- คำนำ
- บานแพนก
- ฉันทศาสตร์
- ว่าด้วยทับ ๘ ประการ
- ว่าด้วยคำภีร์ตักกะสิลา
- ว่าด้วยกำเนิดไข้, ด้วยที่อยู่, ฤดู, อาหาร, แลธาตุ
- ว่าด้วยลักษณะน้ำนมดีแลชั่ว
- ว่าด้วยลักษณะอาการไข้ที่เข้าเพศเปนโทษ ๔ อย่าง
- ว่าด้วยกำเนิดแห่งไข้ (โรค) ต่าง ๆ
- ว่าด้วยชีพจร ให้ระวังในการระบายยา
- ว่าด้วยลักษณะธาตุ
- ว่าด้วยป่วง ๘ ประการ
- ตำรายาแก้สันนิบาต สองคลอง และอะหิวาตะกะโรค
- ว่าด้วยสมุฏฐาน
- ว่าด้วยอติสาร
- ว่าด้วยมรณะญาณสูตร์
- ว่าด้วยโรคไภยต่าง ๆ แห่งกุมาร
- พระคัมภีร์ประฐมจินดา
- ว่าด้วยลักษณครรภ (ผูก ๑ บริเฉท ๑)
- คำภีร์ครรภรักษา ลักษณะครรภวารกำเนิด (ผูก ๑ บริเฉท ๒)
- ครรภ์วิปลาศ ครรภ์ปริมณฑล ครรภ์ประสูตร
- ว่าด้วยลักษณกุมาร กุมารออกจากครรภ์ ฝังรกแห่งกุมาร กุมารอยู่ในเรือนเพลิง (ผูก ๑ บริเฉท ๓)
- ว่าด้วยสังโยชน์ลักษณ์สัตรีดีแลชั่ว แลรศน้ำนมดีแลชั่ว (ผูก ๑ บริเฉท ๔)
- ว่าด้วยลักษณะรูปสัตรีแลรูปกุมาร (ผูก ๒ บริเฉท ๑)
- ว่าด้วยลักษณะปักษี แลปิศาจกระทำโทษ ลักษณะน้ำนมมีโทษ ๓ ประการ
- ว่าด้วยลักษณะทราง
- กำเนิดทรางทั้งปวง
- อาการไข้อันบังเกิดแห่งกุมารกุมารีทั้งหลาย
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันอาทิตย์ (ผูก ๓ บริเฉท ๑)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันจันทร์ (ผูก ๓ บริเฉท ๒)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันอังคาร (ผูก ๓ บริเฉท ๓)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันพุฒ (ผูก ๓ บริเฉท ๔)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันพฤหัศบดี (ผูก ๓ บริเฉท ๕)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันศุกร์ (ผูก ๓ บริเฉท ๖)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันเสาร์ (ผูก ๓ บริเฉท ๗)
- คัมภีร์เตร็จซึ่งคัดมาจากคัมภีร์อภัยสันตา ว่าด้วยทรางต่างๆ (ผูก ๔)
- ลักษณะกำหนดทรางแลทรางจร กำลังไข้ กิมิชาติแลตานโจร (ผูก ๕)
- ตานโจรเกิดด้วยธาตุทั้ง ๔ ตานโจรอันเกิดเพื่ออะติสาร (ผูก ๖)
- ตานโจรเกิดเพื่ออติสาร แลว่าด้วยกาฬต่าง ๆ
- ว่าด้วยอุจจาระปัสสาวะแห่งกุมารแลกุมารี แลลักษณะตานจร
- พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์
- คัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด)
- สรรพคุณยาแก้ไข้ทรพิศม์
ครรภ์วิปลาศ ครรภ์ปริมณฑล ครรภ์ประสูตร
ปุน จปรํ บัดนี้จะว่าด้วยลักษณะครรภ์วิปลาศต่อไปตามเรื่องดังนี้โดยสังเขป ปุน จ ปรํ ยาอิตถีคัพภมาธาเรยย เตโชสมุฏธานํ กามวิตักกํ อุปันนํ อุทรํ นปฏิสัน์ธิกํ วตันตรายํสัตตาโหนตีติ (ยาอิตถิ) หญิงจำพวกใด (อาธาเรยย) ทรงไว้ (คัพภํ) ซึ่งครรภ์ (อุปปันนํ) อันบังเกิด (กามวิตักกํ) ซึ่งกามวิตกหนาไป (เตโชสมุฏฐานํ) ด้วยไฟราคอันเปนสมุฏ์ฐานนั้นกล้านัก (สัตตา) สัตว์ทั้งหลาย (นะปฏิสัน์ธิกํ) ก็มิคาจตั้งมูลปฏิสนธิขึ้นได้ (วิตันตราย) ก็มีอันตรายไปต่างๆ (โหนติ) ก็มี (อิติ) ด้วยประการดังนี้ (ยาอิตถี) หญิงพวกใดไม่ควรจะกินก็กิน (วิตัก์กาทิกํ) ซึ่งของอันเผ็ดร้อนเปนต้นต่างๆ (สุวิตาทิสํ) ซึ่งของอันจะให้ลงท้องเปนต้นต่างๆ (นานาวิสํ) คือยาที่จะให้แสลงโรคต่างๆ (อาโปสมุฎ์ฐานํ) เปนลักษณะแห่งธาตุน้ำกำเริบ (ตัส์สปุค์คลัส์ส) แห่งบุคคลผู้นั้นแล (กัป์ปวินาสํ) ก็มีอุปมาดังไฟประไลยกัลป์ อันจะพัดให้ฉิบหายเสียซึ่งสัตว์อันจะมาเอาปฏิสนธินั้น (อิมัส๎มึคัพ์เภ) ในครรภ์แห่งสัตรีนี้ (นฐิตํ) ก็ไม่อาจตั้งมูลปฏิสนธิขึ้นได้ (อิติ) ด้วยประการดังนี้ (อปิจ) อนึ่งโสด (ยาอิต์ถิ) สัตรีใด (โทสจิต์ตํ) มีจิตรมากไปด้วยความโกรธ (ตุริต์ตุริตํ) ก็วิ่งไปมาโดยเร็ว (กธาจิโกธักขณํ) เมื่อขณะโกรธบางที ก็ทอดทิ้งซึ่งตัวเองลง(ปหาริยํ) ยกมือขึ้นทั้งสองประหาร (อัต์ตานํ) ซึ่งตนเอง (อปิจ) อนึ่งโสด (ขราทิยา) หญิงปากร้าย (อโทสกํ) มิรู้จักซึ่งโทษแก่ตน (ปริภาสนํ) ย่อมด่าตัดพ้อเปนอันอยาบช้า (สามิกํ) ซึ่งผัวแห่งตนก็ดี (อัญ์ญชนํวา) ซึ่งผู้อื่นก็ดี (ปรกัป์ปโทสํ) เขาทำโทษคือว่าทุบถองตีโบยด้วยกำลังแรงนั้นต่างๆ สัตรีผู้นั้นก็เจ็บซ้ำ (อุทรํ) ซึ่งครรภ์แห่งหญิงนั้น (ปตติ) ก็ตกไป (อิติ) ด้วยประการดัง (อปิจ) อนึ่งโสด (ยานารี) หญิงพวกใด (ธาเรย์ย) ก็ทรงไว้ (คัพ์ภํ) ซึ่งครรภ์ (อมนุส์โสวา) คือภูตปิศาจหากทำโทษต่างๆ (นฐิโต) ครรภ์นั้นก็มิได้ตั้งขึ้น (สาตรคุเณนวา) บางทีต้องสาตราคมคุณไสยเขากระทำก็ดี (ปุต์ตํ) ลูก (อิมัส๎มึคัพ์เภ) อันอยู่ในครรภ์นั้น (ปัต์ตัน์เตว) ก็ตกไปแท้จริง (เอว) ด้วยประการดังนี้
(จบครรภ์วิปลาศทั้ง ๔ สถานโดยสังเขปแต่เพียงนี้)
----------------------------
