มหาพิกัต

บัดนี้จะกล่าวด้วยมหาพิกัตต่อไป

อธิบายว่ากายแห่งบุคคลทั้งหลายนี้ เปนที่ตั้งแห่งกองสมุฏฐาน สมุฏฐานเปนที่ตั้งแห่งกองธาตุ ธาตุเปนที่ตั้งแห่งกองโรค โรคเปนที่ตั้งแห่งอาหารดังนี้ ถ้าจะแก้ให้แก้ในกองสมุฏฐานเปนอาทิ ด้วยอรรถว่าสมุฏฐานนี้เปนรากแก้วแห่งโรคทั้งหลาย ท่านจึงแยกเบ็ญจกูลนั้นออกแล ๓ แล ๓ เอาพริกไทยแซกเข้า ๑ เปน ๖ เหตุว่าพริกไทยนั้นแก้ในกองลม สรรพคุณสิ่งอื่นที่จะแก้ลมยิ่งกว่านั้นหามิได้ พระอาจาริย์เจ้าจึงประกอบเข้าไว้ในเบ็ญจกูล จึงได้นามบัญญัติดังนี้

๑ คือพริกไทย ๑ ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ ทั้ง ๓ นี้ คือตรีกฏุกในพิกัตวสันตฤดู

๒ อนึ่งคือเจ็ตมูลเพลิง ๑ สค้าน ๑ ช้าพลู ๑ ทั้ง ๓ นี้ คือตรีสารในพิกัตเหมันตฤดู

๓ อนึ่งคือสมอไทย ๑ สมอพิเภก ๑ มะขามป้อม ๑ ทั้ง ๓ นี้ คือตรีผลาในพิกัตคิมหันตฤดู อันนี้ท่านสงเคราะห์แก้ในกองสมุฏฐานโรคฤดูทั้ง ๓ ดังนี้

๑ อนึ่งคือสมอพิเภก ๑ ขิงแห้ง ๑ เจ็ตมูลเพลิง ๑ ทั้ง ๓ นี้แก้ในกองปิตตะสมุฏฐานพิกัต

๒ อนึ่งคือสมอไทย ๑ พริกไทย ๑ สะค้าน ๑ ทั้ง ๓ นี้แก้ในกองวาตะสมุฏฐานพิกัต

๓ อนึ่งคือมะขามป้อม ๑ ช้าพลู ๑ ดีปลี ๑ ทั้ง ๓ นี้ แก้ในกองเสมหะสมุฏฐานพิกัต ให้ประกอบตามส่วนโดยไนยจะมีไปข้างน่านั้น

อนึ่งท่านจึงจัดสรรพยาในกองสมุฏฐานกล่าวคือ ตรีผลา ตรีกฏุก ตรีสาร ทั้ง ๓ นี้ มาระคนกันเข้าไว้จะให้แจ้งในพิกัด

คือบทว่าเบ็ญจกูลนั้น คือขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ เจ็ตมูลเพลิง ๑ สะค้าน ๑ ช้าพลู ๑ อันนี้ชื่อว่าเบ็ญจกูลแก้ในกองธาตุ แก้ในกองฤดูสมุฏฐาน ด้วยอรรถวาสมุฏฐานธาตุ ฤดูเนื่องถึงกันที่จะได้ขาดจากกันนั้นหามิได้ เปนที่อาไศรยซึ่งกันแลกัน จึ่งให้ประกอบเบ็ญจกูลขึ้นตามพิกัด กำเริบ, หย่อน, แลพิการนั้น แก้ดังนี้จึงจะควร

๑ ถ้าเตโชธาตุกำเริบ เอา สะค้าน ๑ ดีปลี ๒ ช้าพลู ๓ ขิงแห้ง ๔ เจ็ตมูล ๘ สมอพิเภก ๑๖ ประจำสมุฏฐานอัคนีกำเริบ

๒ อนึ่งถ้าเตโชหย่อน เอา ดีปลี ๑ ช้าพลู ๒ สะค้าน ๓ สมอพิเภก ๔ ขิงแห้ง ๘ เจ็ตมูล ๑๖ ประจำสมุฏฐานอัคนีหย่อน

๓ ถ้าเตโชพิการ เอา ช้าพลู ๑ สะค้าน ๒ ดีปลี ๓ เจ็ตมูล ๔ สมอพิเภก ๘ ขิงแห้ง ๑๖ ประจำสมุฏฐานอัคนีพิการ

๔ ถ้าวาโยกำเริบ เอาช้าพลู ๑ เจ็ตมูล ๒ ดีปลี ๓ พริกไทย ๔ สะค้าน ๘ สมอไทย ๑๖ ขิงแห้ง ระคนประจำวาตะสมุฏฐานกำเริบ

