ว่าด้วยกำเนิดแห่งไข้ (โรค) ต่าง ๆ

จะกล่าวกำเนิดไข้ โดยในที่มีอาการ แพทย์จงสดับสาร อันควรทำจะสำแดง

ไข้ใดให้รนร้อน กระหายน้ำนั้นเรี่ยวแรง ปากไหม้แตกระแหง จักษุแดงพิการกล ให้เจ็บไม่เว้นว่าง ทั่วสรรพางค์ไปทั้งตน ที่ใดอันเย็นยน ที่อันนั้นก็พึงใจ

ไข้ใดให้เย็นนัก แลมันมักให้นอนไป อาหารเห็นเบื่อใจ ให้เจ็บฅอเจ็บลูกตา ตาแดงดูดังเลือด แลเจ็บหูทั้งซ้ายขวา กระดูกเจ็บทั่วกายา ให้อยากน้ำในราตรี หนึ่งนอนบห่อนหลับ หายใจคับบอิ่มดี ขัดข้องอุระทวี ให้รากเหลืองพิการกล

ไข้ใดสบัดหนาว แลสบัดให้ร้อนรน หน้าผากศีศะทนต์ ให้ปวดร่ำกระหน่ำไป เจ็บฅอแลขัดอก กระหายน้ำบคลายใจ เรี่ยวแรงบมีใน ให้ระทดระทวยกาย ปัสสาวะให้ขัดข้อง ไม่แคล่วคล่องในทางระบาย แพทย์จงกำหนดหมาย ให้สถิตย์สเถียรใจ ไข้สามประการนี้ กำหนดมีใช่อื่นไกล สันนิบาตจงแจ้งใจ กระทำให้พิการกล

ไข้ใดเจ็บสะดือ กระพือขึ้นไปเบื้องบน หน้าตานั้นวิงวน ให้มืดมนแลพร่างพราย ให้เจ็บที่กำด้น ตลอดจนกระหม่อมหมาย สบัดร้อนทุรนราย แล้วสะท้านให้เยือกเย็น ไส้พุงนั้นพลุ่งพล่าน ในอาการจงเล็งเห็น สันนิบาตโลหิตเปน ประจักษ์แจ้งอย่าแคลงใจ

ไข้ใดให้เปนเม็ด ดูแดงทั่วทั้งตัวไป ให้ปวดขบศีศะใน เมื่ออาทิตย์สว่างวัน เรียกว่าสันนิบาต ปกังชาติหมู่มัน แพทย์เห็นจงสำคัญ ให้หยั่งรู้ในเชิงชาย

ไข้ใดพิศดูรูป พิเคราะห์ทราบว่าตัวลาย แม้นเหมือนดังเรื้อนราย แลมันเพ้อมะเมอไป คนอื่นจะพูดด้วย มิได้ยินสำเหนียกใน โรคนี้ใช่อื่นไกล คือตรีโทษเข้าเบียดเบียฬ

ไข้ใดให้หนาวสะท้าน ย่อมบิดคร้านหน้าวิงเวียน แสยงขนแลปวดเศียร กระหายหอบซึ่งวารี บั้นเอวแลท้องน้อย ประจำเจ็บมากทวี ปากฅอนั้นเคยมี น้ำลายเล่าก็ขาดไป นิทราก็ตาค้าง ด้วยทางลมเสมหะใน พัดปนระคนไป กำเนิดให้ซึ่งโรคา

ไข้ใดให้ตาแดง ผิวหนังแห้งอยู่โรยรา กระหายน้ำแลไสยา มิให้หลับระงับกาย ให้รากแลมูตรนั้น ดูสีสันก็เหลืองหลาย อาการเที่ยงดูเชิงชาย เปนสุดสิ้นสมประดี อาการนั้นบอกแจ้ง เปนตำแหน่งเสมหะมี เข้าปนระคนดี เปนสองทำประจำกาย

