พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์

พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ เล่ม ๑ โดยสังเขป

(อหํ) อันว่าข้า (ชีวกโกมารภัจ์โจ) มีนามปรากฎว่าโกมารภัจแพทย์ (อภิวัน์ทิต๎วา) ถวายนมัศการแล้ว (พุ, ธ, สํ,) ซึ่งพระคุณแก้วทั้ง ๓ ประการ (เสฐ์ฐํ) อันประเสริฐโดยวิเศษ (เทวิน์ทํ) อันเปนใหญ่แลเปนที่เคารพย์ของเทพยดาทั้งหลาย (กิต์ตยิส์สามิ) จักตกแต่งไว้ (คัน์ถํ) ซึ่งคัมภีร์แพทย์ (โรคนิทานํ) ชื่อว่าโรคนิทาน (ปมุขํ) จำเภาะหน้า (อิสิสิท์ธิโน) แห่งครูชื่อว่าฤๅษีสิทธิดาบศ (นาถัตถํ) เพื่อจะให้เปนที่พึ่ง (โลกัส์ส) แก่สัตวโลกย์ทั้งปวงคือแพทย์แลคนไข้ (อิติ) คือว่า (อิมินาปกาเรน) ด้วยประการดังนี้ พระอาจาริย์เจ้าจึงชักเอาพระบาฬีในคัมภีร์พระบรมัตถธรรมมาว่า ซึ่งบุคคลจะถึงแก่ความตายสิ้นอายุนั้น เทวทูตในธาตุทั้ง ๔ มีพรรณ์สำแดงออกให้แจ้งปรากฎโดยมโนทวารวิถีอินทรีย์ประสาททั้งปวง แลธาตุอันใดจะขาดจะหย่อนจะพิการอันตรธานประการใดๆก็ดี มีแจ้งอยู่ในคัมภีร์มรณญาณสูตร์นั้นแล้ว แต่ถึงกระนั้นต้องอาไศรยธาตุเปนหลักเปนประธาน ลักษณะคนตายด้วยบุราณโรคนั้น เทวทูตทั้ง ๔ ก็หากจะแสดงออกให้แจ้งดังกล่าวมานั้น ลักษณะคนตายด้วยปัจจุบันกรรมนั้นก็มีอยู่ต่างๆ ถึงดังนั้นก็จริง เทวทูตมหัศจรรย์ก็หากจะแสดงอยู่ แต่แพทย์ที่จะหยั่งรู้หยั่งเห็นเปนอันยากยิ่งนัก โกมารแพทย์ผู้ประเสริฐจึงนิพนธ์ลงไว้ในคัมภีร์โรคนิทาน ด้วยมนุษย์ทั้งหลายตายด้วยปิศาจแลไข้เพื่อโอปักกมิกาพาธ ท่านธทุบถองโบยตีบอบช้ำ แลต้องราชอาญาแห่งพระมหากระษัตร ให้พิฆาฎฆ่าเสียด้วยหอกดาบปืนไฟนั้นตายโดยเร็วโดยด่วน มิได้ตายเปนปรกติตายโดยลำดับขันธชวร แลธาตุทั้ง ๔ มิได้ล่วงเปนลำดับเลย อันว่าบุคคลตายโดยกำหนดสิ้นอายุปริโยสานเปนปรกตินั้น ธาตุทั้ง ๔ ก็อันตรธานสูญหายเปนลำดับกันไป คือ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ, แต่มิได้ขาดสูญหายพร้อมกันทีเดียว ยอมจะสูญขาดไปแต่ทีละ ๒, ๓, ๔, ๕, สิ่ง ขาดถอยลงไปเปนลำดับจึงจะให้เปนเพศต่าง ๆ ก็มี คือว่าบุคคลเมื่อจะสิ้นอายุของตนนั้น ปถวีธาตุ ๒๐ ก็ย่อมจะขาดไป ๑๙ (หทยํ) หัวใจก็ยังอยู่ อาโปธาตุทั้ง ๑๒ ขาดไป ๑๑ (ปิต์ตํ) ดีก็ยังอยู่ วาโยธาตุ ๖ ขาดไป ๕ (อัส์สาสปัส์สาโส) ลมหายใจเข้าออกก็ยังอยู่ เตโชธาตุ ๔ ขาดไป ๓ (สัน์ตัป์ปัค์คิ) ไฟธาตุอบอุ่นกายก็ยังอยู่ ถ้าว่าธาตุทั้งหลายขาดสูญสิ้นพร้อมกันดังกล่าวมานี้ท่านย่อมตัดอาการว่า แพทย์ผู้ใดจะเยียวยารักษาสืบไปมิได้เลย ถ้าธาตุทั้ง ๔ จะขาดจะหย่อนไปแต่ ๑, ๒, ๓, สิ่งดังนั้น ยังจะพยาบาลได้ ให้แพทย์พิจารณาดูดังกล่าวมานั้นเถิด

พระอาจาริย์เจ้ากล่าวไว้ในคัมภีร์แพทย์ ว่าด้วยธาตุพิการคือตามธรรมดาโลกนิยมปึหนึ่ง ๑๒ เดือนเปน ๓ ฤดู แต่ในคัมภีร์แพทย์นี้ท่านจัดเปน ๔ ฤดู ฤดูหนึ่ง ๓ เดือน คือเดือน ๕, ๖, ๗, ทั้ง ๓ เดือนนี้ว่าด้วยเตโชธาตุ ชื่อว่า “สันตัปปัคคิพิการ” ให้เย็นในอกให้วิงเวียนในอก มักให้กินอาหารถอย ถ้าบริโภคอาหารอิ่มมักให้จุกเสียดขัดในอก อาหารมักพลันแหลก มิได้อยู่ท้อง ให้อยากบ่อยๆ จึงให้เกิดลม ๖ จำพวก ๆ หนึ่งชื่อ “อุทรันตวาด” พัดแต่สดือถึงลำฅอ จำพวกหนึ่งชื่อ “อุรปักขรันตวาด” พัดให้ขัดแต่อกถึงลำฅอ จำพวกหนึ่งชื่อ “อัสสาสะวาต” พัดให้นาสิกตึง จำพวกหนึ่งชื่อ “ปัสสาสะวาต” พัดให้หายใจขัดอก จำพวกหนึ่งชื่อ “อนุวาต” พัดให้หายใจขัดไป คือว่าเปนลมจับให้นิ่งไป จำพวกหนึ่งชื่อ “มะหะสะกะวาต” คือลมมหาสดมภ์ แลลม ๖ ประการนี้เกิดเพื่อเตโชธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยาชื่อกาลาธิจร เอาโกฐสอ ๑ โกฐพุงปลา ๑ ดีปลี ๑ หัวแห้วหมู ๑ เปลือกมูกมัน ๑ ผลผักชี ๑ อบเชย ๑ สะค้าน ๑ ขิง ๑ ผลเอ็น ๑ อำพัน ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน ตำให้เปนผงละลายน้ำร้อนแลน้ำผึ้งก็ได้ กินแก้เตโชธาตุพิการ

เดือน ๘, ๙, ๑๐, ทั้ง ๓ เดือนนี้ ว่าด้วยวาโยธาตุชื่อ “ชรัคคิ” พิการ ให้ผอมเหลือง ให้เมื่อยทุกข้อทุกลำทั่วสรรพางค์กาย ให้แดกขึ้นแดกลง ให้ลั่นโครกๆ ให้หาวเรอวิงเวียนหน้าตา หูหนัก มักให้ร้อนในอกในใจ ให้ระทดระทวย ย่อมให้หายใจสั้น ย่อมให้เหม็นปากแลให้หวานปาก มักให้โลหิตออกทางจมูกทางปาก กินอาหารไม่รู้จักรศ คือวาโยธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยาชื่อฤทธิจร เอาดีปลี ๑ แฝกหอม ๑ เปราะหอม ๑ พริกไทย ๑ หัวแห้วหมู ๑ ว่านน้ำ ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน รากกระเทียมเท่ายาทั้งหลาย ตำเปนผงละลายน้ำร้อนหรือน้ำผึ้งก็ได้ กินแก้วาโยธาตุพิการหายแล

เดือน ๑๑, ๑๒, ๑, ทั้ง ๓ เดือนนี้ มักกินอาหารผิดสำแลงอาโปธาตุพิการ ดีพิการมักให้ขึ้งโกรธ มักให้สดุ้งตกใจให้หวาด เสมหะพิการกินอาหารไม่รู้จักรศ หนองพิการมักให้ไอเปนโลหิต. โลหิตพิการมักให้เพ้อพกให้ร้อน. เหงื่อพิการมักให้ซูบผอม มันข้นพิการมักให้ปวดศีศะให้เจ็บตาให้ขาสั่นไป. น้ำตาพิการ มักให้ตามัวแลน้ำตาตกนักแล้วแห้งไป ดวงตานั้นเปนดังเยื่อลำไย. น้ำมันเหลวพิการให้แล่นออกทั่วตัว ให้ในตาเหลือง ตัวเหลือง มูตร์แลคูธเหลือง ลางทีให้ลง ให้อาเจียน กลายเปนป่วงลม. น้ำลายพิการให้ปากเปื่อยฅอเปื่อย ลางทีให้เปนยอดเปนเม็ดขึ้นในฅอ ลางทีเปนไข้มักให้ปากแห้งฅอแห้ง. น้ำมูกพิการให้ปวดศีศะเปนหวัดให้ปวดสมอง ให้น้ำมูกตกในตามัวให้วิงเวียนศีศะ. ไขข้อพิการ ให้เมื่อยทุกข้อทุกกระดูก ให้ขัดให้ตึงทุกข้อ. มูตร์พิการ ให้ปัสสาวะแดงแลขัดปัสสาวะ ๆ เปนโลหิต เจ็บปวดเปนกำลัง. ธาตุน้ำ ๑๒ จำพวกนี้ ประมวนเข้าด้วยกันชื่อว่าอาโปธาตุ ถ้าจะแก้ เอารากเจ็ตมูลเพลิง ๑ โกฐสอ ๑ ลูกผักชี ๑ ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ ลูกมะตูมอ่อน ๑ สะค้าน ๑ หัวแห้วหมู ๑ ลูกพิลังกาสา ๑ รากคัดเค้า ๑ เปลือกมูกมัน ๑ จันทน์ทั้ง ๒ สมุลแว้ง ๑ กกลังกา ๑ ดอกพิกุล ๑ ดอกบุนนาก ๑ ดอกสาระภี ๑ เกสรบัวหลวง ๑ รากขัดมอน ๑ เอาส่วนเท่ากันต้ม ๓ เอา ๑ กินแก้อาโปธาตุพิการหายแล

