ว่าด้วยลักษณครรภ

อาจาริเยน อันพระอาจาริยเจ้า จะกล่าวพระคัมภีร์ประฐมจินดานี้ ซึ่งท่านคัดออกมาจากคัมภีร์โรคนิทานโน้นต่อไป ให้แพทย์ทั้งหลายพึงรู้โดยสังเขปดังนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายเมื่อจะตั้งอนุโลมปฏิสนธินั้นพร้อมด้วยบิดามารดากับธาตุทั้ง ๔ ก็บริบูรณ์พร้อมคือปถวีธาตุ ๒๐ อาโปธาตุ ๑๒ เตโชธาตุ ๔ วาโยธาตุ ๖ ระคนกันเข้าคือเกิดเพราะโลหิตบิดามารดาระคนกัน มิได้วิปริตจึ่งบังเกิดขึ้นด้วยธาตุน้ำ คือต่อมโลหิตแห่งมารดา ก็ให้บังเกิดตั้งขึ้นเปนอนุโลมปฏิสนธินั้น ในเมื่อสัตว์จะปฏิสนธินั้นท่านกล่าวไว้ว่า สุขุมังปะระมานู ละเอียดนักเปรียบด้วยขนทรายจามรีเส้น ๑ เอามาชุบน้ำมันงาที่ใสนั้น แล้วเอามาสสัดเสียให้ได้ ๗ ครั้ง แต่ยังติดอยู่ที่ปลายขนทรายจามรีมากน้อยเท่าใด อันมูลปฏิสนธิแห่งสัตว์ทั้งหลายสุขุมเลอียดดุจนั้น แต่ตั้งขึ้นในครรภ์มารดาแล้วละลายไปได้วันละ ๗ ครั้ง กว่าจะตั้งขึ้นได้เปนอันยากนัก ครั้นโลหิตตั้งขึ้นได้แล้วอยู่ ๗ วัน ก็บังเกิดเปนประฐมกะละละนั้นเรียกว่าไชยเภท คือมีฤดูล้างหน้าที ๑ ถ้ามิดังนั้นก็ให้มารดาฝันเห็นวิปริต ก็รู้ว่าครรภ์ตั้ง แลครรภ์ตั้งขึ้นแล้วมิได้วิปริตครบ ๗ วันก็ข้นเข้าดังน้ำล้างเนื้อ เมื่อไปอิก ๗ วันเปนชิ้นเนื้อ ไปอิก ๗ วันเปนสันฐานดังลูกไข่ ไปอิก ๗ วันก็แตกออกเปนปัญจะสาขา ๕ แห่ง คือศีศะ ๑ มือ ๒ เท้า ๒ จึ่งเปน ๕ ไปอิก ๗ วันก็เกิด เกษา โลมา นขา ทันตา ลำดับกันไปดังนี้ ในขณะเมื่อครรภ์ตั้งขึ้นได้เดือนหนึ่งกับ ๑๒ วันนั้น โลหิตจึ่งบังเกิดเวียนเข้าเปนตานกยุง ที่หัวใจเปนเครื่องรับดวงจิตรวิญญาณ ถ้าหญิงเวียนซ้าย ถ้าชายเวียนขวา แต่มิได้ปรากฎออกมา ครั้นเมื่อครรภ์ถ้วนไตรมาศแล้ว โลหิตนั้นก็แตกออกไปตามปัญจะสาขา เมื่อได้ ๔ เดือนจึ่งตั้งอาการ ๓๒ นั้น จึ่งบังเกิดตาแลหน้าผากก่อน สิ่งทั้งปวงจึ่งบังเกิดเปนอันดับกันไป เมื่อครรภ์ได้ ๕ เดือนจึ่งมีจิตรแลเบ็ญจขันธ์พร้อมรูปักขันโธ เมื่อตั้งเปนรูปคนเข้าแล้ว วิญญาณักขันโธ ก็ให้มีวิญญาณขันธ์รู้จักร้อนแลเย็น ถ้าแลมารดาบริโภคอาหารที่เผ็ดร้อนเข้าไปเมื่อใด ก็ให้ร้อนทุรนทุรายดิ้นเสือกไปมา เวทนากขันโธ เวทนาขันธ์ก็บังเกิดขึ้นตามกัน คือที่อยู่ในท้องของมารดานั้นลำบากทนทุกขเวทนาดุจสัตว์ในนรก