ไข้ใดให้ท้องขึ้น แลวิงเวียนศีศะสลาย ให้สอึกให้รากราย ด้วยโทษลมกำเดาทำ

ไข้ใดขัดอกจาม ตลอดถึงนาภีนำ เสมหะกำเดาทำ เข้าปะปนระคนกัน

ไข้ใดให้คลื่นเหียน แลอาเจียนน้ำลายครัน ลมเลือดน้ำเหลืองนั้น ทั้งสามโทษเข้าพันพัว

ไข้ใดให้นอนมาก ให้ขมปากให้เจ็บหัว หนึ่งนั้นให้เจ็บตัว กำเนิดเกิดไข้เพื่อดี

ไข้ใดมิให้หลับ ให้รากปวดศีศะมี ให้กระหายซึ่งวารี ให้เจ็บฅอปากแห้งไป

ไข้ใดให้เจ็บตา กระอายหัวดังฟันไฟ ทั้งสองไข้จงแจ้งใจ คือกำเดาให้โทษา

ไข้ใดมันให้เจ็บ แต่ฝ่าเท้านั้นขึ้นมา ให้ร้อนจนสิ้นสา รพางค์กายไม่คลายใจ ในราตรีให้เร่งยา อย่าให้ทันอุไทยไข กำเดาโทษนี้ไซร้ เร่งระมัดประหยัดกาย ไข้เพื่อโลหิตนั้น สำคัญเจ็บหน้าผากหลาย ใจมักกระสับกระส่าย จงแจ้งจำที่คำครู

ไข้ใดให้นอนฝัน มักคลั่งไคล้อายปากดู น้ำลายมากพราวพรู แลมือเท้าให้เยือกเย็น มีมารยาอยากอาหาร เนื้อคาวหวานจงเล็งเห็น ข้อมือข้อเท้าเปน ให้ขัดข้องไม่ว่องไว หนึ่งให้สบัดหนาว แลสบัดให้ร้อนไป โทษนี้เสมหะใน มากระทำเข้าย่ำยี

ไข้ใดกินอาหาร ให้ขมปากนั้นมากมี ให้อยากของมิดี อันแสลงซึ่งโรคา ให้สะท้านเนื้อระริก แลเสียวซ่านทั้งอาตมา หนึ่งเจ็บทั่วกายา ให้จุกเสียดไม่สมประดี

ไข้ใดหนาวสะท้าน แลบิดคร้านยอกเสียดมี ลักษณสองไข้นี้ เปนไข้เพื่อธาตุวาตา

ไข้ใดหนาวสะท้าน ปากหวานแลให้อา เจียนแสยงซึ่งโลมา หนึ่งหัวตัวแลลำฅอ ทั่วทั้งสรรพางค์เนื้อ ให้เจ็บสิ้นไม่เหลือหลอ นอนขึงไม่พึงพอ อนึ่งอาหารไม่นำพา

ไข้ใดให้สะอึก แลรากร้อนในวิญญา ทั้งบองไข้คือวาตา ให้โทษแท้ประจักษ์ใจ คัมภีร์สารสงเคราะห์ ท่านจัดเจาะประจงไข ด้วยลักษณใน สำประชวนห้าประการ เพื่อเลือดแลกำเดา จักษุแดงโลหิตปาน เพื่อเสมหะสัณฐาน จักษุดังขมิ้นทา หนึ่งเกิดเพื่อดีนั้น ด้งแว่นเขียวเข้าปะตา หนึ่งเกิดเพื่อลมกล้า จักษุคล้ำให้มัวไป จำพวกหนึ่งจักษุนั้น ไม่สู้แดงประการใด เพื่อเส้นอำมพฤกใน ให้เกิดกับสำหรับชาย ถ้าแลสัตรีนั้น แพทย์จงได้สำคัญหมาย เพื่อเส้นปัศฆาฏท้าย เกิดสำหรับกับสัตรี

