ภาคที่ ๑ - แสดงด้วยอสุรพงษ์

(๑) กำเหนิดพระวิศะรพพรหมมุนี หรืออีกนัย ๑ เรียกว่าพระเปาลัสตยะ [ในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “ท้าวลัสเตียน” ข้าพเจ้าเดาว่าพราหมณ์เล่าเรื่องคงเรียกว่า “เปาลัสตยัม” ผู้จดคงจดเอามาแต่ “ลัสตยัม” แล้วคัดผิดกลายเปน “ลัสตยัน” ไปอีกที ๑ เมื่อลงมาถึงนี่แล้วก็ไม่อัศจรรย์อันใดในการที่จะเปน “ลัสเตียน” ต่อไป เพราะคำว่า “พยัญชนะ” ไทยเราก็อ่าน “เพียนชนะ” อยู่แล้ว] ต้นเหตุคือในกฤดายุคพระปุลัสตย์ซึ่งมักเรียกว่า ประชาปัตย (ลูกพระประชาบดี) และเปนประชาบดีเองด้วยนั้น ได้ไปบำเพ็ญพรตอยู่ในอารามแห่งพระราชฤษีตรีนวินทุที่เชิงเขาพระสุเมรุ มีพวกบุตรีแห่งฤษีผู้เปนบริวารพระตรีนวินทุบ้าง นางอับศรบ้าง มักพอใจไปเที่ยวอยู่ในที่นั้น พระประชาปัตยได้รับความรำคาญเนืองๆ จึ่งประกาศแช่งว่า ต่อไปถ้าหญิงใดมาใกล้พระมุนีจนเห็นตัวขอให้มีครรภ์ขึ้นมาเองๆ นางทั้งหลายก็พากันกลัว ไม่ไปเล่นในที่ริมอาศรมนั้นอีก แต่นางอิฑาวิทาผู้เปนธิดาพระตรีนวินทุไม่รู้คำแช่งอันนี้ จึ่งไปในที่ห้ามนั้นก็เกิดมีครรภ พระตรีนวินทุจึ่งเลยนำตัวไปยกให้เปนชายาพระปุลัสตย์ ต่อมาจึ่งมีบุตรซึ่งได้นามว่าวิศะรพ หรือเรียกตามชาติว่า “เปาลัสตยะ” (คือ “เกิดแต่ปุลัสตยะ”) แลพระเปาลัสตยะนั้น ก็เปนฤษีและมุนีเหมือนบิดา

(๒) กำเหนิดท้าวกุเวร หรือเวศรวัณ ซึ่งเปนโอรสพระมหาฤษีวิศรพเปาลัสตยะ มารดาชื่อนางเทพวรรณี บุตรีพระภรัทวาชมุนี ท้าวกุเวรก็บำเพ็ญฌานและตะบะอย่างบิดา จนพระพรหมาโปรดปรานอนุญาตให้ขอพรตามปราถนา ท้าวกุเวรขอให้ได้เปนผู้อภิบาลมนุษและสัตว์ พระพรหมจึ่งให้เปนโลกบาลทิศอุดร และให้เปนธเนศวร (คือเปนใหญ่ในทรัพย์) กับประทานบุษบก แล้วท้าวเวศรวัณจึ่งขอที่อยู่แก่บิดา พระเปาลัสตยะก็บอกให้ไปอยู่เมืองลงกา อันเปนเมืองงดงาม พระวิศวกรรมนฤมิตรไว้แล้ว ณ ยอดเขาตรีกูฎ เปนที่อยู่เดิมแห่งพวกรากษส แต่รากษสได้ทิ้งเมืองนั้นไปเพราะกลัวพระนารายน์ ท้าวกุเวรจึ่งไปครองนครลงกา เปนที่พึ่งเปนอธิบดีแห่งพวกอสูรสืบไป และท้าวกุเวรก็ขึ้นบุษบกมาเยี่ยมบิดามารดามิได้ขาด

[ท้าวกุเวรนี้ ในรามเกียรติ์ฉบับไทยเรียกว่า “ท้าวกุเปรัน” ที่ผิดเช่นนี้คงจะเปนเพราะจดนามลงไปตามเสียงพราหมณ์ คือพราหมณ์แกคงเรียกว่า “กุเพรัม” ตัว “พ” ออกสำเนียงคล้าย “บ” ของเรา คนจดคงจดว่า “กุเบรัม” ภายหลังหางตัว “บ” ยาวไปก็กลายเปน “ป” และตัว “ม” ที่สกดก็เลือนเปน “น” ไป]

