บานแพนก
- ฉันทศาสตร์
- ว่าด้วยทับ ๘ ประการ
- ว่าด้วยคำภีร์ตักกะสิลา
- ว่าด้วยกำเนิดไข้, ด้วยที่อยู่, ฤดู, อาหาร, แลธาตุ
- ว่าด้วยลักษณะน้ำนมดีแลชั่ว
- ว่าด้วยลักษณะอาการไข้ที่เข้าเพศเปนโทษ ๔ อย่าง
- ว่าด้วยกำเนิดแห่งไข้ (โรค) ต่าง ๆ
- ว่าด้วยชีพจร ให้ระวังในการระบายยา
- ว่าด้วยลักษณะธาตุ
- ว่าด้วยป่วง ๘ ประการ
- ตำรายาแก้สันนิบาต สองคลอง และอะหิวาตะกะโรค
- ว่าด้วยสมุฏฐาน
- ว่าด้วยอติสาร
- ว่าด้วยมรณะญาณสูตร์
- ว่าด้วยโรคไภยต่าง ๆ แห่งกุมาร
- พระคัมภีร์ประฐมจินดา
- ว่าด้วยลักษณครรภ (ผูก ๑ บริเฉท ๑)
- คำภีร์ครรภรักษา ลักษณะครรภวารกำเนิด (ผูก ๑ บริเฉท ๒)
- ครรภ์วิปลาศ ครรภ์ปริมณฑล ครรภ์ประสูตร
- ว่าด้วยลักษณกุมาร กุมารออกจากครรภ์ ฝังรกแห่งกุมาร กุมารอยู่ในเรือนเพลิง (ผูก ๑ บริเฉท ๓)
- ว่าด้วยสังโยชน์ลักษณ์สัตรีดีแลชั่ว แลรศน้ำนมดีแลชั่ว (ผูก ๑ บริเฉท ๔)
- ว่าด้วยลักษณะรูปสัตรีแลรูปกุมาร (ผูก ๒ บริเฉท ๑)
- ว่าด้วยลักษณะปักษี แลปิศาจกระทำโทษ ลักษณะน้ำนมมีโทษ ๓ ประการ
- ว่าด้วยลักษณะทราง
- กำเนิดทรางทั้งปวง
- อาการไข้อันบังเกิดแห่งกุมารกุมารีทั้งหลาย
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันอาทิตย์ (ผูก ๓ บริเฉท ๑)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันจันทร์ (ผูก ๓ บริเฉท ๒)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันอังคาร (ผูก ๓ บริเฉท ๓)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันพุฒ (ผูก ๓ บริเฉท ๔)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันพฤหัศบดี (ผูก ๓ บริเฉท ๕)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันศุกร์ (ผูก ๓ บริเฉท ๖)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันเสาร์ (ผูก ๓ บริเฉท ๗)
- คัมภีร์เตร็จซึ่งคัดมาจากคัมภีร์อภัยสันตา ว่าด้วยทรางต่างๆ (ผูก ๔)
- ลักษณะกำหนดทรางแลทรางจร กำลังไข้ กิมิชาติแลตานโจร (ผูก ๕)
- ตานโจรเกิดด้วยธาตุทั้ง ๔ ตานโจรอันเกิดเพื่ออะติสาร (ผูก ๖)
- ตานโจรเกิดเพื่ออติสาร แลว่าด้วยกาฬต่าง ๆ
- ว่าด้วยอุจจาระปัสสาวะแห่งกุมารแลกุมารี แลลักษณะตานจร
- พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์
- คัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด)
- สรรพคุณยาแก้ไข้ทรพิศม์
ว่าด้วยลักษณะอาการไข้ที่เข้าเพศเปนโทษ ๔ อย่าง
จักกล่าวลักษณไข้ เมื่อจับไซ้เวลามัน แลทั้งกำลังวัน ที่เปนนั้นกำหนดหมาย
จักกล่าวตรีเพศเข้า จับรุ่งเช้าจนถึงบ่าย สองโมงจึ่งค่อยคลาย ค่อยสบายในกายพลัน ไข้ที่ชื่อเอกโทษ แต่รุ่งโสดจนสายัณห์ ถึงค่ำสองทุ่มนั้น ชื่อทุวรรณโทษนา แต่รุ่งจนถึงค่ำ แปดทุ่มซ้ำรัตติยา จึ่งส่างไข้นี้นา เรียกชื่อว่าโทษเปนตรี
ลักษณเพศทั้งหลาย กำเริบร้ายกำลังมี กำเดาสี่ราตรี เสมหะมีในเก้าวัน โลหิตกำลังให้ เจ็ดวันไซ้เปนสำคัญ วาโยสิบสามวัน กำหนดนั้นเปนประธาน
