ตานโจรเกิดด้วยธาตุทั้ง ๔ ตานโจรอันเกิดเพื่ออะติสาร

(พระคัมภีร์ ปฐมจินดา ผูก ๖)

ลักษณะตานโจรว่าด้วย ธาตุกำเนิด, ธาตุบรรจบ, ธาตุพิการ, ธาตุแตก, ธาตุอติสาร, บริบูรณ์โดยสังเขปดังนี้

(อยํกาโย ธาตุเหตุโก อยํกาโย ธาตุนิทาโน อยํกาโยอาหารเหตุโก อยํกาโยธาตุนิทาโน ติณณํอุตูนํทวาสาการํอสิ

อันว่าลักษณะตานโจรอีก ๗ จำพวก อันบังเกิดขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ นั้น ต้องด้วยวาระพระบาฬีดังนี้ โดยอธิบายว่าเมื่อแรกสัตว์จะมาเอาปฏิสนธิในครรภ์แห่งมารดานั้น เมื่อมารดามีครรภ์ตั้งขึ้นในฤดูอันใดในธาตุอันใด ก็เอาธาตุอันนั้นเปนที่ตั้งแห่งกุมารกุมารีนั้นเปนอาทิ

ถ้าแลสัตรีใดมีครรภ์ในเดือน ๕ เดือน ๖ เดือน ๗ ทั้ง ๓ เดือนนี้เปนลักษณะแห่งเตโชธาตุ อันว่ากุมารกุมารีผู้นั้นเมื่อ ตั้งเปนปัญจสาขา แลมีอาการ ๓๒ พร้อมบริบูรณ์แล้วเมื่อใด จึ่งตั้งธาตุไฟขึ้นก่อนเปนต้นแห่งธาตุบรรจบ

ถ้าแลสัตรีใดมีครรภ์ในเดือน ๘ เดือน ๙ เดือน ๑๐ ทั้ง ๓ เดือนนี้ฟนลักษณะแห่ง วาโยธาตุอันว่ากุมารกุมารีนั้นเมื่อตั้งมูลปฏิสนธิพร้อมด้วยทวดึงษาการบริบูรณ์แล้วเมื่อใด จึ่งตั้งธาตุลมก่อนเปนต้น จึงบรรจบกับธาตุแห่งมารดา

ถ้าแลสัตรีใดมีครรภ์ในเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เดือน ๑ ทั้ง ๓ เดือนนี้ เปนลักษณะแห่งอาโปธาตุ เมื่อกุมารกุมารีผู้นั้น ตั้งมูลปฏิสนธิพร้อมด้วยอาการ ๓๒ แล้ว จึงตั้งธาตุน้ำก่อน เปนต้นจึงบรรจบเข้ากับธาตุแห่งมารดานั้น

ถ้าแลสัตรีใดมีครรภ์ในเดือน ๒ เดือน ๓ เดือน ๔ ทั้ง ๓ เดือนนี้เปนลักษณะแห่งปถวีธาตุเมื่อกุมารกุมารีผู้นั้นตั้งมูลปฏิสนธิพร้อมด้วยอาการ ๓๒ แล้ว จึงตั้งธาตุดินก่อนเปนต้น จึงบรรจบเข้ากับธาตุแห่งมารดานั้น สุดแต่มารดานั้นเมื่อแรกมีครรภ์ในฤดูอันใดในธาตุอันใด ธาตุอันนั้นแลฤดูอันนั้นก็เปนที่ตั้งแห่งผู้นั้นติดตัวมาตราบเท่าจนกุมารแลกุมารีผู้นั้นคลอดจากครรภ์แห่งมารดา จนอายุได้ ๕ ขวบ ๖ ขวบดังนี้ ในเมื่ออายุกุมารแลกุมารีผู้นั้นได้ ๕ ขวบ ๖ ขวบ สิ้นกำหนดแห่งตานทรางแล้ว จึงบังเกิดตานโจรขึ้นต่างๆ ถ้าแพทย์วางยาขนานใดๆ มิฟัง ท่านให้ดูในพระคัมภีร์ธาตุบรรจบนี้ ให้แก้ตามธาตุกำเนิดนั้นด้วย พระอาจารย์เจ้าท่านผ่อนเปน ๔ กองไว้ให้แพทย์ผู้มีปัญญาพึงพิจารณาดูเถิด