ปุน จ ปรํ ทีนี้จะว่าด้วยครรภ์ปริมณฑลต่อไปตามเรื่องดังนี้ ถ้าสัตรีผู้ใดมีครรภ์ตั้งแต่ได้ ๓ เดือน ขึ้นไปจนถึง ๑๐ เดือน แลเปนไข้ดุจกล่าวมาแต่หนหลัง จะแก้ด้วยสิ่งใดๆ ก็มิฟัง ท่านให้แต่งยาขนานนี้กิน โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐก้านพร้าว เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนเยาวพานี เทียนสัตบุศย์ ดอกสัตบุศย์ ดอกบัวเผื่อน ดอกบัวขม ดอกลินจง ดอกจงกลนี กฤษณา กะลำพัก ชะลูด ขอนดอก จันทน์แดง จันทน์ขาว สน กรักขี เทพทาโร สมุนละแว้ง อบเชยเทศ รากสามสิบ ยา ๒๗ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากันต้ม ๓ เอา ๑ กินแก้ไข้ในครรภ์รักษาตลอดไปแต่ต้นจนปลายดีนัก ภาคหนึ่งท่านให้เอา แก่นขี้เหล็ก แก่นสเดา แก่นสน จันทน์แดง จันทน์ขาว รากหญ้านาง ผลมะขามป้อม ผลกระดอม บรเพ็ด ผลมะตูมอ่อน หัวแห้วหมู ฝักราชพฤกษ์ ก้านสเดา ๓๓ ก้าน ยา ๑๓ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน ต้ม ๓ เอา ๑ กินแก้ครรภรักษาแลแก้ไข้เปนต่างๆ ให้จับให้ลงให้รากเปนโลหิต แลพิศม์โลหิตทำต่างๆ ถึงว่าคลอดแท้งลูกโลหิตทำให้ร้อนแลหนาว ให้ระส่ำระสายก็ดี ให้กินยานี้หายสิ้น ได้ใช้มามากแล้ว ถ้ามีครรภ์ให้ลงโลหิต ถ้าจะแก้ให้เอาสานส้ม พริกไทย ฝาง ขันทศกร ต้ม ๓ เอา ๑ กินหาย ภาคหนึ่งเอากล้วยไม้ เข้าติดน่าตะโพน สานส้ม พริกไทยหน่อยหนึ่ง บดละลายน้ำมะงั่วกินเท่าผลพุดทราหาย ถ้ามีครรภ์ให้โลหิตตกทวารหนักทวารเบา ท่านให้เอาขิงแห้ง ชะเอม แก่นสนเทศ บดละลายน้ำสุรากินหาย ภาคหนึ่งท่านให้เอาเปลือกมะเดื่อดิน รากชาพลู รากกล้วยตีบ ยา ๓ สิ่งนี้ทำเปน ๓ ส่วน เอาน้ำผึ้งส่วนหนึ่งบดกินเช้าหาย ภาคหนึ่งเอาขมิ้นอ้อย ไพล ผลผักชีล้อม บดละลายมูตร์โคกินหาย ถ้าไม่หายท่านให้เอา เปลือกมะม่วงคัน เปลือกพยอม (สามใบต่อ) รากทุงเทง ต้ม ๓ เอา ๑ กินจอกหนึ่งหาย ถ้ามีครรภ์ให้เปนบิด ท่านให้เอา เกสรบัวหลวง ผลทับทิมอ่อน เปลือกมะขามครั่ง บดละลายน้ำร้อนกินหาย ถ้าไม่หายเอาผลจันทน์หอม ๓ ผล ทะลายหมากดิบยาว ๓ คืบ บดละลายน้ำสุรากินหาย ถ้าไม่หายให้เอาลูกบิดเท่าอายุ เอาเหล็กบิดใชลงที่ไม้สักสามรู แล้วบิดคลายออกเอาขุย ๑ ผลเบ็ญจกานี เม็ดในมะกอก เอาส่วนเท่ากัน ต้ม ๓ เอา ๑ กินหาย ถ้าไม่หาย เอาเม็ดในมะม่วงกะล่อน ๕ เม็ด สน สัก กรักขี กฤษณา ผลจันทน์เกาะ ผลเบ็ญจกานี เปลือกปะโลง ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากันต้ม ๓ เอา ๑ เอาน้ำปูนใสเปนกระสายต้มกินหาย ยาชื่อมหาอุดมแก้บิดขนานนี้ ท่านให้เอา ครั่ง ผลเบ็ญจกานี สีเสียดเทศ ชันไม้ตะเคียน ขมิ้นอ้อย ผลจันทน์ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากันทำเปนจุณแล้ว เอาใส่ในผลทับทิมสุมไฟแกลบให้สุกแล้ว บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใส เอาน้ำผึ้งรำหัดกินหาย ดีนักได้ใช้มาแล้ว ถ้าหญิงมีครรภ์ได้ ๓ เดือน แลให้เปนบิดปวดมวนมูกเลือด เอาผลในมะกอกตำให้แหลก คางปลาช่อน ต้มกินหาย ถ้าหญิงมีครรภ์ได้ ๔ เดือน แลให้เปนบิดปวดมวนมูกเลือด ขนานนี้ท่านให้เอา จันทน์แดง จันทน์ขาว หว้านกีบแรด หว้านร่อนทอง สังกะระณี เนระพูสี ผลจันทน์ ดอกจันทน์ ผลเบ็ญจกานี ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน เอาผลตะบูนเท่ายาทั้งหลาย ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำผลพลับจีนกินหาย ยาชื่อกุมาระรักษาขนานนี้ ท่านให้เอาเทียนทั้ง ๕ ผลเบ็ญจกานี ผลจันทน์ ดอกจันทน์ เนระพูสี ผลสาระพัดพิศม์ หว้านกีบแรด หว้านร่อนทอง จันทน์ทั้ง ๒ กะถินแดง รากไคร้เครือ ผลตะบูน สันพร้านางแอ ๓ ส่วน ผลตะลุมพุก ๔ ส่วน ตุมกาแดง ๕ ส่วน ยา ๒๙ สิ่งนี้ ทำให้เปนจุณบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำจันทน์กินแก้บิด แลสมานลำไส้ รักษากุมารในครรภ์ไว้ แลแก้ตรีโทษ แลอะติสาร ครรภ์รักษาหายแล
ถ้าหญิงมีครรภ์แลให้ลงโลหิตก็ดี แลให้ตกหนองเปนมูกเปนเลือดก็ดี ท่านให้เอา รากเท้ายายม่อม สน เอาสิ่งละ ๑ บาท ต้มด้วยสุราครึ่ง ๑ น้ำครึ่ง ๑ กินหาย ถ้าหญิงมีครรภ์ได้ ๗ เดือน ๘ เดือน แลกุมารในครรภ์นั้นไม่ไหวไม่ติงไม่ดิ้นไม่รนเลย ถ้าจะแก้ ให้เอา แห้วสด กระจับสด เกสรบัวหลวง ดอกจงกลนี รากรักซ้อน รากสามสิบ เทียนเข้าเปลือก ขันทศกร ยา ๘ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากันทำเปนจุณ บดทำแท่งไว้ละลายน้ำนมโคกิน กุมารในครรภ์ไหวตัวติงตัวได้ดีนัก ภาคหนึ่งท่านให้เอา แห้วสด กระจับสด ชะเอมเทศ หญ้าเกล็ดหอยใหญ่ เปลือกสะเดา ยา ๕ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดละลายน้ำนมโคกิน กุมารดิ้นรนได้ดีนัก