ฉันทศาสตร

พระยาวิชยาธิบดี (กล่อม)

ผู้ว่าราชการเมือง จันทบุรี

เรียบเรียง

----------------------------

ข้าขอประนมหัดถ พระไตรรัตนนาถา ตรีโลกย์อมรมา อภิวาทนาการ อนึ่งข้าอัญชลี พระฤๅษีผู้ทรงญาณ แปดองค์เธอมีฌาน โดยรอบรู้ในโรคา ไหว้คุณอิศวเรศ ทั้งพรหมเมศทุกชั้นฟ้า สาบสรรค์ซึ่งหว้านยา ประทานทั่วโลกย์ธาตรี ไหว้ครูกุมารภัจ ผู้เจนจัดในคำภีร์ เวชศาสตรบันดามี ให้ทานทั่วแก่นรชน ไหว้ครูผู้สั่งสอน แต่ปางก่อนเจริญผล ล่วงลุนิพพานดล สำเร็จกิจประสิทธิพร

จะกล่าวคำภีร์ฉัน ทศาสตรบรรพ์ที่ครูสอน เสมอดวงทินกร แลดวงจันทร์กระจ่างตา ส่องสัตว์ให้สว่าง กระจ่างแจ้งในมรรคา หมอนวดแลหมอยา ผู้เรียนรู้คำภีร์ไสย์ เรียนรู้ให้ครบหมด จนจบบทคำภีร์ใน ฉันทศาสตรท่านกล่าวไข สิบสี่ข้อจงควรจำ เปนแพทย์นี้ยากนัก จะรู้จักซึ่งกองกรรม ตัดเสียซึ่งบาปธรรม สิบสี่ตัวจึ่งเที่ยงตรง เปนแพทย์ไม่รู้ใน คำภีร์ไสย์ท่านบรรจง รู้แต่ยามาอ่าองค์ รักษาไข้ไม่เข็ดขาม บางหมอก็กล่าวคำ มุสาซ้ำกระหน่ำความ ยกตนว่าตนงาม ประเสริฐยิ่งในการยา บางหมอก็เกียจกัน ที่พวกอันแพทย์รักษา บางกล่าวเปนมารยา เขาเจ็บน้อยว่ามากครัน บางกล่าวอุบายให้ แก่คนไข้นั้นหลายพัน หวังลาภจะเกิดพลัน ด้วยเชื่อถ้อยอาตมา บางทีไปเยียนไข้ บอมีใครจะเชิญหา กล่าวยกถึงคุณยา อันตนรู้ให้เชื่อฟัง บางแพทย์ก็หลงเล่ห์ ด้วยกาเมเข้าปิดบัง รักษาโรคด้วยกำลัง กิเลศโลภะเจตนา บางพวกก็ถือตน ว่าไข้คนอนาถา ให้ยาจะเสียยา บ่ห่อนลาภจะพึงมี บางถือว่าตนเฒ่า เปนหมอเก่าชำนาญดี รู้ยาไม่รู้ที รักษาได้ก็ชื่นบาน แก่กายไม่แก่รู้ ประมาทผู้อุดมญาณ แม้เด็กเปนเด็กชาญ ไม่ควรหมิ่นประมาทใจ เรียนรู้ให้เจนจัด จบจังหวัดคัมภีร์ไสย์ ตั้งต้นปฐมใน ฉันทศาสตรดังพรรณา ประฐมจินดาโชติรัติ ครรภ์รักษาอไภยสันตา สิทธิสารนนท์ปักษี อติสารอะวะสาร มรณะญาณตามคำภีร์ สรรพคุณรศอันมี