กำลังธาตุทั้งหลาย กำเริบร้ายสี่สถาน ทั้งสามฤดูกาล ดุจดังท่านกล่าวไว้ แรกไข้สี่วาระ ชื่อตติยะจำเนียรไป ห้าวันถึงเจ็ดไซ้ ชื่อตรุณถ้ามิคลาย แปดวันถึงสิบห้า นั้นชื่อว่ามัธยมหมาย โทษสองจำเนียรปลาย สิบเจ็ดหมายชื่อบุราณ โทษสามถ้าพ้นนั้น กำหนดวันไม่ประมาณ เพราะธาตุนั้นพิการ ชื่อจัตตุนันทชวรแล
จะกล่าวลักษณไข้ ท่านกล่าวไว้สามประการ กำเดาสมุฎฐาน เดือดฟุ้งส้านจึ่งเปนไป เจ็บสูงเปนกำลัง ให้คลุ้มคลั่งดวงจิตรไหว ตัวร้อนดังเปลวไฟ ตาเหลืองไปให้เบาแดง รากเหลืองกระหายน้ำ ปากขมซ้ำน้ำลายแห้ง ผิวเนื้อแตกระแหง ผิวหน้าแดงตัวเหลืองไป กลางคืนหลับไม่สนิท จับดวงจิตรเคลิ้มหลงใหล น้ำตามักตกไป กำเดาให้โทษแลนา
ลักษณไข้เพื่อเสลด ให้อาเพศหนาวนักหนา ขนชันทั่วกายา จุกอุราแสยงขน อาหารกินมิได้ ปากหวานไปเหนพิกล ฝ่าเท้าฝ่ามือตน ขาวเผือดจนมูลหนักเบา ให้รากถอยอาหาร จับสะท้านให้เหม็นเข้า เปนแพทย์อย่าดูเบา เสมหะเล่าให้โทษนา
ลักษณไข้เพื่อโลหิต ย่อมทำพิศตัวร้อนกล้า กระหายน้ำปวดศิรา เจ็บกายาแทบทำลาย เบาเหลืองผิวตัวแดง ลิ้นคางแข็งฟันแห้งหาย ปากแห้งเหนียวน้ำลาย ธาตุภายในชักให้ลง เพศไข้ทั้งสามนี้ ในคำภีร์ท่านกล่าวตรง เปนแพทย์อย่าได้หลง ดูให้ตรงอย่าใจเบา
(จบเอกโทษ)
----------------------------
ลักษณอนึ่งโสด เพื่อทุวรรณโทษลมกำเดา จับหนาวสท้านเล่า ให้ร้อนเร่ากระหายชล เหงื่อตกระส่ำระสาย ไม่สบายในกายตน วิงเวียนเปนสละวน ปวดสูงพ้นจะทนทาน
ในเมื่อทุวรรณโทษ กำเดาโสตเสมหะถาน สองนี้มีอาการ หนาวสะท้านแสยงขน จุกอกหายใจขัด เหงื่อวิบัติตกทั้งตน ให้ร้อนอยู่สับสน ร้อนทั่วตนปวดศิรา
ในเมื่อทุวรรณโทษ วาโยโสตกับเสมหา จับหนาวแล้วร้อนมา วิงเวียนหน้าเหงื่อตกไหล ปวดหัวให้มัวตา อาหารากินมิได้ สองโทษหากเปนไป กำเริบไซ้ให้มีมา
ในเมื่อทุวรรณโทษ กำเดาโสตโลหิตา ราตรีไม่นิทรา ครั้นหลับตาหลงเพ้อไป ปวดเศียรสุดจะทน ให้สละวนในดวงใจ ระหายน้ำให้ร้อนใน อาหารไซ้ไม่นำภา
ในเมื่อโทษเข้าตรี ทั้งสามนี้คือเสมหา กำเดาแลวาตา กำเริบมาวิบัติไป ให้เจ็บทุกข้อลำ กระหายน้ำให้ร้อนใน ระส่ำระสายใจ เสโทไหลโซมทั้งกาย ให้ง่วงดุจดังบ้า ในอุราไม่สบาย โทษนี้เปนตรีปลาย แพทย์ทั้งหลายจงรู้นา
ในเมื่อโทษกำเดา โลหิตเข้ากับวาตา ทั้งสามกำเริบมา จึ่งเรียกว่าโทษเปนตรี ให้เมื่อยทั่วทั้งตัว เจ็บปวดหัวดังเปนฝี วิงเวียนไม่สมประดี หนักเกษีให้ซุนไป ให้จับหนาวสะท้าน เหม็นอาหารกินมิได้ เชื่อมมึนมักง่วงไป ท่านกล่าวไว้เร่งเรียนเอา
ในเมื่อโทษโลหิต เสมหะพิศแลกำเดา ทั้งสามเจือกันเข้า ให้ร้อนเร่ากระหายชล กลางคืนนอนไม่สนิท จับดวงจิตรรำสับสน เสโทตกทั่วตน ผิวหน้าคนนั้นเหลืองไป รากเหลืองติดโลหิต ตาแดงพิศร้อนคือไฟ โทษตรีอันมีใน ท่านกล่าวไว้สุขุมา
(จบตรีโทษ)
----------------------------
ในเมื่อโทษสี่นั้น ย่อมแปรผันเปนนาๆ กระด้างทั้งกายา หายใจขัดชักคางแขง ชิวหานั้นกระด้าง เพศต่างๆ ดังแสดง อาจาริย์ท่านกล่าวแจ้ง เรียกว่าโทษมรณชวน