๕ ถ้าวาโยหย่อน เอาเจ็ตมูล ๑ ดีปลี ๒ ช้าพลู ๓ สมอไทย ๔ พริกไทย ๘ สะค้าน ๑๖ ขิงแห้งระคนประจำวาตะสมุฏฐานหย่อน

๖ อนึ่งถ้าวาโยพิการ เอา ดีปลี ๑ ช้าพลู ๒ เจ็ตมูล ๓ สะค้าน ๔ สมอไทย ๘ พริกไทย ๑๖ ขิงแห้ง ระคนประจำวาตะสมุฏฐานพิการ

๗ ถ้าอาโปสมุฏฐานกำเริบ เอา ขิงแห้ง ๑ สะค้าน ๒ เจ็ตมูล ๓ ดีปลี ๔ ช้าพลู ๘ มะขามป้อม ๑๖ พริกไทยระคนประจำอาโปสมุฏฐานกำเริบ

๘ ถ้าอาโปหย่อน เอา สะค้าน ๑ เจ็ตมูลเพลิง ๒ ขิงแห้ง ๓ มะขามป้อม ๔ ดีปลี ๘ ช้าพลู ๑๖ พริกไทยระคนประจำอาโปสมุฏฐานหย่อน

๙ อนึ่งถ้าอาโปพิการ เอา เจ็ตมูล ๑ ขิงแห้ง ๒ สะค้าน ๓ ช้าพลู ๔ มะขามป้อม ๘ ดีปลี ๑๖ พริกไทย ระคนประจำอาโปสมุฏฐานพิการ

๑๐ ถ้าปถวีธาตุกำเริบ เอา พริกไทย ๑ ขิงแห้ง ๒ เจ็ตมูล ๓ สะค้าน ๔ ดีปลี ๘ ช้าพลู ๑๖ ตรีผลา ระคนประจำปถวีสมุฏฐานกำเริบ

๑๑ อนึ่งถ้าปถวีธาตุหย่อน เอา ขิงแห้ง ๑ เจ็ตมูล ๒ พริกไทย ๓ ช้าพลู ๔ สะค้าน ๘ ดีปลี ๑๖ ตรีผลาระคนประจำปถวีสมุฏฐานหย่อน

๑๒ ถ้าปถวีพิการ เอาเจ็ตมูล ๑ พริกไทย ๒ ขิงแห้ง ๓ ดีปลี ๔ ช้าพลู ๘ สะค้าน ๑๖ ตรีผลาระคนประจำปถวีสมุฏฐานพิการ

อันว่ากองปถวีธาตุสมุฏฐานนี้ สงเคราะห์มาแต่มหาภูตรูป ซึ่งมีอยู่ในพระคัมภีร์อันปรารพภ์ธาตุบัญจก ว่าด้วยสุริยพิกัตราษี เปนฤดูเดือนต่อกันจัดเปน ๔ ฤดู ฤดูหนึ่ง ๓ เดือน โดยลำดับธาตุทั้ง ๔ นั้น มาสาธกไว้ในที่นี้ จะให้แพทย์พึงรู้ในกองสมุฏฐานโดยง่าย ด้วยในที่นี้ท่านแจ้งไว้ในมหาพิกัตสมุฏฐานแล ๓ ๆ คือ เตโช, วาโย, อาโป, สมุฏฐาน แต่ปถวีสมุฏฐานนี้จัดเปนชาติจะละนะ จะได้มีในมหาพิกัตนี้หามิได้ ให้แพทย์พึงรู้โดยไนยดังนี้

ถ้าจะทำเปนอภิญญาณเบ็ญจกูล เอาเจ็ตมูลทั้งใบทั้งดอกทั้งราก สิ่งละ ๔ สะค้านทั้งใบทั้งดอกทั้งรากสิ่งละ ๖ ขิงแห้งทั้งใบทั้งดอกทั้งง่าวสิ่งละ ๑๐ ช้าพลูทั้งใบทั้งดอกทั้งรากสิ่งละ ๑๒ ดีปลีทั้งใบทั้งดอกทั้งรากสิ่งละ ๒๐ อันนี้แก้ในกองธาตุอภิญญาณ

ถ้าจะทำเปนทัศเบ็ญจกูล เอาขิงแห้ง ๑ เจ็ตมูล ๑ สะค้าน ๑ ช้าพลู ๑ ดีปลี ๑ สิ่งละ ๑๐ ส่วน พิกัดอันนี้ประจำธาตุเนาวทวารอันมีอยูในพระคัมภีร์ปรารพภ์ธาตุบัญจก ท่านสงเคราะห์เอาทวารสัตรี ๑ มาประสมเข้าเปน ๑๐ จึงได้ชื่อว่าทัศเบ็ญจกูล

