ว่าด้วยสังโยชน์ลักษณ์สัตรีดีแลชั่ว แลรศน้ำนมดีแลชั่ว

พระคำภีร์ปฐมจินดา ผูก ๑ บริเฉท ๔ ว่าด้วยสังโยชน์ลักษณ์สัตรีดีแลชั่ว แลรศน้ำนมดีแลชั่ว ซึ่งจะให้กุมารบริโภคมีคุณแลโทษนั้น ๖ จำพวก โดยสังเขป

อหเมวกริต๎ติยาย ตัสสสังโยชนัสสถิโตโข อิสิริทธิยาธโรนาม ลภติ โลกิยฌานํ อภิญญายลักขณํ อิดถิยาสุทุสํฉัพพัคคิยาปิ กริสสามิติ (อิสิ) อันว่าพระฤๅษี (ริทธิยาธโรนาม) ผู้ชื่อว่า พระฤทธิยาธรดาบส (ลภติ) ได้แล้ว (โลกิยฌานํ) ซึ่งอภิญญาฤทธิ ยิ่งด้วยโลกิยฌาน (อภิญญาย) มีปรีชาญาณเห็นแลรู้แจ้ง (ถโตโข) นำมาตั้งไว้แท้จริง (ลักขณํ) ซึ่งลักษณแห่งหญิงทั้งหลาย (สุทุสํ) อันดีแลชั่วต่างๆ (ฉัพพัคคิยา) ก็มี ๖ จำพวก (อหํ) อันว่าข้า (โกมารภัจโจเอวะ) ชื่อว่าโกมารภัจแท้จริง (กริสสามิ) จักทำตาม (ตัสสสํโยชนัส๎ส) ซึ่งพระคำภีร์สังโยชน์นี้ (กริตติยาย) ให้ตั้งไว้โดยพิศดาร (อิติ) ด้วยประการดังนี้

โดยอธิบายในคำภีร์สังโยชน์นี้ ว่ายังมีพระดาบสองค์ ๑ ชื่อว่าฤทธิยาธรดาบศ เธอนั้นได้ซึ่งฌานอันเปนโลกีย์ หยั่งรู้ลักษณหญิงแลน้ำใจสัตรีภาพทั้งหลาย อันดีแลชั่วต่างๆ นั้น แลท่านพระองค์นี้ได้เปนอาจาริย์ของชีวกโกมารภัจ ชีวกโกมารภัจจึงนมัสการถามถึงโรคแห่งกุมารว่า ข้าแต่พระผู้เปนเจ้า อันว่ากุมารแลกุมารีทั้งหลายซึ่งบังเกิดมาในโลกย์นี้ ย่อมบังเกิดโรคนั้นต่างๆ จะเหมือนกันหามิได้ ในท้องพระคำภีร์ปฐมจินดา กำเนิดทรางนั้นว่าถ้ากุมารแลกุมารีผู้ใดคลอดจากครรภ์ในวัน ๒, ๕, ๖, นั้นว่าโรคเบาบาง ฉันใดแลผู้เปนเจ้าโรคนั้นจึงกลับมากไปเล่า ที่ว่ากุมารแลกุมารีคลอดจากครรภ์ในวัน ๑, ๓, ๔, ๗, นั้นว่าร้ายนักเลี้ยงยาก แลโรคนั้นก็มาก ฉันใดแลพระผู้เปนเจ้าโรคนั้นจึ่งเบาบางกลับเปนดีไปเล่า คลอดวันที่ดีกลับร้าย คลอดวันที่ร้ายกลับดีดังนี้เปนประการดังฤๅ ที่ร้ายนั้นรักษาง่าย ที่ดีรักษายาก ส่วนที่ร้ายรักษาไม่รอดนั้น กุมารแลกุมารีเกิดมาในวัน ๑, ๓, ๔, ๗, นั้น ในท้องพระคำภีร์ปฐมจินดา กำเนิดทรางนั้นร้ายนักเลี้ยงก็ยาก กุมารกุมารีเกิดมาในวันเหล่านี้จะมิตายเสียสิ้นแลหรือ ก็ที่เกิดมาในวัน ๒, ๕, ๖, นั้น ในท้องพระคำภีร์ปฐมจินดาว่ามิพอเปนไรเลี้ยงง่าย ก็ตกซึ่งว่ากุมารกุมารีเกิดมาในวันเหล่านี้ จะไม่รู้ตายแล้วหรือพระผู้เปนเจ้า

