ว่าด้วยสมุฏฐาน

จะสำแดงสมุฏฐาน กำหนดการที่เกิดไข้ ท่านตั้งไว้ประการสี่ ตามคำภีร์คิริมานนท์ ให้นรชนพึงรู้ สังเกตดูเพลาการ วันหนึ่งท่านแบ่งสี่ยาม คืนหนึ่งตามยามมีสี่ กลางวันมีโมงสิบสอง กลางคืนร้องเรียกว่าทุ่ม แม้นประชุมทุ่มเข้าสาม เรียกว่ายามเหมือนกัน ถ้ากลางวันสามโมงเล่า ท่านนับเข้าว่ายามหนึ่ง ขอท่านพึงกำหนดเถิด ยามเช้าเกิดแต่เสมหัง ยามสองตั้งด้วยโลหิต ยามสามติดเพื่อดี ตกยามสี่เพื่อวาตา ครั้นเพลาพลบค่ำ ยามหนึ่งทำด้วยกองลม ยามสองระดมดีซึมทราบ ยามสามอาบด้วยโลหิต ยามสี่ชิดด้วยเสมหะ สมุฏฐานะดังกล่าวมา จงวางยาแทรกกระสาย เสมหะร้ายแทรกด้วยเกลือ น้ำนมเสือใส่ประกอบ โลหิตชอบกระสายเปรี้ยว ดีสิ่งเดียวชอบรศขม ฝ่ายข้างลมชอบเผ็ดร้อน แพทย์จงผ่อนตามเวลา กระสายยาแรกพลันหาย จะภิปรายในเรื่องรศ เปรี้ยวปรากฎเคยสำเหนียก ส้มมะขามเปียกฝักส้มป่อย เปรี้ยวอร่อยน้ำส้มซ่า ขมธรรมดาบรเพ็ชกระดอม ขมเปนจอมดีงูเหลือม เผ็ดพอเอื้อมขิงดีปลี ภิมเสนมีให้ใส่แทรก อนึ่งเค็มแปลกนอกจากเกลือ รู้ไว้เผื่อแก้ไม่หยุด มูตร์มนุษย์เปลือกลำภู สองสิ่งรู้เถิดเค็มกร่อย อ่านบ่อยๆ ให้จำได้ จะได้ใช้แทรกจูงยา ในตำราป่วงแปดประการ ตามคัมภีร์โบราณ ซึ่งท่านแต่ก่อนกล่าวเอย

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