ถ้าจะทำมหาพิกัดเบ็ญจกูล เอาเจ็ตมูล ๔ สะค้าน ๖ ขิงแห้ง ๑๐ ช้าพลู ๑๒ ดีปลี ๒๐ อันนี้พิกัตไว้ตามกำลังธาตุ แก้เปนสาธาระณะทั่วไปในกองธาตุสมุฏฐานทั้งปวงมิได้เว้น จึ่งได้เรียกว่าพิกัดเบ็ญจกูล ดังนี้

๑ ถ้าจะทำเปนโสฬศเบ็ญจกูล เอาขิงแห้ง ๒ เจ็ตมูล ๔ สะค้าน ๖ ช้าพลู ๘ ดีปลี ๑๖

๒ อนึ่งเอาเจ็ตมูล ๒ สะค้าน ๔ ช้าพลู ๖ ดีปลี ๘ ขิงแห้ง ๑๖

๓ อนึ่งเอาสะค้าน ๒ ช้าพลู ๔ ดีปลี ๖ ขิงแห้ง ๘ เจ็ตมูล ๑๖

๔ อนึ่งช้าพลู ๒ ดีปลี ๔ ขิงแห้ง ๖ เจ็ตมูล ๘ สะค้าน ๑๖

๕ อนึ่งดีปลี ๒ ขิงแห้ง ๔ เจ็ตมูล ๖ สะค้าน ๘ ช้าพลู ๑๖ ทั้ง ๕ ฐานนี้ได้ชื่อว่าโสฬศเบ็ญจกูล ด้วยอรรถว่าบวกกันเข้าละสิ่ง ๆ ได้สิ่งละ ๓๖ ส่วน โดยในส่วนพิกัตแก้ในกองวาโยสมุฏฐาน ด้วยเหตุว่าท่านสงเคราะห์เอาสิ่งละ ๓๖ ส่วน สรรพยานั้นขึ้นตามในพิกัดซึ่งอายุคือ ๑๖ นั้นเปนอาทิ คือ ๓๖ เปนที่สุด ดุจกล่าวแล้วแต่หลัง ให้แพทย์พึงกระทำโดยไนยสิ่งละ ๓๖ ส่วนทั้ง ๕ ฐานนั้นหามิได้ ให้พิจารณาดูว่าโรคนั้นจะตกเข้าอยู่ในระหว่างธาตุสมุฏฐาน ฤดูสมุฏฐาน อายุสมุฏฐานอันใด แลจะแก้ด้วยโสฬศเบ็ญจกูลนั้นด้วย ๑๖ อันใดก็ให้พึงกระทำขึ้นตามในโสฬศอันนั้น โดยส่วนท่านพิกัดไว้จึงจะควร

๑ อนึ่งถ้าจะทำเปนทัศเบ็ญจขันธ์ เอาขิงแห้ง ๑ ช้าพลู ๒ สะค้าน ๓ เจ็ตมูล ๔ ดีปลี ๕

๒ อนึ่งเอาช้าพลู ๑ สะค้าน ๒ เจ็ตมูล ๓ ดีปลี ๔ ขิงแห้ง ๕

๓ อนึ่งเอาสะค้าน ๑ เจ็ตมูล ๒ ดีปลี ๓ ขิงแห้ง ๔ ช้าพลู ๕

๔ อนึ่งเอาเจ็ตมูล ๑ ดีปลี ๒ ขิงแห้ง ๓ ช้าพลู ๔ สะค้าน ๕

๕ อนึ่งเอา ดีปลี ๑ ขิงแห้ง ๒ ช้าพลู ๓ สะค้าน ๔ เจ็ตมูล ๕ ทั้ง ๕ ถานนี้ได้ชื่อว่าทัศเบ็ญจขันธ์ ด้วยอรรถว่าบวกกันเข้าแต่ละสิ่งๆ ได้สิ่งละ ๑๕ ส่วนโดยพิกัด แก้ในกองอสุรินทัญญาณธาตุจัตุสมาสรรพ ตามในพิกัตท่านกล่าวไว้ดังนี้

ลำดับนี้จะได้แสดงในมหาพิกัดตรีผลาตรีกฏุกสืบต่อไป

อันว่าตรีผลานั้น ๑ ถ้าจะแก้เสมหสมุฏฐาน เอาสมออัพยา ๔ สมอพิเภก ๘ มะขามป้อม ๑๒

๒ ถ้าจะแก้ปิตตสมุฏฐานเอามะขามป้อม ๔ สมออัพยา ๘ สมอพิเภก ๑๒

๓ ถ้าจะแก้วาตะสมุฏฐาน เอาสมอพิเภก ๔ มะขามป้อม ๘ สมออัพยา ๑๒ ทั้ง ๓ นี้ชื่อว่าพิทัตตรีผลาสมุฏฐาน

๑ อนึ่งอันว่าตรีกฏุกนั้น ถ้าจะแก้เสมหะสมุฏฐาน เอาพริกไทย ๔ ขิงแห้ง ๘ ดีปลี ๑๒

๒ ถ้าจะแก้ปิตตะสมุฏฐาน เอาดีปลี ๔ พริกไทย ๘ ขิงแห้ง ๑๒

๓ ถ้าจะแก้วาตะสมุฏฐาน เอาขิงแห้ง ๔ ดีปลี ๘ พริกไทย ๑๒ ทั้ง ๓ นี้ได้ชื่อว่าพิกัดตรีกฏุกสมุฏฐาน

อันว่าตรีผลา ตรีกฏุก ทั้ง ๒ นี้ จะได้แต่จำเภาะสมุฏฐานอันใดหามิได้ เปนสาธาระณะทั่วไปในกองสมุฏฐานทั้งปวงให้แพทย์พึงพิจารณาเห็นควรแก่กันแล้ว ก็ให้พึงประกอบขึ้นตามซึ่งท่านตราไว้

อนึ่งอันว่าลักษณสมุฏฐานนั้นจะได้พ้นจาก ๓ ออกไปหามิได้ แต่ยังมิได้สำเร็จด้วยเถียงอยู่ในกองธาตุปัถวีสมุฏฐานหนึ่งด้วยเกิน ๓ เข้ามาเปน ๔ ดุจกล่าวมานั้นแล้ว เหตุว่าจะได้แจ้งลงไว้ในที่นี้หามิได้ คือ หทัย, อุธทริย, กริส, จัดเปนปัถวีสมุฏฐานสงเคราะห์เอาชาติจะละนะ ถ้าจะประกอบตรีผลาตรีกฏุกก็ดี แก้ในกองปัถวีสมุฏฐานนั้น ในพระคัมภีร์นี้ท่านให้ประกอบโดยในส่วนเสมอภาค ด้วยปัถวีเปนที่ตั้งแห่งภูมิสมุฏฐานทั้งปวง ดุจในพระคัมภีร์จะละนะสังคะหะกลาวไว้ ให้แพทย์พึงรู้โดยไนยดังนี้

ไนยหนึ่งอันว่าลักษณพิกัดส่วนสรรพยานั้น ทานพิกัดลงไว้ ๓ ถานคือ ส่วน ๑ บาทถานหนึ่ง ส่วน ๑ สลึงถานหนึ่ง ส่วน ๑ เฟื้องถานหนึ่ง แลพึงกำหนดเอาโดยกำลังส่วนว่าจะควรแก่กันส่วนใดให้เอาส่วนนั้นตั้งเปนอาทิ จึงลดทวีกันไปตามในมหาพิกัดนั้น

อนึ่งอันว่าโรคอันใดก็ดี บังเกิดขึ้นในสมุฏฐานอันใดก็ดี แลสรรพยาที่จะแก้นั้นขนานใดๆ ก็ดี ในท้องตำรานั้นมีแต่ตรีผลาหรือตรีกฏุกก็ดี แลมีทั้งตรีผลาตรีกฏุกทั้ง ๒ นี้ก็ดี ให้พิจารณาในกองสมุฏฐานแลกองโรคว่าจะควรกับตรีอันใด ก็ให้เอาตรีนั้นมากระทำโดยส่วนพิกัดประสมเข้า ถ้ามีแต่ตรีกฏุก ตรีผลาหามิได้ แต่กองโรคแลสมุฏฐานควรแก่ตรีผลา ก็ให้เอาตรีผลามากระทำขึ้นให้เต็มส่วนพิกัดเพิ่มเข้า ลดตรีกฏุกในท้องตำราลงตามส่วนพิกัด

ถ้ากองโรคแลสมุฏฐานควรแก่ตรีกฏุก ก็ให้เอาตรีกฏุกในท้องตำรานั้นกระทำขึ้นให้เต็มส่วนพิกัด ตรีผลาที่มิได้มีในท้องตำรานั้น ควรเติมจึงเติมโดยพิกัด ถ้ามิควรเติมอย่าเติมเข้าเลย แต่อย่าให้เสียสมุฏฐานเปนอาทิ ถ้าท้องตำรานั้นมีทั้งตรีผลาตรีกฏุก แต่กองโรคแลสมุฏฐานควรแก่ตรีอันใดก็ดี พิจารณาแล้วกระทำทวีขึ้นแลลดลงโดยส่วนพิกัดดุจกล่าวแล้วแต่หลัง