ฝ่ายพระฤๅษีฤทธิยาธรดาบศจึงวิสัชชนาว่า สัตว์เกิดมาในภพสงสารนี้ ซึ่งเกิดมาในวันที่ดีไม่มีสิ่งอันใดขัดขวาง พ้นแผนทรางที่ร้ายแล้ว แต่ว่าเลี้ยงยากนั้น เหตุทั้งนี้ก็เพราะน้ำนมของมารดานั้นให้โทษแก่กุมารนั้นเอง อนึ่งกุมารจะเกิดในวันที่ร้ายแล้วต้องแผนทรางที่ร้าย แต่ว่าเลี้ยงง่ายนั้นอาไศรยน้ำนมแห่งมารดานั้นดี กุมารได้บริโภคจึ่งวัฒนาการเจริญขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะน้ำนมสัตรีดีแลร้ายมีอยู่ ๖ จำพวก ท่านจงทราบด้วยประการดังนี้ พระฤๅษีสิทธิดาบศ เธอจึ่งนำเอาลักษณะน้ำนมอันชั่ว ซึ่งกุมารบริโภคเปนโทษ ๒ ประการมาแสดงก่อนโดยสังเขปดังนี้

(๑) หญิงจำพวกหนึ่ง มีกลิ่นตัวคาวดังน้ำล้างเนื้อ ลูกตาแดง เนื้อขาวเหลือง นมยาน หัวนมเล็ก เสียงพูดแหบเครือดังเสียงการ้อง ฝ่ามือแลเท้ายาว ห้องตัวยาว จมูกยาว หนังริมตาหย่อน สดือลึก ไม่พีไม่ผอม สันทัดคน กินของมาก ลักษณะหญิงอย่างนี้ชื่อว่าหญิงยักขินี เปนหญิงมีกามแรง ถ้าให้กุมารบริโภคน้ำนมเข้าไปมักบังเกิดโรคต่างๆ แม่นมอย่างนี้ท่านให้ยกเสีย อย่าพึงเอา

(๒) หญิงจำพวกหนึ่ง มีกลิ่นตัวดังบุรุษ ตาแดง ผิวเนื้อขาว นมดังฅอน้ำเต้า ริมฝีปากกลม เสียงแข็งดังเสียงแพะ ฝ่าเท้าใหญ่ข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่ง เจรจาปากไม่มิดกัน เดินไปมามักสดุด ลักษณะหญิงอย่างนี้ชื่อว่าหญิงหัศดี เปนหญิงกามแรง ถ้าให้กุมารบริโภคน้ำนมเข้าไป ดุจดังเอายาพิศม์ให้บริโภค แม่นมอย่างนี้ท่านให้เลือกออกเสียอย่าพึงเอา ลักษณะแม่นม ๒ จำพวกนี้ ท่านว่าหนาไปด้วยกามราคนั้นแรงนัก ทราบซ่านไปทั่วทุกขุมขน ถ้าให้กุมารบริโภคเข้าไป ถึงกุมารจะไม่มีโรคว่าจะให้มีโรคเปนไปต่างๆ ก็ว่า เพราะน้ำนมชั่วเปนนมแสลงโรคไม่ดีดุจกล่าวมานี้

ทีนี้จะว่าด้วยลักษณะแห่งแม่นมที่ดี ซึ่งกุมารดื่มน้ำนมมิได้เปนโทษนั้นมีอยู่ ๔ จำพวกต่อไปดังนี้

(๑) หญิงจำพวกหนึ่ง มีกลิ่นตัวหอมดังกล้วยไม้ ไหล่ผาย สะเอวรัด หลังราบ สัณฐานตัวดำแลเล็ก แก้มใส มือแลเท้าเรียว เด้านมดังอุบลพึ่งแย้ม ผิวเนื้อแดง เสียงดังเสียงสังข์ รศน้ำนมนั้นหวานมันเจือกัน ลักษณะหญิงอย่างนี้ท่านจัดเปนหญิงเบ็ญจกัลยาณี ให้เลือกเอาไว่ให้กุมารบริโภคเถิดดีนัก

(๒) หญิงจำพวกหนึ่ง มีกลิ่นตัวดังดอกอุบล เสียงดังเสียงแตร ไหล่ผาย ตะโพกรัด แก้มพอง นิ้วมือแลนิ้วเท้าเรียวแสล้ม เต้านมดังบัวบาน ผิวเนื้อเหลือง น้ำนมข้นมีรศหวาน ลักษณะหญิงอย่างนี้ท่านจัดเปนหญิงเบ็ญจกัลยาณี ให้เลือกเอาไว้ให้กุมารบริโภคเถิดดีนัก