เดือน ๒, ๓, ๔, ไข้ใน ๓ เดือนนี้ นอนผิดเวลา ปถวีธาตุกำเริบตั้งแต่เกสา, คือผมพิการ ให้เจ็บรากผมให้คันศีศะๆ มักหงอก มักเปนรังแค, ให้เจ็บหนังศีศะเปนกำลัง. ขนพิการให้เจ็บทั่วสรรพางค์ทุกขุมขน ให้ขนลุกขนพองทั้งตัว. เล็บพิการให้เจ็บต้นเล็บ ให้เล็บเขียวเล็บดำช้ำโลหิต เจ็บเสียวๆ นิ้วมือ นิ้วเท้า ฟันพิการให้เจ็บไรฟัน ลางทีให้เปนรัมนาด บางทีให้เปนโลหิตออกตามไรฟัน ให้ฟันหลุดฟันคลอน. หนังพิการมักให้ร้อนผิวหนังทั่วสรรพางค์กาย บางทีให้เปนผื่นขึ้นทั้งตัวดุจหัวผด ให้ปวดแสบปวดร้อนเปนกำลัง. เนื้อพิการมักให้นอนสดุ้งไม่สมปฤดี นอนหลับไม่สนิท มักให้ฟกบวมขึ้น บางทีผุดขึ้นเปนสีแดงสีเขียวทั้งตัว บางทีเปนลมพิศม์ สมมุติว่าเปนประดงเปนเหือดเปนหัดต่างๆ. เอ็นพิการ ให้จับสบัดร้อนสบัดหนาว ให้ปวดศีศะเปนกำลัง ท่านเรียกว่าอำมพฤกกำเริบแล. กระดูกพิการ ให้เมื่อยในข้อในกระดูก. สมองกระดูกพิการให้ปวดศีศะเปนกำลัง. ม้ามพิการให้ม้ามหย่อนมักเปนป้างแล หัวใจพิการให้คลั่งไคล้ดุจเปนบ้า ถ้ามิดังนั้นให้หิวโหยหาแรงมิได้ ให้ทุรนทุรายยิ่งนัก ตับพิการ ให้ตับโตตับทรุด มักเปนฝีในตับ กาฬขึ้นในตับ พังผืดพิการ ให้เจ็บให้จุกเสียด ให้อาเจียน ให้แดกขึ้นแดกลง กลายเปนลม พุงพิการให้ปวดท้องแลแดกขึ้นแดกลง ปวดขัดเปนกำลัง. ปอดพิการให้เจ็บปอดให้เปนพิศม์ ให้กระหายน้ำเปนกำลัง กินน้ำจนปอดลอยจึงหายอยาก ไส้น้อยพิการให้สอึกให้หาวให้เรอ. ไส้ใหญ่พิการให้พะอืดพะอม ให้ท้องขึ้นท้องพอง มักเปนท้องมานลมกระสาย บางทีให้ลงท้องตกมูกตกโลหิต ให้เปนไปต่างๆ แล. อาหารใหม่พิการให้ลงแดงให้ราก มักเปนป่วง ๗ จำพวก. อาหารเก่าพิการ กินอาหารไม่มีรศ เปนต้นที่จะให้เกิดโรคต่าง ๆ เพราะอาหารผิดสำแลง. สมองศีศะเมื่ออยู่ดีเปนปรกตินั้น สมองศีศะเราท่านทั้งปวงนี้พร่องจากกระบาลศีศะประมาณเส้นตอกใหญ่ๆ ถ้าเจ็บปวดพิการไซ้ มันในสมองนั้นก็เดือดขึ้นเต็มกระบาลศีศะ ให้ปวดศีศะเปนกำลัง แก้มิฟังให้ไนยตาแดงให้คลั่งเรียกว่าสันนิบาต ต่อเมื่อใดได้สุมยาเปนสุขุมมันในสมองยุบลงเปนปรกติแล้วจึงหายปวดศีศะ แลปถวีธาตุ ๒๐ ประการซึ่งกล่าวมานี้ ใช้ยาอันเดียวตลอดกันสิ้น (๑) คือ ยาชื่อตรีชวาสังข์ แก้ปถวีธาตุพิการ คือ สมอง, กระดูก, ม้าม, ให้เอากระเทียม ๑ ใบสเดา ๑ ใบคนทีสอ ๑ เปลือกตีนเป็ด ๑ เบ็ญจกูล ๕ จันทน์ทั้ง ๒ สมอทั้ง ๓ ลูกจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ ตรีกฏุก ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ ส่วน เปลือกกันเกรา ๒ ส่วน เปลือกสมุลแว้ง ๓ ส่วน ตำเปนผงละลายน้ำผึ้งกินแก้ปถวี ๒๐ ประการแล (๒) ขนานหนึ่งแก้ปถวีธาตุพิการ ทั้ง ๓ ประการ คือ พังผืด ๑ พุง ๑ ปอด ๑ พิการ ให้เอาหัวแห้วหมู ๑ แฝกหอม ๑ ใบสเดา ๑ หญ้าตีนนก ๑ การะบูน ๑ กานพลู ๑ ลูกจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ เปราะหอม ๑ โกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ ดอกบุนนาก ๑ จันทน์ทั้ง ๒ ดอกกรุงเขมา ๑ ลูกผักชี ๑ ดอกผักปอด ๑ เนระภูสี ๑ ลูกเอ็น ๑ ดีงูเหลือม ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดปั้นเปนแท่งละลายน้ำดอกไม้แซกชมดพิมเสน น้ำจันทน์ทั้ง ๒ กินแก้ปถวีธาตุ ๓ ประการหายแล (๓) ขนานหนึ่งแก้ปถวีธาตุ ๓ ประการ คือ ม้าม, หัวใจ, ตับ, พิการ ให้เอาชมด ๑ พิมเสน ๑ ดอกกรุงเขมา ๑ ลูกเอ็น ๑ ฤๅษีประสมแล้ว ๑ เปลือกตีนเป็ด ๑ ใบสเดา ๑ ใบเสนียด ๑ อบเชย ๑ หญ้าตีนนก ๑ สมอทั้ง ๓ มขามป้อม ๑ ลำพัน ๑ โกฐสอ ๑ ใบกระวาน ๑ ดอกบุนนาก ๑ เปราะหอม ๑ ดอกผักปอด ๑ เกสรบัวทั้ง ๕ ดอกคำไทย ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดเปนแท่งละลายน้ำจันทน์ กินแก้ปถวีธาตุ ๓ ประการหายแล (๔) ขนานหนึ่งแก้ปถวีธาตุ ๘ ประการ คือ ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, กระดูก, เอ็น, พิการ ให้เอาใบรัก ๑ บรเพ็ด ๑ หัวแห้วหมู ๑ ชิรากากี ๑ ลูกมะตูมอ่อน ๑ เกลือสินเธาว์ ๑ กะเทียม ๑ แฝกหอม ๑ กกลังกา ๑ ชเอมเทศ ๑ โกฐสอ ๑ โกฐก้านพร้าว ๑ ตรีกะฏุก ๑ เปลือกต้นตีนเป็ด ๑ สมอ ๑ ใบเดา ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน ทำเปนผงละลายน้ำผึ้งกินเท่าผลพุดทรากินเช้ากินเย็น แก้ปถวีธาตุ ๘ จำพวกอันกำเริบดังกล่าวมานั้นหายสิ้นแล (๕) ขนานหนึ่งปถวีธาตุ ๒ ประการ คือไส้ใหญ่ไส้น้อยพิการ ให้เอาใบสเดา ๑ ใบเสนียด ๑ เจ็ตมูลเพลิง ๑ เปลือกมูกมัน ๑ หัวแห้วหมู ๑ โกฐพุงปลา ๑ ลูกผักชี ๑ สมอไทย ๑ สมอพิเภก ๑ มขามป้อม ๑ รากตองแตก ๑ แฝกหอม ๑ บรเพ็ด ๑ ลูกกระดอม ๑ กระถินแดง ๑ ขิงแห้ง ๑ ไคร้เครือ ๑ หญ้าตีนนก ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากันต้มด้วยน้ามะงั่ว น้ำสุราก็ได้ น้ำท่าก็ได้ เมื่อจะกินปรุงขันทศกรลงกิน แก้ไข้ตรีโทษในปถวีธาตุ ๒ ประการหายแล (๖) ขนานหนึ่งแก้ปถวีธาตุ ๒ ประการ คืออาหารเก่าอาหารใหม่พิการ ให้เอาเปลือกหอยขม ๑ เปลือกหอยแครง ๑ ผักแพวแดง ๑ ลูกจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ การะบูร ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน พริกล่อนเท่ายาทั้งหลาย ตำผงละลายน้ำผึ้งกินแก้ปถวีธาตุ ๒ ประการ คืออาหารเก่าอาหารใหม่หายแล (๗) ขนานหนึ่งแก้ปถวีธาตุ คือเยื่อในสมองพิการ ให้เอาสะค้าน ๑ ชาพลู ๑ เจ็ตมูลเพลิง ๑ ขิงแห้ง ๑ ลูกมะตูมอ่อน ๑ ลูกสมอไทย ๑ ลูกสมอพิเภก ๑ ลูกสมอเทศ ๑ ลูกผักชี ๑ กฤษณา ๑ จันทน์เทศ ๑ ผลมขามป้อม ๑ ลูกพิลังกาสา ๑ หัวแห้วหมู ๑ รากขัดมอน ๑ กกลังกา ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท ดีปลี ๑ บาท บรเพ็ด ๒ บาท ต้มกินแก้ปถวีธาตุ คือเยื่อในสมองกำเริบเมื่อเหมันตฤดูหายแล (๘) ยาแก้ปวดศีศะ ให้เอาชะเอมทั้ง ๒ ชมด ๑ พิมเสน ๑ อบเชยเทศ ๑ จันทน์เทศ ๑ เปลือกคนทา ๑ โกฐสอ ๑ ใบสมี ๑ ลูกผักชี ๑ ขิง ๑ เอาส่วนเท่ากัน ทำเปนผงเลอียด นัดถุ์แก้ปวดศีศะเพื่อเยื่อในสมองพิการหายแล แล้วจึงแต่งยาสุมสำหรับกัน ให้เอาผักหนอก ๑ ขิงสดแต่น้อย ๑ เอาหอม ๕ หัว เทียนดำ ๑ ดินประสิวขาว ๑ บดสุมศีศะเมื่อน่าหนาวดีนักแล ในคิมหะฤดูคือน่าร้อน ให้เอาใบเสนียด ๑ งาเม็ด ๑ เทียนดำ ๑ ดินประสิวขาว ๑ บดสุมกระหม่อม ให้สมองยุบหายเร็ว ทั้งแก้ปวดโลหิตซึ่งตกทางจมูกแลไรฟันแลอาเจียนโลหิตหายแล ได้ทำมาแล้วอย่าสงไสยเลย เมื่อวสันตฤดูน่าฝน ให้เอาใบหญ้าน้ำดับไฟ ๑ เทียนดำ ๑ ไพล ๑ หัวหอม ๑ ดอกพิกุล ๑ ผักขวง ๑ ใบหางนกยูง ๑ ฆ้องสามย่าน ๑ ดินประสิวขาว ๑ บดสุมแก้ปวดศีศะจมูกตึงหายแล

จบลักษณะธาตุทั้ง ๔ พิการตามฤดูโดยสังเขปแต่เท่านี้

----------------------------

บัดนี้จักแสดงซึ่งเตโชธาตุแลวาโยธาตุพิการต่อไป จะว่าด้วยเตโชธาตุก่อน อันว่าลักษณะเตโชธาตุชื่อว่า “ปรินามัคคี” พิการนั้น คือ (๑) ให้ร้อนในอกในใจ (๒) ให้บวมมือแลเท้า (๓) ให้ไอเปนมองคร่อ (๔) ให้ท้องขึ้นท้องพองให้ผะอืดผะอม ถ้าจะแก้ให้เอา ผักแพวแดง ๑ โกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ ชะเอมเทศ ๑ มะขามป้อม ๑ ตะไคร้ต้น ๑ เปราะหอม ๑ รากสวาด ๑ หญ้ารังกา ๑ เอาส่วนเท่ากันตำเปนผงละลายน้ำนมโคก็ได้ น้ำร้อนก็ได้ แก้เตโชธาตุชื่อว่าปรินามัคคีแตกหายแล

เตโชธาตุชื่อว่า “ปริทัยหัคคี” พิการนั้น คือให้มือแลเท้าเย็นชีพจรไม่เดิน ประการหนึ่งชีพจรขาดหลัก ๑ ก็ดี ๒ หลักก็ดี บางทีให้เย็นเปนน้ำ แต่ภายในร้อนให้รดน้ำมิได้ขาด บางทีให้เย็น แล้วให้เหงื่อตกเปนดังเมล็ดเข้าโภช ถ้าจะแก้ให้เอาเขากระบือเผือกเผาไฟ ๑ นอแรด ๑ เปลือกหอยขม ๑ เปลือกหอยแครง ๑ เขี้ยวจรเข้ ๑ หวายตะมอยหรือหวายตะค้าก็ได้ ๑ ยาทั้งนี้เผาไฟ แก่นแสมทเล ๑ ลูกจันทน์ ๑ หัวแห้วหมู ๑ รากขัดมอน ๑ ยาท้งนี้เอาสิ่งละส่วน เอากะเทียม ๓ ส่วน พริกไทย ๕ ส่วน ตำเปนผงละลายน้ำร้อนแซกพิมเสนกินขับไฟธาตุ ให้ร้อนตลอดจนปลายมือปลายเท้า ชีพจรเดินได้ตลอดแล ขนานหนึ่งแก้เสโทพิการ คือเหงื่อตกนัก ให้ตัดเอาต้นนางกุมรุ่นๆ นั้นมาปอกเปลือกเสียแล้วจึงขูดเอาเยื่อที่ติดกระดูกนั้น ๑ ลูกถั่วภูขั้ว ๑ แป้งเหล้า ๑ ดินสอพอง ๑ เทียนดำ ๑ พิมเสนแชกให้มาก ประสมกันเข้ากวนให้ละเอียดแล้วทาตัวคนไข้เหงื่อหยุดตัวก็ร้อนออกมาแล ขนานหนึ่งแก้กระหายน้ำให้ร้อนภายในแลให้หอบ ท่านให้เอาสังข์หนามเผาไฟ ๑ รากบัวหลวง ๑ ฝุ่นจีน ๑ รังหมาล่าเผาไฟ ๑ ชาดก้อน ๑ ดอกพิกุล ๑ ดอกสาระภี ๑ ดอกบุนนาก ๑ เกสรบัวหลวง ๑ การะบูน ๑ รากสลอดน้ำ ๑ รากคันทรง ๑ ก้ามปูทเลเผาไฟ ๑ ดินประสิวขาว ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดเปนแท่งละลายน้ำดอกไม้สด ทั้งกินทั้งพ่นแก้ร้อนแก้ระหายน้ำ เสโทตกก็หายแล ตำราหนึ่งแปลกเข้ามา ดอกบุนนาก ๑ รากคันทรง ๑

อนึ่งเตโชธาตุชื่อว่า “ชรัคคี” คือมัจจุราชนั้นใช้มาประเล้าประโลมฝูงสัตว์ทั้งหลายคือชายหญิงทั้งปวง เมื่อชีวิตรจะออกจากร่างกายแห่งตนนั้น วิปริตไปต่างๆ คือให้หน้าผากตึง ไนยตาแลดูไม่รู้จักอะไรแล้วกลับมาเล่า หูตึงแล้วกลับไปได้ยินมาเล่า จมูกไม่รู้จักรศเหม็นแลหอมแล้วกลับมารู้จักรศเหม็นแลหอมเล่า ลิ้นไม่รู้จักรศอันใดเลยแล้วก็กลับมารู้จักรศอีกเล่า กายนั้นถูกต้องสิ่งใดๆ ก็ไม่รู้ศึกตัวก็กลับมารู้ศึกตัวอีกเล่า แต่แปรไปแปรมาดังนั้น จะเทียบลงมิได้ก่อน ด้วยว่านางชรานั้นไม่ไปทีเดียว แต่ว่าแตกร้าวทะลายอยู่แล้ว จึงได้ชื่อว่าชรัคคีนั้นแตกจึงเปนดังกล่าวมานี้แพทย์พึงรู้เถิด ถ้าจะแก้ท่านให้เอาบรเพ็ด ๑ ลูกพิลังกาสา ๑ ผักแพวแดง ๑ ลูกมูกมัน ๑ ใบย่างทราย ๑ เอาส่วนเท่ากันตำผงละลายน้ำผึ้งแซกเชือกเถามวกก็ได้ น้ำนมโคก็ได้ กินแก้เตโชชื่อว่าชรัคคีแตกแล

อันว่าเตโชธาตุชื่อว่า “สันตัปปัคคิ” นั้น ถ้าแตกแล้วเมื่อใด แพทย์ทั้งหลายจะแก้มิได้เลย ตายเปนอันเที่ยงแล

เตโชธาตุ ๔ จบแต่เท่านี้

ปุนจปรํ ทีนี้จะแสดงซึ่งวาโยธาตุ ๖ ต่อไปตามเรื่อง “อุทธํคมาวาตา” แตกนั้น คือให้ดิ้นรนมือแลเท้าขวักไขว่ ให้พลิกตัวไปๆ มาๆ ให้ทุรนทุรายให้หาวให้เรอบ่อยๆ ถ้าจะแก้ท่านให้เอา โกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ ลูกราชดัด ๑ ลูกสาระพัดพิศม์ ๑ ลูกมะแว้งทั้ง ๒ รากจิงจ้อทั้ง ๒ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ เทียนดำ ๑ เทียนขาว ๑ มหาหิงคุ์ ๑ เอาส่วนเท่ากัน ทำเปนผงละลายน้ำมะงั่วก็ได้ น้ำมะนาวก็ได้ น้ำนมโคก็ได้ กินแก้ลมอุทธังคมาวาตาแตกหายแล

อนึ่งลมอันชื่อว่า “อโทคมาวาต” เมื่อแตกนั้นให้ยกมือแลเท้ามิได้ ให้เมื่อยขบขัดทุกข้อทุกกระดูก ให้เจ็บปวดเปนกำลัง ถ้าจะแก้ท่านให้เอา เปลือกมูกหลวง ๑ พริกไทย ๑ ขิงแห้ง ๑ ใบสลอดกินลง ๑ ว่านน้ำ ๑ หัวแห้วหมู ๑ หญ้ารังกา ๑ ผักแพวแดง ๑ สมอไทย ๑ รากไคร้เครือ ๑ เอาส่วนเท่ากันทำเปนผงละลายมูตร์โคดำก็ได้ น้ำส้มซ่าก็ได้ กินแก้ลมชื่อว่าอโทคมาวาตาแตกหายแล

