- คำนำ
- บานแพนก
- ฉันทศาสตร์
- ว่าด้วยทับ ๘ ประการ
- ว่าด้วยคำภีร์ตักกะสิลา
- ว่าด้วยกำเนิดไข้, ด้วยที่อยู่, ฤดู, อาหาร, แลธาตุ
- ว่าด้วยลักษณะน้ำนมดีแลชั่ว
- ว่าด้วยลักษณะอาการไข้ที่เข้าเพศเปนโทษ ๔ อย่าง
- ว่าด้วยกำเนิดแห่งไข้ (โรค) ต่าง ๆ
- ว่าด้วยชีพจร ให้ระวังในการระบายยา
- ว่าด้วยลักษณะธาตุ
- ว่าด้วยป่วง ๘ ประการ
- ตำรายาแก้สันนิบาต สองคลอง และอะหิวาตะกะโรค
- ว่าด้วยสมุฏฐาน
- ว่าด้วยอติสาร
- ว่าด้วยมรณะญาณสูตร์
- ว่าด้วยโรคไภยต่าง ๆ แห่งกุมาร
- พระคัมภีร์ประฐมจินดา
- ว่าด้วยลักษณครรภ (ผูก ๑ บริเฉท ๑)
- คำภีร์ครรภรักษา ลักษณะครรภวารกำเนิด (ผูก ๑ บริเฉท ๒)
- ครรภ์วิปลาศ ครรภ์ปริมณฑล ครรภ์ประสูตร
- ว่าด้วยลักษณกุมาร กุมารออกจากครรภ์ ฝังรกแห่งกุมาร กุมารอยู่ในเรือนเพลิง (ผูก ๑ บริเฉท ๓)
- ว่าด้วยสังโยชน์ลักษณ์สัตรีดีแลชั่ว แลรศน้ำนมดีแลชั่ว (ผูก ๑ บริเฉท ๔)
- ว่าด้วยลักษณะรูปสัตรีแลรูปกุมาร (ผูก ๒ บริเฉท ๑)
- ว่าด้วยลักษณะปักษี แลปิศาจกระทำโทษ ลักษณะน้ำนมมีโทษ ๓ ประการ
- ว่าด้วยลักษณะทราง
- กำเนิดทรางทั้งปวง
- อาการไข้อันบังเกิดแห่งกุมารกุมารีทั้งหลาย
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันอาทิตย์ (ผูก ๓ บริเฉท ๑)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันจันทร์ (ผูก ๓ บริเฉท ๒)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันอังคาร (ผูก ๓ บริเฉท ๓)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันพุฒ (ผูก ๓ บริเฉท ๔)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันพฤหัศบดี (ผูก ๓ บริเฉท ๕)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันศุกร์ (ผูก ๓ บริเฉท ๖)
- ว่าด้วยกุมารเกิดวันเสาร์ (ผูก ๓ บริเฉท ๗)
- คัมภีร์เตร็จซึ่งคัดมาจากคัมภีร์อภัยสันตา ว่าด้วยทรางต่างๆ (ผูก ๔)
- ลักษณะกำหนดทรางแลทรางจร กำลังไข้ กิมิชาติแลตานโจร (ผูก ๕)
- ตานโจรเกิดด้วยธาตุทั้ง ๔ ตานโจรอันเกิดเพื่ออะติสาร (ผูก ๖)
- ตานโจรเกิดเพื่ออติสาร แลว่าด้วยกาฬต่าง ๆ
- ว่าด้วยอุจจาระปัสสาวะแห่งกุมารแลกุมารี แลลักษณะตานจร
- พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์
- คัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด)
- สรรพคุณยาแก้ไข้ทรพิศม์
ว่าด้วยลักษณะธาตุ