(๓) หญิงจำพวกหนึ่ง มีกลิ่นตัวไม่ปรากฎหอมหรือเหม็น เอวกลม ขนตางอน จมูกสูง เต้านมกลม หัวนมงอนดังดอกอุบลพึ่งจะแย้ม รศน้ำนมนั้นหวาน มันสักหน่อย ลักษณะหญิงอย่างนี้ท่านว่าเปนหญิงเบ็ญจกัลยาณี ให้เลือกเอาไว้ให้กุมารบริโภคเถิด น้ำนมดีนัก

(๔) หญิงจำพวกหนึ่ง มีกลิ่นตัวหอมเผ็ด เสียงดังเสียงจักกระจั่น ปากดังปากเอื้อน ตาดังตาทราย ผมแข็งชัน ไหล่ตะโพกผาย หน้าผากส้วย ท้องดังกาบกล้วย นมพวง น้ำนมขาวดังสังข์ รศน้ำนมนั้นมันเข้มสักหน่อย เลี้ยงลูกง่าย ลักษณะหญิงจำพวกนี้ท่านจัดเปนหญิงเบ็ญจกัลยาณี ให้เลือกเอาไว้ให้กุมารบริโภคเถิดน้ำนมดีนัก ลักษณะแม่นม ๔ จำพวกนี้เปนแม่นมเบ็ญจกัลยาณี ท่านจัดสรรเอาไว้ถวายพระมหาบุรุษราชเจ้าได้เสวยครั้งนั้น เรียกว่าทิพโอสถประโยธร ดุจน้ำสุรามฤต ถ้าแลกุมารกุมารีผู้ใดได้บริโภค ดุจดื่มกินซึ่งโอสถอันเปนทิพย์ น้ำนมที่กล่าวมาทั้ง ๔ จำพวก ถึงว่ากุมารผู้นั้นจะมีโรคก็อาจบำบัดเสียได้ซึ่งโรคให้วินาศฉิบหายทุกประการ เพราะน้ำนมมีคุณดังโอสถ แลมิได้แสลงโรคดีนัก

หญิง ๔ จำพวกนั้นท่านจัดออกเปน ๔ ตระกูล คือหญิงเกิดในตระกูลกระษัตริย์จำพวก ๑ หญิงเกิดในตระกูลเสรษฐีแลเสนาบดีจำพวก ๑ หญิงเกิดในตระกูลพ่อค้าจำพวก ๑ หญิงเกิดในตระกูลชาวนาจำพวก ๑ เปน ๔ จำพวกด้วยกันดังนี้ แต่ท่านว่าให้ดูลักษณะตามดีแลชั่ว ดุจกล่าวมาแต่หลังนั้น ถ้าแพทย์ผู้ใดจะรักษากุมารไปเบื้องน่า ให้พิจารณาดูน้ำนมแห่งแม่นม แลน้ำนมแห่งมารดานั้นก่อน ถ้าเห็นว่าน้ำนมนั้นยังเปนมนทินอยู่ ท่านให้แต่งยาประสะน้ำนมนั้นเสียก่อน จึงจะสิ้นมลทินแลโทษทั้งปวง ถ้าแพทย์จะพิจารณาดูน้ำนมดีแลร้ายนั้น ให้เอาน้ำใส่ขันลงแล้วให้แม่นมนั้นหล่อนมลงดู ถ้าแลสีน้ำนมขาวดังสีสังข์แลจมลงในขัน สัณฐานเหมือนดังลูกบัวเกราะ นมอย่างนี้จัดเอาเปนน้ำนมอย่างเอก ถ้าหล่อน้ำนมลง แลน้ำนมนั้นกระจาย แต่ว่าข้นจมลงถึงก้นขันแต่ไม่กลมเข้า น้ำนมอย่างนี้จัดเอาเปนน้ำนมอย่างโท ถ้าพ้นจากน้ำนม ๒ ประการนี้แล้ว ถึงจะมีลักษณะประกอบไปด้วยยศศักดิ์ชาติตระกูลปานใดก็ดี ถ้ามีกุศลหนหลังยังติดตามบำรุงรักษาไม่ให้เกิดโรคาพยาธิ รศน้ำนมนั้นเปรี้ยว, ขม, ฝาด, จืด, จาง, แลมีกลิ่นอันคาวนั้น ก็จัดเปนน้ำนมโทษทั้งสิ้นดุจกล่าวมาดังนี้