ลมชื่อว่า “กุจฉิสยาวาตา” แตกนั้นให้เจ็บท้อง ให้ท้องขึ้นท้องพอง ให้ลั่นอยู่จ๊อกๆ ให้เจ็บในอกให้สวิงสวาย ให้เจ็บแดกขึ้นแดกลง ถ้าจะแก้ให้เอา มหาหิงคุ์ ๑ ลำพันแดง ๑ ดีปลี ๑ เมล็ดในสวาด ๑ ลูกราชดัด ๑ ชเอมเทศ ๑ โกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ ใบย่างทราย ๑ กรุงเขมา ๑ เอาส่วนเท่ากันตำผงละลายน้ำผึ้งก็ได้น้ำร้อนก็ได้ กินแก้ลมชื่อว่ากุจฉิสยาวาตา หายแล

ลมชื่อว่า “โกฐฐาสยาวาตา” แตกนั้นให้เหม็นเข้า ให้อาเจียน ให้จุกอกให้เสียดแลแน่นน่าอก ถ้าจะแก้ให้เอาใบสลอดกินลงต้มด้วยน้ำเกลือผึ่งแดดให้แห้ง ๑ ชเอมเทศ ๑ เจ็ตมูลเพลิง ๑ รากตองแตก ๑ รากจิงจ้อใหญ่ ๑ ขิงแห้ง ๑ ลำพันแดง ๑ พริกไทยล่อน ๑ ใบหนาด ๑ การะบูน ๑ เอาส่วนเท่ากันตำผงละลายน้ำนมโคก็ได้ น้ำผึ้งก็ได้ น้ำร้อนก็ได้ น้ำมูตร์โคก็ได้ กินแก้ลมชื่อว่าโกฐฐสยาวาตาแตกหายแล

ลมชื่อว่า “อังคมังคานุสารีวาตา” คือลมพัดอยู่ทั่วสริระกาย ตั้งแต่กระหม่อมตลอดถึงปลายเท้าเปนที่สุด เมื่อแตกนั้นให้โสตรประสาทตึงคนเจรจามิได้ยิน แล้วก็ให้เปนหิ่งห้อยออกจากลูกตาให้เมื่อยมือแลเท้า เมื่อยแข้งขาทั้ง ๒ ข้างดังกระดูกจะแตก ให้ปวดในกระดูกสันหลังดังว่าเปนฝี ให้สบัดร้อนสบัดหนาว ให้คลื่นเหียนอาเจียนลมเปล่ากินอาหารไม่รู้จักรศ เปนดังนี้คือธาตุลมแตก ถ้าจะแก้ให้เอา ผักเป็ด ๑ ผักเสี้ยนผี ๑ ผักคราด ๑ หญ้ารังกา ๑ ลูกผักชีทั้ง ๒ เมล็ดผักกาด ๑ ดอกจงกลนี ๑ สะค้าน ๑ เมล็ดแตงโม ๑ เอาส่วนเท่ากันตำเปนผงละลายน้ำผึ้งก็ได้ น้ำร้อนก็ได้ น้ำสุราก็ได้ กินแก้วาโยธาตุอันชื่อว่าอังคมังคานุสารีวาตาแตกหายแล

ลมชื่อว่า “อัสสาสะบัสสาสะวาตา” นั้นจะได้แตกหามิได้ ลมอันนี้คือลมธาตุอันพัดให้หายใจเข้าแลออก ถ้าสิ้นลมหายใจเข้าแลออก หรือลมหายใจเข้าแลออกขาดแล้วเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น แสดงซึ่งวาโยธาตุโดยสังเขปจบแต่เท่านี้

บัดนี้จะแสดงซึ่งอาโปธาตุ ๑๒ ประการโดยวิถารใหม่เล่า ปิตตํ คือดี ถ้าพิการหรือแตก ทำให้คนผู้นั้นหาสติมิได้ โทษทั้งนี้เปนเพราะดีพิการ ให้แพทย์พึงรู้เถิด ถ้าจะแก้ให้เอาเทียนดำหนัก ๒ บาท เทียนตาตักแตนหนัก ๒ บาท เทียนเข้าเปลือกหนัก ๒ บาท เปลือกมะซางหนัก ๒ บาท เปลือกไข่เหน้าหนัก ๒ บาท เทพทาโรหนัก ๒ บาท แซกดีจรเข้ ๑ บดปั้นแท่งไว้ละลายน้ำดอกไม้แซกพิมเสน กินแก้ลมเพ้อพกคลั่งไคล้หายแล ขนานหนึ่งแก้ลงเอา ผลจันทน์ ๑ ผลเบ็ญจกานี ๑ เปลือกมะขามเกราะ ๑ ครั่ง ๑ เปลือกผลทับทิม ๑ เปลือกผลมังคุด ๑ กำยาน ๑ ผลตะบูน ๑ ฝิ่น ๑ เอาส่วนเท่าทันบดปั้นแท่งละลายน้ำเปลือกผลทับทิมกินแก้ลงหายแล

เสมหํ คือเสมหะพิการหรือแตก ให้สบัดร้อนสบัดหนาว ให้จับไข้เปนเวลา บางทีให้ลงเปนโลหิตเปนเสมหะเหน้า ให้ปวดมวน ถ้าจะแก้ให้เอาผลผักชีลา ๑ ลำพัน ๑ เปลือกมูกหลวง ๑ น้ำเต้าขม ๑ กระดอมทั้ง ๕ หนึ่ง แก่นขี้เหล็ก ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ ให้กินแก้จับเสียก่อนแล้วจึงแต่งยาแก้เสมหะต่อไปเถิด ถ้าจะแก้เสมหะพิการให้ต้มยาชำระเสียก่อน ท่านให้เอาใบมะขามกำมือ ๑ ใบส้มป่อยกำมือ ๑ ฝางเสนกำมือ ๑ เถาวัลย์เปรียงกอบ ๑ หัวแห้วหมู ๑ สมอไทยเท่าอายุ (คนป่วย) หอม ๗ หัวต้ม ๓ เอา ๑ แซกดีเกลือตามธาตุหนักธาตุเบา แล้วจึงให้กินยาแก้บิดทั้งปวงต่อไปเถิด ยาแก้บิด เปนเพื่อธาตุพิการท่านให้เอาผลมะม่วงกะล่อน ๑ ผลเบ็ญจกานี ๑ ผลจันทน์ ๑ ครั่ง ๑ ดินกิน ๑ เปลือกมะขามขบ ๑ เปลือกมังคุด ๑ เทียนดำ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ ยางตะเคียน ๑ น้ำประสานทอง ๑ สีเสียดทั้ง ๒ ผิวมะกรูด ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท ฝิ่น ๒ สลึง ตำเปนผงแล้วใส่เข้าในผลทับทิมแล้วเอาขี้วัวพอกชั้นหนึ่ง ดินพอกชั้นหนึ่ง สุมไฟแกลบให้สุกแล้วเอาดินออกเสีย บดผลทับทิมปั้นแท่งไว้ละลายด้วยน้ำไพลหรือน้ำปูนใสก็ได้ กินแก้ปวดมวนแก้โลหิตหรือเสมหเหน้าหายแล ถ้ายังมิหยุดท่านให้เอายาแก้ดีพิการนั้นมาแก้ก็ได้เหมือนกัน แล้วจึงแต่งยาบำรุงธาตุที่ชื่อว่าธาตุบัญจกให้กินเถิด

ถ้าจะทำยาธาตุบัญจก ท่านให้ถามตัวคนไข้ว่าเกิดวันใด เดือนใด ปีใด ข้างขึ้นหรือข้างแรม เขาบอกแล้วจึงพิจารณาดูว่าเปนฤดูธาตุอันใด ให้เอายาประจำฤดูธาตุอันนั้นตั้งไว้เปนประธาน แล้วให้คิดถอยหลังลงไปแล้วเอาวันแลเดือนฤดูมนุษย์ปฏิสนธินั้นวันใด เดือนใด ฤดูใด ธาตุอันใด ให้เอายาที่ประจำธาตุแลฤดูนั้นมาประสมกันเข้ากับยาประจำธาตุ เมื่อแรกประสูตร์นั้นเปนยา ๒ ขนาน แล้วจึ่งแซกจันทน์ทั้ง ๒ กฤษณา ๑ ชลูด ๑ ดอกพิกุล ๑ ดอกบุนนาก ๑ ดอกสาระภี ๑ เกสรบัวหลวง ๑ ขอนดอก ๑ ยา ๙ สิ่งนี้แซกต้มกินหายแล

ปุพโพ คือหนองพิการหรือแตก ให้ไอเปนกำลังให้กายซูบผอมหนัก ให้กินอาหารไม่รู้จักรศ มักเปนฝีในท้อง ๗ ประการ ถ้าจะแก้ให้เอารังมดแดงรัง ๑ ใบมัดกา ๑ เทียนดำ ๑ สมอเทศ ๑ รากทองแตก ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ ตำลึง หัวหอม ๑ ตำลึง ๑ บาท ขมิ้นอ้อยยาวองคุลี ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ แซกดีเกลือตามธาตุหนักแลธาตุเบา ชำระบุพโพร้ายเสียก่อน แล้วจึงแต่งยาประจำธาตุในเสมหะก็ได้ ถ้ามิฟังให้แต่งยานี้ ให้เอารากมูกหลวง ๑ ผลราชดัด ๑ ตรีกะฏุก ขมิ้นอ้อย ๑ รากกะพังโหม ๑ หัวเข้าข้า ๑ หอมแห้ง ๑ เอาส่วนเท่ากันตำเปนผงละลายน้ำร้อนก็ได้ สุราก็ได้ น้ำต้มก็ได้กินหายแล

โลหิตํ คือโลหิตพิการหรือแตกก็ดี ท่านกล่าวไว้ว่าโลหิตร้าย แพทย์สมมุติว่าเปนไข้กำเดาเพราะโลหิตกำเริบ ถ้าโลหิตแตกให้ทำพิศม์ตาง ๆ บางทีให้ปวดศีศะให้ไนยตาแดงเปนสายโลหิต ให้งงศีศะให้หนักหน้าผาก เพราะโลหิตกำเริบ ถ้าผุดขึ้นภายนอกให้เปนวงแดงหรือเขียวหรือเหลือง แล้วทำพิศม์ต่างๆ ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง แพทย์ทั้งปวงสมมุติว่าเปนไข้ลากสาดหนึ่ง ปานดำ ปานแดง สายฟ้าฟาด จอมปราสาท เข้าไหม้น้อย เข้าไหม้ใหญ่ หงษระทด เปลวไฟฟ้า ประกายดาด ประกายเพลิง ดาวเรือง ฟองสมุท มหาเมฆ มหานิล ลำลาบเพลิง ไฟลามทุ่ง สมมุติเรียกชื่อต่างๆ เพราะโลหิตแตกกระจายซ่านออกผิวหนังข้างนอก ฝ่ายข้างภายในนั้นเล่าก็ทำพิศม์ต่างๆ บางทีให้ลงเปนโลหิต บางทีให้อาเจียนเปนโลหิต บางทีโลหิตแล่นเข้าจับหัวใจ ให้คลั่งคลุ้มทุรนทุราย ให้มะเมอเพ้อพกไปหาสติสมปฤดีมิได้ แพทย์ทั้งปวงสมมุติว่าสันนิบาตโลหิตก็ว่า ทั้งนี้เปนเพื่อโลหิตสมุฏฐาน บางทีให้ร้อนให้หนาว บางทีให้ชักมือกำเท้ากำ บางทีให้ขัดหนักแลขัดเบา บางทีให้เบาเปนสีแดงสีเหลืองแลดำก็มี ให้เปนไปต่างๆ อันว่าแต่โลหิตพิการแลแตกอย่างเดียว ถ้าในธาตุน้ำพิการหรือแตกก็ดี เปน ๒, ๓, ๔, ๕, ประการแล้วจะแก้มิได้เลย ผู้นั้นจะถึงแก่ความตายใน ๓ วันนั้น ถ้าแต่ประการใดประการหนึ่ง ๒, หรือ ๓ สิ่งก็ดีให้แก้ดูก่อน อันที่โลหิตแตกซ่านออกมาตามผิวหนังนั้น ท่านให้เอายาไข้เหนือมาแก้แลเอายากาฬมาแก้เถิด ถ้าแพทย์จะเอายาที่เผ็ดแลร้อนมาแก้ไม่ได้ ชอบแต่ยาอันเย็นแลสุขุมหรือหอมแลฝาดขมมาแก้จึงจะระงับ ซึ่งโลหิตกระทำภายในทรวงอกให้ลงโลหิต อาเจียนโลหิต ท่านให้เอายาลักปิดแลยาแก้อติสารมาแก้เถิด ถ้ามิฟังให้เอายาในคัมภีร์ธาตุน้ำมาแก้เถิด อันวายาในคำภีร์ธาตุนี้ ให้แก้แต่ธาตุน้ำคือโลหิตแตก ยาชื่อปโตฬาทิคุณ ท่านให้เอาบรเพ็ด ๑ ข่าตาแดง ๑ กะชาย ๑ เมล็ดผักกาด ๑ จันทน์ทั้ง ๒ มะแว้งต้น ๑ จันทนา ๑ หัวแห้วหมู ๑ ไพล ๑ รากขัดมอน ๑ สะค้าน ๑ รากชาพลู ๑ จุกโรหินี ๑ สนเทศ ๑ กรุงเขมา ๑ เปลือกมูกหลวง ๑ รากตองแตก ๑ แฝกหอม ๑ กฤษณา ๑ กะลำภัก ๑ ชะลูด ๑ ขอนดอก ๑ สมอทั้ง ๓ อบเชย ๑ ดอกพิกุล ๑ ดอกบุนนาค ๑ สาระภี ๑ เกสรบัวหลวง ๑ เอาส่วนเท่ากันต้ม ๓ เอา ๑ ถ้าจะให้ทุเลาแซกดีเกลือตามธาตุหนักธาตุเบาเถิด แก้ไข้เพื่อโลหิตในคิมหะฤดู