อนึ่งอันว่าสรรพยาสิ่งใดก็ดี ที่ท่านตราไว้ในท้องตำรานั้น ยาขนานใดๆ ก็ดี แลจะเอามาแก้กองโรคแลสมุฏฐานนั้นจะได้มีในมหาพิกัดนี้หามิได้ พึงให้แพทย์ประกอบขึ้นตามที่ท่านตราลงไว้นั้น แต่อย่าเสียสรรพคุณแลส่วน ๑ บาทเปนต้น ส่วน ๑ เฟื้องเปนที่สุด ควรจะลดจึงลดควรจะทวีจึงทวี ควรจะขาดจึงให้ขาด ควรจะเหลือจึงให้เหลือ สุดแต่โรคแลสรรพคุณเปนอาทิ แต่อย่าเสียสมุฏฐานคือตรีผลาตรีกฏุก พึงให้ประกอบในพิกัตอันควรกับสมุฏฐานโรคนั้นเจือเข้า ดุจไนยอันกล่าวไว้ดังนี้

อนึ่งอันว่าตรีผลา ตรีกฏุก เบ็ญจกูลก็ดี ถ้ากระทำวิธีต้มประกอบให้เต็มส่วน ๑ บาท ถ้าจะกระทำวิธีทำผงให้ประกอบส่วน ๑ สลึง ถ้าจะกระทำวิธีแซก ประกอบให้เต็มส่วน ๑ เฟื้อง ถ้าจะกระทำวิธีลด ให้ลดลงกึ่งส่วนแซกจึงควร

๑ ไนยหนึ่งถ้าจะแก้ในคิมหันต์สมุฏฐาน เอาตรีผลาเต็มส่วนพิกัต ตรีสาร ๔ ส่วน ตรีผลาส่วน ๑ ตรีกฏุกกึ่งส่วน ตรีสารตามพิกัด

๒ ถ้าจะแก้ในวะสันตสมุฏฐาน เอาตรีกฏุกเต็มส่วนพิกัต ตรีผลา ๔ ส่วน ตรีกฏุกส่วน ๑ ตรีสารกึ่งส่วน ตรีกฏุกตามพิกัต

๓ ถ้าจะแก้ในเหมันต์สมุฏฐาน เอาตรีสารเต็มส่วนพิกัต ตรีกฏุก ๔ ส่วน ตรีสารส่วน ๑ ตรีผลากึ่งส่วน ตรีสารตามมหาพิกัตท่านตราไว้

อนึ่งจะกล่าวถึงพิกัตโกฐแลเทียนสืบต่อไปดังนี้ ถ้าโกฐทั้ง ๕ คือโกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ โกฐบัว ๑ โกฐเชียง ๑ โกฐจุลาลำภา ๑ อันนี้พิกัตเบ็ญจโกฐ

อนึ่งถ้าโกฐทั้ง ๗ คือโกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ โกฐบัว ๑ โกฐเชียง ๑ โกฐจุลาลำภา ๑ โกฐกระดูก ๑ โกฐก้านพร้าว ๑ อันนี้พิกัตสัตตะโกฐ

อนึ่งถ้าโกฐทั้ง ๙ คือโกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ โกฐบัว ๑ โกฐเชียง ๑ โกฐจุลาลำภา ๑ โกฐกระดูก ๑ โกฐก้านพร้าว ๑ โกฐพุงปลา ๑ โกฐชะฎามังษี ๑ อันนี้พิกัตเนาวโกฐ

อันว่านอกกว่านี้ คือโกฐกักกรา ๑ โกฐกะกลิ้ง ๑ โกฐน้ำเต้า ๑ ทั้ง ๓ นี้เปนโกฐพิเศษ ให้แพทย์ดูแต่ควร จะแซกเข้าในยาขนานใดๆ ก็ได้ สุดแต่โรคกับสรรพคุณจะบอกนั้น

อนึ่งถ้าเทียนทั้ง ๕ คือเทียนดำ ๑ เทียนแดง ๑ เทียนขาว ๑ เทียนเข้าเปลือก ๑ เทียนตาตักแตน ๑ อันนี้พิกัดเบ็ญจเทียน

อนึ่งถ้าเทียนทั้ง ๗ คือเทียนดำ ๑ เทียนแดง ๑ เทียนขาว ๑ เทียนเข้าเปลือก ๑ เทียนตาตักแตน ๑ เทียนเยาวภานี ๑ เทียนสัตตะบุษย์ ๑ อันนี้เปนพิกัตสัตตะเทียน

อนึ่งเทียนทั้ง ๙ นั้น เทียนดำ ๑ เทียนแดง ๑ เทียนขาว ๑ เทียนเข้าเปลือก ๑ เทียนตาตักแตน ๑ เทียนเยาวภานี ๑ เทียนสัตตะบุษย์ ๑ เทียนเกล็ดหอย ๑ เทียนตากบ ๑ อันนี้พิกัตเนาวเทียน

นอกกว่านี้ คือเทียนลวด ๑ เทียนขม ๑ เทียนแกลบ ๑ ทั้ง ๓ นี้ เปนเทียนวิเศษให้ดูแต่ควร จะเจือแซกเข้าในยาขนานใดๆ ก็ดี สุดแต่โรคตามสมควร