ไข้ใดให้กายนั้น ดูเศร้าดำไม่มีศรี ให้ไอแห้งอยากวารี ให้ฝาดปากเจ็บอกไป หายใจให้ขัดข้อง ด้วยในท้องเปนก้อนใน แพทย์จงกำหนดใจ เปนเพื่อลมสิ่งเดียวดาย

ไข้ใดให้เจ็บหนัง ปัสสาวะนั้นเหลืองหลาย ให้ร้อนกระวนกระวาย ให้พึงใจที่อันเย็น ตาแดงแลลงท้อง ให้อยากน้ำวิบัติเปน ไข้เพื่อกำเดาเห็น ประจักษ์จิตรอย่าคิดฉงน

ไข้ใดศีศะนั้น ให้ปวดเหลือกำลังทน ให้สะท้านบิดคร้านตน ให้ไอให้หาวนอน หนึ่งให้เสโทตก จะหยิบยกอธิกรณ์ เพื่อลมเสมหะจร เข้าทับทำประจำเปน

ไข้ใดให้ซึมมัว กระหายน้ำสะท้านเย็น ขมปากวิบากเปน หนึ่งท้องให้ร้องไป ให้เจ็บตัวเสโทตก หนึ่งให้กำเริบไอ เพื่อเสมหะกำเดาใน กระทำให้พิการกาย หนึ่งไข้ตรีโทษนั้น เปนโทษสามประการหมาย หนึ่งเจ็บไปทั่วกาย หนึ่งนอนไม่หลับไหล หนึ่งเล่าอาหารเคย ก็ละเลยไม่อาไลย แต่อาการที่เกิดใน เปนทุวรรณโทษา ถ้าแพทย์ใดสำนักนิ์ครู เรียนรอบรู้ในโรคา ยังพอจะเยียวยา ไว้สำนวนกระบวนทำ

ไข้ใดให้ไอแห้ง แลให้หอบเสมหะนำ ตั้งอยู่ในฅอทำ ให้แพทย์พึงกำหนดใน เล็บมือแลเล็บเท้า แลลิ้นนั้นก็เขียวไป ตานั้นก็เขียวไซ้ ดังตาแมวมาติดตา สาบกลิ่นดังสุนักข์ แพะแร้งแลนกกา นำพร้อมด้วยโทษา โทษนั้นเที่ยงอย่าเกี่ยงใจ นามชื่อสันนิบาต มาตัดชาติทุกข์ไป ไม่พร้อมดังกล่าวไข แพทย์พอได้จะตามทัน

ไข้ใดล้มไข้ลง ในวันหนึ่งแลสองวัน ให้เชื่อมมึนอาการนั้น ไม่รู้สมประดีใด ให้ปิดอุจจาระ ยาถ่ายก็มิไป ทั้งอาหารบทานได้ แลให้รากนั้นมากครัน ถ้าอาการนั้นยืนไป ถึงสิบวันสิบเอ็ดวัน โทษตัดอย่าตามมัน เปนลักษณแห่งปถวี

ไข้ใดล้มไข้ลง ในสามวันสี่วันมี นอนสดุ้งไม่สมประดี สติพลั้งไม่ยั้งกาย ให้เพ้อให้เรอราก แลรากมีแต่น้ำลาย มือเท้าทั้งขวาซ้าย ให้ผิดเพศสังเกตเย็น ได้หนึ่งจะเสียสอง ในทำนองจงเล็งเห็น อาการที่มันเปน คือโทษธาตุชาติวาตา ถ้าแก้มือแลเท้า มิได้เรียบให้ร้อนมา อาการบันดาลดา ให้คลุมเครือเรื้อรังไป ถึงเก้าวันสิบวัน จะอาสัญอย่าสงไสย เที่ยงแท้อย่าอาไลย เพราะโทษตายนั้นมีมา

