ภาคที่ ๑๐ - ศึกพระศัตรุฆน์ (และนางสีดาประสูตร์พระกุศพระลพ)

อยู่มาวัน ๑ มีพระฤษี ๒ ตน ชื่อภรรควะและจยาวัน ซึ่งครองสำนักอยู่ริมฝั่งยมนา ได้เข้ามาเฝ้าพระรามทูลร้องทุกข์ว่า มีอสูรตน ๑ ชื่อลพณ์ เปนราชาครองนครมธุวัน แคว้นศุรเสน [ในรามเกียรติ์ของเราว่าพญายักษ์ที่พระศัตรุฆน์ไปปราบนั้น ชื่อท้าว “จักรวรรดิ” ซึ่งผิด เพราะ “จักรวรรดิ” ไม่ใช่นามบุคคล เปนตำแหน่งต่างหาก ส่วนชื่อนครนั้น เรียกเขวไปว่า “มลิวัน”] อสูรนั้นใจพาล เที่ยวรบกวนฤษีชีพราหมณ์ได้ความเดือดร้อนทั่วไป ฤษีขอพระบารมีเปนที่พึ่ง พระรามตรัสถามถึงเรื่องราวของลพณาสูรนั้นต่อไป คือมีฤทธิ์อย่างไร มีสาตราวุธสำคัญอย่างไรบ้าง ฤษีจึ่งเล่าว่าเดิมทีในกฤดายุค ยังมีแทตย์ตน ๑ ชื่อมธุ เปนลูกโลตาสูร เปนผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม จึ่งเปนที่โปรดปรานแห่งพระอิศวร ได้ประทานหอกสำคัญ (อีกใน ๑ ว่าตรี) และถ้าแม้ไม่รบกวนเทวดาและฤษีชีพราหมณ์ตราบใด ตราบนั้นหอกสำคัญจึ่งจะเปนของท้าวมธุ ถ้าไม่ปฏิบัติดีเมื่อใด เมื่อนั้นหอกจะสูญ ในเวลาสงครามถ้าพุ่งหอกนั้นไปถูกใคร ก็จะกลายเปนไฟไหม้คนนั้น ท้าวมธุจึ่งทูลขอพรต่อไปว่า ขอให้หอกนี้ได้เปนสมบัติของลูกหลานสืบไป แต่พระอิศวรตอบว่า ข้อนั้นจะเปนไปไม่ได้ แต่จะโปรดให้แต่เพียงว่า จะยกหอกนั้นให้บุตรคนใดคน ๑ ก็ได้ และผู้ที่ถือหอกนั้นอยู่ในมือจะอยู่คง ใครฆ่าไม่ตายได้ ท้าวมธุทูลลาพระอิศวรแล้ว ก็ไปสร้างนคร (คือเมืองมธุวัน) เปนที่อยู่ ได้มเหษีคือนางกุมภินษี บุตรีวิศวะวสุกับนางอนลา (นางอนลาเปนบุตรีท้าวมาลียวัน เรื่องที่ท้าวมธุไปลักพานางกุมภินษีจากลงกา และทศกรรฐตามมาจะรบ แต่นางกุมภินษีห้ามทัพนั้น ได้เล่ามาก่อนแล้ว) ท้าวมธุกับนางกุมภินษีนั้น มีโอรสชื่อลพณ์ เปนผู้ที่ดุร้ายใจเหี้ยมโหดมาแต่เล็ก ท้าวมธุเสียใจที่ว่ากล่าวไม่ฟัง จึ่งเวนราชสมบัติให้แก่ลพณาสูร และให้หอกสำคัญไว้ด้วย แล้วตัวเองก็ลงไปอยู่ในณวารุณโลก ฝ่ายท้าวลพณ์รู้ว่าตนมีอาวุธสำคัญอยู่กับมือ จึ่งเที่ยวเกะกะรบกวนโลกทั่วไป

พระรามได้ทรงทราบเช่นนั้น จึ่งตรัสถามพระอนุชาทั้ง ๓ ว่า จะควรใช้ใครไปสังหารลพณาสูร พระศัตรุฆน์ทูลว่า พระภรตก็ได้รักษาพระนครในระหว่างที่พระรามเสด็จไม่อยู่ มีความเหน็จเหนื่อยมากแล้ว เพราะฉนั้นพระศัตรุฆน์ขอรับอาสาไปปราบอสูรเอง พระรามก็โปรดอนุญาต และโปรดอภิเษกล่วงน่าให้เปนราชาครองนครมธุเมื่อเสร็จปราบลพณาสูร

ครั้นถึงวันฤกษ์งามยามดี พระศัตรุฆน์ก็ทูลลาออกจากนครอโยธยาไปจนถึงที่อาศรมพระพรหมฤษีวาลมีกิ จึ่งเข้าไปอาไศรยอยู่คืน ๑

