- คำนำ
- บานแพนก
- ฉันทศาสตร์
- ว่าด้วยทับ ๘ ประการ
- ว่าด้วยคำภีร์ตักกะสิลา
- ว่าด้วยกำเนิดไข้, ด้วยที่อยู่, ฤดู, อาหาร, แลธาตุ
- ว่าด้วยลักษณะน้ำนมดีแลชั่ว
- ว่าด้วยลักษณะอาการไข้ที่เข้าเพศเปนโทษ ๔ อย่าง
- ว่าด้วยกำเนิดแห่งไข้ (โรค) ต่าง ๆ
- ว่าด้วยชีพจร ให้ระวังในการระบายยา
- ว่าด้วยลักษณะธาตุ
- ว่าด้วยป่วง ๘ ประการ
- ตำรายาแก้สันนิบาต สองคลอง และอะหิวาตะกะโรค
- ว่าด้วยสมุฏฐาน
- ว่าด้วยอติสาร
- ว่าด้วยมรณะญาณสูตร์
- ว่าด้วยโรคไภยต่าง ๆ แห่งกุมาร
- พระคัมภีร์ประฐมจินดา
- ว่าด้วยลักษณครรภ (ผูก ๑ บริเฉท ๑)
- คำภีร์ครรภรักษา ลักษณะครรภวารกำเนิด (ผูก ๑ บริเฉท ๒)
- ครรภ์วิปลาศ ครรภ์ปริมณฑล ครรภ์ประสูตร
- ว่าด้วยลักษณกุมาร กุมารออกจากครรภ์ ฝังรกแห่งกุมาร กุมารอยู่ในเรือนเพลิง (ผูก ๑ บริเฉท ๓)
- ว่าด้วยสังโยชน์ลักษณ์สัตรีดีแลชั่ว แลรศน้ำนมดีแลชั่ว (ผูก ๑ บริเฉท ๔)
- ว่าด้วยลักษณะรูปสัตรีแลรูปกุมาร (ผูก ๒ บริเฉท ๑)
- ว่าด้วยลักษณะปักษี แลปิศาจกระทำโทษ ลักษณะน้ำนมมีโทษ ๓ ประการ
- ว่าด้วยลักษณะทราง
- กำเนิดทรางทั้งปวง
- อาการไข้อันบังเกิดแห่งกุมารกุมารีทั้งหลาย
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันอาทิตย์ (ผูก ๓ บริเฉท ๑)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันจันทร์ (ผูก ๓ บริเฉท ๒)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันอังคาร (ผูก ๓ บริเฉท ๓)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันพุฒ (ผูก ๓ บริเฉท ๔)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันพฤหัศบดี (ผูก ๓ บริเฉท ๕)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันศุกร์ (ผูก ๓ บริเฉท ๖)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันเสาร์ (ผูก ๓ บริเฉท ๗)
- คัมภีร์เตร็จซึ่งคัดมาจากคัมภีร์อภัยสันตา ว่าด้วยทรางต่างๆ (ผูก ๔)
- ลักษณะกำหนดทรางแลทรางจร กำลังไข้ กิมิชาติแลตานโจร (ผูก ๕)
- ตานโจรเกิดด้วยธาตุทั้ง ๔ ตานโจรอันเกิดเพื่ออะติสาร (ผูก ๖)
- ตานโจรเกิดเพื่ออติสาร แลว่าด้วยกาฬต่าง ๆ
- ว่าด้วยอุจจาระปัสสาวะแห่งกุมารแลกุมารี แลลักษณะตานจร
- พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์
- คัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด)
- สรรพคุณยาแก้ไข้ทรพิศม์
ตานโจรเกิดเพื่ออติสาร แลว่าด้วยกาฬต่าง ๆ