ธาตุบัญจบโรคนิทาน ฤดูแลเดือนวัน ยังนอกนั้นหลายสะถาน ลักษณะธาตุพิการ เกิดกำเริบแลหย่อนไป ทั้งนี้เปนต้นแรก ยกยักแยกขยายไข กล่าวย่อแต่ชื่อไว้ ให้พึงเรียนตำหรับจำ ไม่รู้คำภีร์เวช ห่อนเหนเหตุซึ่งโรคทำ แพทย์เอ๋ยอย่างมคลำ จักขุมืดบ่เหนหน แพทย์ใดจะหนีทุกข์ ไปสู่ศุขนิพพานดล พิริยสติตน ประพฤติได้จึ่งเปนการ ศีลแปดแลศีลห้า เร่งรักษาสมาทาน ทรงไว้เปนนิจกาล ทั้งไตรรัตน์สรณา เหนลาภอย่าโลภนัก อย่าหาญหักด้วยมารยา ไข้น้อยว่าไข้หนา อุบายกล่าวให้พึงกลัว โทโสจงอดใจ สุขุมไว้อยู่ในตัว คนไข้ยิ่งคร้ามกลัว มิควรขู่ให้อดใจ โมโหอย่าหลงเล่ห์ ด้วยกาเมมิจฉาใน พยาบาทแก่คนไข้ ทั้งผู้อื่นอันกล่าวกล วิจิกิจฉาเล่า จงถือเอาซึ่งครูตน อย่าเคลือบแคลงอาการกล เหนแม่นแล้วเร่งวางยา อุท์ธัจ์จังอย่าอุท์ธัจ เหนถนัดในโรคา ให้ตั้งตนดังพระยา ไกรสรราชเข้าราวี อนึ่งโสดอย่าซบเซา อย่าง่วงเหงานั้นมิดี เหนโรคนั้นถอยหนี กระหน่ำยาอย่าละเมิน ทิฏ์ฐิมาโนเล่า อย่าถือเอาซึ่งโรคเกิน รู้น้อยอย่าด่วนเดิน ทางใดรกอย่าครรไล อย่าถือว่าตนดี ยังจะมียิ่งขึ้นไป อย่าถือว่าตนใหญ่ กว่าเด็กน้อยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ใดรู้ในทางธรรม ให้ควรยำอย่าโวหาร เรียนเอาเปนนิจกาล เร่งนบนอบให้ชอบที ครูพักแลครูเรียน อักษรเขียนไว้ตามมี จงถือว่าครูดี เพราะได้เรียนจึ่งรู้มา วิตัก์โกนั้นบทหนึ่ง ให้ตัดซึ่งวิตักกา พยาบาทวิหิงษา กามราคในสันดาน วิจาโรให้พินิจ จะทำผิดฤๅชอบกาล ดูโรคกับยาญาณ ให้ต้องกันจะพลันหาย หิริกังละอายบาป อันยุ่งหยาบสิ้นทั้งหลาย ประหารให้เสื่อมคลาย คือตัดเสียซึ่งกองกรรม อโนตัป์ปังบทบังคับ บาปที่ลับอย่าพึงทำ กลัวบาปแล้วจงจำ ทั้งที่แจ้งจงเว้นวาง อย่าเกียจแก่คนไข้ คนเข็ญใจขาดในทาง ลาภผลอันเบาบาง อย่าเกียจคนพยาบาล เท่านี้กล่าวไว้ใน ฉันทศาสตรเปนประธาน กลอนกล่าวให้วิถาร ใครรู้แท้นับว่าชาย