ยาชื่อมหาชุมนุมใหญ่สันนิบาตแก้ไข้ในวสันตฤดู ให้เอาเจ็ตมูลเพลิง ๑ โกฐสอ ๑ โกฐพุงปลา ๑ โกฐกระดูก ๑ โกฐหัวบัว ๑ โกฐจุลาลำภา ๑ โกฐเชียง ๑ โกฐสอเทศ ๑ ดีปลี ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ เทียนทั้ง ๕ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ ใบกระวาน ๑ ผลกระวาน ๑ กานพลู ๑ รากตองแตก ๑ แฝกหอม ๑ มะขามป้อม ๑ ผลกระดอม ๑ บรเพ็ด ๑ รากคนทา ๑ รากเท้ายายม่อม ๑ รากพุมเรียงทั้ง ๒ รากมะเดื่อ ๑ ผลผักชีทั้ง ๒ ผลโหระพา ๑ รากหญ้านาง ๑ ระย่อม ๑ พิศนาด ๑ นมราชสีห์ ๑ สน ๑ สักขี ตรีผลา ๑ ผลพิลังกาสา ๑ ผลประคำดีควาย ๑ พระยามือเหล็ก ๑ ขี้เหล็กทั้ง ๕ หนึ่ง หญ้ากล่อน ๑ โคกกระสุน ๑ กฤษณา ๑ กะลำภัก ๑ ชะลูด ๑ ขอนดอก ๑ อบเชยเทศ ๑ สมุลแว้ง ๑ เทพทาโร ๑ ข่าต้น ๑ จุกโรหินี ๑ ผลเอ็น ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท ดอกชะลูด ๑ ดอกมะนาว ๑ ดอกมะกรูด ๑ ดอกคัดเค้า ๑ ดอกกรรณิกา ๑ ดอกแก้ว ๑ เกสรบัวหลวง ๑ ดอกคำไทย ๑ ดอกมลิซ้อน ๑ ดอกมลิลา ๑ ดอกบัวเผื่อน ๑ ดอกบัวขม ๑ ดอกลินจง ๑ ดอกจงกลนี ๑ ดอกบัวขาว ๑ ดอกบัวแดง ๑ สัตบุศย์ ๑ สัตบัน ๑ สัตบงกช ๑ ดอกสันตะวา ๑ ดอกตับเต่าน้ำ ๑ ดอกผักตบ ๑ ดอกยี่สุ่น ๑ ดอกกะทุ่มนา ๑ ดอกหญ้างวงช้าง ๑ ดอกหางนกยูง ๑ ดอกละหุ่ง ๑ ดอกลำเจียก ๑ ดอกราชพฤกษ์ ๑ ดอกสาหร่าย ๑ ดอกมหาหงษ์ ๑ ดอกจำปา ๑ ดอกกะดังงา ๑ สาระภี ๑ พิกุล ๑ บุนนาก ๑ ดอกมะกล่ำ ๑ ดอกกล้วยไม้ ๑ ดอกพุทชาต ๑ ดอกไม้ทั้งนี้เอาสิ่งละ ๒ สลึง เมื่อจะบดปรุงด้วยชมดแลพิมเสน ดีงูเหลือม หรือดีงูเห่า ดีวัวเถื่อน ดีควายเถื่อน ดีตะพาบน้ำ ดีจรเข้ ปรุงลงด้วยแลบดทำแท่งไว้ น้ำกระสายยักใช้ตามที่ชอบด้วยโรคนั้นเถิด ยานี้เหตุว่าเปนที่ประชุมแห่งสรรพยาทั้งหลายพร้อมโดยสำคัญ อันจะแก้โรคทั่วไปถึง ๙๖ จำพวก จึ่งได้ชื่อว่ามหาชุมนุมใหญ่สันนิบาต ท่านตีค่าไว้ชั่งทองหนึ่งแล

ยาชื่อเขียวมหาพรหม สำหรับแก้โลหิตพิการ ซึ่งทำพิศม์ให้ร้อนทั่วสรรพางค์กายดังเปลวไฟ ให้ทุรนทุรายหาสติสมปฤดีมิได้ก็ดี ยานี้แก้ได้สิ้นทุกอัน ท่านให้เอาขี้หนอน ๑ ใบสมี ๑ ใบชิงช้าชาลี ๑ ใบขี้เหล็ก ๑ ใบผักเค็ด ๑ ใบแคแดง ๑ ใบทองหลางใบมน ๑ ใบมะเฟือง ๑ ใบพุมเรียงทั้ง ๒ ใบนมพิจิตร ๑ ใบแทงทวย ๑ ใบพริกไทย ๑ ใบน้ำเต้าขม ๑ ใบปีบ ๑ ใบมะระ ๑ ใบหญ้านาง ๑ ใบเท้ายายม่อม ๑ ใบน้ำดับไฟ ๑ ใบระงับ ๑ ใบตำลึงตัวผู้ ๑ ใบพรมมิ ๑ ใบฟักเข้า ๑ ใบหมากผู้ ๑ ใบหมากเมีย ๑ ใบพิมเสน ๑ ใบสันพร้าหอม ๑ ใบสะเดา ๑ ใบถั่วแระ ๑ ใบบรเพ็ด ๑ เถาวัลย์ด้วน ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ จันทน์ขาว ๑ เอาส่วนเท่ากันบดปั้นแท่งไว้ น้ำกระสายยักใช้เอาตามที่ควรแก่โรคทั้งกินทั้งพ่น แก้โลหิตกำเริบแล

ยาชื่ออดุลยวิถาร แก้พิศม์กำเดาอาโปธาตุกำเริบ ท่านให้เอาชะมด ๑ พิมเสน ๑ กฤษณา ๑ กะลำภัก ๑ ขอนดอน ๑ ชมดเชียง ๑ ชะลูด ๑ หญ้าฝรั่น ๑ อำพันทอง ๑ โกฐหัวบัว ๑ จันทน์ทั้ง ๒ เปราะหอม ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๒ สลึง กรุงเขมา ๑ กำยาน ๑ จันทน์คันนา ๑ ผลโหระพา ๑ เกล็ดหอยเทศ ๑ เกสรบัวหลวง ๑ บัวเผื่อน ๑ จงกลนี ๑ สัตบุศย์ ๑ ดอกบุนนาก ๑ ดอกอัญชันขาว ๑ ผลเอ็นเทศ ๑ ผลผักชี ๑ ชะเอมทั้ง ๒ ดอกมลิ ๑ ดอกกะดังงา ๑ ดอกพิกุล ๑ โกฐเขมา ๑ เนระภูสีทั้ง ๒ ใบสเดา ๑ หญ้ารังกา ๑ รากมะตูม ๑ ใบกระวาน ๑ ผลกระวาน ๑ ผักบุ้งร้วม ๑ ใบเหงือกปลาหมอ ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท ดีงูเหลือม ๑ มูลโคเถื่อน ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง บดปั้นแท่งละลายน้ำดอกไม้ทั้งกินทั้งพ่น แก้พิศม์ไข้ทั้งปวงดีนัก ถ้าพิศม์ทำภายในให้ลงท้อง แซกฝิ่นกินหายแล

ยาชื่อมหาสมิทธิ์ใหญ่ ครอบสาระพัดพิศม์ทั้งปวง พิศม์ไข้เหนือ ไข้รากสาดสันนิบาตทั้งปวง ท่านให้เอา อำพันทอง ๑ ชะมด ๑ พิมพ์เสน ๑ จันทน์เทศ ๑ กฤษณา ๑ กะลำภัก ๑ โกฐเชียง ๑ ขอนดอก ๑ เปราะหอม ๑ โกฐสอ ๑ โกฐหัวบัว ๑ สิ่งละ ๒ สลึง จันทน์แดง ๑ กรุงเขมา ๑ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ ผลกระวาน ๑ กานพลู ๑ พริกหอม ๑ ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ เจ็ตมูลเพลิง ๑ อำพันแดง ๑ แฝกหอม ๑ หัวแห้วหมู ๑ ใบสเดา ๑ หญ้าตีนนก ๑ เนระภูสี ๑ เกสรบัวหลวงขาว ๑ เกสรบัวหลวงแดง ๑ สัตบงกช ๑ นิลอุบล ๑ จงกลนี ๑ บัวเผื่อน ๑ บัวขม ๑ มลิ ๑ พิกุล ๑ บุนนาก ๑ สาระภี ๑ จำปา ๑ สมอไทย ๑ สมอพิเภก ๑ มะขามป้อม ๑ เทียนดำ ๑ เทียนขาว ๑ เทียนแดง ๑ เทียนตากบ ๑ เทียนตาตักแตน ๑ ดอกกะดังงา ๑ โกฐเขมา ๑ โกฐน้ำเต้า ๑ โกฐพุงปลา ๑ โกฐก้านพร้าว ๑ เอาสิ่งละ ๑ บาท ดีงูเหลือม ๒ สลึง บดปั้นเปนแท่งละลายน้ำดอกไม้ทั้งกินทั้งชะโลมแก้สันนิบาต ๗ จำพวก แลไข้พิศม์ สาระพัดพิศม์ทั้งปวงหายสิ้นแล

ยาชื่อจักรวาฬฟ้าครอบ แก้พิศม์ไข้กาฬทั้งปวง สาระพัดพิศม์อันใดๆ ก็ดี พิศม์กาฬภายในภายนอก ให้กลุ้มในใจก็ดี แลพิศม์กาฬทั้งปวง ๗๐๐ จำพวกที่มิได้ขึ้นมาทำพิศม์ คุดอยู่ในหัวใจแลตับปอดทั้งภายในก็ดี แลหลบอยู่ตามผิวหนังภายในก็ดี แลพิศม์ฝีตาดฝีหัวเดียวก็ดี ตานทรางก็ดี ท่านให้ทำยาขนานใหญ่นี้ไว้แก้ เว้นไว้แต่บุราณกรรมแลปัจจุบันกรรม นอกนั้นหายสิ้นแล แพทย์ทั้งปวงจงเร่งทำยาขนานนี้ขึ้นไว้ใช้เถิด จึงจะสู้กันกับกาฬ ๗๐๐ จำพวกได้ ท่านให้เอา เขี้ยวเสือ ๑ เขี้ยวหมู ๑ เขี้ยวหมี ๑ เงี่ยงปลาฉนาก ๑ เงี่ยงปลากะเบน ๑ นอแรด ๑ งาช้าง ๑ เขากวาง ๑ เขากุย ๑ เขาแพะ ๑ เขาแกะ ๑ ทั้งนี้ขั้วให้เกรียม หวายตะค้า ๑ หวายตะมอย ๑ เจ็ตภังคี ๑ สังกะระนี ๑ ดอกสัตบุศย์ ๑ สัตบงกช ๑ สัตบัน ๑ บัวหลวง ๑ บัวขม ๑ บัวเผื่อน ๑ จงกลนี ๑ พิกุล ๑ บุนนาก ๑ สาระภี ๑ มลิซ้อน ๑ มลิลา ๑ ดอกจำปา ๑ ดอกกะดังงา ๑ กฤษณา ๑ กะลำภัก ๑ ขอนดอก ๑ ใบพิมเสน ๑ พิมเสนเกล็ด ๑ การะบูน ๑ น้ำประสานทอง ๑ โกฐทั้ง ๕ หนึ่ง เทียนทั้ง ๕ หนึ่ง ลูกจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ สมุลแว้ง ๑ เห็ดกะถินขาว ๑ เห็ดกะถินพิมาน ๑ เห็ดมะพร้าว ๑ เห็ดตาล ๑ เห็ดงูเห่า ๑ เห็ดมะขาม ๑ เห็ดไม้รัง ๑ เห็ดไม้แดง ๑ เห็ดตับเต่า ๑ หัวมหากาฬทั้ง ๕ หนึ่ง ยาทั้งนี้เอาสวนเท่ากัน สาระพัด (ดี) เปนน้ำกระสายบดปั้นแท่งไว้แก้กาฬ ๗๐๐ จำพวกแก้ได้ทุกประการ น้ำกระสายยักใช้เอาตามแต่ที่ชอบด้วยโรคนั้นเถิด แก้ในวสันตฤดูคือน่าฝนแล

ยาชื่ออนันตไกรวาต แก้พิศม์ไข้ทำให้ชักลิ้นกระด้างคางแข็ง แลชักให้สั่นไปทั้งกายแลทำพิศม์ต่าง ๆ ถ้าจะแก้ท่านให้เอากระดูกงูเหลือม ๑ กระดูกงูทับสมิงคลา ๑ คางปลาซ้อน ๑ งาช้าง ๑ กรามแรด ๑ ยาทั้งนี้ขั้วให้เกรียม โกฐหัวบัว ๑ โกฐสอ ๑ โกฐกระดูก ๑ เทียนดำ ๑ ผลโหระพา ๑ ผลผักชี ๑ น้ำประสานทอง ๑ ใบพิมเสน ๑ ใบสันพร้าหอม ๑ ใบผักหวาน ๑ ใบทองหลางน้ำ ๑ รากถั่วภู ๑ รากตำลึงตัวผู้ ๑ ดอกบุนนาก ๑ ดอกพิกุน ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากันบดทำแท่งไว้ น้ำกระสายนั้นให้เอาน้ำซาวเข้าหรือน้ำดอกไม้ก็ได้ แซกดีงูแลพิมเสน กินแก้แดกแก้ชัก แก้เชื่อมมึนแก้ลิ้นกระด้างคางแข็ง ทั้งกินทั้งชะโลมก็ได้แล ยานี้ได้เชื่อมาแล้ว เปนมหาวิเศษนัก

ยาตำราหลวงชื่อมหากำลัง แก้หิวหอบระหวยหาแรงมิได้ อันถึงแก่อสัญญกรรม จึ่งประกอบพระโอสถขนานนี้ขึ้นถวาย ท่านให้เอารากถั่วภู ๑ ลูกบัว ๑ รากบัว ๑ แห้วสด ๑ กระจับสด ๑ หัวบัวขม ๑ หัวบัวเผื่อน ๑ รากหญ้านาง ๑ หัวข่า ๑ กฤษณา ๑ ขอนดอก ๑ ชะเอมเทศ ๑ ชะมด ๑ อบเชยทั้ง ๒ หนึ่ง โกฐหัวบัว ๑ โกฐเชียง ๑ เปราะหอม ๑ ดอกบุนนาก ๑ เกสรบัวหลวง ๑ บัวขม ๑ บัวเผื่อน ๑ จงกลนี ๑ พิกุล ๑ สาระภี ๑ มลิ ๑ สัตบุศย์ ๑ สัตบงกช ๑ กรุงเขมา ๑ อำพันทอง ๑ ชะมดเชียง ๑ พิมเสน ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดปั้นแท่งไว้ละลายน้ำดอกไม้ เมื่อจะกินให้แชกน้ำตาลกรวด แก้พิศม์กลุ้มในอกในทรวง ให้สวิงสวาย ให้หิวโหยหากำลังมิได้ กินหายแล

ยาชื่อจิตรมหาวงษ์ แก้ฅอเปื่อยลิ้นเปื่อยแลปากเปื่อย แลแก้ไอท่านให้เอา รากมะกล่ำต้ม ๑ รากมะกล่ำเครือ ๑ รากมะขามป้อม ๑ เนระภูสี ๑ เขากวาง ๑ เขากุย ๑ นอแรด ๑ งาช้าง ๑ จันทน์ทั้ง ๒ หนึ่ง น้ำประสานทองสตุ ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากันตำผงบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำผึ้งทาหายแล

ยาแก้ร้อนแลคลั่ง เอาเปลือกแคแตร ๑ รากคันทรง ๑ เปลือกเพกา ๑ รากมะตูม ๑ ต้มกินหายแล