ภาคหนึ่งท่านให้เอา ดอกจงกลนี ดอกบัวหลวง รากกนาก ชะเอมเทศ ขันทศกร ยา ๕ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดละลายน้ำนมโคกิน กุมารที่อยู่ในครรภ์นั้นเปนปรกติดี ถ้าหญิงมีครรภ์แต่เดือน ๑ ไปจนถึง ๒ เดือน ๓ เดือน แลให้เปนพรรดึกแล้วให้จุกให้แดกอกก็ดี ถ้าจะแก้ท่านให้เอา เบ็ญจกระดอม แก่นขี้เหล็ก ต้ม ๓ เอา ๑ กินหาย แลกล่อมกุมารในครรภ์มิให้เปนอันตรายดีนัก ถ้าหญิงมีครรภ์ได้ ๔ เดือน ๕ เดือน แลให้ผูกเปนพรรดึกก็ดีเปนบิดก็ดี ถ้าจะแก้ท่านให้เอา ผลเถาคันที่สุกนั้นมาล้างเอาเนื้อออกเสีย เอาแต่เม็ดในห่อผ้าทุบให้แหลก แล้วแช่น้ำไว้คืนหนึ่ง แล้วจึ่งเอาหอยโข่งสดทั้งเปลือก มาต้มขึ้นคับเถาคันให้สุก แล้วจึ่งกินแต่ถ้วยน้ำชาหนึ่งหายแล ถ้าหญิงมีครรภ์ได้ ๖ เดือน ๗ เดือนแล้วให้เปนพรรดึก ให้จุกให้เสียด ถ้าจะแก้ท่านให้เอา ไพล ใบสลอด ยา ๒ สิ่งนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท ขิงสด ๒ สลึง ต้ม ๓ เอา ๑ แล้ว เมื่อจะกินให้เอาพริกไทย ๙ เม็ด กระเทียม ๓ กลีบ เกลือ ๓ เม็ด จันทน์หอมปรุงลง กินสักครู่หนึ่งจึ่งบดใบพลูแก่ทาด้วยหายดีนัก ถ้าหญิงมีครรภ์ได้ ๘ เดือน ๙ เดือน ๑๐ เดือน แลให้เปนพรรดึกก็ดี เปนบิดก็ดี ถ้าจะแก้ท่านให้เอา ดอกบัวน้ำทั้ง ๕ ดอกจำปา ดอกกระดังงา ยา ๗ สิ่งนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท เอาตรีกระฏุก มหาหิงคุ์ ชะเอมเทศ ยา ๕ สิ่งนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท ตำเปนจุณบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำผึ้ง น้ำร้อน น้ำอ้อยก็ได้ เอาพิมเสนรำหัดกินหายดีนัก ถ้าหญิงมีครรภ์แลกุมารนั้นดิ้นรนนัก ถ้ามิดังนั้นมารดากินของแสลง คือของร้อนแลเผ็ดเข้าไป กุมารนั้นจึ่งดิ้นรนนัก ถ้าจะแก้ท่านให้เอายาชื่อว่ากล่อมนางนอนนั้นให้กิน ตั้งแต่ครรภ์ได้เดือน ๑ ไปจนถึง ๑๐ เดือนเปนกำหนด เพื่อจะมิให้ครรภ์เปนอันตรายด้วยพิศม์ต่างๆ คืออสรพิศม์ขบเอาแม่ก็ดี แม่ออกทรพิศม์ก็ดี หรือเปนฝีภายในทั้ง ๕ ประการก็ดี อันบังเกิดแก่หญิงซึ่งมีครรภ์อ่อนแลแก่ก็ดี พิศม์นั้นมากนักดุจกล่าวมานี้ ท่านให้แต่งยาชื่อว่ากล่อมกุมารขนานนี้ขี้นไว้ให้กินหาย หวังจะกันซึ่งอันตรายในครรภ์ทั้งปวง แต่บรรดาที่จะเปนต่างๆ ให้ถึงซึ่งความฉิบหายนั้น ยาชื่อว่ากล่อมกุมารขนานนี้ ท่านให้เอาเทียนทั้ง ๕ โกฐทั้ง ๙ เกสรบัวทั้ง ๕ รากไคร้เครือ สังกะระณี ชะลูด ขอนดอก ชะเอมเทศ น้ำประสานทอง จันทน์ทั้ง ๒ กฤษณา กะลำพัก ผิวมะตูมอ่อน ชะมด พิมเสน ยาทั้ง ๓๒ สิ่งนี้เอาสิ่งละ ๒ สลึง แล้วทำเปนจุณ เอาน้ำดอกไม้เปนกระสายบดทำแท่งไว้ ถ้าจะแก้กระสับกระส่าย ละลายน้ำดอกไม้ ชะมด พิมเสน รำหัด กิน ถ้าจะแก้เชื่อมละลายน้ำกฤษณากิน ถ้าจะแก้มูกเลือดละลายน้ำเปลือกแคแดงแซกฝิ่นกิน ถ้าลงนักละลายน้ำกล้วยตีบกิน ถ้าจะแก้เสมหะติดลำฅอ ละลายน้ำมะแว้งเครือกิน ถ้าจะแก้ร้อนละลายน้ำดอกไม้ทั้งกินทั้งชะโลม แก้ในกุมารรักษาได้ทุกประการ หายดีนัก ถ้าหญิงมีครรภ์แก่อยู่แล้ว กุมารดิ้นรนกระสับกระส่ายนัก แลให้ร้อนในอุทรเปนกำลัง ท่านให้เอาเปลือกมะตูมฝนด้วยน้ำปูนใสทาให้ทั่วท้อง แก้กระวนกระวายกุมารอยู่ในครรภ์นั้นก็เปนปรกติ
ถ้าหญิงมีครรภ์แก่แลคลอดบุตร์นั้นยากนัก ท่านให้เอาขมิ้นอ้อย ๓ ชิ้นฝานดังนี้ () สมอเทศ ๙ ผล สมอไทย ๙ ผล สมอพิเภก ๙ ผล เถาวัลย์เปรียงยาวคืบหนึ่ง ๓ ท่อน ใบมะกาเต็มกำมือ กลั้นใจตัดหัวตัดท้าย ต้ม ๓ เอา ๑ กินให้ลงไป ๒ เวลา ๓ เวลา บุตรนั้นคลอดง่ายสดวกดีนัก หญิงมีครรภ์บุตรไม่ออก ท่านให้เอาขี้เทาลูกโคในท้อง ใบปีบบดทาฝ่าเท้า ถ้าบุตรออกแล้วให้เอาน้ำล้างยานั้นเสียโดยเร็ว ถ้าไม่ล้างไส้พุงจะขาดออกมา เปนยาเสดาะลูกดีนักได้ใช้มาแล้ว
ยาชักมดลูกขนานนี้ท่านให้เอา รากมะยมตัวผู้ รากส้มป่อย รากมะขามขี้แมว ใบขนุน ยางแสมเทล ต้ม ๓ เอา ๑ กินเปนยาชักมดลูกดีนัก ได้ใช้มามากแล้ว
ถ้าหญิงคลอดบุตรแลรกขาดอยู่ในครรภ์นั้น ท่านให้เอายอดฝ้ายแดง ๗ ยอด พริกไทย ๗ เม็ด ขิง ๗ ชิ้น กระเทียม ๗ กลีบ บดด้วยสุรากินเปนยาเสดาะรกดีนัก ได้ใช้มามากแล้ว
ถ้าหญิงมีครรภ์แลกุมารตายในครรภ์นั้น ท่านให้เอาโคนกล้วยตานีเหน้า ผลฟักเขียว ผักแว่น เอาส่วนเท่ากัน บดพอกท้องน้อยครู่หนึ่งบุตรจะตกออกมา เปนยาเสดาะลูกตายในท้องดีนัก