ปุนจปรํ ลำดับนี้จะว่าด้วยตานโจรอันเกิดเพื่ออะติสารต่อไปดังนี้ (อาจาริเยนะ) อันพระอาจารย์เจ้านั้น (อาภตํ) นำเอามา (อติสารํ) ซึ่งพระคัมภีร์อติสาร (อาภาสิ) หากกล่าวไว้ (อันเตวาสิกัง) ให้สานุศิษย์แพทย์ทั้งหลายพึงรู้ (มรณํ) อันว่าความตาย (ทารกานํ) แห่งทารกทั้งหลาย (ติวิธํ) มีลักษณะ ๓ ประการ (โทสะวิคคะหํ) อันจะสงเคราะห์ซึ่งโทษ (อะติสารํวะ) ประดุจดังโทษอติสาร (มรณํ) อันสำแดงซึ่งความตาย (ทาระกานํ) แก่ทารกทั้งหลาย (วิสุจิกา) คือว่าด้วยมูตร์แลคูธอันพิการต่างๆ (ภะเวยย ม่อ ภะเว) ก็พึงมีแก่สัตว์ทั้งหลายในโลกย์นี้ (อิติ ม่อ อิมินาปะกาเรนะ) ด้วยประการดังนี้
โดยอธิบายว่าโทษอสุจิมี ๑๑ ประการ แต่ประการ ๑ ท่านจัดเปน ๓ จึงเปน ๓๓ ด้วยกัน จึงเปนอติสารวัตรก็ดีแลตรีโทษดุจกัน คือบุศธาตุ ๑ ปัจฉันธาตุ ๑ รัตนธาตุ ๑ ปัสธาตุ ๑ มุสกายธาตุ ๑ กาฬธาตุ ๑ ปถวีธาตุ ๑ อาโปธาตุ ๑ วาโยธาตุ ๑ เตโชธาตุ ๑ อากาศธาตุ ๑ เปน ๑๑ ด้วยกันจึงเรียกว่าธาตุบรรจบด้วยประการดังนี้
พระอาจารย์เจ้าท่านกล่าวบทต้นว่าด้วย อมุสกายธาตุ (บางฉบับว่าอมูลธาตุ) มีโทษ ๓ ประการ มีอยู่ในพระคัมภีร์สารสงเคราะห์ ว่าด้วยเตโชธาตุ อันชื่อว่าปริทัยหัคคี สำหรับเผาอาหารให้ย่อย จึงให้ผะอืดผะอมแล้วให้ลงไปจะนับเวลามิได้ ครั้นสิ้นอาหารแล้วก็ให้ลงเปนน้ำล้างเนื้อ เหม็นคาวดังตะพาบน้ำแล้วให้จุกเสียด ให้กระหายน้ำเปนกำลัง ให้ฅอแห้งถึงทรวงอกแล้วให้ปากแห้งฟันแห้ง เหตุว่าไฟธาตุกำเริบแรงขึ้นสู่เพดาลนั้นกล้านัก น้ำเขฬะก็แห้งไป อันว่าน้ำเขฬะนั้นคือน้ำเกรอะแห่งอาหารที่ขึ้นสู่เพดาลนั้น อุปมาดังต้มสุรา อันว่าเหงื่อแห่งอาหารก็เกรอะออกไป ปลายลิ้นแลฟันก็ตกลงเปนน้ำเขฬะ ถ้าแลบุคคลจะสิ้นอายุแล้วเตโชธาตุก็ออกจากตัว มีอุปมาดังบุคคลหุงเข้า แลใส่ไฟกล้าเหลือกำลังนักหม้อนั้นก็พลุ่งขึ้นไป น้ำก็ล้นลงดับไฟเสียเอง อันว่าเหงื่อแห่งอาหารนั้นก็แห้งไป เพราะเหตุดังนั้นจึงให้ฅอแห้งฟันแห้งปากแห้ง ถ้าเปนดังนี้ท่านให้เอามือล้วงฅอดู ถ้าในคอเย็นเฉียบเปนอาการตัดจะมรณะในวันนั้นเปนเที่ยง แพทย์อย่าพึงสงไสยเลย อันว่าลักษณะเพลิงธาตุอันชื่อว่า “อะสิตาชิวะจาวะคะ” นั้นย่อมให้บวม (บางฉบับว่าบอบ) ทั้งตัว แล้วให้ลงเปนสีเขียวสีดำ ท่านกำหนดไว้ ๓ วันผู้นั้นจะมรณะ อันว่าลักษณะปฉันธาตุนั้น ถ้าเกิดแก่ผู้ใดย่อมให้ลงเปนน้ำชานหมากแลน้ำแตงโม ท่านกำหนดไว้ ๗ วันผู้นั้นจะมรณะ อันว่าลักษณะลมอันชื่อว่า “กุจฉิสยาวาตา” นั้นคือลมพัดอยู่ในไส้ ถ้าออกจากตัวแล้วเมื่อใดก็กระทำให้เปนต่าง ๆ ลมธาตุจำพวกนี้มักให้ลงจะนับเวลามิได้ ครั้นจะปิดเข้าไว้ก็มิได้ ครั้นจะให้ลงไปนักก็มิได้ ถ้าจะให้ลงไปแล้วจะให้จุกให้แดก ประการหนึ่งจะให้แน่นอยู่ในลำฅอ กินเข้ากินนมแลกินยาก็มิได้ เพราะให้รากอยู่เปนกำลังแล้วให้น้ำลายเหนียว ท่านจึงกำหนดไว้ว่าถ้าแลเขฬะเหนียวเข้าเมื่อใด ผู้นั้นจะมรณะเปนเที่ยง
อันว่าลักษณะปถวีธาตุออกจากตัวนั้น ท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์สารสงเคราะห์โน้นแล้ว ว่าด้วยธาตุดิน ๒๐ คือ ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, สมองกระดูก, ม้าม, หัวใจ, ตับ, พังผืด, พุง, ปอด, ไส้น้อย, ไส้ใหญ่, อาหารเก่า, อาหารใหม่, สมองศีศะ, ซึ่งว่ามาทั้งนี้แต่ล้วนเปนปถวีธาตุสิ้นทั้งนั้น ถ้าจะใคร่รู้ว่าดินอันใดออกจากตัว ท่านกล่าวไว้ในพระคัมภีร์นี้ว่า ธาตุออกจากตัวเปนธรรมดานั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ เอ็น ประการหนึ่ง อาหารเก่าอาหารใหม่ ประการหนึ่ง กระดูก ประการหนึ่ง เนื้อ ประการหนึ่ง เปน ๔ ประการด้วยกันดังนี้ ถ้าแลบุคคลผู้ใดจะเปนไข้สักเท่าใดๆ ก็ดี อาหารเก่าจะได้สิ้นไปหามิได้ ถ้าจะสิ้นอายุแห่งบุคคลผู้นั้นแล้ว ก็ให้ลงไปจะนับเวลามิได้ จนสิ้นอาหารเก่าอาหารใหม่แล้ว อุจจาระก็วิปริตเปนไปต่างๆ บางทีก็ให้เปนเสมหะโลหิตเหน้า บางทีก็เปนมูลหนู เพราะโรคกันเอายาไว้มิให้ซึมทราบไปได้ ลมแลเสมหะจึงกลัดเข้าเปนมูลหนู แลเสมหะหุ้มห่อออกมาบ้าง บางทีให้อุจจาระเขียวดังใบไม้ออกมาบ้าง ท่านว่าเปนด้วยดีล้นออกจากเบ้า ในเมื่อสิ้นอาหารเก่าในกะเพาะเข้าแล้ว ก็ไหลออกมาดังน้ำขมิ้นสดบ้าง ดังสีใบไม้บ้าง คนสมมุติว่ามูลเทา เมื่อบุคคลผู้ใดเปนดังนี้ ถ้าพระอินทราธิราชมาชุบขึ้นจึงจะรอดชีวิตร
อนึ่งบุคคลผู้ใดถ้าดีล้นจากเบ้าก็ดีแตกก็ดี ถ้าแพทย์ผู้ใดจะใคร่รู้ ว่าดีแตกหรือดีล้นจากเบ้า ถ้าดีล้นให้ลงเหลืองดังน้ำขมิ้นสดออกมา แล้วให้หน้าเหลือง, ตาเหลือง, ผมเหลือง แพทย์มิรู้ว่ากาฬสิงคลี ให้สำคัญเอาแต่ที่ลงกับให้คนไข้หาสติมิได้ ให้บ่นเพ้อเจรจาด้วยผี คนสมมุติว่ากระสือเข้าสิงอยู่ ถ้าแพทย์จะรักษาให้ยาจงดีจึงจะรอด แต่ว่าตายบ้างหายบ้าง ถ้าดีแตกแล้วไม่หายเลย จึงมีคำปุจฉาว่า เหตุดังฤๅ ดีจะแตกจะล้นออกจากเบ้า? พระอาจาริย์เจ้าผู้รู้แท้จึงวิสัชนาว่า มีเหตุ ๔ ประการ คือว่ากาฬผุดขึ้นในดีประการ ๑ เปนไข้เพื่อพิศม์ต่างๆ ประการ ๑ เปนไข้เพื่อทรางประการ ๑ เปนเหตุด้วยท่านทุบถองโบยตีแลตกจากที่สูงประการ ๑ เปน ๔ ประการด้วยกันดังนี้ ตับแลดีจึงแตก
