ตำราประฐมจินดา

นโม ตัส์ส ภควโต อรหโต สัม์มาสัม์พุท์ธัส์ส

นมัส์สิต๎วา จ เทวิน์ทํ เทวราชสัก์กํ อิว
ชีวกโกมารภัจ์จํ โลกนาถํ ตกาคตํ
ปฐมจิน์ตารคัน์ถํ ภาสิส์สํ ฉัน์ทโสมุขํ
สํเขเปน กิต์ตยิตํ ปุพ์เพ โลกา น นาถัต์ถัน์ติ

แปล (อหํ) อันว่าข้า (นมัส์สิต๎วา) ถวายนมัสการแล้ว (ตถาคตํ) ซึ่งพระศรีสุคตทศพลญาณเจ้า (โลกนาถํ) เปนที่พึ่งของโลกย์ (จ) อนึ่งโสด (อหํ) อันว่าข้า (อภิวัน์ทิต๎วา) ไหว้แล้วโดยพิเศษ (ชีวกโกมารภัจ์จํ) ซึ่งชีวกโกมารภัจ แพทย์ผู้ประเสริฐ (เทวราชสัก์กํ อิว) เปรียบดุจสมเด็จอมรินทราธิราชบพิตร (เทวิน์ทํ) ผู้มีมหิศรภาพ เปนจอมมกุฎแก่เทพย์บุตย์ทั้งหลาย (ภาสิส์ส) จักแสดงบัดนี้ (คัน์ถํ) ซึ่งพระคัมภีร์แพทย์อันวิเศษ (ปฐมจิน์ตารํ) ชื่อประฐมจินดา (ฉันทโสมุขํ) อันเปนหลักเปนประธานแห่งพระคำภีร์ฉันทศาสตร์ทั้งปวง (กิต์ตยิตํ) อันพระอาจาริย์โกมารภัจแต่งไว้ (ปุพ์เพ) ในกาลก่อน (สังเขเปน) โดยสังเขป (นาถัต์ถํ) เพื่อจะให้เปนที่พึ่ง (โลกานํ) แก่สัตว์โลกย์ทั้งหลาย (เอวํ) ด้วยประการดังนี้