อนึ่งจะกล่าวด้วยพิกัตบัว บัวน้ำทั้ง ๕ คือ สัตตบุษย์ ๑ สัตตบัน ๑ ลินจง ๑ จงกลนี ๑ นิลบล ๑ อันนี้พิกัตเบ็ญจอุบล

นอกกว่านี้ คือบัวหลวงทั้ง ๒ สัตตบงกชทั้ง ๒ บัวเผื่อน ๑ บัวขม ๑ ทั้ง ๖ นี้เปนบัววิเศษ จะประกอบเข้าในยาขนานใดก็ดี ดูแต่ควรกับโรคโดยสรรพคุณกล่าวไว้

อนึ่งจะกล่าวด้วยพิกัตเกลือ ถ้าเกลือทั้ง ๕ คือ เกลือสินเธาว์ ๑ เกลือวิก ๑ เกลือวิก ๑ เกลือฝ่อ ๑ เกลือสมุทรี ๑ อันนี้พิกัตเบ็ญจเกลือ นอกกว่านี้ คือเกลือสุนจละ ๑ เกลือเยาวกาษา ๑ เกลือวิธู ๑ เกลือด่างคลี ๑ เกลือสุวษา ๑ เกลือกะตัง ๑ เกลือสมุท ๑ ทั้ง ๗ นี้เปนเกลือพิเศษ ถ้าจะประกอบเข้าในยาขนานใดๆ ก็ดี ดูแต่ควรกับโรคตามสรรพคุณสำแดงไว้

อนึ่งจะกล่าวในพิกัตโหรา ถ้าโหราทั้ง ๕ คือโหราอำมฤก ๑ โหรามิคสิงคลี ๑ โหราบอน ๑ โหราเท้าสุนักข์ ๑ โหราเดือยไก่ ๑ อันนี้พิกัตเบ็ญจโหรา นอกกว่านี้ คือโหราผักกูด โหราเข้าเหนียว โหราเขากระบือ โหราเขาเนื้อ โหราใบกลม มโหรา มหุรา มังโหรา ทั้ง ๘ นี้เปนโหราพิเศษจะประกอบในยาขนานใดๆ ก็ดี ให้แพทย์พึงพิจารณาสุดแต่ควรกับโรคนั้นเถิด

สำแดงมาในพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยผูก ๒ ว่าด้วยสมุฏฐานเปนอาทิ มหาพิกัตโอสถเปนที่สุดก็จบแต่เพียงนี้โดยสังเขป

---------------

ลำดับนี้จะสำแดงด้วยนามพิกัดกระสายยาต่อไป ผลเร่วทั้ง ๒ ผลผักชีทั้ง ๒ ชะเอมทั้ง ๒ ลำพันทั้ง ๒ อบเชยทั้ง ๒ รวม ๑๐ สิ่งนี้เรียกว่าทัศกุลาผล

ทองกวาว ๑ ทองหลางหนาม ๑ ทองหลางใบมน ๑ ทองโหลง ๑ ทองพันชั่ง ๑ ต้นใบทอง ๑ ขันทองพยาบาท ๑ ทองเครือ ๑ จำปาทอง ๑ ทั้ง ๙ สิ่งนี้เรียกว่าเนาวโลหะ

ทองกวาว ๑ ทองหลางหนาม ๑ ทองโหลง ๑ ทองพันชั่ง ๑ ต้นใบทอง ๑ ทองหลางใบมน ๑ ฟักทอง ๑ ทั้ง ๗ สิ่งนี้เรียกว่า สัตตะโลหะ

ทองกวาว ๑ ทองหลางหนาม ๑ ทองหลางใบมน ๑ ทองโหลง ๑ ทองพันชั่ง ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้เรียกว่าเบ็ญจโลหะ

แห้วหมู ๑ กกลังกา ๑ หญ้าชันกาด ๑ เต่าเกียด ๑ ว่านเปราะ ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้เรียกว่าเบ็ญจผลธาตุ

รากมะตูม ๑ รากลำไย ๑ รากเพกา ๑ รากแคแตร ๑ รากคัดลิ้น ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้เรียกว่าเบ็ญจมูลใหญ่

หญ้าเกล็ดหอยทั้ง ๒ รากละหุ่งแดง ๑ รากมะเขือขาว ๑ รากมะเขือหนาม ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้เรียกว่าเบ็ญจมูลน้อย

เจ็ตมูลเพลิง ๑ สะค้าน ๑ ช้าพลู ๑ ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้เรียกว่าเบ็ญจกูล

รากมะเดื่อชุมพร ๑ รากเท้ายายม่อม ๑ รากหญ้านาง ๑ รากคนทา ๑ รากชิงชี่ ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้เรียกว่าเบ็ญจโลกะวิเชียร