(๓) กำเหนิดรากษสและยักษ์ และกำเหนิดท้าวเหติผู้เปนรากษสราชกับพระประเหติมุนี เกิดจากน้ำซึ่งพระพรหมประชาบดีสร้างขึ้นแรก พระประเหติออกผนวชถือพรหมจรรย์ ท้าวเหติได้นาภยาน้องพระกาลเปนชายา

(๔) กำเหนิดท้าววิทยุทเกศ โอรสท้าวเหติ ท้าววิทยุทเกศได้มเหษี คือนางศาละกัณฏกะตา ธิดาพระสุริยาทิตย์กับนางสนธยา

(๕) กำเหนิดท้าวสุเกศ โอรสท้าววิทยุทเกศ นางศาละกัณฏกะตา เมื่อครรภแก่ไปคลอดบุตรทิ้งไว้ที่เชิงเขามนทรคีรี (ริมเขาพระสุเมรุ) พระอิศวรพบเข้ามีความสงสารจึ่งให้กุมารนั้นเติบใหญ่ขึ้นทันที สุเกศก็เที่ยวไปในไตรภพ ได้นางเทพวดีลูกท้าวคามนีคนธรรพราชเปนมเหษี

(๖) กำเหนิดท้าวมาลียวัน (“ท้าวมาลีวราช”) ท้าวสุมาลี (“ท้าวสหมลิวัน”) และท้าวมาลี ลูกท้าวสุเกศกับนางเทพวดี พญาอสูรทั้งสามนี้บำเพ็ญตะบะจนพระพรหมโปรด ประทานพรให้มีไชยชำนะ ให้อยู่คง ให้มีบุญ และให้สามัคคีรักใคร่กัน พอได้พรแล้วเที่ยวกวนโลก

(๗) แถลงเรื่องสฐาปนานครลงกา ซึ่งท้าวมาลียวัน ท้าวสุมาลี และท้าวมาลีบังคับให้พระวิศวกรรมสร้างให้ พญาอสูรทั้งสามก็ไปอยู่ลงกา

(๘) กำเหนิดพญาอสูรต่างๆ ซึ่งในชั้นหลังมามีชื่อเสียงได้เปนเสนาบดีและแม่ทัพของทศกรรฐในศึกลงกา แสดงให้ปรากฎว่าบรรดายักษ์เหล่านั้นไม่ใช่สามัญชน เปนเชื้อราชันยะกูล (ตระกูลเจ้า) แห่งพวกรากษสทั้งนั้น พวกพญายักษ์เหล่านี้กำเหนิดเปนสามสกุล คือ

[ก] สกุลท้าวมาลียวัน เกิดแต่นางสุนทรี ธิดานางนมรทาคันธรรพี คือ ๑. วัชรมุสถี ๒. วิรูปักษ์ ๓. ทุรมุข ๔. สุปตัฆนะ ๕. ยัญญะโกป ๖. มัตตะ หรือมโหทร ๗. อุมมัดดะ หรือมหาปรรศวะ (ที่เราเรียก “เปาวนาสูร”) กับมีธิดาชื่อ อนลา

[ข] สกุลท้าวสุมาลี เกิดแต่นางเกตุมดี ธิดานางนรมทาคันธรรพี คือ ๑. ประหัสต์ ๒. อกัมปัน ๓. วิกัต ๔. กาฬิกามุข ๕. ธุมรากษะ หรือธุมรเกตุ ๖. ทัณฑะ ๗. สุปรรศวะ ๘. สัณหราที ๙. ประฆัส ๑๐. ภาสกรณ ๑๑. รากะ ๑๒. ปัษโปตกตา กับมีธิดาชื่อไกกะสี (คือแม่ทศกรรฐ ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “รัชฎา”)

[ค] สกุลท้าวมาลี เกิดแต่ธิดานางนรมทาอีกนาง ๑ (นามไม่ปรากฏ) คือ ๑. อนล ๒. อนิล ๓. สัมปาติ (ทั้ง ๓ ตนนี้ กับประมติอีกตน ๑ เปนเสนาของพิเภษณ์)

(๙) แถลงเรื่องพระนารายน์ปราบอสูรเมืองลงกา คือท้าวมาลียวัน ท้าวสุมาลี และท้าวมาลี กับญาติวงษ์และบริวาร ท้าวมาลีถูกศรพระนารายน์ตายในที่รบ ท้าวมาลียวันกับท้าวสุมาลีหนีเข้าลงกาแต่ก็ยังไม่พ้นภัย จึ่งต้องหนีต่อไปอีก ไปอาไศรยอยู่ในบาดาล