บัดนี้จะกล่าวแถลง ให้รู้แจ้งแห่งธาตุหนอ สังเขปไว้แต่ย่อๆ พอเปนอย่างทางเล่าเรียน ผู้ใดได้พบเหน อย่าล้อเล่นแลติเตียน ด้วยข้าอุส่าห์เพียร จึ่งได้เขียนเปนตำรา จักกล่าวตามลักษณ ชื่อรัตนะธาตุทั้งห้า อาจาริย์ท่านพรรณา คัดออกมาจากโรคนิทาน ลักษณนั้นมีห้า เปนธรรมดาแต่โบราณ คือธาตุนั้นพิการ กำเริบแลหย่อนไป อนึ่งเล่าคือธาตุแตก เปนแพนกนับออกไว้ ธาตุออกจากกายไซ้ สังเขปได้ห้าประการ
จะกล่าวธาตุปถวี โทษนั้นสี่สิบสองสถาน อาพาธนั้นบันดาล ให้เจ็บปากแลเจ็บฟัน ผมร่วงเจ็บในสมอง หนังหัวพองขนลุกชัน เจ็บในก้อนเนื้อนั้น เจ็บแถวเอ็นแลดวงใจ ผิวหนังแตกระแหง เจ็บทุกแห่งกระดูกใน นาภีนั้นปวดเจ็บไป ปัถวีไซ้หย่อนแลนา อนึ่งเล่ากองปัถวี กำเริบมีกำลังมา สิบสามตามสังขยา คือนิทราไม่หลับไหล ให้คลั่งให้เจ็บอก น้ำลายตกกระหายไป ให้เศียรร้าวณะภายใน มักโกรธใจให้เจ็บหลัง ขัดหนักแลขัดเบา ท้องนั้นเล่าลั่นเสียงดัง ต่างๆ ให้พึงฟัง เจ็บกระทั่งถึงทวารเบา ข้อมือแลข้อแขน ตลอดแล่นเมื่อยขบเอา โทษนี้ปัถวีเล่า อย่าดูเบาสุขุมา ไนยหนึ่งเมื่อพิการ ให้เจ็บซ่านทั้งกายา ท้องนั้นเจ็บนักหนา ให้วาตาตีขึ้นไป ท้องลั่นเสียงต่างๆ เสียดแทงข้างขบตอดใน โทษนี้ปัถวีให้ พิการไซ้จึ่งวิกล ไนยหนึ่งปัถวีธาตุ เมื่อนิราศออกจากตน เจ็บท้องเปนสละวน ท้องขึ้นทนผอมเหลืองไป สมมุติว่าริศดวง เพศนี้ล่วงจักแปรไป เปนองคะสุตรไซ้ น้ำมูตรในเปนเลือดหนอง ให้เสียดสันหลังไป อาหารไซ้มิอยู่ท้อง ปถวีนี้ขะนอง ให้เร่งยาในห้าวัน
ไนยหนึ่งปถวีแตก ท่านยกแยกไว้สำคัญ คือโสตทั้งสองนั้น ห่อนได้ยินเสียงเจรจา จักษุทั้งสองไซ้ รูปสิ่งใดห่อนเหนหนา ผิวเนื้อนั้นหยาบช้า ซีดสากซาเปนอนิจจัง มีโทษทั้งสามนี้ บังเกิดมีเร่งระวัง ห้าวันจะมรณัง ผู้เปนแพทย์อย่านอนใจ
จักแจ้งอาโปธาตุ เปนประหลาดเมื่อหย่อนไป อาการสิบเอ็จให้ ดีพลุ่งไซ้แลเสมหา บุพโพก็ลามไหล โลหิตไซ้บังเกิดมา ขนชันทั่วกายา เกิดน้ำตาให้ลามไหล เสโทแลน้ำเบา เขฬะเล่าเกิดมากไป กำเดามักตกไหล มักเปนไข้เกิดพิการ
อนึ่งเล่าอาโปไซ้ กำเริบให้โทษสิบเอ็ดสถาน ให้เบื่อรศอาหาร น้ำตาตกปวดศิรา ข้อมือแลข้อเท้า ให้เมื่อยเล่าเมานิทรา ระหายน้ำเปนมหา วิงเวียนหน้าตัวสั่นไป ให้สอึกนอนไม่สนิท หวาดหวั่นจิตรสดุ้งไหว คำนึงถึงดอกไม้ รำพึงไปถึงกิเลศกาม เท่านี้เปนสิบเอ็ด กล่าวสำเร็จแต่ใจความ เรียนรู้เร่งไต่ถาม จึงควรนับว่าแพทย์ดี หนึ่งเล่าเมื่อพิกาล สามสถานให้เกิดมี ขัดเบาแลนาภี ขึ้นพองแลน้ำพิการ อาโปเมื่ออันตราย ออกจากกายแปรสถาน