ยังมีน้ำนมพิการอีก ๓ จำพวก คือสัตรีฤดูจำพวก ๑ สัตรีอยู่ไฟมิได้แลน้ำนมนั้นเปนน้ำนมดิบจำพวก ๑ สัตรีมีครรภ์อ่อนเปนน้ำเหลือง ใหลหลั่งลงในน้ำ เปนสายโลหิตกับน้ำนมระคนกันจำพวก ๑ ถ้าสัตรีมีลักษณะแลน้ำนมอันชั่วดุจกล่าวมานี้ ถ้าแลให้กุมารกินเข้าไป ดุจหนึ่งให้บริโภคยาพิศม์ ก็จะบังเกิดโรคาพยาธิต่าง ๆ ถ้าแพทย์จะพยาบาลให้พึงพิจารณาโรคาพยาธิแลชาตินรลักษณ์แห่งแม่นมนั้นก่อน ถ้าประกอบไปด้วยโทษประการหนึ่งประการใดก็ดี ให้ประกอบยาประจุโลหิตแลรุน้ำนม บำรุงธาตุ ให้โลหิตแลน้ำนมนั้นบริบูรณ์ก่อนจึ่งจะสิ้นโทษร้าย ถ้าแลน้ำนมลอยเรี่ยรายอยู่ไม่คุมกันเข้าได้ ท่านว่าเปนเพราะโลหิตกำเริบ ให้แต่งยาประจุโลหิตร้ายเสียก่อน โลหิตจึ่งจะงามน้ำนมจึ่งจะบริบูรณ์

ยาประจุโลหิตขนานหนึ่ง ท่านให้เอาเทียนทั้ง ๕ โกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ สมอไทย ๑ สมอพิเภก ๑ ลูกผักชีล้อม ๑ ลูกผักชีลา ๑ เกลือสินเธาว์ ๑ น้ำประสานทอง ๑ ดอกสัตบุศย์ ๑ เบี้ยตัวผู้ ๑ สังข์ ๑ มหาหิงคุ์ ๑ พริก ๑ ขิง ๑ การบูร ๑ รวมยา ๒๐ สิ่งนี้ เอาส่วนเท่ากัน เอาผลสลอดประสระตามวิธีสุทธิแล้วเอากึ่งยาทั้งหลายตำเปนผงบดละลายน้ำร้อนกินหนัก ๒ สลึง ลงสดวกขับโลหิตร้ายพิการ ตลอดถึงกุมารด้วยดีนัก แล้วจงแต่งยาบำรุงโลหิตให้งามนั้นกินต่อไป

ยาบำรุงโลหิตขนานนี้ท่านให้เอารากเถาวัลย์เปรียง ๑ สลึง กำลังวัวเถลิง ๑ สลึง ครั่ง ๑ สลึง ฝาง ๑ สลึง เทียนทั้ง ๕ สิ่งละ ๑ สลึง ลูกจันทน์ ๑ สลึง ตรีกะฏุก ๑ สลึง ตรีผลา ๑ สลึง โกฐสอ ๑ สลึง โกฐหัวบัว ๑ สลึง จันทน์ทั้งสอง ๑ สลึง ลูกผักชีทั้งสอง ๑ สลึง หญ้ารังกา ๑ สลึง เปลือกมูกมัน ๑ สลึง หัวแห้วหมู ๑ สลึง สะค้าน ๑ สลึง รากชาพลู ๑ สลึง เจตมูลเพลิง ๑ สลึง ฝางเสน ๑ สลึง เลือดแรด ๒ บาท ดอกคำฝอย ๑๐ สลึง บรเพ็ด ๔ บาท รวมยา ๓๓ สิ่งนี้ต้มก็ได้ตำเปนผงก็ได้ กินบำรุงโลหิตแลบำรุงไฟธาตุทั้งประสระน้ำนมด้วยดีนัก แล้วจึ่งแต่งยาประสระน้ำนมนั้นให้กินต่อไป

ยาประสะน้ำนมขนานนี้ ท่านให้เอาโกฐทั้ง ๕ หนึ่ง เทียนทั้ง ๕ หนึ่ง กรุงเขมา ๑ ขิงแห้ง ๑ รากกระพังโหม ๑ ชะมดต้น ๑ ตำเอาน้ำทะนาน ๑ เปนกระสายต้ม ๓ เอา ๑ พะลีกินจงดี เปนยาประสระน้ำนมบริบูรณ์ดีนัก

ถ้าแลน้ำนมหล่อลงในน้ำ เห็นสีนั้นเขียวดังน้ำหอยแมงภู่ต้มนั้นท่านให้ชิมดู ถ้ารศน้ำนมนั้นเปรี้ยวเปนเพราะลมกำเริบ ให้แต่งยากินแก้ลมเสียก่อน แล้วจึงแต่งยาประสระน้ำนมให้กินต่อไป