ถ้าจะแก้เตโชธาตุกำเนิด เอาดีปลี ๑ พริกไทย ๑ ขิงแห้ง ๑ ว่านเปราะ ๑ แห้วหมู ๑ รวมยา ๕ สิ้งนี้เอาเสมอภาคทำเปนจุณบดปั้นแท่งไว้ละลายน้ำร้อนกินเสียก่อน แล้วจึงแก้ด้วยยาทั้งปวงต่อไป

ถ้าจะแก้วาโยธาตุกำเนิด เอาพริกไทย ๑ เทียนเยาวภานี ๑ ผลผักชี ๑ เปลือกโมกมัน ๑ รวมยา ๔ สิ่งนี้เอาเสมอภาคทำเปนจุณ บดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนกินเสียก่อน แล้วจึงแก้ด้วยยาทั้งปวงต่อไป

ถ้าจะแก้อาโปธาตุกำเนิด เอารากเจ็ตมูลเพลิง ๑ เทียนเยาวภานี ๑ ผลผักชี ๑ เปลือกโมกมัน ๑ รวมยา ๔ สิ่งนี้เอาเสมอภาคทำเปนจุณ บดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนกินเสียก่อน แล้วจึงแก้ด้วยยาทั้งปวงต่อไป

ถ้าจะแก้ปถวีธาตุกำเนิด เอากะเทียม ๑ ใบสเดา ๑ ใบคนทีสอ ๑ แก่นสน ๑ รวมยา ๔ สิ่งนี้เอาเสมอภาคทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนกินเสียก่อน แล้วจึงแก้ด้วยยาทั้งปวงต่อไป

ลักษณะเตโชธาตุพิการนั้น คือให้ท้องขึ้นท้องเฟ้อแล้วให้ผะอืดผะอมอัดอกอัดใจ มักให้หายใจอึดๆ ประการหนึ่ง ให้บวมมือบวมเท้าแลให้ไอเปนกำลัง ถ้าแลอาการเปนดังนี้ แก้มิฟังกุมารแลกุมารีผู้นั้นกำหนด ๘ วันจะตาย

ยาแก้เตโชธาตุพิการขนานนี้ เอารากเจ็ตมูลเพลิง ๑ รากมะแว้งทั้ง ๒ รากผักขวง ๑ บระเพ็ด ๑ ก้านสเดา ๑ รากชาพลู ๑ รวมยา ๗ สิ่งนี้เอาเสมอภาคต้ม ๓ เอา ๑ กิน ถ้าไม่หายให้เอายาเตโชธาตุแห่งมารดานั้นเติมเข้าด้วย เอาผักแพวแดง ๑ โกฐเขมา ๑ อบเชยเทศ ๑ ผลมะขามป้อม ๑ ไคร้ต้น ๑ ว่านเปราะ ๑ รากสวาด ๑ หญ้ารังกา ๑ รวมยา ๘ สิ่งนี้เอาเสมอภาคบรรจบเข้ากับยาเดิมเปนขนานเดียวกันต้ม ๓ เอา ๑ ให้กิน ถ้าจะทำแท่งเอาน้ำร้อนเปนกระสายบดทำแท่งไว้ละลายน้ำนมโคก็ได้ น้ำนมคนก็ได้ ถ้าหาน้ำนมไม่ได้ ใช้น้ำร้อนเปนกระสายกิน

ลักษณะวาโยธาตุพิการนั้น คือให้หูตึงเปนน้ำหนวกไหลเหม็นเหน้า แลให้ตาฟาง เมื่อเอามือกดที่หัวตาไม่มีแสง ให้เมื่อยมือเมื่อยเท้าแลขาทั้งสองข้างดังผู้ใหญ่ ให้เปนตะคริวแลจะโปง ให้เมื่อยกระดูกสันหลัง แลฟกขึ้นไม่รู้ก็ว่าเปนฝีเอ็น ให้อาเจียน บางทีให้อาเจียนลมเปล่า เมื่อยังมิได้บริโภคอาหารสิ่งใดๆ มักให้เปนลมท้องขึ้นให้จุกให้ราก่ให้เปนต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เพราะวาโยธาตุพิการดุจกล่าวมานี้