ลักษณะดีล้นนั้นเล่า คือเพลิงธาตุแตกกำเริบก็ดี สรรพพิศม์สิ่งใดๆ ก็ดี อันร้อนกล้าพ้นประมาณน้ก ดีก็ล้นจากเบ้า มีอุปมาดังหุงเข้าใส่ไฟกล้านัก น้ำในหม้อก็เดือดล้นลงมา อันไฟก็ดับไปเอง ตัวเองก็ทำลายซึ่งตัวเอง ผู้นั้นก็ถึงแก่มรณะภาพเปนอันเที่ยง “เสมหะกิง๎การะณาติ” จึ่งมีคำปุจฉาว่า “โภอาจาริยะ” ข้าแต่พระอาจารย์เจ้าเปนดังฤๅ เปนสมุฏฐานนีมากน้อยเท่าใด แลจะตายด้วยเหตุอันใด? พระอาจาริย์เจ้าผู้รู้เที่ยงแท้จึงวิสัชนาว่า ดูกรท่านทั้งหลาย อันว่าเสมหะสมุฏฐานนั้นคือ อาโปธาตุมี ๑๒ ประการ แลธาตุแต่ละธาตุๆ คิดแต่บรรดาธาตุน้ำทั้งสิ้นเปน ๑๐๘ ประการด้วยกัน ท่านยกเอาแต่เสมหะๆ มีโทษถึง ๑๒ ประการ ยกเอาแต่ ๓ ประการคือ เสมหะอยู่ในฅอประการ ๑ เสมหะอยู่ในทรวงอกประการ ๑ เสมหะอยู่ในทวารหนักประการ ๑ เปน ๓ ประการด้วยกันดังนี้ อันว่าเสมหะอยู่ในฅอนั้น ย่อมถอยขึ้นถอยลง ต่อเมื่อใดป่วยให้ไอให้รากก็ดี เสมหะนั้นจึงออก เสมหะอันตั้งอยู่ที่ฅอนั้น หนาประมาณ ๗ นิ้วเต็มเปนแผ่นอยู่ เปนธรรมดาแห่งสัตว์อันอยู่เปนปรกติ ถ้ารับประทานอาหารสิ่งใดๆ ลงไป เสมหะนั้นจึงเบิกออก อาหารจึงได้เลื่อนลงไป ครั้นอาหารเลื่อนลงไปแล้ว เสมหะนั้นก็กลัดเข้าดังเก่า มีอุปมาดังแหนลอยอยู่เหนือหลังน้ำ แลมีผู้เอากระเบื้องหรือศิลาทิ้งลง แหนนั้นก็แหวกออก แล้วก็กลัดเข้าดุจดังเก่า มีอุปมาฉนั้น
อันลักษณะเสมหะที่ตั้งอยู่ในทรวงอกนั้น ต่อเมื่อใดมีไข้เพื่อเตโชแลวาโยธาตุกล้ากว่าอาโปธาตุ พ้นเสมหะให้ข้นเข้าได้แล้ว ก็ตั้งแข็งลงไปตามยอดอก พ้นลงไป ๒, ๓, ๔, ๕, นิ้วก็ดี แลทำให้จับเปนเวลา ดุจเปนป้างแลม้าม แล้วให้สีหน้าแลตัวเหลือง อุจจาระปัสสาวะก็เหลือง ดุจไข้กาฬสิงคลี ถ้าแลแก้มิฟังก็จะกลายเปนมานกระไษย มักให้ลงเปนมูกเลือด แลเสมหะเหน้าออกมา แล้วจะให้ท้องใหญ่ดุจดังท้องมาร รักษายากนัก ถ้าวางยาชอบจึงจะได้บ้างเสียบ้าง ถ้าวางยาผิดไม่ได้เลยถ่ายเดียว