ในที่นี้มีแซกเรื่องท้าวโสทาส ซึ่งภายหลังได้นามว่าท้าวกัลมาษบาท (“พญาตีนด่าง”) เรื่องนี้พระวาลมีกิเล่าให้พระศัตรุฆน์ฟัง ใจความว่า ท้าวโสทาสสุริยวงศ์ได้ออกไปทรงยิงสัตว์เล่นในป่า พบรากษส ๒ ตน ซึ่งได้กินสัตว์ในป่าเสียหมดแล้ว ท้าวโสทาสกริ้วจึ่งยิงรากษสตายตน ๑ อีกตน ๑ ร้องว่าจะแก้แค้นแทนสหาย แล้วก็หนีไป ต่อมาวัน ๑ ท้าวโสทาสได้มีพิธีโหตรกรรมใหญ่ พระวสิษฐมุนีผู้เปนปุโรหิตมีกิจไปนอกมณฑลพิธีครู่ ๑ รากษสเห็นได้ทีจึ่งจำแลงตนเหมือนพระวสิษฐเข้าไปกล่าวแก่ท้าวโสทาสให้จัดหามังษาหารมาให้ฉัน ท้าวโสทาสก็สั่งพ่อครัวให้จัดแต่งมังษาหารอันควรฉันมาถวายพระมุนี แต่รากษสร้ายนั้น ไปจำแลงเปนพ่อครัวอีก แล้วแต่งเนื้อมนุษมาให้พระวสิษฐฉัน พระมุนีรู้สึกตัวก็โกรธ จึ่งแช่งท้าวโสทาสขอให้อยากกินแต่เนื้อมนุษอย่างเดียว ท้าวโสทาสก็เคืองจึ่งวักน้ำขึ้นจะกรวดแช่งพระมุนีบ้าง แต่พระมเหษีห้ามไว้ ท้าวโสทาสก็หลั่งน้ำอันเต็มไปด้วยความแช่งนั้น ลงไปที่พระบาทพระองค์เอง น้ำนั้นก็ทำให้พระบาทไหม้ด่างไป จึ่งได้ฉายาว่า “กัลมาษบาท” แต่นั้นมา ฝ่ายพระวสิษฐครั้นทราบว่าท้าวกัลมาษบาทไม่ได้แกล้งจัดเนื้อมนุษให้ฉัน จึ่งกำหนดเขตรคำแช่งนั้นเพียง ๑๒ ปี พอครบกำหนดแล้วท้าวกัลมาษบาทก็กลับคืนดีอย่างเดิม เปนอันจบเรื่องเพียงนี้

จับเรื่องพระศัตรุฆน์ต่อไปว่า ในคืนวันที่อาไศรยอยู่ในอาศรมพระวาลมีกินั้น พะเอินเปนวันฤกษ์งามยามดี นางสีดาคลอดโอรสแฝด พระมุนีให้ชื่อว่าพระกุศ ๑ พระลพ ๑ [พระกุศนั้น ที่เราเรียกว่า “พระมงกุฎ ทีจะเห็น “กุศ” เปล่าลุ่นไปหรืออย่างไรจึ่งเติม “มง” และแก้ตัว “ศ” เปนตัว “ฎ” สกด ที่แท้ “กุศ” นั้นเปนมงคลนามอยู่แล้ว เพราะแปลว่ายอดหญ้าคาที่ใช้ในพิธีพลีกรรมทั้งปวง ที่แก้ “กุศ” เปน “มงกุฎ” ไปนั้นจะเปนด้วยไม่รู้คำแปลเดิมกระมัง ส่วนคนธรรมดาเมื่อกล่าวถึงลูกพระรามมักเรียกว่า “บุตร์ลพ” ที่พระกุศเปน”บุตร์” ไปอย่างไรนั้น น่าจะเดาเปน ๒ สถาน สถาน ๑ จะเปนเพราะหูเชื่อม ไปได้ยินพราหมณ์เรียกๆ อยู่ว่า “กุศลพ” ฟังไม่ถนัดจึ่งได้ยินเปน “บุศลพ” ไป หรืออีกสถาน ๑ จะเปนเพราะนักรู้มากในทางหนังสือแปล “กุศ” ไม่ออก จึ่งแก้เปน “บุศย์” หรือ “บุษป์” ให้แปลได้ว่าดอกไม้ แล้วต่อลงไปถึงชั้นคนคัด เลยแก้เปน “บุตร์” ไปอีกต่อ ๑ และคงนึกแปลในใจของตัวว่า “เปนลูกพระรามนี่เล่าก็ชื่อพระบุตร์นั่นสิ ถูกแล้ว” ตกลงพระกุศเคราะห์ร้ายถูกแก้ชื่อเสียป่นปี้ ส่วนพระลพเคราะห์ดี เพราะชื่อเรียกง่าย จึ่งไม่ถูกแก้ไข]