ยาแก้วาโยธาตุพิการขนานนี้ เอาโกฐก้านพร้าว ๑ เถาสะค้าน ๑ รากขัดมอน ๑ กะทกรก ๑ แห้วหมู ๑ แก่นสนเทศ ๑ สักขี ๑ ขิงแห้ง ๑ ใบมะกรูด ๑ ใบมะนาว ๑ รวมยา ๑๐ สิ่งนี้เอาเสมอภาคต้ม ๓ เอา ๑ ให้กินดูก่อน ถ้ายังไม่หายจงเอายาวาโยธาตุมารดานั้นเติมเข้าด้วย คือเอาเปลือกโมกมัน ๑ เปลือกโมกหลวง ๑ พริกไทย ๑ ขิงแห้ง ๑ รากสลอดน้ำ ๑ อำพัน ๑ แห้วหมู ๑ หญ้ารังกา ๑ ผักแพวแดง ๑ ผลสมอไทย ๑ รากไคร้เครือ ๑ รวมยา ๑๐ สิ่งนี้เอาเสมอภาคบรรจบกันเข้าเปนขนานเดียว ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ละลายน้ำมูตรโคดำก็ได้ น้ำสุราก็ได้กิน ถ้ายังไม่หายจงเอายาเดิมแก้วาโยธาตุนั้นตั้งไว้ แล้วจึงเอายานี้แซกเข้าอีก คือเอามหาหิงคุ์ ๑ ว่านน้ำ ๑ ดีปลี ๑ เมล็ดในสะบ้ามอญ ๑ ผลราชดัด ๑ ชะเอมเทศ ๑ โกฐเขมา ๑ ใบย่างทราย ๑ กรุงเขมา ๑ รวมยา ๙ สิ่งนี้เอาเสมอภาคบรรจบกันเข้ากับยาเดิมเปนขนานเดียว ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนกิน ถ้ายังไม่หายจงเอายาเดิมนั้นตั้งไว้ แล้วจึ่งเอายานี้แซกเข้าอีก คือเอารากเจ็ตมูลเพลิง ๑ ชะเอมเทศ ๑ รากจิงจ้อ ๑ รากตองแตก ๑ พริกไทยล่อน ๑ ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ อำพัน ๑ ใบหนาด ๑ ใบสลอด ๑ เอาเสมอภาคต้มด้วยน้ำเกลือผึ่งแดดให้แห้ง แล้วจึงใส่การะบูรส่วนเท่ากันบรรจบเข้ากับยาเดิมเปนขนานเดียว ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ละลายน้ำร้อนก็ได้ น้ำนมโคก็ได้ น้ำมูตร์โคก็ได้ น้ำมูตร์เด็กชายก็ได้กิน ถ้ายังมิฟังให้ยกยาทั้งนั้นออกเสีย แต่เอายาเดิมที่แก้วาโยธาตุนั้นตั้งไว้ แล้วจึงเอายานี้แซกเข้าอีก คือเอาผักเสี้ยนผี ๑ ใบผักเป็ดแดง ๑ ใบผักคราดหัวแหวน ๑ หญ้ารังกา ๑ ผลผักชีทั้ง ๒ เมล็ดพรรผักกาด ๑ ดอกจงกลนี ๑ เถาสะค้าน ๑ เมล็ดแตงโม ๑ รวมยา ๑๐ สิ่งนี้เอาเสมอภาคบรรจบเข้ากับยาเดิมเปนขนานเดียวกัน ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ละลายสุรากินแก้วาโยธาตุอันพิการ แลกำเริบดังกล่าวมาแล้วแต่หลัง

ลักษณะอาโปธาตุพิการนั้น ให้ลงท้องให้จุกอกแลให้มือเท้าเย็น ให้ไส้เปนขดโค้งเปนลูกอยู่ในท้อง บางทีให้ขัดอุจจาระปัสสาวะให้ขัดหัวเหน่า บางทีให้ตกมูกเลือดปวดมวนให้เสียดราวข้าง ถ้าเปนหญิงเสียดข้างซ้าย เปนชายเสียดข้างขวา ถ้าแลอาการเปนดังนี้รักษายากนัก