(๑๐) กำเหนิดทศกรรฐ กุมภกรรณ นางศูรปนขาและพิเภษณ์ เรื่องราวมีว่า ท้าวสุมาลีขึ้นมาจากบาดาล เห็นท้าวกุเวรขี่บุษบกไปหาพระเปาลัสตยะผู้เปนบิดา รู้สึกคิดอยากจะใคร่ได้มีความเปนใหญ่เช่นนั้นบ้าง และอยากให้พวกญาติและบริวารได้เปนฝั่งเปนฝาอย่างเดิม จึ่งยุนางไกกะสีผู้เปนธิดาให้ไปเปนชายาพระวิศะรพ นางก็ทำตามบิดาสั่ง จึ่งเกิดทศกรรฐและน้องอีกสามตน นางไกกะสีตั้งยุยงลูกให้อิจฉาท้าวกุเวร

(๑๑) ทศกรรฐ กุมภกรรณ และพิเภษณ์ ตั้งความเพียรบำเพ็ญตะบะอยู่หลายพันปี พระพรหมาโปรดปรานจึ่งเสด็จลงมาตรัสให้ขอพรจะประสาทให้ ทศกรรฐขอพรให้เปนอมฤตย์ (ไม่ตาย) แต่พระพรหมาไม่โปรดประทานให้ ทศกรรฐจึ่งขอพรว่าอย่าให้ตายด้วยอำนาจนกหรือนาค หรือยักษ์ แทตย์ ทานพ และเทวดา ส่วนมนุษไม่กลัวเลย อีกประการ ๑ พระพรหมาประทานพรว่าให้ทศกรรฐจำแลงกายได้ตามใจทุกอย่าง ฝ่ายพิเภษณ์ขอพรว่าขอให้มีจิตรเที่ยงอยู่ในทางธรรม แม้ในเวลาที่ตกอยู่ในที่อันมีภัยแก่ตนก็ให้มั่นคงอยู่และขอให้รอบรู้ในพระเวทโดยไม่ต้องศึกษา พระพรหมได้ทรงฟังก็ชอบพระไทย จึ่งประทานพรให้พิเภษณ์เปนอมฤตย์ด้วย ครั้นเมื่อถึงเวลากุมภกรรณจะขอพรบ้าง พวกทวยเทพพากันมีความวิตกเพราะกุมภกรรณเปนผู้ที่มีกำลังและฤทธิ์มาก ทั้งใจพาลสันดานหยาบเปนที่สุด เปนผู้ที่กินจุ พากันเกรงว่าถ้าได้พรไปแล้วจะกำเริบเที่ยวกินใครๆ หมดทั้งไตรภพ ทวยเทพจึ่งทูลทัดทานพระพรหมาขออย่าให้ประทานพร พระพรหมาก็นิ่งอยู่ ครั้นจะไม่ประทานก็จะกระไรๆ อยู่ ตกลงพระสุรัสวดี ผู้เปนมเหษีพระพรหมา (ไม่ใช่มเหษีพระอิศวรอย่างที่มักเข้าใจกันผิดอยู่) และเปนเทวีอธิบดีแห่งวาจาจึ่งเข้าสิงกุมภกรรณ พูดขอพรแทนกุมภกรรณว่า ขอให้นอนหลับได้พักละหลายๆ ปี

[ในที่นี้มีข้อควรสังเกตเปนข้อสำคัญอยู่คือ พญายักษ์ทั้ง ๓ นั้นได้พรจากพระพรหม ไม่ใช่พระอิศวรอย่างที่ข้างเราเข้าใจกัน]

(๑๒) ท้าวสุมาลีผู้เปนตา ยุยงทศกรรฐให้ชิงเมืองลงกาและสมบัติของท้าวกุเวร ทศกรรฐแต่งทูตไปพูดจาจะเอาเมือง ท้าวกุเวรไปฟ้องพระบิดา ๆ ก็บอกว่าได้ว่ากล่าวแล้ว ทศกรรฐก็ไม่เชื่อฟัง ถ้ากุเวรไม่ยอมก็จะต้องรบกับน้อง ดูไม่เปนการสมควร พระบิดาจึ่งแนะนำให้ทิ้งลงกาไปสร้างเมืองอยู่ใหม่ที่เชิงเขาไกลาศ ริมฝั่งน้ำมณฑากินี ท้าวกุเวรมีความเคารพต่อพระบิดา จึ่งอพยพจากนครลงกา ไปสร้างนครอยู่ใหม่ชื่ออลกา ฝ่ายทศกรรฐก็เข้าไปอยู่ณลงกา