ให้จุกแน่นเปนดาล ส่วนที่ลงก็ลงไป ขัดหนักแลขัดเบา เจ็บหัวเหน่าให้หลงไหล ตกเลือดตกหนองใน ปวดมวนไปเปนนานา บางคาบท้องนั้นผูก กลิ้งเปนลูกแดกขึ้นมา ให้เสียดสองซ้ายขวา ยากที่ยาจะแก้ไข้ โรคนี้บุราณกรรม์ เพศนั้นทำจักแปรไป จะขัดหัวเข่าให้ เจ็บน่องคู้ทั้งสองเปน อนึ่งธาตุอาโปแตก ท่านยกแยกไว้ให้เห็น อาการเฉภาะเปน เกิดวิบัติให้ขัดเบา ลิ้นแขงลิ้นแห้งไป ตัวเย็นไซ้พร้อมกันเข้า ทั้งสี่ประการเล่า ยังห้าวันจะมรณา
จักกล่าววาโยไซ้ เมื่อย่อนไปให้โทษมา สิบสามตามสังขยา คือวาตาวิบัติไป มักถอนใจใหญ่นัก หาวเรอมักผายลมใน เปนลมทนท้องให้ กระบัดไปร้อนหนาวนา ให้ร้อนในทรวงอก กายสั่นงกเท้าหัดถา ลมแล่นทั่วกายา เท้าหัดถานั้นตายไป ลมพัดต้องดวงจิตร ลมทำพิษให้คลั่งไคล้ สิบสามโทษนี้ให้ วาโยไซ้ผ่อนหย่อนลง วาโยกำเริบคะนอง โทษสิบสองอาการตรง ลิ้นแขงฅอแห้งผง กระหายน้ำเขม่นตา ขนพองสยองเกล้า ฟันคลอนเล่าขัดนาสา อาหารไม่นำภา เท้าหัดถานั้นเย็นไป ฟันแห้งปากแห้งเล่า จักนับเข้าสิบสองไซ้ วาโยกำเริบให้ เร่งแก้ไขกำเริบมา วาโยพิการเล่า เมื่อท้องเปล่าอาเจียรหนา บางคาบอิ่มเข้าปลา จึ่งอาเจียนคลื่นเหียนไป ท้องนั้นคลอนลมอยู่ พิเคราะห์ดูโทษนี้ไซ้ วาโยพิการให้ ท่านกล่าวไว้เปนสำคัญ วาโยออกจากตน เกิดวิกลสองหูนั้น ให้หนักแลตึงครัน หิ่งห้อยนั้นออกจากตา ให้เมื่อยสองหัวเข่า จะเปนเล่าตะคริวหนา จับโปงโป่งขึ้นมา เจ็บขัดทรวงเสียวปวดไป มักแปรเปนฝีเอ็น ร้อนแลเย็นกระบัดให้ สันหลังเมื่อยขบไป วาโยไซ้ออกจากกาย วาโยเมื่อแตกเล่า หายใจเข้าน้อยไปหาย ใจออกมากระบาย ห่อนรู้จักสมปฤดี กลางคืนแลกลางวัน จักษุนั้นมืดมัวสี โทษสองประการนี้ ยังสองวันจะมระณา
พรรณาเตโชไซ้ เมื่อหย่อนไปให้โทษมา ให้ขัดในอุรา ให้แสบไส้ให้ตัวเย็น จะนอนไม่สบาย พลิกขวาซ้ายวิบัติเห็น ต่างๆ เพื่อให้เปน มิใคร่หลับสนิทนาน ครั้นหลับสดุ้งไหว กายนั้นให้มักรำคาญ มักอยากกินอาหาร ของสดคาวเปนนาๆ อาหารกินน้อยๆ หิวบ่อยๆ หลายเพลา อาการสิบนี้นา เร่งรู้ไว้ให้ชัดเจน ในเมื่อเตโชธาตุ วิปลาศกำเริบเปน โทษสิบประการเห็น ให้ฟันแห้งปากแห้งไป ไม่นึกอยากอาหาร นอนแล้วคร้านลุกขึ้นให้ เจ็บสูงมืดมัวไป น้ำตาไหลไอแห้งเปล่า พอใจอยู่ที่เปลี่ยว อยู่ผู้เดียวอย่าลุมเล้า เจรจาแล้วลืมเล่า ให้เจ็บเร้าระบมกาย เตโชเมื่อพิการ ท้องขึ้นพล่านไม่สบาย ท้นท้องมิรู้หาย เปนมงคร่อแลหืดไอ ขัดอกบวมมือเท้า โทษนี้เล่าเหตุเพราะไฟ พิการเร่งแก้ไข