ถ้าหญิงมีครรภ์แลให้เปนลมจับนิ่งไปให้ลิ้นกระด้างคางแข็งให้หน้ามืดไปคนเรียกก็ไม่ได้ยิน ท่านให้แต่งยานัดถุ์ขนานนี้ ให้เอาพริกไทยล่อน เปลือกไข่ฟัก ดีปลี เบี้ยตัวผู้เผาไฟ ใบหนาด เทียนดำ น้ำประสานทอง รังหมาล่า ชะเอม ข่าแห้ง อบเชยเทศ เอาสิ่งละ ๑ บาท การพลู ๒ สลึง ขิงแห้ง ๑ บาท พิมเสน แมลงมุมตายซาก ๓๓ ตัว ยา ๑๕ สิ่งนี้ ทำให้เปนจุณแล้ว จึ่งเอาชะมดเชียง พิมเสนแซกบดให้เปนปรมาณูไว้นัดถุ์ แก้ลมอันชื่อว่าอุทรสุนทรวาต แลลมวาตภัคค์ แลลมอันชื่อว่าวาโยเนาวนารี ลมอันบังเกิดแก่สัตรีอันมีครรภ์ก็ดี ออกลูกแล้วก็ดี แลโลหิตดีขึ้นทำเพศต่างๆ ดุจดีงปีศาจเข้าสิงอยู่ในตัวก็ดี ให้เอายาขนานนี้นัดถุ์หาย ยาขนานนี้ชื่อ ธนูกากะ กาย่อมกลัวธนูฉันใดก็ดี อันว่าลมโลหิตปีศาจทั้งหลายนั้นย่อมกลัวยาขนานนี้ ดังกากลัวธนูฉนั้น
ถ้าหญิงมีครรภ์แลให้จุกให้เสียดให้รากแลให้ลงให้เหงื่อตกนักเพื่อลมอุทรวาต เปนป่วงลมก็ดี ถ้าจะแก้ท่านให้เอา เทพทาโร เกล็ดปลาช่อนเผาไฟ ใบพลวงเผาไฟ รากขัดมอน ผลจันทน์ ขิงสด กระเทียมกรอบ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๒ สลึง พิมเสน ๑ บาท ยา ๙ สิ่งนี้ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ละลายน้ำลูกจากกินหาย ยาชะโลมแก้เหงื่อตกท่านให้เอาก้ามปูทเล ผลถั่วภู ดินสอพอง ผิวมะตูมอ่อน เปราะหอม ว่านน้ำ พิมเสน ยา ๗ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ชะโลมแก้ตัวเย็นหายดีนัก
จบลักษณครรภปริมณฑลโดยสังเขปเพียงนี้
----------------------------
ตัส๎มึอปรภาเค กุมารปฏิสันธิกํ ทสมาเสสุ ปกติยา อนันตราเยน เอกวาโตนาม กัมมัชชวาโต นิกเขโปโหติ ปัตตสิเส อุฏฐายาติ (ตัส๎มึขเณ) ในขะณะนั้น (กุมาเร) ในเมื่อกุมารกุมารีทั้งหลาย (ปฏิสันธิกํ) มาเอาปฏิสนธิ (มาตุคัพภํ) ในครรภ์แห่งมารดา (อปรภาเค) อยู่จำเนียรกาลมาเมื่อน่า (อนันตราเยน) หาอันตรายมิได้ (ปกติยา) ก็มีชีวิตรเปนปรกติอยู่ (อุทเร) ในอุทรแห่งมารดา (ยาว ทสมาเส) ตั้งแต่อยู่ในครรภนั้น ตราบเท่าถ้วนทศมาศ คือ ๑๐ เดือนเปนกำหนด ตามธรรมดาประเพณี (เอกวาโต) ยังมีลมจำพวกหนึ่ง (กัมมัชชวาโต นาม) ชื่อว่า กัมมัชชวาต (นิกเขโป) ก็บังเกิดพัดกำเริบแห่งเส้นแล เอ็นที่รัดรึงตัวกุมารนั้นไว้ (ปัตตสีเส) ก็ให้กลับเอาศีศะลงเบื้องต่ำ (นักขัตตนิกขมํ) ฤกษยามดีแล้ว กุมารแลกุมาริทั้งหลายนั้น ก็คลอดออกจากครรภ์แห่งมารดานั้น (ต้นฉบับเปนภาษาบาฬีอยู่ กุลบุตรผู้มีปัญญาน้อยก็จะไม่เข้าใจ จึงแปลออกเปนภาษาไทยดังนี้) ในเมื่อกุมารแลกุมารีทั้งหลาย คลอดออกจากครรภ์แห่งมารดา อันจิตรคิดว่าจะแทนคุณแห่งมารดานั้น ก็เคลิ้มไปให้ลืมเสียสิ้น เพราะว่าสดุ้งตกใจกลัว ด้วยลุอำนาจแก่ลมกัมมัชชวาตนั้น อุปไมยดังบุรุษอันตกลงจากที่อันสูง โดยประมาณได้ร้อยชั่วบุรุษ อันความสดุ้งตกใจก็มีอุปไมยดังนั้น ถ้าจะความเจ็บนั้นฉันใดก็ดี ก็มีอุปไมยดังช้างสารตัวกล้า อันบุลคลขับไล่ให้ออกจากช่องดาลอันน้อยขัดมิได้ ก็จำไปด้วยกำลังกลัวหมอแลควาน อันว่าความเจ็บปวดสุดที่จะพรรณา เหตุดังนั้นกุมารแลกุมารีทั้งหลาย จึงบังเกิดโรคพยาธิต่างๆ เพราะหมอผดุงครรภ์แลแม่มด ข่มขี่เอาด้วยกำลังแรง อันว่ากุมารแลกุมารีที่อยู่ในครรภ์นั้น, กระดูกแลเส้นเอ็นยังอ่อนอยู่ก็คลาดจากที่สิ้น, ซึ่งว่าดังนี้ด้วยกุมารแลกุมารีเปนปุถุชน, อันว่าประเพณีพระบรมโพธิดสัตว์เจ้านั้น, จะได้ลุอำนาจแก่ลมกัมมัชชวาต แลสดุ้งตกพระไทยไหวหวั่นนั้นหามิได้ แลเมื่ออยู่ในท้องมารดานั้นจะได้ทนทุกขเวทนาเหมือนปุถุชนนั้นก็หามิได้ ทรงนั่งผินพระภักตร์ออกสู่ประเทศอุทรแห่งสมเด็จพระพุทธมารดา พระพุทธองค์ทรงสมาธิดุจดังพระธรรมกถึก สำแดงธรรมเทศนาจบแล้ว แลลงจากธรรมาศน์ฉนั้น พระอาจาริย์เจ้าท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ประฐมจินดานี้ ว่าแพทย์ผู้ใดจะพยาบาลรักษากุมารแลกุมารีสืบต่อไปเมื่อน่า ให้ดูกุมารแลกุมารีเมื่อแรกตกฟากนั้นก่อน, อันว่ากุมารแลกุมารีทั้งหลาย เมื่อลุอำนาจแก่ลมกัมมัชชวาต พัดให้กลับศีศะลงเบื้องต่ำนั้น เมื่อกุมารแลกุมารีนั้นตกใจดิ้นเกลือกไป มือคว้าเท้าถีบฉีกสายรกนั้นให้ขาดเสียสิ้น อันว่าโลหิตในอุทรแห่งมารดา แลโลหิตในสายรกอันขาดออกนั้น กระจายออกอยู่ในอุทรประเทศแห่งมารดานั้น ก็พลัดเข้าไปในปากแห่งกุมารแลกุมารีนั้นบ้าง แลออกตามช่องทวารของมารดานั้นบ้าง เหตุนั้นจึงว่าไว้ให้แพทย์พึงรู้ดังนี้ ถ้าแลกุมารแลกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดา คว่ำออกมาแลร้องขึ้น อันว่ากุมารแลกุมารีทั้งหลายก็รากโลหิตที่อมอยู่นั้นออกมาจากปากประมาณเท่าฟองแดงไก่ ถ้าเปนดังนี้ท่านทายว่ากุมารแลกุมารีผู้นั้นเลี้ยงง่าย โรคนั้นเบาบางจะไม่สู้มีตานทรางเลยจนโตใหญ่ ถึงจะมีมาก็ตามธรรมเนียมกุมารนั้น แม้จะมีโรคมาประการใดแพทย์จะรักษาก็ง่ายนัก ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใด คลอดจากครรภ์แห่งมารดาหงายออกมาแล้วร้องขึ้น อันว่าโลหิตที่กุมารอมอยู่นั้น ก็เลื่อนเข้าไปในฅอตกลงไปในอุทรแห่งกุมาร