ไข้ใดล้มไข้ลง อยู่ในสามสี่เวลา อาการมันมีมา บางทีนั้นให้ลงไป บางทีมันให้ตก เสมหะโลหิตใน ตามช่องทวารไข ทั้งหนักเบาแลบางที ให้รากซึ่งโลหิต จงเร่งคิดถึงชีวี ไข้ใดเปนดังนี้ อาโปธาตุนั้นบันดาล ถ้าแก้ด้วยยายำ ที่เคยซ้ำเปนหลายขนาน มิถอยซึ่งอาการ มันแขงขืนจะยืนไป ถึงแปดวันเก้าวัน เปนเที่ยงธรรมจะบรรไลย แพทย์จงสำคัญใจ กำหนดไว้ในอุรา

ไข้ใดล้มไข้ลง ถึงสามวันสี่วันมา ให้ร้อนทั่วกายา ทั้งภายนอกแลภายใน ให้ทนทุรนราย กระสับกระส่ายในหัวใจ ให้ประพรมน้ำไป มิได้ขาดที่กายา ให้ลิ้นแห้งฅอแห้ง แห้งจนถึงในอุรา อยากน้ำไม่เปนครา ให้คลั่งไคลไม่สมประดี ให้เจ็บนั้นต่างๆ ดังหนึ่งคนมารยามี อยากของอันต้องที่ กำหนดห้ามยิ่งหยามใจ ดุจดังฉะมบปอบ เข้าล้วงลอบกินอยู่ใน โทษนี้คือธาตุไฟ กระทำให้วิบัติ์กาย จะได้สักส่วนหนึ่ง แลจะเสียสองส่วนทาย แก้ร้อนมิวายคลาย อาการนั้นยังยืดยืน ถึงเจ็ดวันแปดวัน อย่าหมายมั่นจะฝ่าฝืน โทษนี้ไม่ได้คืน ชีวิตรจะมรณา

ไนยหนึ่งจะขอไข โดยไนยท่านได้กล่าวมา แพทย์จงเร่งศึกษา สำเหนียกไว้ให้แม่นยำ เอกโทษทุวรรณโทษ แลตรีโทษให้โทษจำ เปลี่ยนแปลกแผนกทำ อาการทับสลับกัน

หนึ่งลมเปนเอกโทษ จงเงี่ยโสตร์สดับพลัน กำหนดอายุนั้น ห้าสิบปีทวีไป บังเกิดซึ่งโรคา ในวัสสาน์ฤดูใน ไข้แต่หัวค่ำไป มิได้มีความสบาย หนึ่งให้สะท้านหนาว สะท้านร้อนไปทั้งกาย ปากฅอเพดาลหาย น้ำลายขาดที่เคยมี ให้เจ็บระบมตัว ทุกเส้นเอ็นในอินทรีย์ พรรดึกก็เกิดมี หนึ่งให้นอนบเปนนอน จับแต่หัวค่ำไป กำหนดไข้ประจำจร ถึงสี่นาทีนอน แลไข้นั้นจึงวายคลาย เรียกว่าเปนเอกโทษ เราจับโจทย์ให้เห็นกาย ยังเราจะบรรยาย ให้สิ้นข้อที่อางขนาง ถึงคราวมิส่างจับ ยังขยับไปยาวทาง ถึงยามเที่ยงคืนกลาง ว่าเสมหะกับวาตา เรียกว่าทุวรรณโทษ ทั้งสองโสตให้โทษา มาตรแม้นมิโรยรา อาการจับขยับไป ถึงรุ่งตลอดเที่ยง จึ่งสำเนียงสำเหนียกใจ ตรีโทษประชุมใน สันนิบาตไม่คลาศคลา ถ้าว่าเอกโทษลม โดยนิยมท่านกล่าวมา เจ็ดวันจึ่งวางยา ท่านว่าไว้ในคำภีร์ ถ้าไม่ถึงเจ็ดวัน ไข้นั้นอาการทวี จับเกินซึ่งนาที ให้ผิดที่สังเกตมา อาการนั้นไม่สม ดังที่ลมเอกโทษา ให้แพทย์พึงเยียวยา อย่าเลยละให้ช้าที