(๑๓) ทศกรรฐยกนางศูรปนขาให้พญาทานพชื่อวิทยุชชิวหา ผู้เปนราชาครองกาลกะชนบท ทศกรรฐเองก็ได้มเหษี คือนางมณโฑทรี [นามแห่งนางนี้มาถึงเรากลายเปน “มณโฑเทวี” เพราะหลงแปลศัพท์ “มณโฑ” ว่ามาจาก “มัณฑุกะ” คือกบ แท้จริง “มณโฑทรี” มาจาก “มัณฑะ” ว่า “ประดับ” และ “อุทรี” ว่า “ผู้มีท้อง” รวมความว่า “มีท้องอันประดับแล้ว”] เปนธิดาพญาแทตย์ชื่อมัยกับนางอับศรชื่อเหมาวดี ทศกรรฐกับนางมณโฑทรีมีโอรสชื่อเมฆนาท ซึ่งภายหลังได้นามว่าอินทรชิต ส่วนอนุชาทั้ง ๒ ทศกรรฐก็จดให้ตกแต่ง คือกุมภกรรณกับนางวัชรชวาลา หลานท้าววิโรจนาสูร (ซึ่งเปนพ่อท้าวหิรัณยกศิปุ ที่พระนรสิงหาวตารได้สังหาร) และพิเภษณ์กับนางสรมา ธิดาท้าวไสลูษคนธรรพราช

(๑๔) แถลงเรื่องทศกรรฐได้บุษบกของท้าวกุเวร - เมื่อกุมภกรรณได้ไปอยู่ลงกาได้สักหน่อยก็รู้สึกหาวนอน ทศกรรฐจึ่งให้นายช่างสร้างวังและปราสาทให้กุมภกรรณเสร็จแล้ว กุมภกรรณก็เข้าไปนอนหลับอยู่หลายพันปี ทศกรรฐเองก็เที่ยวรบกวนเทพฤษียักษ์และคนธรรพ หักสวนนันทน์อุทยานป่นปี้ และเที่ยวเกะกะต่างๆ ท้าวกุเวรรำคาญจึ่งใช้ทูตไปว่ากล่าวโดยฐานเปนพี่น้องกัน แต่ทศกรรฐกลับให้ประหารชีวิตรทูตของท้าวกุเวรเสีย แล้วให้ตั้งพิธีสวัสตยายน แล้วจึ่งยกทัพรากษสไปยังเมืองท้าวกุเวร รากษส (บริวารทศกรรฐ) กับยักษ์ (บริวารท้าวกุเวร) รบกันเปนสามารถ ท้าวกุเวรถูกน้องตีล้มลง บริวารก็พากันอุ้มหนีไปสู่นันทน์อุทยาน ทศกรรฐก็แย่งเอาบุษบกได้

(๑๕) แถลงเหตุที่ทศกรรฐได้นามว่าราพณ์ คือเมื่อได้บุษบกแล้ว ทศกรรฐขี่ไปเที่ยวที่เขาไกลาศ อยู่ดีๆ บุษบกก็หยุด แล้วพระนนทีศวร ซึ่งกล่าวว่าคือภาค ๑ แห่งพระอิศวรเอง จึ่งร้องบอกทศกรรฐว่า เวลานี้พระสังกรมหาเทพทรงพระสำราญอยู่บนยอดเขา อย่าคิดไปต่อไปเลย ทศกรรฐก็โกรธ โดดลงจากบุษบกจะรบกับพระนนทีศวร ครั้นเดินเข้าไปใกล้ก็เห็นพระนนทีศวร มีรูปร่างหน้าตาคล้ายวานร ทศกรรฐก็หัวเราะเยาะ พระนนทีศวรจึ่งทำนายว่าในเบื้องน่าวานรจะเปนผู้นำความพินาศฉิบหายมาสู่ทศกรรฐและญาติวงษ์บริษัทบริวาร ทศกรรฐกำลังมัวเมาในอำนาจ จึ่งตรงเข้าถอนเขาไกลาศเพื่อจะให้พระอิศวรกลัว แต่พระอิศวรกดเขาไว้ด้วยนิ้วพระบาทนิ้วเดียว มือและแขนทศกรรฐก็ถูกทับแน่นอยู่ใต้เขากระดิกอีกไม่ได้ ทั้งมีความเจ็บปวดยิ่งนัก พวกมนตรีก็พากันทูลทศกรรฐให้ทูลขอโทษพระอิศวร ทศกรรฐจึ่งสวดมนตร์และกล่อมสรรเสริญพระอิศวรอยู่หลายพันปี ในที่สุดพระอิศวรจึ่งทรงพระเมตตาปล่อยให้หลุดจากเขาได้ และโดยเหตุที่เมื่อถูกเขาทับ ทศกรรฐได้ร้องด้วยเสียงอันดัง ทำให้เปนที่น่าสยดสยอง จึ่งให้นามว่าราพณ์ (สังสกฤต “ราวณ” แปลว่า “ร้อง”)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