ว่านน้ำ ๑ เจ็ตมูล ๑ แคแตร ๑ พนมสวรรค์ ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้เรียกว่าจตุกาลธาตุ

สมอไทย ๑ สมอเทศ ๑ สมอพิเภก ๑ มะขามป้อม ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้เรียกว่าจตุผลาธิกะ

ดอกพิกุล ๑ ชะเอมเทศ ๑ มะกล่ำเครือ ๑ ขิงแครง ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้เรียกว่าจตุทิพย์คันธา

ใบกระวาน ๑ อบเชยเทศ ๑ รากพิมเสน ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีสุคนธ์

สมุลแว้ง ๑ เนื้อไม้ ๑ เทพธาโร ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าสุระผล

ผลเร่วใหญ่ ๑ ผลจันทน์เทศ ๑ กานพลู ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีคันธวาต

ดอก, แก่น, ราก, มะทราง ดอก, แก่น, ราก, บุนนาก ทั้งสองสิ่ง ๆ ละ ๓ ๆ นี้เรียกว่าตรีทเวติคันธา

รากกะชาย ๑ รากข่า ๑ รากกะเพรา ๑ ทั้ง ๓ นี้เรียกว่าตรีกาลพิศม์

ไส้หมาก ๑ รากสเดา ๑ เถาบอระเพ็ช ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีญาณรส

ผลมะตูม ๑ ผลยอ ๑ ผลผักชีลา ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีผละสมุฏฐาน

รากมะเดื่ออุทุมพร ๑ รากแคแดง ๑ รากเพกา ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีสุตติสมุฏฐาน

รากไทรย้อย ๑ รากราชพฤกษ์ ๑ รากมะขามเทศ ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีธาระทิพย์

รากกะทือ ๑ รากไพล ๑ รากไคร้หอม ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีผละธาตุ

หางจรเข้ ๑ ฝักราชพฤกษ์ ๑ รงทอง ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีเพ็ชรสมคุณ

เจ็ตมูล ๑ สะค้าน ๑ ช้าพลู ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีสาร

พริกไทย ๑ ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีกฏุก

สมอไทย ๑ สมอพิเภก ๑ มะขามป้อม ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีผลา

ผลช้าพลู ๑ รากดีปลี ๑ รากมะกล่ำ ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีเสมหะผล

ผลดีปลี ๑ รากกะเพรา ๑ รากพริกไทย ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีสันนิปาตะผล

เทียนดำ ๑ ผักชีลา ๑ ขิงสด ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีสัตตะกุลา

กานพลู ๑ ผักชีล้อม ๑ ผลจันทน์เทศ ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีพิศม์จักร

เจ็ตมูลเทศ ๑ ผักแพวแดง ๑ รากกะเพรา ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีปิตตะผล

รากขิง ๑ กะลำภัก ๑ อบเชยเทศ ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีอากาศผล

ผลโหระพาเทศ ๑ ผลกระวาน ๑ ผลราชดัด ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีทุระวะสะ

ผลสะค้าน ๑ รากพริกไทย ๑ รากข่า ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้ เรียกว่าตรีวาตะผล

โกฐกระดูก ๑ เนื้อไม้ ๑ อบเชยไทย ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีทิพรส

รากกล้วยตีบ ๑ รากมะกอก ๑ รากกะดอม ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีอมฤตย์

โกฐน้ำเต้า ๑ สมอไทย ๑ รงทอง ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีฉินทลามะกา ให้แพทย์พึงประกอบตามกาลธาตุโรคนั้น

ผลมะตูมอ่อน ๑ เปลือกฝิ่นต้น ๑ เกสรบัวหลวง ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีเกสรามาศ

รากมะตูม ๑ เทียนขาว ๑ น้ำตานกรวด ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้เรียกว่าตรีสินธุรศ

รากบุนนาก ๑ รากมะทราง ๑ ทั้ง ๒ สิ่งนี้เรียกว่าทะเวสุคนธ์

ลำดับนี้จะแสดงสรรพคุณกระสายยาอันแก้โรคต่างๆ สืบต่อไป

แฝกหอม ๑ ยอดหว้า ๑ ยอดมะม่วงพรวน ๑ ทั้ง ๓ นี้ แก้ฉะทิโรค

เข้าตอก ๑ พุดทรา ๑ ทับทิม ๑ ทั้ง ๓ นี้แก้ฉะทิโรค

ขิงสด ๑ โกฐจุลาลำภา ๑ บอระเพ็ช ๑ ทั้ง ๓ นี้แก้กระหาย

สเดาดิน ๑ แห้วหมู ๑ ขี้กา ๑ ผักชี ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้แก้กระหาย

น้ำตาลกรวด ๑ ซ้องแมว ๑ จันทน์เทศ ๑ ทั้ง ๓ นี้ แก้ร้อนกระหาย

เข้าตอก ๑ แฝกหอม ๑ ชะเอม ๑ อบเชย ๑ รากบัวหลวง ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้แก้ร้อนกระหาย