ยาทานมขนานนี้ ท่านให้เอาโกฐสอ ๑ บดละลายน้ำมันเนยทานม บำบัดโรคแห่งกุมารดีนัก

ยาต้มประสระน้ำนม ชื่อวีรุฬหะนาภีธิคุณขนานนี้ ท่านให้เอาว่านน้ำ ๑ แห้วหมู ๑ สมอไทย ๑ รากเพ็ศณุกรรม์ ๑ ขิง ๑ อุตะพิด ๑ รวมยา ๖ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน ต้ม ๓ เอา ๑ กินน้ำนมบริสุทธิ์เดีนัก

ถ้าแลน้ำนมหล่อลงในน้ำก็ละลายไปกับน้ำนั้น แล้วให้เอาน้ำนมมาชิมดู ถ้ารสน้ำนมนั้นฝาดเปนเพื่อธาตุไฟแลกำเดากำเริบ ท่านให้แต่งยาแก้ธาตุไฟเสียก่อน แล้วจึ่งแต่งยาประสระน้ำนมให้กินต่อไป

ยาต้มประสระน้ำนมขนานนี้ ท่านให้เอาโกฐทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ รากไทรย้อย ๑ เปลือกพิกุล ๑ แห้วหมู ๑ งาช้าง ๑ เขากวางอ่อน ๑ รากเสนียด ๑ โคกกระออม ๑ รวมยา ๑๗ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน ต้ม ๓ เอา ๑ กินน้ำนมบริสุทธิ์ดีนัก

ถ้าแลรศน้ำนมนั้นคาว กลิ่นเหม็นดังสาบแพะ เกิดเพื่อปถวีธาตุแลเสมหะกำเริบ ให้แต่งยาแก้ปถวีธาตุแลเสมหะก่อน แล้วจึ่งแต่งยาประสระน้ำนมให้กินต่อไป

ยาทาหัวนมขนานนี้ ท่านให้เอาโคกกระออม ๑ ดินปิ้ง ๑ บดด้วยน้ำเหล้าทานมให้ถ้วน ๓ วันก่อน แล้วจึ่งแต่งยาต้มให้กินต่อไป

ยาต้มประสระน้ำนมขนานนี้ ท่านให้เอาลูกมะตูมอ่อน ๑ แห้วหมู ๑ ขิงแห้ง ๑ รากขัดมอน ๑ รวมยา ๔ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน ต้ม ๓ เอา ๑ กิน แก้น้ำนมหายคาวดีนัก

ยาต้มประสระน้ำนมขนานนี้ ท่านให้เอาสมอไทย ๑ ขิงแห้ง ๑ แห้วหมู ๑ รวมยา ๓ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน ต้ม ๓ เอา ๑ กินแปรนานมร้ายให้เปนดีแล

ยาต้มแปรน้ำนมขนานนี้ ท่านให้เอารากทรงบาดาน ๑ รากคันทรง ๑ ว่านกีบแรด ๑ ว่านร่อนทอง ๑ ว่านเหลือง ๑ น้ำนมราชสีห์ต้น ๑ น้ำนมราชสีห์เครือ ๑ รวมยา ๖ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน ต้ม ๓ เอา ๑ เมื่อจะกินแซกเหล้ากินแปรน้ำนมร้ายให้เปนดีแล

ยาแก้น้ำนมมิออกขนานนี้ ท่านให้เอาเปลือกเสดา ๑ เปลือกมะหาด ๑ เปลือกไม้สัก ๑ รากตะขบ ๑ รากมะกอกน้ำ ๑ มะกอกบก ๑ รวมยา ๖ สิ่งนี้ เอาส่วนเท่ากันตำเปนผง เอาน้ำมพร้าวนาฬิเกเปนกระสาย บดทำแท่งไว้กิน น้ำนมพล่านดีนัก

ยาแก้น้ำนมกลัดไม่ออกขนานนี้ ท่านให้เอาเปลือกมะทราง ๑ ลูกพุดทราอ่อน ๑ ลูกมะกอก ๑ มขามป้อม ๑ ลูกมะแว้งเครือ ๑ ขันทศกร ๑ รวมมา ๖ สิ่งนี้ เอาส่วนเท่ากัน ต้ม ๓ เอา ๑ แก้น้ำนมกลัดออกมากดีนัก

ถ้าแลน้ำนมหล่อลงในน้ำจางเปนสายโลหิตก็ดี เปนน้ำเหลืองก็ดี เกิดเพื่ออาโปธาตุกำเริบ เพราะฤดูนั้นขัด แลสัตรีมีครรภ์อันอ่อน ครั้นกุมารบริโภคเข้าไป ก็อาจให้เปนโรคต่างๆ ได้ ท่านให้แต่งยาแก้อาโปธาตุเสียก่อน แล้วจึ่งแต่งยาประสระน้ำนมให้กินต่อไป