ยาชื่อสุริยจันทน์ สำหรับแก้พิศม์กำเดาแลพิศม์กาฬซึ่งทำพิศม์ต่าง ๆ สมมุติว่าเปนไข้เหนือไข้ลากสาดแลไข้สันนิบาตก็ดี ท่านให้เอา จันทน์แดง ๑ จันทน์ขาว ๑ เถามวกทั้ง ๒ หนึ่ง คุคะ ๑ มหาสดำ ๑ รากปลาไหลเผือก ๑ รากหญ้านาง ๑ รากฟักเข้า ๑ รากตำลึง ๑ รากสลอดน้ำ ๑ รากพุมเรียงทั้ง ๒ หนึ่ง คงคาเดือด ๑ เหมือดคน ๑ รากพุงดอ ๑ รากโมง ๑ รากกะทุงหมาบ้า ๑ เกสรบัวหลวง ๑ เขากวาง ๑ งาช้าง ๑ เขากุย ๑ นอแรด เขี้ยวเสือ ๑ เขี้ยวจรเข้ ๑ กรามแรด ๑ กรามช้าง ๑ เอาส่วนเท่ากันบดปั้นแท่งไว้แก้ไข้พิศม์สาระพัดพิศม์หายแล

พระตำราหลวงเปนยาต้มขนานใหญ่ สำหรับแก้พิศม์กำเดาพิการแลธาตุน้ำพิการทำพิศม์ต่าง ๆ แก้พิศม์ฝีกาฬแลฝีหัวขว้ำแลฝีหัวเล็กหาฐานมิได้ มีสันฐานดังเมล็ดเข้าโภชน์ แลเมล็ดถั่วเขียวถั่วดำก็ดี แลทำพิศม์อยู่ในตับแลขั้วดี แลให้ดีซึมจากฝักก็ดี แลพิศม์กลุ้มหัวใจมีประการต่างๆ ก็ดี ให้แพทย์ทำยาขนานนี้แก้ เอารากพุมเรียงทั้ง ๒ สิ่งละ ๑ บาท ๒ สลึง คงคาเดือด ๖ สลึง แส้ม้าทลาย ๖ สลึง หญ้าใต้ใบ ๒ บาท แก่นขี้เหล็ก ๑ บาท มารประไล ๖ สลึง ระย่อม ๓ สลึง ไคร้เครือ ๑ บาท ว่านร่อนทอง ๒ สลึง ว่านกีบแรด ๒ สลึง พระยารากดำ ๒ บาท พระยารากขาว ๖ สลึง เนระภูสี ๑ บาท มหาสดำเหนือ ๑ บาท มหาสดำใต้ ๑ บาท รากไก่ให้ ๑ บาท ยา ๕ รากสิ่งละ ๑ บาท ขมิ้นเครือ ๑ บาท ปลาไหลเผือก ๑ บาท รากตานดำ ๑ บาท รากมะเดื่อดิน ๑ บาท กันเกรา ๑ บาท แก่นปรู ๑ บาท ไม้สัก ๑ บาท สักขี ๑ บาท ตรีผลา สิ่งละ ๒ สลึง จันทน์หอม ๓ บาท เนื้อไม้ ๒ บาท โกฐทั้ง ๕ สิ่งละ ๓ สลึง เทียนทั้ง ๕ สิ่งละ ๓ สลึง ผลจันทน์ ๒ สลึง ดอกจันทน์ ๒ สลึง กานพลู ๑ สลึง อบเชยเทศ ๖ สลึง ชะเอมเทศ ๑ ชะเอมไทย ๑ กำแพง ๗ ชั้นหนึ่ง ตูมกาแดง ๑ ตูมกาขาว ๑ เอาสิ่งละ ๑ บาท มะคังแดง, มะคังขาว, สิ่งละ ๑ บาท ผลกระดอม ๑ บาท ดอกบุนนาก ๑ บาท เกสรบัวหลวง ๑ บาท สาระภี ๑ บาท สะค้าน ๑ บาท รากชาพลู ๑ สลึง รากพุงแก ๒ สลึง เหมือดคน ๑ แฝกหอม ๑ คุยแดง ๑ คุยขาว ๑ รากพระยายา ๑ จันทน์แดง ๑ กะดังใบ ๑ รากฟักเข้า ๑ รากนางนูน ๑ รากพุงดอ ๑ สิ่งละ ๑ บาท ฝางเสน ๒ บาท ชลูด ๒ สลึง ดีปลี ๑ บาท หญ้าแพรกเผือก ๑ เลือดแรด ๑ ครั่ง ๑ ดอกคำไทย ๑ ดอกคำจีน ๑ ฝนแสนห่า ๑ หางนกกลิง ๑ โพธิ์ปราสาท ๑ ราชมานพ ๑ สากกระเบือละว้า ๑ เชือกเขาหนัง ๑ ไก่ไห้ ๑ กำลังกระบือ ๗ ตัวหนึ่ง เถาวัลย์เปรียงแดง ๑ สิ่งละ ๑ บาท คุคะ ๑ มะเกลือเลือด ๑ สิ่งละ ๒ สลึง รากไม้รวก ๑ กำลังวัวเถลิง ๑ มหาละลาย ๑ พระยารากเดียว ๑ สิ่งละ ๑ บาท จันทน์คันนา ๖ สลึง รากสลอดน้ำ ๒ บาท สารขี้นก ๒ สลึง ใส่ลงก้นหม้อต้มกินแก้สาระพัดพิศม์ แต่บรรดาธาตุน้ำพิการทำพิศม์ต่างๆ หายสิ้นแล ให้แพทย์จงพิจารณาดูเถิด ๑๐๐ คนก็ไม่รอดสักคนเดียวเลย ถ้าแลกินยานี้ไปถึง ๙ วัน ๑๐ วันแล้ว โลหิตที่กำเริบอยูในทรวงอกนั้น ไม่กลับทำพิศม์ออกมาข้างนอกได้ ถ้าผุดเปนวงดำหรือแดงออกมาแล้วเมื่อใดตายเมื่อนั้นแล ถ้าผุดเปนวงดำ, แดงหรือเขียวออกมาได้แล้วเมื่อใด ให้แพทย์แก้ไปเถิดรอดบ้างตายบ้าง ถ้าไม่ผุดออกมาอย่ารักษาเลย

เหงื่อพิการเหงื่อแตกแลเหงื่อตกนัก แล้วให้ตัวเย็นแลตัวนั้นขาวซีดสากชาไปทั้งตัว ให้สวิงสวายหากำลังมิได้ ถ้าจะแก้ให้เอาเจ็ตมูลเพลิง ๑ โกฐสอ ๑ ผลผักชี ๑ ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ เปลือกกุ่มน้ำ ๑ รากทองหลางน้ำ ๑ รากถั่วภู ๑ เอาส่วนเท่ากันต้ม ๓ เอา ๑ กินแก้เหงื่อตกนักหายแล

ยาชะโลมแก้เหงื่อ ให้เอาหัวหอม ๑ แป้งเหล้า ๑ ดินสอพอง ๑ รากเหมือดคน ๑ รากถั่วภู ๑ เมล็ดขนุนละมุด ๑ เอาส่วนเท่ากันบดปั้นแท่งไว้ละลายน้ำดอกไม้ กินห้ามเหงื่อตกแลผิวเนื้อสากชา แลตัวซีดผิวหนังหดหู่ เพราะเหงื่อกระทำโทษหายสิ้นแล มันข้นพิการหรือแตกก็ดี เหมือนโลหิตเสียดุจเดียวกันออกผิวหนังผุดเปนวง บางทีแตกเปนน้ำเหลืองให้ปวดแสบปวดร้อนเปนกำลัง ถ้าจะแก้ท่านให้เอา ผักปลังแดง ๑ ใบกะเม็งแดง ๑ ใบถั่วแระ ๑ เทียนดำ ๑ เทียนขาว ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ ส่วน เปลือกกันเกรา ๑ ยาเข้าเย็นเหนือ ๑ เอาสิ่งละ ๗ ส่วนต้มกินหายแล

ยาทาภายนอก ท่านให้เอาใบผักปลังแดง ๑ ใบกระเม็งแดงก็ได้ เข้าสาร ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ ดินสอพอง ๑ ตำทาตัวหายแล

น้ำตาพิการ คือให้น้ำตาตกหนักแล้วก็แห้งไป ลูกตานั้นเปนดังเยื่อผลลำไย ถ้าจะแก้เอารากคนทีสอ ๑ รากเสนียด ๑ ลูกมะตูมอ่อน ๑ ขิงแห้ง ๑ เอาส่วนเท่ากันต้ม ๓ เอาหนึ่งให้กิน แล้วจึงแต่งยาหยอดตา ให้เอาหินในหัวปลาช่อน ๑ หินส้ม ๑ บัลลังก์ศิลา ๑ พิมเสน ๑ ฝนหยอดตาเข้าดู ถ้ามีน้ำตาไข้นั้นจะหาย ถ้าไม่มีน้ำตาไข้นั้นรักษามิได้เลย

น้ำมันเหลว ถ้าแตกกระจายออกทั่วตัว ให้ตัวเหลืองตาเหลือง เว้นแต่อุจจาระปัสสาวะไม่เหลือง ตำราหนึ่งว่าอุจจาระปัสสาวะก็เหลือง บางทีให้ลงแลให้อาเจียนดังป่วงลม คือโทษน้ำเหลืองนั้นเอง ถ้าจะแก้ให้แก้ด้วยยาฝาด ถ้ามิหยุดให้ชำระน้ำเหลืองเสียก่อน จึงแต่งยาบำรุงธาตุต่อไป ท่านให้เอา ตรีกฏุกหนึ่ง ตรีผลาหนึ่ง ผลสมอเทศ ๑ รากชาพลู ๑ ข่าแห้ง ๑ สะค้าน ๑ ผลจันทน์ ๑ เอาส่วนเท่ากันตำผงละลายน้ำใบมะระก็ได้ น้ำกล้วยดิบก็ได้ แก้ธาตุน้ำคือมันเหลวพิการหายแล

น้ำลายพิการให้ปากเปื่อย ฅอเปื่อย, น้ำลายเหนียว, บางทีเปนเม็ดยอดขึ้นในลิ้นในฅอ, ทำพิศม์ตางๆ ถ้าจะแก้ท่านให้เอาจันทน์ทั้ง ๒ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ ว่านกีบแรด ๑ ว่านร่อนทอง ๑ ผลประคำดีควาย ๑ รากทนดี ๑ สมอเทศ ๑ โกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ ดีงูเหลือม ๑ เอาส่วนเท่ากัน บดละลายน้ำมะนาวเปนกระสายทา แลกินเท่าผลพุดซาแล้วจึงแต่งยาอม ท่านให้เอากรามแรด ๑ กรามช้าง ๑ นอแรด ๑ เขี้ยวเสือ ๑ เขี้ยวปลาพยูน ๑ ลูกเบ็ญจกานี ๑ ผลจันทน์ ๑ ใบหว้าอ่อน ๑ ยาทั้งนี้ขั้วให้เกรียมเอาสิ่งละ ๑ ส่วน น้ำประสานทอง ๒ ส่วนให้สะตุเสียกอน สีเสียดทั้ง ๒ สิ่งละ ๔ ส่วน น้ำหมากดิบเปนกระสาย บดปั้นแท่งไว้ฝนด้วยน้ำปูนใสระคนด้วยน้ำหมากดิบกวาดหายแล

จึงทำยาบ้วนปาก เอาเปลือกตะเคียน ๑ ใบขัดมอน ๑ เปลือกหว้า ๑ ทางตาล ๑ เปลือกมะกล่ำต้น ๑ ตำราหนึ่งว่าเปลือกระกำต้น ๑ สลอดน้ำ ๑ ใบทับทิม ๑ เอาส่วนเท่ากันต้มใส่เกลือแต่สักน้อย อมบ้วนปาก ๓ เวลาหายแล

น้ำมูกพิการ ให้ปวดในสมองให้น้ำมูกไหลตามัว ให้ปวดศีศะ ให้วิงเวียนศีศะ โทษ ๔ ประการนี้ถ้าจะแก้ให้แต่งยาสุม เอาใบหญ้าน้ำดับไฟ ๑ เทียนดำ ๑ หัวหอม ๑ ดินประสิวขาว ๑ เมล็ดฝ้ายขั้ว ๑ ใบพลูแก ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ บดกับสุรา ขี้น้ำมันหอมสุมกระหม่อม ๓ วัน หายแล

ถ้ายังมิหายให้แต่งยาดม เอาหัวหอม ๑ ปูนผง ๑ น้ำประสานดีบุก ๑ พิมเสน ๑ เอาส่วนเท่ากันตำผงนัดถุ์ก็ได้ ห่อผ้าขาวบางดมก็ได้หายแล

แล้วจึ่งแต่งยากินภายใน เอาสะค้าน ๑ รากชาพลู ๑ เจ็ตมูลเพลิง ๑ ขิงแห้ง ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ แฝกหอม ๑ สมอไทย ๑ สมอเทศ ๑ ผลผักชี ๑ กฤษณา ๑ จันทน์หอม ๑ ผลมะขามป้อม ๑ เปราะหอม ๑ ว่านน้ำ ๑ เกสรบัวหลวง ๑ ดอกบุนนาค ๑ เอาส่วนเท่ากันต้ม ๓ เอา ๑ กินแก้ธาตุน้ำคือมูกพิการแล

ไขข้อ ถ้าพิการหรือแตกก็ดี อันว่าไขข้อนี้อยู่ในกระดูกมักกระทำให้เมื่อยในข้อในกระดูก ดุจดังว่าจะคลาดออกจากกัน ให้ขัดตึงทุกข้อจะแก้เปนอันยากนัก ด้วยว่าอยู่ในกระดูก ให้กินยาแก้ดูตามบุญเถิด ท่านให้เอาโกฐกระดูก ๑ โกฐกัดกลิ้ง ๑ โกฐกัดตรา ๑ รากแฝก ๑ เอาสิ่งละ ๑ ส่วน แก่นมหาด ๑ แก่นปรู ๑ สนเทศ ๑ สักขี ๑ ผลเมื่อย ๑ รากมะดัน ๑ รากประดงข้อ ๑ อยางนี้เรียกว่ารากดีปลี กระดูกงูเหลือม ๑ เอาสิ่งละ ๒ ส่วน เหมือดคน ๑ ส้มเสี้ยว ๑ ส้มสันดาน ๑ พริกไทย ๑ ขิง เอาสิ่งละ ๓ ส่วน รากคนทา ๕ ส่วน ยาเข้าเย็น ๑๐ ส่วน ต้มให้กินหายแล