ท่านทายว่าเลี้ยงยากนักจะเกิดโรคต่างๆ เขม่าตานทรางทั้งปวงจะบังเกิดมากนัก ถ้าแลค่อยวัฒนาการขึ้นก็จะบังเกิดโรคหิดแลฝีต่างๆ แล้วจะให้เปนตานทรางป้างม้ามกระสาย แลเปนท้องรุ้งพุงมารเปนฝีภายในทั้ง ๕ ประการ ก็เพราะโทษโลหิตร้ายที่กุมารกลืนเข้าไปนั้น จึ่งให้บังเกิดโรคต่างๆ ดุจดังกล่าวมานี้ ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาตะแคงออกมาจะเปนเบื้องซ้ายหรือเบื้องขวาก็ตาม อันว่าโลหิตที่กุมารอมอยู่นั้นก็พลัดเข้าไปได้บ้างตกออกมาบ้าง ท่านทายว่ากุมารนั้นจะเลี้ยงไม่ยากนักไม่ง่ายนักเปนปานกลาง โรคไภยจะเกิดเปนปานกลางมิพอเปนไรนัก ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาแล้วแลตายด้านไปร้องมิออกได้ ถึงจะหงายจะคว่ำก็ดีจะตแคงเบื้องซ้ายเบื้องขวาก็ดี ถ้าร้องมิออกได้แต่ว่ายังหายใจอยู่ ท่านให้พลิกตัวกุมารนั้นให้คว่ำลงเสียก่อน แล้วจึ่งแก้ให้ร้องขึ้น ถ้ายังร้องมิออกได้ ห้ามอย่าให้แม่มดรับก่อน ให้พ่นด้วยหัวหอมแลเปราะหรือไพลตามเคยนั้นเถิด ถ้าร้องขึ้นได้อันว่าโลหิตที่กุมารอมอยู่นั้นพลัดออกจากปากได้ กุมารนั้นจึ่งจะไม่สู้มีโรคดังกล่าวมาแต่หนหลังนั้น ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดออกจากครรภ์มารดานั้นยากนัก ให้ขัดขวางด้วยเหตุสิ่งใดๆ ก็ดี บางทีหมอผดุงครรภ์แม่มดมิได้รู้จักกำหนดแห่งกุมารนั้นจะคลอดเมื่อใด ประการหนึ่งไม่รู้ผันแปรแก้ไขในการกุมารนั้นเลย ก็ข่มเหงเอาออกมาด้วยกำลังแรงของตน กุมารนั้นคลอดโดยขัดขวางแลฅอกุมารนั้นเคล็ดแคลง บางทีกุมารนั้นกระทบลงกับฟากก็มีบ้าง แลกุมารผู้นั้นเมื่อค่อยวัฒนาการขึ้นมาก็มักเปนฝีที่คางที่ฟองดันแลที่ฅอ ฝีทั้ง ๓ ประการนี้ย่อมเปนแต่ยังเด็กก็มี บางทีอายุได้ ๑๕, ๒๐, ๓๐, ปี แล้วจึ่งเปนก็มี แลให้เปนฝีเอ็น, ฝีประคำร้อย, ฝีคันธมาลา, ฝีทั้ง ๓ ประการนี้ย่อมเปนด้วยกระทบช้ำชอกมา แต่เมื่อคลอดจากครรภ์มารดานั้น ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใด คลอดจากครรภ์มารดาได้ ๗ วันนั้น ถ้าจะใคร่รู้ว่ากุมารนั้นจะเลี้ยงง่ายหรือยาก ท่านให้ดูเมื่อได้ครบ ๗ วันนั้น ถ้าเห็นสีที่ยอดอกแห่งกุมารนั้นแดงดังดอกสัตบุษป์แลดอกตะแบกช้ำ บางทีเปนสีควันเทียนทั้ง ๓ อย่างนี้ ถ้าเห็นสีใดสีหนึ่งก็ดี แลโตประมาณเท่าใบพุดทรานั้น ท่านทายว่ากุมารนั้นจะเลี้ยงยากนัก ถ้าเห็นสีดังหม้อใหม่ท่านทายว่ากุมารนั้นจะเลี้ยงเปนปานกลาง ถ้าเห็นสีดังหม้อใหม่อ่อนๆ ท่านทายว่ากุมารนั้นจะเลี้ยงง่ายนัก ถ้ากุมารแลกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๓ วัน ท่านให้ดูที่นาภีพ้นสะดือขึ้นมาถึงยอดอก ถ้าเห็นเปนแผ่นอยู่เท่าใบพุดทราแลใบมะขามก็ดี ท่านว่าให้เกรงลมอันชื่อว่าสุนทรวาต ใน ๓ สัตตาหะ หรือ สัปดาหะ คือใน ๒๑ วันข้างน่าไป ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดเปนดังกล่าวมานี้ ถึงแก้ไว้รอด ไปเมื่อปลายมือก็เปนต่างๆ ถ้าจะแก้ให้แก้ด้วยยาทุเลา ถ้าจะถ่ายยาเพื่อแผ่นเสมหะที่บังเกิดในอุทรนั้น ให้กระจายเสียให้ได้จึ่งจะคลายโรคนั้น ถ้าแลมิฟังแลแผ่นเสมหะนั้นใหญ่ขึ้นกว่าเก่า ให้แพทย์พึงรู้ว่าใน ๓ สัตตาหะ คือ ๒๑ วันจะไม่รอดถ่ายเดียว ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดเปนดานเสมหะอยู่ข้างอุระเบื้องขวา ถ้าเปนดังกล่าวมาแต่หลังนั้น ท่านว่ากุมารนั้นมักดูสูง กินเข้าดื่มนมมักอาเจียนแลให้อุจจาระปัสสาวะเหลืองดังนี้ เปนกำเนิดแห่งกองลมวาตะภัคค์ ถ้าแลแผ่นเสมหะยังค้างอยู่ จักทำให้กายนั้นซูบผอม ถ้าแลแผ่นเสมหะนั้นเติบขึ้นกว่าเก่า จักทำให้ลงท้องขึ้น แล้วจะให้ชักเท้ากำ มือกำตาช้อนดูสูง แล้วจะให้เชื่อมให้มึนเมื่อยหอบ แลให้อาเจียนกินเข้าดื่มนมไม่ได้ ถ้าแลกุมารกุมารีผู้เปนดังนี้ท่านว่าจะรอดส่วน ๑ จะไม่รอด ๒ ส่วน ถ้าแลตัวร้อนเปนเวลาให้ชักเท้ากำมือกำตาช้อนดูสูง เปนดังกล่าวมานี้ท่านว่าไม่รอดเลยถ่ายเดียว ถ้าแลกุมารแลกุมารีผู้ใด แรกคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๗ วัน ๑๑ วัน ๑๕ วัน ๒๑ วันนั้น แลให้ขอบตาเขียวนอนมักสดุ้ง ตาช้อนดูสูง ให้ชักเท้ากำมือกำ หลังแข็งท้องขึ้นลิ้นกระด้างคางแข็ง ท่านว่ากำเนิดลมสุนทรวาต แลลมวาตภัคค์แลสะพั้นไฟ ซึ่งว่ามาทั้งนี้เพราะกุมารอมก้อนโลหิตแห่งมารดาออกมาแล้วกลืนเข้าไป จึ่งบังเกิดโทษนั้นต่างๆ ถ้าแลกุมารกุมารีเปนดังกล่าวมานี้ทายว่าจะตาย ๑๐ ส่วน จะรอดสักส่วน ๑ อย่าสนเท่ห์เลย ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว แลกำเนิดอันจะเปนเหตุที่จะให้บังเกิดโรคต่างๆ นั้น คือสำรอก ๗ ครั้ง เมื่อรู้ชันฅอนั้นครั้ง ๑ เพราะเส้นเอ็นนั้นไหว ทรางจึ่งพลอยทำโทษเอาครั้ง ๑ เมื่อรู้นั่งกระดูกสันหลังคลาดทรางจึ่งพลอยทำโทษครั้ง ๑ เมื่อรู้คลานนั้นเพราะว่าตะโพกแลเข่านั้นเคลื่อน ทรางจึ่งพลอยทำโทษครั้ง ๑ เมื่อดอกไม้ (คือฟัน) ขึ้นทรางจึ่งพลอยทำโทษครั้ง ๑ เมื่อรู้ย่างเพราะว่ากระดูกทั้ง ๓๐๐ ท่อนนั้นสะเทือนไหว แลเส้นเอ็นกระจายสิ้น ท่านว่าสำรอกกลาง ทรางก็พลอยทำโทษครั้ง ๑ เมื่อรู้ยืนรู้ย่างเพราะว่าไส้พุงตับปอดนั้นคลอน ท่านว่าสำรอกใหญ่ให้ระวังจงดีเถิด ทรางก็พลอยทำโทษครั้ง ๑ ซึ่งว่ามาทั้งนี้ธรรมดาวิไสยมนุษย์ทุกๆ คนมิได้เว้นเลย เหตุดังนี้ท่านจึ่งประกาศสรรพคุณยาไว้ให้กุมารกินเปนยาประจำท้องทุกเดือน หวังจะกันเสียซึ่งสำรอกแลตานทราง ตามประเพณีดุจดังกล่าวมานี้