ยาทาประสระน้ำนมขนานนี้ ท่านให้เอาสังข์ ๑ ดอกอุบล ๑ โกฐสอ ๑ บดด้วยน้ำนมทานมก่อน แล้วจึ่งแต่งยาประสระน้ำนมให้กินต่อไป

ยาต้มประสระน้ำนมโทษขนานนี้ ท่านให้เอาต้นท้าวยายม่อม ๑ เทพธาโร ๑ ลำพัน ๑ สมอไทย ๑ อุตพิษ ๑ รวมยา ๕ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน ต้ม ๓ เอา ๑ กินชำระน้ำนมโทษดีนัก

ถ้าแม้ว่าฤดูขัด ท่านให้เอาน้ำนมโคสดบริสุทธิ์นั้นมาประสมกันกับน้ำมะพร้าวนาฬิเก กินบ้าง ทาบ้าง บำบัดโทษแห่งกุมารดีนัก

ขนานหนึ่งท่านให้เอา เข้าตอกกัญญา ๑ รากอัญชันขาว ๑ ขันธสกร ๑ โกฐชฎามังสี ๑ กรามช้าง ๑ รวมยา ๕ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากันตำเปนผง บดด้วยน้ำผึ้งกินบำบัดโทษแห่งกุมาร ๘ ประการหายดีนัก

บัดนี้จะกล่าวด้วยลักษณะน้ำนมโทษอีก ๓ จำพวก คือมารดาอยู่ไฟมิได้ ท้องเขียวดังท้องค่าง ครั้นมารดาออกจากเรือนไฟแล้ว แลให้กุมารดื่มน้ำนมนั้นเข้าไป ก็อาจให้เปนโรคต่างๆ ด้วยดื่มน้ำนมเปนโทษทั้ง ๓ ประการดังนี้

คือน้ำนมจางสีเขียวดังน้ำต้มหอยแมลงภู่ประการ ๑ น้ำนมจางมีรสอันเปรี้ยวประการ ๑ น้ำนมเปนฟองลอยประการ ๑ น้ำนมทั้ง ๓ ประการนี้ ย่อมเบียดเปียฬกุมารกุมารีทั้งหลายซึ่งได้บริโภคนั้นกระทำให้เกิดโทษต่างๆ บางทีกระทำให้ลงท้อง บางทีกระทำให้ท้องขึ้น บางทีกระทำให้ตัวร้อน บางทีกระทำให้ปวดมวน โทษทั้งนี้เปนมลทินโทษแห่งน้ำนม เพราะน้ำนมดิบให้โทษเปน ๓ ประการดังนี้

ถ้าแพทย์ผู้ใดจะรักษากุมาร ให้พิจารณาดูสัตรีผู้เปนแม่นมนั้นก่อน ถ้ารู้ว่าน้ำนมดิบให้แต่งยาแก้เสียก่อน จึ่งให้กุมารผู้นั้นบริโภคต่อไป จึ่งจะบำบัดโรคแห่งกุมารผู้นั้น ให้ปลดเปลื้องไป

ยาทาน้ำนมดิบขนานนี้ ท่านให้เอา ตรีกระฏุก ๑ จุกโรหินี ๑ รากนมสวรรค์ ๑ รวมยา ๕ สิ่งนี้ เอาส่วนเท่ากัน ตำเปนผงแล้วเอาใส่ลงในนมโคเคี่ยวไฟแต่พอดี แล้วเอาไว้ให้เย็นจึ่งเอามาทานม เมื่อจะให้กุมารกินนั้นเอาน้ำมะพร้าวนาฬิเกมาล้างนมเสียก่อนจึ่งให้กิน ยาขนานนี้อาจบำบัดโทษในน้ำนมดิบทั้ง ๓ ประการ แลโทษในกุมารทั้ง ๑๐ ประการนั้นหายดีนัก

ยากินแก้น้ำนมดิบขนานนี้ ท่านให้เอาดีปลี ๑ ดอกทับทิม ๑ ลูกมะตูมอ่อน ๑ รากแฝกหอม ๑ รวมยา ๔ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน ตำเปนผงบดละลายน้ำผึ้งกิน แก้น้ำนมดิบหายดีนัก

ขนานหนึ่งท่านให้เอา เทียนทั้ง ๕ เปลือกโลด ๑ รวมยา ๖ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากัน ตำเปนผงบดละลายน้ำผึ้งกินบ้าง ทานมบ้างแก้น้ำนมดิบหายดีนัก

ขนานหนึ่งท่านให้เอาขมิ้นเครือ ๑ ลูกมูกหลวง ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ มะเขือขื่นทั้งลูกทั้งราก ๑ รากชเอม ๑ เปลือก มะทราง ๑ รวมยา ๗ สิ่งนี้เอาส่วนเท่ากันต้ม ๓ เอา ๑ กินบำบัดโทษน้ำนมดิบกินดีนัก