อันว่าเสมหะอยู่ในทวารหนักนั้นคือ โลหิตแลน้ำเหลือง ต่อเมื่อใดไข้ลง โลหิตแลน้ำเหลืองก็ตกออกมาจากทวารหนัก ดุจดังน้ำล้างเนื้อแลน้ำชานหมาก เหม็นดุจกลิ่นอศุภ แล้วให้ปวดมวนให้เปนลมท้องขึ้นปะอยู่ที่น่าอกให้แน่น จึ่งให้อาเจียนลมเปล่า ให้ตัดอาหาร ให้เหม็นเข้า ลุกขึ้นให้ลมจับตามืดให้ชักเท้ากำมือกำ ตาช้อนขึ้น ถ้าอาการพร้อมดังกล่าวมานี้แล้วเมื่อใด ท่านว่าเปนกรรมของผู้นั้น จึ่งมีคำปุจฉาว่าข้าแต่พระอาจาริย์เจ้า ซึ่งกล่าวมาด้วยมูตร์แลคูธมีอยู่กี่จำพวก ที่จะถึงแก่อติสารนั้นเปนดังฤๅ? พระอาจาริย์เจ้าวิสัชนาว่า บุคคลทั้งหลายจะตายด้วยอติสารนั้นมี ๑๑ ประการ อันกล่าวไว้ในคำภีร์อติสารโน้นแล้ว ในที่นี้จะว่าพอเปนใจความสังเขป ให้แพทย์ทั้งหลายพึงรู้ อันว่าไข้อติสารนี้มี ๑๑ ประการ แต่ท่านคัดออกเปน ๒ ฐาน ๆ หนึ่งเปนปัจจุบันกรรม ฐานหนึ่งเปนโบราณกรรม ที่เปนปัจจุบันกรรมนั้นคือ อติสาร ๖ ประการนิ้พอจะเยียวยาได้บ้าง ถ้าแลอติสาร ๕ ประการนี้ เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ใดแล้ว จะแก้บมิได้เลย ในที่นี้กล่าวไว้แต่อติสาร ๕ ประการ พอจะให้แพทย์รู้จักลักษณะที่จะเสียนั้นพอเปนสังเขป ด้วยอติสาร ๕ ประการนี้เจือไปในธาตุทั้ง ๔ ถ้าบุคคลผู้ใดเปนไข้แลฝีก็ดี ถ้าเกิดกาฬขึ้นในอกทั้ง ๕ ประการนี้ก็ดี คือกาฬฝีมีพิศม์ประการ ๑ กาฬพิศม์ประการ ๑ กาฬสิงคลีมีพิศม์ประการ ๑ กาฬสูตรประการ ๑ กาฬมุดประการ ๑ เปน ๕ ประการด้วยกันดังนี้ ถ้าเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ใดแล้วเหมือนพระยามัจจุราชมาถึงบุคคลผู้นั้น จะเยียวยามิได้เลย
อันว่าลักษณะกาฬฝีมีพิศม์นั้นคือ กาฬตั้งในหัวตับให้ตับหย่อน ถ้ากินถึงชายตับแล้วก็ให้ตกโลหิตสดๆ ออกมาก่อน ครั้นถูกยาเข้าค่อยหยุดไป ๔ วัน ๕ วันแล้ว ก็กลับกระทำให้ตกมูกเลือดอยู่ ๒, ๓, วันก็ให้เปนเสมหะโลหิตเหน้า ให้ปวดมวนแล้วทำพิศม์ให้ปะทะอกขึ้นมา ให้อาเจียนลมเปล่า ๒ ชั้น ๓ ชั้น ครั้นสอึกคลายแล้วกลับกระทำให้ลง ครั้นแก้ลงหยุดแล้วกลับให้สอึก แล้วผุดขึ้นทั้งตัวดังปานดำปานแดง แลให้ร้อนทุรนทุราย กระทำให้เปนต่างๆ เมื่อจะตายนั้น ให้ลงเปนโลหิตสดๆ ออกมา วัน ๑ กับคืน ๑ ก็ตาย
อันว่าลักษณะกาฬพิศม์นั้น มีอาการกระทำให้ลงดังน้ำล้างเนื้อแลน้ำเหลือง เหม็นดังซากอศุภอันเหน้าโทรม แลให้หอบกระหายน้ำเปนกำลัง ให้กลุ้มอกกลุ้มใจดุจคนพิกลจริต เพราะว่ากาฬนั้นจับเอาหัวใจหัวตับ ถ้าบุคคลผู้ใดเปนดังนี้ ร้อยคนจะรอดสักคนหนึ่งก็เปนอันยาก
อันว่าลักษณะกาฬสิงคลีนั้น คือกาฬตั้งขึ้นที่หัวดี จึงกระทำให้ดีล้นดีแตก แล้วให้หน้า, ตา, ตัว, มือ, เท้า, เหลือง, ทั้งอุจจาระปัสสาวะก็เหลือง แลให้เหลืองทั้งกระดูก แล้วก็แปรไปเปนต่างๆ ถ้าอาการเกิดขึ้นเปนดังนี้กำหนด ๓ วันผู้นั้นจะตาย เมื่อจะตายนั้นให้ผุดลุกทลึ่งโจนไปก่อนจึงตาย