มูตร์ เมื่อจะพิการก็ดีแตกก็ดี ให้ปัสสาวะวิปลาศ คือให้น้ำเบามีสีแดงเหลืองดังขมิ้น บางทีขาวดังน้ำเข้าที่เช็ดจากหม้อ ให้ขัดเบาขัดหัวเหน่า หัวเหน่าฟก บางทีเปนมุตร์สกิด, มุตร์ฆาฏ, กาฬขึ้นในมูตร์ ให้มูตร์พลิกแปรไปต่างๆ ถ้าจะแก้มูตร์พิการนั้นให้เอาสะค้าน ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ แฝกหอม ๑ สมอเทศ ๓ ผล ผลผักชี ๑ จันทน์ทั้ง ๒ หนึ่ง โคกกระสุน ๑ แห้วหมู ๑ เอาสิ่งละ ๑ ส่วน รากชาพลู ๒ ส่วน เจ็ตมูลเพลิง ๓ ดีปลี ๔ ขิง ๕ ยาเข้าเย็นจีน ๑๐ อ้อยแดง ๓ ปล้องทุบใส่ลงต้ม ๓ เอา ๑ กินแก้มูตร์พิการหายแล

ยาต้มแก้ขัดเบา ให้เอาใบมะขามกำมือ ๑ ใบส้มป่อยกำมือ ๑ ใบมะนาว ๙ ใบหอม ๓ หัว สานส้ม ๑ สลึง ดินประสิวขาว ๑ น้ำอ้อยงบ ๑ หัก ๔ ทิ้งข้างตวันตกชิ้น ๑ ให้กินเบาออกแล ถ้ามิฟังท่านให้แก้โดยกระบวนโรคตามคัมภีร์ปะระเมหะต่อไปเถิด จบธาตุน้ำแต่เท่านี้

ทีนี้จะแสดงธาตุดินพิการต่อไป พระอาจาริย์เจ้าจัดออกเปนแผนกแต่ละสิ่ง ๆ ตั้งแต่ผมเปนลำดัดไป

ผม ถ้าพิการให้เจ็บสมองศีศะให้ชา ให้ผมหล่นถ้าจะแก้เอาทางตาลมาลนไฟบิดเอาน้ำถ้วย ๑ ใบคราม ๑ หญ้าแพรก ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ ตำเอาน้ำสิ่งละ ๑ ถ้วย น้ำมันงาถ้วย ๑ หุงให้คงแต่น้ำมัน แล้วปรุงดีกา ดีตะพาบน้ำ ดีนกกาน้ำใส่ลง ทาผมพิการหายแล

ขนพิการ ให้เจ็บทุกเส้นขนทั่วสาระพางค์กาย ถ้าจะแก้ให้เอาน้ำมันยาแก้ผมพิการนั้นมาแก้เถิด

ยากินภายใน เอารากชาพลู ๑ ข่า ๑ รากส้มป่อย ๑ รากพุดลา ๑ มะกรูดผล ๑ ต้มกินแก้ผมแลขนพิการหายแล

เล็บ ถ้าพิการให้ต้นเล็บเจ็บช้ำดำเขียว บางทีให้ฟกบวม คือเปนตะมอยหัวเดือน กลางเดือนบางทีให้เจ็บช้ำเลือดช้ำหนอง ให้เจ็บปวดเปนกำลัง ถ้าจะแก้เอาชมดต้มก็ว่า ฝ้ายผีก็ว่า เข้าสุกเผาไฟให้โชน ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ ยาดำ ๑ ดินประสิวขาว ๑ บดพอกเล็บหายแล ถ้ามิหายทำยาเกล็ดแก้ไปเถิด

ฟัน ถ้าพิการให้เจ็บปวดฟกบวมเปนกำลัง ถึงฟันหลุดแล้วก็ดีมักเปนไปตามประเวณีสังสาระวัฏ ให้เจ็บฟันแลไรฟันไรเหงือกตลอดสมอง ถ้าฟันยังมิหลุดมิถอนก็ให้แก้ตามกระบวนรำมะนาดนั้นเถิด

หนังพิการ ให้หนังชาสากทั่วทั้งตัว ถึงว่าแมล็งวันจะจับหรือไต่อยู่ที่ตัวก็ไม่รู้ศึก ให้แสบแลร้อนเปนกำลังเรียกว่ากระมีโทษ ถ้าจะแก้เอาแป้งเข้าหมาก ๑ เปลือกเฉียงพร้านางแอ ๑ สังข์ ๑ โกฐสอ ๑ โกฐหัวบัว ๑ ดอกพิกุล ๑ ดอกบุนนาก ๑ ดอกสาระภี ๑ เกสรบัวหลวง ๑ เอาส่วนเท่ากันทำเปนผงบดปั้นแท่งไว้ ละลายน้ำดอกไม้ทั้งกินทั้งชะโลมหายแล

ยากิน เอาขิงแห้ง ๑ รากมะแว้งทั้ง ๒ กระดอมทั้ง ๕ รากขี้กาแดง ๑ สมอเทศ ๑ สมอพิเภกก็ว่า สมอไทย ๑ มะขามป้อม ๑ แห้วหมู ๑ บรเพ็ด ๑ หญ้าตีนนก ๑ โกฐสอ ๑ โกฐก้านพร้าว ๑ จันทน์ทั้ง ๒ หนึ่ง เอาส่วนเท่ากันต้ม ๓ เอา ๑ ปรุงขันทศกรแลน้ำผึ้งใส่ลงกิน แก้ไข้กระมีโทษอันเกิดแต่ผิวหนังนั้นหายแล

เนื้อ ประมาณ ๕๐๐ ชิ้น ถ้าพิการมักทำให้เสียวซ่านไปทั้งตัว มักให้ฟกขึ้นที่นั้นบวมขี้นที่นี้ ให้เปนพิศม์เปนสง บางทีให้ร้อนดังไฟลวก บางทีให้มกขึ้นดังประกายดาดประกายเพลิง ถ้าจะแก้ให้เอาก้ามปูทเลเผาไฟ ๑ ฝางเสน ๑ รากลำโพง ๑ รากหมีเหมน ๑ รากบัวหลวง ๑ รากทองหลางหนาม ๑ โกฐก้านพร้าว ๑ ดินประสิวขาว ๑ ดินสอพอง ๑ เอาส่วนเท่ากันบดละลายน้ำต้นหางจรเข้ทาตัวหายแล

ถ้าแม้นให้เปนฟกบวมแตกนั้น ให้เอาเข้าไหม้ ๑ ใบขี้เหล็ก ๑ ยาดำ ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ บดละลายน้ำปูนใสทาหายแล

ยาชื่อสังข์เภทกินภายใน เอาสังข์ ๑ ว่านเปราะ ๑ สมอเทศ ๑ เทียนดำ ๑ ไพล ๑ รากพันงูแดง ๑ ตรีกฎุกหนึ่ง เอาส่วนเท่ากันตำเปนผงละลายน้ำส้มซ่า น้ำมะนาว น้ำมะกรูด น้ำร้อนก็ได้เกลือรำหัดกินหายแล

เอ็นพิการ ให้เส้นประธาน ๑๐ เส้นแลเส้นบริวาร ๒๗๐๐ เส้น ๆ ให้หวาดหวั่นไหวไปสิ้นทั้งนั้น ที่กล้าก็กล้า ที่แข็งก็แข็ง ที่ตั้งดานก็ตั้งดาน ที่ขอดก็ขอดเข้าเปนก้อนเปนเถาไป ที่จะเปนโทษหนักนั้นแต่เส้นอันชื่อว่าสุมนาแลอำมพฤกษ์ เส้นสุมนานั้นผูกดวงใจ มีแต่จะให้สวิงสวายทุรนทุรายหิวโหยหาแรงมิได้ อันว่าเส้นอำมพฤกษ์นั้นมีแต่จะให้กระสับกระส่าย ให้ร้อนให้เย็นให้เมื่อยให้เสียวไปทุกเส้นทุกเอ็นทั่วทั้งตัว ตั้งแต่ศีศะตลอดลงไปถึงที่สุดจนเท้า บางทีให้เจ็บเปนเวลา แต่เส้นอำมพฤกษ์นั้นให้โทษ ๑๑ ประการ ถ้าให้โทษพร้อมกันทั้ง ๒๗๐๐ เส้นแล้วก็ตายแล ถ้าเปนแต่ ๑, ๒, ๓, ๔, หรือ ๕ เส้น ยังแก้ได้

ยาปถวีธาตุพิการ คือเส้นพิการท่านให้เอา พริกไทย ๑ ขิงแห้ง ๑ เทียนดำ ๑ มหาหิงคุ์ ๑ ว่านน้ำ ๑ โกฐพุงปลา ๑ ใบกระวาน ๑ สะค้าน ๑ เกสรบัวหลวง ๑ เกสรบัวขาว ๑ หญ้าตีนกา ๑ เกลือสินเธาว์ ๑ แก่นขี้เหล็ก ๑ พระยามือเหล็ก ๑ เอาส่วนเท่ากันตำเปนผงละลายน้ำมะนาว น้ำมะกรูด น้ำส้มซ่า น้ำส้มสาชูก็ได้ กินแก้เส้นพิการหายแล

ขนานหนึ่งเอาเปลือกหอยโข่ง ๑ เปลือกหอยขม ๑ เปลือกหอยนางรม ๑ เปลือกหอยกาบ ๑ เปลือกหอยแครง ๑ เปลือกหอยตาวัว ๑ เปลือกหอยพิมพการัง ๑ เปลือกหอยสังข์ ๑ เปลือกหอยมุก ๑ กระดูกวัว ๑ กระดูกเสือ ๑ กระดูกแพะ ๑ กระดูกเยียงผา ๑ ยาทั้งนี้เผาไฟให้ไหม้ แล้วชั่งเอาสิ่งละ ๑ ส่วน รากตองแตก ๑ รากส้มเสี้ยว ๑ รากส้มสันดาน ๑ เอาสิ่งละส่วนกึ่ง สหัสคุณเทศ ๒ ส่วน รากมะตาดเครือ ๒ ส่วนครึ่ง ยาทั้งนี้ประมวนเข้าด้วยกัน ตั้งไว้เปนส่วน ๑ เอาพริกไทยเท่ายาทั้งหลาย ตำเปนผงแล้วเอาขี้เหล็กทั้ง ๕ ฝักสำโรง ๑ งวงตาล ๑ ช้าแป้น ๑ ต่อไส้ ๑ ผักโหมหนาม ๑ พันงูแดง ๑ บรเพ็ด ๑ เผาให้ไหม้เอาสิ่งละส่วน ปูนขาว ๒ ส่วน ๓ ส่วน ๔ ส่วนก็ได้ เอาแช่น้ำด่างอุ่นไฟให้ร้อน ละลายยาผงนั้นกินแก้เถาดาน แลแก้เส้นเอ็นอันกำเริบต่างๆ กินยาเนาวะหอยนี้หายแล

ยาต้ม ท่านให้เอาขี้เหล็กทั้ง ๕ สมอทั้ง ๓ มะขามป้อม ๑ ใบมะกา ๑ แห้วหมู ๑ รากตองแตก ๑ บรเพ็ด ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ โกฐน้ำเต้า ๑ เถาวัลย์เปรียงสดใส่ให้มากหน่อย ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๕ สลึง เทียนทั้ง ๕ สลึงละ ๒ สลึง ยาดำ ๑ บาท ผักราชพฤกษ์ ๕ ฝัก ต้ม ๓ เอา ๑ แซกดีเกลือตามธาตุหนักธาตุเบา กินชำระน้ำเหลืองแลเสมหะหายแล

กระดูก กระดูกแห่งเราท่านทั้งหลาย ๓๐๐ ท่อน เมื่อพิการก็ดี แตกออกก็ดี น้ำมันซึ่งจุกอยู่ในข้อนั้นละลายออกแล้วให้เจ็บปวดกระดูก ดุจดังว่าจะเคลื่อนคลาดออกจากกันทั้ง ๓๐๐ ท่อน โทษดังนี้นจะแก้เปนอันยากนัก แต่ท่านไว้ยาให้แก้ตามบุญเถิด

ยาพรหมภักตร์น้อย ท่านให้เอาดอกจันทน์ ๑ ผลจันทน์ ๑ กานพลู ๑ สิ่งละ ๑ ส่วน มหาหิงคุ์ ๑ ยาดำ ๑ การะบูร ๑ สิ่งละ ๔ ส่วน พริกหอมเท่ายาทั้งหลาย ถ้ามิได้พริกหอมให้เอาพริกไทยล่อนก็ใช้ได้ เอาน้ำเปลือกมะรุมเปนกระสาย บดปั้นแท่งเท่าผลมะแว้งเครือ กิน ๙ วัน ๑๑ วัน ๑๕ วันๆ ละ ๑ เม็ด ถ้าแม้นชักมือเท้ากำน้ำตาตกน้ำลายฟูม ลิ้นกระด้างคางแข็งมิรู้สึกตัว เอายานี้พ่นด้วยน้ำเปลือกมะรุมก็ได้ น้ำร้อนก็ได้ กินบ้างทาบ้างหายแล ถ้าจะให้ผายพรรดึก ละลายน้ำส้มมะขามเปียก น้ำมะนาวผลหนึ่งก็ได้ ฝนยา ๑๑ เม็ด ๑๓ เม็ด ๑๗ เม็ด ตามธาตุเบาแลหนัก

ยาพรหมภักตร์กลาง ขนานหนึ่งเอา ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ ดีปลี ๑ เอาสิ่งละ ๑ ส่วน มหาหิงคุ์ ๑ การะบูร ๑ พริกไทยล่อน ๑ สิ่งละ ๔ ส่วน ยาดำ ๑ รงทองปิ้งไฟ ๑ สิ่งละ ๑๒ ส่วน น้ำสุราเปนกระสายบดปั้นแท่งเท่าลูกมะแว้งเครือ น้ำกระสายดังกล่าวไว้แล้ว กินประจุเสมหะลมแลเลือดเหน้า ไขในข้อข้นเข้า แก้ธาตุดินพิการหายแล

ยาต้มขนานหนึ่ง เอาใบมหาประสาน ๓๐๐ ใบมะนาว ๑๐๘ สามใบต่อ ๑ ประดงข้อ ๑ เทียนดำ ๑ เทียนขาว ๑ สิ่งละ ๒ บาท โกฐกระดูก ๑ เถากระทั่งติด ๑ สิ่งละ ๑ ตำลึง ขมิ้นอ้อย ๑๐ บาท ต้มกินแก้ธาตุดินคือกระดูกพิการหายแล

สมองกระดูกพิการ ยาที่แก้นั้นก็อยางเดียวกันกับกระดูก

ม้าม ถ้าพิการก็ดีแตกก็ดี ถ้าจะแก้เอาโคกกระสุนกำมือ ๑ มะกรูดผล ๑ ผ่า ๔ เอาแต่ ๓ ขมิ้นอ้อย ๕ ชิ้น เอาปูนขาวแช่น้ำให้ใสเอาเปนน้ำ ต้มให้กิน ๓ วันๆ ละ ๓ เวลาหายแล