ถ้าแลกุมารแลกุมารีผู้ใด คลอดจากครรภ์มารดาได้เดือนหนึ่ง ท่านให้เอา ใบกระเพรา ใบเสนียด ใบตานหม่อน บรเพ็ด บดละลายน้ำท่าให้กินประจำท้องกันสำรอกเด็กในเดือนหนึ่งดีนัก ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๒ เดือน ท่านให้เอา ใบคนทีสอ ใบเสดา ใบผักขวง ใบขอบชะนางแดง บรเพ็ด บดละลายน้ำร้อนให้กินเปนยาประจำท้องกันสำรอกใน ๒ เดือนดีนัก ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๓ เดือน ท่านให้เอา ใบสวาด ใบขอบชะนางขาว ใบกระพังโหม บรเพ็ด บดละลายน้ำร้อนให้กินประจำท้องกันสำรอกใน ๓ เดือนดีนัก ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๔ เดือน ท่านให้เอาผักกระเฉด ใบทับทิม ใบตานหม่อน ใบเสนียด บรเพ็ด บดละลายน้ำร้อนให้กินประจำท้องกันสำรอกใน ๔ เดือนดีนัก ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๕ เดือน ท่านให้เอา ใบผักคราด ใบหญ้าใต้ใบ ใบกระทืบยอด ใบกระพังโหม บรเพ็ด บดละลายน้ำร้อนให้กินประจำท้องกันสำรอกใน ๕ เดือนดีนัก ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๖ เดือน ท่านให้เอา ใบฝ้ายแดง ใบกระทุ่มนา ใบขอบชะนางแดง ใบหนาด บดทำแท่งละลายน้ำร้อน ให้กินประจำท้องกันสำรอกใน ๖ เดือนดีนัก ถ้าและกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๗ เดือน ท่านให้เอา ใบนมพิจิตร์ ใบมะกล่ำเครือ ใบสมอพิเภก ขมิ้นอ้อย บรเพ็ด บดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนให้กินประจำท้องกันสำรอกใน ๗ เดือนดีนัก ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๘ เดือน ท่านให้เอา ใบมะเดื่อ ใบพิมเสน ไพล ขมิ้นอ้อย บดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนให้กินประจำท้องกันสำรอกใน ๘ เดือนดีนัก ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๙ เดือน ท่านให้เอา ใบมะขวิดอ่อน ใบสะแก ไพล ขมิ้นอ้อย บรเพ็ด บดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนให้กินประจำท้องกันสำรอกใน ๙ เดือนดีนัก ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๑๐ เดือน ท่านให้เอา ใบคนทีสอ ใบคนทีเขมา ขมิ้นอ้อย บดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนให้กินประจำท้องกันสำรอกใน ๑๐ เดือนดีนัก ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๑๑ เดือน ท่านให้เอา ใบเสนียด ใบผักคราด ใบปีบ ใบระงับ ใบขี้กาแดง ใบขี้กาขาว ใบโคกกะออม ใบขี้เหล็ก ใบเสดา ไพล กระทือ ตรีกระฏุก บดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนให้กินประจำท้องกันสำรอกใน ๑๑ เดือนดีนัก ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์มารดาได้ ๑๒ เดือน ท่านให้เอาใบเทียนย้อมมือกำมือ ๑ ขมิ้นอ้อย บรเพ็ด ใบมะคำไก่ ใบหนาด ใบคนทีสอ ตรีกระฏุก ไพล ขิง การะบูร เม็ดผักกาด กระเทียม หอม สานส้ม ดินประสิวขาว บดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนให้กินประจำท้องกันสำรอกใน ๑๒ เดือนดีนักอย่าสงไสยเลย
ถ้าแลกุมารสำรอกให้สอึก ท่านให้เอาเข้าตอก เกลือ บดละลายน้ำมะงั่วกินหาย ถ้าแลกุมารสำรอกให้เปนหวัดก็ดีลงท้องก็ดี ท่านให้เอาแมลงมุมตายซาก ๗ ตัว หางนกยุงเผาไฟ เปรียงพระโค บดละลายน้ำร้อนกินหาย ถ้าแลกุมารสำรอกให้ลงแลราก ท่านให้เอาลูกมะตูมอ่อน ผักเสี้ยนผี ใบคนทีสอ ต้ม ๓ เอาหนึ่งกินหาย ถ้าแลกุมารสำรอกเท่าใดๆ ก็ดี ท่านให้เอาเปลือกมะขามยาวคืบหนึ่ง ต้มด้วยน้ำอ้อยแดง ต้ม ๓ เอาหนึ่งกินหาย ถ้าแลกุมารให้ลงท้องนัก ให้เอาไม้วัดแต่สะดือกุมารนั้นลงไปถึงปลายเท้า แล้วจึ่งเอาไมไปวัดต้นมะขามตั้งแต่พี้นดินขึ้นไป แล้วจึ่งทำเคล็ดกลับไม้เสียแล้วจึ่งถากย้อนขึ้นไป แต่พ้นปลายไม้นั้น ๑ พริก ๗ เม็ด ขิง ๗ ชิ้น กระเทียม ๗ กลีบ บดละลายน้ำเหล้ากินหายดีนัก