อันว่าลักษณะกาฬสูตร์นั้น มีโทษ ๓ ประการคืออยู่ดีๆ ก็ให้ลงดังน้ำคร่ำออกมาก่อน เหม็นดังกลิ่นดินปืน แล้วให้อยากน้ำเปนกำลังนัก ครั้นกินเข้าไปเหมือนกินยารุ ให้ลงหนักไป แล้วให้เวียนไปทั้งตัว ให้เหงื่อออกดังเมล็ดเข้าโภชน์ แลให้อาเจียนเปนกำลัง จะแก้มิฟัง เพราะว่ารับประทานยาลงไปมิได้ ให้ตกออกเสียทางทวารหนักให้ลง ฝ่ายลมสุนทรวาตก็พัดกล้าขึ้น ให้แน่นในอกกดมิลงแล้วให้ท้องขึ้น ถ้าลงหยุดเมื่อใดก็จะถึงแก่ความมรณะเมื่อนั้น
อันว่าลักษณะกาฬมุดนั้น คือกาฬเกิดขึ้นแต่หทัย ให้ลงไป ๔ เวลา ๕ เวลา หรือ ๙ เวลา ๑๐ เวลาก็ดี ลงเปนโลหิตสดออกมาก่อนแล้วจึงลามมาถึงหัวตับ แลหัวตับนั้นขาดออกมาเปนลิ่มเปนแท่งดำดังถ่านไฟ อุจจาระดังมูลเทา ให้ระส่ำระสาย บางทีให้เชื่อมมึนให้มือเย็นเท้าเย็น ให้เคลิบเคลิ้มหาสติมิได้ คนสมมุติว่าผีเข้าสิงอยู่นั้นหามิได้ คือไข้หมู่นี้เองกระทำดุจผีจะกละเข้าสิง เพราะกาฬมุดเกิดแต่หัวใจลามกินมาถึงหัวตับ ให้ตกโลหิตแลตับจึงขาดออกมา ถ้ากินถึงปอดให้หอบเปนกำลัง ถ้ากินชายม้ามให้จับเปนเวลาให้กระหายน้ำ ถ้ากินถึงยอดอกแล้วเมื่อใด ลมอันชื่อว่า สุนทรวาต นั้นก็บังเกิดขึ้นสำหรับกัน ครั้นเมื่อจะสิ้นอายุแล้วก็กลับพัดกล้าขึ้น จึงกระทำให้สอึกแลหายใจกระทบสอื้น แผ่นเสมหะกำเนิดซึ่งตั้งอยู่ที่ยอดอุระมาแต่เมื่อคลอดได้ ๗ วันนั้น ก็กำเริบปะทะขึ้นไปกลัดที่ลำฅอ จึงกระทำให้ตามืดหาแววตามิได้ ให้ตาแข็งนั่งก้มหน้าอยู่มิได้แลดูหน้าคน ซึ่งแพทย์สมมุติว่าปีศาจ กระสือเข้าสิงอยู่นั้นหามิได้เลย คือกำลังแห่งโรคนั้นหากกระทำเอง อันว่าไข้กาฬมุดกินหัวใจ แลในตับดุจดังผีจะกละ จึงให้จิตรเสียไป แล้วจึงให้เปนต่างๆ อันว่ากาฬอติสารทั้ง ๕ ประการนี้บังเกิดขึ้นแก่ผู้ใด อาไศรยเพราะเหตุผู้นั้นจะสิ้นอายุ ให้แพทย์ทั้งหลายพึงรู้เถิด ถ้าแพทย์ผู้ใดจะรักษากุมารแลกุมารีก็ดีผู้ใหญ่ก็ดี ถ้ามิได้เรียนพระคัมภีร์อติสาร, มรณะญาณสูตร์, ธาตุบรรจบทั้ง ๓ คัมภีร์นี้ ประดุจหนึ่งบุคคลมีจักษุอันบอดมิได้เห็นความแห่งสัตว์ทั้งหลาย หลับจักษุรักษาไปแล้วจะได้จะเสียก็มิได้รู้ ถึงว่าแม่นยำอยู่ในคัมภีร์โรคนิทาน, ปฐมจินดา แลอภัยสันตาอยู่แล้วก็ดี แต่ที่จะได้จะเสียนั้นถ้ามิได้รู้ ก็เหมือนบุคคลอันมีจักษุบอด