ยาต้มประจำธาตุดินคือม้ามแตก ให้เอาต้นหางรอก ๑ แห้วหมู ๑ จันทน์ทั้ง ๒ รากมะตูม ๑ รากแห้วหมู ๑ เอาส่วนเท่ากันห่อผ้าขาวต้ม ๓ เอา ๑ กินแก้จับแก้ร้อนแก้หนาว แก้พิศม์ต่างๆ หาย

หัวใจ ถ้าพิการก็ดีแตกก็ดี มักให้คนนั้นเปนบ้า ถ้ายังอ่อนอยู่ให้คุ้มดีคุ้มร้าย มักขึ้งโกรธบางทีให้ระส่ำระสาย ให้หิวโหยหาแรงมิได้ให้เปนไปต่างๆ นาๆ ให้แก้ด้วยยาชื่อมูลจิตรใหญ่ เอาผลคนทีสอ ๑ ใบสหัสคุณ ๑ ผลตลิงปริง ๑ จันทน์ทั้ง ๒ ดีปลี ๑ เทียนเข้าเปลือก ๑ เทียนตาตักแตก ๑ เทพทาโร ๑ เอาส่วนเท่ากันบดปั้นแท่งละลายน้ำดอกไม้แซกพิมเสนกินหาย ใช้ได้ ๑๐๘ แล

ยาสมุทสาครใหญ่ เอาผลเอ็นเทศ ๑ ชะเอมเทศ ๒ ใบกระวาน ๓ ดอกบุนนาก ๔ พริกไทย ๕ ขิง ๖ ดีปลี ๗ อบเชยเทศ ๘ รากน้ำใจใคร่ ๙ เกสรบัวหลวง ๑๐ จันทน์ขาว ๑๑ ตำเปนผง เมื่อจะกินเอาน้ำตาลทรายเท่ายาทั้งหลาย ละลายน้ำร้อนได้ทั้งคนดีคนบ้า แก้ลมแก้เลือดจับหัวใจ ให้คลั่งเพ้อทุรนทุรายหายแล

ขนานหนึ่งชื่อสว่างอารมณ์ เอารากบัวหลวง ๑ เปราะหอม ๑ รากถั่วภู ๑ ผลถั่วภู ๑ แห้วสด ๑ กระจับสด ๑ หัวบัวเผื่อน ๑ หัวบัวขม ๑ หัวบา ๑ ถั่วทอง ๑ เมล็ดถั่วแปด ๑ จันทน์หอมเทศ ๑ กฤษณา ๑ กะลำภัก ๑ ขอนดอก ๑ กรุงเขมา ๑ รากหญ้านาง ๑ เกสรบัวหลวง ๑ เกสรบัวเผื่อน ๑ เกสรบัวขม ๑ สัตบงกช ๑ สัตบุศย์ ๑ พิกุล ๑ บุนนาก ๑ สาระภี ๑ ดอกกรรณิกา ๑ ชะมด ๑ พิมเสน ๑ อำพันทอง ๑ หญ้าฝรั่น ๑ เกล็ดหอยเทศ ๑ ผลบัวเกราะ ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดด้วยน้ำดอกไม้เทศหรือน้ำดอกไม้ไทยก็ได้เปนกระสาย บดปั้นแท่งไว้ละลายน้ำดอกไม้กิน แก้หัวใจสวิงสวายให้หิวโหยหอบหากำลังมิได้ ยานี้ชูกำลังถึงไม่ได้กินอาหาร ๗ วันมิตายเลยยานี้วิเศษนัก

ยานี้ชื่อสมิทธิสวาหะ เอานมผา ๑ ศิลายอน ๑ บัลลังก์ศิลา ๑ สังข์ ๑ ดินถนำ ๑ แก้วแกลบ ๑ ดินดานในท้องน้ำ ๑ เทียนทั้ง ๕ โกฐทั้ง ๙ แฝกหอม ๑ ดอกบัวบก ๑ ดอกบัวน้ำทั้ง ๕ ดอกกาหลง ๑ ดอกชงโค ๑ ดอกพิกุล ๑ ดอกบุนนาก ๑ ดอกสาระภี ๑ ดอกกะดังงา ๑ ดอกจำปา ๑ ดอกคำไทย ๑ ดอกขจร ๑ ดอกมลิซ้อน ๑ ดอกมลิลา ๑ ดอกโยทกา ๑ ดอกส้อนกลิ่น ๑ ดอกพยอม ๑ ดอกกรรณิกา ๑ ดอกราชพฤกษ์ ๑ ดอกประดู่ ๑ ดอกผักคราด ๑ ดอกมหาหงษ์ ๑ ดอกกระทือ ๑ ดอกข่า ๑ ดอกเร่ว ๑ ดอกกระเจียว ๑ ดอกจิกนา ๑ ดอกเข็มแดง ๑ ดอกไม้ทั้งนี้ควรจะเอาดอกแลเกสร จันทน์ทั้ง ๓ กระวาน ๑ กานพลู ๑ ผลจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ อบเชยเทศ ๑ กฤษณา ๑ ขอนดอก ๑ สนเทศ ๑ ผักกระโฉม ๑ ใบพิมเสน ๑ ใบสันพร้าหอม ๑ ใบชะมดต้น ๑ ใบทองพันชั่ง ๑ ว่านกีบแรด ๑ ว่านร่อนทอง ๑ สังกะระนี ๑ เนระภูสี ๑ พิศนาด ๑ ระย่อม ๑ ไคร้เครือ ๑ ว่านเพ็ชร์โอการ ๑ ว่านฤๅษีประสมแล้ว ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท ชะมด ๑ พิมเสน ๑ อำพันทอง ๑ หญ้าฝรั่น ๑ เกล็ดหอยเทศ ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง กระแจะตะนาว ๑ สลึง บดละลายน้ำดอกไม้เทศหรือน้ำดอกไม้ไทยก็ได้ บดทำแท่งไว้ละลายน้ำดอกไม้ แซกน้ำตาลกรวดน้ำตาลทรายกินแก้ระส่ำระสาย แก้หัวใจให้พิการต่างๆ ให้คลั่งไคล้ต้องคุณไสยอสรพิศม์กฤติยาคม แห่งมะนุษแลเทวะดาแลปิศาจก็ดีหายแล

ขนานหนึ่งชื่อมหาสดมภ์ แก้ลมจับหัวใจ แก้โลหิตกำเริบ แก้ลมกำเริบ จับหัวใจให้นอนนิ่งแน่ไปก็ดี แลลิ้นกระด้างคางแข็ง เรียกไมได้ยินอ้าปากมิออก ท่านให้เอาชะมดเชียงส่วน ๑ พิมเสน ๑ การะบูร ๑ เทียนดำ ๑ ดองดึง ๑ เจ็ตมูลเพลิง ๑ เอาสิ่งละ ๒ ส่วน กฤษณา ๑ กะลำภัก ๑ จันทน์เทศ ๑ สิ่งละ ๓ ส่วน กำยาน ๔ ส่วน ขิง ๑ ดีปลี ๑ สิ่งละ ๘ ส่วน สนเทศ ๔ ส่วน บดด้วยน้ำมะนาวเปนกระสาย ปั้นแท่งผึ่งในร่มให้แห้งแล้วใส่ขวดปิดไว้อย่าให้ลมเข้าได้ ถ้าลมจับแน่ไปฝนด้วยน้ำมะนาว ๗ เม็ด คัดปากกรอกเข้าไปฟื้นแล

ถ้าให้ระส่ำระสายหิวโหยหาแรงมิได้ ฝนด้วยน้ำดอกไม้เทศหรือดอกไม้ไทยก็ได้ แซกน้ำตาลกรวดกินหายแล ยานี้วิเศษนัก

ตับ แตกหรือพิการก็ดี เปนโทษ ๔ ประการ ล่วงเข้าลักษณะอติสาร คือกาฬผุดขึ้นในตับให้ตับหย่อนแลซุด บางทีเปนฝีขึ้นในตับ ย่อมให้ลงเปนเลือดสดๆ ออกมา อันนี้คือกาฬมูตร์ผุดขึ้นต้นลิ้นกินอยูในตับ ให้ลงเสมหะแลโลหิตเหน้าปวดมวนเปนกำลัง ให้ลงวันละ ๒๐ หรือ ๓๐ หน ให้ตาแข็งแลแดงเปนสายเลือดผ่านตาไป แพทย์ไม่รู้ถึง สำคัญว่าเปนบิด โทษกาฬมูตร์กระทำต่างๆ ย่อมนั่งก้มหน้าอยูมิได้ดูคน สมมุติว่าปิศาจกระสือเข้าปลอมกิน เพราะคนไข้นั้นมักให้เพ้อหาสติมิได้ ยอมเจรจาด้วยผี มิใช่ปิศาจแลกระสือเลย โรคหมู่นี้มันหากเปนเองเปนเพราะโทษปถวีธาตุแตก มันให้ระส่ำระสายเปนกำลัง บริโภคอาหารมิได้ ให้หายใจไม่ถึงท้องน้อย ลักษณะทั้งนี้คือปถวีธาตุแตกให้โทษ ๔ ประการดังกล่าวมานี้ ถ้าพร้อมกันแล้วแพทย์ผู้ใดจะแก้เปนอันยากเปนโรคตัดแล ถ้าเปนแต่ประการใดประการหนึ่ง ยังมิพร้อมทั้ง ๔ ประการ ท่านให้แก้ด้วยสรรพคุณยาตามบุญเถิด ถ้าแพทย์ผู้ใดจะแก้ให้แก้แต่ต้นไข้ไปก่อน เพราะปถวีธาตุแตกก่อน เอายาอันชื่อว่าเบ็ญจอำมพฤกษ์ ชำระให้ลงเสียก่อนให้สิ้นร้ายแล้วจึงแต่งยาสำหรับธาตุกินต่อไป เอารากมะตูม ๑ รากมะดูก ๑ รากทองพันชั่ง ๑ โกฐทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ สมอทั้ง ๓ ผลผักชีทั้ง ๒ สารส้ม ๑ น้ำประสานทองสตุ ๑ ดินประสิวขาว ๑ เปราะหอม ๑ เอาสิ่งละ ๑ ส่วน เจ็ตมุลเพลิง ๑ ขิงแห้ง ๑ รากขี้กาแดง ๑ เทพธาโร ๑ จุกโรหินิ ๑ เปลือกสมุลแว้ง ๑ โคกกระสุน ๑ เอาสิ่งละ ๒ ส่วน สะค้าน ๑ ชาพลู ๑ ดีปลี ๑ เอาสิ่งละ ๓ ส่วน เปลือกมูกมัน ๔ ส่วน แห้วหมู ๕ ส่วนหรือ ๘ ส่วนต้มก็ได้ ถ้าจะตำละลายน้ำมะนาวน้ำมะกรูดก็ได้ น้ำส้มซ่าหรือน้ำผึ้งก็ได้ กินหายแล

ขนานหนึ่งเอา แก่นพรม ๑ หัวใจพระยาไม้ราบ ๑ แก่นแสมทั้ง ๒ มหาละลาย ๑ เอาสิ่งละ ๑ ส่วน ขมิ้นเครือเท่ายาทั้งหลาย กำลังวัวเถลิง เท่า ๒ ส่วนขมิ้นเครือ ถ้าจะดองใส่ดีเกลือลงส่วน ๑ ดองด้วยเหล้า ๕ ทนาน ถ้าจะทำเปนผงละลายด้วยน้ำใบขี้เหล็กหรือน้ำมะกรูด น้ำมะนาวหรือนาส้มซ่า น้ำขมิ้นอ้อยก็ได้ ให้ยักดูตามโทษ กินแก้ตับหย่อนแลตับซุดแล

ขนานหนึ่งชื่อกล่อมนางนอน (ใหญ่) ล้อมตับไว้มิให้ซุดลงได้ ท่านให้เอาโกฐทั้ง ๙ เทียนทั้ง ๕ พิกุล ๑ ไคร้เครือ ๑ สังกะระนี ๑ เกสรบัวทั้ง ๕ บุนนาก ๑ สาระภี ๑ มะลิ ๑ กฤษณา ๑ กะลำภัก ๑ ขอนดอก ๑ ชะลูด ๑ ชะเอมเทศ ๑ น้ำประสานทอง ๑ ผงใบลานแก่ ๑ กระดองปูป่า ๑ ชะมด ๑ พิมเสน ๑ เอาส่วนเท่ากัน น้ำดอกไม้เปนกระสาย บดแล้วใส่ขันสัมฤทธิ์รมควันเทียนให้สบกันแล้วทำแท่งไว้ ฝนด้วยน้ำกฤษณากินแก้ระส่ำระสาย ถ้าลงเปนมูกเปนเลือดละลายน้ำกล้วยตีบ ถ้าจะแก่เสมหะละลายน้ำเกลือน้ำมะแว้งเครือ ถ้าแก้ร้อนน้ำดอกไม้ทั้งกินแลชะโลม ถ้าจะล้อมตับดับพิศม์ไข้พิศม์ฝีพิศม์ตานทรางขโมยพิศม์ฝีกาฬ เอารากมะผู้ ๑ รากมะเมีย ๑ รากมะเฟือง ๑ รากต่อไส้ ๑ ฝาง ๑ ต้มเอาน้ำละลายยานี้กินหายแล

ขนานหนึ่งเอา รากมะกรูด ๑ รากมะนาว ๑ รากมะขาม ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ ให้กินก่อนแล้วจึงแต่งยาพอกอก เอากระดูกคน ๑ กระดูกค่าง ๑ กระดูกคางกระบือ ๑ กระดูกคางหมู ๑ กระดูกทั้งนี้เผาไฟให้ไหม้ ขมิ้นอ้อย ๑ ไพล ๑ เอาส่วนเท่ากันบดพอกอกหายแล

ถ้ามิฟัง ให้เอาใบเสนียด ๑ รากผักหนาม ๑ รากตุมกา ๑ รากผีเสื้อน้อย ๑ รากผีเสื้อใหญ่ ๑ รากตาเสือ ๑ รากมะตูม ๑ รากขี้เหล็ก ๑ รากคัดเค้า ๑ รากมะตาดต้น รากมะตาดเครือ ๑ รากมะดูก ๑ โลดทนง ๑ ตับเต่าทั้ง ๒ รากขอบชะนางทั้ง ๒ ตะไคร้ทั้ง ๒ รากหมอน้อย ๑ รากสนุ่น ๑ รากฆ้องกลอง ๑ รากบัว ๑ ระย่อม ๑ ว่านน้ำ ๑ สลัดใด ๑ ชิงช้าชาลีทั้ง ๒ รากละหุ่งทั้ง ๒ รากมะเดื่อดิน ๑ รากกล้วยตีบ ๑ รากคนทา ๑ หัวเอ็น ๑ รากเหลาเหล็ก ๑ รากมะพร้าว ๑ รากตโนด ๑ รากปรู ๑ รากคาง ๑ รากเล็บมือนาง ๑ รากสีหวด ๑ รากซองแมว ๑ หญ้าปี่นตอ ๑ รากผักเข้า ๑ รากผักไห่ ๑ รากครามทั้ง ๒ รากครอบนา ๑ รากไก่ไห้ ๑ รากกระดอน ๑ รากกล้วย ๑ ขิง ๑ ยาทั้งนี้สับใส่หม้อต้มรมก็ได้ หุงเปนชี่ก็ได้ หายแล