ถ้ากุมารเลี้ยงยากท่านให้เอาดอกชุมเห็ดเทศ ขมิ้นอ้อย บดทาตัวกุมารดีนัก ภาคหนึ่งท่านให้เอาไพล ๓ ชิ้น พริกไทย ๓ เม็ด บดแล้วจึ่งเสกด้วยคาถานี้ (สัพเพเทวา ปิสาเจวะ อาฬะวะกาทะโยปิจะ ขัค์คํ ตาละปัตตํ ทิส๎วา สัพเพยักขา ปะลายันติ) แล้วพ่นกระหม่อม ทารักแร้ ทาท้องน้อย แล้วจึ่งทำยาผูกข้อมือ กันสาระพัดตานทรางทั้งปวง ท่านให้เอาหญ้าพันงูแดง ขุดเมื่อตวันเที่ยงทั้งต้นทั้งราก ว่านน้ำแดง ขอบชะนางแดง โกฐสอ บดปั้นเปนลูกประคำตากให้แห้ง แล้วเสกด้วยคาถานี้ ๑๘ คาบ (กลิยเค ฯ ล ฯ ปะลายันติ) แล้วจึ่งเอาผูกข้อมือกุมารเลี้ยงง่าย กันสาระพัดโรคทั้งปวงดีนัก ภาคหนึ่งยาทากระหม่อม ท่านให้เอาคราบงูเห่า คราบแมลงมุม ไพล ขมิ้นอ้อย บดทากระหม่อม แล้วให้ทาหัวนมมารดากุมารนั้นด้วยดีนัก ภาคหนึ่งยาทาตัวกุมารกันสรรพโรคทั้งปวง แลจะเปนไข้อภิฆาฎก็ดี โอปักกะมิกาพาธก็ดี ท่านให้เอาใบมะขวิด คราบงูเห่า หอมแดง สาบแร้ง สาบกา ขนเม่น ไพลดำ ไพลเหลือง บดทำแท่งไว้ละลายน้ำนมโคทาตัวกุมาร ชำระมนทินโทษทั้งปวงดีนัก
ยาชื่อว่าวินาศพิศม์ขนานนี้ ท่านให้เอาใบน้ำเต้า ใบหนาด ใบผักเค็ด ใบระงับ ใบสมี ขมิ้นอ้อย พริก ขิง เบี้ยตัวผู้เผาไฟ ๓ เบี้ย แมลงมุมตายซาก ๓ ตัว รังหมาล่าเผาไฟ ลำพัน ยาทั้งนี้ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ เมื่อทำยา ๒ ขนานนี้แล้วท่านให้เสกด้วยพระคาถานี้ ๗ คาบ (วิทธคาโม มหาราชา กุมภัณฑะยักโขมหาราชา วา ภูตะปิสาจะเทวานุภาเวนะ กุมาเรจะสุราคะณา ภูตะปิสาจะยักคะณา เทวา อาคัจฉันตุ เอหิ เอหิ) แล้วจึ่งฝนทาตัวกุมารทั้งปวง หาไภยอันตรายทั้งหลายทั้งปวงมิได้เลย
จบลักษณะครรภ์ประสูตร โดยสังเขปแต่เพียงนี้
----------------------------
ทีนี้จะกล่าวสรรพยาสำหรับรักษากุมารต่อไปดังนี้ ยาชำระลำไส้ข้างในมิให้ทรางบังเกิดขึ้นมาได้ ขนานนี้ท่านให้เอาใบสวาด ใบคนทีสอ ใบกระเพรา ใบมะตูม ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน เอาใบสลอดเท่ากับส่วนยาทั้งหลาย แต่ใบไม้ทั้งนี้ให้นึ่งเสียก่อน แล้วเอา ขมิ้นอ้อย ไพล บดทำแท่งไว้ละลายน้ำเหล้ากินตามกำลัง ถ้าจะให้ลงให้มาก ละลายน้ำใบกระเพรากิน แล้วจึ่งแต่งยาชำระนอกลำไส้ ให้กินต่อไปดังนี้ ยาชำระนอกลำไส้ขนานนี้ท่านให้เอาใบไคร้หอม ใบสวาด ใบกระเพรา ใบจิงจ้อ ยาทั้งนี้ตำเอาน้ำสิ่งละหนึ่งจอก แล้วเขี้ยวให้ข้นดีแล้ว จึ่งเอายาดำ ๑ สลึง ใส่ลงกวนด้วยกัน แล้วจึ่งเอามาปั้นเปนเม็ดเท่าลูกเดือย ละลายน้ำร้อนกินตามกำลัง เด็กอายุแต่เดือน ๑ ขึ้นไปถึง ๗ ขวบให้กิน เนื้อหนังบริบูรณ์งาม แลให้เจริญอ้วนพีชำระโรคทั้งปวงแต่บรรดาที่เกิดนอกลำไส้นั้น มักทำเปนรังเปนเยื่อใย แลเปนเมล็ดมะเขือติดเสมหะติดโลหิตก็ดี จึ่งทำไห้ปวดมวนแลเปนไข้สบัดร้อน ยาขนานนี้ดีนัก แล้วจึงแต่งยาขนานนี้ให้กินต่อไป ท่านให้เอาขมิ้นอ้อย ลูกเบ็ญจกานี ใบสวาด ยอดสแก ใบฝ้ายแดง ใบเทียน ใบทับทิม ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน ให้เอาใบกระเพราเท่ากับยาทั้งหลาย บดทำแท่งไว้กินตามกำลัง ถ้าให้ปวดให้มวนนักแซกดีงูเหลือมกินหาย แล้วจึงแต่งยาชื่อว่าประสะกระเพรานั้นให้กินต่อไป
ยาชื่อว่าประสะกระเพราขนานนี้ ท่านให้เอาตานดำ ลูกตานขะโมย เปลือกสันพร้านางแอ ไคร้เครือ เปลือกตะขบ ไพล ขมิ้นอ้อย หญ้าใต้ใบ สมอทั้ง ๓ จันทน์ทั้ง ๒ เทียนเยาวพานี น้ำประสารทอง สานส้ม ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน กระเพราเท่ากับยาทั้งหลาย ยา ๑๗ สิ่งนี้ทำให้เปนจุณเอาสุราเปนกระสายบดปั้นเปนแท่งไว้ เมื่อจะกินแซกดีงูเหลือมรำหัดพิมเสน กินแก้พิศม์ตานพิศม์ทราง ชูไฟธาตุแลขับชีพจรให้เดินสดวก ถ้าจะกินประจำท้องไปทุกวันกินเข้าได้ เมื่อเด็กท้องขึ้นถ้าจะให้ระบายลมละลายน้ำใบกระเพรากิน ถ้าตกมูกตกเลือดละลายน้ำจันทน์ทั้ง ๒ กิน ถ้าไข้ให้ตัวร้อนเปนเวลา ละลายน้ำสมอพิเภกกิน ถ้าทรางทำพิศม์ขึ้นให้สลบ ละลายน้ำดีตะพาบน้ำกินหายดีนัก
ยาชื่อเบ็ญจตานขนานนี้ท่านให้เอา รากตานหม่อน รากตานเสี้ยน รากตานดำ รากตานขโมย รากตาลโตนด จันทน์ทั้ง ๒ ไคร้เครือ เปลือกสันพร้านางแอ พิศหนาด เอาสิ่งละ ๑ บาท ลูกจันทน์ ๒ สลึง ยา ๑๑ สิ่งนี้ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ ถ้าจะกินเช้าละลายดีงูเหลือมรำหัด ถ้ากินกลางจันละลายน้ำดอกไม้กิน ถ้ากินเย็นละลายน้ำจันทน์กิน ถ้าจะแก้ตัวร้อนชะโลมก็ได้ ถ้าจะให้ระบายลมให้แบ่งยาออกเสียกึ่งหนึ่งแล้วจึ่งเอาใบสวาด ใบสลอด ยา ๒ สิ่งนี้นึ่งเสียก่อนแล้วประสมเท่ายาทั้งหลาย บดละลายน้ำมะขามเปียกกินทุเลาดีนัก ให้แพทย์ทั้งหลายที่มีปัญญายักย้ายเอาตามคัมภีร์ที่ควรกันกับโรคนั้นเถิด