รุ่งขึ้นพระศัตรุฆน์จึ่งดำเนินต่อไปทางประจิมทิศ จนถึงสำนักพระภรรควะจยาวันมุนี พระศัตรุฆน์ถามพระจยาวันว่า มีผู้ใดได้เคยตายเพราะหอกสำคัญของลพณาสูรนั้นแล้วบ้าง พระมุนีจึ่งเล่าเรื่องท้าวมนธาตุราชสุริยวงศ์ มีใจความว่า ท้าวมนธาตุลูกท้าวยุวนาศวเปนกษัตร์สกุลอิกษวากุ ครองนครศรีอโยธยา ท้าวมนธาตุราชนี้ทรงเดชานุภาพมาก ปราบได้ทั่วพิภพ จึ่งคิดกำเริบจะใคร่เปนใหญ่ในเทวโลก แต่พระอินทรเยาะเย้ยว่า นับประสาแต่คนเก่งในมนุษโลกก็ยังปราบไม่หมด จะมาคิดเปนใหญ่ในเทวโลกอย่างไร ท้าวมันธาตุถามหาผู้ที่ยังไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระองค์​ ก็ได้ความว่าคือท้าวลพณาสูร ท้าวมันธาตุราชจึ่งสั่งให้ทูตไปท้าลพณาสูร ๆ ก็จับทูตกินเสีย ท้าวมนธาตุจึ่งยกทัพไปรบ ลพณาสูรพุ่งหอกมาเปนไฟไหม้ท้าวมนธาตุราชและไพร่พลตายหมด เมื่อเล่าเรื่องจบแล้ว พระจยาวันมุนีจึ่งแนะนำว่า ควรพระศัตรุฆน์จะรีบไปสังหารลพณาสูรโดยใช้อุบายอย่าให้จับหอกสำคัญได้

พอรุ่งเช้าท้าวลพณาสูรออกจากเมืองไปหาอาหารกิน พระศัตรุฆน์ก็ถือศรไปยืนคอยอยู่ที่ประตูเมืองมธุวัน ครั้นเวลาเที่ยงลพณาสูรแบกสัตว์หลายพันกลับมา พบพระศัตรุฆน์ยืนอยู่ก็ด่าว่าให้ต่างๆ พระศัตรุฆน์ก็ท้าลพณาสูรให้สู้ตัวต่อตัว ท้าวลพณ์ขอผัดว่าจะไปหยิบอาวุธ พระศัตรุฆน์ไม่ยอม ตกลงรบกัน ในที่สุดพระศัตรุฆน์แผลงศรไปสังหารท้าวลพณาสูรตาย พระเพลิงและพระอินทรกับทวยเทพก็ยินดีสรรเสริญพระศัตรุฆน์ และพระอินทรบอกว่าจะให้พรพระศัตรุฆน์ พระศัตรุฆน์จึ่งขอให้สร้างนครหลวงขึ้นใหม่ให้เปนที่ควรแก่มนุษจะอยู่เทวดาก็สร้างให้ตามปราถนา ให้นามเปลี่ยนว่ามถุรา พระศัตรุฆน์จึ่งยกทัพเข้าไปอยู่ในนครมถุรา แล้วจัดการปกครองอาณาเขตรต่อไป

ครั้นอยู่ไปได้ถึง ๑๒ ปี พระศัตรุฆน์มีความรำฦกถึงพระเชษฐาธิราช จึ่งไปเฝ้าณพระนครศรีอโยธยา อยู่ที่นั้น ๗ ราตรี แล้วพระรามก็ตรัสให้พระสัตรุฆน์กลับคืนไปครองนครมถุราอย่างเดิม

[เรื่องศึกพระศัตรุฆน์นี้ ในรามเกียรติ์ของเรามีวิจิตรพิศดารพิลึกมาก วิธีแต่งตั้งรูปขึ้นเหมือนศึกพระราม เอาพระภรตเปนพระราม พระศัตรุฆน์เปนพระลักษมณ์ และเอานิลพัทธ์เปนหนุมาน และสาเหตุก็ว่าเกิดรบกันยุ่งขึ้นในลงกา เพราะไพนาสูรเปนขบถต่อพิเภษณ์ จึ่งไปเชิญท้าวจักรวรรดิให้ไปจับพิเภษณ์ใส่ตรุ เรื่องขบถในลงกานี้ในฉบับสังสกฤตไม่มีเลย ฝ่ายเราจะไปได้เรื่องมาจากไหนก็ยังสาวไปไม่ถึง]

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