อนึ่งดีเปนเอกโทษ ประมวณโทษให้เกิดมี อายุนั้นสามสิบปี ถึงสี่สิบถอยลงมา ไข้เกิดในคิมหันต์ ทั้งตวันเที่ยงเวลา ลักษณแห่งโรคา ให้ร้อนกล้าสกลกาย เหียนรากให้เพ้อทำ กระหายน้ำระส่ำระสาย อนึ่งให้มึนตึงกาย ทั้งปากฅอก็เลือกไป ทุกขสัตว์ทั้งเบาหนัก ให้เหลืองแดงพิการใน อนึ่งให้เสโทไหล เรียกว่าเอกโทษดี จับแต่ตวันเที่ยง ไปถึงบ่ายห้านาที แม้นยังไม่สมประดี อาการเกินสังเกตไป จนถึงเวลาค่ำ กำหนดย่ำจึ่งคลายใจ ทุวรรณโทษบังเกิดใน คือลมปนรคนดี ถึงกำหนดไม่ส่าง ไข้จับไปจนราตรี ยามหนึ่งสองยามมี ก็ไม่ส่างสว่างวาย จับจนประจวบแจ้ง อาทิตย์แสงจำรัสฉาย อาการทั้งนี้ทาย ถึงสันนิบาตตรีโทษา แพทย์ใดถ้าได้เห็น อาการเปนลำดับมา เร่งระมัดระเมียนยา ให้เร็วพลันจะเสียที ยาที่แก้เอกโทษ ทุวรรณโทษแลโทษตรี ตำหรับบังคับมี ให้เรียงเรียบระเบียบไป ถ้าจับเอกโทษดี อาการมีแต่เที่ยงไป สี่ห้านาทีใน ก็ส่างเสมอทุกเพลา กำหนดถึงเก้าวัน จึ่งผ่อนผันให้วางยา กล่าวตามท่านกล่าวมา สันโดษโดยแต่โทษดี เสมหะประกอบเกิด ในกำเนิดซึ่งโรคี อายุสิบห้าปี ฤดูนั้นก็เหมันต์ รุ่งขึ้นแต่เช้าสับ ประจวบจับถึงไก่ขัน ลักษณอาการนั้น ข้างนอกทั่วทั้งตัวตน ให้ร้อนกำลังกล้า ในกายาวิกลยล เยือกเย็นแสยงขน ทั้งหวัดไอก็มีมา ลำสอให้ตีบตื้น อาหารกลืนบลงหนา เชื่อมมึนหนักกายา ทั้งปากนั้นก็หวานไป อนึ่งให้อุจาระ ปัสสาวะจักษุใน ดูสีนั้นก็ขาวไป มิได้ปรกติดี ไข้จับแต่รุ่งเช้า ไปถึงห้าหกนาที อาการเช่นนี้มี ว่าเอกโทษเสมหะทำ ถ้าแม้นมิส่างเสื่อม ยังเลื่อนๆ เวลาประจำ ถึงเที่ยงตลอดล้ำ ไปจนบ่ายห้านาที ดีจรมาระคน เข้าปะปนเสมหะมี แม้นจับยังทับทวี จนเย็นย่ำสุริยันต์ โทษคลุ้มประชุมให้ ตลอดไปจนถึงสัน นิบาตตรีโทษนั้น จงรู้แจ้งอย่าแคลงใจ เอกโทษอาการต้น โดยนิพนธ์บังคับไข ไข้ถึงสองไป จงพึงฟังให้ตั้งยา เอกโทษนั้นมีสาม ประการนามแสดงมา กำหนดวันเวลา ก็เสร็จสิ้นในอาการ หนึ่งโสถจะกล่าวอ้าง โดยเปนทางพิศดาร เรียงเรียบระเบียบสาร ทุวรรณโทษนั้นสืบไป กำหนดฟังสังเกต ที่มีเพศปฐมไวย สิบหกปีบังเกิดไข้ ในคิมหันต์ฤดูกาล เสมหะนั้นเปนต้น ดีเข้าปนเปนสองถาน ระคนกันบรรดาล วิบัติเกิดซึ่งโรคี หนึ่งให้สะท้านหนาว สะท้านร้อนไม่สมประดี ปากฅอนั้นเลือกมี ระหายน้ำแลหอบไอ ให้เชื่อมมัวตัวหนัก จะลุกนั่งบอว่องไว กำเนิดไข้แต่เช้าไป จนบ่ายส่างสามนาที