คือนั่งยองกอดเข่าเอากำมือไว้ใต้คาง ผินหน้าเข้าสู่กระดูกสันหลังของมารดา ผินหลังออกข้างนาภี เหมือนดังลูกวานรอันนั่งอยู่ในโพรงไม้นั้น นั่งทับกระเพาะอาหารเก่า อาหารใหม่ตั้งอยู่บนศีศะ แลน้ำอาหารนั่นก็เกรอะทราบลงไปทางกระหม่อม เพราะว่าทารกอยู่ในครรภ์นั้นกระหม่อมเปิด ครั้นมารดาบริโภคสิ่งอันใดที่ควรเข้าไปได้แล้ว ก็ซึมทราบออกจากกระเพาะเข้าก็เลื่อนลงไปในกระหม่อม ก็ได้รัปทานอาหารของมารดาก็ชุ่มชื่นชูกำลังเปนปรกติ ถ้ามารดามิได้บริโภคอาหารแลรศอาหารมิได้ทราบลงไป ทารกนั้นก็มิได้รับรศอาหาร จึ่งทุรนทุรายกระวนกระวายระส่ำระสายดิ้นรนต่าง ๆ อันนี้ก็มีแจ้งอยู่ในพระคัมภีร์จตุราริยสัจโน้นแล้ว ในคัมภีร์ประฐมจินดานี้ พระอาจาริย์เจ้าท่านกล่าวไว้พอเปนใจความ แต่พึ่งรู้ แพทย์ทั้งหลายจะได้สงเคราะห์ซึ่งโรคนั้น หนึ่งโสดเมื่อสัตว์จะปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้นกล่าวนิมิตร์ว่า ถ้ามารดาอยากมัจฉมังษาเนื้อปลาแลสิ่งของเปนสิ่งอันคาว ท่านว่าสัตว์นรกมาปฏิสนธิ ถ้าแลมารดาอยากสิ่งอันเปรี้ยวแลขม ท่านว่ามาแต่มาป่าหิมพานต์มาปฏิสนธิ ถ้าแลมารดาอยากน้ำผึ้งน้ำอ้อยน้ำตาล ท่านว่ามาแต่สวรรค์ ลงมาเอากำเนิดเปนมนุษย์ ถ้าแลมารดาอยากสรรพผลไม้ทั้งปวง ท่านว่ามาแต่ติรัจฉานมาปติสนธิ ถ้าแลมารดาอยากกินดิน ท่านว่ามาแต่พรหมลงมาปฏิสนธิ ถ้าแลมารดาอยากกินสิ่งที่เผ็ดแลร้อน ท่านว่ามาแต่มนุษย์มาปฏิสนธิ เมื่อมารดาอยากของดังกล่าวมานี้ ก็เปนธรรมดาโลกยวิไสย อันจะให้ทารกอยู่ในครรภ์นั้นบังเกิดโรคแลพยาธิต่างๆ ข้อหนึ่งเมื่อกุมารแลกุมารีนั้นเจริญพร้อมด้วยอินทรีย์แลเบ็ญจขันธ์แล้ว อาการ ๓๒ ก็บริบูรณ์ด้วย เมื่อเบ็ญจขันธ์แลอินทรีย์อาการ ๓๒ พร้อมบริบูรณ์แล้วเมื่อใด จิตรจึ่งคิดว่ามารดาของอาตมนี้ประกอบไปด้วยความกรุณา อุส่าห์บำรุงรักษาอาตมนี้ก็มีคุณหาที่สุดมิได้ เมื่อใดอาตมะจะได้ออกไปจากครรภ์มารดา อาตมะจะได้แทนคุณมารดาของอาตมะ อันนี้ก็เปนธรรมดาประเพณีแห่งพระบรมโพธิสัตว์แต่ปางก่อนโน้น พระคำภีร์ปะฐมจินดาผูก ๑ บริเฉท ๒ ว่าด้วยลักษณครรภ์วารกำเนิด ครรภรักษา ครรภ์วิปลาศ ครรภ์บริมณฑล ครรภ์ประสูตร จบบริบูรณ์โดยสังเขปเท่านี้

(จบปริเฉท ๑ เท่านี้)

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