ยาแก้อาโปธาตุพิการ ขนานนี้ เอาว่านน้ำ ๑ เปล้าทั้ง ๒ รากปีบ ๑ รากไคร้น้ำ ๑ รากพลูกินกับหมาก ๑ รากจิงจ้อใหญ่ ๑ รากครอบจักรวาฬ ๑ รวมยา ๘ สิ่งนี้เอาเสมอภาคต้ม ๓ เอา ๑ ให้กินเสียก่อน ถ้ามิฟังให้เอายาเดิมนั้นตั้งไว้ แล้วจึงเอายานี้แซกลง คือเอาผลผักชีล้อม ๑ อำพัน ๑ เปลือกโมกหลวง ๑ น้ำเต้าขม ๑ ผลกระดอม ๑ รวมยา ๕ สิ่งนี้เอาเสมอภาค บรรจบเข้ากับยาเดิมเปนขนานเดียวต้ม ๓ เอา ๑ ให้กิน ถ้ามิฟังจงเอายาเดิมนั้นตั้งไว้ แล้วเอายาแก้อาโปธาตุแห่งมารดานั้นแซกเข้าอีก คือเอารากจิงจ้อหลวง ๑ ตรีกฎุก ๑ ผลราชดัด ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ กะพังโหมทั้ง ๒ หัวเข้าข้า ๑ รวมยา ๙ สิ่งนี้เอาเสมอภาคบันจบเข้ากับยาเดิมทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ละลายน้ำเชือกเถามวกให้กิน ถ้ามิฟังจงเอายาเดิมนั้นตั้งไว้ แล้วเอาผลมะขามป้อม ๑ ตรีกระฏุก ตรีผลา รากช้าพลู ๑ เถาสะค้าน ๑ ข่าแห้ง ๑ ผลจันทน์ ๑ รวมยา ๑๑ สิ่งนี้เอาเสมอภาค บรรจบกันเข้ากับยาเดิมเปนขนานเดียวทำเปนจุณ บดทำแท่งไว้ละลายน้ำกล้วยตีบกินแก้อาโปธาตุพิการ

ลักษณะปถวีธาตุพิการนั้น คือให้เจ็บท้องเปนกำลังกินอาหารมิได้ ให้ท้องขึ้นท้องเฟ้อดุจดังผู้ใหญ่เปนริศดวง ให้ผอมเหลืองมักเสียดสันหลัง ให้แปรไปเปนองคสูตร์ ให้ตกบุพโพโลหิตทางทวารหนักทวารเบา ถ้าแก้มิฟังใน ๕ วันกุมารกุมารีผู้นั้นจะตาย

ยาแก้ปถวีธาตุพิการขนานนี้ เอาดีปลี ๑ เทียนดำ ๑ สังกะระนี ๑ เปลือกสันพร้านางแอ ๑ ผลกะดอม ๑ หัวหญ้าชันกาด ๑ ยาดำ ๑ รากสมี ๑ ใบมะนาว ๓๓ ใบ รวมยา ๙ สิ่งนี้เอาเสมอภาคต้ม ๓ เอา ๑ ให้กิน ถ้ามิฟังจงเอายาเดิมนั้นตั้งไว้ แล้วจึ่งเอายาแก้ปถวีธาตุแห่งมารดานั้นเติมเข้าอีก คือเอารากย่างทราย๑ กะเทียม ๑ ดีปลี ๑ ผลมะตูมอ่อน ๑ รากมะแว้งทั้ง ๒ เถาสะค้าน ๑ ผักแพวแดง ๑ อำพัน ๑ เทียนสัตบุษย์ ๑ สมอไทย ๑ ขิงแห้ง รวมยา ๑๒ สิ่งนี้เอาเสมอภาค บรรจบกันเข้ากับยาเดิมเปนขนานเดียวต้ม ๓ เอา ๑ ให้กิน ถ้ามิฟังจงเอายาเดิมนั้นตั้งไว้ แล้วจึงเอามหาหิงคุ์ ๑ ว่านน้ำ ๑ ตรีกะฏุก ตรีผลา รากงวนหมู ๑ โกฐชฎามังษี ๑ ไพล ๑ รากขัดมอญ ๑ รวมยา ๑๒ สิ่งนี้เอาเสมอภาค บรรจบกันเข้ากับยาเดิมเปนขนานเดียว ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ละลายน้ำนมโค, น้ำนมคนก็ได้ให้กิน ถ้ามิฟังจงเอายาเดิมนั้นตั้งไว้ แล้วจึงเอากะพังโหมทั้ง ๒ บระเพ็ด ๑ รากมะแว้งทั้ง ๒ รากมูลกาแดง ๑ รากขัดมอญทั้ง ๒ เชือกเถาพรวน ๑ รวมยา ๙ สิ่งนี้เอาเสมอภาค บรรจบเข้าด้วยกันกับยาเดิมเปนขนานเดียว ทำเปนจุณบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำจันทน์ก็ได้น้ำชะเอมก็ได้ ให้กินแก้ปถวีธาตุพิการ