หนึ่งโสถอายุนั้น โดยสำคัญสามสิบทวี ไปถึงสี่สิบปี ว่าดีนั้นกำลังครัน

อนึ่งเปนฤดูฝน ให้พิกลพิการพลัน บังเกิดซึ่งโรคันต์ ทุวรรณโทษนั้นมีมา ตั้งแต่ตวันเที่ยง จับไปจนถึงเวลา เย็นย่ำพระสุริยา จึ่งส่างสิ้นได้สมประดี ให้เชื่อมมึนมัวเมา แลเมื่อยขัดทุกข้อมี ให้หาวเหียนอาเจียนทวี ให้ปากฅอนั้นแห้งไป ฃนพองสยองกาย ระส่ำระสายในหัททัย อนึ่งให้สดุ้งใจ ทั้งศีศะก็ปวดครัน อาการพิกลเกิด เปนกำเนิดแห่งโรคันต์ ดีลมระคนกัน ให้แพทย์พึงวิจารณ์จำ

อนึ่งอายุสี่สิบ ถึงห้าสิบให้เกิดกรรม์ กำลังลมระดมทำ เปนไข้ลงในเหมันต์ ให้หนักในเนื้อตัว เปนหวัดไอปวดหัวครัน ข้อมือข้อเท้านั้น ให้เมื่อยขบบอวายคลาย

อนึ่งไซ้ในกายตน ให้ร้อนรนนั้นมากมาย เสโทบออกอาย ข้างนอกเย็นบอเว้นวัน แต่ค่ำประจำจับ จนรุ่งสับก็ส่างพลัน เสลดลมระดมกัน เปนสองแจ้งตำแหน่งนาม ทุวรรณโทษก่อเกิด ประชุมเชิดไว้เปนสาม อายุฤดูยาม กระทู้โทษแห่งโรคี กล่าวในไข้เอกโทษ ทุวรรณโทษลำดับมี เพลายามแลนาที กำหนดเนื่องเปนเรื่องมา แม้นจับนั้นทับทวี เกินนาทีแลเวลา ให้โทษถึงโทษา สันนิบาตจงแจ้งความ สันนิบาตจะก่อเกิด กำเนิดหว่างฤดูสาม ฤดูหกนั้นก็ตาม ให้กำหนดแต่เวลา รุ่งขึ้นแต่เช้าไข้ กำเริบไปไม่โรยรา จนสิ้นสุริยา เข้าสองยามเปนสำคัญ ในตำหรับบังคับขาด ว่าสันนิบาตเปนเที่ยงธรรม์ ดูเพศสังเกตุมัน ในอาการที่เกิดมี ให้จับสะท้านร้อน สะท้านหนาวทั้งอินทรีย์ จักษุทั้งสองมี ให้ปวดเคืองน้ำตาไหล ให้เจ็บทุกข้อลำ ถึงสมองกระดูกใน เหงื่อนั้นออกเอิบไป ทั่วทั้งในสกนธ์ตน ลูกตาทั้งสองนั้น ให้เหลืองทั่วทั้งมณฑล บางทีให้แดงยน ลูกตาล้นจากเบ้าตา จะแลดูสิ่งใด ไม่เที่ยงธามธรรมเนียมมา ปะหลับปะเหลือกตา ดังหนึ่งบ้าเข้าสิงใจ สองหูให้ตึงปวด ทั้งเพดาลก็คันไป ให้หอบแลหายใจ สอื้นอ้อนสะท้อนทำ ลิ้นปากก็เน่าเหม็น เปนเม็ดพรึงให้พึงจำ ให้ลิ้นบวมแลลิ้นดำ แลให้เจ็บในอุรา ให้เหียนแลเศียรนั้น ดูงกงันน่าเวทนา หนึ่งนั้นจะนิทรา ให้ตาหลับบอหลับใจ ลุกนั่งสกนธ์ตน ดูพิกลพิการไป หนึ่งนั้นปากฅอให้ แลเจรจาบอรู้คำ ทุกขสัตว์บังเกิดมี บางทีเขียวบางทีดำ ให้กระปริบกระปรอยทำ ไม่สดวกอย่าพึงแคลง รอบข้อทุกข้อนั้น เปนสายเขียวแลสายแดง เปนแห่งหนึ่งสองแห่ง แลสามแห่งสำคัญมี