ตามท่านไว้สรรพยา เตโชออกจากกาย ให้ร้อนปลายเท้าหัดถา เจ็บปวดเปนพิศม์มา ดังเขี้ยวงาขบตอดตน แปรไปให้บวมเล่า หลังมือเท้าปวดสุดทน แปรไปผุดทั้งตน เปนเม็ดแดงแลดำมี แล้วจมลงทำท้อง ตกเลือดหนองแก้จงดี มือเท้าทั้งสองนี้ ให้เปนเหน็บชาตายไป โรคนี้ให้เร่งแก้ ดูให้แน่อย่านอนใจ จะเสียมากกว่าได้ เร่งแก้ไขแต่อ่อนมา อนึ่งเล่าเตโชแตก ท่านยกแยกโทษไว้ห้า ปากแห้งแขงชิวหา เลือดตกหน้าตาแห้งไป ห่อนรู้จักหน้ากัน หายใจสั้นสะท้อนใน ผิวโทษเช่นนี้ไซ้ ยังสามวันจะมรณา
อากาศธาตุแตกนั้น ในหูลั่นกรอกกลอกตา แลดูนิ้วแลหัดถา ห่อนปรากฎจักษุตน โทษสองประการนั้น ยังสองวันชีวาตน จักดับถึงอับจน กล่าวไว้แท้แน่ตำรา
กลหนึ่งลักษณธาตุ เมื่อนิราศจากอาตมา เตโชเจ็ดวารา เร่งวางยาแก้ไขกัน ปถวีเมื่อออกจาก แก้ไขยากแต่ห้าวัน มิฟังพ้นกว่านั้น โรคแปรผันเข้าอวะสาน วาโยออกเล่าไซ้ เร่งแก้ไขแต่เจ็ดวาร มิทุเลาเบาอาการ เข้าอวะสานท่านกล่าวไว้ อาโปเมื่อออกซ่าน สิบเอ็ดวันเร่งแก้ไข โดยที่คัมภีร์ใน ท่านกล่าวไว้ให้แจ้งใจ อากาศเมื่อออกนั้น แก้แต่วันเดียวนั้นไซ้ ยามหนึ่งพึงจำไว้ เปนฉบับโบราณมา
จะกล่าวลักษณธาตุ ท่านกล่าวขาดถึงอวะสาน ล้มไข้ได้ตรีวาร ให้เชื่อมมึนไม่สมประดี อาหารกินมิได้ ปิดหนักไว้ถ่ายหลายที ไม่ลงสดวกดี กลับคลื่นเหียนไม่ฟังยา ลักษณโทษทั้งนี้ ธาตุปถวีเปนมหา อาการสิบวารา สิบเอ็จวันเข้าอวะสาน
ล้มไข้ได้สามวัน แลสี่วันมีอาการ หาวเรอรากอาหาร นอนสดุ้งไม่สมประดี ให้เพ้อละเมอคว้า มักเจรจาพูดด้วยผี เท้าเย็นมือเย็นมี โทษทั้งนี้เพราะวาตา จะเสียส่วนๆ หนึ่งได้ แก้เย็นไซ้มีร้อนมา อาการสิบวารา เก้าวันถึงอวะสาน ล้มไข้ได้สามวัน แลสี่วันทิ้งอาหาร ให้ลงมากเหลือการ อยู่ดีๆ ฉูดลงไป ลางทีตกเสมหัง โลหิตังตกลามไหล ทั้งสองทวารใน แล้วให้รากโลหิตา ลักษณอาโปธาตุ ย่อมร้ายกาจไม่ฟังยา เจ็ดวันอย่าฉันทา อาการขาดถึงอวะสาน
ล้มไข้ได้สามวัน แลสี่วันมีอาการ ให้ร้อนสองสถาน ร้อนภายนอกแลภายใน พรมน้ำอยู่บอวาย ให้ระหายน้ำเหลือใจ ฅอแห้งถึงทรวงใน ให้คลั่งไคล้ไม่สมประดี ให้เมื่อยทั่วทั้งตน ดุจคนมารยามี กิริยาเหมือนหนึ่งผี พูดแลพรายประจำใจ ให้อยากของแสลง ผิดสำแลงแล้วหนักไป ห้าวันอย่าอาไลย โทษนี้ไซ้ไม่ฟังยา เข้าอวะสานเร่งพินิจ แพทย์พึงพิจารณา ตัดเสียอย่ารักษา เตโชธาตุสำแดงการ อนึ่งอากาศธาตุนั้น ในสองวันเปนประมาณ มิฟังเข้าอวะสาน แพทย์พิจารณ์ชำนาญเอย
----------------------------