อันว่าลักษณะธาตุทั้ง ๔ นี้ พระอาจารย์เจ้าท่านคัดออกมาแต่พระคำภีร์ธาตุบรรจบ เอามาไว้ในพระคัมภีร์ปฐมจินดานี้เปนแต่ใจความพอสังเขป ให้แพทย์พึงรู้จักลักษณะอันบังเกิดเปนเพื่อธาตุทั้ง ๔ นั้น อันว่าตานโจรจะบังเกิดด้วยสิ่งใดๆ ก็ดี ก็เกิดเปนเพื่อทรางเจ้าเรือนนั้นก่อนเปนต้น เพราะว่าแพทย์รักษาหายมิขาด จนอายุกุมารกุมารีผู้นั้นพ้นล่วงจากทรางเจ้าเรือนมา จึงกลายแปรไปเปนตานโจรดังกล่าวมานี้ ถ้าแพทย์ผู้ใดมิได้เรียนรู้ในพระคัมภีร์ปฐมจินดา, พระคัมภีร์อภัยสันตา ทั้ง ๒ พระคัมภีร์นี้ให้สันทัด แลจะรักษาตานโจรนั้นไม่หายขาด จนอายุ ๓๐ ปี ๔๐ ปี แล้วก็จะกลายเปนโรคริศสิดวงต่างๆ ตามลักษณะแม่ทรางเจ้าเรือนแลทรางจร ดุจดังกล่าวมาแต่พระคัมภีร์อภัยสันตานั้น

มีคำปุจฉาว่าฉันใดจึงเรียกว่าตานโจร วิสัชนาว่าตานโจรนั้นมีลักษณะ ๑๖ ประการ คือกุมารกุมารีเกิดวันอาทิตย์ ในท้องพระคัมภีร์ว่าทรางเพลิงเปนเจ้าเรือน ทรางกรายเปนทรางจร หละชื่อว่าอุไทยกาฬประจำทรางเพลิง กล่าวมาทั้งนี้ตามเรื่องในพระคัมภีร์ต้น ในที่นี้จะว่าแต่ตานโจรคือวันอาทิตย์ทรางเพลิงเปนเจ้าเรือน บางทีทรางกระแหนะโจรมา บางทีทรางกระตังโจรมา จะว่าหละอันชื่ออุไทยกาฬประจำทรางเพลิงก็ไม่อยู่แต่เท่านั้น บางทีหละชื่อนิลกาฬแซก บางทีหละชื่อแสงเพลิงแซก บางทีหละชื่อนิลเพลิงโจรมาแซก จะว่าข้างละลองพระบาทชื่อเปลวไฟฟ้าประจำทรางเพลิงนั้นเล่า ก็ไม่อยู่แต่เท่านั้น บางทีละอองแก้วมรกฎแซก บางทีละอองเพลิงแซก บางทีละอองทับทิมแซก แลโรคนั้นสำแดงดังนี้ ถ้าแลแพทย์ผู้ใดมิได้รู้ในคัมภีร์พระประฐมจินดานี้ให้ชำนาญ ย่อมฆ่ามนุษย์เสียเปนอันมาก เหตุฉนี้พระอาจารย์เจ้าท่านจึงสมมุติเรียกว่าตานโจร เหตุว่าทรางนั้นลักเภทกันต่าง ๆ มากกว่ามากพ้นที่จะพรรณาได้ กล่าวแต่ลักษณะทรางจำพวกเดียวนี้ก็พึงรู้เอาเถิด ย่อมเหมือนกันทุกๆ ทรางทั้ง ๗ จำพวกให้แพทย์พึงรู้ดังนี้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