(โองการ พิน์ทุนาถํ อุป์ปัน์นํ พ๎รห๎มา สหัม์ปติ นาม อาทิกัป์เปส อาคโต ปัญ์จปทุมํทิส๎วา นโม พุท์ธาย วัน์ทนํ อาจริเยน) อันพระอาจาริย์เจ้า กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ประฐมจินดานี้ ตั้งแต่พรหมปะโรหิตเปนต้นมานั้น ว่าเมื่อจะตั้งแผ่นดินใหม่ ครั้งนั้นก็ให้บังเกิดกัลปพินาศกล่าวคือโลกย์ฉิบหาย ด้วยเพลิงประลัยกัลป์นั้นไหม้ฟ้า แผ่นดิน ภูเขา แลเขาพระสุเมรุ์สิ้นแล้วบังเกิดฝนห่าใหญ่ ตกลงมาถึง ๗ วัน ๗ คืน แลน้ำท่วมขึ้นไปถึงชั้นพรหมปโรหิต พรหมปโรหิตจึ่งเล็งลงมาดู ก็เห็นซึ่งดอกอุบล ๕ ดอก ผุดขึ้นมาเหนือน้ำงามหาที่จะอุปมามิได้ ท้าวมหาพรหมจึ่งบอกแก่พรหมทั้งหลายว่าแผ่นดินใหม่นี้ จะบังเกิดสมเด็จพระพุทธเจ้ามาตรัส ๕ พระองค์ เพราะเห็นดอกอุบลนั้น ๕ ดอก อันนี้ก็เปนธรรมดาประเวณีวิไสยสังเกตมาทุกๆ ครั้ง ครั้นแลบังเกิดบุร์พนิมิตรขึ้นแล้ว จึ่งน้ำค้างเปือกตมก็บังเกิดตกลงมา ๗ วัน ๗ คืน แล้วก็เปนสนับข้นเข้า ดุจดังสวะอันลอยอยู่เหนือหลังน้ำ โดยหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ อันนี้แจ้งอยู่ในพระคัมภีร์จักระวาฬทิปนีโน้นแล้ว ในคัมภีร์ประฐมจินดานี้ พระอาจาริย์เจ้าท่านยกมากล่าวไว้พอเปนสังเขป เมื่อแผ่นดินแลเขาพระสุเมรุ์ตั้งขึ้นแล้วนั้น พระอิศวรผู้เปนเจ้าเธออาราธนาพรหมสององค์ทรงนามว่าพรหมจารี ลงมากินง้วนดิน ครั้นกินแล้วก็ทรงครรภ์คลอดบุตรได้ ๑๒ คน อันพวกนี้เกิดด้วยครรภปะรามาศ คือว่าเอามือลูบนาภีก็มีครรภ์ เกิดบุตรแพร่หลายไปทั้ง ๔ ทวีป แตกเปนภาษาต่างๆ กัน แต่ชมภูทวีปเรานี้เปนกามราค สร้องเสพเมถุนสังวาศจึ่งมีครรภ์ สัตว์ที่มาปติสนธินั้นเปนชลามพุชะ สัตว์ที่เกิดเปนฟองฟักนั้นชื่ออัณฑชะ สัตว์มาปติสนธิด้วยเปือกตมนั้นชื่อสังเสทชะ อุปปาติกะนั้นคือสัตว์ปติสนธิเปนอุปะปาติกะไม่มีสิ่งใดๆ ก็เกิดขึ้น อันว่ามนุษย์ทั้งหลายถือปติสนธิแล้วก็คลอดจากครรภ์มารดา ถ้าเปนสัตรีมีประเภทผิดจากบุรุษสองประการ คือต่อมเลือดประการ ๑ คือน้ำนมสำหรับเลี้ยงบุตรประการ ๑ ครั้นอุดมรูปวัฒนาการเจริญขึ้นพร้อมแล้ว แลเมื่อจะเริ่มฤดูมานั้น ก็ให้ฝันเห็นว่ามีบุรุษมาร่วมรศสังวาศเมถุนตามชาติวิไสย จึ่งสมมุติว่าวิทยาธรอันอุดมมาลอบชมด้วยประเวณี ตั้งแต่นั้นมาก็มีฤดูให้ปรากฎแก่คนทั้งหลาย แลประโยธรคือเต้าถันก็ตั้งขึ้นด้วย (ปัญ์จวิธ โลหิตํ โลหิตํ หทยํ ชาตํ โลหิตํ ปิต์ตํ ชาตํ โลหิต มํสํ ชาตํ โลหิตํ นหารุ ชาตํ โลหิตํ อัฏ์ฐิ ชาตำ ปัญ์จวิธโลหิตํ) อันว่าสัตรีมีโลหิต ๕ ประการ คือโลหิตปรกติโทษ ซึ่งพระอาจาริย์เจ้ายกออกมาแต่พระคัมภีร์มหาโชติรัตโน้น เอามาสาธกลงไว้ในพระคัมภีร์พรหมปโรหิต หวังจะให้แพทย์ทั้งหลายพึงรู้ โดยไนยอันสัตว์จะมาปติสนธิในมาตุคัพโภทรนั้น ก็เพราะโลหิตฤดูบริบูรณ์ดังนี้ โลหิตํ หทยํ ชาตํ คือโลหิตบังเกิดมาแต่หทัยประการ ๑ เปนต้น แลบังเกิดมาแต่ดีแต่เนื้อแต่เอ็นประการ ๑ โลหิตํ อัฏฐิ ชาตํ คือโลหิตบังเกิดมาแต่กระดูกประการหนึ่งเปนที่สุด แลโลหิตปรกติโทษ ๕ ประการนั้น ย่อมกระทำโทษนั้นต่างๆ อันว่าลักษณโลหิตฤดูอันบังเกิดมาแต่หทัยนั้น ถัาสัตรีผู้ใดไข้ลงมักให้ระส่ำระสายคลั่งไคล้ใหลหลงให้ขึ้งโกรธ เมื่อขณะนั้นให้ริมฝีปากเขียว ริมตาเขียว ถ้าแก้มิฟังสัตรีผู้นั้นจะตายเปนอันเที่ยง อันว่าลักษณะโลหิตฤดูอันบังเกิดมาแต่ดีแลตับนั้น ถ้าสัตรีผู้ใดไข้ลงมักให้เชื่อมให้มึนมัวเมาซบเซามิได้รู้ว่ารุ่งแลค่ำ คืนแลวันแล้วให้นอนสดุ้งหวาดไหวเจรจาด้วยผี สมมุติว่าขวัญกินเถื่อนโทษทั้งนี้คือโลหิตกระทำเอง ถ้ารู้ไม่ถึงกำหนด ๗ วันตาย เมื่อตายแล้วจึ่งผุดขึ้นมาเปนแว่นเปนวงสีเขียวสีแดงก็มี ดุจกล่าวมานั้น อันว่าลักษณะโลหิตฤดูอันบังเกิดมาแต่เนื้อนั้น ถ้าสัตรีผู้ใดไข้ลงมักกระทำให้ร้อนใน ผิวเนื้อแลหนังแดงดังลูกตำลึงสุกขึ้นเปนยอดผด แล้วให้คันทั้งตัว ต่อมีฤดูมาจึ่งหายไป อันว่าลักษณะโลหิตฤดูอันบังเกิดแต่เส้นเอ็นนั้น ถ้าสัตรีผู้ ใดไข้ลงมักกระทำให้เจ็บตัวทั่วสรรพางค์กาย แลให้สบัดร้อนสท้านหนาว แลให้จับปวดศีศะเปนกำลัง ต่อมีฤดูมาจึ่งหายไป อันว่าลักษณะโลหิตฤดูอันบังเกิดมาแต่กระดูกนั้น ถ้าสัตรีผู้ใดไข้ลงมักกระทำให้เมื่อยกระดูกทุกข้อกระดูกต่อกันดังจะคลาด ให้เจ็บเอวเจ็บหลังนัก ต่อมีฤดูมาจึ่งหายไป ซึ่งว่ามาทั้งนี้หวังจะให้แพทย์พิจารณาดู ให้รู้ว่าโลหิตฤดูนั้นเกิดออกจากที่ใด ถ้ารู้แท้แล้วให้เร่งประกอบยาชื่อว่าพรหมภักตร์ ประจุโลหิตเหน้าโลหิตร้ายเสียให้สิ้นเชิง แล้วจึ่งแต่งยาบำรุงโลหิต อันชื่อว่ากำลังราชสีห์นั้นกินต่อไป แล้วจึ่งแต่งยาบำรุงธาตุให้ธาตุปรกติดีแล้ว โลหิตจึ่งจะงามบริบูรณ์ อันว่าสัตว์ที่มาปติสนธินั้นจึ่งได้ตั้งขึ้น ในมาตุคัพโภทรแห่งมารดาเปนปรกติ อนึ่งสัตรีบางจำพวกมีสามี แลหาสามีมิได้ก็ดี เดิมโลหิตงามบริบูรณ์อยู่แล้ว ครั้นอยู่มาให้หน้าซีดมือเท้าก็ซีด ให้เจ็บหลังเจ็บเอว เพราะโลหิตนั้นแห้งติดกระดูกสันหลังอยู่ สมมุติว่าเปนริดสีดวง อนึ่งสัตรีบางจำพวกนั้นโลหิตแห้งเปนก้อนเข้าเท่าฟองไก่ติดหัวเหน่าอยู่ก็ดี ติดในทรวงอกก็ดี แลกลมกลิ้งอยู่ในท้องก็ดี บางทีให้ท้องขึ้น บางทีให้ลงท้อง บางทีให้เจ็บท้อง จุกอกแดกขึ้นดังจะขาดใจตาย ถ้าแพทย์ผู้ใดจะรักษา ให้พิจารณาโดยลักษณะที่กล่าวมาแต่หลังนั้น ถ้าแลมิฟังมักกลายเปนโรคริดสีดวงแห้งไป อนึ่งถ้าสัตรีบางจำพวกซึ่งเปนหรหมจารีนั้น แต่รุ่นสาวควรจะมีฤดูแล้วแลฤดูนั้นก็ไม่มีมา บางจำพวกต่ออายุ ๒๐ หรือ ๓๐ ปี ต่อมีสามีแล้วจึ่งมีฤดูมา อันว่าลักษณะหญิงเหล่านี้ ย่อมมีแต่กาลก่อนโน้น

จบพรหมปโรหิตแต่เพียงนี้

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