ยาทุเลาแก้กุมารท้องขึ้นเช้าขนานนี้ท่านให้เอา ใบคนทีสอ ใบกระเพรา ใบผักคราด ใบผักเสี้ยนผี ใบตานหม่อน ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู มหาหิงคุ์ ยาดำ พริก ขิง ดีปลี รงทอง ยา ๑๖ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากันทำเปนจุณ เอาน้ำข่าเปนกระสายบดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนกิน แก้กุมารท้องขึ้นเช้าดีนัก ยาแก้กุมารท้องขึ้นขนานนี้ ท่านให้เอายาดำ ใบตานหม่อน ใบสวาด ใบชุมเห็ด เอาสิ่งละสองสลึง เทียนขาว กระวาน กานพลู ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ เอาสิ่งละ ๑ สลึง เนระภูสี ดีปลี หญ้าใต้ใบ เอาสิ่งละ ๑ สลึง มหาหิงคุ์หนัก ๑ บาท ใบกระเพรา ๒ บาท ยา ๑๔ สิ่งนี้ทำเปนจุณ เอาน้ำข่าเปนกระสายบดทำแท่งไว้เท่าเม็ดนุ่น ถ้าเด็กอายุเดือน ๑ ให้กินเม็ด ๑ ให้กินตามอายุเด็กดีนัก
ยาชื่อทั้งขึ้นทั้งล่องขนานนี้ท่านให้เอา พริกไทย ขิง ดีปลี กระเทียม น้ำประสานทอง เอาสิ่งละ ๑ สลึง ชเอม มหาหิงคุ์ ยางโพ เอาสิ่งละ ๑ บาท เกลือสินเธาว์ ๑ เฟื้อง ผิวมะกรูด ๒ บาท ๒ สลึง ใบกระเพรา ๑ ตำลึง ๑ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง ยา ๑๐ สิ่งนี้ตำให้ละเอียดเอาสุราเปนกระสาย บดทำแท่งไว้เท่าเม็ดพริกไทยกินตามกำลัง ละลายน้ำร้อนก็ได้ น้ำใบกระเพราก็ได้ดูตามโรคขึ้นหรือล่องนั้นเถิด ได้เคยใช้มาแล้วดีนัก
ยาทาท้องให้ระบายลม ท่านให้เอายาดำ มหาหิงคุ์ รงทอง ฝักราชพฤกษ์ มะขามเปียก ไพล ขมิ้นอ้อย น้ำประสานทอง บดละลายตั้งไฟให้อุ่นท้องดีนัก
ยาแก้หละแลแก้ทรางทั้งปวง ซึ่งทำให้ลงท้องแลท้องขึ้นนั้น ท่านให้เอาผักโหมหนามทั้งต้นทั้งราก หญ้าพันงูแดง ทั้งต้นทั้งราก ยาทั้ง ๒ สิ่งนี้ขั้วให้เกรียม เอาน้ำปูนใสเปนกระสาย บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำปูนใสแซกพิมเสนกินก็ได้ทาปากก็ได้ ได้ใช้มาแล้ว
ยากวาดถอนเสมหะในฅอเด็ก ท่านให้เอา กำมะถันแดง เม็ดในมะนาว กระเทียม รากมะยงคุ์ป่า น้ำประสานทอง ดีจรเข้ ยา ๖ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดทำแท่งไว้ละลายน้ำมะนาวกวาดเด็กให้อาเจียน ถอนเสมหะในทรวงอกดีนัก ได้ใช้มาแล้วอย่าสงไสยเลย
ยาแก้ลมทราง ๗ จำพวก อันเกิดประจำทรางทั้ง ๗ วัน แลแก้ลมชื่อว่าสุนทรวาตนั้นเปนต้นตั้งขึ้นแต่สดือแลท้องน้อย ให้ปวดท้องแลท้องขึ้นก่อน แล้วให้ลงท้องให้หลับตา ให้ชักเท้ากำมือกำ ให้ท้องแลหน้าเขียว ถ้าจะแก้ท่านให้เอา พิมเสน การะบูร ผิวมะกรูด เอาสิ่งละ ๑ บาท มหาหิงคุ์ ๒ บาท ใบหนาด กระเทียม พริกไทย ขิง เอาสิ่งละ ๑ ตำลึง ยา ๘ สิ่งนี้ตำให้ละเอียด บดทำแท่งไว้ละลายน้ำมะนาวกิน แก้ลมจุกเสียดขบแทง แลลมอิริ้น ลมทรางทั้งปวงหาย ภาคหนึ่งยาแก้ลมสุนทรวาต แลลมทรางทั้ง ๗ วันนั้น ท่านให้เอา พริกไทย ขิง ดีปลี กระเทียม ว่านน้ำ ผิวมะกรูด ไพล มหาหิงคุ์ ยาดำ การบูร เอาสิ่งละ ๑ บาท ใบกระเพราเท่ายาทั้งหลาย ยา ๑๑ สิ่งนี้ตำให้เลอียดบดทำแท่งไว้ละลายน้ำมะกรูดกิน ถ้าจะแก้ท้องขึ้นละลายน้ำปูนใสก็ได้ แล้วจึ่งแซกรงเจ็ตพังคีทาท้องหายดีนัก ภาคหนึ่งท่านให้เอา สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม สิ่งละ ๑ สลึง ลูกโหรพา ลูกผักชี สีเสียด ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู จันทน์เทศ เอาสิ่งละ ๒ สลึง ลูกเบ็ญจกานี ๓ สลึง ยา ๑๒ สิ่งนี้ตำให้ละเอียด บดทำแท่งไว้ละลายน้ำปูนใสแซกดีงู ฝิ่น ขมิ้นชัน กินแก้ลมซึ่งทำให้ลงท้องนักหายแล ภาคหนึ่งยาต้ม ท่านให้เอา หญ้าลูกเคล้า เปลือกแทงทวย ใบเทียน ใบทับทิม กะทือ ไพล ข่า ขมิ้นอ้อย หัวหอม ยา ๙ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน เอาเหล้าครึ่ง ๑ น้ำท่าครึ่ง ๑ ต้ม ๓ เอา ๑ กินหายดีนัก
อนึ่ง ถ้าทรางแดงขึ้นหัวตับ ให้ลงเปนโลหิต ๔ วัน ๕ วันก่อน แล้วให้ไอเปนกำลัง ให้ตาเหลืองให้เจ็บเปนเวลา แล้วตับหย่อนลงไปชายโครงข้างขวา ถ้าจะแก้ท่านให้เอา ผลเบ็ญจกานีส่วน ๑ กระเทียม ๒ ส่วน ฝางเสน ๓ ส่วน บดทำแท่งไว้ละลายน้ำปูนใสกินตามกำลังหาย ยาพอกชายโครงให้ตับนั้นหดขึ้นไป ท่านให้เอา หน่อไม้ เขม่าเหล็ก ปูนขาวแต่น้อย บดพอก ๓ วันหาย ถ้ายังไม่หดสนิท ให้แต่งยาขนานนี้กิน ท่านให้เอา ตรีผะลา มะขามป้อม รากไอ้เหนียว รากเล็บมือนาง เปลือกไข่เหน้า หัวแห้วหมู ผลมะตูมอ่อน ฝักราชพฤกษ เกสรบัวหลวง ดอกบุนนาก ยาดำ สานส้ม เอาสิ่งละ ๑ บาท เทียนดำ เทียนขาว น้ำประสานทอง เอาสิ่งละ ๒ สลึง ผลขี้กาแดงผ่า ๒ เอา ๑ บรเพ็ด ๓ องคุลี ขมิ้นอ้อย ๓ ชิ้น ใบกระเพราหนัก ๓ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง เอาสุราส่วน ๑ น้ำท่า ๒ ส่วน ต้ม ๓ เอา ๑ กินหายดีนัก ได้ใช้มาแล้วอย่าสงไสยเลย
กล่าวตั้งแต่ครรภทวารกำเนิดไปจนถึงที่สุดแห่งครรภประสูตร์ จบบริบูรณ์โดยสังเขป
----------------------------