โกฐพุงปลา ๑ มะเขือหนาม ๑ มะเขือขาว ๑ บัวหลวง ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้แก้สอึก

เปราะหอม ๑ ตำแยเครือ ๑ เมล็ดพุดทรา ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้แก้สอึก

ขิงสด ๑ เปราะหอม ๑ กระเพรา ๑ บัวหลวง ๑ กระวาน ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้แก้ไอแลหอบ

คนทีสอ ๑ ชะเอม ๑ ผักโหมหิน ๑ ตำแยเครือ ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้แก้ไอ

สมอ ๑ ดีปลี ๑ โกฐพุงปลา ๑ มะเขือหนาม ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้แก้ไอ

มะเขือหนาม ๑ ผักเค็ด ๑ ทรงบาดาล ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้แก้ไอเพื่อลม

ใบเสนียด ๑ มะเขือหนาม ๑ ทั้ง ๒ สิ่งนี้แก้ไอเพื่อเสมหะ

มะขามป้อม ๑ หญ้าแพรก ๑ ทั้ง ๒ นี้แก้ไอเพื่อดี

ตรีกะฏุก ๑ ตำแยเครือ ๑ เปราะหอม ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้แซกน้ำตาลทรายแก้ไข้สันนิบาต

โคกกระสุน ๑ อ้อยป่า ๑ อบเชย ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้แก้ขัดปัสสาวะ

โคกกระสุน ๑ หญ้าแพรก ๑ อ้อยเครือ ๑ แห้วหมู ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้แก้ขัดปัสสาวะ

สมอ ๑ ตรีกะฏุก ๑ เกลือสินเธาว์ ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้แก้เสมหะไหล แก้หอบ

ใบเสนียด ๑ ดีปลี ๑ ขิงสด ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้แก้เสมหะ

เกลือ ๑ สมอ ๑ ผักชี ๑ พริกไทย ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้แซกน้ำผึ้งแก้เสมหะไหล

ตรีกะฏุก มะเขือหนาม ๑ ชะเอม ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้แซกตรีชาตะกะน้ำผึ้งแก้เขฬะไหลเพื่อเสมหะแลกิมิชาติ แก้สุระเภท

ตรีกะฏุก สมอ ๑ กระเทียม ๑ ผักชี ๑ ทั้ง ๖ สิ่งนี้แซกน้ำผึ้งแก้สรรพเสมหะ

รากพุดจีบ ๑ เกลือสินเธาว์ ๑ กระเทียม ๑ ขิงสด ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้แซกน้ำผึ้ง น้ำส้มเกลี้ยงแก้เสมหะอันหนัก

รากช้าพลู ๑ ดีปลี ๑ ขิงสด ๑ กระเทียม ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้แก้ให้ชุ่มเสมหะเปนปรกติ

มะตูม ๑ คนทีสอ ๑ เพกา ๑ ซ้องแมว ๑ แคป่า ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้เจริญไฟธาตุ แก้เสมหะ

น้ำผึ้ง ๑ เข้าตอก ๑ ชะเอม ๑ ดินแดงเทศ ๑ ประยงค์ ๑ ทั้ง ๕ สิ่งนี้เจริญอาหาร

ง้าว ๑ ดินสุทธิ ๑ น้ำตาลกรวด ๑ เปลือกโลท ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้เจริญอาหาร

พรรผักกาด ๑ เข้าตอก ๑ ดีปลี ๑ สมอ ๑ ทั้ง ๔ สิ่งนี้แซกน้ำตาลกรวดแก้ปัญจกาสะโรค

มะตูมอ่อน ๑ ผักชีลา ๑ ขิงสด ๑ เข้าตอก ๑ ถั่วเขียว ๑ น้ำตาลกรวด ๑ ทั้ง ๖ สิ่งนี้แก้สรรพโรค

เยื่อมะขาม ๑ ตรีกะฏุก เกลือสินเธาว์ ๑ น้ำตาลกรวด ๑ น้ำผึ้ง ๑ ทั้ง ๗ สิ่งนี้แก้สรรพฉทิกาสะบริโภคอาหารมิได้

เทียนทั้ง ๒ น้ำตาลทราย ๑ จันทน์เทศ ๑ ผลเร่วใหญ่ ๑ อบเชยเทศ ๑ ทั้ง ๖ สิ่งนี้ ดอกจันทน์ ๑ ขิงสด ๑ เข้าตอก ๑ ทั้ง ๓ สิ่งนี้ แก้สรรพฉทิประกอบกันทั้ง ๒ เปนขณะโอสถก็ได้ เปนกระสายก็ได้

(จบคัมภีร์สรรพคุณแต่เท่านี้)

---------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