อนึ่งเส้นนั้นให้เขียว ดูก่ายเกี่ยวทั้งอินทรีย์ อนึ่งท้องบังเกิดมี ให้ผะอืดผะอมลม ถ้าพร้อมดังกล่าวมา บอขาดค้างทุกสิ่งสม ธาตุเพลิงทั้งสี่กลม นั้นดับสิ้นจากอาตมา

อนึ่งผู้เปนอาพาธ สันนิบาตให้โทษา อาการนั้นจรมา ให้แพทย์พึงกำหนดใจ ถ้าบวมต้นหูนั้น ในเจ็ดวันจะบรรไลย ถ้าบวมลูกตาใน กำหนดไว้ห้าวันวาร ถ้าบวมถึงปากนั้น ในเจ็ดวันจะอวะสาน แพทย์เยาว์ปัญญาญาณ จงแจ้งจำที่รำพัน ไนยหนึ่งจะแจ้งเหตุ โดยประเภทซึ่งโรคันต์ เรียกว่าเปนทุวรรณ โทษทางระหว่างทำ คือลมแลเสมหะ เข้าปนปะระคนประจำ แพทย์จงสำเนียกนำ จะกล้าใครจะหย่อนใคร ถ้าลมกำลังแรง สำแดงท้องให้ผูกไป ทุกข้อทุกลำใน ให้มึนเมื่อยบอวายคลาย อนึ่งดูให้งกงัน ศีศะนั้นก็ปวดหลาย ลักษณดังนี้ทาย ว่าลมนั้นกำลังมี เสมหะบอกอาการ ให้โทษพาลกำลังทวี ให้หวัดแลไอมี จะนั่งลุกลำบากกาย ให้หนักซึ่งเนื้อตัว ทั้งเชื่อมมั่วก็มากมาย เปนตำแหน่งในเชิงชาย เสมหะกล้าบอกอาการ อนึ่งดีกับเสมหะ เข้าปนปะเปนสองถาน ดีกล้ามีอาการ ให้จับตั้งแต่เที่ยงไป ถึงบ่ายสามนาที จึ่งค่อยมีความศุขใจ แต่สามนาทีไป จนพลบค่ำจึงค่อยคลาย

ไข้นั้นให้เชื่อมมัว เหียนรากระส่ำระสาย อาการดังนี้หมาย คือดีมีกำลังครัน ถ้าไข้แต่เช้ามืด ถึงสามโมงเปนสำคัญ เชื่อมมัวหัวใจครัน ให้กายตึงไปทั้งกาย นั่งลุกให้พลุกพลัก เนื้อตัวหนักดังดินทราย จะนอนก็เคลิ้มคลาย ให้หลับๆ ตื่นๆ ไป อนึ่งนั้นให้เกิดเหียน ทั้งอาเจียนแลให้ไอ คือดวงเสมหะใน ให้โทษกล้ามากกว่าดี