ยาประจำธาตุไม่ให้ธาตุวิปริตได้ขนานนี้ ท่านให้เอาหญ้าปืนตอสองสลึง ใบกระเพรา ๖ บาท ใบตานหม่อน ๑ บาท ใบสวาด ๖ สลึง รวมยา ๔ สิ่งนี้ ตำเปนผงเอาน้ำเหล้าเปนกระสายบดปั้นแท่งไว้ ถ้าเด็กอายุได้เดือนหนึ่งให้กินแต่เม็ด ๑ กินทวีตามอายุเด็กนั้นขึ้นไป อาจบำบัดได้แต่เช้าถึงเที่ยงดีนัก

ยาประจำธาตุมิให้ธาตุวิปริตขนานนี้ ท่านให้เอาลูกจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ ดีปลี ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ เอาสิ่งละ ๑ เฟื้อง กระชาย ๑ สลึง ใบกระเพรา ๑ ใบตานหม่อน ๑ ใบคนทีสอ ๑ สิ่งละ ๑ บาท รวมยา ๑๐ สิ่งนี้ตำเปนผง เอาน้ำเหล้าเปนกระสาย บดปั้นแท่งไว้ละลายน้ำเหล้ากิน ถ้าเด็กอายุได้เดือน ๑ ให้กินเม็ด ๑ กินทวีตามอายุเด็กขึ้นไป ยาขนานนี้อาจบำบัดได้แต่เที่ยงถึงค่ำ แต่ค่ำถึง ๑๑ ทุ่มเปนกำหนด

ยาชื่อเบ็ญจโกฐ แก้กุมารกินน้ำนมโทษขนานนี้ ท่านให้เอาโกฐสอ ๑ โกฐเขมา ๑ โกฐพุงปลา ๑ โกฐจุลาลำภา ๑ โกฑหัวบัว ๑ กานพลู ๑ จันทน์เทศ ๑ ชะเอม ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง น้ำตาลทราย ๑ เฟื้อง รวมยา ๙ สิ่งนี้ตำเปนผงเอาน้ำดอกไม้เปนกระสาย บดปั้นแท่งไว้ละลายด้วยน้ำผึ้งน้ำมะนาวก็ได้ ให้กุมารกินแก้น้ำนมโทษต่างๆ แลแก้พิศม์ทรางในอกในฅอ แก้ไอสอึกดีนัก

ถ้าแพทย์ผู้ใดจะรักษากุมารกุมารีไปเมื่อน่านั้น ให้พิจารณาน้ำนมซึ่งเปนมลทินโทษแห่งแม่นมนั้น ดุจกล่าวมาแล้วแต่หนหลัง ถ้าเห็นเปนโทษแท้แล้ว ให้แต่งยาประจุโลหิตเสียก่อน แล้วจึ่งแต่งยาบำรุงธาตุ ยาประสระน้ำนม แลยาทานมนั้นต่อไป ให้นมนั้นปราศจากมลทินโทษ อันว่าสรรพยาซึ่งจะบำรุงแลประจุโลหิตนั้น มีวิตถารอยู่ในพระคำภีร์มหาโชตรัตโน้นแล้ว แลในคำภีร์สังโยชน์ที่ท่านประกอบลงไว้นี้ พอเปนราวทาง ว่ามาทั้งนี้โดยบุคคลที่ยากเย็นเข็ญใจ จึ่งต้องรักษาพยาบาลกันดังนี้ เว้นไว้แต่กระษัตรีย แลเสรษฐีคหบดี ผู้มีบุญญานุภาพมาก ท่านจัดสันเอาแม่นม ที่ปราศจากมลทินโทษที่น้ำนมบริสุทธิ์หาอันตรายมิได้เอง จะได้ต้องรักษาพยาบาลกันดุจเราท่านทุกวันนี้หามิได้เลย

ยาประจุโลหิตน้ำนมขนานนี้ ท่านให้เอายาชื่ออินทจรหนัก ๑ ตำลึง ยาตำหนัก ๑ บาท รังหมาล่าหนัก ๒ บาท ดีเกลือหนัก ๒ บาท รวมยา ๔ สิ่งนี้บดเข้าด้วยกันกินแล้วลงดีนัก