ถ้ามิฟัง เอารากละหุ่ง ๑ รากประดู่ ๑ เอื้องเพ็ดม้า ๑ หัวกระเช้าผีมด ๑ เปล้าทั้ง ๒ รากสนุ่น ๑ เถาชาลี ๑ รากมะเดื่อ ๑ รากขี้เหล็ก ๑ รากเทียน ๑ รากผีเสื้อทั้ง ๒ สหัสคุณทั้ง ๒ โรคทั้ง ๒ เจ็ตมูลเพลิง ๑ รากมะงั่ว ๑ รากมะนาว ๑ รากเล็บเหยี่ยว ๑ เอาเท่ากันสับผึ่งแดดให้หมาดๆ แล้วต้ม ๓ เอา ๑ แล้วสงกากผึ่งแดด ตำผงใส่ลงในน้ำยาอิกเล่า จึงเอายาปรุงลงเอาพิมเสน ๑ มหาหิงคุ์ ๑ เปลือกมะทราง ๑ เทียนดำ ๑ เทียนแดง ๑ โกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ จันทน์ทั้ง ๒ ขิงแครง ๑ กำยาน ๑ ดีปลี ๑ ยาทั้งนี้ตำเปนผงแล้วเอาผลสลอดปอกเปลือกแล้ว ๖ บาท ให้ประสะผลสลอด วันที่ ๑ ให้ต้มด้วยใบพลูแก วันที่ ๒ ต้มด้วยช้าพลู วันที่ ๓ ต้มด้วยใบพริกเทศ วันที่ ๔ ต้มด้วยใบมะขาม วันที่ ๕ ต้มด้วยน้ำเกลือ วันที่ ๖ ต้มด้วยเข้าสาร วันที่ ๗ ต้มด้วยมูตร์โคดำ ครั้นต้มด้วยยาทั้ง ๗ วันนี้แล้ว จึงเอายางสลัดใด ๑ ตำลึงประสมกันเข้าเอาพริกไทย ๑๐ บาท ผลสลอด, ยางสลัดใด, พริกไทย, สามสิ่งนี้ ตำเปนผงระคนกับยาผงที่ตำไว้แล้วนั้น คลุกกับน้ำยาที่ต้มไว้แล้วนั้นผึ่งแดดให้แห้ง บดปั้นแท่งไว้เท่าเมล็ดพลิกไทยกินเม็ด ๑ ลงจนเสมหะแลเสมหะพิการเปนต่าง ๆ ดังกล่าวมานั้นหายแล

พังผืด พิการมักให้อกแห้ง กระหายน้ำ อย่างนี้คือโรคริดสิดวงแห้งนั้นแล

ถ้าจะแก้เอา รากเปล้าน้อย ๑ รากหญ้างวงช้าง ๑ พริก ๗ ขิง ๗ หอม ๗ กะเทียม ๗ เกลือ ๗ เม็ด บดให้กิน ถ้ามิฟังเอามาดเหลือง ๑ ดินประสิวขาว ๑ สลอด ๑ บดด้วยน้ำกล้วยตีบปั้นแท่งเท่าเม็ดพริกไทย ใส่ในมะนาวกินทีละ ๑ เม็ดหายแล

พุง พิการให้ขัดอก ให้ท้องขึ้นท้องพองให้แน่นในอกในท้อง กินอาหารมิได้ ถ้าจะแก้เอาเบ็ญจกูลหนึ่ง ขมิ้นอ้อย ๑ บรเพ็ด ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ รากขัดมอน ๑ ผลผักชี ๑ แห้วหมู ๑ เอาส่วนเท่ากัน ต้มกินบำรุงธาตุก่อน ถ้ามิฟัง เอารากพันงูแดง ๑ รากมะตูม ๑ รากไก่ให้ ๑ รากเบ็ญจมาศ ๑ ใบพลูแก ๑ ต้มน้ำอาบด้วยหายแล

ถ้ามิฟัง เอาเปลือกฝรั่ง ๑ พรายชะมบ ๑ ต้มอาบ ถ้ามิฟังเอาพิลังกาสาทั้ง ๕ ต้มกินด้วยเหล้า ถ้ามิฟังเอาเปล้าน้อย ๑ พริก ๗ ขิง ๗ หอม ๗ เกลือ ๗ เม็ด บดปั้นแท่งเท่าผลตะขบกินทุกวันหายแล

ปอด ถ้าพิการกระทำอาการดุจดังไข้พิศม์ กาฬขึ้นในปอด จึงให้ร้อนในอก กระหายน้ำ ให้หอบดุจดังสุนักข์หอบแดดจนโครงลด ให้กินน้ำจนปอดลอยจึงหายอยากแล บางทีกินจนอาเจียนน้ำออกมาจึงหายอยาก ถ้าจะแก้เอารากกะถินพิมานต้มกิน ถ้ามิฟังเอาเปลือกขี้อ้าย ๑ เชือกเขาพรวน ๑ ต้นดีงู ๑ รากทรงบาดาน ๑ รากพิลังกาสา ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ กินหายแล ถ้ามิฟังต้มยาเบ็ญจบรรจบให้กินหายแล

ไส้น้อย ถ้าพิการให้กินอาหารผิดสำแลง ให้ปวดท้องให้ขัดอก บางทีให้ลงให้อาเจียน อันนี้คือลมกรรมมัชวาต พัดเอาแผ่นเสมหะให้เปนดาลุ์ กลัดเข้าในท้องในทรวงอกก็ตัดอาหาร ท่านว่าใส้ตีบไป ถ้าจะแก้ท่านให้เอา ฝอยลนเผาไฟ ๑ ฝอยลานเผาไฟ ๑ พริก ๗ ขิง ๗ หอม ๗ บดละลายน้ำร้อนกินหายแล

ถ้ามิฟัง เอาว่านน้ำ ๑ เปลือกไข่เหน้า ๑ สหัศคุณเทศ ๑ เปล้าน้อย ๑ พริก ๑ ขิง ๑ หอม ๑ บดละลายน้ำร้อนกินหายแล

ถ้ามิฟัง เอาแก่นมหาด ๑ พริก ๗ ขิง ๗ กระเทียม ๗ หอม ๗ ต้ม ๓ เอา ๑ ให้กินหายแล

ไส้ใหญ่ ถ้าพิการให้วิงเวียนหน้าตา จะลุกขึ้นให้หาวให้เรอ, ให้ขัดอกแลเสียดข้าง ให้เจ็บหลังเจ็บเอว ให้ไอเสมหะขึ้นฅอ ให้ร้อนฅอร้อนท้องน้อย มักให้เปนลมเรอโอก ให้ตกเลือดตกหนอง ถ้าจะแก้ เอาเหล้าแดง ๑ รากตะไคร้น้ำ ๑ หีบลม ๑ รากอุทุมพร หรือ ชุมพร ๑ รากมะเดื่อปล้อง ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ กินหายแล

ขนานหนึ่งท่านให้เอา ดีปลี ๑ เปล้าน้อย ๑ สะค้าน ๑ รากจิงจ้อหลวง ๑ พลูป่า ๑ ชาพลูก็ว่า ขิงแครง ๑ เกลือสินเธาว์ ๑ เอาส่วนเท่ากันตำผงละลายน้ำร้อนกินหายแล

ขนานหนึ่งเอาใบพลวง ๑ รากกล้วยแดง ๑ รากกล้วยตีบหอม ๑ รากกล้วยหอม ๑ รากตาเสือ ๑ เอาส่วนเท่ากันต้ม ๓ เอา ๑ กินหายแล

ถ้ามิฟังให้เอาใบผักหนอก ๑ รากก้างปลาแดง ๑ รากกำจาย ๑ รากป่านใบ ๑ ยอดมะม่วง ๗ ยอด พริก ๗ ขีง ๗ หอม ๗ เลือดแรด ๑ ตำผงปั้นเม็ดเท่าผลพริกไทย กินเช้าๆ หายแล

อาหารใหม่ ถ้าพิการนั้นคือกินเข้า ๆ ไปอิ่มแล้วเมื่อใด มักให้ร้อนท้องนัก บางทีให้ลงดุจกินยารุ บางทีให้สอึกขัดหัวอก แล้วให้จุกเสียดตามชายโครงผะอืดผะอม สมมุติว่าไฟธาตุนั้นหย่อน โรคทั้งนี้ย่อมให้โทษเพราะอาหารมิควรกินนั้นอย่าง ๑ กินอาหารดิบอย่าง ๑ ลมในท้องพัดไม่ตลอดมักแปรไปเปนต่างๆ บางทีให้ลงท้อง บางทีให้ผูกเปนพรรดึก ให้แดกขึ้นแดกลงกินอาหารมิได้ ถ้าจะแก้ให้เอารากไก่ไห้ ๗ ขิง ๗ พริก ๗ กะเทียม ๗ พริกเทศทั้ง ๕ บดเปนลูกกลอนกิน

ถ้ามิฟังเอาผลเบ็ญจกานี ๑ พริก ๗ ขิง ๗ กะเทียม ๗ รากเข้าสาร ๗ ท่อน ต้ม ๓ เอา ๑ กินหายแล

อนึ่งท่านให้แต่งยาปถวีธาตุ เอาพริกส่วน ๑ ขิงแห้ง ๒ ส่วน สะค้าน ๓ ส่วน รากชาพลู ๔ ส่วน ดีปลี ๖ ส่วน แห้วหมู ๗ ส่วน เปลือกไข่เหน้า ๘ ส่วน ต้ม ๓ เอา ๑ กินหายแล

อาหารเก่า ถ้าพิการคือทรางขะโมยกินลำไส้ ถ้าพ้นกำหนดทรางแล้ว คือเปนริดสิดวงนั้นเองแล

ถ้าจะแก้ ให้เอาพระยาลำแพน ๑ รากหนามแดง ๑ ฝ้ายแดงทั้งรากแลใบ ๑ หนามขี้แรด ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ แล้วปรุงพริก ๗ ขิง ๗ กะเทียม ๗ กินหาย

ถ้ามิฟัง เอารากชาเลือด ๑ ผักเสี้ยนผี ๑ รากหญ้านาง ๑ รากขี้กาแดง ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ ปรุงพริก ๗ ขิง ๗ กะเทียม ๗ กินหายแล

ถ้ามิฟัง เอามะกรูดผล ๑ ต้มขึ้นให้รอุแล้วชั่งขึ้นกับยาเบ็ญจกูลให้เท่ากันจึงเอาการะบูร ๑ พริกไทย ๑ เกลือสินเธาว์ ๑ เอาสิ่งละ ๑ ส่วน มหาหิงคุ์ ๑ กระเทียม ๑ สิ่งละ ๒ ส่วน ประสมกันเข้าบดกินหนัก ๑ สลึง กินเช้าเย็น เปนยาบำรุงธาตุแก้ริดสิดวงลงหายแล

เยื่อในสมองศีศะ ถ้าพิการให้เจ็บกระบานศีศะดังจะแตก ให้ตามัวหูตึง ปากแลจมูกให้ชักขี้นเฟ็ดไป ให้ลิ้นกระด้างคางแข็ง แลลักษณะดังนี้ เดิมเมื่อจะเปนเพราะโทษแห่งลมปะกัง ให้ปวดหัวเปนกำลัง ถ้าแก้มิฟังตาย

ถ้าจะแก้ เอาเมล็ดผักกาด ๑ ผลผักชี ๑ หอมแดง ๑ กระเทียม ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ ไพล ๑ ยอดกุ่มทั้ง ๒ บดพอกกระหม่อม ๓ วัน ถ้ามิฟังให้เอาเลือดร้ายออกเสียแล้วเอา ใบฝาง ๑ ใบตุมกา ๑ ต้นขี้แรด ๑ บดด้วยน้ำมะงั่วห่อผ้าขาวอุ่นไฟให้ร้อนประคบที่เจ็บนั้น ๓ วันหายแล

แล้วจึงประกอบยากินต่อไป เอาเปลือกโลด ๑ หญ้ารังกา ๑ แห้วหมู ๑ มูกมัก ๑ ผลผักชีทั้ง ๒ สมุลแว้ง ๑ การะบูร ๑ เอาสิ่งละ ๑ ส่วน ขิง ๒ ส่วน รากชาพลู ๓ ส่วน สะค้าน ๕ ส่วน ดีปลี ๖ ส่วน เจ็ตมูลเพลิง ๗ ส่วน ตำเปนผงละลายน้ำผึ้งกินหายแล

แล้วท่านให้แต่งยาชำระปถวีธาตุ ให้เอาพริกส่วน ๑ ขิง ๒ ส่วน สะค้าน ๓ ส่วน ช้าพลู ๔ ส่วน เจ็ตมูลเพลิง ๘ ส่วน เกสรบัวหลวง ๑ เปลือกมูกหลวง ๑ กกลังกา ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ ยาทั้งนี้สิ่งลง ๑๐ ส่วน บรเพ็ด ๑๒ ส่วน ดีปลี ๑๖ ส่วน แห้วหมู ๑ เปลือกไข่เหน้า ๑ ดอกบุนนาก ๑ เอาสิ่งละ ๒๐ ส่วนต้มให้กินหายแล

ขนานหนึ่งแปลกเข้ามา รสยาฝาดทราบไปในผิวเนื้อ, เอ็น, แลเส้น, รศยาเผ็ดทราบไปในผิวหนังทุกเส้นขน, รสยาเค็มทราบไปทุกเส้นเอ็น แลกระดูกทั่วทั้งสรรพางค์กาย รสยาเปรี้ยวทราบไปในเส้นเอ็น, ทั่วสรรพางค์กาย ถ้าแพทย์ผู้ใดจะประกอบยาสิ่งใด ในคิมหันตฤดู บุราณว่าพิศม์ยาอยู่ราก ในวสันตฤดูว่าพิศม์ยาอยู่ใบ ในเหมันตฤดูว่าพิศม์ยาอยู่เปลือก

อนึ่งสมอไทย ๑ กรุงเขมา ๑ โกฐเขมา ๑ ยาทั้ง ๓ สิ่งนี้มีรสขม แลโกฐพุงปลามีรสฝาดขมสักหน่อย

(ธาตุวิภังค์เล่ม ๒ จบบริบูรณ์เท่านี้)

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