อนึ่งดีกับลมโสด ถ้าลมโทษนั้นกว่ามี อาการจับทวี ตั้งแต่บ่ายสามโมงไป ให้เชื่อมมัวแลหาว เปนคราวๆ ครุ่นๆ ไป อาการจะนอนไซ้ ก็ไม่หลับระงับลง พลบค่ำจึ่งจับส่าง คนไข้สว่างอารมณ์ปลง จึ่งหลับสนิทลง จงรู้แจ้งอย่าแคลงใจ ถ้าดีกำลังเกิด ไข้กำเนิดแต่เที่ยงไป ดูเพศสังเกตใน อาการนั่งไม่ทรงกาย จะลุกก็เซซวน ให้ปั่นป่วนระส่ำระสาย ตัวร้อนก็มากมาย จับถึงบ่ายห้านาที ส่างสิ้นกำหนดไข้ ก็ค่อยได้ความศุขมี แพทย์จงกำหนดวิธี สำเนียกไว้ให้ชำนาญ ลักษณสันนิบาต อาพาธมีสามประการ ดีกับเสมหะถาน ทั้งวาโยระคนปน ทั้งสามใครยิ่งใคร จะนำไข้ให้เร่งรน แพทย์จงสำเนียกกล เราจะแจ้งแห้งอาการ ถ้าดีกับเสมหะ เข้าคละเปนสมุฏฐาน ยังอายุบรรดาล มาแซกซ้ำให้เรี่ยวแรง แต่บ่ายห้านาที ไม่คลายคลี่ประจำแปลง ถึงสามยามอย่าแคลง เปนกำหนดอาการกล อนึ่งนั้นให้เชื่อมมัว แลมึนตึงทั่วกายนต์ หลับหรือจะตื่นตน ไม่รู้ศึกซึ่งกายา อนึ่งนั้นให้หวั่นหวาด สดุ้งไปทั้งอาตมา ประสาทโสตจะเรียกหา ไม่ได้ยินว่ากลใด ด้วยลมนั้นแกล้วกล้า มันประดาพัดขึ้นไป ออกตาหูลำฅอไซ้ จงดูเพศสังเกตจำ ลักษณะเสมหะกล้า แต่บ่ายห้านาทีทำ จับไปจนพลบค่ำ ค่ำจนถึงสว่างจัน ถึงสามนาทีเช้า ค่อยส่างเมาอาการมัน ลักษณะซึ่งไข้นั้น จะนั่งลุกเปนศุขกาย ให้หอบนั้นบ่อยๆ ให้เหียนเปนกำลังคลาย ให้ถ่มซึ่งน้ำลาย แลหนักตัวมึนตึงไป ผิวเนื้อนั้นเย็นครัน ทั้งกลางคืนกลางวันใน ปากลิ้นให้เลือกไป สังเกตเหตุนี่เพศมัน อนึ่งนั้นเล่าโสดไข้ มานำให้ซึ่งโทษทัณฑ์ แกล้วกล้ายิ่งกว่ากัน ให้จับแต่เช้านั้นไป จนถึงเวลาค่ำ กำหนดย่ำค่อยคลายใจ ในเมื่ออาการใน จะนั่งนอนไม่สบาย ร้อนเปนกำลังกล้า นอกกายาแลในกาย ลิ้นฅอก็แห้งหาย น้ำลายขาดที่เคยมี ทุกขสัตว์ทั้งเบาหนัก ก็พิกลพิการมี ดูเหลืองประเทืองสี ทั้งจักษุก็แดงไป บางทีจักษุนั้น ดูผิวพรรณนั้นเหลืองใน น่าอกให้เต้นไป มิได้ขาดในอาการ

กล่าวสันนิบาตโสด เปนตรีโทษบรรหารสาร แพทย์ใดได้พบพาน จงเล่าทำให้จำเวย ประเภทไข้เท่านี้ เราบอกชี้ผวนเฉลย ข้อคำที่ร่ำเหวย เสร็จสมมุติยุติกา

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