อนึ่งจะกล่าวสอน กายนครมีมากหลาย ประเทียบเปรียบในกาย ทุกหญิงชายในโลกา ดวงจิตรคือกระษัตริย์ ผ่านสมบัติอันโอฬาร์ ฆ่าศึกคือโรคา เกิดเข่นฆ่าในกายเรา เปรียบแพทย์คือทหาร อันชำนาญรู้ลำเนา ข้าศึกมาอย่าใจเบา ห้อมล้อมรอบทุกทิศา ให้ดำรงกระษัตริย์ไว้ คือดวงใจให้เร่งยา อนึ่งห้ามอย่าโกรธา ข้าศึกมาจะอันตราย ปิตํคือวังน่า เร่งรักษาเขม้นหมาย อาหารอยู่ในกาย คือเสบียงเลี้ยงโยธา หนทางทั้งสามแห่ง เร่งจัดแจงอยู่รักษา ห้ามอย่าให้ข้าศึกมา ปิดทางได้จะเสียที อนึ่งเล่ามีคำโจทย์ กล่าวยกโทษแพทย์อันมี ปรีชารู้คำภีร์ เหตุฉันใดแก้มิฟัง คำเฉลยแก้ปุจฉา รู้รักษาก็จริงจัง ด้วยโรคเหลือกำลัง จึ่งมิฟังในการยา เมื่ออ่อนรักษาได้ แก่แล้วไซร้ยากนักหนา ไข้นั้นอุปมา เหมือนเพลิงป่าไหม้ลุกลาม เปนแพทย์พึงสำคัญ โอกาศนั้นมีอยู่สาม เคราะห์ร้ายขัดโชคนาม บางทีรู้เกินรู้ไป บางทีรู้มิทัน ด้วยโรคนั้นใช่วิไสย ตนบ่รู้ทิฏฐิใจ ถือว่ารู้ขืนกระทำ จบเรื่องที่ตนรู้ โรคนั้นสู้ว่าแรงกรรม ไม่สิ้นสงไสยทำ สุดมือม้วยน่าเสียดาย บางทีก็มีไชย แต่ยาให้โรคนั้นหาย ท่านกล่าวอัพภิปราย ว่าชอบโรคนั้นเปนดี ผู้ใดใครทำชอบ ตามระบอบพระบาฬี กุศลผลจะมี อเนกนับเบื้องน่าไป เรียนรู้ให้แจ้งกระจัด เหนโรคชัดอย่าสงไสย เร่งยากระหน่ำไป อย่าถือใจว่าลองยา จะหนีๆแต่ไกล ต่อจวนใกล้จะมรณา จึ่งหนีแพทย์นั้นหนา ว่ามิรู้ในท่าทาง อำไว้จนแก่กล้า แพทย์อื่นมาก็ขัดขวาง ต่อโรคเข้าระวาง ตรีโทษแล้วจึ่งออกตัว หินชาติแพทย์เหล่านี้ เวลามีมิได้กลัว ทำกรรมนำใส่ตัว จะตกไปในอบาย เรียนรู้คำภีร์ไสย สุขุมไว้อย่าแพร่งพราย ควรกล่าวจึ่งขยาย อย่ายื่นแก้วแก่วานร ไม่รักจะทำยับ พาตำหรับเที่ยวขจร เสียแรงเปนครูสอน ทั้งบุญคุณก็เสื่อมสูญ รู้แล้วเที่ยวโจทย์ทาย แกล้งภิปรายถามเค้ามูล ความรู้นั้นจะสูญ เพราะสามหาวเปนใจพาล ผู้ใดจะเรียนรู้ พิเคราะห์ดูผู้อาจาริย์ เที่ยงแท้ว่าพิศดาร ทั้งพุทธไสยจึ่งควรเรียน แต่สักเปนแพทย์ได้ คำภีร์ไสยไม่จำเนียร ครูนั้นไม่ควรเรียน จะนำตนให้หลงทาง เราแจ้งคำภีร์ฉัน ทศาสตรอันบุราณปาง ก่อนกล่าวไว้เปนทาง นิพพานสุสิวาไลย์ อย่าหมิ่นว่ารู้ง่าย ตำหรับรายอยู่ถมไป รีบด่วนประมาทใจ ดังนั้นแท้มิเปนการ ลอกได้แต่ตำรา เที่ยวรักษาโดยโวหาร อวดรู้ว่าชำนาญ จะแก้ไขให้พลันหาย โรคคือครุกรรม บันจบจำอย่าพึงทาย กล่าวเล่ห์อุบายหมาย ด้วยโลภหลงในลาภา บ้างจำแต่เพศไข้ สิ่งเดียวได้สังเกตมา กองเลือดว่าเสมหา กองวาตาว่ากำเดา คำภีร์กล่าวไว้หมด ใยมิจดมิจำเอา ทายโรคแต่โดยเดา ให้เชื่อถือในอาตมา รู้น้อยอย่าบังอาจ หมิ่นประมาทในโรคา แรงโรคว่าแรงยา มิควรถือคือแรงกรรม อนึ่งท่านได้กล่าวถาม อย่ากล่าวความบังอาจอำ เภอใจว่าตนจำ เพศไฃ้นี้อันเคยยา ใช่โรคสิ่งเดียวดาย จะพลันหายในโรคา ต่างเนื้อก็ต่างยา จะชอบโรคอันแปรปรวน บางทีก็ยาชอบ แต่เคราะห์ครอบจึ่งหันหวน หายคลายแล้วทบทวน จะโทษยาก็ผิดที อวดยาครั้นให้ยา เหนโรคาไม่ถอยหนี กลับกล่าวว่าแรงผี ที่แท้ทำไม่รู้ทำ เหนลาภจะใคร่ได้ นิยมใจไม่เกรงกรรม รู้น้อยบังอาจทำ โรคระยำเพราะแรงยา โรคนั้นคือโทโส จะภิญโญเร่งวัฒนา แพทย์เร่งกระหน่ำยา ก็ยิ่งยับระยำเยิน รู้แล้วอย่าอวดรู้ พินิจดูอย่าหมิ่นเมิน ควรยาหรือยาเกิน กว่าโรคนั้นจึ่งกลับกลาย ถนอมทำแต่พอควร อย่าโดยด่วนเอาพลันหาย ผิโรคนั้นกลับกลาย จะเสียท่าด้วยผิดที บ้างได้แต่ยาผาย บันจุถ่ายจนถึงดี เหนโทษเข้าเปนตรี จึ่งออกตัวด้วยตกใจ บ้างรู้แต่ยากวาด เที่ยวอวดอาจไม่เกรงไภย โรคน้อยให้หนักไป ดังก่อกรรม์ให้ติดกาย

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