ยาชำระโลหิตน้ำนมขนานนี้ท่านให้เอาเทียนทั้ง ๕ สิ่งละ ๑ เฟื้อง เจตมูลเพลิง ๑ ดองดึง ๑ สิ่งละ ๑ สลึง ยาดำ ๑ กระเทียม ๑ การบูร ๑ สิ่งละ ๑ บาท ลูกสลอด ๑ ประสะแล้วเท่ายาทั้งหลาย รวมยา ๑๑ สิ่งนี้ ตำเปนผงละลายน้ำร้อนกิน ถ้าธาตุหนักให้กินแต่ ๑ เฟื้อง ธาตุเบาให้กินแต่ ๒ ไพ กินเปนยาผายลมชำระโทษ ถ้าลงหนักไปให้เอาฟักเขียวกับน้ำตาลหม้อต้มกินหยุดแล

ยานี้อาจบำบัดได้ซึ่งโลหิตเปนโทษนั้น โลหิตน้ำนมเหน้าเสียร้างมาได้ ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปี ๔ ปี ก็ดี กลายเปนริดสีดวงแห้งก็ดี ย่อมแปรไปเปนฝีในท้องก็ดีหายสิ้นดีนักแล

ยาชำระโลหิตน้ำนมขนานนี้ ท่านให้เอาสหัสคุณทั้ง ๒ ลูกจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ เทียนทั้ง ๕ ว่านหางช้าง ๑ รากหางช้าง ๑ รากตองแตก ๑ ตรีกฎุก ๑ กระเทียม ๑ ยาดำ ๑ เอาสิ่งละสองบาท ข่าแห้ง ๑ ไพลแห้ง ๑ กานพลู ๑ เอาสิ่งละ ๑ บาท หอมแดง ๓ บาท สารส้ม ๑ ดินประสิวขาว ๑ เอาสิ่งละ ๑ ตำลึง รวมยา ๒๓ สิ่งนี้ตำเปนผง บดด้วยน้ำมะขามเปียกกินหนัก ๑ สลึง ให้กินไปทุกวัน เปนยาชำระอาจบำบัดโทษน้ำนมให้ถึงซึ่งพินาศฉิบหาย

พระอาจาริย์ท่านกล่าวไว้ดังนี้ อันว่าแพทย์ทั้งหลายมิได้ถือเอา ซึ่งพระคำภีร์ฉันทสาสตร อิ่มไปด้วยโลภด้วยหลง มีใจอันถือทิฐิมานะ อันว่าแพทย์ผู้นั้น ชื่อว่ามีตาอันบอดประกอบไปด้วยโทษ ด้วยประการดังนี้

โดยอธิบายว่าแพทย์ผู้ใดมิได้เรียนซึ่งคำภีร์ฉันทสาสตร มิได้รู้จักกำเนิดแห่งทราง แลสรรพคุณยาทั้งหลาย ได้แต่ตำราซึ่งท่านเขียนไว้ก็ไปเที่ยวรักษา ด้วยใจโลภจะใคร่ได้ทรัพย์แห่งท่านประการ ๑ ถือทิฐิมานะว่าตัวรู้กว่าคนทั้งหลายประการ ๑ หลงใหลถือผิดเปนชอบประการ ๑ มีความโกรธแก่ท่านประการ ๑ ทั้ง ๔ ประการนี้ ท่านว่าเปนหมอโกหก อย่างนี้ในเมืองโสฬศมหานคร ท่านจับเอาตัวมาฆ่าเสียเปนอันมาก ท่านทั้งปวงพึงรู้เถิด

อนึ่งแพทย์มิได้รู้จักกำเนิดโรคแห่งท่านนั้น แลวางยาให้ผิดแก่โรคมีดุจพระบาฬีกล่าวไว้ดังนี้ (ปถมํสัต์ติยถา,) วางยาผิดโรคครั้งหนึ่งดุจประหารด้วยหอก (ทุติยํอัคคิยถา,) วางยาผิดโรคสองครั้งดุจเผาด้วยไฟ (ตติยํอัสสนียถา,) วางยาผิดโรคสามครั้งดุจต้องสายฟ้า คือฟ้าผ่า (ชวรํ,) อันว่าโรค (กุป์ปิตา,) ก็จะกำเริบขึ้นกว่าเก่า (สตสหัส์สํ,) ได้ร้อยเท่าพันเท่า (โสเวช์โช,) อันว่าแพทย์ผู้นั้น (กาลกิริยํ,) ครั้นกระทำซึ่งกาลกิริยาตายแล้ว (นิระยะคโต,) ก็จะไปเอาปติสนธิในนรก (นีระยะปาโล,) ก็จะมีหมู่นายนิระยะบาล, (ปริวาริโต,) จะแวดล้อม (ตยา,) อันท่าน (เวทิตัพ์โพ,) พึงรู้ (อิติ,) ด้วยประการดังนี้

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